คณะพระมหาไถ่

คณะพระมหาไถ่[1] (อังกฤษ: Congregation of the Most Holy Redeemer; Redemtorists) เป็นคณะนักบวชธรรมทูตโรมันคาทอลิกที่นักบุญอัลฟอนโซ มาเรีย เด ลีกูโอรีได้ก่อตั้งขึ้น ณ เมืองสกาลา แคว้นคัมปาเนีย ประเทศอิตาลี ในตอนแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำงานช่วยเหลือชาวชนบทที่ถูกทอดทิ้งรอบ ๆ เมืองเนเปิลส์

คณะพระมหาไถ่
CSsR Coat of arms.jpg
ชื่อย่อC.Ss.R.
คําขวัญCopiosa apud eum redemptio
ก่อตั้ง9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1732
ประเภทคณะนักบวชคาทอลิก
สํานักงานใหญ่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
บาทหลวงไมเคิล เบรล
เว็บไซต์คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย

นักบวช (religious) ของคณะนี้มีทั้งบาทหลวงและภราดา ปฏิบัติงานอยู่ใน 77 ประเทศทั่วโลก

ประวัติแก้ไข

บาทหลวงอัลฟอนโซ มาเรีย เด ลีกูโอรี เห็นว่ามีคนยากจนจำนวนมากต้องทนทุกข์ลำบากและต้องการความช่วยเหลือทางจิตวิญญาณ อัลฟอนโซจึงหันไปเน้นงานมิชชันนารีเพื่อเทศน์สอนประชาชนให้มั่นคงในความเชื่อ ท่านได้ประพันธ์หนังสือไว้ถึง 11 เล่ม ที่มีชื่อเสียง เช่น "เครื่องมือสำคัญแห่งความรอด" "พระทรมานของพระคริสต์" ซึ่งพระสันตะปาปาหลายพระองค์ชื่นชมผลงานของท่านอย่างมาก[2]

ต่อมาท่านได้รวบรวมบาทหลวงและฆราวาส ตั้งชื่อกลุ่มว่า "คณะพระมหาไถ่" สมาชิกมีเจตนารมณ์ในการประกาศข่าวดีแก่คนยากจน เพื่อให้จิตวิญญาณของบุคคลเหล่านี้ได้ถึงความรอด คณะนักบวชนี้ได้รับการรับรองจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1794

สมาชิกของคณะก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้คณะแพร่หลายมากขึ้น เช่น บาทหลวงเคลเมนส์ มาเรีย ฮอฟเบาเออร์ (ต่อมาได้รับการประกาศเป็นนักบุญ) ได้ขยายงานของคณะไปยังจักรวรรดิออสเตรีย แม้ในช่วงแรกจะมีอุปสรรคจากปัญหาการเมืองแต่ท่านก็นำคณะผ่านวิกฤตนั้นมาได้ สมาชิกในรุ่นต่อ ๆ มายังทำให้คณะขยายตัวไปทั่วทวีปยุโรป ข้ามไปยังทวีปอเมริกาเหนือ จนปัจจุบันสมาชิกคณะพระมหาไถ่ได้ทำงานอยู่ถึง 77 ประเทศทั่วโลก

ในประเทศไทยแก้ไข

มุขนายกอ็องฌ์-มารี-โฌแซ็ฟ แกว็ง ผู้แทนพระสันตะปาปาประมุขมิสซังลาวขณะนั้น ได้ขอให้สันตะสำนักส่งมิชชันนารีมาประกาศข่าวดีในเขตมิสซังสยามและเขตมิสซังลาว สันตะสำนักจึงสอบถามยังคณะพระมหาไถ่ จนตัดสินใจให้คณะพระมหาไถ่แขวงเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา มาปฏิบัติหน้าที่ แต่ด้วยปัญหาสงครามโลกครั้งที่สองทำให้การเดินทางต้องล่าช้าออกไป

เมื่อปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายมิชชันนารี 4 ท่านก็ออกเดินทางมากับเรือจากรัฐแคลิฟอร์เนียและถึงท่าเรือเกาะสีชังในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 เข้าพำนักที่เขตมิสซังกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งแล้วจึงเดินทางต่อไปยังมิสซังลาวซึ่งขณะนั้นมีมุขนายกโกลด-ฟีลิป บาเยเป็นประมุข การเผยแผ่ศาสนาได้ก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน และขยับขยายไปยังเขตมิสซังอื่น ๆ ด้วย งานที่สำคัญคือเมื่อพระสันตะปาปาให้ตั้งมิสซังอุดรธานีแยกออกจากมิสซังท่าแร่ ได้ทรงให้มิสซังอุดรธานีอยู่ในความดูแลของคณะพระมหาไถ่ โดยบาทหลวงแคลเรนซ์ เจมส์ ดูฮาร์ต อธิการคณะพระมหาไถ่ในขณะนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกและผู้แทนพระสันตะปาปาประมุของค์แรกของมิสซังอุดรธานี[2]

ปัจจุบันนี้มีบ้านนักบวชคณะพระมหาไถ่แล้ว 8 แห่งทั่วประเทศไทย[3] มีบาทหลวงชาวไทยที่เป็นนักบวชคณะพระมหาไถ่ได้รับแต่งตั้งเป็นมุขนายกมิสซังมาแล้ว 2 ท่าน[4] คือมุขนายกยอร์ช ยอด พิมพิสาร อดีตมุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกอุดรธานี และมุขนายกฟิลิป บรรจง ไชยรา มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกอุบลราชธานี สำหรับการปกครองภายในคณะมีบาทหลวงยอแซฟ อภิสิทธิ์ กฤษราลัมณ์ เป็นอธิการเจ้าคณะแขวงคณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

อ้างอิงแก้ไข

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 457
  2. 2.0 2.1 คณะพระมหาไถ่[ลิงก์เสีย]. หอจดหมายเหตุ มิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555.
  3. บ้านของคณะพระมหาไถ่. คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555.
  4. ประวัติศาสตร์คณะพระมหาไถ่ในประเทศไทย. คณะพระมหาไถ่แห่งประเทศไทย. เรียกข้อมูลวันที่ 19 ก.ค. พ.ศ. 2555.