ประเทศราช คือ รัฐจารีตซึ่งถูกอ้างสิทธิ์ว่าอยู่ภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของอีกรัฐหนึ่งตามคติจักรพรรดิราชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แผ่นดินใหญ่[1] มีลักษณะคล้ายเมืองขึ้น, รัฐบรรณาการในระบบบรรณาการจีน, รัฐในอารักขาและอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก ตัวอย่างของประเทศราชได้แก่ กรุงศรีอยุธยาภายใต้พม่า (พ.ศ. 2112–2127), กัมพูชาภายใต้สยาม (พ.ศ. 2337–2427), นครเชียงใหม่ภายใต้สยาม (พ.ศ. 2317–2437)

"ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง" ที่หัวเมืองมลายูส่งมาเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงสยาม

ความหมาย

แก้

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ระบุความหมายของประเทศราชว่า เมืองที่มีเจ้าผู้ครองเมืองของตนเอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมดูแลและคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเจ้าเมืองประเทศราชนั้นมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการถวายเป็นประจำ และในเวลาเกิดศึกสงครามต้องเกณฑ์กำลังทหารเข้าร่วมกองทัพหลวงด้วย[2]

ขอบเขตในการตีความว่าเมืองใดหรือรัฐใดเข้าข่ายว่าเป็นประเทศราชของอีกรัฐหนึ่งนั้นไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับผู้นิพนธ์ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย เช่น พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย[3]ระบุว่า นครเชียงใหม่ถูกยกขึ้นเป็นประเทศราชของสยามในเหตุการณ์สถาปนาพระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ สะท้อนถึงทัศนคติของผู้แต่งว่า ก่อนหน้านี้นครเชียงใหม่ไม่ถือเป็นประเทศราชของสยาม แม้ว่าจะตกอยู่ภายใต้ปริมณฑลแห่งอำนาจของสยามแล้วก็ตาม ในขณะที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่เริ่มนับนครเชียงใหม่เป็นประเทศราชของสยามหลังจากสงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2317[4]

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประเทศราชในการอธิบายความสัมพันธ์แบบเมืองขึ้นหรือรัฐบรรณาการที่นอกเหนือจากคติจักรพรรดิราช เช่น การแปลเซทระพี (อังกฤษ: satrapy) ในคติของเปอร์เซียว่าประเทศราช[5] หรือการเทียบญี่ปุ่นโบราณเป็นประเทศราชของราชวงศ์ฮั่น[6]

ประเทศราชของสยาม

แก้

อาณาจักรสุโขทัย

แก้

จารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแควลุมบาจายสคาเท้าฝั่งของถึงเวียงจันทร์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนทีพระบางแพรกสุพรรณภูมิราชบุรีเพ็ชร์บุรีศรีธรรมราชฝั่งทะเลสมุทเป็นที่แล้ว เบื้องตะวันตก รอดเมืองฉอดเมือง...หงสาวดีสมุทห้าเป็นแดน เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพร่เมืองน่านเมือง...เมืองพลั่วพ้นฝั่งของเมืองชะวาเป็นที่แล้ว[7] ซึ่งครอบคลุมถึงรัฐร่วมสมัยในภูมิภาค เช่น แคว้นสุพรรณภูมิ, อาณาจักรหงสาวดี, นครรัฐแพร่, นครรัฐน่าน, อาณาจักรนครศรีธรรมราช และเมืองชวา  [en] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า รัฐเหล่านี้ตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย[8] อย่างไรก็ตาม เนื้อหาดังกล่าวของจารึกได้รับการโต้แย้งว่า เกินความเป็นจริงและขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ[9][10] ทั้งนี้อาณาจักรสุโขทัยได้มีปฏิสัมพันธ์กับบางรัฐที่อยู่ใกล้เคียงในลักษณะการแสดงสถานะที่เหนือกว่า เช่น การพระราชทานพระสุพรรณบัตรแก่พระเจ้าฟ้ารั่ว, พระเจ้ารามประเดิด และพระเจ้าแสนเมืองแห่งอาณาจักรหงสาวดี[11] และเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 เสด็จไปที่เมืองแพร่ในปี พ.ศ. 1902–1903[12]

