ลัทธิคอมมิวนิสต์

อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ลัทธิคอมมิวนิสต์ (อังกฤษ: communism; communis แปลว่า "ร่วมกัน" หรือ "สากล")[1][2] เป็นอุดมการณ์และการเคลื่อนไหวทางปรัชญา สังคม การเมือง และเศรษฐกิจซึ่งมีเป้าหมายในการก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ ที่กล่าวคือ ระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีลักษณะตามแนวคิดเรื่องของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สิน และปราศจากชนชั้นทางสังคม เงิน และรัฐ ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบสังคมนิยมที่เฉพาะเจาะจงแต่มีความชัดเจน คอมมิวนิสต์นั้นเห็นด้วยกับความร่วงโรยของรัฐ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเพื่อเป็นการยุติครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวทางของคอมมิวนิเซชั่น (Communization) ไปในทางอิสรนิยมมากขึ้น ลักษณะการเกิดขึ้นเองของการปฏิวัติ (Revolutionary spontaneity) และการจัดการตนเองของแรงงาน (Workers' self-management) และแนวทางที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้นำทางสังคม (Vanguardist) หรือพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้นผ่านทางการพัฒนารัฐธรรมนูญแห่งรัฐสังคมนิยม[3]

ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้มีการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ รวมทั้งลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ และสำนักคิดต่าง ๆ ของลัทธิมากซ์ (Marxist schools of thought) ลัทธิคอมมิวนิสต์ประกอบไปด้วยความหลากหลายของโรงเรียนแห่งความคิดซึ่งรวมถึงลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม เช่นเดียวกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกจัดกลุ่มเหมือน ๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ว่า ระเบียบทางสังคมในปัจจุบันที่เกิดมาจากระบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจ และวิถีการผลิต ที่กล่าวคือ ในระบบนี้มีอยู่สองชนชั้นทางสังคมที่มีความสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างสองชนชั้นนี้คือ การแสวงหาผลประโยชน์และสถานการณ์นี้สามารถแก้ไขได้ในที่สุดโดยผ่านทางการปฏิวัติทางสังคม ทั้งสองชนชั้นทางสังคม ได้แก่ ชนกรรมาชีพ (ชนชั้นแรงงาน) ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนใหญ่ของประชากรภายในสังคมและต้องทำงานเพื่อความอยู่รอด และชนกระฎุมพี (ชนชั้นนายทุน) เป็นคนกลุ่มน้อยขนาดเล็กที่ได้รับผลกำไรจากการจ้างชนชั้นแรงงานผ่านการเป็นเจ้าของส่วนบุคคลของวิถีการผลิต ตามการวิเคราะห์นี้ การปฏิวัติจะทำให้ชนชั้นแรงงานขึ้นมามีอำนาจและในทางกลับกัน การสร้างกรรมสิทธื์ในทรัพย์สินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีต่อวิถีการผลิตของคอมมิวนิสต์

ในศตวรรษที่ 20 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ได้สนับสนุนลัทธิมากซ์–เลนินและรูปแบบต่าง ๆ เข้ามามีอำนาจในส่วนหนึ่งของโลก ครั้งแรกในสหภาพโซเวียตด้วยการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 และต่อมาในส่วนหนึ่งของยุโรปตะวันออก เอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ไม่กี่แห่งภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง นอกเหนือจากระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นแนวโน้มทางการเมืองที่ครอบงำภายในขบวนการสังคมนิยมระหว่างประเทศ ค.ศ. 1920 การวิพากษ์วิจารณ์ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์สามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ กล่าวคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการปฏิบัติของรัฐคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการและทฤษฎีคอมมิวนิสต์ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคน รวมทั้งนักวิชาการคนอื่น ๆ ได้จัดวางแบบจำลองโซเวียตซึ่งอยู่ภายใต้ในนามของรัฐคอมมิวนิสต์เหล่านี้ได้ดำเนินปฏิบัติอยู่นั้นไม่ใช่แบบจำลองเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงตามคำจำกัดความที่มีการยอมรับมากที่สุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ว่าเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือรูปแบบของระบบทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) หรือระบบควบคุมบริหารที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้

ประวัติศาสตร์

แก้

คอมมิวนิสต์ช่วงต้น

แก้

จุดกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ยังคงเป็นที่ถกเถียง มีกลุ่มบุคคลและนักทฤษฎีในประวัติศาสตร์หลากหลายกลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับนักปรัชญาชาวเยอรมัน คาร์ล มากซ์ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิคอมมิวนิสต์คือสังคมมนุษย์ในสมัยโบราณที่ส่วนมากจะเป็นนักล่า-เก็บของป่าเรียกว่า "สังคมคอมมิวนิสต์โบราณ" (primitive communism) จนกระทั่งต่อมาเมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Economic surplus) ขึ้นมา จึงเกิดระบบความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ส่วนบุคคลขึ้น และไม่แบ่งปันทรัพย์สินหรือสิ่งของใด ๆ กับผู้อื่นให้ใช้เป็นส่วนรวมอีกต่อไป

 
อนุสาวรีย์ที่อุทิศแด่คาร์ล มากซ์ (ซ้าย) และฟรีดริช เองเงิลส์ (ขวา) ในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ตามคำกล่าวของริชาร์ด ไปป์ แนวคิดเกี่ยวกับสังคมที่เท่าเทียมเสมอภาคและปราศจากชนชั้นถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในกรีซโบราณ[4] นอกจากนี้ยังมีขบวนการมัสดาก (Mazdak) ในเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ที่ถือว่า "มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์" (communistic) เนื่องจากท้าทายต่ออภิสิทธิ์ที่มีอยู่อย่างมากมายของชนชั้นนำและนักบวช วิพากษ์วิจารณ์การถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล และมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เสมอภาคขึ้นมา[5][6]

