วิกิพีเดียภาษาไทย

สารานุกรมเสรีฉบับภาษาไทย

วิกิพีเดียภาษาไทย คือรุ่นภาษาไทยของวิกิพีเดีย เว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์เนื้อหาเสรีและเปิดให้ทุกคนสามารถแก้ไขได้ เว็บไซต์ดำเนินการโดยมูลนิธิวิกิมีเดียและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ในเดือนกันยายน 2567 วิกิพีเดียภาษาไทยมี 166,741 บทความ เป็นวิกิพีเดียขนาดใหญ่สุดอันดับที่ 56[1]

ภาพสัญลักษณ์ของวิกิพีเดีย วิกิพีเดียภาษาไทย
ตราสัญลักษณ์ของวิกิพีเดียภาษาไทย
ภาพจับหน้าหลักวิกิพีเดียภาษาไทย
โฮมเพจวิกิพีเดียภาษาไทย
ประเภทโครงการสารานุกรมอินเทอร์เน็ต
ภาษาที่ใช้ได้ภาษาไทย
เจ้าของมูลนิธิวิกิมีเดีย
สร้างโดยชุมชนวิกิภาษาไทย
ยูอาร์แอลth.wikipedia.org
เชิงพาณิชย์ไม่ใช่
ลงทะเบียนไม่จำเป็น

ข่าว

กิจกรรม

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2554 มีข่าวว่า จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า มอบหมายให้กสท โทรคมนาคมนำเงิน 10.7 ล้านบาทจ้างแปลบทความวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ 3 ล้านบทความเป็นภาษาไทย โดยใช้เทคโนโลยี Statistical Machine Translation เนื้อหาที่แปลแล้วจะอยู่บน www.asiaonline.com[2] แต่กระทั่ง พ.ศ. 2555 พบว่าเว็บไซต์ www.asiaonline.com ปิดตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุโดยไม่ทราบว่าเว็บไซต์ดังกล่าวหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ [3]

วันที่ 11 ตุลาคม 2555 ดีแทคเปิดบริการวิกิพีเดียซีโร่ (Wikipedia Zero) ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเปิดตัวครั้งแรกในงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (Educa 2012)[4]

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 ดีแทคเปิดตัวกิจกรรม "เพิ่มพูนความรู้ให้สังคมไทยกับวิกิพีเดีย" เชิญชวนให้พนักงานแปลบทความวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดยตั้งเป้าช่วยสร้างบทความภาษาไทย 5,000 เรื่อง จำนวนชั่วโมงอาสารวมกว่า 10,000 ชั่วโมง ด้านทวีธรรม ลิมปานุภาพ ผู้ประสานงานอาสาสมัครวิกิพีเดียในประเทศไทย กล่าวว่า วิกิพีเดียภาษาไทยยังมีบทความน้อยมากเมื่อเทียบกับวิกิพีเดียภาษาอื่น และบทความส่วนใหญ่ยังสั้นและข้อมูลไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ การที่มีอาสาสมัครเพิ่มขึ้นจะทำให้วิกิพีเดียภาษาไทยสามารถบริหารเนื้อหาให้มีคุณภาพทัดเทียมวิกิพีเดียในประเทศที่พัฒนาแล้ว[5]

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ช่วงบ่าย มีรายงานว่าเมื่อเข้ายูอาร์แอลวิกิพีเดียภาษาไทยแล้ว หน้าจอปรากฏข้อความจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระบุว่า "มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม" เครือข่ายที่ไม่สามารถเข้าถึงได้มี 3BB และทรู แต่ยังสามารถเข้าได้ทางยูอาร์แอล https ตลอดจนรุ่นสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่[6][7]

ในปี 2562 ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มีการจัดการแข่งขันในหัวข้อ "โปรแกรมถามตอบจากคลังข้อมูลวิกิพีเดียภาษาไทย (Question answering program from Thai Wikipedia)"[8]

เนื้อหา

ในปี 2552 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงว่าในบทความประเทศไทยระบุระบอบการปกครองผิดเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[9]

เดือนธันวาคม 2556 สื่อรายงานว่า มีผู้เข้าไปแก้ไขเนื้อหาบทความกรมสอบสวนคดีพิเศษ อ้างว่า ธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงแก่กรรมแล้ว และแก้ไขชื่อเป็น "ธาริตสีดวง" มีผลงาน "เป่านกหวีด" ฝ่ายธาริตกล่าวว่าจะไม่ฟ้องร้อง[10]

