ประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本; โรมาจิ: Nihon/Nippon; ทับศัพท์: นิฮง/นิปปง) ชื่ออย่างเป็นทางการ ประเทศญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: 日本国; โรมาจิ: Nihon-koku/Nippon-koku; ทับศัพท์: นิฮงโกกุ/นิปปงโกกุ) เป็นรัฐเอกราชหมู่เกาะในเอเชียตะวันออก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกฝั่งตะวันออกของแผ่นดินใหญ่เอเชีย ทางตะวันตกติดกับคาบสมุทรเกาหลีและประเทศจีน โดยมีทะเลญี่ปุ่นกั้น ส่วนทางทิศเหนือติดกับประเทศรัสเซีย มีทะเลโอค็อตสค์เป็นเส้นแบ่งแดน และทางทิศใต้ติดกับทะเลจีนตะวันออก, ทะเลฟิลิปปิน และประเทศไต้หวัน อาณาเขตของญี่ปุ่นตั้งอยู่ในบริเวณวงแหวนไฟ ครอบคลุมหมู่เกาะประมาณ 14,125 เกาะ ด้วยพื้นที่ 377,975 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยเกาะหลักจำนวน 5 เกาะได้แก่ ฮนชู, ฮกไกโด, ชิโกกุ, คีวชู และโอกินาวะ ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 97 ของประเทศ มีกรุงโตเกียวเป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุด เมืองที่มีจำนวนประชากรรองลงมาได้แก่ โยโกฮามะ, โอซากะ, นาโงยะ, ซัปโปโระ, ฟูกูโอกะ, โคเบะ และเกียวโต
ประเทศญี่ปุ่น | |
---|---|
ดินแดนของประเทศญี่ปุ่น
| |
เมืองหลวง และเมืองใหญ่สุด | กรุงโตเกียว 35°41′N 139°46′E / 35.683°N 139.767°E |
ภาษาราชการ | ญี่ปุ่น |
เดมะนิม | ชาวญี่ปุ่น |
การปกครอง | รัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
จักรพรรดินารูฮิโตะ | |
ชิเงรุ อิชิบะ | |
สภานิติบัญญัติ | รัฐสภา |
• สภาสูง | ราชมนตรีสภา |
• สภาล่าง | สภาผู้แทนราษฎร |
ก่อตั้ง | |
11 กุมภาพันธ์ 660 BC | |
29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1890 | |
3 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 | |
พื้นที่ | |
• รวม | 377,975 ตารางกิโลเมตร (145,937 ตารางไมล์)[1] (อันดับที่ 62) |
1.4 (ใน ค.ศ. 2015)[2] | |
ประชากร | |
• 2022 ประมาณ | 124,840,000 [3] (อันดับที่ 11) |
• สำมะโนประชากร 2020 | 126,226,568[4] |
334 ต่อตารางกิโลเมตร (865.1 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 24) | |
จีดีพี (อำนาจซื้อ) | 2023 (ประมาณ) |
• รวม | 6.456 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 4) |
• ต่อหัว | 51,809 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 36) |
จีดีพี (ราคาตลาด) | 2023 (ประมาณ) |
• รวม | 4.410 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[5] (อันดับที่ 3) |
• ต่อหัว | 35,385 ดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 28) |
จีนี (2018) | 33.4[6] ปานกลาง |
เอชดีไอ (2021) | 0.925[7] สูงมาก · อันดับที่ 19 |
สกุลเงิน | เยนญี่ปุ่น (¥) |
เขตเวลา | UTC+09:00 (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) |
ขับรถด้าน | ซ้าย |
รหัสโทรศัพท์ | +81 |
รหัส ISO 3166 | JP |
โดเมนบนสุด | .jp |
ญี่ปุ่น | |||||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
คันจิ | 日本国 | ||||||
คีวจิไต | 日本國 | ||||||
ฮิรางานะ | にっぽんこく にほんこく | ||||||
คาตากานะ | ニッポンコク ニホンコク | ||||||
|
ตัวอักษรคันจิของชื่อประเทศญี่ปุ่นแปลว่า "ถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์" จึงมีชื่อเรียกว่า "ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย" ประเทศญี่ปุ่นประกอบด้วย 47 จังหวัดใน 8 ภูมิภาค โดยมีฮกไกโดเป็นจังหวัดเหนือสุด และโอกินาวะเป็นจังหวัดใต้สุด ภูมิประเทศกว่าสามในสี่มีลักษณะเป็นภูเขา ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากที่สุด[8][9] ด้วยประชากร 125 ล้านคน จึงถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 11 ของโลก และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหนาแน่นประชากรสูงที่สุดในโลก กว่า 14 ล้านคนอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว[10] และหากนับรวมเขตอภิมหานครโตเกียวทั้งหมดจะมีประชากรกว่า 40 ล้านคน[11] และด้วยมูลค่าจีดีพีที่สูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้กรุงโตเกียวเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งแง่ของจำนวนประชากรและขนาดเศรษฐกิจ[12]
การวิจัยทางโบราณคดีระบุว่ามีมนุษย์อาศัยในดินแดนปัจจุบันของญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคหินเก่า หรือประมาณ 30,000 ปีก่อนคริสตกาล การกล่าวถึงญี่ปุ่นเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกปรากฏในบันทึกของราชสำนักจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1 (บันทึกทางประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่น) ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากจีนในหลายด้าน เช่น ภาษา การปกครอง และ วัฒนธรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จึงทำให้ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นมาจนปัจจุบัน อีกหลายศตวรรษต่อมา ญี่ปุ่นก็รับเอาเทคโนโลยีตะวันตกและนำมาพัฒนาประเทศจนกลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและมีอิทธิพลมากที่สุดชาติหนึ่งในโลก
ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4 ถึงศตวรรษที่ 9 อาณาจักรทั้งหมดรวมกันเป็นปึกแผ่นภายใต้การปกครองของจักรพรรดิและราชวงศ์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เฮอังเกียว ต่อมา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง พ.ศ. 2411 ญี่ปุ่นถูกปกครองด้วยระบบทหารเจ้าขุนมูลนายโชกุนซึ่งปกครองในพระปรมาภิไธยจักรพรรดิ และการครอบงำของนักรบซามูไร ประเทศเข้าสู่ระยะแยกอยู่โดดเดี่ยวอันยาวนานในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งยุติใน พ.ศ. 2396 เมื่อกองเรือสหรัฐบังคับให้ประเทศญี่ปุ่นเปิดต่อโลกตะวันตก หลังความขัดแย้งและการก่อการกำเริบภายในเกือบสองทศวรรษ จักรพรรดิได้อำนาจทางการเมืองคืนใน พ.ศ. 2411 ผ่านการช่วยเหลือของหลายตระกูลจากโชชูและซัตสึมะ และมีการสถาปนาจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเมจิและรัฐธรรมนูญเมจิ และเริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงเวลานี้ ชัยชนะในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง, สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น และสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นขยายจักรวรรดิระหว่างสมัยแสนยานิยมเพิ่มขึ้น สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง พ.ศ. 2480 ขยายเป็นบางส่วนของสงครามโลกครั้งที่สองใน พ.ศ. 2484 ซึ่งญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในฝ่ายอักษะ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเป็นชาติมหาอำนาจหนึ่งเดียวในเอเชียก่อนจะยุติลงใน พ.ศ. 2488 ด้วยความพ่ายแพ้ในสงครามแปซิฟิกและการทิ้งระเบิดปรมาณูของฝ่ายสัมพันธมิตรนำไปสู่การยอมจำนนของญี่ปุ่น และตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสัมพันธมิตรเป็นเวลา 7 ปี และมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 ซึ่งนำไปสู่เงื่อนไขการธำรงระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและราชาธิปไตยภายใต้รัฐรรมนูญ โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นประมุขแห่งรัฐและสภานิติบัญญัติจากการเลือกตั้ง เรียกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาตินับแต่นั้นเป็นต้นมา[13][14][15]
ประเทศญี่ปุ่นเป็นสมาชิกสหประชาชาติ, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, กลุ่ม 7, กลุ่ม 8, กลุ่ม 20, ควอด, พันธมิตรหลักนอกเนโทและถือเป็นชาติมหาอำนาจของโลก[16][17][18] เป็นหนึ่งในชาติที่ประชากรมีการศึกษาสูงที่สุดของโลก แม้ญี่ปุ่นสละสิทธิประกาศสงคราม แต่ยังมีกองทหารสมัยใหม่ซึ่งใช้สำหรับป้องกันตนเองและรักษาสันติภาพ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดของโลก[19] ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีมาตรฐานการครองชีพและดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง และเป็นประเทศที่ประชากรมีการคาดหมายคงชีพสูงที่สุดในโลก ทว่ากำลังประสบปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำและวิกฤติประชากรสูงวัยในปัจจุบัน[20] ญี่ปุ่นยังเป็นผู้นำระดับโลกในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมญี่ปุ่นยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เช่น อาหาร, ศิลปะ, ดนตรี, วัฒนธรรมประชานิยม รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ภาพยนตร์, มังงะ, อนิเมะ, เพลง และวิดีโอเกม[21][22][23]
ชื่อประเทศ
แก้ในภาษาญี่ปุ่น ชื่อประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า นิปปง (にっぽん) หรือ นิฮง (にほん) ซึ่งใช้คันจิตัวเดียวกันคือ 日本 คำว่านิปปง มักใช้ในกรณีที่เป็นทางการ ส่วนคำว่า นิฮง จะเป็นศัพท์ที่ใช้โดยทั่วไป
สันนิษฐานว่าประเทศญี่ปุ่นเริ่มต้นใช้ชื่อประเทศว่า "นิฮง/นิปปง (日本) " ตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13[24][25] ตัวอักษรคันจิของชื่อญี่ปุ่นแปลว่าถิ่นกำเนิดของดวงอาทิตย์ และทำให้ญี่ปุ่นมักถูกเรียกว่าดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย ชื่อนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการติดต่อกับราชวงศ์สุยของจีนและหมายถึงการที่ญี่ปุ่นอยู่ในทิศตะวันออกของจีน[26] ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมีความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในชื่อยามาโตะ[27]
ชื่อเรียกประเทศญี่ปุ่นในภาษาอื่น ๆ เช่น เจแปน (อังกฤษ: Japan), ยาพัน (เยอรมัน: Japan), ฌาปง (ฝรั่งเศส: Japon), ฆาปอน (สเปน: Japón) รวมถึงคำว่า "ญี่ปุ่น" ในภาษาไทย น่าจะมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยนหรือแต้จิ๋วที่ออกเสียงว่า "ยิดปุ่น" (ฮกเกี้ยน) หรือ "หยิกปึ้ง" (แต้จิ๋ว) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคำที่ถอดเสียงมาจากคำอ่านตัวอักษรจีน 日本国 ซึ่งอ่านว่า "จีปังกู" แต่ในสำเนียงแมนดารินอ่านว่า รื่อเปิ่นกั๋ว (จีน: 日本国; พินอิน: Rìběn'guó) หรือย่อ ๆ ว่า รื่อเปิ่น (จีน: 日本; พินอิน: Rìběn)[28] ส่วนในภาษาที่ใช้ตัวอักษรจีนอื่น ๆ เช่นภาษาเกาหลี ออกเสียงว่า "อิลบน" (เกาหลี: 일본; 日本 Ilbon)[29] และภาษาเวียดนาม ที่ออกเสียงว่า "เหญิ่ตบ๋าน" (เวียดนาม: Nhật Bản, 日本)[30] จะเรียกประเทศญี่ปุ่นโดยออกเสียงคำว่า 日本 ด้วยภาษาของตนเอง
ภูมิศาสตร์
แก้ประเทศญี่ปุ่นมีเกาะรวม 14,125 เกาะ ทอดตามชายฝั่งแปซิฟิกของเอเชียตะวันออก ประเทศญี่ปุ่นรวมทุกเกาะตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 24 องศา และ 46 องศาเหนือ และลองจิจูด 122 องศา และ 146 องศาตะวันออก หมู่เกาะหลักไล่จากเหนือลงใต้ ได้แก่ ฮกไกโด, ฮนชู, ชิโกกุ, คีวชู และหมู่เกาะรีวกีวรวมทั้งเกาะโอกินาวะเรียงกันอยู่ทางใต้ของคีวชู รวมกันมักเรียกว่า กลุ่มเกาะญี่ปุ่น[31]
พื้นที่ประมาณร้อยละ 73 ของประเทศญี่ปุ่นเป็นป่าไม้ ภูเขาและไม่เหมาะกับการใช้ทางการเกษตร อุตสาหกรรม หรือการอยู่อาศัย[32] ด้วยเหตุนี้ เขตอยู่อาศัยได้ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่งเป็นหลัก จึงมีความหนาแน่นของประชากรสูงมาก ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุดของโลกประเทศหนึ่ง[33]
เกาะต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเขตภูเขาไฟบนวงแหวนไฟแปซิฟิก รอยต่อสามโบะโซะ (Boso Triple Junction) นอกชายฝั่งญี่ปุ่นเป็นรอยต่อสามที่แผ่นอเมริกาเหนือ แผ่นแปซิฟิกและแผ่นทะเลฟิลิปปินบรรจบกัน ประเทศญี่ปุ่นเดิมติดกับชายฝั่งตะวันออกของทวีปยูเรเชีย แต่แผ่นเปลือกโลกที่มุดตัวลงดึงประเทศญี่ปุ่นไปทางตะวันออก เปิดทะเลญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 15 ล้านปีก่อน[34]
ประเทศญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่ 108 ลูก ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีภูเขาไฟใหม่เกิดขึ้นหลายลูก รวมทั้งโชวะ-ชินซันบนฮกไกโดและเมียวจิน-โชนอกหินบายองเนสในมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดแผ่นดินไหวทำลายล้างซึ่งมักทำให้เกิดคลื่นสึนามิตามมาหลายครั้งทุกศตวรรษ[35] แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโต พ.ศ. 2466 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 140,000 คน[36] แผ่นดินไหวใหญ่ล่าสุด ได้แก่ แผ่นดินไหวใหญ่ฮันชิง พ.ศ. 2538 และแผ่นดินไหวในโทโฮกุ พ.ศ. 2554 ซึ่งมีขนาด 9.1 และทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ดัชนีความเสี่ยงโลก พ.ศ. 2556 จัดให้ประเทศญี่ปุ่นมีความเสี่ยงภัยธรรมชาติสูงสุดอันดับที่ 15[37]
ภูมิอากาศ
แก้ภูมิอากาศของประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอบอุ่นเป็นหลัก แต่มีความแตกต่างกันมากตั้งแต่เหนือจดใต้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นหกเขตภูมิอากาศหลัก ได้แก่ ฮกไกโด ทะเลญี่ปุ่น ที่สูงภาคกลาง ทะเลในเซโตะ มหาสมุทรแปซิฟิกและหมู่เกาะรีวกีว