บางช่วงในประวัติศาสตร์ยังปรากฏว่ามีสังคมคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปมีแรงบันดาลใจมากจากคัมภีร์ทางศาสนา[7] เช่น คริสตจักรในสมัยกลางที่ปรากฏว่ามีอารามวาสีและกลุ่มก้อนทางศาสนาบางแห่งร่วมแบ่งปันที่ดินและทรัพย์สินในหมู่สมาชิกด้วยกันเอง (ดูเพิ่มที่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ทางศาสนา และลัทธิคอมมิวนิสต์คริสเตียน)

แนวคิดคอมมิวนิสต์ยังสามารถสืบย้อนไปถึงชิ้นงานในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ทอมัส มอร์ ซึ่งตำราของเขานามว่า ยูโทเปีย (ค.ศ. 1516) ได้ฉายภาพสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สิน และมีผู้ปกครองบริหารงานด้วยการใช้เหตุผล นอกจากนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งในอังกฤษโดยกลุ่มพิวริตันทางศาสนานามว่า "ดิกเกอร์ส" (Diggers) ที่สนับสนุนให้ยกเลิกสิทธิครอบครองที่ดินส่วนบุคคลไป[8] ด้านนักทฤษฎีสังคมนิยม-ประชาธิปไตยชาวเยอรมัน เอดูอาร์ด แบร์นสไตน์ กล่าวในผลงานปี ค.ศ. 1895 ครอมเวลล์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ (Cromwell and Communism) [9] ของเขาว่าในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษมีกลุ่มหลายกลุ่มโดยเฉพาะพวกดิกเกอร์สที่สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เกี่ยวกับที่ดินอย่างชัดเจน แต่ทัศนคติของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้กลับถือว่าต่อต้านและไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างมากที่สุด[9] ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์สิทธิครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลยังคงดำเนินเรื่อยไปจนถึงยุคเรืองปัญญาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ่านนักคิดอย่าง ฌ็อง-ฌัก รูโซในฝรั่งเศส และต่อมาในช่วงที่วุ่นวายที่สุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของลัทธิทางการเมือง[10]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักปฏิรูปสังคมหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งชุมชนที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ไม่เหมือนกับสังคมคอมมิวนิสต์ยุคก่อน ๆ ตรงที่พวกเขาแทนที่การมุ่งเน้นไปในทางศาสนาด้วยรากฐานการใช้ตรรกะเหตุผลและการกุศลเป็นหลัก[11] โดยหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้คือ โรเบิร์ต โอเวน ผู้ก่อตั้งชมรมสหกรณ์ นิวฮาร์โมนี ในรัฐอินดีแอนา ในปี ค.ศ. 1825 และชาลส์ โฟเรียร์ ที่ผู้ติดตามของเขาก็ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา เช่น ฟาร์มบรุก (Brook Farm; ค.ศ. 1841 – 1847) ด้วยเช่นกัน[11] ซึ่งต่อมาในภายหลัง คาร์ล มากซ์ อธิบายนักปฏิรูปสังคมเหล่านี้ว่าเป็นพวก "นักสังคมนิยมแบบอุดมคติ" (utopian socialists) เพื่อให้ตรงกันข้ามกับ "ลัทธิสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์" (scientific socialism) ของเขา (ซึ่งเป็นชื่อที่ฟรีดริช เองเงิลส์ เห็นพ้องด้วย) นอกจากนี้มากซ์ยังเรียก อ็องรี เดอ แซ็ง-ซีมง ว่าเป็น "นักสังคมนิยมแบบอุดมคติ" ด้วยเช่นกัน

ลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบปัจจุบันเติบโตมาจากขบวนการสังคมนิยมในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักวิจารณ์ฝ่ายสังคมนิยมหลายคนกล่าวโทษระบบทุนนิยมว่าเป็นต้นเหตุความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่ประกอบไปด้วยแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเขตเมืองผู้ต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มักจะเป็นอันตรายอยู่บ่อยครั้ง โดยบุคคลสำคัญที่สุดในหมู่นักวิจารณ์นี้ก็คือคาร์ล มากซ์ และภาคีของเขาอย่าง ฟรีดริช เองเงิลส์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1848 มากซ์และเองเงิลส์ได้เสนอนิยามใหม่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ และทำให้นิยามดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายด้วยจุลสารอันโด่งดังของพวกเขานามว่า แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์[11]

ลัทธิคอมมิวนิสต์สมัยใหม่

แก้
 
ประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลลัทธิมากซ์-เลนินในปัจจุบัน (สีแดง) และในอดีต (สีส้ม)

