ภาษาฝรั่งเศส

ภาษาในตระกูลโรมานซ์

ภาษาฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: français, ออกเสียง: [fʁɑ̃sɛ]; หรือ langue française, ออกเสียง: [lɑ̃ɡ fʁɑ̃sɛːz]) เป็นภาษากลุ่มโรมานซ์ภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียน สืบทอดมาจากภาษาละตินสามัญในจักรวรรดิโรมันเช่นเดียวกับภาษากลุ่มโรมานซ์ทั้งหมด ภาษาฝรั่งเศสวิวัฒนาการมาจากภาษาโรมานซ์กอลซึ่งเป็นภาษาละตินที่พูดกันในกอล (โดยเฉพาะกอลตอนบน) ภาษาที่ใกล้ชิดกับภาษานี้คือล็องก์ดอยล์ (กลุ่มของภาษาที่พูดกันในตอนเหนือประเทศฝรั่งเศสและตอนใต้ของประเทศเบลเยียมในอดีต ซึ่งถูกแทนที่ด้วยภาษาฝรั่งเศสเป็นส่วนมากในเวลาต่อมา) ภาษาฝรั่งเศสยังได้รับอิทธิพลจากภาษากลุ่มเคลต์ในแกลเลียเบลจิกาและภาษาแฟรงก์ (ภาษากลุ่มเจอร์แมนิก) ของชาวแฟรงก์หลังสมัยโรมัน

ภาษาฝรั่งเศส
français
ออกเสียง[fʁɑ̃sɛ]
ประเทศที่มีการพูดฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก
จำนวนผู้พูด76.8 ล้านคนทั่วโลก  (ไม่พบวันที่)
321 ล้านคน (ภาษาแม่บวกภาษาที่สอง; 2022)[1][2]
ตระกูลภาษา
รูปแบบก่อนหน้า
ระบบการเขียนอักษรละติน (ชุดตัวอักษรฝรั่งเศส)
อักษรเบรลล์ฝรั่งเศส
สถานภาพทางการ
ภาษาทางการ

ผู้วางระเบียบอากาเดมีฟร็องแซซ (ฝรั่งเศส) และสำนักงานภาษาฝรั่งเศสควิเบก (ควิเบก)
รหัสภาษา
ISO 639-1fr
ISO 639-2fre (B)
fra (T)
ISO 639-3fra
Linguasphere51-AAA-i
  ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการและภาษาหลัก
  ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ แต่ไม่ใช่ภาษาหลัก
  ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สอง
  ประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษารอง
บทความนี้มีสัญลักษณ์สัทอักษรสากล หากระบบของคุณไม่รองรับการแสดงผลที่ถูกต้อง คุณอาจเห็นปรัศนี กล่อง หรือสัญลักษณ์อย่างอื่นแทนที่อักขระยูนิโคด
ผู้พูดภาษาฝรั่งเศส บันทึกในประเทศเบลเยียม

ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการใน 28 ประเทศในหลายทวีป[3] ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส (อออิฟ) ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นหนึ่งในหกภาษาทางการของสหประชาชาติ[4] และเป็นภาษาแม่ (ตามจำนวนผู้พูด) ในฝรั่งเศส; แคนาดา (โดยเฉพาะรัฐควิเบก, รัฐออนแทรีโอ และรัฐนิวบรันสวิก); เบลเยียม (แคว้นวอลลูนและภูมิภาคเมืองหลวงบรัสเซลส์); ภาคตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ (รอม็องดี); ส่วนหนึ่งของลักเซมเบิร์ก; ส่วนหนึ่งของสหรัฐ (รัฐลุยเซียนา, รัฐเมน, รัฐนิวแฮมป์เชียร์ และรัฐเวอร์มอนต์); โมนาโก; แคว้นวัลเลดาออสตาในอิตาลี และอื่น ๆ [5]