เดือนสิงหาคม 2557 มีข่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกระบุชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนหน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเลือก[11]

ในปี 2563 มีการสอบถามถึงไอพีที่เข้ามาแก้ไขในบทความแก้วสรร อติโพธิ และทวงถามผู้รับผิดชอบ[12] ไพศาล พืชมงคลโพสต์ว่า มีผู้ไม่หวังดีแก้ไขบทความโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาระบุชื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้ก่อตั้ง และลบชื่อหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล[13]

ในปี 2564 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ดำเนินการสืบสวนและจับกุมผู้ที่ได้แก้ไขในบทความยง ภู่วรวรรณโดยเพิ่มข้อมูลว่า "เป็นเชลล์ขาย Sinovac ให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตามที่ได้รับแจ้งว่ามีการนำข้อมูลที่เป็นเท็จมาเผยแพร่และก่อให้เกิดความเสียหาย[14][15]

สถิติ

สถิติวิกิพีเดียภาษาไทย
จำนวนบัญชีผู้ใช้ จำนวนบทความ จำนวนไฟล์ จำนวนผู้ดูแลระบบ
484,799 166,741 19,701 17
ขนาดบทความทั้งหมด ขนาดบทความเฉลี่ย บทความที่ใหญ่กว่า 2KB ค่าเฉลี่ยการเข้าถึงบทความ
350.2 MB[16] 35.1 KB 47% 42.4 ครั้ง/บทความ/เดือน
 

การเข้าใช้

แหล่งของการเข้าชม (ตุลาคม 2561)
ที่มา
  ไทย
  
94.6%
  สหรัฐ
  
1.1%
  ลาว
  
0.8%
  จีน
  
0.7%
อื่น ๆ
  
2.8%

เว็บไซต์วิกิพีเดีย (รวมทุกภาษา) เป็นเว็บไซต์ที่มีผู้ใช้จากประเทศไทยเข้ามากเป็นอันดับที่ 8[17] โดยการจัดอับดับของอเล็กซา และเมื่อเทียบกับวิกิพีเดียภาษาอื่น ๆ วิกิพีเดียภาษาไทยมีผู้ใช้ทั่วโลกเข้ามากเป็นอันดับที่ 19[18] จากฐานข้อมูลสถิติของวิกิมีเดีย

จากการสำรวจด้วยแบบสอบถามโดย มนัสชล หิรัญรัตน์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในราว พ.ศ. 2549-2550 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้วิกิพีเดียภาษาไทยและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย 400 คน ร้อยละ 80 เปิดดูวิกิพีเดียภาษาไทยอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง และร้อยละ 48 เปิดอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง โดยร้อยละ 54 เข้าสู่เว็บไซต์โดยตรง (ผ่านทางที่อยู่ th.wikipedia.org) และร้อยละ 51 เข้าผ่านทางเสิร์ชเอนจิน (หนึ่งคนสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง) และมีประมาณร้อยละ 27 ที่ตอบว่าเคยมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเนื้อหาในวิกิพีเดียภาษาไทย[19]

ใน พ.ศ. 2555 มีการเปิดเผยคำค้นที่มีผู้ค้นหามากที่สุด พบว่าคำค้นสามอันดับแรกที่มีผู้ค้นหาในวิกิพีเดียภาษาไทยมากที่สุด ได้แก่ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เศรษฐกิจพอเพียงและประเทศไทยตามลำดับ[20]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 มี 5,704 บัญชีที่มีการแก้ไขอย่างน้อย 10 ครั้ง มีบัญชีที่แก้ไขมากกว่า 5 ครั้งในเดือนนั้น 347 บัญชี และแก้ไขมากกว่า 100 ครั้ง 52 บัญชี[21]

ขนาด

จำนวนบทความ

ปัจจุบันวิกิพีเดียภาษาไทยมีทั้งหมด 1,108,033 หน้า โดยเป็นบทความ 166,741 หน้า ส่วนที่เหลือเป็นหน้าโครงการ แม่แบบ วิธีใช้ หน้าพิเศษ และหน้าอภิปราย

จำนวนผู้ลงทะเบียน

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้ที่ลงทะเบียนแล้ว 484,799 บัญชี เป็นผู้ดูแล 17 บัญชี อัตราส่วนผู้ใช้ต่อผู้ดูแลเท่ากับประมาณ 28,517 : 1