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ในรัสเซีย ได้สร้างเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้พรรคบอลเชวิกของวลาดีมีร์ เลนิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจและได้มาซึ่งการปกครองในระดับรัฐ ซึ่งนับเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคแรกในประวัติศาสตร์ที่มีฐานะเป็นรัฐบาลอย่างเปิดเผย การปฏิวัติดังกล่าวได้ถ่ายโอนอำนาจไปยังสภาโซเวียตของชาวรัสเซียทั้งมวล (All-Russian Congress of Soviets)[12][13][14] ที่ซึ่งพรรคบอลเชวิกถือครองเสียงข้างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้สร้างข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติขนานใหญ่ในหมู่ขบวนการลัทธิมากซ์ เนื่องจากมากซ์ได้พยากรณ์ไว้ว่าระบอบสังคมนิยมจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานการพัฒนาที่ก้าวหน้าที่สุดของระบบทุนนิยม แต่ในกรณีของรัสเซียระบอบสังคมนิยมกลับถูกสร้างขึ้นจากสังคมที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยชาวนาจำนวนมหาศาลที่ส่วนมากไม่รู้หนังสือ (อันเป็นชนส่วนมาก) และกลุ่มแรงงานส่วนน้อยในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม มากซ์กล่าวอย่างชัดเจนว่ารัสเซียอาจมีความสามารถมากพอที่จะก้าวข้ามขั้นโดยไม่ต้องใช้การปกครองด้วยชนชั้นกระฎุมพีไปได้เลย[15] ส่วนนักสังคมนิยมกลุ่มอื่น ๆ เชื่อว่าการปฏิวัติในรัสเซียครั้งดังกล่าวอาจเป็นตัวนำที่ชี้ชวนให้ชนชั้นแรงงานก่อการปฏิวัติในลักษณะเดียวในโลกตะวันตก

ด้านฝ่ายเมนเชวิก (Mensheviks) อันเป็นชนส่วนน้อยที่มีแนวคิดสังคมนิยมรุนแรงน้อยกว่า คัดค้านแผนการปฏิวัติสังคมนิยมก่อนที่ระบบทุนนิยมจะถูกพัฒนาจนสุดขั้นของพรรคบอลเชวิกของเลนิน (อันเป็นชนส่วนมาก) ทั้งนี้ความสำเร็จที่ส่งให้พรรคบอลเชวิกก้าวขึ้นสู่อำนาจมีพื้นฐานจากคำขวัญ เช่น "สันติภาพ ขนมปัง และที่ดิน" ซึ่งไปตรงใจกับความปรารถนาของสาธารณชนหมู่มากที่ต้องการให้รัสเซียยุติบทบาทในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และความต้องการของชาวนาที่อยากให้มีการปฏิรูปที่ดิน รวมถึงเสียงสนับสนุนส่วนมากให้มีสภาโซเวียต[16]

สังคมนิยมสากลที่สอง (Second International) อันเป็นองค์การสังคมนิยมระหว่างประเทศถูกยุบในปี ค.ศ. 1916 จากความแตกแยกภายในซึ่งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามประเทศต้นกำเนิด โดยพรรคสังคมนิยมสมาชิกในองค์การจากแต่ละประเทศไม่สามารถรักษาจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ได้ แต่กลับสนับสนุนบทบาทของรัฐบาลตามแนวทางของชาติตนแทน ด้วยเหตุนี้เลนินจึงก่อตั้ง สังคมนิยมสากลที่สาม (Third International) หรือ "โคมินเทิร์น" ในปี ค.ศ. 1919 และได้ส่งเงื่อนไขยี่สิบเอ็ดข้อ (Twenty-one Conditions) ซึ่งรวมเอาคติประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic socialism) ไว้ภายใน ให้แก่พรรคการเมืองสังคมนิยมในยุโรปที่ต้องการจะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ในฝรั่งเศสมีตัวอย่างให้เห็นคือสมาชิกส่วนมากที่เป็นพรรคแรงงานสากลสาขาฝรั่งเศสหรือ "แอสเอฟอิโอ" (French Section of the Workers' International; SFIO) แยกตัวออกมาในปี ค.ศ. 1921 เพื่อก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สากลสาขาฝรั่งเศสหรือ "แอสเอฟอิเซ" (French Section of the Communist International; SFIC) ดังนั้นคำว่า "คอมมิวนิสซึม" หรือลัทธิคอมมิวนิสต์จึงถูกใช้หมายถึงวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นภายใต้โคมินเทิร์น โครงการของพวกเขาก็คือหลอมรวมแรงงานทั่วโลกเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันสำหรับการปฏิวัติ ซึ่งจะตามมาด้วยการสถาปนาระบอบการปกครองแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) เช่นเดียวกับการพัฒนาภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (ค.ศ. 1918 – 1922) พรรคบอลเชวิกได้ยึดเอาทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการผลิตทั้งหมดและประกาศนโยบายที่ชื่อว่า สงครามลัทธิคอมมิวนิสต์ (war communism) ซึ่งยึดเอาบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมและทางรถไฟมาอยู่ใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด เก็บรวบรวมและปันสวนอาหาร และริเริ่มการจัดการอุตสาหกรรมแบบกระฎุมพี หลังจากริเริ่มนโยบายดังกล่าวไปได้ 3 ปี และเกิดเหตุการณ์กบฏโครนสตัดท์ขึ้นในปี ค.ศ. 1921 เลนินจึงได้ประกาศ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy; NEP) ในปีเดียวกัน เพื่อจำกัด "สถานที่และเวลาแก่ระบบทุนนิยม" นโยบายดังกล่าวยังคงอยู่ไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 1928 เมื่อโจเซฟ สตาลิน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคและริเริ่ม แผนห้าปี (Five Year Plans) มาลบล้างนโยบายเก่าของเลนิน และหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1922 พรรคบอลเชวิกได้สถาปนาสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ยูเอสเอสอาร์) หรือเรียกโดยย่อว่า "สหภาพโซเวียต" ขึ้นมาจากจักรวรรดิรัสเซียในอดีต

 
ไปรษณียากรของสหภาพโซเวียตแสดงภาพการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของโลก "สปุตนิก 1"