เขตเหนือสุด ฮกไกโด มีภูมิอากาศแบบทวีปชื้นที่มีฤดูหนาวเย็นและยาวนาน และมีฤดูร้อนอุ่นมากถึงเย็น หยาดน้ำฟ้าไม่หนัก แต่หมู่เกาะมักมีกองหิมะลึกในฤดูหนาว ในเขตทะเลญี่ปุ่นตรงชายฝั่งตะวันตกของฮนชู ลมฤดูหนาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือนำให้หิมะตกหนัก ในฤดูร้อน ภูมิภาคนี้เย็นกว่าเขตแปซิฟิก แม้บางครั้งมีอุณหภูมิร้อนจัดเนื่องจากลมเฟิน (foehn) เขตที่สูงภาคกลางเป็นภูมิอากาศแบบทวีปชื้นในแผ่นดินตรงแบบ มีความแตกต่างของอุณหภูมิมากระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว ตลอดจนมีความแตกต่างระหว่างกลางวันกลางคืนมาก หยาดน้ำฟ้าเบาบาง แม้ฤดูหนาวปกติมีหิมะตก เขตภูเขาชูโงกุและเกาะชิโกกุกั้นทะเลในแผ่นดินเซโตะจากลมตามฤดูกาล ทำให้มีลมฟ้าอากาศไม่รุนแรงตลอดปี ชายฝั่งแปซิฟิกมีลักษณะภูมิอากาศแบบกึ่งเขตร้อนชื้นซึ่งมีฤดูหนาวไม่รุนแรง มีหิมะตกบางครั้ง และฤดูร้อนที่ร้อนชื้นเนื่องจากลมฤดูกาลจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะรีวกีวมีภูมิอากาศแบบกึ่งเขตร้อน โดยมีฤดูหนาวอบอุ่นและฤดูร้อน หยาดน้ำฟ้าหนักมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฤดูฝน[38]
อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูหนาวในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 5.1 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนอยู่ที่ 25.2 องศาเซลเซียส[39] อุณหภูมิสูงสุดที่เคยวัดได้ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 41.0 องศาเซลเซียส ซึ่งมีบันทึกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556[40] ฤดูฝนหลักเริ่มในต้นเดือนพฤษภาคมในโอกินาวะ และแนวฝนจะค่อย ๆ เคลื่อนขึ้นเหนือจนถึงฮกไกโดในปลายเดือนกรกฎาคม ในฮนชูส่วนใหญ่ ฤดูฝนเริ่มก่อนกลางเดือนมิถุนายนและกินเวลาประมาณหกสัปดาห์ ในปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วง พายุไต้ฝุ่นมักนำพาฝนตกหนักมา[41]
ความหลากหลายทางชีวภาพ
แก้ประเทศญี่ปุ่นมีเขตชีวภาพป่าเก้าเขตซึ่งสะท้อนภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะญี่ปุ่น มีตั้งแต่ป่าใบกว้างชื้นกึ่งเขตร้อนในหมู่เกาะรีวกีวและหมู่เกาะโองาซาวาระ จนถึงป่าผสมและใบกว้างเขตอุบอุ่นในเขตภูมิอากาศไม่รุนแรงในหมู่เกาะหลัก จนถึงป่าสนเขาเขตอบอุ่นในส่วนฤดูหนาวหนาวเย็นในเกาะทางเหนือ ประเทศญี่ปุ่นมีสัตว์ป่ากว่า 90,000 ชนิด รวมทั้งหมีสีน้ำตาล ลิงกังญี่ปุ่น ทะนุกิ หนูนาญี่ปุ่นใหญ่ และซาลาแมนเดอร์ยักษ์ญี่ปุ่น มีการตั้งเครือข่ายอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่เพื่อคุ้มครองพื้นที่สำคัญของพืชและสัตว์ตลอดจนเขตพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์สามสิบเจ็ดแห่ง มีสี่แห่งลงทะเบียนในรายการมรดกโลกของยูเนสโก
สิ่งแวดล้อม
แก้ในช่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นโยบายสิ่งแวดล้อมถูกรัฐบาลและบริษัทอุตสาหกรรมลดความสำคัญ ผลทำให้มีมลภาวะสิ่งแวดล้อมแพร่หลายในคริสต์ทศวรรษ 1950 และ 1960 เพื่อสนองต่อความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงริเริ่มกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายฉบับใน พ.ศ. 2513[42] วิกฤตการณ์น้ำมันใน พ.ศ. 2516 ยังส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ[43] ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ได้แก่ มลภาวะทางอากาศในเมือง การจัดการขยะ ยูโทรฟิเคชันน้ำ การอนุรักษ์ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการเคมีและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์[44]
ประเทศญี่ปุ่นจัดอยู่ในอันดับที่ 20 ในดัชนีสมรรถนะสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561 ซึ่งวัดความผูกมัดของประเทศต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม[45] ในฐานะเจ้าภาพและผู้ลงนามพิธีสารเกียวโต พ.ศ. 2540 ประเทศญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ข้อผูกพันตามสนธิสัญญาในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้วิธีการเพิ่มเติมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ[46] ใน พ.ศ. 2563 รัฐบาลมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 22 แห่ง ภายหลังการปิดกองเรือนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นหลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะใน พ.ศ. 2554 ญี่ปุ่นเป็นประเทศปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก[47] รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนภายใน พ.ศ. 2593[48] ปัญหาสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ได้แก่ มลพิษทางอากาศในเมือง (NOx, อนุภาคแขวนลอย และสารพิษ) การจัดการของเสีย การทำให้น้ำขาดออกซิเจน การอนุรักษ์ธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการสารเคมี
ประวัติศาสตร์
แก้ยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์โบราณ
แก้วัฒนธรรมยุคหินเก่าประมาณ 30,000 ปีก่อน ค.ศ. เป็นหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์บนกลุ่มเกาะญี่ปุ่นครั้งแรกเท่าที่ทราบ หลังจากนั้นเป็นยุคโจมงเมื่อประมาณ 14,000 ปีก่อน ค.ศ. ที่มีวัฒนธรรมนักล่าสัตว์หาของป่ากึ่งอยู่กับที่ยุคหินกลางถึงยุคหินใหม่ ซึ่งมีลักษณะโดยการอาศัยอยู่ในหลุมและเกษตรกรรมเรียบง่าย[49] รวมทั้งบรรพบุรุษของชาวไอนุและชาวยามาโตะร่วมสมัยด้วย[50][51] เครื่องดินเผาตกแต่งจากยุคนี้ยังเป็นตัวอย่างเครื่องดินเผาเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังเหลือรอดในโลกด้วย ประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ. ชาวยาโยอิเริ่มเข้าสู่หมู่เกาะญี่ปุ่น ผสมผสานกับโจมง[52] ยุคยาโยอิซึ่งเริ่มตั้งแต่ประมาณ 500 ปีก่อน ค.ศ. มีการริเริ่มการปฏิวัติอย่างการทำนาข้าวเปียก[53] เครื่องดินเผาแบบใหม่[54] และโลหะวิทยาที่รับมาจากจีนและเกาหลี[55]
ญี่ปุ่นปรากฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรในฮั่นชู (บันทึกประวัติศาสตร์ฮั่น) ของจีน[56] ตามบันทึกสามก๊ก ราชอาณาจักรทรงอำนาจที่สุดในกลุ่มเกาะญี่ปุ่นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 เรียก ยามาไตโกกุ มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธ เข้าประเทศญี่ปุ่นจากอาณาจักรแพ็กเจ (เกาหลีปัจจุบัน) และได้รับอุปถัมภ์โดยเจ้าชายโชโตกุ และการพัฒนาศาสนาพุทธญี่ปุ่นในเวลาต่อมาได้รับอิทธิพลจากจีนเป็นหลัก[57] แม้มีการต่อต้านในช่วงแรก แต่ศาสนาพุทธได้รับการส่งเสริมจากชนชั้นปกครองและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงต้นยุคอาซูกะ (ค.ศ. 592–710)[58]
ยุคนาระ (พ.ศ. 1253–1337) มีการกำเนิดรัฐญี่ปุ่นแบบรวมอำนาจปกครองโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนักจักรพรรดิในเฮโจเกียว (จังหวัดนาระปัจจุบัน) ยุคนาระเริ่มมีวรรณคดีตลอดจนการพัฒนาศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ[59] การระบาดของโรคฝีดาษในปี พ.ศ. 1278–1280 เชื่อว่าฆ่าประชากรญี่ปุ่นไปมากถึงหนึ่งในสาม[60] ใน พ.ศ. 1327 จักรพรรดิคัมมุย้ายเมืองหลวงจากนาระไปนางาโอกะเกียว และเฮอังเกียว (นครเกียวโตปัจจุบัน) ใน พ.ศ. 1337
นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอัง (พ.ศ. 1337–1728) ซึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นเฉพาะถิ่นชัดเจนกำเนิด โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ศิลปะ กวีและร้อยแก้ว ตำนานเก็นจิของมูราซากิ ชิกิบุ และ "คิมิงาโยะ" เนื้อร้องเพลงชาติประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็มีการเขียนขึ้นในช่วงนี้[61]
ศาสนาพุทธเริ่มแพร่ขยายระหว่างยุคเฮอัง ผ่านสองนิกายหลัก ได้แก่ เท็งไดและชินงง สุขาวดี (โจโดชู โจโดชินชู) ได้รับความนิยมมากกว่าในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 11
ยุคเจ้าขุนมูลนาย
แก้ยุคเจ้าขุนมูลนาย หรือ ยุคศักดินาของญี่ปุ่นมีลักษณะจากการถือกำเนิดและการครอบงำของชนชั้นนักรบซามูไร ใน พ.ศ. 1728 จักรพรรดิโกะ-โทบะทรงแต่งตั้งซามูไร มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ เป็นโชกุน หลังพิชิตตระกูลไทระในสงครามเก็มเป โยริโตโมะตั้งฐานอำนาจในคามากูระ หลังเขาเสียชีวิต ตระกูลโฮโจเถลิงอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธสำนักเซนจากจีนในยุคคามากูระ (พ.ศ. 1728–1876) และได้รับความนิยมในชนชั้นซามูไร รัฐบาลโชกุนคามากูระขับไล่การบุกครองของมองโกลสองครั้งใน พ.ศ. 1817 และ 1824 แต่สุดท้ายถูกจักรพรรดิโกะ-ไดโงะโค่นล้ม ส่วนจักรพรรดิโกะ-ไดโงะก็ถูกอาชิกางะ ทากาอูจิพิชิตอีกทอดหนึ่งใน พ.ศ. 1879
อาชิกางะ ทากาอูจิตั้งรัฐบาลโชกุนในมูโรมาจิ จังหวัดเกียวโต เป็นจุดเริ่มต้นของยุคมูโรมาจิ (พ.ศ. 1879–2116) รัฐบาลโชกุนอาชิกางะรุ่งเรืองในสมัยของอาชิกางะ โยชิมิตสึ และวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนศาสนาพุทธแบบเซ็น (ศิลปะมิยาบิ) แพร่กระจาย ต่อมาศิลปะมิยาบิวิวัฒน์เป็นวัฒนธรรมฮิงาชิยามะ และเจริญจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21–22) อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลโชกุนอาชิกางะสมัยต่อมาไม่สามารถควบคุมขุนศึกเจ้าขุนมูลนาย (ไดเมียว) ได้ และเกิดสงครามกลางเมือง (สงครามโอนิง) ใน พ.ศ. 2010 เปิดฉากยุคเซ็งโงกุ ("รณรัฐ") ยาวนานนับศตวรรษ
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีพ่อค้าและมิชชันนารีคณะเยสุอิตจากประเทศโปรตุเกสเดินทางถึงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเริ่มการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตก (การค้านัมบัน) โดยตรง ทำให้โอดะ โนบูนางะได้เทคโนโลยีและอาวุธปืนยุโรปซึ่งเขาใช้พิชิตไดเมียวคนอื่นหลายคน การรวบอำนาจของเขาเริ่มยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (พ.ศ. 2116–2146) หลังโนบูนางะถูกอาเกจิ มิตสึฮิเดะลอบฆ่าใน พ.ศ. 2125 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ผู้สืบทอดของโนบูนางะ รวมประเทศใน พ.ศ. 2133 และเปิดฉากบุกครองเกาหลี 2 ครั้งใน พ.ศ. 2135 และ 2140 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
หลังฮิเดโยชิถึงแก่อสัญกรรม โทกูงาวะ อิเอยาซุตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนบุตรของฮิเดะโยะชิและใช้ตำแหน่งให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนทางการเมืองและการทหาร อิเอยาซุเอาชนะไดเมียวต่าง ๆ ได้ในยุทธการที่เซกิงาฮาระใน พ.ศ. 2143 ต่อมาใน พ.ศ. 2146 จักรพรรดิโกะ-โยเซจึงทรงแต่งตั้งเขาเป็นโชกุน เขาตั้งรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในเอโดะ (กรุงโตเกียวปัจจุบัน) รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะออกมาตรการซึ่งรวมบุเกะโชะฮัตโตะเป็นจรรยาบรรณสำหรับควบคุมไดเมียวอัตตาณัติ และนโยบายซาโกกุ ("ประเทศปิด") ใน พ.ศ. 2182 ซึ่งกินเวลานานสองศตวรรษครึ่งและเป็นยุคเอกภาพทางการเมืองที่เรียก ยุคเอโดะ (พ.ศ. 2146–2411) การศึกษาศาสตร์ตะวันตก ที่เรียก รังงากุ ยังคงมีต่อผ่านการติดต่อกับดินแดนแทรกของเนเธอร์แลนด์ที่เดจิมะในนางาซากิ ยุคเอโดะยังทำให้โคกูงากุ ("การศึกษาชาติ") หรือการศึกษาประเทศญี่ปุ่นโดยคนญี่ปุ่น เจริญด้วย
ยุคใหม่
แก้วันที่ 31 มีนาคม 2397 พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี และ "เรือดำ" แห่งกองทัพเรือสหรัฐบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศต่อโลกภายนอกด้วยสนธิสัญญาคานางาวะ สนธิสัญญาคล้ายกันกับประเทศตะวันตกในยุคบากูมัตสึนำมาซึ่งวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง การลาออกของโชกุนนำสู่สงครามโบชิน และการสถาปนารัฐรวมอำนาจปกครองที่เป็นเอกภาพในนามภายใต้จักรพรรดิ (การฟื้นฟูเมจิ)[62]
ประเทศญี่ปุ่นรับสถาบันการเมือง ตุลาการและทหารแบบตะวันตกและอิทธิพลทางวัฒนธรรมตะวันตกรวมเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมประเทศสำหรับการกลายเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยผ่านกระบวนการกลายเป็นตะวันตกระหว่างการฟื้นฟูเมจิใน พ.ศ. 2411 คณะรัฐมนตรีจัดตั้งคณะองคมนตรี ริเริ่มรัฐธรรมนูญเมจิ และเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การฟื้นฟูเมจิเปลี่ยนจักรวรรดิญี่ปุ่นให้เป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมซึ่งมุ่งใช้ความขัดแย้งทางทหารเพื่อขยายเขตอิทธิพลของตน หลังคว้าชัยในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2437–2438) และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2447–2448) ประเทศญี่ปุ่นเข้าควบคุมไต้หวัน เกาหลีและครึ่งใต้ของเกาะซาฮาลิน ประชากรญี่ปุ่นเพิ่มจาก 35 ล้านคนใน พ.ศ. 2416 เป็น 70 ล้านคนใน พ.ศ. 2478
สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะ สามารถขยายอำนาจและอาณาเขตในทวีปเอเชียต่อไปอีก ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีช่วง "ประชาธิปไตยไทโช" (พ.ศ. 2455–2469) แต่คริสต์ทศวรรษ 1920 (ประมาณพุทธทศวรรษ 2460) ประชาธิปไตยที่เปราะบางตกอยู่ภายใต้การเลื่อนทางการเมืองสู่ฟาสซิสต์ มีการผ่านกฎหมายปราบปรามการเห็นต่างทางการเมืองและมีความพยายามรัฐประหารหลายครั้ง "ยุคโชวะ" ต่อมาอำนาจของกองทัพเริ่มเพิ่มขึ้นและนำญี่ปุ่นสู่การขยายอาณาเขตและการเสริมสร้างแสนยานุภาพ ตลอดจนเผด็จการเบ็ดเสร็จและลัทธิคลั่งชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ฟาสซิสต์ ในปี 2474 ประเทศญี่ปุ่นบุกครองและยึดครองแมนจูเรีย เมื่อนานาชาติประณามการครอบครองนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็ลาออกจากสันนิบาตชาติใน พ.ศ. 2476[63] ใน พ.ศ. 2479 ญี่ปุ่นลงนามกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับนาซีเยอรมนี และกติกาสัญญาไตรภาคีใน พ.ศ. 2483 เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[64] หลังพ่ายในสงครามชายแดนโซเวียต–ญี่ปุ่นที่กินเวลาสั้น ๆ ประเทศญี่ปุ่นเจรจากติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต–ญี่ปุ่น ซึ่งกินเวลาถึง พ.ศ. 2488 เมื่อสหภาพโซเวียตบุกครองแมนจูเรีย
ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างอำนาจทางการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หลังจากญี่ปุ่นถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงได้เปิดฉากสงครามในแถบเอเชียแปซิฟิก (ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ สงครามมหาเอเชียบูรพา) ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และการยาตราทัพเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ตลอดสงครามครั้งนั้น ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้แก่สหรัฐอเมริกาในการรบทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากยุทธนาวีแห่งมิดเวย์ (พ.ศ. 2485) ญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยง่าย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ (ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ตามลำดับ) และการรุกรานของสหภาพโซเวียต (วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2488) ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน[65] สงครามทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียพลเมืองนับล้านคนและทำให้อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียหายอย่างหนัก ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์ เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามจบ
พ.ศ. 2490 ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเน้นวัตรประชาธิปไตยเสรีนิยม การยึดครองญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรสิ้นสุดเมื่อมีการลงนามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกใน พ.ศ. 2499[66] และญี่ปุ่นได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติใน พ.ศ. 2499[67] หลังสงคราม ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากจนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จนถูกประเทศจีนแซงใน พ.ศ. 2553 แต่การเติบโตดังกล่าวหยุดในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย[68] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 การเติบโตทางบวกส่งสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป[69] วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ประเทศญี่ปุ่นประสบแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งยังส่งผลให้เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ[70]
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงสละราชสมบัติซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคเฮเซ สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะพระราชโอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อ และเป็นการเริ่มต้นยุคเรวะอย่างเป็นทางการ[71]
การเมือง
แก้ประเทศญี่ปุ่นมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่จักรพรรดิมีพระราชอำนาจจำกัด ทรงเป็นประมุขในทางพิธีการ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ทรงเป็น "สัญลักษณ์แห่งรัฐและความสามัคคีของประชาชน"[72] นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร ส่วนอำนาจอธิปไตยเป็นของชาวญี่ปุ่น จักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ ฟูมิโอะ คิชิดะ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ตั้งอยู่ในชิโยดะ กรุงโตเกียว สภาฯ ใช้ระบบระบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (ญี่ปุ่น: 衆議院; โรมาจิ: ชูงิ-อิง) เป็นสภาล่าง มีสมาชิกสี่ร้อยแปดสิบคนซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปี และราชมนตรีสภา (ญี่ปุ่น: 参議院; โรมาจิ: ซังงีง) เป็นสภาสูง มีสมาชิกสองร้อยสี่สิบสองคนซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งหกปี โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกราชมนตรีสภาจำนวนครึ่งหนึ่งสลับกันไปทุกสามปี สมาชิกของสภาทั้งสองมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์เป็นต้นไป[73] พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (CDP) ที่เป็นเสรีนิยมสังคม และพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยม (LDP) ที่เป็นอนุรักษนิยมครองสภาฯ LDP ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งเกือบตลอดมาตั้งแต่ปี 2498 ยกเว้นช่วงสั้น ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2536 ถึง 37 และระหว่าง พ.ศ. 2552 ถึง 2555
ระบบกฎหมายของญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากกฎหมายจีนมาแต่อดีต และมีพัฒนาการเป็นเอกเทศในยุคเอโดะผ่านทางเอกสารต่าง ๆ เช่น ประชุมราชนีติ (ญี่ปุ่น: 公事方御定書; โรมาจิ: Kujikata Osadamegaki) ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษ 2400 เป็นต้นมา ได้มีการวางรากฐานระบบตุลาการในญี่ปุ่นขนานใหญ่โดยใช้ระบบซีวิลลอว์ของยุโรป โดยเฉพาะของฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นต้นแบบ เช่น ในปี 2439 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง (ญี่ปุ่น: 民法; โรมาจิ: Minpō) โดยมีประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันเป็นต้นแบบ และคงมีผลใช้บังคับอยู่นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนปัจจุบัน[74] ระบบศาลของญี่ปุ่นแบ่งเป็นสี่ขั้นหลัก คือ ศาลสูงสุดและศาลชั้นล่างสามระดับ ประชุมกฎหมายหลักของญี่ปุ่นเรียก หกประมวล (ญี่ปุ่น: 六法; โรมาจิ: Roppō)
จากข้อมูลของสหภาพระหว่างรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ถึง 70 ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ของญี่ปุ่นรายงานว่า เรียวซูเกะ ทากาชิมะ วัย 26 ปี เป็นนายกเทศมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น[75]
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้ประเทศญี่ปุ่นแบ่งการปกครองออกเป็น 47 จังหวัด[76] และแบ่งภาคออกเป็น 8 ภูมิภาค ซึ่งมักจะถูกจับเข้ากลุ่มตามเขตแดนที่ติดกันที่มีวัฒนธรรมและสำเนียงการพูดใกล้เคียงกัน ทุกจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหาร
ในแต่ละจังหวัดมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นเทศบาลย่อย ๆ[77] แต่ในปัจจุบันกำลังมีการปรับโครงสร้างการแบ่งเขตการปกครองโดยการรวมเทศบาลที่อยู่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนเขตการปกครองย่อยและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารเทศบาลลงได้[78] การรวมเขตเทศบาลนี้เป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมีการคาดการณ์ที่จะลดจาก 3,232 เทศบาลในปี 2542 ให้เหลือ 1,773 เทศบาลในปี 2553[79]
ประเทศญี่ปุ่นมีเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละเมืองต่างมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงมีสำเนียงภาษาที่แตกต่างกันออกไป
ฮกไกโด | โทโฮกุ | คันโต | ชูบุ |
---|---|---|---|
1. ฮกไกโด |
2. อาโอโมริ |
8. อิบารากิ |
15. นีงาตะ |
คันไซ | ชูโงกุ | ชิโกกุ | คีวชูและโอกินาวะ |
24. มิเอะ |
31. ทตโตริ |
40. ฟูกูโอกะ |
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แก้ประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางทูตกับเกือบทุกประเทศเอกราชในโลก เป็นสมาชิกปัจจุบันของสหประชาชาติตั้งแต่เดือนธันวาคม 2499 ประเทศญี่ปุ่นเป็นสมาชิกกลุ่ม 7, เอเปก และ อาเซียน+3[80] และเข้าร่วมประชุมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ประเทศญี่ปุ่นลงนามข้อตกลงความมั่นคงกับประเทศออสเตรเลียในเดือนมีนาคม 2550[81] และกับประเทศอินเดียในเดือนตุลาคม 2551[82] เป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการรายใหญ่สุดอันดับห้าของโลก โดยบริจาคเงิน 9.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557[83]
ประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ นับแต่สหรัฐและพันธมิตรพิชิตญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองประเทศธำรงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการกลาโหมอย่างใกล้ชิด สหรัฐเป็นตลาดสำคัญของสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นและเป็นแหล่งนำเข้าหลักของญี่ปุ่น และผูกมัดป้องกันประเทศญี่ปุ่น โดยมีฐานทัพในประเทศญี่ปุ่นบางส่วนด้วยเหตุนั้น[84]
ประเทศญี่ปุ่นต่อสู้การควบคุมหมู่เกาะคูริลใต้ (ได้แก่ กลุ่มอิโตโรฟุ คูราชิริ ชิโตกัง และฮฮาโบมาอิ) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งสหภาพโซเวียตยึดครองใน พ.ศ. 2488 ประเทศญี่ปุ่นรับรู้การยืนยันของประเทศเกาหลีใต้เกี่ยวกับหินลีอังคอร์ท (หรือ "ทาเกะชิมะ" ในภาษาญี่ปุ่น) แต่ไม่ยอมรับ ประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ตึงเครียดกับประเทศจีนและประเทศไต้หวันเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุ และกับประเทศจีนเหนือสถานภาพของโอกิโนะโทริชิมะ
ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ในอดีตมีความตึงเครียดเนื่องจากการปฏิบัติต่อชาวเกาหลีของญี่ปุ่นในช่วงการปกครองอาณานิคมของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการใช้ผู้หญิงเป็นที่ระบายทางเพศ[85] ใน พ.ศ. 2558 ญี่ปุ่นออกคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และมอบเงินให้กับผู้หญิงทุกคนที่ตกเป็นเหยือความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ยังมีชีวิตอยู่[86] ณ พ.ศ. 2562 ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าเพลงเกาหลี (K-pop) ละครโทรทัศน์ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่สำคัญของเกาหลีใต้[87][88]
การบังคับใช้กฎหมาย
แก้การรักษาความปลอดภัยภายในประเทศญี่ปุ่นนั้นดูแลโดยกรมตำรวจประจำจังหวัดเป็นหลัก ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[89] ในฐานะที่เป็นหน่วยงานประสานงานกลางของกรมตำรวจประจำจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติบริหารงานโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ[90] หน่วยจู่โจมพิเศษประกอบด้วยหน่วยยุทธวิธีต่อต้านการก่อการร้ายระดับชาติที่ร่วมมือกับหน่วยต่อต้านอาวุธปืนระดับอาณาเขตและหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของเอ็นบีซี หน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่นปกป้องน่านน้ำอาณาเขตรอบ ๆ ญี่ปุ่น และใช้มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการลักลอบนำเข้า อาชญากรรมสิ่งแวดล้อมทางทะเล การรุกล้ำ การละเมิดลิขสิทธิ์ เรือสอดแนม เรือประมงต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต[91]
กฎหมายควบคุมอาวุธปืนและดาบควบคุมความเป็นเจ้าของปืน ดาบ และอาวุธอื่น ๆ ของพลเรือนอย่างเคร่งครัด[92] ตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในบรรดาประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติที่รายงานสถิติใน พ.ศ. 2561 อัตราอุบัติการณ์ของอาชญากรรมรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การลักพาตัว ความรุนแรงทางเพศ และการโจรกรรมนั้นต่ำมากในญี่ปุ่น[93]
กองทัพ
แก้กองทัพญี่ปุ่นถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น ซึ่งสละสิทธิของประเทศญี่ปุ่นในการประกาศสงครามและการใช้กำลังทหารในข้อพิพาทระหว่างประเทศ ฉะนั้น กองทัพญี่ปุ่นที่เรียก "กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น" นั้นจึงเป็นกองทัพที่ไม่เคยสู้รบนอกประเทศญี่ปุ่น[94] ประเทศญี่ปุ่นมีงบประมาณทางทหารสูงสุดประเทศหนึ่งในโลก[95] จัดเป็นประเทศเอเชียอันดับสูงสุดในดัชนีสันติภาพโลก[96] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมปกครองกองทัพ และส่วนใหญ่ประกอบด้วยกองกำลังป้องกันตนเองภาคพื้นดินญี่ปุ่น กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น ซึ่งกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นเป็นผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อมทางทะเลริมแพ็ก (RIMPAC) เป็นประจำ[97] ล่าสุดมีการใช้กองทัพเพื่อปฏิบัติการรักษาสันติภาพ โดยการวางกำลังในประเทศอิรักเป็นการใช้กองทัพญี่ปุ่นนอกประเทศครั้งแรกนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง[98] สหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่นเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการห้ามส่งอาวุธออก เพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมโครงการนานาชาติอย่างเครื่องบินขับไล่จู่โจมร่วม (Joint Strike Fighter) ได้[99]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจโลกอย่างรวดเร็วร่วมกับโลกาภิวัตน์ สิ่งแวดล้อมความมั่นคงรอบประเทศญี่ปุ่นทวีความรุนแรงมากขึ้น อันสังเกตได้จากการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของประเทศเกาหลีเหนือ ภัยคุกคามข้ามชาติซึ่งมีเหตุจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งการก่อการร้ายระหว่างประเทศและการโจมตีไซเบอร์ก็เพิ่มความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ[100] ประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งกองกำลังป้องกันตนเองได้เข้ามีส่วนร่วมอย่างถึงที่สุด ในความพยายามธำรงและฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดกับสหรัฐ พันธมิตรความมั่นคงสหรัฐ–ญี่ปุ่นเป็นหลักหมุดของนโยบายการต่างประเทศของชาติ[101] นับแต่เป็นสมาชิกสหประชาชาติใน พ.ศ. 2499 ประเทศญี่ปุ่นเคยเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงเป็นเวลารวม 20 ปี วาระล่าสุดใน พ.ศ. 2552 และ พ.ศ. 2553
