ประเทศเยอรมนี

ประเทศในทวีปยุโรปตอนกลาง

51°N 9°E / 51°N 9°E / 51; 9

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

Bundesrepublik Deutschland (เยอรมัน)
ธงชาติเยอรมัน
ธงชาติ
ตราแผ่นดินของเยอรมัน
ตราแผ่นดิน
เพลงชาติดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน[a]
(แปลว่า "เพลงแห่งเยอรมัน")
ที่ตั้งของ ประเทศเยอรมนี  (เขียวเข้ม)

– ในทวีปยุโรป  (เขียวอ่อน & เทาเข้ม)
– ในสหภาพยุโรป  (เขียวอ่อน)

เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
เบอร์ลิน[b]
52°31′N 13°23′E / 52.517°N 13.383°E / 52.517; 13.383
ภาษาทางการเยอรมัน[c]
เดมะนิมชาวเยอรมัน
การปกครองสหพันธ์สาธารณรัฐระบบรัฐสภา
ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์
โอลัฟ ช็อลทซ์
สภานิติบัญญัติบุนเดิสทาค, บุนเดิสราท[d]
ก่อตั้ง
18 มกราคม ค.ศ. 1871
9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
23 มีนาคม ค.ศ. 1933
23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949
3 ตุลาคม ค.ศ. 1990
พื้นที่
• รวม
357,022 ตารางกิโลเมตร (137,847 ตารางไมล์)[4] (อันดับ 63)
1.27 (ใน ค.ศ. 2015)[5]
ประชากร
• 2022 ประมาณ
เพิ่มขึ้นเป็นกลาง 84,270, 625[6] (อันดับที่ 19)
232 ต่อตารางกิโลเมตร (600.9 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 58)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2023 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 5.545 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 5)
เพิ่มขึ้น 66,132 ดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 17)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2023 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น 4.308 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 4)
เพิ่มขึ้น 51,383 ดอลลาร์สหรัฐ[7] (อันดับที่ 19)
จีนี (ค.ศ. 2020)Negative increase 30.5[8]
ปานกลาง
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019)เพิ่มขึ้น 0.942[9]
สูงมาก · อันดับที่ 9
สกุลเงินยูโร () (EUR)
เขตเวลาUTC+1 (เวลายุโรปกลาง)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (เวลาออมแสงยุโรปกลาง)
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+49
รหัส ISO 3166DE
โดเมนบนสุด.de

เยอรมนี (อังกฤษ: Germany; เยอรมัน: Deutschland, ออกเสียง: [ˈdɔʏtʃlant] ( ฟังเสียง)) หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี[f] เป็นสหพันธรัฐในรูปแบบสาธารณรัฐแบบรัฐสภาในภูมิภาคยุโรปกลาง มีรัฐองค์ประกอบทั้งหมด 16 รัฐ มีพื้นที่ 357,569 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 84 ล้านคน[11] ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรป[12] และมากที่สุดเป็นอันดับสองในทวีปยุโรปรองจากรัสเซีย[13] มีเมืองหลวงคือกรุงเบอร์ลิน และยังเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ[14] มีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอยู่ที่แฟรงก์เฟิร์ต[15] และภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือรัวร์ เยอรมนีมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเชิงเสรีภาพและรัฐสวัสดิการ มีพรมแดนทางทิศเหนือติดทะเลเหนือ เดนมาร์ก และทะเลบอลติก ทิศตะวันออกติดโปแลนด์และเช็กเกีย ทิศใต้ติดออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ทิศตะวันตกติดฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์

ชนเผ่าดั้งเดิมรวมถึงกลุ่มชนเจอร์แมนิกเข้ามาตั้งรกรากทางตอนเหนือของเยอรมนีตั้งแต่สมัยคลาสสิก[16] ภูมิภาคที่ชื่อเจอร์มาเนียได้รับการค้นพบก่อน ค.ศ. 100 และในศตวรรษที่ 10 ดินแดนของเยอรมนีกลายเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[17] ในช่วงศตวรรษที่ 16 ภูมิภาคทางเหนือกลายเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ หลังจากสงครามนโปเลียนและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. 1806 สมาพันธรัฐเยอรมันได้ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1815[18] ต่อมาใน ค.ศ. 1871 การรวมชาติก่อให้เกิดจักรวรรดิเยอรมันซึ่งปกครองโดยปรัสเซีย และภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและการปฏิวัติเยอรมันใน ค.ศ. 1918 จักรวรรดิได้กลายสภาพเป็นสาธารณรัฐไวมาร์และปกครองแบบกึ่งประธานาธิบดี

การเถลิงอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1933 นำไปสู่การก่อตั้งนาซีเยอรมนีซึ่งเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง และพันธุฆาตในเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ หลังสงครามสิ้นสุด เยอรมนีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร ก่อนจะถูกแบ่งแยกเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก)[19] สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและสหภาพยุโรป ในขณะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนีมีสถานะเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ และเป็นสมาชิกของกลุ่มตะวันออกรวมถึงกติกาสัญญาวอร์ซอ การปฏิวัติเงียบสงบนำไปสู่การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ การรวมประเทศทำให้เยอรมนีตะวันออกเข้าร่วมสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 ก่อให้เกิดรัฐใหม่ของเยอรมนี ซึ่งได้กลายสภาพเป็นสาธารณรัฐที่มีรัฐบาลกลางและอยู่ภายใต้การบริหารโดยนายกรัฐมนตรี

เยอรมนีเป็นประเทศพัฒนาแล้วและถือเป็นมหาอำนาจ[20][21] และเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป, ยูโรโซน, สหประชาชาติ, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, สภายุโรป, เนโท, กลุ่ม 7[22] และกลุ่ม 20[23] เยอรมนีมีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เป็นหนึ่งในผู้นำทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง[24] โดยหากวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เยอรมนีมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและเป็นอันดับ 4 ของโลก[25] และมีการนำเข้าและส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก[26] รวมทั้งมีดัชนีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูง และยังมีแหล่งมรดกโลกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกจำนวน 54 แห่ง รวมทั้งมีสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณสุขที่ครบวงจร กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และระบบการศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน[27]

นิรุกติศาสตร์

แก้

มีหลักฐานมาตั้งแต่ยุคโบราณว่า ชื่อประเทศ "Germany" ในภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า "Germania" ในภาษาละติน โดยมีที่มาจากสมัยของ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งนำคำนี้มาใช้ในเรียกกลุ่มคนที่ตั้งรกรากและอาศัยอยู่แถบบริเวณตะวันออกของแม่น้ำไรน์[28] โดยในอดีต ภูมิภาคที่เป็นแผ่นดินของเยอรมนีรวมถึงบริเวณใกล้เคียงถูกเรียกว่า "เจอร์มาเนีย"

ในส่วนของชื่อประเทศ "Deutschland" ในภาษาเยอรมัน แผลงมาจากคำว่า "Diutisciu land" ซึ่งมีความหมายว่า ดินแดนของชาวเยอรมัน (The German lands) ซึ่งมาจากภาษาเยอรมันยุคโบราณ

ประวัติศาสตร์

แก้

การค้นพบโครงกระดูกฟันกรามเมาเออร์ 1 (Mauer 1) ได้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์มีการตั้งรกรากในบริเวณที่เป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบันมาตั้งแต่ 600,000 ปีที่แล้ว[29] เครื่องไม้เครื่องมือในการล่าสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบในเหมืองถ่านหินบริเวณเมืองเชินนิงเงิน ซึ่งได้ค้นพบทวนไม้โบราณสามเล่มที่ฝังอยู่ใต้ผืนดินมาเป็นเวลากว่า 380,000 ปี[30] นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบฟอสซิลมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ "นีแอนเดอร์ทาล" เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งคาดว่ามีอายุกว่า 40,000 ปี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบหลักฐานของมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันในถ้ำของเทือกเขาแอลป์ชวาเบินใกล้กับเมืองอุล์ม และยังมีการค้นพบเครื่องเป่าที่ทำจากงาช้างแมมมอธและกระดูกของนกอายุกว่า 42,000 ปี ถือเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีการค้นพบ[31] นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบรูปสลัก "ไลออนแมน" ที่ตัวเป็นคนหัวเป็นสิงโตจากยุคน้ำแข็งเมื่อ 40,000 ปีก่อน ถือเป็นงานศิลปะอุปมาเลียนแบบกายมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการค้นพบ[32]

กลุ่มชนเจอร์แมนิกและอาณาจักรแฟรงก์ (ยุคสัมฤทธิ์–ค.ศ. 843)

แก้

คาดการณ์ว่ากลุ่มชนเจอร์แมนิกตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์ไปจนถึงยุคเหล็กก่อนการก่อตั้งกรุงโรมนั้น เดิมอยู่อาศัยบริเวณทางใต้ของสแกนดิเนเวียไปจนถึงตอนเหนือของเยอรมนี พวกเขาขยายอาณาเขตไปทางใต้ ตะวันตกและตะวันออก จนได้รู้จักและติดต่อกับชาวเคลต์ในดินแดนกอล รวมไปถึงกลุ่มชนอิหร่าน, ชาวบอลติก, ชาวสลาฟ ซึ่งอาศัยอยู่ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก[33] ต่อมา กรุงโรมภายใต้จักรพรรดิเอากุสตุส เริ่มการรุกรานดินแดนที่เป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน และแผ่ขยายดินแดนครอบคลุมทั่วลุ่มแม่น้ำไรน์และเทือกเขายูรัล ใน ค.ศ. 9 กองทหารโรมันสามกองนำโดยวาริอุสได้พ่ายแพ้ให้กับอาร์มินีอุสแห่งชนเผ่าเครุสค์ ต่อมาใน ค.ศ. 100 ในช่วงที่ตากิตุสเขียนหนังสือ Germania กลุ่มชนเผ่าเยอรมันก็ต่างได้ตั้งถิ่นฐานตลอดแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ และเข้าครอบครองดินแดนเกือบทั้งหมดในส่วนที่เป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

ในศตวรรษที่ 3 ได้มีการเกิดขึ้นของเผ่าเยอรมันขนาดใหญ่หลายเผ่าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชนอลามันน์ (Alemanni), ชาวแฟรงก์ (Franks), ชาวชัตต์ (Chatti), ชาวแซกซอน (Saxons), ชาวซีกัม (Sicambri), และชาวเทือริง (Thuringii) ราว ค.ศ. 260 พวกชนเผ่าเยอรมันเหล่านี้ก็รุกเข้าไปในดินแดนในความควบคุมของโรมัน[34] ภายหลังการรุกรานของชาวฮันใน ค.ศ. 375 และการเสื่อมอำนาจของโรมันตั้งแต่ ค.ศ. 395 เป็นต้นไป พวกชนเผ่าเยอรมันก็ยิ่งรุกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ชนเผ่าเยอรมันขนาดใหญ่เหล่านี้เข้าครอบงำชนเผ่าเยอรมันขนาดเล็กต่าง ๆ เกิดเป็นดินแดนของชนเผ่าเยอรมันในบริเวณที่เป็นประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน

อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ค.ศ. 843–1815)

แก้
 
อาณาจักรแฟรงก์และการขยายดินแดน และถูกแบ่งออกเป็นสามอาณาจักรในปี 843

ใน ค.ศ. 800 ชาร์เลอมาญ กษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ ได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งชาวโรมัน และสถาปนาจักรวรรดิการอแล็งเฌียง ต่อมาใน ค.ศ. 840 ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นจากการแย่งชิงบัลลังก์ในหมู่พระโอรสของจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธา[35] สงครามกลางเมืองครั้งนี้จบลงในปี 843 โดยการแบ่งจักรวรรดิการอแล็งเฌียงออกเป็นสามอาณาจักรอันได้แก่:

อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออกแผ่ขยายดินแดนอย่างมากมายครอบคลุมถึงอิตาลีในรัชสมัยพระเจ้าออทโทที่ 1 ในค.ศ. 962 พระองค์ก็ปราบดาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งชาวโรมันตามแบบอย่างชาร์เลอมาญ และสถาปนาราชวงศ์ออทโท ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ภายใต้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คมีดินแดนในอาณัติกว่า 1,800 แห่งทั่วยุโรป

 
อาณาเขตของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
การผงาดของปรัสเซีย
แก้

เดิมที ราชอาณาจักรปรัสเซียเป็นดินแดนหนึ่งในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และยอมรับนับถือจักรพรรดิในกรุงเวียนนาเป็นเจ้าเหนือหัว อย่างไรก็ตาม ปรัสเซียเริ่มแตกหักกับราชวงศ์ฮาพส์บวร์คเมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 เสด็จสวรรคตในปี 1740 ทายาทของจักรพรรดิคาร์ลมีเพียงพระราชธิดาเท่านั้น พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ทรงคัดค้านการให้สตรีครองบัลลังก์จักรวรรดิมาตลอด พระเจ้าฟรีดริชที่ 2 ทรงเปิดฉากรุกรานดินแดนไซลีเชียของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค เกิดเป็นสงครามไซลีเชียครั้งที่หนึ่ง และบานปลายเป็นสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรียที่มีอังกฤษและสเปนเข้ามาร่วมอยู่ฝ่ายเดียวกับปรัสเซีย สงครามครั้งนี้จบลงด้วยความเสียเปรียบของฮาพส์บวร์ค ราชสำนักกรุงเวียนนาต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมากแก่ปรัสเซียและพันธมิตร ราชสำนักกรุงเบอร์ลินแห่งปรัสเซียได้ผงาดบารมีขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ในจักรวรรดิเทียบเคียงราชสำนักกรุงเวียนนา แม้ว่าโดยนิตินัยแล้ว ปรัสเซียจะยังคงถือเป็นดินแดนหนึ่งในจักรวรรดิภายใต้ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก็ตาม

