เอกอัครราชทูต[a] (อังกฤษ: ambassador) เป็นนักการทูตตำแหน่งสูงสุด ซึ่งจัดการแทนประเทศหนึ่ง ๆ และปกติมักได้รับการส่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ไปยังรัฐบาลต่างด้าว หรือไปยังองค์การระหว่างประเทศ

ก่อนเอกอัครราชทูตเข้าดำรงตำแหน่งต้องให้รัฐผู้รับยอมรับอักษรสาส์นตราตั้งเสียก่อน ในภาพเป็นการมอบอักษรสาส์นตราตั้งของแฮร์รี ชวาร์ซ เอกอัครราชทูตแอฟริกาใต้ประจำสหรัฐ แก่ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งในปี 1991

ในความหมายธรรมดา คำ "ทูต" (ambassador) หมายถึง บุคคลซึ่งรัฐบาลประเทศหนึ่งส่งไปประจำอีกประเทศหนึ่งเพื่อให้จัดการแทนตน และไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีตำแหน่งใด โดยรัฐผู้รับ (host state) จะให้ทูตมีเขตอำนาจอยู่ในสถานเอกอัครราชทูต (embassy) ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนของรัฐผู้รับ และรัฐผู้รับจะให้ความคุ้มกันทางทูตแก่พัทธสีมา ที่ดิน ทรัพย์สิน บุคคล ฯลฯ ของสถานเอกอัครราชทูต

บางประเทศอาจแต่งตั้งบุคคลผู้เป็นที่เลื่อมใสกว้างขวางให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (ambassador-at-large) เพื่อให้จัดการเพียงบางอย่างโดยเฉพาะ หรือรับผิดชอบท้องที่อันจำกัด ขณะที่เอกอัครราชทูตมักมีอำนาจจัดการทั่วไป

สำหรับประเทศในเครือจักรภพ มักเรียกเอกอัครราชทูตว่า ข้าหลวงใหญ่ (high commissioner) และคณะผู้แทนทางทูตจะเรียก คณะข้าหลวงใหญ่ (high commission) แทน ส่วนเอกอัครราชทูตของสันตะสำนัก (Holy See) นั้นเรียก เอกอัครสมณทูต (nuncio)

หมายเหตุ

แก้
  1. กระทรวงการต่างประเทศไม่มีการใช้คำว่า "เอกอัครรัฐทูต" และดูได้จากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ก็ยังเรียก "สถานเอกอัครราชทูต"

อ้างอิง

แก้