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ กล่าวว่าประเทศญี่ปุ่นต้องการสลัดการวางเฉย ที่ธำรงมาตลอดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติและรับผิดชอบความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น เขากล่าวว่าประเทศญี่ปุ่นต้องการมีบทบาทสำคัญและเสนอความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น[102] ความตึงเครียดล่าสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเกาหลีเหนือได้จุดชนวนการถกเถียงรอบใหม่ เรื่องสถานภาพของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นและความสัมพันธ์กับสังคมญี่ปุ่น[103] แนวทางกองทัพญี่ปุ่นฉบับใหม่ที่มีประกาศในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 จะชี้นำกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นจากความสนใจสมัยสงครามเย็นต่ออดีตสหภาพโซเวียตสู่ประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทดินแดนเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุ[104]
เศรษฐกิจ
แก้โครงสร้าง
แก้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้รับความบอบช้ำจากสงครามเป็นอย่างมาก แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะปัจจัยหลายอย่างเช่นการทำงานที่ดีของรัฐบาล แรงงานที่ถูกและมีคุณภาพ อัตราการออมและการลงทุนที่สูง[105] ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2500-2520 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างมาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2500, 2510 และ 2520 เฉลี่ยร้อยละ 10, 5 และ 4 ตามลำดับ[106] โดยได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธทศวรรษที่ 2510 ญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าเงินเยนแข็งตัวจนทำให้บริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตออกไปนอกประเทศ หลังจากเกิดฟองสบู่แตกต้นพุทธทศวรรษที่ 2530 เศรษฐกิจก็เริ่มชะลอตัว และส่งผลต่อเนื่องตลอดพุทธทศวรรษที่ 2530 รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ และยังถูกซ้ำเติมจากผลกระทบของเศรษฐกิจชะลอตัวใน พ.ศ. 2543 [107] สภาพเศรษฐกิจหลังจาก พ.ศ. 2548 ดูเหมือนจะฟื้นตัวขึ้นจากตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีที่สูงขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็กลับประสบปัญหาอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก[108][109] แม้ว่าธุรกิจภาคการเงินของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เพราะทศวรรษแห่งภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ทำให้ญี่ปุ่นระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น[110] แต่การที่ญี่ปุ่นพึ่งพาการส่งออกรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปก็ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว[111]
ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก[112] รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน เมื่อวัดด้วยจีดีพีก่อนปรับอัตราเงินเฟ้อ (ประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) [112] และอันดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐ และอินเดีย เมื่อวัดด้วยอำนาจการซื้อ[113] ญี่ปุ่นมีกำลังการผลิตที่สูง และเป็นประเทศต้นกำเนิดของผู้ผลิตชั้นนำที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เหล็กกล้า โลหะนอกกลุ่มเหล็ก เรือ สารเคมี[114]
จากข้อมูลใน พ.ศ. 2548 แรงงานของประเทศญี่ปุ่นมีจำนวน 66.7 ล้านคน[115] ญี่ปุ่นมีอัตราว่างงานที่ต่ำคือประมาณร้อยละ 4[115] ค่าจีดีพีต่อชั่วโมงการทำงานอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลกใน พ.ศ. 2548 และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย[116] บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่นโตโยต้า โซนี่ เอ็นทีที โดโคโม แคนนอน ฮอนด้า ทาเกดะ นินเท็นโด นิปปง สตีล และเซเว่น อีเลฟเว่น ญี่ปุ่นเป็นต้นกำเนิดของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดหลายแห่ง[117] ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวซึ่งมักจะเป็นที่รู้จักเพราะดัชนีนิเกอิมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเมื่อวัดด้วยมูลค่าตลาด[118]
ญี่ปุ่นมีลักษณะเฉพาะในการทำธุรกิจหลายอย่าง เช่นเคเร็ตสึหรือระบบเครือข่ายบริษัทจะมีอิทธิพลในเชิงธุรกิจ การจ้างงานตลอดชีวิตและการเลื่อนขั้นตามความอาวุโสจะพบเห็นได้ทั่วไป บริษัทที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจจะถือหุ้นของกันและกัน[119] ผู้ถือหุ้นมักจะไม่มีบทบาทกับการบริหารของบริษัท[120] แต่ในปัจจุบันญี่ปุ่นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงออกจากระบบเก่า ๆ เหล่านี้[121][120]
ใน พ.ศ. 2548 พื้นที่ที่ใช้ในการเกษตรกรรมมีเพียงร้อยละ 12.6[122] และมีประชากรที่ประกอบการเกษตรเพียงร้อยละ 6.6 เท่านั้น[123] ผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตได้มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ไหม กะหล่ำปลี ข้าว มัน และชา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารถึงร้อยละ 60 จึงเป็นประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงตนเองค่อนข้างต่ำ[124][125] ในระยะหลังกระแสความกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหารทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 29 จาก 190 ประเทศในดัชนีความง่ายในการทำธุรกิจ พ.ศ. 2562[126] ญี่ปุ่นมีภาคส่วนสหกรณ์ขนาดใหญ่ รวมถึงสหกรณ์ผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดและสหกรณ์การเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ พ.ศ. 2561 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่สูงในด้านความสามารถในการแข่งขันและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ อยู่ในอันดับ 6 ในรายงานการแข่งขันระดับโลกสำหรับ พ.ศ. 2558-2559
ตารางต่อไปนี้แสดงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักใน 1980–2021 (โดยเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศประมาณการใน 2022–2027) อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 5% เป็นสีเขียว[127]
ปี | GDP
(ล้าน US$PPP) |
GDP ต่อหัว
(US$ PPP) |
GDP
(ล้าน US$nominal) |
GDP ต่อหัว
(US$ nominal) |
อัตราเติบโต GDP
(จริง) |
อัตราเงินเฟ้อ
(เปอร์เซ็นต์) |
การว่างงาน
(เปอร์เซ็นต์) |
หนี้สาธารณะ
(เปอร์เซนต์ของ GDP) |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1980 | 1,068.1 | 9,147.0 | 1,127.9 | 9,659.0 | 3.2% | 7.8% | 2.0% | 47.8% |
1981 | 1,218.4 | 10,358.1 | 1,243.8 | 10,574.4 | 4.2% | 4.9% | 2.2% | 52.9% |
1982 | 1,336.5 | 11,283.0 | 1,157.6 | 9,772.8 | 3.3% | 2.8% | 2.4% | 57.8% |
1983 | 1,437.8 | 12,054.5 | 1,268.6 | 10,636.5 | 3.5% | 1.9% | 2.7% | 63.6% |
1984 | 1,556.7 | 12,967.1 | 1,345.2 | 11,205.4 | 4.5% | 2.3% | 2.7% | 65.6% |
1985 | 1,690.0 | 13,989.8 | 1,427.4 | 11,815.8 | 5.2% | 2.0% | 2.6% | 68.3% |
1986 | 1,781.4 | 14,667.9 | 2,121.3 | 17,466.7 | 3.3% | 0.6% | 2.8% | 74.0% |
1987 | 1,911.8 | 15,666.3 | 2,584.3 | 21,177.8 | 4.7% | 0.1% | 2.9% | 75.7% |
1988 | 2,113.5 | 17,246.0 | 3,134.2 | 25,575.1 | 6.8% | 0.7% | 2.5% | 71.8% |
1989 | 2,303.0 | 18,719.6 | 3,117.1 | 25,336.2 | 4.9% | 2.3% | 2.3% | 65.5% |
1990 | 2,506.1 | 20,302.7 | 3,196.6 | 25,896.0 | 4.9% | 3.1% | 2.1% | 63.0% |
1991 | 2,679.4 | 21,620.8 | 3,657.3 | 29,511.8 | 3.4% | 3.3% | 2.1% | 62.2% |
1992 | 2,763.7 | 22,222.4 | 3,988.3 | 32,069.1 | 0.8% | 1.7% | 2.2% | 66.6% |
1993 | 2,814.6 | 22,558.2 | 4,544.8 | 36,425.2 | -0.5% | 1.3% | 2.5% | 72.7% |
1994 | 2,899.9 | 23,177.4 | 4,998.8 | 39,953.2 | 0.9% | 0.7% | 2.9% | 84.4% |
1995 | 3,038.6 | 24,224.0 | 5,545.6 | 44,210.2 | 2.6% | -0.1% | 3.2% | 92.5% |
1996 | 3,191.2 | 25,385.0 | 4,923.4 | 39,164.3 | 3.1% | 0.1% | 3.4% | 98.1% |
1997 | 3,278.1 | 26,014.1 | 4,492.4 | 35,651.3 | 1.0% | 1.7% | 3.4% | 105.0% |
1998 | 3,272.8 | 25,903.3 | 4,098.4 | 32,436.9 | -1.3% | 0.7% | 4.1% | 116.0% |
1999 | 3,307.9 | 26,131.3 | 4,636.0 | 36,622.9 | -0.3% | -0.3% | 4.7% | 129.5% |
2000 | 3,476.3 | 27,409.2 | 4,968.4 | 39,173.0 | 2.8% | -0.7% | 4.7% | 135.6% |
2001 | 3,568.4 | 28,068.3 | 4,374.7 | 34,410.7 | 0.4% | -0.7% | 5.0% | 145.1% |
2002 | 3,625.5 | 28,457.7 | 4,182.8 | 32,832.3 | 0.0% | -0.9% | 5.4% | 154.1% |
2003 | 3,753.8 | 29,410.9 | 4,519.6 | 35,410.2 | 1.5% | -0.3% | 5.2% | 160.0% |
2004 | 3,938.9 | 30,836.4 | 4,893.1 | 38,307.1 | 2.2% | 0.0% | 4.7% | 169.5% |
2005 | 4,135.7 | 32,372.7 | 4,831.5 | 37,819.1 | 1.8% | -0.3% | 4.4% | 174.3% |
2006 | 4,321.8 | 33,831.1 | 4,601.7 | 36,021.9 | 1.4% | 0.3% | 4.1% | 174.0% |
2007 | 4,504.5 | 35,257.9 | 4,579.7 | 35,847.2 | 1.5% | 0.0% | 3.8% | 172.8% |
2008 | 4,534.6 | 35,512.2 | 5,106.7 | 39,992.1 | -1.2% | 1.4% | 4.0% | 180.7% |
2009 | 4,303.9 | 33,742.5 | 5,289.5 | 41,469.8 | -5.7% | -1.3% | 5.1% | 198.7% |
2010 | 4,534.1 | 35,535.2 | 5,759.1 | 45,135.8 | 4.1% | -0.7% | 5.1% | 205.7% |
2011 | 4,629.4 | 36,215.1 | 6,233.1 | 48,760.9 | 0.0% | -0.3% | 4.6% | 219.1% |
2012 | 4,799.6 | 37,628.8 | 6,272.4 | 49,175.1 | 1.4% | 0.0% | 4.3% | 226.1% |
2013 | 5,021.6 | 39,436.8 | 5,212.3 | 40,934.8 | 2.0% | 0.3% | 4.0% | 229.6% |
2014 | 5,034.5 | 39,604.1 | 4,897.0 | 38,522.8 | 0.3% | 2.8% | 3.6% | 233.5% |
2015 | 5,200.9 | 40,959.3 | 4,444.9 | 35,005.7 | 1.6% | 0.8% | 3.4% | 228.4% |
2016 | 5,159.7 | 40,640.5 | 5,003.7 | 39,411.4 | 0.8% | -0.1% | 3.1% | 232.5% |
2017 | 5,248.4 | 41,409.0 | 4,930.8 | 38,903.3 | 1.7% | 0.5% | 2.8% | 231.4% |
2018 | 5,408.4 | 42,755.4 | 5,040.9 | 39,850.4 | 0.6% | 1.0% | 2.4% | 232.3% |
2019 | 5,485.4 | 43,459.1 | 5,120.3 | 40,566.3 | -0.4% | 0.5% | 2.4% | 236.3% |
2020 | 5,295.1 | 42,075.4 | 5,031.6 | 39,981.5 | -4.6% | 0.0% | 2.8% | 259.4% |
2021 | 5,606.6 | 44,671.3 | 4,932.6 | 39,301.1 | 1.7% | -0.2% | 2.8% | 262.5% |
2022 | 6,110.0 | 48,812.8 | 4,300.6 | 34,357.9 | 1.7% | 2.0% | 2.6% | 263.9% |
2023 | 6,456.7 | 51,809.1 | 4,410.0 | 35,385.9 | 1.6% | 1.4% | 2.4% | 261.1% |
2024 | 6,652.7 | 53,633.3 | 4,568.7 | 36,832.8 | 1.3% | 1.0% | 2.4% | 260.3% |
2025 | 6,839.5 | 55,411.7 | 4,811.6 | 38,982.7 | 0.9% | 1.0% | 2.4% | 260.7% |
2026 | 7,002.5 | 57,025.8 | 5,010.0 | 40,799.8 | 0.5% | 1.0% | 2.4% | 262.0% |
2027 | 7,167.5 | 58,684.7 | 5,172.1 | 42,347.0 | 0.4% | 1.0% | 2.4% | 263.4% |
เกษตรกรรม และประมง
แก้ภาคการเกษตรของญี่ปุ่นมีสัดส่วนประมาณ 1.2% ของจีดีพีทั้งหมด ณ พ.ศ. 2561 จากการสำรวจพบว่าที่ดินของญี่ปุ่นเพียง 11.5% เท่านั้นที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกเนื่องจากขาดที่ดินทำกิน จึงมีการใช้ระบบระเบียงเพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก[128] ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตพืชผลต่อหน่วยพื้นที่สูงที่สุดในโลกโดยมีอัตราการพึ่งตนเองทางการเกษตรประมาณ 50% ณ พ.ศ. 2561 ภาคเกษตรกรรมขนาดเล็กของญี่ปุ่นได้รับเงินอุดหนุนและได้รับการคุ้มครองอย่างสูง[129] มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการทำฟาร์มเนื่องจากเกษตรกรมักเป็นผู้สูงวัยและมีความยากลำบากในการหาผู้สืบทอด
ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 7 ของโลกในด้านปริมาณปลาที่จับได้คิดเป็น 3,167,610 ตันใน พ.ศ. 2559 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 4,000,000 ตันต่อปีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นแหล่งประมงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและคิดเป็นเกือบ 15% ของจำนวนสัตว์น้ำที่จับได้ทั่วโลก[130] ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าการทำประมงของญี่ปุ่นทำให้ปริมาณปลาของโลกลดลง เช่น ปลาทูน่า ญี่ปุ่นยังจุดชนวนความขัดแย้งดังกล่าวด้วยการสนับสนุนการล่าวาฬอย่างถูกกฎหมาย[131]
การท่องเที่ยว
แก้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยว โดยทางการญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวให้กับประเทศเป้าหมาย รวมถึงประเทศไทย กระแสไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นน่าจะยังได้รับความนิยมในหมู่คนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนสำคัญ ๆ ทั้งจากมาตรการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวที่ยังคงมีผลบังคับใช้ บวกกับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและโปรโมชั่นอัดแน่นจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงอานิสงส์ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินเยนที่อ่อนค่า รวมทั้งสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางทัวร์ญี่ปุ่นมากขึ้นทุกปี
ญี่ปุ่นดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 31.9 ล้านคนใน พ.ศ. 2562[132] อยู่ในอันดับที่ 11 ของโลกใน พ.ศ. 2562 ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้า[133] และตามรายงานความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว พ.ศ. 2560 จัดอันดับญี่ปุ่นเป็นอันดับ 4 จาก 141 ประเทศซึ่งสูงที่สุดในเอเชีย
อุตสาหกรรมการผลิต
แก้ญี่ปุ่นมีศักยภาพทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นที่ตั้งของ "ผู้ผลิตยานยนต์ เครื่องมือกล เหล็กกล้าและโลหะรายใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุด"[134] ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นคิดเป็นประมาณ 27.5% ของจีดีพี[135] การส่งออกของประเทศสูงเป็นอันดับสามของโลก ณ พ.ศ. 2562 ญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสามของโลก ณ พ.ศ. 2562 และเป็นที่ตั้งของโตโยต้า บริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก[136][137] อีกทั้งยังเป็นประเทศต้นกำเนิดของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 6 บริษัทจากผู้ผลิต 15 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลก อุตสาหกรรมต่อเรือของญี่ปุ่นเผชิญกับการแข่งขันจากเกาหลีใต้และจีน รัฐบาลออกนโยบายใน พ.ศ. 2563 ตั้งเป้าหมายให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการส่งออกที่เพิ่มกำไร
วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
แก้ญี่ปุ่นเป็นประเทศแนวหน้าในการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนหลัก[138] ญี่ปุ่นมีจำนวนการขอสิทธิบัตรเป็นอันดับ 3 ของโลก[139] ตัวอย่างของผลงานทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่สำคัญ ได้แก่อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องจักร วิศวกรรมด้านแผ่นดินไหวที่สร้างขึ้นมาเพื่ออยู่รอด สารเคมี สารกึ่งตัวนำ และเหล็ก เป็นต้น และเป็นผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำ 7 บริษัทจาก 20 บริษัทที่ใหญ่ที่สุด
ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รถยนต์ไฮบริด ซึ่งได้เทคโนโลยีมาจากเยอรมนี อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา[140] ของฮอนด้าและโตโยต้าเป็นที่ยอมรับว่าประหยัดพลังงานมากที่สุดและปล่อยควันเสียได้น้อย[141][142] ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของเทคโนโลยีระบบไฮบริด เชื้อเพลิง ญี่ปุ่นมีจำนวนสิทธิบัตรในด้านเซลล์เชื้อเพลิงเป็นอันดับหนึ่งของโลก[143]
องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนางานด้านอวกาศ สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการความร่วมมือการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติและโมดูลคิโบ มีกำหนดที่จะส่งขึ้นไปเพื่อต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในการขนด้วยกระสวยอวกาศใน พ.ศ. 2552[144] นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีโครงการสำคัญมากมายรวมถึงการสำรวจอวกาศ และการสร้างฐานบนดวงจันทร์เพื่อส่งมนุษย์ไปสำรวจและทำภารกิจในปี 2573[145] ยานอวกาซเซลีนี เปิดตัวใน พ.ศ. 2550 ถือเป็นยานอวกาศลำที่สองของญี่ปุ่นที่ส่งขึ้นสู่ดวงจันทร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการกำเนิดและวิวัฒนาการของดวงจันทร์[146]
ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในชาติผู้นำของโลกในด้านการผลิตหุ่นยนต์ โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 55% ของจำนวนการผลิตทั่วโลก[147] ญี่ปุ่นมีจำนวนนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก คิดเป็นสัดส่วน 14 คนต่อพนักงาน 1,000 คน[148] ญี่ปุ่นยังมีตลาดวิดีโอเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลัก สร้างรายได้ให้แก่ประเทศสูงถึง 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในจำนวนนี้เป็นรายได้จากเกมมือถือสูงถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์[149]
โครงสร้างพื้นฐาน
แก้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ การคมนาคมในประเทศญี่ปุ่น
การคมนาคม
แก้ญี่ปุ่นมีบริษัทรถไฟหลายแห่ง เช่นกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น รถไฟฮังคิว รถไฟเซบุ และบริษัทเคโอ ซึ่งแข่งขันกันด้านบริการในพื้นที่ต่าง ๆ ปัจจุบันที่รถไฟชิงกันเซ็งซึ่งเปิดใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 มีเครือข่ายเชื่อมโยงเมืองหลักเกือบทั่วประเทศ รถไฟของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในเรื่องตรงต่อเวลา[150] ทางรถไฟญี่ปุ่น ระยะทางรวมทั้งสิ้น 23,474 กิโลเมตรแบ่งเป็น ราง 1.435 เมตร สำหรับวิ่งรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟใต้ดินหลายเมือง ระยะทาง 2,664 กม รางรถไฟ 1.067 เมตร สำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองรถไฟทางใกล ระยะทาง 22,445 กม. ทางด่วนแห่งชาติ ของประเทศญี่ปุ่นมีระยะทางทั้งสิ้น 11,520 กิโลเมตร
การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นที่นิยม และมีสนามบิน 173 แห่งทั่วประเทศ สนามบินฮาเนดะที่ส่วนใหญ่ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเป็นสนามบินที่หนาแน่นที่สุดในเอเชีย[151] สนามบินนานาชาติที่สำคัญได้แก่สนามบินนาริตะ สนามบินคันไซ และสนามบินนานาชาตินาโงยา แต่การก่อสร้างสนามบินบางแห่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยจริง[152] สนามบินบางแห่งขาดทุนมาตลอดตั้งแต่เปิดทำการ[153] มีสายการบินที่สำคัญได้แก่ เจแปนแอร์ไลน์ ในฐานะสายการบินแห่งชาติ และ ออล นิปปอน แอร์เวย์
พลังงาน
แก้ณ พ.ศ. 2560 พลังงาน 39% ในญี่ปุ่นผลิตจากปิโตรเลียม 25% จากถ่านหิน 23% จากก๊าซธรรมชาติ 3.5% จากพลังงานน้ำ และ 1.5% จากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์ลดลงจากร้อยละ 11.2 ใน พ.ศ. 2553 รัฐบาลเคยมีแผนว่าภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดของประเทศต้องปิดตัว[155] เนื่องจากการคัดค้านของสาธารณชนอย่างต่อเนื่องหลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงพยายามโน้มน้าวความคิดเห็นของสาธารณชนให้กลับมาให้บริการ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนไดเริ่มเปิดใหม่ใน พ.ศ. 2558 และตั้งแต่นั้นมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายแห่งก็ได้เริ่มดำเนินการใหม่[156] ญี่ปุ่นขาดเงินสำรองภายในประเทศจำนวนมากและต้องพึ่งพาพลังงานนำเข้าอย่างหนัก ประเทศจึงมุ่งหวังที่จะกระจายแหล่งที่มาและรักษาระดับพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ[157] และรัฐบาลยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์ที่จะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายใน พ.ศ. 2570
ความรับผิดชอบต่อพลังงานน้ำและสุขาภิบาลเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการที่รับผิดชอบด้านการจัดหาน้ำสำหรับใช้ในบ้านเรือน, กระทรวงสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบคุณภาพน้ำโดยรอบและรักษาสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารที่รับผิดชอบการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของระบบสาธารณูปโภค การเข้าถึงแหล่งน้ำที่ได้รับการปรับปรุงนั้นเป็นสากลในญี่ปุ่น ประมาณ 98% ของประชากรได้รับน้ำประปาจากสาธารณูปโภค และน้ำประปาหลายแห่งในที่สาธารณะสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย[158]
ประชากร
แก้จากข้อมูลใน พ.ศ. 2563 ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 125.7 ล้านคน คนที่ถือสัญชาติญี่ปุ่นมีประมาณ 123 ล้านคน[159] ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาและมีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน โดยมีชาวต่างชาติ เช่นชาวเกาหลี จีน บราซิล ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และชาติอื่น ๆ ประมาณร้อยละ 1.2 ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่[160] เชื้อชาติส่วนใหญ่คือเชื้อสายชาวยามาโตะ และมีชนกลุ่มน้อยเช่นชาวไอนุและชาวรีวกีว รวมทั้งชนกลุ่มน้อยทางสังคมที่เรียกว่าบูรากุ[161] กรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศมีประชากรกว่า 14 ล้านคน (ปี 2564) เป็นส่วนหนึ่งของเขตอภิมหานครโตเกียว ซึ่งเป็นเขตมหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประชากร 38,140,000 คน (ปี 2559)[162]
ณ พ.ศ. 2562 ประชากรญี่ปุ่นมีอายุคาดหมายเฉลี่ยประมาณ 84 ปี[163] จึงนับเป็นประเทศที่มีประชากรอายุยืนยาวที่สุดประเทศหนึ่งในโลก[164] โครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเด็กที่เกิดมาในยุคเบบีบูมหลังสงครามโลกเริ่มเข้าสู่วัยชรา ในขณะที่อัตราการเกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2532 มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ[165] ประชากรวัยทำงานส่วนมากในปัจจุบันไม่นิยมแต่งงาน และไม่มีบุตร[166][167] จึงทำให้จำนวนประชากรค่อย ๆ ลดลง (มีการประมาณว่าจะลดลงต่ำกว่า 100 ล้านคนในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25)[165] ในขณะที่สัดส่วนของผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ใน พ.ศ. 2550) ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด)[168] การที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไปทำให้เกิดปัญหาสังคมหลายอย่าง เช่นปัญหาแรงงานที่ลดลง และภาระเงินบำนาญของคนหนุ่มสาวเพิ่มมากขึ้น[169] เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับปรับปรุงของญี่ปุ่น เพื่อปกป้องสิทธิของแรงงานต่างชาติเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน[170]
จำนวนประชากร
แก้
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่รายชื่อเมืองในญี่ปุ่นเรียงตามจำนวนประชากร และ จำนวนประชากรญี่ปุ่นแยกตามจังหวัด
ศาสนา
แก้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นกำหนดให้ประชาชนมีอิสระในการนับถือศาสนา[171] จากการสำรวจพบว่าคนญี่ปุ่นนับถือพุทธชินโตเยอะที่สุดเท่ากับผู้ที่ไม่มีศาสนาในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นร้อยละ 51.8 ระบุว่าตนไม่มีศาสนา[172] ในอดีตศาสนาในญี่ปุ่นถูกผสมผสานจนทำให้พิธีกรรมทางศาสนานั้นมีความหลากหลาย เช่นพ่อแม่พาลูกไปศาลเจ้าชินโตเพื่อทำพิธีชิจิโกะซัน แต่งงานในโบสถ์คริสต์และฉลองในวันคริสต์มาส จัดงานศพแบบพุทธ และบูชาบรรพบุรุษแบบขงจื๊อ นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นพุทธศตววรษที่ 25 มีลัทธิต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเช่น ศาสนาเทนริเกียว ลัทธิเทนริเกียว และลัทธิโอมชินริเกียว
ศาสนาคริสต์เผยแพร่สู่ญี่ปุ่นครั้งแรกโดยสมาชิกนิกายเยซุอิตเริ่มต้นใน พ.ศ. 2092 ในปัจจุบันประชากร 1% ถึง 1.5% เป็นคริสเตียน[173] ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ธรรมเนียมตะวันตกแต่เดิมเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ (รวมถึงงานแต่งงานแบบตะวันตก วันวาเลนไทน์ และคริสต์มาส) ได้กลายเป็นที่นิยมในฐานะธรรมเนียมปฏิบัติทางโลกในหมู่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก[174][175]
กว่า 90% ของผู้นับถือศาสนาอิสลามในญี่ปุ่นเป็นผู้อพยพที่เกิดในต่างประเทศในปี 2559 และใน พ.ศ. 2561 มีมัสยิดประมาณ 105 แห่ง และมุสลิม 200,000 คนในญี่ปุ่น โดย 43,000 คนเป็นชาวญี่ปุ่นโดยสัญชาติ[176] ศาสนาของชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ได้แก่ ฮินดู ยิว และบาไฮ เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่องผีของไอนุ
ภาษา