สมาพันธรัฐเยอรมันและจักรวรรดิเยอรมัน (ค.ศ. 1815–1918)

แก้
 
พระเจ้าวิลเฮล์มแห่งปรัสเซียประกาศตนขึ้นเป็นจักรพรรดิเยอรมัน ณ พระราชวังแวร์ซายในกรุงปารีส หลังมีชัยในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ต้องสูญเสียดินแดนมากมายแก่ฝรั่งเศสในช่วงสงครามนโปเลียน ทำให้ในปี 1806 จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 ทรงประกาศยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และสถาปนาจักรวรรดิออสเตรียขึ้นมาแทน เมื่อนโปเลียนถูกโค่นล้มและถูกเนรเทศไปเกาะเอลบาในปี 1814 ได้มีการจัดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาขึ้นเพื่อจัดระเบียบทวีปยุโรปเสียใหม่ ราชอาณาจักรปรัสเซียและจักรวรรดิออสเตรียได้ร่วมมือกันให้มีการรวมกลุ่มอย่างหลวม ๆ ของรัฐเยอรมันทั้งหลาย จัดตั้งขึ้นเป็น "สมาพันธรัฐเยอรมัน" เพื่อรวมความเป็นรัฐชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวเยอรมันอีกครั้ง แม้ปรัสเซียจะพยายามผลักดันให้พระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 3 แห่งปรัสเซีย ดำรงตำแหน่งองค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมันแต่ก็ไม่เป็นผล รัฐสมาชิก 39 แห่งกลับลงมติยอมรับนับถือจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย เป็นองค์ประธานสมาพันธรัฐเยอรมัน

ในปี 1864 ความขัดแย้งระหว่างออสเตรียกับปรัสเซียขึ้นอีกครั้ง และบานปลายเป็นสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย หรือที่เรียกว่า "สงครามพี่น้อง" สงครามครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะอย่างงดงามของปรัสเซีย ออสเตรียสูญเสียอิทธิพลเหนือรัฐเยอรมันตอนใต้ทั้งหมดและจำยอมยุบสมาพันธรัฐเยอรมันในวันที่ 23 สิงหาคม 1866 และนำไปสู่การสถาปนา "สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ" ที่มีกษัตริย์แห่งปรัสเซียเป็นองค์ประธาน และภายหลังปรัสเซียมีชัยในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในปี 1871 รัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อสมาพันธรัฐเป็นจักรวรรดิ และมีมติให้พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย ดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิเยอรมัน ถือเป็นการสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันอย่างเป็นทางการ

จักรวรรดิเยอรมันมีพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด มีกองทัพบกที่ทรงแสนยานุภาพที่สุดในโลก และมีกองทัพเรือที่ทรงแสนยานุภาพเป็นลำดับสองรองจากราชนาวีอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้เกิดยุคข้าวยากหมากแพงจนจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 สละราชสมบัติและลี้ภัยการเมืองในปี 1918 เยอรมนีเปลี่ยนไปใช้ระบอบระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐภายใต้ประธานาธิบดี

สาธารณรัฐไวมาร์และไรช์ที่สาม (ค.ศ. 1919–1945)

แก้

เมื่อระบอบจักรพรรดิล่มสลาย ได้มีการจัดประชุมสมัชชาแห่งชาติขึ้นที่เมืองไวมาร์และมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นที่มาของชื่อลำลองว่า "สาธารณรัฐไวมาร์" ซึ่งตลอดช่วงเวลา 14 ปีของเยอรมนียุคสาธารณรัฐไวมาร์ ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ, อภิมหาเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงานสูงลิบ, เผชิญหน้ากับการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์จากรัสเซีย, ถูกจำกัดจำนวนทหารและห้ามมีอาวุธยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงจากผลของสนธิสัญญาแวร์ซาย ความล่มจมของประเทศเช่นนี้ทำให้เกิดขบวนการชาตินิยมขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือพรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ซึ่งมีอุดมการณ์แบบสุดโต่ง สิบตรีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเข้ามาสอดแนมในพรรคแห่งนี้ประทับใจกับอุดมการณ์ของพรรคและตัดสินใจเข้าร่วมพรรค ฮิตเลอร์ใช้พรสวรรค์ด้านวาทศิลป์ของตนเองจนสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรค[36] ในปี 1920 ฮิตเลอร์เปลี่ยนชื่อพรรคแห่งนี้เป็น "พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "พรรคนาซี"[37]

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 นั้นส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเยอรมนีมาก ผู้คนนับล้านในเยอรมันตกงาน ฮิตเลอร์ได้ใช้โอกาสนี้หาเสียงและกวาดคะแนนนิยม ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนพฤศจิกายน 1932 พรรคนาซีกลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภาไรชส์ทาค ครองที่นั่ง 230 ที่นั่งจากทั้งหมด 584 ที่นั่ง จะเห็นได้ว่าแม้นาซีจะเป็นพรรคใหญ่สุดแต่ก็ยังไม่ได้ครองเสียงข้างมาก จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ไรชส์ทาคขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1933 โดยกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของพวกคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรีฮิตเลอร์กดดันให้ประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คลงนามในกฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาคเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหว่านล้อมให้สภาลงมติอนุมัติรัฐบัญญัติมอบอำนาจ ซึ่งทำให้ฮิตเลอร์กลายเป็น "ฟือเรอร์" ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในเยอรมนีไปโดยปริยาย

เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด เขาได้ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายทิ้งและเร่งฟื้นฟูแสนยานุภาพของเยอรมันเป็นการใหญ่ ฮิตเลอร์ประกาศลดภาษีรถยนต์เป็นศูนย์และเร่งรัดให้มีการสร้างทางหลวงเอาโทบานทั่วประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมันเติบโตอย่างมโหฬาร เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เยอรมนีได้ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอีกครั้งและกลายเป็นชาติที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าที่สุดในโลกในทุกด้าน ทั้งด้านวิศวกรรม อุตสาหกรรม การแพทย์ และการทหาร เทคโนโลยีหลายอย่างของโลกก็ถือกำเนิดขึ้นจากเยอรมนีในยุคนี้ อย่างไรก็ตามความรุ่งเรืองเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขูดรีดแรงงานในค่ายกักกันที่มีอยู่มากมาย

สงครามโลกครั้งที่สอง
แก้
 
แผนที่สงครามในทวีปยุโรป ค.ศ. 1942
  ดินแดนในยึดครองของเยอรมัน
  เขตอิทธิพล/รัฐหุ่นเชิดของเยอรมัน
  สหภาพโซเวียต
  สหราชอาณาจักรและอาณานิคม

ในปี 1938 หลังเยอรมนีผนวกบ้านพี่เมืองน้องอย่างออสเตรียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน ในที่สุด ฮิตเลอร์ส่งกองทัพเข้ายึดประเทศออสเตรียและประเทศเชโกสโลวาเกียโดยไม่สนคำครหา กลิ่นของสงครามเข้าปกคลุมทั้งทวีปยุโรป สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต้องการเลี่ยงสงครามจึงได้จัดการประชุมมิวนิกกับเยอรมนีในเดือนกันยายน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเยอรมนีจะไม่รุกรานดินแดนใดไปมากกว่านี้และจะไม่ก่อสงคราม แต่ขณะเดียวกัน ต่างฝ่ายก็ต่างสั่งสมกำลังเพื่อเตรียมเข้าสู่สงคราม

ในปี 1939 การบุกยึดโปแลนด์ของเยอรมนีได้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น ตามด้วยการบุกครองประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและยังทำกติกาสัญญาไตรภาคีเป็นพันธมิตรกับอิตาลีและญี่ปุ่น เขตอิทธิพลของนาซีเยอรมันได้แผ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติเยอรมันในปี 1942 ครอบคลุมส่วนใหญ่ของยุโรปภาคพื้นทวีป ในปี 1943 ฮิตเลอร์เปลี่ยนชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของเยอรมนีจาก "ไรช์เยอรมัน" (Deutsches Reich) เป็น "ไรช์เยอรมันใหญ่" (Großdeutsches Reich)

หลังความล้มเหลวในปฏิบัติการบาร์บารอสซาที่สหภาพโซเวียต เยอรมันก็ถูกรุกกลับอย่างรวดเร็วจากทั้งสองด้าน เมื่อกองทัพแดงบุกถึงกรุงเบอร์ลินในเดือนเมษายน 1945 ฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะหนีออกจากกรุงเบอร์ลินและตัดสินใจยิงตัวตาย หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เยอรมนีก็ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

เยอรมนีตะวันออกและตะวันตก (ค.ศ. 1945–1990)

แก้

หลังเยอรมนียอมจำนนแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ได้แบ่งกรุงเบอร์ลินและประเทศเยอรมนีออกเป็น 4 เขตในยึดครองทางทหาร เขตฝั่งตะวันตกซึ่งควบคุมโดยฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐ ได้รวมกันและจัดตั้งขึ้นเป็นประเทศที่ชื่อว่า "สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี" เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ส่วนเขตทางตะวันออกซึ่งอยู่ในควบคุมของสหภาพโซเวียตได้จัดตั้งขึ้นเป็นประเทศที่ชื่อว่า "สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี" เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1949 ทั้งสองประเทศนี้ถูกเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ประเทศเยอรมนีตะวันตก" มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงบ็อน และ "ประเทศเยอรมนีตะวันออก" มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงเบอร์ลินตะวันออก

เยอรมนีตะวันตกมีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐภายใต้รัฐสภากลาง และใช้ระบบเศรษฐกิจการตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy) เยอรมนีตะวันตกรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจำนวนมากตามแผนมาร์แชลล์เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมของตน เศรษฐกิจของเยอรมนีตะวันตกฟื้นฟูอย่างรวดเร็วจนถูกเรียกว่า "ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ" (Economic miracle) เยอรมนีตะวันตกเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในปี 1955 และเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี 1957

เยอรมนีตะวันออกเป็นรัฐในกลุ่มตะวันออก (Eastern Bloc) ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและทางทหารของสหภาพโซเวียต และยังเป็นรัฐร่วมภาคีในกติกาสัญญาวอร์ซอ และแม้ว่าเยอรมนีตะวันออกจะอ้างว่าตนเองปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่อำนาจทางการเมืองการปกครองทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของโปลิตบูโรแห่งพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี (SED) ซึ่งมีหัวแบบคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ พรรคฯยังมีการหนุนหลังจาก "กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ "หรือที่เรียกว่า "ชตาซี" (Stasi) อันเป็นหน่วยงานรัฐขนาดใหญ่ที่ควบคุมเกือบทุกแง่มุมของสังคม[38] เยอรมนีตะวันออกใช้ระบอบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ทุกอย่างถูกวางแผนโดยรัฐ

 
ที่หน้าประตูบรันเดินบวร์ค ผู้คนออกมาชุมนุมยินดีต่อการพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989

ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมากพยายามข้ามไปยังเยอรมนีตะวันตกเพื่ออิสรภาพและชีวิตที่ดีกว่า ทำให้เยอรมนีตะวันออกตัดสินใจสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นมาเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดน กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 1961 กำแพงแห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นระหว่างฝ่ายเสรีกับฝ่ายคอมมิวนิสต์[39] [40] การพังทลายลงของกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ นำมาซึ่งการรวมประเทศเยอรมนีในปีถัดมา ก่อนที่จะตามมาด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปีให้หลัง

ยุคหลังการรวมประเทศ (ค.ศ. 1990–ปัจจุบัน)

แก้

เบอร์ลินกลายเป็นเมืองหลวงเดี่ยวของประเทศอีกครั้ง ในขณะที่อดีตเมืองหลวงอย่างบ็อน ได้รับสถานะที่เรียกว่า "บุนเดิสชตัท" (นครสหพันธ์) ซึ่งจะคงที่ทำการใหญ่ของบางหน่วยงานเอาไว้ การย้ายที่ทำการรัฐบาลแล้วเสร็จในปี 1999 และเศรษฐกิจของเยอรมนีได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การรวมประเทศ เยอรมนีมีบทบาทอย่างแข็งขันในสหภาพยุโรป ลงนามในสนธิสัญญามาสทริชท์ในปี 1992 และสนธิสัญญาลิสบอนในปี 2007[41] และร่วมก่อตั้งยูโรโซน[42] เยอรมนีส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพในคาบสมุทรบอลข่าน และส่งทหารไปยังอัฟกานิสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเนโทในการขับไล่กลุ่มตอลิบาน[43]

ในการเลือกตั้งปี 2005 อังเกลา แมร์เคิล สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ต่อมา ในปี 2009 รัฐบาลเยอรมนีอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5 หมื่นล้านยูโร[44] นโยบายทางการเมืองที่สำคัญของเยอรมนีในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ความก้าวหน้าของการบูรณาการในยุโรป และการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานทดแทน (Energiewende) มาตรการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ (pronatalism) และกลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเพื่อก้าวสู่อุตสาหรรม 4.0[45] เยอรมนีได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ผู้ย้ายถิ่นยุโรปในปี 2015 โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศรับผู้อพยพกว่าล้านคน และพัฒนาระบบโควตาที่แจกจ่ายผู้อพยพไปทั่วรัฐ

