ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต
ปีแยร์ มารี ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต (ฝรั่งเศส: Pierre Lambert de la Motte) เป็นบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังโคชินไชนา และมุขนายกเกียรตินามแห่งเบรุต[1] ผู้ร่วมก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และก่อตั้งคณะรักกางเขน
ปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต | |
---|---|
ประมุขมิสซังโคชินไชนา | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1658 – ค.ศ. 1669 | |
ถัดไป | กีโยม มาโอ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 มกราคม ค.ศ. 1624 ลาบัวซีแยร์ จังหวัดกาลวาโดส แคว้นนอร์ม็องดี ราชอาณาจักรฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 15 ธันวาคม ค.ศ. 1679 (55 ปี) กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา |
เชื้อชาติ | ฝรั่งเศส |
ศาสนา | คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก |
ที่อยู่อาศัย | สำนักมิสซังสยาม |
ประวัติ
แก้วัยเยาว์
แก้ปีแยร์ มารี ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1624 ณ เมืองลาบัวซีแยร์ จังหวัดกาลวาโดส แคว้นนอร์ม็องดี ราชอาณาจักรฝรั่งเศส เป็นบุตรของปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต รองข้าหลวงประจำเมืองเอเวรอ กับกัทรีน เออแด เดอ ปงแม็งวีย์ (Catherine Heudey de Pommainville) ครอบครัวของท่านนับถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ทำให้ท่านสนใจด้านศาสนามาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นท่านได้เข้าศึกษาที่กอแลฌดูว์มง (Collège du Mont) ของคณะเยสุอิต จนอายุราว 22 ปี ก็ได้ทำงานเป็นทนายความ และได้เป็นที่ปรึกษาศาลภาษีเมืองรูอ็องในปี ค.ศ. 1646
รับศีลบวช
แก้ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1655 ท่านตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อไปแสวงบุญที่เมืองแรน โดยออกเดินทางวันที่ 25 กรกฎาคม ท่านเดินด้วยเท้าเปล่า นุ่งห่มผ้าเนื้อหยาบ ตัดผมสั้นอย่างชาวนา ไม่พกเงินและเสบียงใด ๆ ติดตัว การแสวงบุญครั้งนี้ทำให้ท่านตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าจะบวชเป็นบาทหลวง ในเดือนตุลาคมปีนั้น ท่านจึงเข้าอบรมเตรียมบวชที่เซมินารีประจำเมืองกูต็องส์ ซึ่งท่านร่วมออกเงินสนับสนุนให้บาทหลวงฌ็อง เอิด สร้างขึ้น หลังจากเข้าเงียบได้ราว 4-5 สัปดาห์ ท่านก็ได้รับศีลอนุกรมเป็นพันธบริกรเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม และรับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 27 เดือนเดียวกัน โดยฟร็องซัว แซร์เวียง (François Servien) บิชอปแห่งบาเยอในขณะนั้น เป็นผู้โปรดศีล[2]
งานแพร่ธรรม
แก้ในระหว่างนั้นบาทหลวงอาแล็กซ็องดร์ เดอ รอด มิชชันนารีคณะเยสุอิตซึ่งทำการประกาศข่าวดีในภูมิภาคตะวันออกไกลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เห็นว่าควรคนพื้นเมืองบวชเป็นบาทหลวง คริสตจักรท้องถิ่นจะได้เติบโตก้าวหน้ายิ่งขึ้น จึงเดินทางไปกรุงโรม เพื่อขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 10 ทรงแต่งตั้งมุขนายกผู้แทนพระสันตะปาปาไปปกครองสำนักมิสซังในภูมิภาคนั้น แต่พระสันตะปาปาไม่ทรงตอบรับ ท่านจึงเดินทางไปปารีสเพื่อหาอาสาสมัครไปทำงานแพร่ธรรมต่อ บาทหลวงฟร็องซัว ปาลูว์ และบาทหลวงปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต อาสาทำงานนั้น ทั้งสองเดินทางไปกรุงโรมและได้รับการอภิเษกเป็นมุขนายกในปี ค.ศ. 1658 โดยพระคุณเจ้าล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต ได้รับมอบหมายให้ไปปกครองมิสซังโคชินไชนา จึงถือว่าเหตุการณืนี้เป็นจุดเริ่มต้นของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส[3] ต่อมาอีญาซ กอตอล็องดี ได้เข้าร่วมพันธกิจด้วย และได้รับอภิเษกเป็นมุขนายกเช่นกัน ทั้งสามได้รับสิทธิว่าภายในกำหนดระยะเวลา 7 ปีนั้นสามารถบวชกุลบุตรพื้นเมืองที่รู้ภาษาละตินเป็นบาทหลวงได้ ทั้งสามยังได้ตั้งเซมินารีขึ้นที่กรุงปารีสเพื่ออบรมกุลบุตรชาวฝรั่งเศสไปร่วมพันธกิจนี้
มุขนายกทั้งสามพร้อมกับมิชชันนารีในคณะของตนทยอยอกเดินทางจากฝรั่งเศส คณะของพระคุณเจ้าล็องแบร์ออกเดินทางในปี ค.ศ. 1660 มาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นเกิดการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนอย่างหนักในตังเกี๋ยและประเทศจีน ประกอบกับพระเจ้ากรุงสยามได้ต้อนรับคณะมิชชันนารีเป็นอย่างดี พระคุณเจ้าล็องแบร์และพระคุณเจ้าปาลูว์จึงตัดสินใจปักหลักประกาศศาสนาในดินแดนสยาม จนกระทั่งวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1669 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 จึงโปรดให้ตั้งมิสซังสยามเป็นเขตผู้แทนพระสันตะปาปา บาทหลวงหลุยส์ ลาโน มิชชันนารีในคณะของพระคุณเจ้าปาลูว์ได้รับอภิเษกเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังองค์แรก
เมื่อสถานในเวียดนามสงบลง พระคุณเจ้าล็องแบร์จึงเดินทางไปที่นั่น ได้บวชชาวเวียดนาม 7 คนเป็นบาทหลวง และรวมกลุ่มสตรีที่ศรัทธาอุทิศตนตั้งเป็นคณะรักกางเขน[4] ท่านเดินทางเผยแผ่ศาสนาไปมาระหว่างเวียดนามและสยามอยู่หลายปี จนกระทั่งระหว่างเดินทางกลับมาสยามในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1676 ท่านเริ่มป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และนิ่วในไต ซึ่งทำให้ท่านทุกข์ทรมานอย่างมาก[5]
มรณกรรม
แก้พระคุณเจ้าปีแยร์ มารี ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต ถึงแก่มรณภาพที่กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1679 สิริอายุได้ 55 ปี ศพท่านถูกฝังที่วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา
อ้างอิง
แก้- ↑ Bishop Pierre Lambert de la Motte, The Hierarchy of the Catholic Church, เรียกข้อมูลวันที่ 22 พ.ย. 2557
- ↑ ฟรังซัวส์ โฟกองเนต์-บือเซอแลง. พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อัสสัมชัญ, 2555. 284 หน้า. ISBN 978-616-7219-3 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: length
- ↑ ประวัติความเป็นมาคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเกตุ มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 22 พ.ย. 2557
- ↑ พระสังฆราชปิแอร์ ลังแบรต์ เดอ ลา ม็อต เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, หอจดหมายเกตุ มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ, เรียกข้อมูลวันที่ 22 พ.ย. 2557
- ↑ The Church of Vietnam and the Lovers of the Holy Cross เก็บถาวร 2013-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Chinese Regional Bishops' Conference, เรียกข้อมูลวันที่ 22 พ.ย. 2557