ใน ค.ศ. 2015 ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรที่พูดภาษาฝรั่งเศส (รวมผู้พูดภาษาที่สองและผู้พูดได้บางส่วน) อาศัยอยู่ในทวีปยุโรป, ร้อยละ 36 อยู่ในแอฟริกาใต้สะฮาราและมหาสมุทรอินเดีย, ร้อยละ 15 อยู่ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง, ร้อยละ 8 อยู่ในทวีปอเมริกา และร้อยละ 1 ในทวีปเอเชียและโอเชียเนีย[6] ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ที่มีผู้พูดมากเป็นอันดับสองในสหภาพยุโรป[7] ประมาณหนึ่งในห้าของชาวยุโรปที่พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่สามารถพูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สอง[8] สถาบันทั้งหมดของสหภาพยุโรปใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทำงานร่วมกับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน และในบางสถาบันใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทำงานเพียงภาษาเดียว (เช่นศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป)[9] ภาษาฝรั่งเศสยังเป็นภาษาแม่ที่มีผู้พูดมากเป็นอันดับ 18 ของโลก ภาษาที่มีจำนวนผู้พูดมากเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นภาษาที่มีการเรียนรู้มากเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ทั่วโลก (มีผู้เรียนประมาณ 120 ล้านคน)[10] ลัทธิอาณานิคมของฝรั่งเศสและเบลเยียมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมาส่งผลให้ภาษาฝรั่งเศสเริ่มกระจายไปในทวีปอเมริกา, แอฟริกา และเอเชีย ผู้พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่สองส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาที่พูดภาษาฝรั่งเศส ได้แก่ กาบอง, แอลจีเรีย, โมร็อกโก, ตูนิเซีย, มอริเชียส, เซเนกัล และโกตดิวัวร์[11]

ภาษาฝรั่งเศสมีผู้พูดเป็นภาษาแม่ประมาณ 76 ล้านคน โดยมีผู้พูดอย่างคล่องแคล่วในชีวิตประจำวันประมาณ 235 ล้านคน[12][13][14] และผู้พูดเป็นภาษาที่สอง 77–110 ล้านคนในระดับความคล่องแคล่วที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา[15] อออิฟรายงานว่าประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก "สามารถพูดภาษานี้ได้"[16] โดยไม่ระบุเกณฑ์การประมาณหรือกลุ่มบุคคลที่สำรวจ[2] รายงานจากการฉายภาพประชากรของมหาวิทยาลัยลาวาลและเครือข่ายประชากรศาสตร์แห่งสมาคมมหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสคาดว่าในอนาคตอาจจะมีจำนวนผู้พูดภาษาฝรั่งเศสสูงถึงประมาณ 500 ล้านคนใน ค.ศ. 2025 และ 650 ล้านคนใน ค.ศ. 2050[17] อออิฟประมาณการว่าจะมีผู้พูดถึง 700 ล้านใน ค.ศ. 2050 โดยร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในแอฟริกา[6]

ภาษาฝรั่งเศสมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานว่าเป็นภาษาระหว่างประเทศในวรรณกรรมและวิทยาศาสตร์ และเป็นภาษาแรกหรือภาษาที่สองในหลายองค์กร เช่น สหประชาชาติ, สหภาพยุโรป, เนโท, องค์การการค้าโลก, คณะกรรมการโอลิมปิกสากล และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. 2011 บลูมเบิร์กบิสเนสวีก จัดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่เหมาะแก่การทำธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับสาม เป็นรองเพียงภาษาอังกฤษและภาษาจีนมาตรฐาน[18]