อาณาจักรอยุธยา

แก้

พระราชพงศาวดารไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่า อาณาจักรอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีประเทศราช 16 เมือง ได้แก่ มะละกา, ชวา, ตะนาวศรี, นครศรีธรรมราช, ทวาย, เมาะตะมะ, เมาะลำเลิง, สงขลา, จันทบูร, พิษณุโลก, สุโขทัย, พิชัย, สวรรคโลก, พิจิตร, กำแพงเพชร และนครสวรรค์ แต่เนื่องจากข้อมูลประเทศราชเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารในภายหลัง อาจตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอินทราชา[13][14]

กฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุว่า เมืองถวายดอกไม้ทองเงินมี 20 เมือง ได้แก่ นครหลวง, ศรีสัตนาคนหุต, เชียงใหม่, ตองอู, เชียงไกร, เชียงกราน, เชียงแสน, เชียงรุ้ง, เชียงราย, แสนหวี, เขมราช, แพร่, น่าน, ใต้ทอง, โคตรบอง, เรวแกว, อุยองตะหนะ, มะละกา, มลายู และวรวารี[15]

อาณาจักรรัตนโกสินทร์

แก้

ในสมัยรัตนโกสินทร์ สยามควบคุมประเทศราชอย่างเข้มงวดมากกว่าสมัยอยุธยา และมีการกำหนดว่า เมืองใดมีสถานะเป็นประเทศราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายการปกครองหัวเมืองออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ หัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นหัวเมืองของสยาม, หัวเมืองชั้นนอก ซึ่งสยามแต่งตั้งผู้มีสกุลในท้องถิ่นปกครองตามประเพณีของเมืองนั้นๆ และเมืองประเทศราช ซึ่งสยามแต่งตั้งเจ้านายปกครอง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมือง โดยในปี พ.ศ. 2435 มีประเทศราชขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย 7 เมือง และขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม 3 เมือง (ไม่นับเมืองที่ขึ้นกับเมืองอื่นๆ ด้วยกันเอง)[16]

หัวเมืองบางแห่งอาจตกอยู่ในสถานะกำกวมระหว่างการเป็นหัวเมืองของสยามและประเทศราช การแยกแยะอาจนับได้จากเกณฑ์ที่ว่า หัวเมืองของสยามจะต้องทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในขณะที่ประเทศราชจะต้องส่งต้นไม้เงินทองและเครื่องราชบรรณาการให้สยาม 3 ปีต่อครั้ง ทว่าก็มีข้อยกเว้น เช่น มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่จำปาศักดิ์[1] หรือการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองของเจ้าเมืองมุกดาหาร[17] หัวเมืองของสยามบางแห่งอาจถูกยกขึ้นเป็นประเทศราชเป็นกรณีพิเศษในบางช่วงเวลา เช่น เมืองสุวรรณภูมิ[18], เมืองอุบลราชธานี[18][19] และเมืองมุกดาหาร[19] ในทำนองเดียวกัน รัฐที่อยู่ไกลจากราชธานีอาจตกอยู่ในสถานะกำกวมระหว่างการเป็นประเทศราช, รัฐบรรณาการ หรือไม่ได้อยู่ในปริมณฑลแห่งอำนาจของสยาม เช่น หัวเมืองของเจ้าอนัมก๊ก, ราชรัฐห่าเตียน, รัฐเปรัค[20] และรัฐเชียงแขง[1][21]

สยามกำหนดบรรดาศักดิ์ของผู้ปกครองประเทศราชไว้หลายระดับ ผู้ปกครองประเทศราชส่วนใหญ่ได้รับการสถาปนาให้เป็นพระเจ้าประเทศราช, เจ้าประเทศราช หรือพระยาประเทศราช ในขณะผู้ปกครองประเทศราชในคาบสมุทรมลายูจะได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าพระยาสุลต่านและพระยาสุลต่าน และในบางครั้งสยามอาจยกย่องเจ้าเมืองหัวเมืองชั้นนอกให้มีอิสริยยศเหมือนอย่างประเทศราช เช่น พระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง[22] พระราชบัญญัติระเบียบบรรดาศักดิ์ปี พ.ศ. 2441 กำหนดการเปรียบเทียบบรรดาศักดิ์ของผู้ปกครองประเทศราชดังนี้