หลังจากรับเอาคติประชาธิปไตยรวมศูนย์มาแล้ว พรรคการเมืองแนวลัทธิเลนินก็หันมาจัดโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น (hierarchy) โดยมีสมาชิกระดับหน่วยย่อยเป็นฐานล่างสุด ถัดขึ้นมาถึงจะเป็นสมาชิกระดับอภิสิทธิ์ที่เรีกยว่า คาดส์ (cadres) ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งจากบุคคลระดับสูงภายในพรรคเท่านั้น โดยจะต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและยึดมั่นในแนวทางของพรรคอย่างมากจึงจะได้รับแต่งตั้ง[17] ถัดมาเกิดการกวาดล้างครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1937 – 1938 ตามนโยบายของสตาลินที่ต้องการจะทำลายขั้วตรงข้ามที่อาจแข็งข้อภายในพรรคคอมมิวนิสต์ และในการพิจารณาคดีที่มอสโกได้กล่าวหาสมาชิกพรรคบอลเชวิกดั้งเดิมหลายคนที่มีบทบาทเด่นในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 หรือในรัฐบาลของเลนินหลังจากนั้น เช่น คาเมนเนฟ, ซีโนวีฟ, รืยคอฟ และบูคาริน ว่าได้กระทำความผิด จึงตัดสินให้ลงโทษและนำไปประหารชีวิตในท้ายที่สุด[18]

สงครามเย็น

แก้

สหภาพโซเวียตผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจจากบทบาทนำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากเหนือภูมิภาคยุโรปตะวันออกและบางส่วนของเอเชีย และหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง จักรวรรดิต่าง ๆ ในยุโรปและจักรวรรดิญี่ปุ่นก็แตกแยกออกเป็นส่วน ๆ บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์หลายแห่งจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างบทบาทนำในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช

ต่อมาด้วยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต พรรคการเมืองแนวลัทธิมากซ์-เลนินที่ยึดถือสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบต่างพากันก้าวขึ้นสู่อำนาจในบัลแกเรีย เชโกสโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และโรมาเนีย นอกจากนี้ยังเกิดการตั้งรัฐบาลแนวลัทธิมากซ์-เลนินภายใต้การนำของนายพลตีโตในยูโกสลาเวียด้วยเช่นกัน แต่นโยบายความเป็นอิสระของตีโตทำให้ยูโกสลาเวียถูกขับออกจาก "โคมินเทิร์น" ซึ่งเป็นองค์การสืบทอดต่อจากโคมินฟอร์ม ดังนั้นยูโกสลาเวียจึงกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อิสระที่ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตหรือเป็นประเทศใน "ลัทธิตีโต" เช่นเดียวกับแอลเบเนียก็เป็นรัฐอิสระในลัทธิมากซ์-เลนินอีกแห่งหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง[19]

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1950 ฝ่ายนิยมลัทธิมากซ์-เลนินในจีนก็สามารถควบคุมจีนแผ่นดินใหญ่ทั่วทุกแห่งหนได้สำเร็จ นอกจากนี้ในช่วงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอีกหลายประเทศเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจในประเทศของตน ซึ่งได้บทสรุปจากสงครามทั้งสองครั้งนั้นก็แตกต่างกันไป ไม่เพียงเท่านั้นยังพยายามรวมกลุ่มกับฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายสังคมนิยมเพื่อต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมของโลกตะวันตกในประเทศยากจนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งและภัยคุกคามต่อลัทธิทุนนิยมในโลกตะวันตกตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[20] ซึ่งสภาพการแข่งขันของทั้งสองค่ายนี้ถึงจุดสูงสุดในช่วงสงครามเย็น เมื่อสองชาติมหาอำนาจของโลกที่ยังคงเหลืออยู่อันได้แก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้แบ่งขั้วทางการเมืองและผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ ต้องเข้าร่วมกับค่ายใดค่ายหนึ่งเท่านั้น ชาติมหาอำนาจทั้งสองยังสนับสนุนให้เกิดการแผ่ขยายระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตนไปสู่ประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ส่งผลให้เกิดการขยายขนาดของกองทัพ การกักตุนอาวุธนิวเคลียร์ และการแข่งขันด้านสำรวจอวกาศ

 
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (ราคาตลาด) ในปี ค.ศ. 1965 จากข้อมูลของเยอรมันตะวันตก (ค.ศ. 1971)
  > 5,000 มาร์ก
  2,500 – 5,000 มาร์ก
  1,000 – 2,500 มาร์ก
  500 – 1,000 มาร์ก
  250 – 500 มาร์ก
  < 250 มาร์ก

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

แก้

สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 อันเป็นผลมาจากการแถลงการณ์เลขที่ 142-เอช โดยสภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต[21] แถลงการณ์ดังกล่าวได้รับทราบการประกาศเอกราชของอดีตสาธารณรัฐโซเวียตและสถาปนาเครือจักรภพรัฐเอกราชขึ้นแทน ซึ่งการลงนามรับรองแถลงการณ์ดังกล่าวมีเหตุต้องล่าช้าออกไปหรือไม่มีการลงนามรับรองเลยแต่อย่างได้ ในขณะที่หนึ่งวันก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโซเวียต มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ผู้นำสหภาพโซเวียตคนที่แปดและคนสุดท้าย) ประกาศลาออก ยุบตำแหน่ง และถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดแก่ประธานาธิบดีรัสเซีย บอริส เยลต์ซิน ซึ่งรวมถึงสิทธิ์ครอบครองรหัสปล่อยขีปนาวุธนำวิถีของสหภาพโซเวียต ต่อมา เวลา 7.32 น. ของเย็นวันเดียวกันนั้น ธงชาติสหภาพโซเวียตถูกลดลงจากยอดเสาของพระราชวังเครมลินเป็นครั้งสุดท้าย และแทนที่ด้วยธงชาติรัสเซียแบบที่ใช้ก่อนการปฏิวัติ[22]

ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม สาธารณรัฐโซเวียตแต่ละแห่งรวมถึงรัสเซียเองได้แยกตัวออกจากการเป็นสหภาพมาก่อนแล้ว โดยที่อดีตสาธารณรัฐโซเวียตทั้ง 11 แห่ง ได้ร่วมลงนามในพิธีสารอัลมา-อาตา ซึ่งได้สถาปนาเครือจักรภพรัฐเอกราชและประกาศยุบสหภาพโซเวียตหนึ่งสัปดาห์ก่อนการล่มสลายอย่างเป็นทางการ[23][24]

ปัจจุบัน

แก้

ในปัจจุบันมีประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลลัทธิมากซ์-เลนินและใช้ระบบพรรคการเมืองเดี่ยวเหลือเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน คิวบา ลาว และเวียดนาม ส่วนเกาหลีเหนือไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์ตามแบบฉบับลัทธิมากซ์-เลนินแล้ว หากแต่ยึดถืออุดมการณ์ตามหลัก จูเช ที่ฉายภาพว่าพัฒนามาจากลัทธิมากซ์-เลนินแทน ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคการเมืองสืบทอดที่หลงเหลืออยู่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญในหลายประเทศ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นรัฐบาลปกครองรัฐเกรละของอินเดีย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเนปาล[25] และพรรคคอมมิวนิสต์บราซิลที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานสังคมนิยมประชาธิปไตย

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่ตกทอดมาจากลัทธิเหมาหลายด้าน เช่นเดียวกันกับลาว เวียดนาม และคิวบา (มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า) โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ผ่อนคลายการควบคุมทางเศรษฐกิจลงเพื่อกระตุ้นการเติบโต ทั้งนี้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาจีนสามารถลดระดับความยากจนลงจากร้อยละ 51 ในสมัยเหมา เจ๋อตุง มาเป็นเพียงร้อยละ 6 ในปี ค.ศ. 2001[26] ในขณะเดียวกันยังได้ริเริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้สำหรับกิจการที่อิงกับระบบตลาดเป็นหลัก โดยที่ไม่ต้องกังวลการควบคุมหรือการแทรกแซงจากรัฐบาลกลาง ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ประกาศตนว่ายึดถือในอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน เช่น เวียดนาม ก็พยายามริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจให้อิงกับระบบตลาดด้วยเช่นกัน

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจนี้บางครั้งถูกวิจารณ์จากโลกภายนอกว่าเป็นการถอยกลับไปหาลัทธิทุนนิยม แต่พรรคคอมมิวนิสต์แย้งว่าเป็นการปรับตัวที่จำเป็นเพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และเพื่อใช้สมรรถนะทางอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเหล่านี้ ที่ดินทั้งมวลถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมและบริการที่จำเป็น รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นภาครัฐจึงถือเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจหลักในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว และรัฐเป็นผู้มีบทบาทกลางในการประสานงานเพื่อให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

คอมมิวนิสต์แบบลัทธิมากซ์

แก้

ลัทธิมากซ์

แก้
 
คาร์ล มากซ์

มากซ์และเองเงิลส์พยายามหาแนวทางที่จะนำจุดจบมาสู่ระบบทุนนิยมและการกดขี่ผู้ใช้แรงงานเหมือนกับนักสังคมนิยมคนอื่น ๆ แต่ในขณะที่นักสังคมนิยมคนอื่นหวังถึงการค่อย ๆ ปฏิรูปสังคมในระยะยาว ทั้งมาร์กซ์และเองเกิลส์คิดว่ามีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่ระบอบสังคมนิยมได้ นั่นคือการปฏิวัติ[27]

ตามที่ข้อสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ของมากซ์กล่าวไว้ว่า ลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคมชนชั้นคือความไม่สนใจซึ่งกันและกัน และยังกล่าวอีกว่าความคิดแบบคอมมิวนิสต์คือสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา เพราะมันนำมาซึ่งความหยั่งรู้และการพบกับอิสรภาพแห่งมนุษย์อย่างแท้จริง มากซ์ในที่นี้กล่าวตามนักปรัชญาชาวเยอรมัน จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกิล (G.W.F. Hegel) ที่กล่าวว่าอิสรภาพมิใช่เพียงแค่การมิให้อำนาจเข้ามาควบคุมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการกระทำที่มีสำนึกศีลธรรมอีกด้วยไม่เพียงแค่ระบอบคอมมิวนิสต์จะทำให้คนทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการเท่านั้น แต่การทำให้มนุษย์ที่มีสถานภาพเดียวกันและความเหมือนกันนั้น จะทำให้พวกเขาไม่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์สู่ตนเองอีกต่อไป ในขณะที่เฮเกิลคิดถึงการใช้ชีวิตตามหลักจรรยา ผ่านมโนภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับมากซ์แล้ว คอมมิวนิสต์นั้นเกิดขึ้นได้จากวัตถุและผลิตผล[28] โดยเฉพาะการพัฒนารายได้ที่ประชาชนจะได้รับจากการผลิต

