รัฐนิยม

ประกาศของรัฐบาลไทย

รัฐนิยม เป็นชุดคำสั่งจำนวน 12 ฉบับที่รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประกาศใช้ระหว่าง พ.ศ. 2482 ถึง 2485 ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกและเผด็จการทหารในประเทศไทย[1] ชุดคำสั่งเหล่านี้มีเป้าหมายสร้างรูปแบบและวัฒนธรรมไทยให้ "ศิวิไลซ์" ในช่วงที่ประเทศเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะ

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ตรวจสอบนักเรียน
แปลก พิบูลสงครามกล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนกิจกรรมการเกษตร

ฉบับที่ 1 แก้ไข

ในฉบับที่ 1 หัวข้อ ว่าด้วยรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ, ประชาชน และสัญชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ระบุ "ความนิยมของประชาชน" ในการเปลี่ยนชื่อประเทศ ประกอบด้วยรายการเดียว คือ: "ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ ให้ใช้ว่า "ไทย""[2]

ผลที่ตามมาจากการประกาศนี้คือ องค์กรใดที่มีคำว่า "สยาม" ในนั้น จะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ ตัวอย่างที่สำคัญคือ Siam Society กลายเป็น Thailand Research Society[3] ธนาคารสยามกัมมาจล กลายเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์[4] รวมถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ก็ประกาศให้บทบัญญัติต่าง ๆ ใช้คำว่า "ไทย" แทน "สยาม" ทั้งหมด ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน[เมื่อไร?][ต้องการอ้างอิง] แต่หลังจากแปลก พิบูลสงคราม ถูกถอดถอนใน พ.ศ. 2487 Siam Society ก็ได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อเดิมทั้งในภาษาไทยกับอังกฤษ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนธนาคารเปลี่ยนกลับแค่เฉพาะชื่อภาษาอังกฤษ[ต้องการอ้างอิง]

ฉบับที่ 2 แก้ไข

เรื่อง การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 ประกอบด้วย 5 รายการ ได้แก่:

  1. "ชนชาติไทยต้องไม่ประกอบกิจการใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาติ"
  2. "ชนชาติไทยต้องไม่เปิดเผยสิ่งซึ่งอาจเป็นผลเสียหายแก่ชาติให้ชนต่างชาติล่วงรู้เลยเป็นอันขาด การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ"
  3. "ชนชาติไทยต้องไม่ทำตนเป็นตัวแทนหรือเป็นปากเสียงของต่างชาติโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติไทย ต้องไม่ออกเสียงหรือแสดงตนเข้าข้างต่างชาติในกรณีที่เป็นปัญหาระหว่างชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ"
  4. "ชนชาติไทยต้องไม่แอบอ้างซื้อขายที่ดินแทนชนต่างชาติในทางที่เป็นภัยแก่ชาติ การกระทำเช่นนั้นเป็นการทรยศต่อชาติ"
  5. "เมื่อปรากฏว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดทรยศต่อชาติ เป็นหน้าที่ของชาวไทยต้องเอาใจใส่รีบระงับเหตุนั้น"[5]

ฉบับที่ 3 แก้ไข

เรื่อง การเรียกชื่อชาวไทย ตีพิมพ์ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2482 ส่งเสริมฉบับที่ 1 ด้วยการบังคับให้สาธารณะหยุดใช้ชื่อเรียกอย่าง "ชาวไทยภาคเหนือ", "ชาวไทยภาคใต้" หรือ "ชาวไทยมุสลิม":

  1. "ให้เลิกการเรียกชาวไทยโดยใช้ชื่อที่ไม่ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของผู้ถูกเรียก"
  2. "ให้ใช้คำว่า 'ไทย' แก่ชาวไทยทั้งมวลโดยไม่แบ่งแยก"[6]

ฉบับที่ 4 แก้ไข

 
โฆษณาชวนเชื่อไทยในเรื่องการเคารพธงชาติและเพลงชาติ

เรื่อง การเคารพธงชาติ, เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2482 ประกอบด้วย 5 รายการ ได้แก่:

  1. "เมื่อได้เห็นการชักธงชาติขึ้นหรือลงจากเสาประจำสถานที่ราชการตามเวลาปกติ หรือได้ยินเสียงแตรเดี่ยวหรือนกหวีดเป่าคำนับหรือให้อาณัติสัญญาณการชักธงชาติขึ้นหรือลง ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม"
  2. "เมื่อได้เห็นธงไชยเฉลิมพล ธงเรือรบ ธงประจำกองยุวชนทหาร หรือธงประจำกองลูกเสือ ซึ่งทางการเชิญผ่านมาหรืออยู่กับที่ประจำแถวทหาร หรือหน่วยยุวชน หรือลูกเสือ ให้แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม"
  3. " เมื่อได้ยินเพลงชาติซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในงานพิธีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงานหรือที่อยู่ในวงงานนั้นแสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม"
  4. " เมื่อได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งทางราชการบรรเลงในราชการก็ดี ซึ่งบุคคลบรรเลงในโรงมหรสพหรือในงานสโมสรใด ๆ ก็ดี ให้ผู้ที่ร่วมงาน หรือที่อยู่ในวงงาน หรือในโรงมหรสพนั้น แสดงความเคารพโดยปฏิบัติตามระเบียบเครื่องแบบหรือตามประเพณีนิยม"
  5. " เมื่อได้เห็นผู้ใดไม่แสดงความเคารพดั่งกล่าวในข้อ 1–2–3 และ 4 นั้น พึงช่วยกันตักเตือนชี้แจงให้เห็นความสำคัญแห่งการเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี"[7]

ฉบับที่ 5 แก้ไข

เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ประกอบด้วย 5 รายการ ได้แก่:

  1. "ชาวไทยพึงพยายามบริโภคแต่อาหารอันปรุงจากสิ่งซึ่งมีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย"
  2. "ชาวไทยพึงพยายามใช้เครื่องแต่งกายด้วยวัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย"
  3. "ชาวไทยพึงช่วยกันสนับสนุนงานอาชีพการเกษตร์ พาณิชย์ อุตสาหกรรม และวิชาชีพของชาวไทยด้วยกัน"
  4. "กิจการสาธารณูปโภคอันใดที่รัฐบาลหรือชาวไทยจัดให้มีขึ้นแล้ว ชาวไทยพึงพยายามใช้และสนับสนุน"
  5. "ชาวไทยผู้ประกอบการเกษตร พาณิชย์ อุตสาหกรรม งานอาชีพหรือวิชาชีพอันได้รับการสนับสนุนโดยรัฐนิยมฉะบับนี้ ต้องพยายามรักษามาตรฐานปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และดำเนินกิจการนั้น ๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทุกประการ"[8]
  • ดูเพิ่มที่ คำชักชวนขอให้ชาวไทยร่วมใจกันพยายามปฏิบัติตามรัฐนิยมฉะบับที่ 5 ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482[9]

ฉบับที่ 6 แก้ไข

สำเนาของรัฐนิยมฉบับที่ 6

เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ประกอบด้วย 2 รายการ:

  1. "ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์ตามแบบที่มีอยู่ณกรมศิลปากร"
  2. "เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก"[10] (เพลงชาติเหมือนกันกับปัจจุบัน)

ฉบับที่ 7 แก้ไข

เรื่อง ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2483 มีเนื้อหาสำคัญคือ

  1. "ชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันสร้างชาติ โดยทุกคนซึ่งมีกำลังกายดีต้องทำงาน ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ผู้ไม่ประกอบอาชีพเป็นหลักฐาน นับว่าเป็นผู้ไม่ช่วยชาติ และไม่สมควรได้รับความนับถือของชาวไทยทั่วไป"[11]

ฉบับที่ 8 แก้ไข

เรื่อง เพลงสรรเสริญพระบารมี ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2483 ย่อเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและแทนที่คำว่า "สยาม" เป็น "ไทย":[12]

ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายชัย ชโย

ฉบับที่ 9 แก้ไข

เรื่อง ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี ตีพิมพ์ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ประกอบด้วย 4 รายการ ได้แก่:

  1. "ชนชาติไทยจะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย"
  2. "ชนชาติไทยจะต้องถือว่า หน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดีประการที่หนึ่งนั้น คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สอง ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูงให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทยหรือยังไม่รู้หนังสือไทยให้ได้รู้ภาษาไทยหรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้"
  3. "ชนชาติไทยจะต้องไม่ถือเอาสถานที่กำเนิด ภูมิลำเนา ที่อยู่ หรือสำเนียงแห่งภาษาพูดที่แปร่งไปตามท้องถิ่น เป็นเครื่องแสดงความแตกแยกกัน ทุกคนต้องถือว่า เมื่อเกิดมาเป็นชนชาติไทย ก็มีเลือดไทยและพูดภาษาไทยอย่างเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างกันในการกำเนิดต่างท้องที่หรือพูดภาษาไทยด้วยสำเนียงต่าง ๆ กัน"
  4. "ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีแห่งชาติ ช่วยแนะนำชักชวนกันสั่งสอนผู้ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจหน้าที่พลเมืองดีของชาติให้ได้รู้ได้เข้าใจในหน้าที่พลเมืองดีแห่งชาติไทย"[13]

ฉบับที่ 10 แก้ไข

 
ภาพถ่ายหญิงชาวไทยในชุดพื้นเมืองเมื่อ พ.ศ. 2443 (ใช้ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์) ถูกทำให้ผิดกฎหมายหลังผ่านกฎหมายการแต่งกายของประชาชนชาวไทยในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1940

เรื่อง การแต่งกายของประชาชนชาวไทย ตีพืมพ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2484 ประกอบด้วย 2 รายการหลัก ได้แก่:

  1. "ชนชาติไทยไม่พึงปรากฎตัวในที่ชุมชน หรือสาธารณะสถาน ในเขตต์เทศบาล โดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย เป็นต้น"
  2. "การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยสำหรับประชาชนชาวไทย มีดั่งต่อไปนี้:
    • "แต่งเครื่องแบบตามสิทธิและโอกาสที่จะแต่งได้
    • "แต่งตามแบบสากลนิยมในทำนองที่สุภาพ
    • "แต่งตามประเพณีนิยมในทำนองที่สุภาพ"[14]

ฉบับที่ 11 แก้ไข

เรื่อง กิจประจำวันของคนไทย ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2484 ประกอบด้วย 5 รายการ ได้แก่:

  1. " ชนชาติไทยพึงแบ่งเวลาในหนึ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ปฏิบัติงานที่เป็นอาชีพส่วนหนึ่ง ปฏิบัติกิจส่วนตัวส่วนหนึ่ง และพักผ่อนหลับนอนอีกส่วนหนึ่ง ให้เป็นระเบียบ และมีกำหนดเวลาอันเหมาะสมจนเกิดเป็นนิสสัย"
  2. " ชนชาติไทยพึงปฏิบัติกิจประจำวันตามปกติ ดั่งต่อไปนี้:
    • "บริโภคอาหารให้ตรงตามเวลาไม่เกิน 4 มื้อ
    • "นอนประมาณระหว่าง 6 ถึง 8 ชั่วโมง"
  3. "ชนชาติไทยพึงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ประกอบกิจการงานของตนโดยไม่ท้อถอยและหลีกเลี่ยง กับควรหยุดเพื่อรับประทานอาหารและพักกลางวันไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อพ้นกำหนดเวลาทำงานเวลาเย็น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกิฬากลางแจ้งวันหนึ่งอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือประกอบงานอื่น เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น เมื่อชำระล้างร่างกายแล้ว รับประทานอาหาร"
  4. "ชนชาติไทยพึงใช้เวลาว่างเวลากลางคืนทำการงานอันจำเป็นที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จ หรือสนทนาปราศรัยกับบุคคลในครอบครัว มิตรสหาย ศึกษาหาความรู้โดยการฟังข่าวทางวิทยุกระจายเสียง อ่านหนังสือ หรือในการมหรสพ หรือศิลปกรรม แล้วแต่โอกาส"
  5. " ชนชาติไทยพึงใช้เวลาในวันหยุดงาน ให้เป็นประโยชน์แก่ร่างกายและจิตต์ใจ เช่น ประกอบกิจในทางสาสนา ฟังเทศน์ ทำบุญ ศึกษาหาความรู้ ท่องเที่ยว เล่นกิฬา หรือพักผ่อน เป็นต้น"[15]

ฉบับที่ 12 แก้ไข

เรื่อง การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ เป็นรัฐนิยมฉบับสุดท้ายที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2485 ประกอบด้วย 2 รายการ ได้แก่:

  1. "ในที่สาธารณสถานหรือในถนนหลวง ให้บุคคลทำการช่วยเหลือคุ้มครองโดยลักษณะที่จะยังความปลอดภัยให้แก่เด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ ในการสัญจรไปมา หรือในการหลบหลีกภยันตราย"
  2. "ผู้ใดสามารถกระทำการช่วยเหลือคุ้มครองดังกล่าวในข้อ 1 ถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีวัฒนธรรม ควรได้รับความนับถือของชาวไทย"[16]

ข้อบังคับทางวัฒนธรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 21 แก้ไข

ค่านิยม 12 ประการ แก้ไข

ใน พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รัฐบาลทหารที่มีอำนาจหลังรัฐประหาร ได้เปิดนโยบาย '"ค่านิยม 12 ประการ"' ซึ่งเป็นการรณรงค์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคู่มือทางศีลธรรมสำหรับเยาวชนไทย ระลึกถึงข้อบังคับทางวัฒนธรรมไทยในสมัยก่อน ค่านิยม 12 ประการ ได้แก่:[17][18][19]

  1. "มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์"
  2. "ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม"
  3. "กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์"
  4. "ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม"
  5. "รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม"
  6. "มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน"
  7. "เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง"
  8. "มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่"
  9. "มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"
  10. "รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี"
  11. "มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา"
  12. "คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง"

นักวิชาการบางส่วนวิจารณ์นโยบายนี้เป็น "เพียงการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ"[20] นักเรียนต้องท่องจำค่านิยมหลักทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเชิงธงหรือในชั้นเรียน[21]

ดูเพิ่ม แก้ไข

อ้างอิง แก้ไข

  1. Numnonda, Thamsook (September 1978). "Pibulsongkram's Thai Nation-Building Programme during the Japanese Military Presence, 1941-1945". Journal of Southeast Asian Studies. 9 (2): 234–247. doi:10.1017/S0022463400009760. JSTOR 20062726.
  2. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 810. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 24 June B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  3. "Memory of the World Register: The Minute Books of the Council of the Siam Society" (PDF). UNESCO. p. 6.
  4. "The Siam Commercial Bank Company Limited". Thai Bank Museum. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2019.[ลิงก์เสีย]
  5. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 1010. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 10 July B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  6. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 1281. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 7 August B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  7. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 2653. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 9 September B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  8. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 2359. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน November 6, B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  9. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 3434. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 19 February B.E. 2482 (1940). Retrieved 4 June 2010.
  10. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 2653. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 10 December B.E. 2482 (1939). Retrieved 4 June 2010.
  11. The Royal Gazette, Vol. 56, Page 3641. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 25 March B.E. 2482 (1940). Retrieved 4 June 2010.
  12. The Royal Gazette, Vol. 57, Page 78. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 April B.E. 2483 (1940). Retrieved 4 June 2010.
  13. The Royal Gazette, Vol. 57, Page 151. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 24 June B.E. 2483 (1940). Retrieved 4 June 2010.
  14. The Royal Gazette, Vol. 58, Page 113. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 21 January B.E. 2484 (1941). Retrieved 4 June 2010.
  15. The Royal Gazette, Vol. 58, Page 1132. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 September B.E. 2484 (1941). Retrieved 4 June 2010.
  16. The Royal Gazette, Vol. 59, Page 331. เก็บถาวร 2012-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 3 February B.E. 2485 (1942). Retrieved 4 June 2010.
  17. Limited, Bangkok Post Public Company. "12 Thai values stickers unveiled". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2021-12-06.
  18. "The 12 Core Values of Thailand – Montfort College, Chiang Mai, Thailand" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-06. สืบค้นเมื่อ 2021-12-06.
  19. "ค่านิยม 12 ประการ". www.thairath.co.th. 2015-01-23.
  20. Phataranawik, Phatarawadee (27 May 2018). "SPECIAL REPORT: How the junta misused culture to boost 'Thai-ism'". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 December 2021. สืบค้นเมื่อ 28 May 2018.
  21. "Students to recite '12 core values' of the nation daily". nationthailand (ภาษาอังกฤษ). 2014-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-12-06.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข

หนังสือและบทความ แก้ไข