ภูมิศาสตร์กายภาพ

แก้

ที่ตั้ง

แก้
 
แผนที่แสดงความสูงต่ำของประเทศ

เยอรมนีเป็นประเทศที่อยู่ตรงยุโรปกลางทำให้เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของทวีปยุโรปมีพรมแดนทางทิศเหนือติดทะเลเหนือ เดนมาร์ก และทะเลบอลติก ทิศตะวันออกติดโปแลนด์และเช็กเกีย ทิศใต้ติดออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ทิศตะวันตกติดฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ และยังมีพรมแดนติดกับทะเลสาบโบเดินที่เป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ3ในทวีปยุโรป[46]

ประเทศเยอรมนีมีขนาด 357,021 ตารางกิโลเมตรโดยแบ่งเป็นพื้นดิน 349,223 ตารางกิโลเมตร และพื้นน้ำ 7,798 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ในทวีปยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 62 ของโลก[4]และด้วยพรมแดนมีความยาวทั้งหมดรวม 3,757 กิโลเมตรมีประเทศเพื่อนบ้านถึง 9 ประเทศ ทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่มีประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดในทวีปยุโรป[47]

เยอรมนีมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไปจากทางตอนเหนือถึงทางตอนใต้ โดยมีทั้งที่ราบทางตอนเหนือและเทือกเขาทางตอนใต้ เยอรมนียังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แร่เหล็ก, ถ่านหิน, โพแทช, ไม้, ลิกไนต์, ยูเรเนียม, ทองแดง, ก๊าซธรรมชาติ, เกลือ, นิกเกิล, พื้นที่เพาะปลูกและน้ำ[4]

ภูมิอากาศ

แก้

ประเทศเยอรมนีส่วนใหญ่มีสภาพอากาศที่อบอุ่น ฤดูหนาวมีอากาศตั้งแต่อากาศหนาวในเทือกเขาแอลป์ตอนใต้ไปถึงสภาพอากาศอบอุ่นและค่อนข้างเย็น โดยทั่วไปมีเมฆมากและมีปริมาณฝนจำกัด ในขณะที่ฤดูร้อนอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่ร้อนทั่วไปและแห้งไปจนถึงอากาศเย็นและมีฝนตก ภาคเหนือมีลมตะวันตกพัดปกคลุมซึ่งนำอากาศชื้นจากทะเลเหนือทำให้อุณหภูมิลดลงและมีฝนเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2019 - 2020 อุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนในเยอรมนีอยู่ในช่วงต่ำสุดที่ 3.3 ° C (37.9 ° F) ในเดือนมกราคม 2020 จนถึงสูงสุด 19.8 ° C (67.6 ° F) ในเดือนมิถุนายน 2019[48] ปริมาณน้ำฝนรายเดือนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 30 ลิตรต่อตารางเมตรในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2019 ถึง 125 ลิตรต่อตารางเมตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ชั่วโมงแสงแดดเฉลี่ยรายเดือนอยู่ระหว่าง 45 ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ถึง 300 ในเดือนมิถุนายน 2019[49] อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ในเยอรมนีคือ 42.6 ° C เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2019 ในเมืองลินเกน และอุณหภูมิต่ำสุดคือ −37.8 ° C เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1929 ในเมืองโวห์นซาค[50][51]

ความหลากหลายทางชีวภาพ

แก้

ในปี 2008 อาณาเขตของประเทศเยอรมนีสามารถแบ่งสภาพพื้นดินได้โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทำกิน (34%) ป่าไม้ (30.1%) ทุ่งหญ้าถาวร 11.8%[52] พืชและสัตว์ในเยอรมนีส่วนใหญ่เป็นพืชและสัตว์ในยุโรปกลางโดยต้นไม้ส่วนใหญ่ก็จะเป็น เบิร์ช, โอ๊ก และต้นไม้ผลัดใบอื่น ๆ ที่พบตามพื้นก็จะเป็น มอสส์, เฟิร์น, คอร์นฟลาวเวอร์, เห็ดรา สัตว์ป่าก็จะเป็น กวาง, หมูป่า, แพะภูเขา, หมาจิ้งจอกแดง, แบดเจอร์ยุโรป, กระต่ายป่าและอาจมีบีเวอร์บริเวณชายแดนประเทศโปแลนด์ด้วย[53]:ซึ่งคอร์นฟลาวเวอร์สีฟ้าเคยเป็นดอกไม้ประจำชาติด้วย[54]

เยอรมนีมีอุทยานแห่งชาติ 16 แห่ง รวมถึงเขตสงวนชีวมณฑล 17 แห่ง[55] และสวนสัตว์มากถึง 400 แห่ง[56] สวนสัตว์เบอร์ลิน (Zoologischer Garten Berlin) เป็นสวนสัตว์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในเยอรมนี เปิดบริการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1844 และได้รับการยอมรับให้เป็นสวนสัตว์ที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดในโลก[57]

การเมืองการปกครอง

แก้

การรวมประเทศในปี 1990 นั้น เสมือนเป็นการผนวกประเทศเยอรมนีตะวันออกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีตะวันตก ดังนั้นระบบระเบียบการปกครองทั้งหมดในประเทศเยอรมนีใหม่นี้ จึงยึดเอาระบบระเบียบเดิมของเยอรมนีตะวันตกมาทั้งหมด กฎหมายสูงสุดหรือรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีเรียกว่า กรุนด์เกเซ็ทท์ (Grundgesetz) หรือแปลอย่างตรงตัวได้ว่า "กฎหมายพื้นฐาน" ถูกบัญญัติขึ้นในปี 1949 เพื่อใช้เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีตะวันตก การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จำเป็นต้องได้รับเสียงอย่างน้อยสองในสามจากที่ประชุมร่วมสองสภาและ อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐาน, การแยกใช้อำนาจ, โครงสร้างสหพันธ์ และสิทธิในการต่อต้านความพยายามล้มล้างมิอาจถูกแก้ไขได้

รัฐสมาชิกตามรัฐธรรมนูญ

แก้

ประเทศเยอรมนีประกอบด้วยสิบหก รัฐ (เยอรมัน: Bundesland บุนเดสลันด์) ในจำนวนนี้ เบอร์ลินและฮัมบวร์ค มีสถานะเป็นนครรัฐ (เยอรมัน: Stadtstaaten ชตัดท์ชตาเทิน) ในขณะที่ เบรเมิน เป็นรัฐที่ประกอบด้วยสองนครรัฐคือเบรเมินและเบรเมอร์ฮาเฟิน ในขณะที่อีกสิบสามรัฐที่เหลือ มีสถานะเป็นธรารัฐ (เยอรมัน: Flächenländer แฟลเชินแลนเดอร์) ทุกรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง สามารถตรากฎหมายและจัดเก็บภาษีเองตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ฯ

รัฐ เมืองหลวง พื้นที่
(กม2)
ประชากร (2015)[58] GDP ปี 2015[59]
(พันล้านยูโร)
GDP ต่อหัวปี 2015[59]
บาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ชตุทท์การ์ท 35,752 10,879,618 461 42,800
ไบเอิร์น มิวนิก 70,549 12,843,514 550 43,100
เบอร์ลิน เบอร์ลิน 892 3,520,031 125 35,700
บรันเดินบวร์ค พ็อทซ์ดัม 29,477 2,484,826 66 26,500
เบรเมิน เบรเมิน 404 671,489 32 47,600
ฮัมบวร์ค ฮัมบวร์ค 755 1,787,408 110 61,800
เฮ็สเซิน วีสบาเดิน 21,115 6,176,172 264 43,100
เมคเลินบวร์ค-ฟอร์พ็อมเมิร์น ชเวรีน 23,174 1,612,362 40 25,000
นีเดอร์ซัคเซิน ฮันโนเฟอร์ 47,618 7,926,599 259 32,900
นอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน ดึสเซิลดอร์ฟ 34,043 17,865,516 646 36,500
ไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ไมนทซ์ 19,847 4,052,803 132 32,800
ซาร์ลันท์ ซาร์บรึคเคิน 2,569 995,597 35 35,400
ซัคเซิน เดรสเดิน 18,416 4,084,851 113 27,800
ซัคเซิน-อันฮัลท์ มัคเดอบวร์ค 20,445 2,245,470 57 25,200
ชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ คีล 15,763 2,858,714 86 31,200
ทือริงเงิน แอร์ฟวร์ท 16,172 2,170,714 57 26,400
ประเทศเยอรมนี เบอร์ลิน 357,376 82,175,684 3025 37,100

ฝ่ายบริหาร

แก้
   
ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

โอลัฟ ช็อลทซ์

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

ประธานาธิบดีสหพันธ์ (Bundespräsident) เป็นตำแหน่งประมุขแห่งรัฐ ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่สหพันธ์ (Bundesversammlung) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาสหพันธ์ (Bundestag) และสมาชิกคณะมนตรีสหพันธ์ (Bundesrat) ประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสหพันธ์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือฟรังโก-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหพันธ์ (เยอรมัน: Bundeskanzler) เป็นตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร หัวหน้ารัฐบาลคนปัจจุบันคือ โอลัฟ ช็อลทซ์

กระทรวงแห่งรัฐบาลสหพันธ์

แก้

รัฐบาลสหพันธ์ของประเทศเยอรมนีประกอบด้วย 14 กระทรวง และสำนักนายกรัฐมนตรีสหพันธ์

ฝ่ายนิติบัญญัติ

แก้
 
อาคารไรชส์ทาคในกรุงเบอร์ลิน เป็นที่ประชุมรัฐสภาของเยอรมนี

อำนาจนิติบัญญัติเป็นของรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย สภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) ทำหน้าที่เป็นสภาล่าง สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรง และคณะมนตรีสหพันธ์ (Bundesrat) เป็นสภาผู้แทนรัฐทั้งสิบหกของสหพันธ์ ทำหน้าที่เป็นสภาสูง

ระบบพรรคการเมืองของเยอรมนีมีเพียงสองพรรคการเมืองหลักคือพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (SPD) โดยจนถึงปัจจุบันนายกรัฐมนตรีมาจากเพียงสองพรรคนี้ อย่างไรก็ตาม ก็มีพรรคที่เล็กกว่าซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างพรรคประชาธิปไตยเสรี (FDP) และกลุ่มพันธมิตร 90/กรีน (Bündnis 90/Die Grünen) ซึ่งมักเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสม

ฝ่ายตุลาการ

แก้

เยอรมนีมีระบบกฎหมายแพ่งที่อิงกฎหมายโรมันและกฎหมายเจอร์แมนิกบางส่วนภายใต้ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ (Bundesverfassungsgericht) [60] ระบบศาลสูงสุดแบ่งออกเป็นห้าศาลซึ่งมีมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ได้แก่ คือศาลาศาลยุติธรรมสหพันธ์, ศาลแรงงานสหพันธ์, ศาลสังคมสหพันธ์, ศาลาการคลังสหพันธ์ และศาลปกครองสหพันธ์[61]

เยอรมนีมีอัตราการฆาตกรรมต่ำ โดยมีการฆาตกรรม 1.18 ครั้งต่อ 100,000 คน ณ ปี 2016 และในปี 2018 อัตราการเกิดอาชญากรรมโดยรวมลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1992[62]

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

แก้

ภาพรวม

แก้

เยอรมนีมีเครือข่ายคณะทูต 227 แห่งในต่างประเทศ[63] และรักษาความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 190 ประเทศ[64] เยอรมนีเป็นสมาชิกของ เนโท, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, กลุ่ม 8, กลุ่ม 20, ธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เยอรมนีมีบทบาทที่ทรงอิทธิพลในสหภาพยุโรปตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และยังคงเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งกับฝรั่งเศสและประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 1990 เยอรมนีส่งเสริมการสร้างเครื่องมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของยุโรปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น[65][66] รัฐบาลของเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใกล้ชิด[67] ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้สร้างความผูกพันระหว่างสองประเทศ นโยบายการพัฒนาของเยอรมนีเป็นเขตอิสระของนโยบายต่างประเทศ จัดทำโดยกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธรัฐและดำเนินการโดยองค์กรที่ดำเนินการ รัฐบาลเยอรมนีมองว่านโยบายการพัฒนาเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ เยอรมนียังเป็นชาติผู้บริจาคเงินช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ รายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกในปี 2019 รองจากสหรัฐอเมริกา

ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

แก้

ประเทศเยอรมนีกับประเทศฝรั่งเศส มีบทบาทเป็นผู้นำของสหภาพยุโรป และกำลังมุ่งหน้าสู่การรวมการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศสมาชิก มาขึ้นกับสหภาพยุโรปมากขึ้น

หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2ในยุคนาซีเยอรมนี เยอรมนีพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการทหารของประเทศอื่นมากนัก พฤติกรรมนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงในปี 1999 เมื่อเยอรมนีตัดสินใจส่งทหารเข้าร่วมสงครามคอซอวอ เยอรมนีและฝรั่งเศสยังเป็นประเทศหลักที่คัดค้านการรุกรานประเทศอิรักของสหรัฐในปี 2003

ปัจจุบัน เยอรมนีกำลังพยายามเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[68][69] เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น และ บราซิล