ประวัติ แก้

ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ กล่าวคือ เป็นภาษาที่มีต้นกำเนิดจากภาษาละตินที่พูดกันในจักรวรรดิโรมันโบราณ ก่อนหน้าที่ดินแดนที่เป็นที่ตั้งประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบันจะอยู่ใต้การปกครองของโรมัน ดินแดนดังกล่าวเคยอยู่ใต้การปกครองของพวกกอล ซึ่งเป็นหนึ่งในชนชาติเคลต์ ในสมัยนั้นดินแดนประเทศฝรั่งเศสมีคนที่พูดภาษาถิ่นต่าง ๆ กันหลายภาษา แม้ว่าชาวฝรั่งเศสจะชอบสืบที่มาของภาษาของตนไปถึงพวกโกล (les Gaulois) แต่มีคำในภาษาฝรั่งเศสเพียง 2,000 คำเท่านั้นที่มีที่มามาจากภาษาของพวกโกล ซึ่งโดยมากจะเป็นคำที่ใช้เป็นชื่อสถานที่ หรือเป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวกับธรรมชาติ

หลังจากที่ชาวโรมันได้เข้ามายึดดินแดนของพวกโกล คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นก็ได้เปลี่ยนมาพูดภาษาละติน ซึ่งภาษาละตินที่พูดกันในบริเวณนี้ ไม่ใช่ภาษาละตินชั้นสูงแบบที่พูดกันในหมู่ชนชั้นสูงของกรุงโรม แต่เป็นภาษาละตินสามัญ (vulgar latin) ที่พูดกันในหมู่ชาวบ้านและพลทหาร นอกจากนี้ ภาษาละตินที่พูดกันอยู่ในฝรั่งเศสนั้น ก็ได้รับอิทธิพลจากภาษากอลอยู่พอควร เนื่องจากสิ่งของบางอย่างที่ใช้กันอยู่ในกอล พวกโรมันไม่มีชื่อเรียก จึงต้องขอยืมคำในภาษาโกลมาเรียกสิ่งของเหล่านั้น เช่น les braies ซึ่งแปลว่าเครื่องแต่งกายจำพวกกางเกงของชาวโกล ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการ และภาษาที่ใช้ปกครองในชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ด้วย (เช่น สหภาพยุโรป ไอโอซี องค์การสหประชาชาติ และสหภาพสากลไปรษณีย์) ในสมัยก่อนภาษาฝรั่งเศสถือเป็นภาษาสากลที่แพร่หลายที่สุด โดยมีสถานะเฉกเช่นภาษาอังกฤษในปัจจุบัน หนังสือเดินทางของไทยก็เคยใช้ภาษาฝรั่งเศสควบคู่กับภาษาไทย

ยุคอาณาจักรแฟรงก์ แก้

หลังจากคริสต์ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา จักรวรรดิโรมันก็เสื่อมอำนาจ ดินแดนหลายส่วนของจักรวรรดิโรมันตกอยู่ในเงื้อมมือของชนเผ่าป่าเถื่อนหลายพวก ชนเผ่าป่าเถื่อนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน ได้แก่ ชนเผ่าแฟรงก์ที่อาศัยอยู่ทางเหนือ ชนเผ่าวิซิกอทที่อาศัยอยู่ทางใต้ ชนเผ่าเบอร์กันดีในบริเวณริมแม่น้ำโรน และชนเผ่าเอลแมนที่อาศัยอยู่บริเวณพรมแดนของประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนี ชนเผ่าป่าเถื่อนเหล่านี้พูดภาษากลุ่มเจอร์แมนิก สำเนียงของชนเหล่านี้ได้ส่งผลต่อภาษาละตินที่เคยพูดอยู่เดิมในฝรั่งเศส และคำจากภาษาของชนป่าเถื่อน ได้แก่ คำที่มีความหมายเกี่ยวกับยุทธวิธีในการรบ และชนชั้นทางสังคม ได้ถูกนำมาใช้ในภาษาละตินที่พูดกันอยู่ในฝรั่งเศส โดยภาษาฝรั่งเศสปัจจุบันมีคำที่มีที่มาจากคำในภาษาของชนป่าเถื่อนอยู่ประมาณ ร้อยละ 60