ลัทธิมากซ์นั้นยึดถือว่ากระบวนการแตกแยกระหว่างชนชั้นที่ต่างกัน ผสมกับการดิ้นรนต่อสู้ที่จะปฏิวัติ จะนำชัยชนะมาสู่ชนชั้นแรงงาน และนำมาซึ่งการก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ที่ที่สิทธิ์ในการการครอบครองทรัพย์สมบัติส่วนบุคคลจะค่อย ๆ ถูกลบล้างไป และรายได้ของประชาชนจากการผลิต และความเป็นอยู่ที่ยึดติดอยู่กับชุมชนจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ตัวมากซ์เองนั้นชี้แจงไว้เพียงเล็กน้อย เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่เมื่ออยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ แต่กล่าวถึงข้อมูลเฉพาะส่วนหลัก ๆ ที่เป็นแนวทางไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวกับการลดขอบเขตของสิ่งที่บุคคลพึงกระทำ เห็นได้จากคำขวัญของกลุ่มเคลื่อนไหวลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีความว่า สังคมคอมมิวนิสต์คือโลกที่ทุก ๆ คนทำในสิ่งที่พวกเขาถนัด และได้รับตามที่พวกเขาต้องการ ตัวอย่างที่อธิบายแนวคิดของมากซ์มาจากผลงานเขียนเพียงไม่กี่ชิ้นของเขาที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยละเอียดคือ แนวคิดลัทธิของเยอรมัน (The German Ideology) ในปี ค.ศ. 1845 งานชิ้นนั้นมีใจความว่า:

"ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีใครถูกจำกัดภาระหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในทุกๆ สาขาที่เขาต้องการ เมื่อสังคมกำหนดเป้าหมายการผลิตทำให้มันเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งหนึ่งวันนี้ และทำให้อีกสิ่งในวันพรุ่ง ล่าสัตว์ในตอนเช้า ตกปลาในตอนกลางวัน ต้อนวัวในตอนเย็น และวิจารณ์หลังอาหารค่ำ ดังที่ตัวเองปรารถนา โดยไม่ต้องมีอาชีพเป็นนักล่าสัตว์ ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์และนักวิจารณ์"

วิสัยทัศน์ที่มั่นคงของมากซ์ ทำให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมที่เป็นระบบ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง และเป็นทฤษฎีทางการเมืองที่อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำการปฏิวัติเพื่อที่จะได้สิ่งใดๆ มาที่มีข้อกังขาเล็กน้อย

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นิยามของคำว่า ระบอบสังคมนิยม และ ระบอบคอมมิวนิสต์ มักถูกใช้แทนกัน อย่างไรก็ตาม มากซ์และเองเงิลส์เห็นว่า สังคมนิยมคือระดับปานกลางของสังคมที่ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่จากการผลิตมีมวลชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ยังคงความแตกต่างระหว่างชนชั้นไว้เล็กน้อย โดยที่พวกเขาสงวนนิยามของระบอบคอมมิวนิสต์ไว้ว่า เป็นขั้นสุดท้ายของสังคมที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี และรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

หลักเกณฑ์เหล่านี้ต่อมาจึงถูกพัฒนา โดยเฉพาะจากวลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งมีอิทธิพลในการกำหนดลักษณะของพรรคคอมมิวนิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ให้โดดเด่น นักเขียนรุ่นต่อมาเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของมาร์กซ์โดยมอบอำนาจให้กับรัฐให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสังคมดังกล่าว โดยแย้งว่าการที่จะให้เป็นคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ได้นั้น ต้องเริ่มมาจากการเป็นสังคมนิยมเสียก่อน จึงค่อย ๆ แปลงสังคมภายใต้ระบอบสังคมนิยม ให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์[29]

คนรุ่นเดียวกับมาร์กซ์บางคน เช่น อนาธิปัตย์อย่างมิคาเอล บาคูนิน ก็สนับสนุนแนวคิดคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันในทัศนคติของพวกเขาในเรื่องของวิธีที่จะนำไปสู่สังคมสามัคคีที่ไร้ชนชั้นได้ จนมาถึงทุกวันนี้ยังคงมีการแบ่งกลุ่มเคลื่อนไหวของคนงานอยู่ระหว่างกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และกลุ่มอนาธิปัตย์ โดยที่พวกอนาธิปัตย์มีความคิดเป็นปฏิปักษ์และต้องการที่จะล้มล้างทุกอย่างที่เป็นของรัฐบาล แต่ในหมู่พวกเขาก็มีนักอนาธิปัตย์-คอมมิวนิสต์อย่าง ปีเตอร์ โครพอตคิน ที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไร้ชนชั้นในทันที ในขณะที่นักอนาธิปัตย์-สหการนิยมเชื่อในสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในสังคม ตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่เชื่อในสังคมไร้ชนชั้น นั่นคือไม่มีผู้นำ)

ลัทธิเลนิน

แก้
 
รูปปั้นวลาดีมีร์ เลนิน ในเมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก

เราต้องการบรรลุระเบียบทางสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม: ในสังคมใหม่ที่ดีกว่านี้จะต้องไม่มีคนรวยหรือคนจน ทุกคนต้องทำงาน คนทำงานทุกคนจะต้องได้ผลประโยชน์จากแรงงานของตน ไม่ใช่แค่คนรวยจำนวนหนึ่งเท่านั้น เครื่องจักรและการปรับปรุงอื่น ๆ ต้องถูกใช้เพื่อบรรเทาภาระงานของทุกคน ไม่ใช่เพื่อให้คนรวยร่ำรวยขึ้นบนความทุข์ยากของคนนับสิบนับล้าน สังคมใหม่ที่ดีกว่านี้มีชื่อว่าสังคมสังคมนิยม และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสังคมดังกล่าวเรียกว่า "ลัทธิสังคมนิยม"