  • 30 พฤศจิกายน 2548 - 2,000 บัญชี
  • 7 กุมภาพันธ์ 2549 - 3,000 บัญชี
  • 6 เมษายน 2549 - 4,000 บัญชี
  • 15 พฤษภาคม 2549 - 5,000 บัญชี
  • 2 กันยายน 2549 - 10,000 บัญชี
  • 3 ธันวาคม 2549 - 15,000 บัญชี
  • 3 มีนาคม 2550 - 20,000 บัญชี
  • 9 มิถุนายน 2550 - 25,000 บัญชี
  • 2 กันยายน 2550 - 30,000 บัญชี
  • 4 ธันวาคม 2550 - 35,000 บัญชี
  • 4 มีนาคม 2551 - 40,000 บัญชี
  • 14 มิถุนายน 2551 - 45,000 บัญชี
  • 30 สิงหาคม 2551 - 50,000 บัญชี
  • 18 กุมภาพันธ์ 2552 - 60,000 บัญชี

จำนวนสื่อภาพและเสียง

ปัจจุบันมีจำนวนไฟล์ภาพและสื่อทั้งหมด 19,701 ไฟล์ ไม่รวมภาพที่เชื่อมโยงมาจากวิกิมีเดียคอมมอนส์

  • 25 มีนาคม 2550 - 10,000 ไฟล์
  • 30 ธันวาคม 2551 - 20,000 ไฟล์

จำนวนการแก้ไข

ปัจจุบันมีการแก้ไขทั้งหมดรวม 11,741,609 ครั้ง หรือ 10.597 ครั้งต่อหนึ่งหน้าโดยเฉลี่ย

  • 8 เมษายน 2550 - 500,000 ครั้ง
  • 1 มิถุนายน 2550 - 600,000 ครั้ง
  • 12 สิงหาคม 2550 - 700,000 ครั้ง
  • 15 ตุลาคม 2550 - 800,000 ครั้ง
  • 20 ธันวาคม 2550 - 900,000 ครั้ง
  • 22 กุมภาพันธ์ 2551 - 1,000,000 ครั้ง
  • 13 เมษายน 2551 - 1,100,000 ครั้ง
  • 27 พฤษภาคม 2551 - 1,200,000 ครั้ง
  • 28 มิถุนายน 2551 - 1,300,000 ครั้ง
  • 28 สิงหาคม 2551 - 1,400,000 ครั้ง
  • 27 มิถุนายน 2552 - 2,000,000 ครั้ง
  • พ.ศ. 2555 - 4,000,000 ครั้ง

การประเมินคุณภาพภายใน

โดยรวมวิกิพีเดียใช้การควบคุมคุณภาพภายในซึ่งใช้จัดระเบียบการสนับสนุนและพัฒนาเนื้อหาแก่ผู้ใช้ พิสัยการประเมินควบคุมคุณภาพเริ่มจากการประเมินขั้น "โครง" ซึ่งจากนั้นจะมีการขัดเกลาและพัฒนาเป็น "พอใช้" และ "ดี" ตามลำดับ กระทั่งถึงมาตรฐานคุณภาพที่ประเมินภายในสูงสุดในขั้น "บทความคัดสรร" ในบรรดา 80,000 กว่าบทความในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 มี 110 บทความที่เป็นบทความคัดสรร (ประมาณ 0.0013% ของทั้งหมด)

คู่แข่ง

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนคือเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ภาษาไทยภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิ​โครงการ​สารานุกรม​ไทย​สำหรับ​เยาวชน​ โดย​พระราช​ป​ระ​สง​ค์ใน​พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ความแตกต่างระหว่างสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนและวิกิพีเดียคือเนื้อหาในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนถูกสร้างขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาและได้รับการสงวนลิขสิทธิ์ ขณะที่เนื้อหาในวิกิพีเดียถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้หลายคนแจกจ่ายได้อย่างเสรีภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0[22]

การล้อเลียน

ไร้สาระนุกรมภาษาไทยเปิดใช้งานในเดือนมกราคม 2549[23] โดยมีการจัดรูปแบบเว็บไซต์คล้ายกับวิกิพีเดียภาษาไทยแต่มุ่งเน้นไปที่บทความในลักษณะตลกขบขันและไร้สาระ[24]

