เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)

เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด กุมมี (شیخ احمد قمی) เป็นพ่อค้าชาวเปอร์เซียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาจักรอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 เขาเป็นขุนนางที่มีอำนาจในราชสำนักสยามโดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก เขาเป็นบรรพบุรุษของตระกูลขุนนางผู้มีอำนาจในกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ตระกูลบุนนาค

เจ้าพระยาบวรราชนายก
(เฉกอะหมัด)
สมุหนายก
กษัตริย์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ก่อนหน้าออกญาจักรี
ถัดไปเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)
จุฬาราชมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2145 – พ.ศ. 2170
กษัตริย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระเอกาทศรถ
สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ถัดไปพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
เชค-อะหมัด กุมมี หรือ ชัยคอะหมัด กุมมี (شیخ احمد قمی) [1]

กุนี,เมืองอัสตะราบาด
จักรวรรดิซาฟาวิยะห์ (อิหร่าน)
พ.ศ. 2086
เสียชีวิตพ.ศ. 2174 (88 ปี)
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
เชื้อชาติเปอร์เซีย
ศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์
คู่สมรสท่านเชย
บุตรเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)

ประวัติ แก้ไข

อะหมัดเกิดในเปอร์เซียประมาณปี พ.ศ. 2086 บางครั้งกล่าวว่าเขามาจากเมืองโกม ทางตอนใต้ของกรุงเตหะราน[2] อย่างไรก็ตาม เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทายาทของเขาโต้แย้งเรื่องนี้ โดยอ้างว่าบรรพบุรุษของเขามาจากเมืองที่เรียกว่า กูนี ในจังหวัดมาซานดารัน/ภูมิภาคแอสตาราบัด ทางตอนใต้ของทะเลแคสเปียน[3] เขามีน้องชายคนหนึ่งชื่อ มูฮัมหมัด ซาอิด ซึ่งต่อมาได้อพยพมาสยามพร้อมกับเขา[4] พวกเขาอาจมาถึงสยามราว พ.ศ. 2138 หรือต้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช[5] เขาตั้งร้านค้าที่ตำบลท่ากยี เขาได้ภรรยาเป็นชาวสยามและกลายเป็นคนร่ำรวย

การเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยา แก้ไข

ในยุคสมัยที่ท่านเฉกอะหมัดเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยานั้น เป็นยุคที่โปรตุเกสเรืองอำนาจทางทะเลในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทำให้พ่อค้าชาวพื้นเมืองต้องใช้เส้นทางขนส่งสินค้าทางบกเป็นช่วง ๆ เส้นทางที่เป็นไปได้ในการเดินทางจากอิหร่านเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น คือเดินเท้าจากเมืองแอสตะราบาดเข้าสู่แคว้นคุชราตในอินเดียตะวันตก จากนั้น เดินเท้าตัดข้ามประเทศอินเดียมายังฝั่งตะวันออกทางด้านโจฬมณฑล จากนั้นลงเรือข้ามอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามันมายังเมืองตะนาวศรีหรือเมืองมะริด แล้วจึงเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เฉกอะหมัดและมหฺหมัดสะอิด (محمد سعيد) พร้อมบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขาย อยู่ที่ตำบลท่ากายี ท่านค้าขายจนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังมหฺหมัดสะอิดได้เดินทางกลับเปอร์เซีย ท่านสมรสกับคุณหญิงเชย มีบุตร 2 คนและธิดา 1 คน ได้แก่

  1. เป็นชายชื่อ ชื่น ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) สมุหนายก ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง
  2. เป็นชายชื่อ ชม ถึงแก่กรรมแต่เมื่อยังเป็นหนุ่ม
  3. เป็นหญิงชื่อ ชี เป็นสนมเอกในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ภายหลังแต่งงานกับพระยาศรีเนาวรัตน์ (อากามะหะหมัด آقا محمد) บุตรของมหฺหมัดสะอิด

ปฐมจุฬาราชมนตรี แก้ไข

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ท่านเฉกอะหมัดได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าขวาและ จุฬาราชมนตรี นับได้ว่าท่านเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ มาสู่ประเทศไทย ต่อมาท่านเฉกอะหมัดพร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าพระยาเฉกอะหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

สายสกุล แก้ไข

 
สุสานหลุมฝังศพของ เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเฉกอะหมัดซึ่งมีอายุ 87 ปี เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายกจางวางกรมมหาดไทย ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ พ.ศ. 2174 รวมอายุ 88 ปี ท่านเฉกอะหมัดนี้ท่านเป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุลและสกุลบุนนาค เป็นต้นสกุลของเจ้าพระยาหลายท่านในระยะเวลาต่อมา อาทิ เจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น) เจ้าพระยาชำนาญภักดี (สมบุญ) เจ้าพระยาเพชรพิไชย (ใจ) และมีบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 ท่าน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รวมทั้งเป็นต้นสกุลของสายสกุลที่มีความสำคัญต่อการปกครองประเทศตลอดมา สถานที่ฝังศพของท่านเฉกอะหมัด ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

อ้างอิง แก้ไข

  1. สุดารา สุจฉายา. ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน ย้อนรอยสายสัมพันธ์ไทย-เปอร์เซีย. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550. หน้า 138
  2. Marcinkowski, Muhammad Ismail, "From Isfahan to Ayuthayya: Contacts Between Iran and Siam in the 17th Century", pp. 85-87
  3. Persia-Siam connection clarified
  4. "History of Ayutthaya"
  5. Sthapitanond, Nithi, and Mertens, Brian, "Architecture of Thailand: A Guide to Tradition and Contemporary Forms" pg. 112-5

แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข

  • พิทยา บุนนาค. มุสลิมผู้นำ"ปฐมจุฬาราชมนตรี" คนแรกในสยาม. กทม. มติชน. 2548