— วลาดีมีร์ เลนิน ค.ศ 1903[30]

ลัทธิเลนินคือตัวตนของทฤษฎีการเมืองที่พัฒนาโดยและตั้งชื่อตามนักปฏิวัติชาวรัสเซีย วลาดีมีร์ เลนิน ผู้ซึ่งภายหลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำโซเวียต สำหรับองค์กรทางประชาธิปไตยของพรรคแนวหน้าการปฏิวัติและความสำเร็จของเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ อันจะเบิกทางไปสู่การสถาปนาลัทธิสังคมนิยมในทางการเมือง ลัทธิเลนินประกอบขึ้นจากทฤษฎีเศรษฐกิจและการเมืองต่าง ๆ ซึ่งพัฒนามาจากลัทธิมากซ์ เช่นเดียวกับการตีความทฤษฎีมากซิสต์ของเลนินเองเพื่อให้สามารถไปประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติกับสภาพแวดล้อมเงื่อนไขของจักรวรรดิรัสเซีย ที่เป็นสังคมเกษตรกรรมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ลัทธิเลนินถูกนำไปปฏิบัติใช้เป็นระยะเวลา 5 ปีในฐานะปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจตามแนวทางมากซิสต์ในแบบฉบับของรัสเซีย ซึ่งบังคบใช้จริงและยังให้เกิดผลโดยพวกบอลเชวิก พรรคการเมืองแนวหน้าผู้นำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน

ลัทธิมากซ์-เลนิน ลัทธิสตาลิน และลัทธิทรอตสกี

แก้

ลัทธิมากซ์-เลนินและลัทธิสตาลิน

แก้
 
โจเซฟ สตาลิน ค.ศ. 1942

ลัทธิมากซ์-เลนิน คือแนวคิดทางการเมืองที่พัฒนาโดยโจเซฟ สตาลิน[31] ซึ่งถ้ายึดถือตามผู้เสนอแล้วเป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากลัทธิมากซ์และลัทธิเลนิน ลัทธิดังกล่าวอธิบายแนวคิดทางการเมืองแบบจำเพาะที่สตาลินริเริ่มปฏิบัติในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ระดับรัฐ) และโคมินเทิร์น (ระดับสากล) อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าแท้จริงแล้วสตาลินได้ปฏิบัติตามแนวทางลัทธิมากซ์และเลนินตามชื่อลัทธิหรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์[32] เนื่องจากมีเนื้อหาสาระบางแง่มุมที่อาจจะเบี่ยงเบนไปจากเนื้อหาสาระของลัทธิมากซ์ เช่น แนวทาง สังคมนิยมประเทศเดียว[33][34] ทั้งนี้ลัทธิมากซ์-เลนินคือแนวคิดของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เห็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด จึงเป็นลัทธิซึ่งเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่โดดเด่นมากที่สุด

ลัทธิมากซ์-เลนินยังอาจกล่าวถึงในฐานะระบบเศรษฐกิจ-สังคมและแนวคิดทางการเมืองซึ่งริเริ่มโดยสตาลินในสหภาพโซเวียต และภายหลังถูกลอกเลียนและนำไปใช้บนพื้นฐานจากตัวแบบโซเวียต (Soviet model) โดยรัฐอื่น ๆ เช่น การวางแผนจากส่วนกลาง และรัฐพรรคการเมืองเดียว เป็นต้น ในขณะที่ลัทธิสตาลินจะกล่าวถึงการปกครองในแบบฉบับของสตาลิน เช่น การกดขี่ทางการเมือง และลัทธิบูชาบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ลัทธิมากซ์-เลนินยังคงอยู่หลังกระบวนการล้มล้างลัทธิสตาลิน (de-Stalinization) นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับสุดท้ายก่อนถึงแก่กรรม เลนินเคยกล่าวเตือนถึงอันตรายจากบุคลิกของสตาลินมาก่อน และเร่งเร้าให้รัฐบาลโซเวียตหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผู้นำแทน[35]

ลัทธิเหมาคือรูปแบบหนึ่งของลัทธิมากซ์-เลนินซึ่งข้องเกี่ยวกับผู้นำจีน เหมา เจ๋อตง หลังการล้มล้างลัทธิสตาลิน สหภาพโซเวียตยังคงยึดมั่นในลัทธิมากซ์-เลนิน แต่กระแสต่อต้านลัทธิแก้ (Anti-revisionism) บางส่วน เช่น ลัทธิฮกไฮ (Hoxhaism) และลัทธิเหมา ต่างแย้งว่าลัทธิมากซ์-เลนินหลังยุคสตาลินคือรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไป ดังนั้นนโยบายของคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียและจีนจึงแตกต่างและถอยห่างออกจากสหภาพโซเวียต

