วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา

วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา (อังกฤษ: Saint Joseph Catholic Church, Ayutthaya) เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยอาคารหลังแรก ตามบันทึกของคณะบาทหลวงและพระคุณเจ้าฟร็องซัว ปาลูว์ บันทึกไว้ว่า ได้สร้างในปี พ.ศ. 2205 หลังจากท่านมาเมืองไทยได้สามปี และมีภาพประกอบแสดงไว้ด้วย[4] โดยมีภาพประกอบแสดงไว้ในหนังสือของท่าน ที่เขียนในปี พ.ศ. 2210-2211 ก็ปรากฏรูปโบสถ์แล้ว

วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา
โบสถ์มุมมองจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
แผนที่
ที่ตั้ง30 หมู่ 11 ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเทศไทย
นิกายโรมันคาทอลิก
ประวัติ
ผู้ก่อตั้งพระคุณเจ้าหลุยส์ ลาโน
คุณพ่อแปร์โร
โจอาคิม แกรซี
เสกเมื่อ25 มีนาคม พ.ศ. 2228(หลังเก่า)[1]
21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 (หลังปัจจุบัน)[1]
สถาปัตยกรรม
สถาปนิกคุณพ่อแปร์โร[1]
รูปแบบสถาปัตย์สถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์[2]
แบบผัง: กางเขนแบบละติน[3]
ปีสร้างพ.ศ. 2228
พ.ศ. 2547 (บูรณะ)
โครงสร้าง
อาคารยาว42.74 เมตร[2]
อาคารกว้าง23.11 เมตร[2]
ความสูงอาคาร29.25 เมตร[3]
การปกครอง
อัครมุขมณฑลกรุงเทพฯ
นักบวช
อัครมุขนายกพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
อธิการโบสถ์บาทหลวงวรยุทธ กิจบำรุง

ข้อมูลอีกแหล่งหนึ่ง ในพงศาวดาร ฉบับที่ 32 ที่จัดทำขึ้นภายหลังสมัยหมอบรัดเลย์ มีข้อมูลว่า สร้างขึ้นครั้งแรกหลังขอพระราชทานที่ดิน ซึ่งเป็นที่นาชั้นดี ริมคลองด้านท้ายเกาะ ในราวปี พ.ศ. 2209 ครั้งแรกทำเป็นเรือนไม้ขึ้นก่อนสองหลัง ก่ออิฐด้านล่าง ยกพื้นสูงเพราะน้ำท่วมเสมอ และอาคารหนึ่งมีสองชั้น หลังคากระเบื้อง อีกอาคารหลังคาดินเผา ที่เหตุใช้หลังคากระเบื้องเพื่อกันไฟ เพราะมีเอกสารการสอน และตำราต่างๆ อาคารทั้งสอง ทำหน้าที่โบสถ์ ในชั้นบน และมีการเรียนการสอน และเป็นที่อยู่อาศัยบาทหลวงส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในการบันทึกของบาทหลวงฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี ที่เข้ามาพร้อมกับคณะทูต กล่าวชมโดยสรุปว่า วัดนี้มีนักเรียนจากนานาประเทศเข้าศึกษา การจัดการดีมาก นักเรียนชาวญวนและเขมรอ่านภาษาละตินได้ดี มีไทยและมอญด้วยเช่นกัน กิจการเจริญดี น่าจะได้ก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนในอนาคต และในเวลานั้น บันทึกไว้ในวันอาทิตย์ที่ 21 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2228 ก็ยังไม่ได้ก่อสร้างเป็นอิฐ

แต่ในข้อมูลแหล่งอื่นในประเทศไทยแสดงว่าก่อสร้างครั้งแรกหลังจากนั้นมาก เกือบ 20 ปี (โดยข้อมูลแสดงว่าเป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2228[1]) และได้ปรับปรุง บูรณะเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นหลังปัจจุบัน คือ หลังที่ 4 ในปี พ.ศ. 2426 โดยมีคุณพ่อแปร์โร อธิการโบสถ์ในขณะนั้น และโจอาคิม แกรซี สถาปนิกชาวอิตาลีร่วมกันออกแบบ ตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์ มีหอระฆัง 1 หอ ซึ่งคล้ายคลึงกับรูปแบบโบสถ์คาทอลิกไทยทั่ว ๆ ไป เช่น วัดซางตาครู้ส วัดคอนเซ็ปชัญ ฯลฯ

วัดนักบุญยอแซฟ ถือเป็นศูนย์กลางของคริสตชนชาวสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีประวัติมาตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปีแยร์ ล็องแบร์ เดอ ลา ม็อต กับฟร็องซัว ปาลูว์ ได้เข้ามาทูลขอสร้างโบสถ์คริสต์และโรงเรียน สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งให้ ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักกันในสมัยนั้นว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ”[5] จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง โบสถ์ได้ถูกเผาทำลายและถูกปล้นสะดมทรัพย์สินไปหมด บาทหลวงฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว จึงได้กลับมาบูรณะโบสถ์อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2374 และโบสถ์หลังปัจจุบันคือในสมัยคุณพ่อแปร์โร ที่ได้ทำพิธีเสกในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 โบสถ์ได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2547[6] ปัจจุบันตัวโบสถ์หลังปัจจุบันนี้มีอายุแล้วกว่า 141 ปี

วัดนักบุญยอแซฟ ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ในปี พ.ศ. 2548 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 เกี่ยวกับวัด, jsyutya.com .สืบค้นเมื่อ 23/07/2559
  2. 2.0 2.1 2.2 แวดวงคาทอลิก : ฉลองวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา, อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ .สืบค้นเมื่อ 23/07/2559
  3. 3.0 3.1 สถาปัตยกรรมของวัด, jsyutya.com .สืบค้นเมื่อ 23/07/2559
  4. Relation abrégée des missions..., by Mgr Pallu, published in 1668 in Paris
  5. วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เก็บถาวร 2017-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ท่องเที่ยวสะดุดตา .สืบค้นเมื่อ 23/07/2559
  6. วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เก็บถาวร 2017-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, holidaythai.com .สืบค้นเมื่อ 23/07/2559

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

14°20′24″N 100°33′00″E / 14.340000°N 100.550000°E / 14.340000; 100.550000