แก้ประชากรมากกว่าร้อยละ 95 ใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาทางการ[177] ภาษาญี่ปุ่นมีวิธีการผันคำกริยาและคำศัพท์ที่แสดงถึงสถานะระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ซึ่งแสดงถึงลักษณะสังคมที่มีระดับขั้นของญี่ปุ่น ภาษาพูดนั้นมีทั้งภาษากลางและสำเนียงของแต่ละท้องถิ่น เช่นสำเนียงคันไซ โรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชนมักมีวิชาภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษเป็นวิชาบังคับ[178]
ภาษาเขียนของญี่ปุ่นจะใช้ตัวอักษรคันจิ (อักษรจีน) และคานะ รวมทั้งอักษรโรมันและตัวเลขอารบิก[179] การสอนภาษาอังกฤษมีผลบังคับใช้ในทุกโรงเรียนประถมศึกษาของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2563[180] นอกจากภาษาญี่ปุ่น ภาษารีวกีว (อามามิ คูนิงามิ โอกินาวะ มิยาโกะ ยาเอยามะ โยนากูนิ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลภาษาญี่ปุ่นยังถูกพูดในกลุ่มหมู่เกาะรีวกีวอีกด้วย แม้มีเด็กไม่กี่คนที่ได้เรียนรู้ภาษาเหล่านี้ แต่รัฐบาลท้องถิ่นพยายามเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาษาดั้งเดิม[181] ปัญหาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคือ การตายของภาษาไอนุ ซึ่งเป็นภาษาที่แยกออกมาต่างหากโดยเหลือเจ้าของภาษาเพียงไม่กี่คนใน พ.ศ. 2557[182]
การศึกษา
แก้ระบบการศึกษาในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษาถูกนำมาใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2451 ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปเมจิ [183] ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 การศึกษาภาคบังคับของญี่ปุ่นมีระยะเวลา 9 ปี ตั้งแต่ประถมศึกษาจนจบมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายต่อ จากข้อมูลของกระทรวงการศึกษาของญี่ปุ่น (MEXT) ใน พ.ศ. 2547 พบว่าร้อยละ 75.9 ของผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ [184] การศึกษาในญี่ปุ่นเต็มไปด้วยการแข่งขัน[185] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัย[186] โครงการประเมินผลการศึกษานานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) ซึ่งจัดขึ้นโดยโออีซีดี จัดอันดับให้เด็กญี่ปุ่นมีความรู้และทักษะเป็นอันดับ 6 ของโลก[187] มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเคโอ และ มหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นต้น
การรักษาพยาบาล
แก้คุณภาพของระบบรักษาพยาบาลในญี่ปุ่นมีระดับที่สูงมาก เห็นได้จากอายุคาดหมายเฉลี่ยของประชากรที่สูง[188] และอัตราการตายของทารกที่ต่ำ รัฐบาลกำหนดให้ประชาชนทุกคนทำประกันสุขภาพ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือประกันสำหรับพนักงานบริษัท และประกันที่ทำกับรัฐบาลท้องถิ่น[189] ผู้ป่วยสามารถเลือกแพทย์หรือสถานที่รักษาได้โดยอิสระ[190] ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นทั้งหมดได้รับการคุ้มครองด้วยประกันของรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2516[191] แต่ปัจจุบันรัฐบาลต้องปรับระบบประกันเปล่านี้เพื่อรองรับโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป[192]
ญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก[193] และปัญหาสำคัญอีกประการคือการสูบบุหรี่ในเพศชาย[194] ประชากรญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดโรคหัวใจต่ำที่สุดในกลุ่ม OECD และมีภาวะสมองเสื่อมต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว[195]
วัฒนธรรม
แก้วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีวิวัฒนาการมายาวนานตั้งแต่วัฒนธรรมยุคโจมงซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของประเทศ จนถึงวัฒนธรรมผสมผสานร่วมสมัยซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่นมีทั้งงานฝีมือ เช่น อิเกบานะ (การจัดดอกไม้) โอริงามิ อูกิโยะ-เอะ[196] ตุ๊กตา เครื่องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา การแสดง เช่น คาบูกิ ละครโน บุนรากุ[196] รากูโงะ และประเพณีต่าง ๆ เช่น การละเล่น พิธีชงชา ศิลปการต่อสู้ สถาปัตยกรรม การจัดสวน ดาบ และอาหาร การผสมผสานระหว่างภาพพิมพ์กับศิลปะตะวันตก นำไปสู่การสร้างสรรค์มังงะหรือหนังสือการ์ตูนของญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมทั้งในและนอกญี่ปุ่น[197] แอนิเมชันที่ได้รับอิทธิพลมาจากมังงะเรียกว่า อนิเมะ วงการเกมคอนโซลของญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองอย่างมากตั้งแต่ พ.ศ. 2523[198] ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ญี่ปุ่นมีแหล่งมรดกโลกที่รับรองโดยยูเนสโก 22 แห่ง กว่า 18 แห่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม[199]
ดนตรี
แก้ดนตรีญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมข้างเคียงเช่นจีนและคาบสมุทรเกาหลี รวมทั้งจากโอกินาวะและฮกไกโด ตั้งแต่โบราณ เครื่องดนตรีหลายชิ้น เช่น บิวะ, โคโตะ ถูกนำเข้ามาจากจีนตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7[200] และชามิเซ็งเป็นเครื่องดนตรีที่ดัดแปลงจากเครื่องดนตรีโอกินาวะซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่กลางพุทธศตวรรษที่ 21[200] ญี่ปุ่นมีเพลงพื้นบ้านมากมาย เช่นเพลงที่ร้องระหว่างการเต้นบงโอโดริ เพลงกล่อมเด็ก ดนตรีตะวันตกเริ่มเข้ามาในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 และถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม หลังสงคราม ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลทางด้านดนตรีสมัยใหม่จากอเมริกาและยุโรปเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการพัฒนาแนวดนตรีที่เรียกว่า เจ-ป็อป[201] ญี่ปุ่นมีนักดนตรีคลาสสิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน เช่น วาทยากร เซจิ โอซาวะ[202] นักไวโอลิน มิโดริ โกโต[203]นักเปียโน อาเอมิ โคบายาชิ มือกลองวงเอ็กซ์เจแปนและนักเปียโน โยชิกิ ฮายาชิ เมื่อถึงช่วงสิ้นปี จะมีการเล่นคอนเสิร์ตซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโทเฟนทั่วไปในญี่ปุ่น[204]
วรรณกรรม
แก้วรรณกรรมญี่ปุ่นชิ้นแรกได้แก่หนังสือประวัติศาสตร์ที่ชื่อ โคจิกิ และ นิฮงโชกิ[205] และหนังสือบทกวีสมัยศตวรรษที่ 8 ที่ชื่อ มังโยชู ซึ่งเขียนด้วยภาษาจีนทั้งหมด[206] ในช่วงต้นของยุคเฮอัง มีการสร้างระบบการเขียนแทนเสียงที่เรียกว่า คานะ (ฮิฮิรางานะ และ [[คาตากานะ]) นิทานคนตัดไม้ไผ่ ถูกพิจารณาว่าเป็นงานที่เก่าแก่ที่สุดที่เขียนด้วยภาษาญี่ปุ่น[205] ตำนานเก็นจิ ที่เขียนโดยมูราซากิ ชิกิบุมักถูกเรียกว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นแรกของโลก[207] ระหว่างยุคเอโดะ วรรณกรรมไม่อยู่ในความสนใจของซามูไรเท่ากับโชนิน ชนชั้นประชาชนทั่วไป ตัวอย่างเช่น โยมิฮง กลายเป็นที่นิยมและเผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งระหว่างนักอ่านกับนักเขียน ในสมัยเมจิ วรรณกรรมดั้งเดิมได้เสื่อมสลายลง ขณะที่วรรณกรรมญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น[208] โซเซกิ นัตสึเมะและโองาอิ โมริเป็นนักแต่งนิยายสมัยใหม่รุ่นแรกของญี่ปุ่น[208] ตามมาด้วย รีวโนซูเกะ อากูตางาวะ, ทานิซากิ จุนอิจิโร, ยาซูนาริ คาวาบาตะ, มิชิมะ ยูกิโอะ และล่าสุด ฮารูกะ มูรากามิ[209] ญี่ปุ่นมีนักเขียนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม 2 คน ได้แก่ ยาซูนาริ คาวาบาตะ (พ.ศ. 2511) [210] และ เค็นซาบูโร โอเอะ (พ.ศ. 2537) [211]
ปรัชญา
แก้ปรัชญาญี่ปุ่นในอดีตเป็นการหลอมรวมจากวัฒนธรรมต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและตะวันตก และองค์ประกอบญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในรูปแบบวรรณกรรม ปรัชญาญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว อุดมคติของขงจื๊อยังคงปรากฏชัดในแนวความคิดของญี่ปุ่นสะท้อนผ่านการใช้ชีวิตในสังคม และในการจัดระบบของรัฐบาลและโครงสร้างของสังคม พุทธศาสนาส่งผลกระทบอย่างมากต่อจิตวิทยา อภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ของญี่ปุ่น[212]
ศิลปะ และสถาปัตยกรรม
แก้ศิลปะญี่ปุ่น ได้แก่ ภาพวาดการประดิษฐ์ตัวอักษรสถาปัตยกรรมเครื่องปั้นดินเผาประติมากรรมและทัศนศิลป์อื่น ๆ ที่ผลิตในญี่ปุ่นตั้งแต่ประมาณ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล ญี่ปุ่นมีประเพณีศิลปะที่ยาวนานและแตกต่างกันไป แต่มีจุดเด่นในด้านเครื่องเคลือบซึ่งมีการทำเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและภาพวาดที่ปรากฏตามสิ่งของเครื่องใช้หรือที่เรียกว่า ฟูซูมะ (ประตูบานเลื่อน หรือผนัง) นอกจากนี้ การประดิษฐ์ตัวอักษร และภาพพิมพ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพอูกิโยะ (“ภาพของโลกลอย”) สถาปัตยกรรมโครงไม้, หยกแกะสลัก, สิ่งทอ และงานโลหะ ก็เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนวัฒนธรรมของประเทศ[213]
สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเป็นการผสมผสานระหว่างอิทธิพลในท้องถิ่นและอิทธิพลอื่น ๆ ตามประเพณีนิยม โดยใช้โครงสร้างไม้หรือปูนฉาบยกสูงจากพื้นเล็กน้อย มีหลังคามุงกระเบื้องหรือมุงจาก ศาลเจ้าแห่งอิเสะได้รับการยอมรับในฐานะต้นแบบของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมและอาคารวัดหลายแห่งมีการใช้เสื่อทาทามิและประตูบานเลื่อนเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นได้รวมเอาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันในการก่อสร้างและการออกแบบ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถาปนิกชาวญี่ปุ่นได้สร้างความประทับใจให้กับนานาชาติ ด้วยผลงานของเค็นโซะ ทังเงะ[214]
กีฬา
แก้หลังจากการปฏิรูปเมจิ กีฬาตะวันตกก็เริ่มเข้ามาในญี่ปุ่นและแพร่หลายไปทั่วประเทศด้วยระบบการศึกษา[215] ในญี่ปุ่น กีฬานับเป็นกิจกรรมยามว่างที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยพัฒนาวินัย การเคารพกฎกติกา และช่วยสั่งสมน้ำใจนักกีฬา ชาวญี่ปุ่นทุกวัยให้ความสนใจกับกีฬาทั้งในฐานะผู้ชมและผู้เล่น[215]
ซูโม่เป็นกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่นที่มีประวัติอันยาวนาน[216] และเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น ศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่น เช่น ยูโด คาราเต้ และเคนโด้ ก็เป็นกีฬาที่มีผู้เล่นและผู้ชมมากเช่นเดียวกัน
การแข่งขันเบสบอลอาชีพในญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ. 2479[217] มี 2 ลีก คือเซ็นทรัลลีกและแปซิฟิกลีก ในปัจจุบันเบสบอลเป็นกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในประเทศ ในระหว่างฤดูกาลการแข่งขัน จะมีการถ่ายทอดการแข่งขันเกือบทุกคืนและมีอัตราผู้ชมรายการที่สูง[215] นอกจากนี้ การแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายแห่งชาติญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โคชิเอ็ง" (甲子園) ถือเป็นการแข่งขันเบสบอลที่ได้รับความนิยมมาก การแข่งขันขึ้นตรงต่อสมาพันธ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น ซึ่งแยกตัวเป็นเอกเทศจากสมาพันธ์กีฬามัธยมปลายญี่ปุ่น จึงทำให้โคชิเอ็งฤดูร้อน ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันกีฬามัธยมปลายแห่งชาติญี่ปุ่น นักเบสบอลญี่ปุ่นที่โด่งดังที่สุดคือ อิจิโร ซูซูกิ, ฮิเดกิ มัตสึอิ [209] และโชเฮ โอทานิ
ตั้งแต่มีการก่อตั้งลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2535 ฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นที่นิยมมากขึ้น[218] ญี่ปุ่นเป็นสถานที่จัดฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก ตั้งแต่ พ.ศ. 2524–2547 และเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้ในการแข่งฟุตบอลโลก 2002 ทีมฟุตบอลญี่ปุ่นเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งในเอเชีย ชนะเลิศเอเชียนคัพ 4 ครั้งซึ่งเป็นสถิติสูงสุด และเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 7 ครั้ง โดยเข้าร่วมทุกครั้งตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1998 ถึงฟุตบอลโลก 2022[219] และทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นยังชนะเลิศฟุตบอลโลกหญิง 2011[220] ลีกฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นยังได้รับการยกย่องว่าเป็นลีกที่มาตรฐานสูงที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก
ในวงการมอเตอร์สปอร์ต ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จสูง โดยเป็นตัวแทนรถในการชนะการแข่งขันระดับโลก เช่น ฟอร์มูลาวัน, กรังด์ปรีซ์มอเตอร์ไซค์เคิลเรซซิง, เวิลด์แรลลี่แชมเปี้ยนชิพ และอีกมากมาย[221][222][223] นักแข่งรถชาวญี่ปุ่นยังประสบความสำเร็จในรายการนานาชาติ เช่น ฟอร์มูลาวัน และ 24 ชั่วโมง เลอม็อง โดยมีซูเปอร์จีทีเป็นการแข่งชันระดับชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนที่โตเกียวใน พ.ศ. 2507 และโอลิมปิกฤดูหนาวที่ซัปโปโระใน พ.ศ. 2515 และนางาโนะใน พ.ศ. 2541[224] รวมทั้งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันบาสเกตบอลชิงแชมป์โลกปี 2549[225] และจะเป็นเจ้าภาพร่วมอีกครั้งในปี 2565[226] โตเกียวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทำให้เป็นเมืองแรกในเอเชียที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกถึงสองครั้ง ประเทศญี่ปุ่นยังได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลกถึงห้าครั้ง มากกว่าประเทศอื่น ๆ[227] ญี่ปุ่นยังถือเป็นประเทศสมาคมรักบี้แห่งเอเชียที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกประจำ พ.ศ. 2563[228] นอกจากนี้ กอล์ฟ และเทนนิส ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา[229][230][231]