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

แก้
ความสัมพันธ์เยอรมนี – ไทย
 
 
เยอรมนี
 
ไทย
  • การทูต

ในสมัยที่เยอรมนียังคงแยกเป็นรัฐเสรีหลายรัฐ ได้มีรัฐสำคัญอย่างปรัสเซียที่จัดตั้งจัดตั้งคณะทูตสันถวไมตรีแห่งปรัสเซียมายังสยาม โดยมีหัวหน้าคณะทูตคือ เคานท์ ซู ออยเลนบวร์ก พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์กับชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ โดยเดินทางมาถึงสยาม ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2405 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การเจรจาการค้าพระราชไมตรี ด้านการค้าและการเดินเรือระหว่างสองประเทศเริ่มขึ้นในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2406 โดยมีเจ้าฟ้ากรมหลวงวงศาธิราชสนิท เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งทางปรัสเซียไม่มีนโยบายล่าอาณานิคมในแถบเอเชียอาคเนย์ การเจรจาเสร็จสิ้นและลงนามสัญญา ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2406 โดยสัญญาระบุถึงการปฏิบัติไมตรีต่อกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2422 ได้มีการตั้งสถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน และ พ.ศ. 2431 ได้มีการเลื่อนระดับสถานกงสุลเยอรมนีขึ้นเป็นสถานอัครราชทูตเยอรมนี ณ กรุงเทพมหานคร

  • การเมือง
  • เศรษฐกิจและการค้า
  • การท่องเที่ยว

กองทัพ

แก้
 
เครืองบินยูโรไฟต์เตอร์ EF-2000 ของกองทัพอากาศเยอรมนี

บุนเดิสแวร์ (Bundeswehr) คือชื่อเรียกกองทัพปัจจุบันของเยอรมนี แบ่งออกเป็นสามเหล่าคือ กองทัพบก (Heer) กองทัพเรือ (Marine) และกองทัพอากาศ (Luftwaffe) กองทัพเยอรมันมีงบประมาณมากเป็นอันดับเก้าของโลก[70] ในปี 2015 งบประมาณทหารของเยอรมนีอยู่ที่ 32.9 พันล้านยูโรซึ่งคิดเป็น 1.2% ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของนาโต้ 2%[71]

ในปี 2015 บุนเดิสแวร์มีกองกำลังทหารถึง 178,000 นายและมีทหารอาสาอีก 9,500 นาย[72] และในปี 2001 เยอรมนียังมีการส่งทหารออกไปปฏิบัติภารกิจนอกประเทศด้วยซึ่งเป็นทหารทั้งผู้หญิงและผู้ชาย[73][74] โดยทหารผู้หญิงนั้นมีประมาณ 19,000 นายที่ประจำการอยู่ในกองทัพ และในปี 2014 ได้มีการอ้างอิงจาก SIPRI ว่าประเทศเยอรมนีมีการส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศมากเป็นอันดับ4ของโลก[75]

แต่ถ้าหากไม่มีสงครามหรือการก่อการร้าย บุนเดิสแวร์จะได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้ปกป้องนายกรัฐมยตรีหรือบุคคลสำคัญ[76]

 
เรือฟริเกตชั้นบรันเดินบวร์ค

บทบาทของบุนเดิสแวร์ได้มีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเยอรมนีว่ามีเพื่อปกป้องและป้องกันประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ได้วินิจฉัยบทบัญญัติดังกล่าวไว้ในปี 1994 ว่าการปกป้องในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่การปกป้องอาณาเขตและดินแดนของประเทศเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปฏิกิริยาหรือวิกฤติความขัดแย้งจากต่างประเทศหรือที่อื่น ๆ บนโลกที่อาจกว้างขึ้นจนอาจมีผลต่อความมั่นคงของประเทศเยอรมนีได้ ในเดือนมกราคมปี 2015 กองทัพเยอรมันมีกองกำลังประจำการอยู่ในต่างประเทศประมาณ 2,370 นาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังรักษาความสงบระหว่างประเทศรวมถึงกองกำลังของบุนเดิสแวร์เช่น ในกองทัพนาโต้ที่ปฏิบัติภารกิจในประเทศอิรัก, ประเทศอัฟกานิสถานและประเทศอุซเบกิสถานจำนวน 850 นาย และทหารเยอรมันในประเทศคอซอวอ 670 นาย และกองกำลังร่วมด้วย UNIFIL ในประเทศเลบานอน 120 นาย[77]

จนในปี 2011 การรับราชการทหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ชายที่มีอายุ 18 ปี และมีหน้าที่รับราชการทหารเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนผู้ที่ไม่อยากเป็นทหารสามารถเลือกเป็น Zivildienst (การบริการประชาชน) เป็นเวลา 6 เดือนได้ หรืออาจเป็นทหารอาสา 6 ปี หรือการบริการฉุกเฉินเช่นแผนกดับเพลิงหรือกาชาด[78][79]

เศรษฐกิจ

แก้
 
รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ของประเทศเยอรมนี

ประเทศเยอรมนีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็นอันดับสี่ของโลกถัดจากสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น เยอรมนียังเป็นประเทศที่มีการส่งออกเป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐ และประเทศจีน ปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญคืออัตราการจ้างงาน

บริษัทในเยอรมันที่มีธุรกิจไปทั่วโลก อย่างเช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิ้ลยู ปอร์เช่ โฟล์กสวาเกน เอาดี้ มายบัค ซีเมนส์ อลิอันซ์ เป็นต้น มีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ 8 แห่งโดยมีตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ตเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เยอรมนีเป็นผู้ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2002 ถึง 2008 และได้ทำการค้าตลาดร่วมกับจีนในปี 2009 และปัจจุบันผู้ส่งออกใหญ่เป็นอันดับสองและสร้างดุลการค้าใหญ่ ภาคบริการในรอบ 70% ของจีดีพี รวมอุตสาหกรรม 29.1%, 0.9% และภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์ของประเทศเยอรมนีส่วนใหญ่อยู่ในด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของเยอรมนี ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องจักร สินค้าเคมี ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ยา อุปกรณ์ขนส่ง โลหะพื้นฐาน ผลิตภัณฑ์อาหาร ยางและพลาสติก

เยอรมนีเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเดียวในยุโรปซึ่งมีผู้บริโภคมากกว่า 450 ล้านคน[80] ในปี 2017 เศรษฐกิจประเทศคิดเป็น 28% ของเศรษฐกิจยูโรโซนตามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เยอรมนีใช้สกุลเงินทั่วไปของยุโรปนั่นคือยูโร นโยบายการเงินของประเทศถูกกำหนดโดยธนาคารกลางยุโรปซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแฟรงค์เฟิร์ต[81]

การวิจัยและพัฒนาเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเยอรมนี[82][83][84][85] ในปี 2018 เยอรมนีอยู่ในอันดับ 4 ของโลกในแง่ของจำนวนผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่ได้รับการตีพิมพ์[86] และเยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 9 ในดัชนีนวัตกรรมระดับโลกในปี 2019 และ 2020

การท่องเที่ยว

แก้
 
ปราสาทน็อยชวานชไตน์ ในรัฐบาวาเรีย

เยอรมนีเป็นประเทศที่มีผู้ท่องเที่ยวเข้ามามากเป็นอันดับเก้าของโลก ณ ปี 2017[87] โดยมีการเดินทางเข้าประเทศถึง 37.4 ล้านครั้ง เบอร์ลินกลายเป็นเมืองปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดเป็นอันดับสามของยุโรป[88] การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับเยอรมนีมากกว่า 105.3 พันล้านยูโรต่อจีดีพีรวมของเยอรมนี และยังส่งผลในเชิงบวกในการกระตุ้นให้มีการจ้างงานเพิ่มถึง 4.2 ล้านตำแหน่ง[89] สถานที่ยอดนิยมของเยอรมนี ได้แก่[90] มหาวิหารโคโลญ ประตูเมืองบรันเดนบูร์ก พระราชวัง Reichstag Dresden Frauenkirche ปราสาทน็อยชวานชไตน์ ปราสาทไฮเดิลแบร์ค และสวนสนุกและรีสอร์ท Europa-Park ใกล้เมืองไฟรบวร์คอิมไบรส์เกา เป็นรีสอร์ทสวนสนุกที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสองของยุโรป[91]

โครงสร้างพื้นฐาน

แก้

การคมนาคม และโทรคมนาคม

แก้

ถนน 650,000 กิโลเมตร ราง 41,315 กิโลเมตร ลำน้ำและชายฝั่ง 7,500 กิโลเมตร ท่าอากาศยาน 58 ท่า ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร ระยะทาง 41,315 กิโลเมตร ติดระบบรถไฟฟ้า 19,857 กิโลเมตร ผู้โดยสาร 19,500 ล้านเที่ยว สินค้า 415.4 ล้านตันต่อปี รถจักร 7,734 คัน รถ DMU (ดีเซลราง) และ EMU (รถไฟฟ้าราง) 15,762 คัน

 
รถไฟความเร็วสูงอินเตอร์ซิตี-เอ็กซ์เพรส
 
เครืองบินแอร์บัส เอ380 ของสายการบินลุฟต์ฮันซา

เยอรมนีเป็นศูนย์กลางการคมนาคมการขนส่งในทวีปยุโรปเนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางของทวีป[92]เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในยุโรปตะวันตกเส้นทางและเครือข่ายถนนของเยอรมนีนั้นเรียกได้ว่าเป็นประเทศในกลุ่มที่มีเส้นทางคมนาคมที่หนาแน่นที่สุดในโลก[93] มีมอเตอร์เวย์ออโตบาห์นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและเป็นที่ทราบกันดีว่าถนนเส้นนี้ไม่มีการจำกัดความเร็ว[94]

เยอรมนีได้มีการจัดตั้งเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ชื่ออินเตอร์ซิตี-เอ็กซ์เพรสซึ่งจะวิ่งผ่านเมืองสำคัญ ๆ ในเยอรมันและในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ด้วยความเร็วประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง [95] ทางรถไฟของเยอรมันได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งมีเงินสนับสนุนมากถึง 17 พันล้านยูโรในปี 2014[96]

ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต และท่าอากาศยานนานาชาติมิวนิกและมีสายการบินที่ใหญ่ที่สุดคือลุฟต์ฮันซาและยังมีสนามบินอื่น ๆ อีกด้วยเช่นท่าอากาศยานเบอร์ลินเชอเนอเฟ็ลท์ และท่าอากาศยานฮัมบวร์ค[97] และยังมีท่าเรือฮัมบวร์คที่เป็นท่าเรือที่คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีและใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลก[98]

พลังงาน

แก้

ในปี 2015 เยอรมนีเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 7 ของโลก[99] รัฐบาลตกลงที่จะยุติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2021[100] ตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน 40%[101] เยอรมนียึดมั่นในความตกลงปารีสและสนธิสัญญาอื่น ๆ อีกหลายฉบับที่ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเน้นการปล่อยมลพิษต่ำ และการจัดการน้ำที่ดี[102][103] อัตราการรีไซเคิลในครัวเรือนของประเทศอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในโลกประมาณ 65%[104] การปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อหัวของประเทศนั้นสูงเป็นอันดับ 9 ในสหภาพยุโรปในปี 2018[105] หลายปีที่ผ่านมา นโยบายการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของเยอรมนี (Energiewende) เป็นการเคลื่อนไหวที่ได้รับการยอมรับสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยใช้วิธีการประหยัดพลังงานและพลังงานหมุนเวียน

วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

แก้
 
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ใน ค.ศ. 1921.

เยอรมนีมีนักวิจัยที่โดดเด่นในสาขาวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 103 รางวัล เช่น ผลงานของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และมักซ์ พลังค์ ถือเป็นรากฐานสำคัญของฟิสิกส์ยุคใหม่ และได้ถูกพัฒนาต่อมาโดยผลงานของแวร์เนอร์ ไฮเซินแบร์ค, แฮร์มัน ฟ็อน เฮ็ล์มฮ็อลทซ์, โยเซฟ ฟอน เฟราน์โฮเฟอร์, การีเอิล ดานีเอิล ฟาเรินไฮท์ และวิลเฮล์ม คอนราด เรินต์เกน ผู้ค้นพบรังสีเอกซ์ ความสำเร็จนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1901

นักวิศวกรรมการบินอวกาศชื่อ แวร์นแฮร์ ฟ็อน เบราน์ ผู้พัฒนาจรวดในยุคแรกและต่อมาเป็นสมาชิกสำคัญของนาซาและพัฒนาจรวด Saturn V Moon ซึ่งปูทางสำหรับความสำเร็จของโครงการอะพอลโล งานของ ไฮน์ริช แฮทซ์ ในด้านรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาโทรคมนาคมสมัยใหม่ ผ่านการก่อสร้างห้องปฏิบัติการแรกที่มหาวิทยาลัยซิกใน 1879 ของเขา, Wilhelm Wundt เป็นเครดิตกับสถานประกอบการของจิตวิทยาเป็นอิสระเชิงประจักษ์ วิทยาศาสตร์ อเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมบ็อลท์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและ explorer เป็นพื้นฐานเพื่อชีวภูมิศาสตร์

การนำเข้าและส่งออกของเยอรมนีในปี 2010 จัดว่าอยู่ในทิศทางที่ดี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้า มีมูลค่ารวมมากกว่า 800,000 ล้านยูโร ส่วนการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 18% คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 950,000 ล้านยูโร โดยในจำนวนนี้ 95% ส่งออกไปยังตลาดยุโรป และกว่า 11% ส่งออกไปยังตลาดเอเชีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 5.5%ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ในช่วงปี 2009-10 อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากการสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากจีน โดยในปี 2010 เยอรมนีส่งออกรถเพิ่มขึ้น 24% และการผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น 12%