ประเทศราชในแผ่นดินใหญ่ ประเทศราชในคาบสมุทร เทียบบรรดาศักดิ์ฝ่ายทหาร
พระเจ้าประเทศราช - นายพลเอก
- เจ้าพระยาสุลต่าน นายพลโท
เจ้าประเทศราช พระยาสุลต่าน นายพลตรี
พระยาประเทศราช - นายพันเอก

บรรดาศักดิ์ของผู้ปกครองประเทศราชแสดงถึงระดับการให้เกียรติจากทางสยาม เช่น พระเจ้าประเทศราชหรือเจ้าประเทศราชบางพระองค์จะได้รับการจารึกพระนามในพระสุพรรณบัตร และสาส์นถึงพระเจ้าประเทศราชและเจ้าประเทศราช มีคำเรียกเฉพาะว่า ศุภอักษร ดังตัวอย่าง

๏ หนังสือ เจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงพระยานครลำปาง พระยารัตนเมืองแก้วเมืองลำพูน พระยาแพร่ เจ้าฟ้าเมืองน่าน เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

๏ ศุภอักษร บวรพจนกถามหามงคลมิตรฌาสัย ในท่านอัครมหาเสนาธิบดินทร์นรินทรามาตย์ อันเป็นสวามิตรประวาสบาทมุลิกากรบวรรัตนามาตย์ แห่งพระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ ณ กรุงเทพพระมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน มีมธุรจิตสนิทเสน่หามาถึงพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าเมืองหลวงพระบาง เจ้าเวียงจันทน์ เจ้านครจำปาศักดิ์ พระอุไทยราชาธิราช

— ศุภอักษรถึงเจ้าประเทศราช เรื่องหม่อมเหม็นกับพวกเป็นกบถฯ จ.ศ. 1171 (พ.ศ. 2352)[23]

ผู้ปกครองและขุนนางของประเทศราชไม่ได้อยู่ในระบบศักดินาของสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ตราพระราชบัญญัติศักดินาเจ้านายพระยาท้าวแสนประเทศราช[24] ดังนี้

เจ้าเมืองประเทศราช ศักดินา (ไร่) เทียบเท่า
พระเจ้าประเทศราช 15,000 เจ้าต่างกรม
เจ้าประเทศราช 10,000 ข้าหลวงเทศาภิบาล
พระยาประเทศราช 8,000 เจ้าพระยาวังหน้า