ภาษาฝรั่งเศสในยุคกลาง แก้

นักภาษาศาสตร์ได้จัดจำแนกภาษาฝรั่งเศสที่พูดกันในยุคกลางออกเป็น 3 จำพวก คือ พวกแรกคือภาษาที่เรียกกันว่า Langue d'Oïl พูดกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ พวกที่สองคือ Langue d'Oc ที่พูดกันอยู่ทางใต้ของประเทศ และพวกที่สามคือ Franco-Provençal ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของสองภาษาแรก

Langue d'Oïl เป็นภาษาที่ใช้คำว่า oïl ในคำพูดว่า "ใช่" (ปัจจุบันใช้คำว่า oui) ในสมัยกลางภาษานี้จะพูดกันในตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส ภาษา Langue d'oïl เติบโตต่อมาจนกลายเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่า ช่วงระยะเวลาของภาษาฝรั่งเศสเก่าอยู่ระหว่าง ศตวรรษที่ 8 กับ ศตวรรษที่ 14 ภาษาฝรั่งเศสเก่ามีลักษณะร่วมกันหลายอย่างกับภาษาลาติน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลำดับคำในประโยคซึ่งมีอิสระสูงเหมือนภาษาลาติน และต่างกับการบังคับทางไวยกรณ์ของภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบัน

Langue d'Oc เป็นภาษาที่ใช้คำว่า oc ในคำพูดว่า "ใช่" ภาษานี้พูดกันอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสและทางเหนือของสเปน ซึ่งภาษานี้จะมีลักษณะคล้ายกับภาษาละตินมากกว่า Langue d'Oïl

ภาษาฝรั่งเศสยุคใหม่ แก้

นักวิชาการเรียกภาษาฝรั่งเศสที่พูดในช่วงก่อนหน้าปี พ.ศ. 1843 ซึ่งก็คือภาษา Langue d'Oïl ว่าเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่า เอกสารฉบับแรกที่เขียนขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศสเก่า คือ "คำปฏิญาณแห่งสตราสบูร์ก" (Strasbourg) ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 1385

ในปี พ.ศ. 2082 พระเจ้าฟรองซัวที่ 1 ได้ออกพระราชกฎษฎีกาที่กำหนดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการของฝรั่งเศสแทนที่ภาษาละติน และกำหนดให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการบริหารราชการ ในราชสำนัก และในการพิจารณาคดีในศาล ในช่วงนี้ได้มีการปรับปรุงตัวสะกดและการออกเสียงในภาษาฝรั่งเศส นักวิชาการเรียกภาษาฝรั่งเศสในยุคนี้ว่า ภาษาฝรั่งเศสยุคกลาง ในศตวรรษที่ 17 หลังจากที่มีการกำหนดมาตรฐานภาษาฝรั่งเศสให้พูดสำเนียงเดียวกันทั่วประเทศ การปรับปรุงและการกำหนดหลักต่าง ๆ ของภาษา ก็ทำให้เกิดภาษาฝรั่งเศสที่เรียกกันว่าภาษาฝรั่งเศสยุคใหม่ ซึ่งพูดกันอยู่ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2177 พระคาร์ดินัลรีเชอลีเยอ (Richelieu) ได้ก่อตั้งองค์กรที่เรียกว่า L'Académie Française (ลากาเดมีฟร็องแซซ หรือ บัณฑิตยสถานฝรั่งเศส ซึ่งเปรียบได้กับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาของไทย) เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาภาษาฝรั่งเศสไว้ไม่ให้วิบัติ และคงภาษาฝรั่งเศสให้อยู่ในรูปแบบเดิมให้มากที่สุด ในช่วงศตวรรษที่ 17-19 ฝรั่งเศสได้มีบทบาทสำคัญในการเมืองของทวีปยุโรป และเป็นศูนย์กลางของปรัชญารู้แจ้งที่แพร่หลายกันอยู่ในสมัยนั้น ทำให้อิทธิพลของภาษาฝรั่งเศสแผ่ออกไปกว้างขวางและกลายเป็นภาษากลางของยุโรป มีบทบาทสำคัฐทางการทูต วรรณคดี และศิลปะ มหาราชในยุคนั้นสองพระองค์ คือ พระนางแคทเธอรีนมหาราชินีแห่งรัสเซีย และพระเจ้าเฟรดริกมหาราชแห่งปรัสเซีย สามารถตรัสและทรงพระอักษรเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ดี