อ้างอิง

  1. List of Wikipedias
  2. "ไอซีทีรับลูกบรอดแบนด์นายกฯ ลั่น 8ม.ค.เว็บไทยติดเบอร์2โลก". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-25.
  3. "พบเว็บแปล "วิกิพีเดีย" เป็นภาษาไทยโดยงบรัฐบาล ปิดตัวแล้ว". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 10 March 2023.
  4. "ดีแทคผุด 'วิกิพีเดียซีโร่' สืบค้นข้อมูลผ่านมือถือ หนุน นร.-ครูใช้". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14.
  5. "อาสาสมัครต่อยอดคลังความรู้ เพิ่มบทความภาษาไทยบนวิกิพีเดีย". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-06.
  6. ICT บล็อกเว็บสารานุกรมเสรี 'วิกิพีเดียภาษาไทย' ระบุ “เนื้อหาไม่เหมาะสม"
  7. ชาวเน็ตงง เปิดเว็บวิกิพีเดียไทย เจอโดนบล็อก
  8. NSC 21 ข้อมูลรายละเอียดการแข่งขัน
  9. "มือบอน! เปลี่ยนข้อมูล "ประเทศไทย" ในวิกิพีเดีย ทะลึ่งระบุปกครองด้วย "ระบอบราชาธิปไตย"". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2020-09-16.
  10. "มือดีแก้เนื้อหา'ดีเอสไอ'ในวิกิพีเดีย อ้าง'ธาริต'ตายแล้ว". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2014-06-06.
  11. "Thai Wikipedia jumps gun to name Prayuth 29th PM of Thailand". The Nation (ภาษาอังกฤษ). 2014-08-21. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-22. สืบค้นเมื่อ 2014-08-22.
  12. "ใครคือ ผู้ใช้นิรนาม 14.14.4.230 เพิ่มเติมประวัติ 'แก้วสรร' ทำแผน19 ก.ย.63 ในวิกิพีเดีย". สำนักข่าวอิศรา. 16 September 2020. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  13. "ซัดอุบาทว์! ไพศาลแฉไอ้โม่งกุข้อมูล"ไอดอลแก๊งล้มเจ้า"ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดม". สยามรัฐ. 12 November 2020. สืบค้นเมื่อ 13 November 2020.
  14. "เตรียมดำเนินคดี 50 ราย เฟกนิวส์วัคซีนโควิด ปลอมแปลงข้อมูลวิกิพีเดีย". ผู้จัดการออนไลน์. 12 July 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2020.
  15. "รวบหนุ่มวิศวะป้ายแดง ม.ดัง แก้ไขโปรไฟล์ "หมอยง" ในวิกิพีเดีย ใส่ร้ายเป็นเซลล์ขายวัคซีนชิโนแวคให้รัฐบาล". ผู้จัดการออนไลน์. 12 July 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2020.
  16. "Dthwiki dump progress on 20200801". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-15. สืบค้นเมื่อ 2020-08-09.
  17. อเล็กซา Top Sites in Thailand เก็บถาวร 2012-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เรียกดู 11 มีนาคม 2555
  18. อเล็กซา Wikipedia Statistics, เรียกดู 29 มาราคม 2013
  19. มนัสชล หิรัญรัตน์. สารานุกรมวิกิพีเดียภาษาไทยและการสื่อสารความรู้สู่สาธารณะ เก็บถาวร 2021-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วิทยานิพนธ์ นศ.ม. (นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต วารสารสนเทศ). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  20. "วิกิพีเดีย"เผยท็อป 10 คำค้นแห่งปี "เฟซบุ๊ก"แชมป์ภาษาอังกฤษ "อาเซียน"อันดับ1ภาษาไทย
  21. "Wikipedia Statistics - Chart Thai". Stats.wikimedia.org. สืบค้นเมื่อ 2014-07-04.
  22. มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. "ความเป็นมาโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว". สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  23. ไร้สาระนุกรมภาษาไทย. "หน้าหลัก". สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.
  24. สนุก.คอม (14 กุมภาพันธ์ 2009). "พบเว็บไซต์ "ไร้สาระนุกรมเสรี" ฮิตในหมู่วัยรุ่น ดัดแปลงศัพท์ "ใหม่" โพสต์ข้อความผิดเพี้ยนจากพจนานุกรม". สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น