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ลือขจรชัย, ฐนพงศ์ (2022). เมื่อจักรพรรดิราชหลั่งน้ำตา: ปัญหาการได้และเสียดินแดนของสยาม (PDF) (วิทยานิพนธ์). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. pp. 38–47, 151–152, 317. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2024-08-01. สืบค้นเมื่อ 2024-08-01.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 708
  3. หอพระสมุดวชิรญาณ, บ.ก. (1928), "พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย" [Phongsawadan Mueang Nakhon Chiang Mai, Mueang Nakhon Lampang, Mueang Lamphun Chai], ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๓ [A Collection of Chronicles] (PDF) (2nd ed.), พระนคร: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, สืบค้นเมื่อ 2024-05-12
  4. อ๋องสกุล, สรัสวดี (2023). ประวัติศาสตร์ล้านนา (13th ed.). เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. p. 225. ISBN 9786163989055. สืบค้นเมื่อ 2024-08-11.
  5. ก้องเวหา, ธนกฤต (15 February 2024). "ชะตากรรมจักรวรรดิกรีก หลังสิ้น "อเล็กซานเดอร์มหาราช"". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-10. สืบค้นเมื่อ 2024-08-11.
  6. เกียรติก้องขจร, เมธี (2017). อิทธิพลของญี่ปุ่นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของจีนในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ค.ศ. 1894 – การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 (PDF) (วิทยานิพนธ์). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. p. 11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-05-12. สืบค้นเมื่อ 2024-08-11.
  7. ราชบัณฑิตยสถาน (1934), ประชุมจารึกสยาม ภาคที่ ๑ (PDF) (2nd ed.), พระนคร: โรงพิมพ์พระจันทร์, p. 12, สืบค้นเมื่อ 2024-08-02
  8. โบราณคดีสโมสร (1914), "ประวัติของราชอาณาจักรศุโขไทย", ใน ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (บ.ก.), พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา [Phra Ratcha Phongsawadan Chabap Phra Ratcha Hatthalekha] (PDF), vol. 1 (2nd ed.), กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทย, pp. 90–91, สืบค้นเมื่อ 2024-08-12
  9. เจียจันทร์พงษ์, พิเศษ (2010), การเมืองในประวัติศาสตร์ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชากษัตราธิราช (2nd ed.), กรุงเทพฯ: มติชน, p. 30, ISBN 978-974-02-0401-5, สืบค้นเมื่อ 2024-08-02
  10. สุริยินทร์, สงบ (11 December 2023). "รัฐสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามฯ อาณาเขตครอบคลุมถึงอโยธยา?". ศิลปวัฒนธรรม. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-29. สืบค้นเมื่อ 2024-08-02.
  11. หอสมุดแห่งชาติ (ผู้รวบรวม) (1962), ราชาธิราช ฉบับหอสมุดแห่งชาติ [Rachathirat: National Library of Thailand Edition] (PDF), กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, pp. 20–21, 45, 47, สืบค้นเมื่อ 2024-08-13
  12. "จารึกวัดป่าแดง (แผ่นที่ 1)". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. 28 April 2024. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2024-08-12.
  13. หุตางกูร, ตรงใจ (2018), การปรับแก้เทียบศักราช และ การอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ, กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), p. 46, ISBN 978-616-7154-73-2
  14. ศรีสรรเพชญ์ (14 December 2015). "อยุธยาเพิ่งก่อตั้ง เหตุใดจึงมีเมืองประเทศราชถึง 16 เมืองครับ (พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ) หรือผมเข้าใจผิด". Pantip. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-01-16. สืบค้นเมื่อ 2024-08-02.
  15. พงศ์ศรีเพียร, วินัย, บ.ก. (2005), กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ผลงานวิจัย, กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, pp. 59–64, สืบค้นเมื่อ 2024-08-02
  16. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (2012), "อธิบายตำนานเทศาภิบาล", เทศาภิบาล, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน, ISBN 978-974-458-355-0, สืบค้นเมื่อ 2024-08-02
  17. ชีวะประเสริฐ, สัญญา (2014). "ความทรงจำของเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง: มุกดาหาร และสะหวันนะเขด". วารสารประวัติศาสตร์: 56. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-22. สืบค้นเมื่อ 2024-08-13.
  18. 18.0 18.1 สำนักนายกรัฐมนตรี (1971), เรื่องทรงตั้งเจ้าประเทศราชกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ [Regarding the Royal Investiture of Vassal Lords in the Kingdom of Rattanakosin During the Reign of Rama I] (PDF), พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, pp. 6, 11, 25, สืบค้นเมื่อ 2024-08-27
  19. 19.0 19.1 จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ (1934), "เดือน ๗ จุลศักราช ๑๒๔๐", จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๗, พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, สืบค้นเมื่อ 2024-08-27
  20. ณ ถลาง, ชวลีย์ (1978). "บทที่ ๒" (PDF). การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างความสัมพันธ์ ของหัวเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ กับรัฐบาลไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [A comparative study of the relationship of the northern and the southern vassal states with the Thai government in the reign of King Chulalongkorn] (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 22–28. สืบค้นเมื่อ 2024-08-03.
  21. อินปาต๊ะ, บริพัตร (2017). การฟื้นฟูรัฐน่านในสมัยราชวงศ์หลวงติ๋น พ.ศ. 2329-2442 (วิทยานิพนธ์). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. pp. 57–63. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2024-04-19. สืบค้นเมื่อ 2024-08-03.
  22. สมมตอมรพันธุ์, กรมพระ (1969), เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ (3rd ed.), พระนคร: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, p. 69, สืบค้นเมื่อ 2024-08-03
  23. กรมศิลปากร; สำนักหอสมุดแห่งชาติ (2019), จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จุลศักราช ๑๑๗๑ - ๑๑๗๔ (PDF), กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, p. 25, ISBN 978-616-283-450-9, สืบค้นเมื่อ 2024-08-03
  24. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติศักดินาเจ้านายพระยาท้าวแสนประเทศราช, เล่ม 16, วันที่ 16 กรกฎาคม ร.ศ. 118, หน้า 197