การศึกษา

แก้
 
มหาวิทยาลัยเกอเทอแห่งแฟรงก์เฟิร์ต

การศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่อายุ 6-18 ปี รวมทั้งหมด 12 ปี[106] ซึ่งนักเรียนจำเป็นต้องเรียนหลักสูตรภาคบังคับอย่างน้อย 9 ปี (ในบางรัฐ 10 ปี)[107] หลังจากนั้นนักเรียนสามารถเลือกเรียนหลักสูตรสายอาชีพหรือฝึกงานซึ่งเป็นการเรียนแบบไม่เต็มเวลาได้ โรงเรียนเอกชนในเยอรมนีมีไม่กี่แห่งที่ดำเนินการโดยนักสอนศาสนา โรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนรัฐบาล เรียนฟรีไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน หนังสือและตำราเรียนมักมีให้นักเรียนยืมไม่ต้องซื้อ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ของส่วนตัวก็จะให้ผู้ปกครองบริจาคเงินตามกำลังทรัพย์ที่มี

เมื่อนักเรียนมีอายุ 6 ปี จะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาเป็นเวลา 4 ปี หลังจากจบประถมศึกษาแล้วจึงศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่:[108] Secondary General School (Houptschule) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ให้การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป และวิชาแนะนำวิชาชีพ หลังจบนักเรียนจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อเป็นประตูสู่การศึกษาสายวิชาชีพ, Intermediate School (Realschule) เป็นโรงเรียนที่อยู่ระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ให้การศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไป (Secondary General School) กับโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เน้นวิชาการ (Grammar School) หลักสูตรส่วนใหญ่จะเน้น วิชาพื้นฐานทั่วไป หลังจบหลักสูตร 6 ปี แล้วจะได้ประกาศนียบัตรเพื่อศึกษาต่อไปในระดับที่สูงขึ้น เช่น โรงเรียนอาชีวะที่ต้องเรียนเต็มเวลา, Grammar School (Gymnasium) เป็นการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 9 ปี เป็นการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการ และเมื่อเรียนในระดับ เกรด 11-13 วิธีการเรียนจะแบ่งเป็นการเลือกกลุ่มวิชา (Course) ที่ถนัดเพื่อเน้นบางสาขาวิชาโดยเฉพาะ เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และสุดท้าย Comprehensive School (Gesamtshule) เป็นการผสมผสานการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมทั้ง 3 ประเภทเข้าด้วยกัน นักเรียนเริ่มเรียนตั้งแต่เกรด 5-10 และจะเริ่มเรียนวิชาเฉพาะทาง ในระดับเกรด 7[109]

ระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยของเยอรมนีจะแบ่งสถาบันออกเป็น 3 ประเภทหลัก (จำแนกตามสาขาวิชา) ได้แก่[110]

1. มหาวิทยาลัยทั่วไป (Universitäten): เป็นการเรียนการสอนหลักสูตรทั่วไปเช่นเดียวกับประเภทอื่น ๆ โดยมีสาขาวิชาที่หลากหลายเช่น สังคมศาสตร์ การสื่อสาร ภาษา

2. มหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Fachhochschulen): จะเน้นไปทางการปฏิบัติและประยุกต์ใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่มีการมอบหมายงานให้ลงมือทำจริงในสถานที่จริงทั้งภายในมหาวิทยาลัยหรือบริษัทที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นไปที่สาขาวิชาสารสนเทศ, วิศวกรรมศาสตร์, เทคโนโลยี, ธุรกิจ, สังคมศาสตร์,การออกแบบ, ศึกษาศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

3. มหาวิทยาลัยทางด้านศิลปศาสตร์ ดนตรี และภาพยนตร์ (Kunst- und Musikhochschulen): มหาวิทยาลัยทางด้านศิลปศาสตร์ ดนตรี และภาพยนตร์ได้จัดสรรรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความเป็นอิสระที่สุดให้กับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งกระบวนการเรียนที่มหาวิทยาลัยวางไว้ก็จะสามารถส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ก่อนเข้าศึกษาผู้สมัครอาจจะต้องทำแบบทดสอบความถนัดเพื่อพิสูจน์ความสามารถทางศิลปะของตัวเองในสาขาที่เลือกเรียนก่อน วิชาที่เปิดสอนจะค่อนข้างมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิจิตรศิลป์, การออกแบบเชิงแฟชั่น, ภาพยนตร์, ดนตรี ไปจนถึงการออกแบบเชิงกราฟิก

สาธารณสุข

แก้

ระบบโรงพยาบาลของเยอรมนีที่เรียกว่า Krankenhäuser มีมาตั้งแต่ยุคกลาง[111] และในปัจจุบัน เยอรมนีมีระบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สืบเนื่องมาจากกฎหมายทางสังคมของ Bismarck ในยุค 1880 นับตั้งแต่ทศวรรษ 1880 การปฏิรูปและข้อกำหนดต่าง ๆ ได้ทำให้ระบบการดูแลสุขภาพมีความสมดุล ประชากรได้รับการคุ้มครองโดยแผนประกันสุขภาพที่กำหนดโดยกฎเกณฑ์ โดยมีเกณฑ์ที่อนุญาตให้บางกลุ่มเลือกทำสัญญาประกันสุขภาพส่วนบุคคลได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบบการดูแลสุขภาพของเยอรมนีได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 77% และทุนเอกชน 23% ในปี 2013 และ ในปี 2014 เยอรมนีมีค่าใช้จ่ายกว่า 11.3% ของจีดีพีทั้งหมดในการดูแลสุขภาพประชาชน[112]

เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลกในปี 2013 ในด้านอายุขัยโดยรวม โดยเพศชายที่ 77 ปี และเพศหญิงที่ 82 ปี และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดต่ำมาก (4 ต่อ 1,000 คน) ในปี 2019 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตคือโรคหัวใจและหลอดเลือด อยู่ที่ 37%[113] แต่โรคอ้วนในเยอรมนียังเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญ การศึกษาในปี 2014 พบว่าร้อยละ 52 ของประชากรชาวเยอรมันที่เป็นผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน[114]

สวัสดิการ

แก้

การประกันสังคมในประเทศเยอรมนี ถือเป็นแก่นสำคัญของระบบสังคมสงเคราะห์[115] ค.ศ 1883 มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัยความเจ็บป่วยได้ ค.ศ 1884 มีกฎหมายประกันอุบัติเหตุ ค.ศ 1889 มีกฎหมายประกันทุพพลภาพและประกันผู้ชรา ทุกวันนี้ลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ในกรณีการจ่ายเงินประกันบำนาญได้มาจากการบำรุงของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐช่วยออกสะสมส่วนหนึ่ง อัตราเงินบำนาญขึ้นอยู่กับเงินรายได้หรือขึ้นอยู่กับเบี้ยประกันที่ชำระไป[116] ข้าราชการรวมทั้งผู้พิพากษาและทหารมืออาชีพรับเงินบำนาญ ตามที่กฎหมายข้ารัฐการของหน่วยงานตนกำหนด ในกรณีที่มีการเจ็บป่วย ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิได้รับค่าแรงงานเต็มอัตราเป็นเวลา 6 สัปดาห์ หลังจากนั้นบริษัทประกันเจ็บป่วยจะจ่ายเงินค่าป่วยไข้ให้อีกทั้ง 72 สัปดาห์ บริษัทประกันเจ็บป่วยนี้ต้องรับภาระค่ารักษาโรคทั่วไป ค่ารักษาโรคฟัน ค่ายาและค่าโรงพยาบาล ในกรณีที่มีอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน ลูกจ้างจะได้รับเงินประกันอุบัติเหตุ และบำนาญที่จ่ายจะได้รับการจ่ายให้เป็นรายปี[117]

นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 1971 การประกันอุบัติเหตุตามกฎหมายได้ขยายรวมถึงนักศึกษา และนักเรียน เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่ประสบความสำเร็จในการจัดหลักประกันด้านสังคมและสุขภาพให้แก่ประชาชนด้วยระบบประกันสังคมภาคบังคับ หลักการพื้นฐานของระบบการเมืองเยอรมันคือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solidarity) การกระจายอำนาจและบทบาทหน้าที่ระหว่างหน่วยงานรัฐ (ส่วนกลาง ภูมิภาค) และเอกชน (Subsidiarity) และ การมีองค์กรร่วม (Corporatist organization) ระบบสุขภาพเองก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว ระบบบริการสุขภาพของเยอรมนีนั้น ภาครัฐมีบทบาทหลักในการสร้างกรอบกฎหมายในการควบคุม ในขณะที่การดำเนินงานนั้นกระจายให้องค์กรเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ

การปฏิรูปในเยอรมนีนั้นมุ่งเน้นการให้ประโยชน์กับประชาชนและสังคม การกำหนดให้มีกฎหมายประกันสุขภาพทำให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้รับประกันด้านสุขภาพแบบทั่วหน้า การปฏิรูปช่วงหลังที่มุ่งเน้นการควบคุมรายจ่ายนั้นก็เป็นความพยายามในการควบคุมพฤติกรรมของผู้ให้บริการและโรงพยาบาลเป็นหลัก เพื่อควบคุมไม่ให้รายจ่ายด้านสุขภาพนั้นเพิ่มมากกว่ารายได้ของประชาชน

ประชากร

แก้

ประชากรในเยอรมนีกระจายตัวอยู่แตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาคนั่นคือประมาณหนึ่งในสามของประชากรได้แก่ประมาณ 25 ล้านคน ใช้ชีวิตอยู่ใน 82 เมืองใหญ่ ส่วนอีก 50.5 ล้านคนอยู่ในชุมชนและเมืองที่มีประชากรระหว่าง 2,000 ถึง 100,000 คน นอกจากนั้นอีกประมาณ 6.4 ล้านคนอาศัยอยู่ในย่านที่มีประชากรไม่เกิน 2,000 คน บริเวณผู้อพยพเข้าในเบอร์ลิน ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่การรวมประเทศเยอรมนี มีประชากรมากกว่า 4.3 ล้านคน ในเขตอุตสาหกรรมริมแม่น้ำไรน์ และรัวร์ ที่ซึ่งเมืองต่าง ๆ มักเหลื่อมล้ำเข้าหากัน เพราะไม่มีเส้นขีดคั่นอย่างชัดเจนนั้นมีประชากรมากว่า 11 ล้านคน กล่าวคือ 1,100 คนต่อตารางกิโลเมตร ภูมิภาคอันมีประชากรหนาแน่นดังกล่าวนี้แตกต่างจากอาณาบริเวณที่มีประชากรเบาบางมาก อาทิเช่น บริเวณอันกว้างใหญ่ของรัฐมาร์ค บรันเดนบวร์ก และเมคเคลนบวร์ก-ฟอร์พอมเฟิร์น

เยอรมนีมีประชากรหนาแน่นถึง 230 คนต่อตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งในยุโรป แต่ก็มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างบริเวณสหพันธ์ดั้งเดิม กับบริเวณอดีตสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน กล่าวคือในรัฐใหม่ของสหพันธ์ฯ และเบอร์ลินตะวันออกมีประชากรหนาแน่นถึง 140 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่รัฐของสหพันธ์ฯ เดิม มีประชากรหนาแน่นถึง 267 คนต่อตารางกิโลเมตร[118]

เยอรมนีเป็นปลายทางการย้ายถิ่นฐานที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ[119] ผู้อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันตกโดยเฉพาะในเขตเมือง จากจำนวนผู้อยู่อาศัยในประเทศ 18.6 ล้านคน (22.5%) เป็นผู้อพยพหรือผู้ย้ายถิ่นฐานบางส่วนในปี 2016 นอกจากนี้ ในปี 2015 กองประชากรของกรมเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติระบุว่าเยอรมนีเป็นปลายทางของผู้อพยพระหว่างประเทศที่มีจำนวนสูงสุดเป็นอันดับสองของโลก[120] ประมาณ 5% หรือ 12 ล้านคนจากทั้งหมด 244 ล้านคน[121] ณ ปี 2018 เยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 5 ในสหภาพยุโรปในแง่ของเปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพในประชากรของประเทศที่ 12.9%

เชื้อชาติ

แก้
  • เยอรมัน 91.5%
  • ตุรกี 2.4%
  • อื่น ๆ 6.1% (ประกอบไปด้วยชาวกรีก อิตาลี โปแลนด์ รัสเซีย เซิร์บและโครแอต เป็นกลุ่มใหญ่)

ภาษา

แก้

ภาษาเยอรมันเป็นภาษาประจำชาติของเยอรมนี และยังเป็นหนึ่งใน 24 ภาษาทางการของสหภาพยุโรป และเป็นหนึ่งในสามภาษาของของคณะกรรมาธิการยุโรป ภาษาเยอรมันเป็นภาษาแรก ๆ ที่เริ่มพูดกันอย่างแพร่หลายในสหภาพยุโรป[122] โดยมีเจ้าของภาษาประมาณ 100 ล้านคน ภาษาอื่น ๆ ที่ใช้กันในเยอรมนี ได้แก่ ภาษาเดนมาร์ก ภาษาเรนนิช ภาษาเซอร์เบียน ภาษาโรมานี ภาษาฟริเซียนเหนือ และภาษาแซเทอร์ลันด์ฟรีเซียน ภาษาเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองโดยกฎบัตรยุโรปสำหรับภาษาในภูมิภาคหรือชนกลุ่มน้อยให้สามารถใช่ได้ในทวีปยุโรป นอกจากนี้ยังมีภาษาจากกลุ่มผู้อพยพที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ ตุรกี อาหรับ เคิร์ด โปแลนด์ ภาษาบอลข่าน และรัสเซีย โดยทั่วไปแล้ว ชาวเยอรมันสามารถพูดได้หลายภาษา: 67% ของพลเมืองเยอรมันอ้างว่าสามารถสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาษา และ 27% สามารถสื่อสารได้อย่างน้อยสองภาษา[123]