อาหาร
แก้ชาวญี่ปุ่นกินข้าวเป็นอาหารหลัก อาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงได้แก่ซูชิ, เท็มปูระ, สุกียากี้, ยากิโตริ และ โซบะ เป็นต้น[232] อาหารญี่ปุ่นหลายอย่างดัดแปลงจากอาหารต่างประเทศ เช่น ทงกัตสึ, ราเม็ง, ปลาดิบ และ แกงกะหรี่ญี่ปุ่น[233] อาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมในต่างประเทศเพราะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จากการสำรวจพบว่าใน พ.ศ. 2549 มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากกว่า 20,000 แห่งทั่วโลก[233]
ชาวญี่ปุ่นมีความพิถีพิถันในการเลือกวัตถุดิบจึงทำให้มีอาหารประจำท้องถิ่น[234]และอาหารประจำฤดู[235] วัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ในอาหารญี่ปุ่นคือถั่วเหลือง ซึ่งนำมาทำโชยุ, มิโซะ, เต้าหู้[236] ถั่วแดงซึ่งมักนำมาทำขนม และสาหร่ายชนิดต่าง ๆ เช่นคมบุ นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังนิยมกินซะชิมิหรืออาหารทะเลดิบอีกด้วย[237]
ชาในญี่ปุ่นมีหลายชนิดซึ่งแตกต่างไปตามกรรมวิธีการผลิตและส่วนผสม[238] เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นคือเหล้าสาเก (หรือนิฮงชุ) ซึ่งผลิตโดยใช้วิธีหมักข้าว[239] และโชชูซึ่งเป็นเหล้าที่เกิดจากการกลั่น[240]
สื่อ
แก้จากการสำรวจของเอ็นเอชเค ใน พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดูโทรทัศน์ในญี่ปุ่น พบว่า 79 เปอร์เซ็นต์ของคนญี่ปุ่นดูโทรทัศน์ทุกวัน[242] ละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่นได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ รายการยอดนิยมอื่น ๆ อยู่ในประเภทของรายการวาไรตี้ ตลก และรายการข่าว[243][244] หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายมากที่สุดในโลก ณ พ.ศ. 2559 ญี่ปุ่นยังมีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็อตซิลลา ของอิชิโร ฮนดะ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ระดับนานาชาติของญี่ปุ่นและมีการสร้างภาคต่อและภาคแยกมากมาย[245] และเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์[246] ภาพยนตร์แอนิเมชั่นและซีรีส์ทางโทรทัศน์ของญี่ปุ่นที่รู้จักกันในชื่ออนิเมะได้รับอิทธิพลจากมังงะญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ และได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในฝั่งตะวันตก ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจด้านแอนิเมชั่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก
วันหยุด
แก้ประเทศญี่ปุ่นมีวันหยุดประจำชาติอย่างเป็นทางการ 16 วัน วันหยุดราชการในญี่ปุ่นถูกควบคุมโดยกฎหมายวันหยุดนักขัตฤกษ์ (国民の祝日に関する法律, Kokumin no Shukujtsu ni Kansuru Hōritsu) พ.ศ. 2491 ญี่ปุ่นใช้ระบบ Happy Monday ซึ่งย้ายวันหยุดประจำชาติจำนวนหนึ่งไปเป็นวันจันทร์เพื่อให้ได้วันหยุดยาว วันหยุดประจำชาติในญี่ปุ่นคือวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม, วันบรรลุนิติภาวะคือวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม, วันสถาปนาชาติในวันที่ 11 กุมภาพันธ์, วันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิคือ 23 กุมภาพันธ์, วันวสันตวิษุวัตคือ วันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม, วันโชวะคือวันที่ 29 เมษายน, วันรัฐธรรมนูญ 3 พฤษภาคม, วันสีเขียว 4 พฤษภาคม, วันเด็ก 5 พฤษภาคม, วันทะเลตรงกับวันจันทร์ที่สามของเดือนกรกฎาคม, วันภูเขาตรงกับ 11 สิงหาคมม วันผู้สูงอายุตรงกับวันจันทร์ที่สามของเดือนกันยายน, วันศารทวิษุวัตคือวันที่ 23 หรือ 24 กันยายน, วันกีฬาคือวันจันทร์ที่สองของเดือนตุลาคม, วันวัฒนธรรม 3 พฤศจิกายน และวันขอบคุณแรงงานในวันที่ 23 พฤศจิกายน[248]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 令和元年全国都道府県市区町村別面積調(10月1日時点) (ภาษาญี่ปุ่น). Geospatial Information Authority of Japan. December 26, 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 15, 2020.
- ↑ "Surface water and surface water change". OECD. สืบค้นเมื่อ October 11, 2020.
- ↑ "Population Estimates Monthly Report July 2021)". Statistics Bureau of Japan. July 20, 2021.
- ↑ "2020 Population Census Preliminary Tabulation". Statistics Bureau of Japan. สืบค้นเมื่อ June 26, 2021.
- ↑ 5.0 5.1 "World Economic Outlook database: April 2021". International Monetary Fund. April 2021.
- ↑ Inequality - Income inequality - OECD Data. OECD. สืบค้นเมื่อ 25 July 2021.
- ↑ "Human Development Report 2020" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). United Nations Development Programme. December 15, 2020. สืบค้นเมื่อ December 15, 2020.
- ↑ "Japan - Urbanization rate". Statista (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Urban population (% of total population) - Japan | Data". data.worldbank.org.
- ↑ "東京都の人口(推計)トップページ". www.toukei.metro.tokyo.lg.jp.
- ↑ "Tokyo Population 2021 (Demographics, Maps, Graphs)". worldpopulationreview.com.
- ↑ "The Most Populated Cities of the World. World Megacities - Nations Online Project". www.nationsonline.org.
- ↑ "THE CONSTITUTION OF JAPAN". japan.kantei.go.jp.
- ↑ https://www.cfr.org/japan-constitution/japans-postwar-constitution
- ↑ Quigley, Harold S. (1947). "Japan's Constitutions: 1890 and 1947". The American Political Science Review. 41 (5): 865–874. doi:10.2307/1950193. ISSN 0003-0554.
- ↑ "The Seven Great Powers". American-Interest. สืบค้นเมื่อ July 1, 2015.
- ↑ T. V. Paul; James J. Wirtz; Michel Fortmann (2005). "Great+power" Balance of Power. United States of America: State University of New York Press, 2005. pp. 59, 282. ISBN 0-7914-6401-6. Accordingly, the great powers after the Cold War are Britain, China, France, Germany, Japan, Russia, and the United States p.59
- ↑ Baron, Joshua (January 22, 2014). Great Power Peace and American Primacy: The Origins and Future of a New International Order. United States: Palgrave Macmillan. ISBN 1-137-29948-7.
- ↑ "2022 Japan Military Strength". www.globalfirepower.com.
- ↑ "Japan Birth Rate 1950-2023". www.macrotrends.net.
- ↑ "Japanese Culture | Japan Tradition | Japan Travel | JNTO". Japan National Tourism Organization (JNTO) (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).
- ↑ https://theculturetrip.com/asia/japan/articles/13-reasons-why-japan-is-the-worlds-most-unique-country/
- ↑ https://www.jef.or.jp/journal/pdf/cover%20story%201_0403.pdf
- ↑ เช่น 熊谷公男 『大王から天皇へ 日本の歴史03』(講談社、2001) และ 吉田孝 『日本誕生』(岩波新書、1997)
- ↑ เช่น 神野志隆光『「日本」とは何か』(講談社現代新書、2005)
- ↑ เช่น 網野善彦『「日本」とは何か』(講談社、2000)、神野志前掲書
- ↑ 前野みち子. "国号に見る「日本」の自己意識" (PDF).
- ↑ "English translation of '日本'". collinsdictionary.com.
- ↑ "일본 日本". Naver Korean-English Dictionary.
- ↑ "日本". chunom.org. (ก่อนตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เวียดนามใช้ตัวอักษรจีน)
- ↑ McCargo, Duncan (2000). Contemporary Japan. Macmillan. pp. 8–11. ISBN 0-333-71000-2.
- ↑ "Japan". US Department of State. สืบค้นเมื่อ January 16, 2011.
- ↑ "World Population Prospects". UN Department of Economic and Social Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2007. สืบค้นเมื่อ March 27, 2007.
- ↑ Barnes, Gina L. (2003). "Origins of the Japanese Islands" (PDF). University of Durham. สืบค้นเมื่อ August 11, 2009.
- ↑ "Tectonics and Volcanoes of Japan". Oregon State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 4, 2007. สืบค้นเมื่อ March 27, 2007.
- ↑ James, C.D. (2002). "The 1923 Tokyo Earthquake and Fire" (PDF). University of California Berkeley. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 16, 2007. สืบค้นเมื่อ January 16, 2011.
- ↑ 2013 World Risk Report เก็บถาวร สิงหาคม 16, 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Karan, Pradyumna Prasad; Gilbreath, Dick (2005). Japan in the 21st century. University Press of Kentucky. pp. 18–21, 41. ISBN 0-8131-2342-9.
- ↑ "Climate". JNTO. สืบค้นเมื่อ March 2, 2011.
- ↑ "Extremely hot conditions in Japan in midsummer 2013" (PDF). Tokyo Climate Center, Japan Meteorological Agency. August 13, 2013. สืบค้นเมื่อ August 3, 2017.
- ↑ "Essential Info: Climate". JNTO. สืบค้นเมื่อ April 1, 2007.
- ↑ 日本の大気汚染の歴史 (ภาษาญี่ปุ่น). Environmental Restoration and Conservation Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 1, 2011. สืบค้นเมื่อ March 2, 2014.
- ↑ Sekiyama, Takeshi. "Japan's international cooperation for energy efficiency and conservation in Asian region" (PDF). Energy Conservation Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ February 16, 2008. สืบค้นเมื่อ January 16, 2011.
- ↑ "Environmental Performance Review of Japan" (PDF). OECD. สืบค้นเมื่อ January 16, 2011.
- ↑ "Environmental Performance Index". epi.yale.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-15. สืบค้นเมื่อ 2021-11-15.
- ↑ "Japan sees extra emission cuts to 2020 goal – minister". Reuters. June 24, 2009.
- ↑ "Japan 2030: Tackling climate issues is key to the next decade". Deep reads from The Japan Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Japan Targets Carbon Neutrality by 2050". EcoWatch (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-10-26.
- ↑ Travis, John. "Jomon Genes". University of Pittsburgh. สืบค้นเมื่อ January 15, 2011.
- ↑ Matsumara, Hirofumi; Dodo, Yukio; Dodo, Yukio (2009). "Dental characteristics of Tohoku residents in Japan: implications for biological affinity with ancient Emishi". Anthropological Science. 117 (2): 95–105. doi:10.1537/ase.080325. ISSN 0918-7960.
- ↑ Hammer, Michael F.; Karafet, TM; Park, H; Omoto, K; Harihara, S; Stoneking, M; Horai, S; และคณะ (2006). "Dual origins of the Japanese: common ground for hunter-gatherer and farmer Y chromosomes". Journal of Human Genetics. 51 (1): 47–58. doi:10.1007/s10038-005-0322-0. PMID 16328082.
- ↑ Denoon, Donald; Hudson, Mark (2001). Multicultural Japan: palaeolithic to postmodern. Cambridge University Press. pp. 22–23. ISBN 0-521-00362-8.
- ↑ "Road of rice plant". National Science Museum of Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 30, 2011. สืบค้นเมื่อ January 15, 2011.
- ↑ "Kofun Period". Metropolitan Museum of Art. สืบค้นเมื่อ January 15, 2011.
- ↑ "Yayoi Culture". Metropolitan Museum of Art. สืบค้นเมื่อ January 15, 2011.
- ↑ Takashi, Okazaki; Goodwin, Janet (1993). "Japan and the continent". The Cambridge history of Japan, Volume 1: Ancient Japan. Cambridge: Cambridge University Press. p. 275. ISBN 0-521-22352-0.
- ↑ Brown, Delmer M., บ.ก. (1993). The Cambridge History of Japan. Cambridge University Press. pp. 140–149.
- ↑ Beasley, William Gerald (1999). The Japanese Experience: A Short History of Japan. University of California Press. p. 42. ISBN 0-520-22560-0.
- ↑ Totman, Conrad (2002). A History of Japan. Blackwell. pp. 64–79. ISBN 978-1-4051-2359-4.
- ↑ Hays, J.N. (2005). Epidemics and pandemics: their impacts on human history. ABC-CLIO. p. 31. ISBN 1-85109-658-2.
- ↑ Totman, Conrad (2002). A History of Japan. Blackwell. pp. 79–87, 122–123. ISBN 978-1-4051-2359-4.
- ↑ John Whitney Hall (1971). JAPAN From Prehistory to Modern Times. Charles E. Tuttle Company. p. 262-264.
- ↑ Katsumi Sugiyama. "Fundamental Issues underlying US-Japan Alliance: 2. Lytton Report and Anglo-Russo-Americana (ARA) Secret Treaty". Defense Research Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-24.
