เอกอัครสมณทูต
เอกอัครสมณทูต [1] (อังกฤษ: nuncio; apostolic nuncio) เรียกโดยย่อว่าพระสมณทูต [2][3] เป็นตำแหน่งตามลำดับชั้นทางทูตในศาสนจักร คำว่า "nuncio" มาจากคำว่า nuntius ในภาษาละตินโบราณ ซึ่งแปลว่า "ผู้แทนทางทูต" (envoy) ซึ่งแสดงถึงฐานันดรศักดิ์ในตำแหน่งทูตตามโครงสร้างองค์กรคริสตจักรโรมันคาทอลิก
ประวัติ
แก้เอกอัครสมณทูต (Papal Nuncio; Apostolic Nuncio) ในทางทูตคือผู้แทนถาวร (หัวหน้าคณะทูต) ของสันตะสำนักประจำรัฐเอกราชหรือองค์การระหว่างประเทศ (เช่น สันนิบาตอาหรับ) มีลำดับชั้นเสมอเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ในทางศาสนจักรพระสมณทูตจะได้รับสมณศักดิ์เป็นอัครมุขนายกเกียรตินามด้วย นอกจากนี้ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูตปี 1961 ยังถือว่าเอกอัครสมณทูตมีสถานะเป็นเอกอัครราชทูตเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่อนุสัญญาดังกล่าวก็อนุญาตหากบางรัฐจะยกสถานะให้สูงกว่าเอกอัครราชทูตอื่น ๆ ในประเทศและมอบตำแหน่งประธานคณะทูตานุทูตแก่พระสมณทูตนั้นโดยมิต้องคำนึงถึงความอาวุโส [4]
นอกจากนี้พระสมณทูตยังต้องเป็นผู้ประสานงานระหว่างสันตะสำนักกับคณะมุขนายกคาทอลิกในชาติหรือภูมิภาคที่ตนประจำการ คณะมุขนายกระดับชาติหรือภูมิภาคดังกล่าวตามปกติจะมีสภามุขนายกปกครองอยู่ ซึ่งมีมุขนายกหรืออัครมุขนายกที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในประเทศนั้นเป็นประธาน
นับตั้งแต่ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับนครรัฐวาติกันก็มีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูต โดยมีอาร์ชบิชอป ฌ็อง ฌาโด (Archbishop Jean Jadot) เป็นเอกอัครสมณทูตวาติกันท่านแรก (ขณะนั้นยังเรียกว่าเอกอัคราชทูตวาติกัน หรือ Pro-Nuncio) มาประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2512 [2] โดยต้องรับผิดชอบรวมถึงมาเลเซียและลาวด้วย [5]
นับแต่นั้นมาจนปัจจุบัน ประเทศไทยมีเอกอัครสมณทูตมาประจำแล้วทั้งสิ้น 11 คน [3] ได้แก่
ลำดับ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
---|---|---|---|
1 | อาร์ชบิชอป ฌ็อง ฌาโด | ค.ศ. 1968 | ค.ศ. 1971 |
2 | อาร์ชบิชอป โจวันนี โมเรตี | ค.ศ. 1971 | ค.ศ. 1978 |
3 | อาร์ชบิชอป ซิลวีโอ ลูโอนี | ค.ศ. 1978 | ค.ศ. 1980 |
4 | อาร์ชบิชอป เรนาโต ราฟาแอล มาร์ตีโน | ค.ศ. 1980 | ค.ศ. 1986 |
5 | อาร์ชบิชอป อัลแบร์โต ตรีการีโก | ค.ศ. 1987 | ค.ศ. 1993 |
6 | อาร์ชบิชอป ลุยจี แบรสซาน | ค.ศ. 1993 | ค.ศ. 1999 |
7 | อาร์ชบิชอป อาดรีอาโน แบร์นาร์ดีนี | ค.ศ. 1999 | ค.ศ. 2003 |
8 | อาร์ชบิชอป ซัลวาตอเร เปนนักคีโอ | ค.ศ. 2003 | ค.ศ. 2010 |
9 | อาร์ชบิชอป โจวันนี ดานีเอลโล | ค.ศ. 2010 | ค.ศ. 2012 |
10 | อาร์ชบิชอป เปาโล ชัง อิน-นัม | ค.ศ. 2012 | ค.ศ. 2022 |
11 | อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ | ค.ศ. 2023 | อยู่ในตำแหน่ง [6] |
- หมายเหตุ พระสมณทูตลำดับที่ 1-5 มีตำแหน่งเป็น Pro-Nuncio ส่วนลำดับที่ 6 เป็นต้นมา มีตำแหน่งเป็น Nuncio [7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2011-05-13.
- ↑ 2.0 2.1 สมณทูตวาติกัน เก็บถาวร 2012-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. หอจดหมายเหตุ มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ
- ↑ 3.0 3.1 พระสมณทูตประจำประเทศไทย เก็บถาวร 2011-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. หอจดหมายเหตุ มิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ
- ↑ United Nations Conference on Diplomatic Intercourse and Immunities (1961-04-18), Vienna Convention on Diplomatic Relations, Article 16, United Nations
- ↑ "พระอัครสังฆราช ยัง ยาโดต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-05-13.
- ↑ "ต้อนรับพระอัครสังฆราชปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย - สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย". 2023-04-04.
- ↑ "Apostolic Nunciature to Thailand", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2023-02-08, สืบค้นเมื่อ 2023-07-30