 
ผู้รู้ภาษาฝรั่งเศสในกลุ่มสหภาพยุโรป

ภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบัน แก้

ภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบัน ถูกแทรกซึมโดยอิทธิพลของภาษาอังกฤษที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง มีการนำคำภาษาอังกฤษมาใช้ปะปนกับภาษาฝรั่งเศสเดิมอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีผลเสียต่อการอนุรักษ์ภาษาฝรั่งเศส รัฐบาลได้ออกกฎหมายบางฉบับเพื่ออนุรักษ์ภาษาฝรั่งเศส โดยกำหนดให้ใช้คำจากภาษาฝรั่งเศสแท้ ๆ ในโฆษณา ประกาศ และเอกสารราชการต่าง ๆ นอกจากนี้ยังกำหนดให้สถานีวิทยุทุกสถานี เปิดเพลงภาษาฝรั่งเศสอย่างน้อยร้อยละ 40 ของเพลงทั้งหมดที่เปิดในสถานีนั้น

สถานะของภาษาฝรั่งเศสในประเทศฝรั่งเศส แก้

ฝรั่งเศสกำหนดให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการของประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลกำหนดให้เอกสารราชการ สัญญาต่าง ๆ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การศึกษา จะต้องทำเป็นภาษาฝรั่งเศส หากจำเป็นต้องใช้คำภาษาต่างประเทศ ก็ให้ใส่คำแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ดี ทางการไม่ได้ควบคุมการใช้ภาษาในเอกสารของเอกชน และในเว็บไซต์ของเอกชน ซึ่งหากทำการควบคุมแล้ว ก็อาจขัดต่อหลักการเสรีภาพในการพูดได้

สถานะของภาษาฝรั่งเศสในประเทศแคนาดา แก้

ร้อยละ 12 ของคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ในโลกนี้เป็นชาวแคนาดา และภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาทางการสองภาษาของแคนาดา (อีกภาษาหนึ่งคือภาษาอังกฤษ) กฎหมายของแคนาดากำหนดให้บริการต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางจะต้องจัดให้เป็นสองภาษาเสมอ กฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านรัฐสภา จะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส และฉลากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่วางขายในแคนาดาจะต้องมีภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ร้อยละ 22 ของชาวแคนาดาใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาแม่ และร้อยละ 18 ของชาวแคนาดาสามารถพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส

ภาษาฝรั่งเศสมีสถานะเป็นภาษาทางการเพียงภาษาเดียวของรัฐควิเบก (เกเบก - Québec) มาตั้งแต่การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยภาษาฝรั่งเศส (Bill 101) ผลสำคัญข้อหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้คือกำหนดให้เด็กในควิเบกต้องได้รับการศึกษาเป็นภาษาฝรั่งเศส ยกเว้นถ้าบิดามารดาของเด็กคนนั้นได้รับการศึกษาส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษภายในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นการทำลายค่านิยมของผู้อพยพที่มักส่งบุตรหลานของคนเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ กฎหมายนี้ยังกำหนดให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการพิจารณาคดี โฆษณา การอภิปรายในสภา และการพิจารณาคดีในศาล ภายในควิเบก ใน พ.ศ. 2536 กฎหมายนี้ได้รับการแก้ไข โดยอนุญาตให้เขียนป้ายสัญลักษณ์หรือโฆษณาต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษได้บ้าง ตราบใดที่ยังมีภาษาฝรั่งเศสเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ยังทำให้คนที่พูดภาษาอังกฤษแต่อาศัยในควิเบกสามารถรับบริการทางสุขภาพและบริการของรัฐเป็นภาษาอังกฤษได้

รัฐอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาทางการควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ ได้แก่รัฐนิวบรันสวิก ยูคอนเทร์ริทอรี นอร์ทเวสต์เทร์ริทอรีส์ และนูนาวุต ในรัฐออนแทรีโอ และแมนิโทบา ภาษาฝรั่งเศสไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาทางการ แต่รัฐบาลของรัฐทั้งสองรัฐได้จัดการบริการต่าง ๆ เป็นภาษาฝรั่งเศสคู่กับภาษาอังกฤษ ในบริเวณที่มีคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสอาศัยอยู่มาก

สถานะของภาษาฝรั่งเศสในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แก้

ภาษาฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในภาษาทางการของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาษาอื่น ๆ ได้แก่ภาษาเยอรมัน ภาษาอิตาลี และภาษารูมันช์

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Portail de l'Organisation Internationale de la Francophonie (OIF)". Organisation Internationale de la Francophonie (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 2022-04-20.
  2. 2.0 2.1 "French language is on the up, report reveals". thelocal.fr. 6 November 2014.
  3. "In which countries of the world is this language spoken..." สืบค้นเมื่อ 21 November 2017.
  4. "Official Languages". www.un.org (ภาษาอังกฤษ). 2014-11-18. สืบค้นเมื่อ 2020-04-19.
  5. "Census in Brief: English, French and official language minorities in Canada". www12.statcan.gc.ca (ภาษาอังกฤษ). 2017-08-02. สืบค้นเมื่อ 2018-03-25.
  6. 6.0 6.1 "The status of French in the world". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 September 2015. สืบค้นเมื่อ 23 April 2015.
  7. European Commission (June 2012), "Europeans and their Languages" (PDF), Special Eurobarometer 386, Europa, p. 5, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-01-06, สืบค้นเมื่อ 7 September 2014
  8. "Why Learn French". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-19.
  9. Develey, Alice (25 February 2017). "Le français est la deuxième langue la plus étudiée dans l'Union européenne" – โดยทาง Le Figaro.
  10. "How many people speak French and where is French spoken". สืบค้นเมื่อ 21 November 2017.
  11. (ในภาษาฝรั่งเศส) La Francophonie dans le monde 2006–2007 published by the Organisation internationale de la Francophonie. Nathan เก็บถาวร 14 มกราคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Paris, 2007.
  12. "Estimation des francophones dans le monde en 2015. Sources et démarches méthodologiques." [archive] [PDF], sur Observatoire démographique et statistique de l’espace francophone [archive].
  13. "Ethnologue: French". สืบค้นเมื่อ 23 September 2017.
  14. "Francophonie ("Qu'est-ce que la Francophonie?")". www.axl.cefan.ulaval.ca.
  15. "The World's Most Widely Spoken Languages". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2011.
  16. "La langue française dans le monde" (PDF). สืบค้นเมื่อ 30 March 2022.
  17. "Agora: La francophonie de demain". สืบค้นเมื่อ 13 June 2011.
  18. Lauerman, John (30 August 2011). "Mandarin Chinese Most Useful Business Language After English". Bloomberg. New York. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 March 2015. French, spoken by 68 million people worldwide and the official language of 27 countries, was ranked second [to Mandarin].

อ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

องค์กร แก้

บทเรียน แก้

พจนานุรมออนไลน์ แก้

ไวยากรณ์ แก้

กริยา แก้

  • เดี๋ยวผมไปหาทุกประเทศเลยก็แล้วกันทุกคนร่วมงานโกงธนาคาร French verb conjugation at Verbix

พจนานุกรม แก้

ตัวเลข แก้

หนังสือ แก้

บทความ แก้