- ↑ Kelley L. Ross. "The Pearl Harbor Strike Force". friesian.com. สืบค้นเมื่อ 2007-03-27.
- ↑ "Japanese Instrument of Surrender". educationworld.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-31. สืบค้นเมื่อ 2008-11-22.
- ↑ "San Francisco Peace Treaty". Taiwan Document Project. สืบค้นเมื่อ 2008-11-22.
- ↑ "United Nations Member States". สหประชาชาติ. สืบค้นเมื่อ 2008-11-22.
- ↑ "Japan Fact Sheet: Economy" (PDF). Web Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-12-03. สืบค้นเมื่อ 2008-11-22.
- ↑ "Japan scraps zero interest rates". BBC News. July 14, 2006. สืบค้นเมื่อ December 28, 2006.
- ↑ Fackler, Martin; Drew, Kevin (March 11, 2011). "Devastation as Tsunami Crashes Into Japan". The New York Times.
- ↑ "Japan's emperor thanks country, prays for peace before abdication". Nikkei Asia (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "The Constitution of Japan Promulgated November 3, 1946". House of Councillors, The National Diet of Japan. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-24. [รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น, ราชมนตรีแห่งรัฐสภาญี่ปุ่น (1946-11-03)].
- ↑ "Japan lowers voting age from 20 to 18 to better reflect young people's opinions in policies". The Straits Times. June 20, 2015. สืบค้นเมื่อ August 28, 2017.
- ↑ ""Japanese Civil Code"". Encyclopædia Britannica. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-17. สืบค้นเมื่อ 2006-12-28.
- ↑ "Gen Z takes office: Japan's newest politicians are young, diverse and online". CNN. 25 April 2023.
- ↑ คำว่าจังหวัดในภาษาญี่ปุ่นมี 4 แบบ คือ โทะ (都) ใช้เฉพาะโตเกียวซึ่งเป็นเมืองหลวง, โด (道) เฉพาะฮกไกโด, ฟุ (府) ใช้กับเกียวโตและโอซากะ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงในอดีต และเค็ง (県) ใช้กับจังหวัดอื่น ๆ เมื่อพูดถึงจังหวัดรวม ๆ จะใช้ว่า โทโดฟูเก็ง (都道府県)
- ↑ ซึ่งเทศบาลมีหลายระดับ ตั้งแต่ คุ (区), ชิ (市), โช (町) และมูระหรือซง (村) ซึ่งเรียกรวมกันว่า ชิโจซง
- ↑ "City-merger talks on increase". The Japan Times. 2002-01-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
- ↑ "合併相談コーナー". Ministry of Internal Affairs and Communications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-25. สืบค้นเมื่อ 2008-11-16.
- ↑ "อาเซียน + 3". ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น. สืบค้นเมื่อ March 20, 2024.
- ↑ "Japan-Australia Joint Declaration on Security Cooperation". Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นเมื่อ August 25, 2010.
- ↑ "Joint Declaration on Security Cooperation between Japan and India". Ministry of Foreign Affairs. October 22, 2008. สืบค้นเมื่อ August 25, 2010.
- ↑ "Statistics from the Development Co-operation Report 2015". OECD. สืบค้นเมื่อ November 15, 2015.
- ↑ "Japan's Foreign Relations and Role in the World Today". Asia for Educators. สืบค้นเมื่อ November 13, 2016.
- ↑ Wei, Yi (2019-10-15). "Japanese Colonial Ideology in Korea (1905-1945)". The Yale Review of International Studies (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Japan and South Korea agree WW2 'comfort women' deal". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-12-28. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ Ju, Hyejung (2018-07-30). "The Korean Wave and Korean Dramas". Oxford Research Encyclopedia of Communication (ภาษาอังกฤษ). doi:10.1093/acrefore/9780190228613.001.0001/acrefore-9780190228613-e-715.
- ↑ Min-sik, Yoon (2019-08-14). "[Anniversary Special] 21 years after 'Japanese invasion,' Korean pop culture stronger than ever". The Korea Herald (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "裁判手続 刑事事件Q&A | 裁判所". www.courts.go.jp.
- ↑ "The Japanese Police State", The Japanese Police State : The Tokkô in interwar Japan, Bloomsbury Academic, สืบค้นเมื่อ 2022-01-05
- ↑ https://www.kaiho.mlit.go.jp/e/image/15_b%20of%20jcg.pdf
- ↑ "Diet tightens laws on knives, guns". The Japan Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2008-11-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-13. สืบค้นเมื่อ 2021-11-14.
- ↑ "Homicide rate | dataUNODC". dataunodc.un.org.
- ↑ 正論, May 2014 (171).
- ↑ "The 15 countries with the highest military expenditure in 2009". Stockholm International Peace Research Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กุมภาพันธ์ 17, 2011. สืบค้นเมื่อ มกราคม 16, 2011.
- ↑ Institute for Economics and Peace (2015). Global Peace Index 2015. เก็บถาวร ตุลาคม 6, 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Retrieved October 5, 2015
- ↑ "About RIMPAC". Government of Singapore. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 6, 2013. สืบค้นเมื่อ March 2, 2014.
- ↑ "Tokyo says it will bring troops home from Iraq". International Herald Tribune. June 20, 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2007. สืบค้นเมื่อ March 28, 2007.
- ↑ "Japan business lobby wants weapon export ban eased". Reuters. July 13, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-29. สืบค้นเมื่อ April 12, 2011.
- ↑ "Japan's Security Policy". Ministry of Foreign Affairs of Japan.
- ↑ Michael Green. "Japan Is Back: Why Tokyo's New Assertiveness Is Good for Washington". Real Clear Politics. สืบค้นเมื่อ March 28, 2007.
- ↑ "Abe offers Japan's help in maintaining regional security". Japan Herald. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-31. สืบค้นเมื่อ May 31, 2014.
- ↑ Herman, Steve (February 15, 2006). "Japan Mulls Constitutional Reform". Tokyo: Voice of America. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 16, 2006.
- ↑ Fackler, Martin (December 16, 2010). "Japan Announces Defense Policy to Counter China". The New York Times. สืบค้นเมื่อ December 17, 2010.
- ↑ M1 The Japanese Economy Takahashi Ito, pp 3-4.
- ↑ "Japan: Patterns of Development". country-data.com. January 1994. สืบค้นเมื่อ 2006-12-28.
- ↑ "World Factbook; Japan—Economy". CIA. 2006-12-19. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2006-12-28.
- ↑ "Japan heads towards recession as GDP shrinks". The Times. 2008-08-13. สืบค้นเมื่อ 2008-08-17.
- ↑ "That sinking feeling". The Economist. 2008-10-30. สืบค้นเมื่อ 2008-11-01.
- ↑ "In Japan, Financial Crisis Is Just a Ripple". The New York Times. 2008-09-19. สืบค้นเมื่อ 2008-11-22.
- ↑ "Japan's economy 'worst since end of WWII'". CNN. 2009-02-16. สืบค้นเมื่อ 2009-02-16.
- ↑ 112.0 112.1 "World Economic Outlook Database; country comparisons". ไอเอ็มเอฟ. 2006-09-01. สืบค้นเมื่อ 2007-03-14.
- ↑ "NationMaster; Economy Statistics". NationMaster. สืบค้นเมื่อ 2007-03-26.
- ↑ "Chapter 6 Manufacturing and Construction". Statistical Handbook of Japan, Ministry of Internal Affairs and Communications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-13.
- ↑ 115.0 115.1 "労働力調査(速報)平成19年平均結果の概要" (PDF). Statistic Bureau. สืบค้นเมื่อ 2008-11-01.
- ↑ Summary Statistics Groningen Growth and Development Centre, Sep 2008
- ↑ "Forbes Global 2000". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-03. สืบค้นเมื่อ 2008-11-02.
- ↑ Market data. เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน New York Stock Exchange (2006-01-31). Retrieved on 2007-08-11.
- ↑ "Criss-crossed capitalism". The Economist. 2008-11-06. สืบค้นเมื่อ 2008-11-17.
- ↑ "Going hybrid". The Economist. 2007-11-29. สืบค้นเมื่อ 2008-11-02.
- ↑ "Total area and cultivated land area". Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-01. สืบค้นเมื่อ 2008-11-07.
- ↑ "Total population and agricultural population". Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-01. สืบค้นเมื่อ 2008-11-07.
- ↑ 農林水産省国際部国際政策課 (2006-05-23). "農林水産物輸出入概況(2005)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2007-09-13.
- ↑ "Self-sufficiency ratio of food by commodities (Preliminary)". Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-01. สืบค้นเมื่อ 2008-11-07.
- ↑ "Rankings". World Bank (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Report for Selected Countries and Subjects".
- ↑ "Urbanites Help Sustain Japan's Historic Rice Paddy Terraces - Our World". ourworld.unu.edu.
- ↑ Chen, Hungyen (2018-07-03). "The spatial patterns in long-term temporal trends of three major crops' yields in Japan". Plant Production Science. 21 (3): 177–185. doi:10.1080/1343943X.2018.1459752. ISSN 1343-943X.
- ↑ https://www.fao.org/3/i9540en/i9540en.pdf
- ↑ "Japan resumes commercial whaling after 30 years". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-07-01. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ "Data list | Japan Tourism Statistics". Japan Tourism Statistics | 日本の観光統計データ (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "UNWTO World Tourism Barometer and Statistical Annex, August/September 2020". www.e-unwto.org (ภาษาอังกฤษ). doi:10.18111/wtobarometereng.2020.18.1.5.
- ↑ https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/japan/
- ↑ "Japan", The World Factbook (ภาษาอังกฤษ), Central Intelligence Agency, 2021-12-14, สืบค้นเมื่อ 2022-01-05
- ↑ "Is time running out for Japan's car industry?". Autocar (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Production Statistics | www.oica.net". www.oica.net.
- ↑ Science and Innovation: Country Notes, Japan OECD Science, Technology and Industry Outlook 2008, OECD
- ↑ "Japanese led world in filing of patent applications in 2005". The Japan Times. 2007-08-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-24. สืบค้นเมื่อ 2008-11-07.
- ↑ "History of Hybrid Vehicles". HybridCars.com. 2011-06-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-30.
- ↑ Automaker Rankings 2007: The Environmental Performance of Car Companies เก็บถาวร 2008-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Union of Concerned Scientists
- ↑ [www.greenercars.org/highlights_greenest.htm Greenest Vehicles of 2008] American Council for an Energy Efficient Economy
- ↑ Akira Maeda (November 28, 2003). Innovation in Fuel Cell Technologies in Japan: Development and Commercialization of Polymer Electrolyte Fuel Cells (PDF) (Report). OECD/CSTP/TIP Energy Focus Group.
- ↑ "Press Release". JAXA. 2008-07-08. สืบค้นเมื่อ 2008-11-16.
- ↑ published, Elizabeth Howell (2019-04-07). "Can Robots Build a Moon Base for Astronauts? Japan Hopes to Find Out". Space.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Japanese probe crashes into Moon" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-06-11. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ IFR. "Why Japan leads industrial robot production". IFR International Federation of Robotics (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Science,technology and innovation : Researchers by sex, per million inhabitants, per thousand labour force, per thousand total employment (FTE and HC)". data.uis.unesco.org.
- ↑ NuttBloggerJune 19, Christian; 2015 (2015-06-19). "Japan's game market hits record high as consoles decline and mobile gr". Game Developer (ภาษาอังกฤษ).
{{cite web}}
: CS1 maint: numeric names: authors list (ลิงก์) - ↑ จนเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่จังหวัดเฮียวโงะใน พ.ศ. 2548 Japan's train crash: Your reaction BBC News 2005-05-02
- ↑ "Year to date Passenger Traffic". Airports Council International. August 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-11. สืบค้นเมื่อ 2008-12-07.
- ↑ "Japan's Road to Deep Deficit Is Paved With Public Works". The New York Times. 1997-03-01. สืบค้นเมื่อ 2008-11-23.
- ↑ "Outlook Bleak for Saga Airport Profitability". Fukuoka Now. 2008-07-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-13. สืบค้นเมื่อ 2008-11-23.
- ↑ The European Parliament's Greens-EFA Group – The World Nuclear Industry Status Report 2007 เก็บถาวร 2008-06-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน p. 23.
- ↑ "Japan nuclear power-free as last reactor shuts". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 2012-05-05. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ "Nuclear power restarted in Japan". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.
- ↑ Kucharski, Jeffrey B.; Unesaki, Hironobu (2017-06-12). "Japan's 2014 Strategic Energy Plan: A Planned Energy System Transition". Journal of Energy (ภาษาอังกฤษ). 2017: e4107614. doi:10.1155/2017/4107614. ISSN 2356-735X.
- ↑ http://www.jwwa.or.jp/jigyou/kaigai_file/2017WaterSupplyInJapan.pdf
- ↑ https://www.stat.go.jp/english/data/jinsui/tsuki/index.html
- ↑ "Population Census: Foreigners". Statistics Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications.
- ↑ "Sue Sumii". The Economist. 1997-07-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-02. สืบค้นเมื่อ 2008-11-06.
- ↑ https://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/urbanization/the_worlds_cities_in_2016_data_booklet.pdf
- ↑ "Life expectancy at birth, total (years) - Japan | Data". data.worldbank.org.
- ↑ "The World Factbook: Rank order—Life expectancy at birth". CIA. 2008-10-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2008-11-05.
- ↑ 165.0 165.1 "Statistical Handbook of Japan: Chapter 2 Population". Statistics Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-30.
- ↑ Semuels, Alana (2017-07-20). "The Mystery of Why Japanese People Are Having So Few Babies". The Atlantic (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Walia, Simran (2019-11-19). "The economic challenge of Japan's aging crisis". The Japan Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Population Census: Population by Age". Statistics Bureau, Ministry of Internal Affairs and Communications.
- ↑ Tetsushi Kajimoto, บ.ก. (2002-09-24). "Cloud of population decline may have silver lining". The Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-24. สืบค้นเมื่อ 2008-11-05.
- ↑ "New immigration rules to stir up Japan's regional rentals scene — if they work | REthink Tokyo". web.archive.org. 2019-07-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-02. สืบค้นเมื่อ 2021-11-16.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Inoue, Kyoko; Inoue, oko (Feb 1991). MacArthur's Japanese Constitution (ภาษาอังกฤษ). University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-38391-0.