ศาสนา

แก้
 
อาสนวิหารโคโลญ โบสถ์คาทอลิกที่มีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก

การสำรวจสำมะโนประชากรของเยอรมันในปี 2011 แสดงให้เห็นว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี โดย 66.8% ระบุว่าตนเองเป็นคริสเตียน 31.7% ประกาศว่าตนเองเป็นโปรเตสแตนต์ รวมทั้งสมาชิกของคริสตจักรอีแวนเจลิคัลในเยอรมนี[124] (ซึ่งรวมถึงสหภาพลูเธอรัน) และคริสตจักรอิสระ (เยอรมัน: Evangelische Freikirchen); 31.2% ประกาศว่าตนเองเป็นชาวโรมันคาทอลิก และผู้นับถือออร์โธดอกซ์คิดเป็น 1.3% ตามข้อมูลจากปี 2016 คริสตจักรคาทอลิกและคริสตจักรอีแวนเจลิคัลอ้างว่ามีสมาชิก 28.5% และ 27.5% ตามลำดับ[125]

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ ในการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2011 1.9% ของประชากรสำมะโน (1.52 ล้านคน) นับถืออิสลาม ชาวมุสลิมส่วนใหญ่เป็นชาวซุนนีและอาเลวีจากตุรกี แต่มีชาวชีอะห์ อามาดิยาส และนิกายอื่น ๆ จำนวนน้อย ศาสนาอื่นมีประชากรน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของประชากรเยอรมนีทั้งหมด

วัฒนธรรม

แก้

วัฒนธรรมในเยอรมนีถูกกำหนดโดยกระแสทางปัญญาและกระแสนิยมในยุโรป ในอดีต เยอรมนีได้รับการขนานนามว่า Das Land der Dichter und Denker ('ดินแดนแห่งกวีและนักคิด') เนื่องจากบทบาทหลักที่นักเขียนและนักปรัชญาของเยอรมนีในการพัฒนาความคิดแบบตะวันตก ผลสำรวจความคิดเห็นทั่วโลกของ BBC เปิดเผยว่าวัฒนธรรมของเยอรมนีมีอิทธิพลเชิงบวกมากที่สุดในโลกในปี 2013 และ 2014[126] เยอรมนีเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องประเพณีเทศกาลพื้นบ้าน เช่น เทศกาลอ็อกโทเบอร์เฟสต์และเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งรวมถึงการประกวดการแต่งกายคริสต์มาส[127] ต้นคริสต์มาส เค้กสตอลเลน และงานรื่นเริงอื่น ๆ[128] ในปี 2016 ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนสถานที่รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ 41 รายการให้เป็นมรดกโลก วันหยุดนักขัตฤกษ์ในเยอรมนีโดยมากจะกำหนดโดยแต่ละรัฐ และทุกวันที่ 3 ตุลาคมจะถือเป็นวันชาติมาตั้งแต่ปี 1990 โดยมีการเฉลิมฉลองเป็น Tag der Deutschen Einheit[129] (German Unity Day)

วรรณกรรม

แก้

งานเขียนของชาวเยอรมันมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคกลาง[130] โดยมีนักเขียนที่มีความสามารถและสร้างผลงานออกมามากมาย งานวรรณกรรมมักเขียนด้วยภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลัก[131] และหลายเรื่องก็ถูกเขียนขึ้นโดยนักเขียนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีเชื้อสายเยอรมันได้แก่ ออสเตรีย และ สวิตเซอร์แลนด์ ในปัจจุบันวรรณกรรมเยอรมนียังคงยึดการใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก แต่ก็มีการใช้ภาษาท้องถิ่นบ้าง งานเขียนมักสะท้อนถึงประวัติศาสตร์ประเทศ การทำสงคราม ความบอบช้ำหลังการพ่ายแพ้สงครามโลก และความรักวัยรุ่น นิยายแนวเสียดสีสังคมมีให้เห็นบ้างในปัจจุบันแต่ไม่มากนัก

นักเขียนผู้มีอิทธิพลของศตวรรษที่ 20 ได้แก่ แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน, โทมัส มันน์, แฮร์มัน เฮ็สเซอ, ไฮน์ริช เบิล และ กึนเทอร์ กรัส ตลาดหนังสือในเยอรมนีใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่แฟรงก์เฟิร์ตมีความสำคัญที่สุดในโลกในแง่การค้าระหว่างประเทศ[132] โดยมีประเพณีที่ยาวนานกว่า 500 ปี[133] สัปดาห์หนังสือไลพ์ซิกก็ได้รับความนิยมเช่นกัน

สถาปัตยกรรม

แก้
 
โบสถ์แม่พระเดรสเดิน โบสถ์โปรเตสแตนต์ของนิกายลูเทอแรน เป็นสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

สถาปัตยกรรมของเยอรมนีได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมหลายชาติตั้งแต่ยุคโบราณ ผสมผสานเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง[134] ในศตวรรษที่ 13 ศิลปะสไตล์โกธิค และสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ มีบทบาทหลักในงานก่อสร้าง[135] แต่หลังจากการปฏิรูปนิกายโปรเตสแตนต์ ประเทศก็เริ่มได้รับอิทธิพลของศิลปะสไตล์ยุคเรเนสซองส์ ในศตวรรษที่ 17 เยอรมนีเริ่มมีการฟื้นฟูรูปแบบสถาปัตยกรรมในประเทศ โดยมีการประดับตกแต่งอาคารต่าง ๆ มากขึ้น เช่น วิหาร โบสถ์ ต่อมา ในศตวรรษที่ 18 ศิลปะสิ่งปลูกสร้างของอิตาลีและฝรั่งเศสในสไตล์โรโคโคมีบทบาทหลักในเยอรมนีก่อนจะลดลงตามลำดับในศตวรรษที่ 19 เมื่อลัทธินีโอคลาสสิคมีบทบาทในยุโรป[136]

ในปัจจุบัน รูปแบบสถาปัตยกรรมในเยอรมนีแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 และ 20 เมืองใหญ่ เช่น มิวนิกหรือเบอร์ลิน ได้พัฒนาจากเขตเทศบาลขนาดเล็กมากไปจนถึงเมืองใหญ่ระดับโลก ดังนั้นวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมเมืองของเยอรมนีจึงไม่ใช่แค่ในเมืองเท่านั้น แต่ยังถูกสร้างโดยเมืองขนาดกลาง เมืองเล็กในชนบท และหมู่บ้านขนาดใหญ่อีกด้วย

ดนตรี

แก้
 
ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน , คีตกวีผู้มีชื่อเสียง[137]

เยอรมนีมีนักดนตรี คีตกวี และนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงระดับสากลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน, โยฮัน เซบัสทีอัน บัค, โยฮันเนิส บรามส์, ริชชาร์ท วากเนอร์, จอร์จ ฟริดริก แฮนเดิล, โรแบร์ท ชูมัน, เฟลิคส์ เม็นเดิลส์โซน, คาร์ล ออร์ฟ เป็นต้น

ปัจจุบันเยอรมนีเป็นตลาดดนตรีที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของยุโรป และอันดับ 4 ของโลก[138] ดนตรีเยอรมันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง ศตวรรษที่ 20-21 อาทิเช่น วงสกอร์เปียนส์ กับ วงรัมสไตน์ วงเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันดีมากที่สุดในระดับโลก, โทคิโอโฮเทล เป็นวงป็อปร็อกที่มีชื่อเสียงวงหนึ่งในเยอรมัน เป็นต้น

อาหาร

แก้

อาหารเยอรมันแตกต่างจากพื้นที่สู่พื้นที่ เช่น ในภาคใต้ของบาวาเรีย และ ชวาเบิน ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการปรุงอาหารตามแบบสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย[139] หมูและไก่เป็นเนื้อสัตว์ที่นิยมบริโภค โดยหมูเป็นที่นิยมมากที่สุด และเนื้อวัวก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เยอรมนียังขึ้นชื่อในด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ในรูปของไส้กรอก และแฮม ไส้กรอกเยอรมันเป็นหนึ่งในอาหารประจำชาติที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยเยอรมนีผลิตไส้กรอกมากกว่า 1500 ชนิด[140] อาหารอินทรีย์ได้รับส่วนแบ่งตลาดประมาณ 3.0% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก

 
Schwarzwälder Kirschtorte เค้กแบล็คฟอเรสต์เป็นอาหารว่างที่ขึ้นชื่อของเยอรมนี[141]
 
ไส้กรอกเยอรมัน หนึ่งในอาหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของประเทศเยอรมนี

ชาวเยอรมันมีคำพูดติดปากที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารว่า: "รับประทานอาหารเช้าเช่นจักรพรรดิ กลางวันเช่นกษัตริย์ และอาหารเย็นเหมือนขอทาน" อาหารเช้ามักประกอบด้วยขนมปังก้อนเล็ก[142] (Brötchen)[143] ทาแยมหรือน้ำผึ้ง หรือทานกับเนื้อเย็นและชีส บางครั้งมีไข่ต้ม ธัญพืชหรือ Muesli กับนมหรือโยเกิร์ต กว่า 300 ชนิดของขนมปังมีจำหน่ายในร้านเบเกอรี่ทั่วประเทศ ผู้อพยพจากหลายประเทศได้นำอาหารนานาชาติมาเผยแพร่จนทำให้เกิดความนิยมอาหารต่างชาติ เช่นอาหารอิตาเลียนพิซซาและพาสตา อาหารตุรกีและอาหรับได้แก่ Döner และ Falafel โดยเฉพาะในเมืองใหญ่นอกจากร้านอาหารพื้นเมืองแล้ว ยังมีร้านอาหารนานาชาติแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารจีน กรีก อินเดีย ไทย ญี่ปุ่นและอื่น ๆ

แม้ว่าไวน์จะเป็นที่นิยมในหลายประเทศ แต่ประเทศเยอรมนีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประจำชาติคือเบียร์[144] แม้คนเยอรมันจะบริโภคเบียร์ต่อคนจะลดลง แต่ปริมาณการบริโภคเบียร์ 127 ลิตรต่อปีต่อคนในเยอรมนีก็ยังคงเป็นตัวเลขสูงที่สุดในโลก[145] ชนิดของเบียร์ในเยอรมนีได้แก่ Alt, Bock, Dunkel, Kölsch, เลเกอร์, Malzbier, Pils และ Weizenbier นอกจากนี้ น้ำแร่อัดลม และ Schorle (ผสมกับน้ำผลไม้) ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน

เทศกาลสำคัญ

แก้
 
สตรีชาวเยอรมันแต่งกายในชุด Dirndl ชุดสตรีดั้งเดิมของรัฐบาวาเรียขณะนำเบียร์ Hacker-Pschorr Brewery มาเสริ์ฟในเทศกาล อ็อกโทเบอร์เฟสต์

เทศกาลประจำปีที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้แก่ อ็อกโทเบอร์เฟสต์ (Oktoberfest) ณ เมืองมิวนิก โดยจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยชาวเยอรมันและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกจะมาร่วมเฉลิมฉลองด้วยการดื่มเบียร์และอาหารเมนูชั้นนำ[146] เช่น ขาหมู หมูย่าง และไส้กรอก และมีการเต้นรำด้วยความสนุกสนาน

เทศกาลอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงเช่น[147] เทศกาลคาร์นิวาล กรุงเบอร์ลิน[148] โดยจะปิดถนนกลางเมืองเพื่อเปิดโอกาสให้ขบวนพาเหรดที่ชื่อ “Karneval der Kulturen” ได้อวดความสวยงามของการแต่งกายแฟนซีสีสันฉูดฉาดเดินขบวนตามท้องถนน และเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจัดขบวนพาเหรดมาร่วมขบวนด้วย และยังมีเทศกาลวันพ่อของเยอรมนี จัดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม[149] จะเห็นผู้ชายในแต่ละเมืองแต่งตัวแปลก ๆ นำเบียร์ไปดื่มฉลองกันในสวนสาธารณะและมักจะดื่มกันจนเมาไม่ได้สติ นอกจากจะเป็นวันพ่อแล้ว ในภาษาเยอรมันคำว่า Mannertag หรือ Herrentag ยังมีความหมายว่า “วันของผู้ชาย” อีกด้วย เทศกาลนี้จึงเป็นโอกาสให้ชายชาวเยอรมันแสดงออกถึงสัญชาติญาณในตัวเองและปลดปล่อยความเครียดจากการทำงานอย่างเต็มที่

วันหยุด

แก้

สื่อและวงการบันเทิง

แก้
 
สตูดิโอ Babelsberg ใน พ็อทซ์ดัม ถือเป็นสตูดิโอภาพยนตร์ขนาดใหญ่แห่งแรกในโลก

ตลาดโทรทัศน์ของเยอรมนีเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป[150] โดยมีการรับชมโทรทัศน์ประมาณ 38 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนในเยอรมนีประมาณ 90% มีเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมพร้อมช่องสาธารณะและช่องเชิงพาณิชย์ที่เปิดให้ชมฟรีมากมาย มีสถานีวิทยุของรัฐและเอกชนมากกว่า 300 แห่ง เครือข่ายวิทยุแห่งชาติคือ Deutschlandradio และ Deutsche Welle ตลาดหนังสือพิมพ์และนิตยสารของเยอรมนีใหญ่ที่สุดในยุโรป นิตยสารที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ ADAC Motorwelt[151] และ Der Spiegel[152] เยอรมนีมีตลาดวิดีโอเกมขนาดใหญ่[153] มีผู้เล่นมากกว่า 34 ล้านคนทั่วประเทศ ทำยอดขายรวมทั่วประเทศได้มากกว่า 8.5 ล้านยูโรในปี 2020[154][155]

วงการภาพยนตร์ของเยอรมนีมีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ยุโรป[156] เช่นเดียวกับฝรั่งเศสและอิตาลี ผลงานแรกของพี่น้อง Skladanowsky ถูกแสดงในปี 1895 สตูดิโอ Babelsberg ที่มีชื่อเสียงใน พ็อทซ์ดัม ก่อตั้งขึ้นในปี 1912 เป็นสตูดิโอภาพยนตร์ขนาดใหญ่แห่งแรกในโลก[157] ผู้กำกับ Fritz Lang's ได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Metropolis (1927) ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่องใหญ่เรื่องแรก[158]

ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่ได้รับรางวัลสำคัญได้แก่ ดีเบลชทรอมเมิล - The Tin Drum (Die Blechtrommel)[159][160] ได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปี 1979[161] ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ได้รางวัลในสาขานี้ได้แก่ Nowhere in Africa (Nirgendwo in Afrika) ในปี 2002 และ The Lives of Others (Das Leben der) Anderen) ในปี 2007 พิธีมอบรางวัล European Film Awards ประจำปีจัดขึ้นทุก ๆ ปีในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ European Film Academy เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน หรือที่รู้จักในชื่อ "Berlinale" ซึ่งมอบรางวัล "หมีทองคำ" ให้แก่ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 1951 เป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ชั้นนำของโลก[162][163][164]

กีฬา

แก้
 
ฟุตบอลทีมชาติเยอรมนีชนะเลิศฟุตบอลโลก 2014

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่คนเยอรมันนิยมมากที่สุด[165][166] สมาคมฟุตบอลเยอรมันถือเป็นองค์กรด้านกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก[167] เยอรมนีมีลีกการแข่งขันบุนเดิสลีกาที่ได้รับความนิยมสูง โดยมียอดผู้ชมสูงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ทีมชาติชุดใหญ่ของเยอรมนี (Deutsche Fußballnationalmannschaft) ประสบความสำเร็จสูงในการแข่งขันนานาชาติ[168] โดยชนะเลิศฟุตบอลโลก 4 สมัย,[169] ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 3 สมัย และฟีฟ่าคอนเฟเดอเรชันส์คัพ 1 สมัย เยอรมนียังเป็นหนึ่งในสองชาติที่ชนะเลิศฟุตบอลโลกทั้งทีมชายและทีมหญิง

เยอรมนียังเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านกีฬาท้าความเร็วชั้นนำของโลก ผู้ผลิตชื่อดังอย่างบีเอ็มดับเบิลยู และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เป็นผู้ผลิตที่โดดเด่นในวงการมอเตอร์สปอร์ต และยังมีรถแข่งจากพอร์เชอซึ่งเป็นตัวแทนรถในการชนะการแข่งขัน 24 ชั่วโมง เลอม็อง 19 ครั้ง[170] และรถของอาวดี้ ชนะอีก 13 ครั้ง มิชชาเอล ชูมัคเคอร์ นักแข่งรถอาชีพได้สร้างสถิติมอเตอร์สปอร์ตมากมายในอาชีพของเขา โดยชนะการแข่งขัน Formula One World Drivers' Championships ถึง 7 สมัย[171] นอกจากนี้ยังมี เซบัสทีอัน เฟ็ทเทิล ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกของนักแข่งฟอร์มูลาวันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล[172] กีฬาอื่น ๆ ที่เป็นที่นิยมได้แก่[173] ขี่ม้า ปั่นจักรยาน ปีนเขา กอล์ฟ สกี และ เทนนิส โดยมีนักเทนนิสระดับโลกมากมาย เช่น สเตฟฟี่ กราฟ เจ้าของตำแหน่งชนะเลิศแกรนด์สแลม 22 สมัย และทำสถิติครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกยาวนานที่สุด,[174] บอริส เบกเคอร์ ผู้ชนะเลิศแกรนด์สแลม 6 สมัย, ฟิลิปป์ โคห์ลชไรเบอร์, ทอมมี แฮส และมีสองนักเทนนิสที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันได้แก่ อันเจลีค แคร์เบอร์[175] และ อเล็คซันเดอร์ ซเฟเร็ฟ[176]

เยอรมนีเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก โดยมีจำนวนเหรียญรางวัลรวมมากที่สุดเป็นอันดับสามตลอดกาล[177] (นับรวมทั้งเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตก) เยอรมนียังเป็นประเทศล่าสุดที่ได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนและโอลิมปิกฤดูหนาวภายในปีเดียวกัน (1936)[178] และเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งล่าสุดในปี1972 จัดขึ้นที่นครมิวนิก[179]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ตั้งแต่ ค.ศ. 1952 ถึง 1990 "ดัสลีทแดร์ด็อยท์เชิน"ทั้งหมดเคยเป็นเพลงชาติ แต่จะร้องบทที่ 3 ในโอกาสพิเศษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1991 เฉพาะบทที่ 3 เท่านั้นที่เป็นเพลงชาติ[1]
  2. เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงเพียงแห่งเดียวตามรัฐธรรมนูญและเป็นที่ตั้งรัฐบาล โดยนิตินัย แต่เดิมเมืองหลวงชั่วคราวของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีคือบ็อน ซึ่งมีสถานะพิเศษเป็น "เมืองสหพันธ์" (Bundesstadt) และเป็นที่ตั้งหลักของกระทรวงหกแห่ง กระทรวงทุกแห่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองทั้งสองแห่ง[2]
  3. ภาษาเดนมาร์ก, เยอรมันต่ำ, ซอร์เบีย, โรมานี และฟรีเชียถือเป็นภาษาประจำภูมิภาคหรือภาษาชนกลุ่มน้อย[3]
  4. The Bundesrat is sometimes referred to as a upper chamber of the German legislature. This is technically incorrect, since the German Constitution defines the Bundestag and Bundesrat as two separate legislative institutions. Hence, the federal legislature of Germany consists of two unicameral legislative institutions, not one bicameral parliament.
  5. สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีถูกรวมไปในเขตครอบครองของอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศสในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ส่วนสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนีถูกก่อตั้งในเขตยึดครองของโซเวียตในวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1949
  6. อังกฤษ: Federal Republic of Germany; เยอรมัน: Bundesrepublik Deutschland, [ˈbʊndəsʁepuˌbliːk ˈdɔʏtʃlant] (  ฟังเสียง)[10]

อ้างอิง

แก้
  1. Bundespräsidialamt. "Repräsentation und Integration" (ภาษาเยอรมัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 March 2016. สืบค้นเมื่อ 8 March 2016.
  2. "The German Federal Government". deutschland.de. 23 January 2018. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 April 2020.
  3. Gesley, Jenny (26 September 2018). "The Protection of Minority and Regional Languages in Germany". Library of Congress. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 May 2020.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Germany". CIA World Factbook. Central Intelligence Agency. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-11. สืบค้นเมื่อ 30 August 2014. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  5. "Surface water and surface water change". Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2021. สืบค้นเมื่อ 11 October 2020.
  6. "Bevölkerung nach Geschlecht und Staatsangehörigkeit". Destatis. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 August 2019. สืบค้นเมื่อ 15 July 2018.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "World Economic Outlook database: April 2021". International Monetary Fund. April 2021. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 April 2021. สืบค้นเมื่อ 12 April 2021.
  8. "Gini coefficient of equivalised disposable income". Eurostat. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 October 2020. สืบค้นเมื่อ 21 June 2022.
  9. "Human Development Report 2020". United Nations Development Programme. 15 December 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 December 2020. สืบค้นเมื่อ 15 December 2020.
  10. Mangold, Max, บ.ก. (2005). Duden, Aussprachewörterbuch (ภาษาเยอรมัน) (6th ed.). Dudenverlag. pp. 271, 53f. ISBN 978-3-411-04066-7.
  11. "Germany Population (2021) - Worldometer". www.worldometers.info (ภาษาอังกฤษ).
  12. "Total population of the EU member states in 2019 and 2050". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  13. "Population of Europe 2021, by country". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  14. "Population of Cities in Germany (2021)". worldpopulationreview.com.
  15. "Frankfurt. The financial centre of the continent". www.gcb.de (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-10. สืบค้นเมื่อ 2021-09-10. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  16. "History of Germany". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  17. "German History - History of Germany – German Culture". germanculture.com.ua.
  18. "History of Germany". www.german-way.com.
  19. "Short History of Germany - Nations Online Project". www.nationsonline.org.
  20. giz. "Germany´s role in the world". www.giz.de (ภาษาอังกฤษ).
  21. "Germany and the New Global Order: The Country's Power Resources Reassessed". E-International Relations (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2019-09-22.
  22. Entwicklungspolitik, Deutsches Institut für. "The implementation of the G7 and G20 gender equality goals in Germany". www.die-gdi.de (ภาษาเยอรมัน).
  23. giz. "Shaping multilateral development policy and positioning German development policy concerns in the G7 and G20". www.giz.de (ภาษาอังกฤษ).
  24. "Germany country profile". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-06-25.
  25. "GDP (current US$) - Germany | Data". data.worldbank.org.
  26. https://wits.worldbank.org/CountryProfile/en/Country/WLD/Year/2012/TradeFlow/Export
  27. Team, Study eu. "Study in Germany for free: What you need to know". www.study.eu (ภาษาอังกฤษ).
  28. Schulze, Hagen (1998). Germany : a new history. Internet Archive. Cambridge, Mass. : Harvard University Press. ISBN 978-0-674-80688-7.
  29. Wagner, G. A; Krbetschek, M; Degering, D; Bahain, J.-J; Shao, Q; Falgueres, C; Voinchet, P; Dolo, J.-M; Garcia, T; Rightmire, G. P (27 August 2010). "Radiometric dating of the type-site for Homo heidelbergensis at Mauer, Germany". PNAS. 107 (46): 19726–19730. Bibcode:2010PNAS..10719726W. doi:10.1073/pnas.1012722107. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2015. สืบค้นเมื่อ 27 August 2010.
  30. "World's Oldest Spears". archive.archaeology.org. 3 May 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 February 2013. สืบค้นเมื่อ 27 August 2010.
  31. "Earliest music instruments found". BBC. 25 May 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2017. สืบค้นเมื่อ 25 May 2012.
  32. "Ice Age Lion Man is world's earliest figurative sculpture". The Art Newspaper. 31 January 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 February 2015. สืบค้นเมื่อ 31 January 2013.
  33. Claster, Jill N. (1982). Medieval Experience: 300–1400. New York University Press. p. 35. ISBN 0-8147-1381-5.
  34. Bowman, Alan K.; Garnsey, Peter; Cameron, Averil (2005). The crisis of empire, A.D. 193–337. The Cambridge Ancient History. Vol. 12. Cambridge University Press. p. 442. ISBN 0-521-30199-8.
  35. Fulbrook 1991, p. 11.
  36. "Nazi Germany". Sky HISTORY TV channel (ภาษาอังกฤษ).
  37. "Nazism | Definition, Leaders, Ideology, & History". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  38. maw/dpa (11 March 2008). "New Study Finds More Stasi Spooks". Der Spiegel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 November 2012. สืบค้นเมื่อ 30 October 2011.
  39. "Germany". U.S. Department of State. 10 November 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2011. สืบค้นเมื่อ 26 March 2011.
  40. "The Berlin Wall". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2017. สืบค้นเมื่อ 8 February 2017.
  41. Lemke, Christiane (2010). "Germany's EU Policy: The Domestic Discourse". German Studies Review. 33 (3): 503–516. JSTOR 20787989.
  42. Research, CNN Editorial. "Eurozone Fast Facts". CNN.
  43. Dempsey, Judy (2006-10-31). "Germany is planning a Bosnia withdrawal - Europe - International Herald Tribune". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.
  44. "Germany agrees on 50-billion-euro stimulus plan - FRANCE 24". web.archive.org. 2011-05-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  45. "Regierungserklärung von Kanzlerin Merkel: Große Versprechen, scharfe Kritik | tagesschau.de". web.archive.org. 2015-01-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  46. Image #432, Flying Camera Satellite Images 1999 เก็บถาวร 2015-10-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Lloyd Reeds Map Collection, McMaster University Library.
  47. 0eo;ogrnjvo[hko
  48. "Average monthly temperature 2020/2021 Germany". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  49. "Monthly sunshine hours Germany 2020/2021". Statista (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-03-23. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  50. "Wetterrekorde Deutschland". Wetterdienst.de (ภาษาเยอรมัน).
  51. "Wetterrekorde Deutschland". Wetterdienst.de (ภาษาเยอรมัน).
  52. Strohm, Kathrin (May 2010). "Arable farming in Germany" (PDF). Agri benchmark. สืบค้นเมื่อ 14 April 2011.
  53. Bekker, Henk (2005). Adventure Guide Germany. Hunter. p. 14. ISBN 978-1-58843-503-3.
  54. Marcel Cleene; Marie Claire Lejeune (2002). Compendium of Symbolic and Ritual Plants in Europe: Herbs. Man & Culture. The Cornflower was once the floral emblem of Germany (hence the German common name Kaiserblume).
  55. "BfN: Biosphere Reserves". www.bfn.de (ภาษาอังกฤษ).
  56. "Zoofacts". web.archive.org. 2003-10-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-10-07. สืบค้นเมื่อ 2021-10-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  57. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-01. สืบค้นเมื่อ 2021-10-17. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  58. "Gebiet und Bevölkerung – Fläche und Bevölkerung" (ภาษาเยอรมัน). Statistisches Bundesamt und statistische Landesämter. December 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 July 2017. สืบค้นเมื่อ 3 August 2017.
  59. 59.0 59.1 "Gross domestic product – at current prices – 1991 to 2015" (ภาษาอังกฤษ). Statistische Ämter des Bundes und der Länder. 5 November 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 November 2016. สืบค้นเมื่อ 6 July 2016.
  60. "Bundesverfassungsgericht - Homepage". www.bundesverfassungsgericht.de.
  61. christoph. "» The Federal Constitutional Court: an Introduction German Law Archive" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-20. สืบค้นเมื่อ 2021-10-17.
  62. Welle (www.dw.com), Deutsche. "Germany's crime rate fell to lowest level in decades in 2018 | DW | 02.04.2019". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  63. Amt, Auswärtiges. "The German Missions Abroad". German Federal Foreign Office (ภาษาอังกฤษ).
  64. Amt, Auswärtiges. "The Embassies". German Federal Foreign Office (ภาษาอังกฤษ).
  65. Freed, John C. (2008-04-04). "The leader of Europe? Answers an ocean apart". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-09-19.
  66. "Declaration by the Franco-German Defence and Security Council, Paris 13.05.2004 - France in the United Kingdom - La France au Royaume-Uni". web.archive.org. 2014-03-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-19. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  67. "U.S. Relations With Germany". United States Department of State (ภาษาอังกฤษ).
  68. Welle (www.dw.com), Deutsche. "UK supports Germany's UN Security Council ambitions | DW | 30.06.2021". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  69. Amt, Auswärtiges. "Over 100 resolutions later: A look back over two years in the UN Security Council". bruessel-eu.diplo.de (ภาษาอังกฤษ).
  70. "The 15 countries with the highest military expenditure in 2011". Stockholm International Peace Research Institute. September 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 May 2012. สืบค้นเมื่อ 7 April 2012.
  71. "Germany to increase defence spending". IHS Jane's 360. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 July 2015. สืบค้นเมื่อ 20 January 2016.
  72. "Die Stärke der Streitkräfte" (ภาษาเยอรมัน). บุนเดิสแวร์. 10 December 2015. สืบค้นเมื่อ 2 January 2016.
  73. "Ausblick: Die Bundeswehr der Zukunft" (ภาษาเยอรมัน). บุนเดิสแวร์. สืบค้นเมื่อ 5 June 2011.
  74. "Frauen in der Bundeswehr" (ภาษาเยอรมัน). บุนเดิสแวร์. สืบค้นเมื่อ 14 April 2011.
  75. "Trends in International Arms Transfer, 2014". www.sipri.org. Stockholm International Peace Research Institute. สืบค้นเมื่อ 18 March 2015.
  76. "Grundgesetz für die Bundesrepublik Deutschland, Artikel 65a,87,115b" (PDF) (ภาษาเยอรมัน). Bundesministerium der Justiz. สืบค้นเมื่อ 19 March 2011.
  77. "Einsatzzahlen – Die Stärke der deutschen Einsatzkontingente" (ภาษาเยอรมัน). บุนเดิสแวร์. สืบค้นเมื่อ 11 January 2015.
  78. Connolly, Kate (22 November 2010). "Germany to abolish compulsory military service". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 7 April 2011.
  79. Pidd, Helen (16 March 2011). "Marching orders for conscription in Germany, but what will take its place?". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 7 April 2011.
  80. Anonymous (2016-07-05). "The European single market". Internal Market, Industry, Entrepreneurship and SMEs - European Commission (ภาษาอังกฤษ).
  81. "Monetary policy". www.bundesbank.de (ภาษาอังกฤษ).
  82. "Research in Germany". DAAD Office New York (ภาษาอังกฤษ). 2016-04-12.
  83. DZHW (2021-09-26). "About the DZHW, Hochschul-IT, Hochschulforschung, Hochschulentwicklung". www.dzhw.eu (ภาษาเยอรมัน).
  84. "Study and research in Germany". www.daad.de (ภาษาอังกฤษ).
  85. "Arquivo.pt" (PDF). arquivo.pt. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-05-14. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  86. "The countries leading the world in scientific research". World Economic Forum (ภาษาอังกฤษ).
  87. "Countries ranked by International tourism, number of arrivals". www.indexmundi.com.
  88. Welle (www.dw.com), Deutsche. "More tourists in Germany than ever in 2018 | DW | 05.03.2019". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  89. https://www.bmwi.de/Redaktion/EN/Publikationen/wirtschaftsfaktor-tourismus-in-deutschland-lang.pdf?__blob=publicationFile&v=3
  90. Welle (www.dw.com), Deutsche. "Germany's most visited landmarks | DW | 28.07.2016". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  91. "Europa Park Rust attendance 2019". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  92. "Assessment of strategic plans and policy measures on Investment and Maintenance in Transport Infrastructure" (PDF). International Transport Forum. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 July 2014. สืบค้นเมื่อ 15 March 2014. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  93. "Road density (km of road per 100 sq. km of land area)". World Bank. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2015. สืบค้นเมื่อ 7 July 2014.
  94. "Autobahn-Temporegelung" (Press release) (ภาษาเยอรมัน). ADAC. June 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-01. สืบค้นเมื่อ 19 March 2011.
  95. "Geschäftsbericht 2006" (ภาษาเยอรมัน). ด็อยท์เชอบาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 August 2007. สืบค้นเมื่อ 27 March 2011.
  96. "German Railway Financing" (PDF). p. 2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-10.
  97. "Airports in Germany". Air Broker Center International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-27. สืบค้นเมื่อ 16 April 2011. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  98. "Top World Container Ports". Port of Hamburg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-05. สืบค้นเมื่อ 6 May 2015. {{cite web}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  99. "International - U.S. Energy Information Administration (EIA)". www.eia.gov.
  100. "Germany split over green energy" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2005-02-25. สืบค้นเมื่อ 2021-10-11.
  101. "Renewables supplied 40 percent of net public power in Germany in 2018". Clean Energy Wire (ภาษาอังกฤษ). 2019-01-02.
  102. https://www.cbd.int/financial/2017docs/germany-commitment2016.pdf
  103. https://www.nytimes.com/2019/11/15/world/europe/germany-climate-law.html
  104. "Germany is the world's leading nation for recycling - Climate Action". www.climateaction.org.
  105. "EU: GHG emissions per capita". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  106. "Education System in Germany - Overview of the German School System". Study in Germany for Free (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2013-01-08.
  107. "Germany's school system". www.make-it-in-germany.com (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  108. "Education in Germany". WENR (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-01-28.
  109. "Germany Overview". NCEE (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-25. สืบค้นเมื่อ 2021-06-25. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  110. "ระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในเยอรมนี". www.hotcourses.in.th.
  111. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-11-23. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  112. "Health expenditure, total (% of GDP)". data.worldbank.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-31.
  113. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-01-06. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  114. "Overweight and obesity - BMI statistics". ec.europa.eu (ภาษาอังกฤษ).
  115. "Germany | Facts, Geography, Maps, & History". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  116. "The Welfare System in Germany". Policy in Practice (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-04-14.
  117. "European Welfare States - Information and Resources". www.pitt.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-28. สืบค้นเมื่อ 2021-06-25.
  118. "Population, total - Germany | Data". data.worldbank.org.
  119. Alex Webb (May 20, 2014). "Germany Top Migration Land After U.S. in New OECD Ranking". www.bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ).
  120. "Pressemitteilungen - Bevölkerung mit Migrationshintergrund um 8.5 % gestiegen - Statistisches Bundesamt (Destatis)". destatis.de. 2017-08-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-29. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  121. https://www.un.org/en/development/desa/population/migration/publications/migrationreport/docs/MigrationReport2015_Highlights.pdf
  122. "Press corner". European Commission - European Commission (ภาษาอังกฤษ).
  123. "We speak German". deutschland.de (ภาษาอังกฤษ). 2018-02-20.
  124. "Startseite www.ekd.de". www.ekd.de (ภาษาเยอรมัน).
  125. https://web.archive.org/web/20171010074912/http://www.dbk.de/fileadmin/redaktion/diverse_downloads/presse_2017/2017-121a-Flyer-Eckdaten-Kirchenstatistik-2016.pdf
  126. "DER SPIEGEL | Online-Nachrichten". www.spiegel.de.
  127. "Christmas". www.german-way.com.
  128. "BBC poll: Germany most popular country in the world". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2013-05-23. สืบค้นเมื่อ 2021-09-08.
  129. "Home". Tag der Deutschen Einheit 2021 (ภาษาเยอรมัน).
  130. "German literature". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  131. "A History of German Literature: From the Beginnings to the Present Day". Routledge & CRC Press (ภาษาอังกฤษ).
  132. "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. 2016-07-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-07-11. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  133. Weidhaas, Peter (2007). A history of the Frankfurt Book Fair. Internet Archive. Toronto : Dundurn. ISBN 978-1-55002-744-0.
  134. "Germany - Architecture". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  135. "Architecture in Germany – German Culture". germanculture.com.ua.
  136. Planet, Lonely. "Art and architecture in Germany". www.bbc.com (ภาษาอังกฤษ).
  137. "Ludwig van Beethoven | Biography, Music, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  138. "Statistic Trends 2013" (PDF) (ภาษาอังกฤษ).
  139. "German Food". expatrio.com (ภาษาอังกฤษ).
  140. "German Sausages". www.meatsandsausages.com.
  141. "Schwarzwälder Kirschtorte - super easy von alina1st | Chefkoch". Chefkoch.de (ภาษาเยอรมัน).
  142. "Guide to German Breads and Cereals - Germanfoods.org" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  143. "Bread for the World". www.brot-fuer-die-welt.de (ภาษาอังกฤษ).
  144. "German Beer - Country - Browse". www.beermerchants.com.
  145. "A Brief History of German Beer - Germanfoods.org" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  146. "Oktoberfest | Definition, History, Traditions, & Facts". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  147. "เที่ยว งานเทศกาลประจำปีของชาวเยอรมัน - We R World Tour". We-rworldtour (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-04-08.
  148. "Carnival of Cultures". berlin.de (ภาษาอังกฤษ).
  149. "Father's Day in Germany". www.timeanddate.com (ภาษาอังกฤษ).
  150. "Presse und Mitteilungen | Astra". de.astra.ses. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26. {{cite web}}: ระบุ |accessdate= และ |access-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  151. "ADAC Motorwelt". www.adac.de (ภาษาเยอรมัน).
  152. Germany, DER SPIEGEL, Hamburg. "DER SPIEGEL | Online-Nachrichten". www.spiegel.de (ภาษาเยอรมัน).
  153. "game – German Games Industry Association". game (ภาษาอังกฤษ).
  154. "German consumers spent €4.4bn on video games in 2018". GamesIndustry.biz (ภาษาอังกฤษ).
  155. Welle (www.dw.com), Deutsche. "German video games and the international market | DW | 25.08.2021". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  156. Philpott, Don (2016). The World of Wine and Food: A Guide to Varieties, Tastes, History, and Pairings. Rowman & Littlefield. p. 344.
  157. Brockmann, Stephen (2010). A critical history of German film. Library Genesis. Rochester, NY : Camden House. ISBN 978-1-57113-468-4.
  158. Reimer, Robert; Reimer, Carol (2019). Historical Dictionary of German Cinema. Rowman & Littlefield. p. 331
  159. "The Tin Drum | film by Schlöndorff [1979]". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  160. Welle (www.dw.com), Deutsche. "Germany's first Oscar-winning feature film: 'The Tin Drum' returns | DW | 31.08.2020". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  161. THE TIN DRUM, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-21, สืบค้นเมื่อ 2021-09-26 {{citation}}: ระบุ |archivedate= และ |archive-date= มากกว่าหนึ่งรายการ (help); ระบุ |archiveurl= และ |archive-url= มากกว่าหนึ่งรายการ (help)
  162. "Berlin International Film Festival". AP NEWS (ภาษาอังกฤษ).
  163. "Berlin International Film Festival | German film festival". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  164. "| Berlinale |". www.berlinale.de (ภาษาอังกฤษ).
  165. neoprimesport. "Top 5 most popular Sports in Germany Till Now | Neo Prime Sport" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  166. "Top 10 Sports in Germany: Most Popular German Sports 2021 Edition" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-12-27.
  167. Welle (www.dw.com), Deutsche. "DFB: presidential candidate Fritz Keller promises 'no more one-man show' | DW | 21.08.2019". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  168. "National Teams :: DFB - Deutscher Fußball-Bund e.V." www.dfb.de.
  169. Welle (www.dw.com), Deutsche. "2014 World Cup final: As it happened | DW | 13.07.2014". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  170. "Porsche to make Le Mans 24 Hours return in 2023". Autocar (ภาษาอังกฤษ).
  171. "Formula one: What we'll miss about Michael Schumacher". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 2006-10-22.
  172. "Vettel makes Formula One history with eighth successive victory". independent (ภาษาอังกฤษ).
  173. "German Sport". expatrio.com (ภาษาอังกฤษ).
  174. "The day Steffi Graf became world No 1 for the first time". Tennis Majors (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-08-17.
  175. "Angelique Kerber | Player Stats & More – WTA Official". Women's Tennis Association (ภาษาอังกฤษ).
  176. "Alexander Zverev | Overview | ATP Tour | Tennis". ATP Tour.
  177. "Summer Olympics: all-time medal list by country and color 1896-2020". Statista (ภาษาอังกฤษ).
  178. IOC (2018-04-25). "Berlin 1936 Summer Olympics - Athletes, Medals & Results". Olympics.com (ภาษาอังกฤษ).
  179. IOC (2018-04-24). "Munich 1972 Summer Olympics - Athletes, Medals & Results". Olympics.com (ภาษาอังกฤษ).

ข้อมูล

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้