ลัทธิมากซ์-เลนินถูกวิจารณ์จากแนวคิดคอมมิวนิสต์และมากซิสต์แนวอื่น ๆ ว่ารัฐมากซิสต์-เลนินนิสต์ไม่ได้สถาปนาระบอบสังคมนิยม หากแต่เป็นระบอบทุนนิยมรัฐ (state capitalism) เสียมากกว่า[29] ซึ่งตามแนวทางลัทธิมากซ์แล้ว เผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) เป็นตัวแทนถึงการปกครองของชนหมู่มาก (ประชาธิปไตย) มากกว่าที่จะเป็นของพรรคการเมืองเดียว ถึงขนาดที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งลัทธิมากซ์ ฟรีดริช เองเงิลส์ เคยอธิบาย รูปแบบจำเพาะ ของการปกครองนี้ไว้ว่าเป็นระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย[36] นอกจากนี้ เองเงิลส์ยังอธิบายว่าทรัพย์สินของรัฐแท้จริงแล้วก็คือทรัพย์สินของเอกชน (ทรัพย์สินส่วนตน) ตามธรรมชาติของระบอบทุนนิยม[37] เว้นแต่หากเหล่าชนชั้นกรรมาชีพสามารถควบคุมอำนาจทางการเมือง (รัฐ) ได้ ทรัพย์สินนั้นต่างหากจะถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะโดยแท้จริง[38] ซึ่งคำถามที่ว่าชนกรรมาชีพแท้จริงแล้วมีอำนาจควบคุมเหนือรัฐมากซิสต์-เลนินนิสต์หรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่ลัทธิมากซ์-เลนินด้วยกันเอง และลัทธิคอมมิวนิสต์สายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับลัทธิคอมมิวนิสต์สายอื่น ๆ แล้ว ลัทธิมากซ์-เลนินอาจไม่ใช่ทั้งลัทธิมากซ์ ลัทธิเลนิน หรือการรวมกันของลัทธิทั้งสอง แต่เป็นเพียงบทนิยามที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เรียกการที่สตาลินบิดเบือนแนวคิดมากซ์-เลนินไปจากเดิม[39] แล้วนำเอาแนวคิดของตนดังกล่าวไปบังคับใช้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและโคมินเทิร์น ในสหภาพโซเวียตเรียกขานแนวทางต่อต้านลัทธิมากซ์-เลนินนี้ว่า ลัทธิทรอตสกี ซึ่งเรียกขานตนเองว่าเป็นลัทธิในแนวทางมากซ์และเลนิน (Marxist and Leninist tendency)

ลัทธิทรอตสกี

แก้

ลัทธิทรอตสกี คือแนวคิดตามแนวทางมากซ์และเลนินที่พัฒนาโดยเลออน ทรอตสกี แต่ต่อต้านลัทธิมากซ์-เลนิน ลัทธิดังกล่าวสนับสนุนทฤษฎีการปฏิวัติถาวร (permanent revolution) และการปฏิวัติโลก แทนที่ทฤษฎีสองขั้นและแนวทางสังคมนิยมประเทศเดียว นอกจากนี้ยังสนับสนุนลัทธิชนกรรมาชีพสากล (proletarian internationalism) และการปฏิวัติคอมมิวนิสต์อีกครั้งหนึ่งในสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งทรอตสกีอ้างว่าได้กลายเป็น รัฐแรงงานเสื่อมสภาพ (degenerated worker's state) ไปเสียแล้วภายใต้การนำของสตาลิน และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผิดเพี้ยนไปในรูปแบบใหม่ แทนที่จะเป็นเผด็จการโดยชนกรรมาชีพตามแนวทางลัทธิมากซ์แบบดั้งเดิม

ทรอตสกีและผู้สนับสนุนดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหนือสหภาพโซเวียตและขับไล่สตาลินออกจากการปกครอง ได้แบ่งการจัดตั้งเป็นฝ่ายซ้ายต่อต้าน (Left Opposition) ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อลัทธิทรอตสกี อย่างไรก็ตาม สตาลินสามารถรวบรวมอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จไว้ได้สำเร็จในท้ายที่สุด ส่งผลให้ความพยายามของทรอตสกีล้มเหลวและต้องลี้ภัยออกจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1929 ในขณะที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศนั้น ทรอตสกียังคงดำเนินการต่อต้านสตาลินอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การก่อตั้งสังคมนิยมสากลที่สี่ (Fourth International) ในปี ค.ศ. 1938 ขึ้นมาแข่งกับโคมินเทิร์น ท้ายที่สุดแล้วทรอตสกีถูกลอบสังหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี ตามคำสั่งของสตาลิน

ทั้งนี้การเมืองตามแบบฉบับของทรอตสกีแตกต่างไปจากสตาลินและเหมาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการประกาศเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในระดับสากล (แทนที่จะเป็นแนวทางสังคมนิยมประเทศเดียว) และการสนับสนุนเผด็จการโดยชนกรรมาชีพบนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยโดยแท้จริง

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม

แก้

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมคือกรอบปรัชญาทางเศรษฐกิจและการเมืองกว้าง ๆ ที่เน้นการต่อต้านแง่มุมอำนาจนิยมภายในลัทธิมากซ์ ซึ่งในช่วงต้นรู้จักกันในชื่อ คอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย[40] และมีจุดยืนตรงกันข้ามกับลัทธิมากซ์-เลนิน[41] รวมถึงแนวคิดย่อยอื่น ๆ เช่น ลัทธิสตาลิน ลัทธิเหมา และลัทธิทรอตสกี[42] นอกจากนี้ยังมีจุดยืนที่เน้นไปทางปฏิรูปนิยมเช่นเดียวกับพวกประชาธิปไตยสังคมนิยม[43] กระแสลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมักจะยึดถือผลงานชิ้นหลัง ๆ ของมากซ์และเองเงิลส์ โดยเฉพาะ กรุนด์ริสเซอ (เยอรมัน: Grundrisse; ปัจจัยพื้นฐาน) และ สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส (The Civil War in France)[44] ซึ่งเน้นความเชื่อของมากซ์ที่ว่าชนชั้นแรงงานสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้โดยไม่ต้องพึงพานักปฏิวัติหรือรัฐเข้ามาเป็นตัวกลางหรือตัวช่วยในการปลดแอกตนเอง[45] ดังนั้นลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมจึงถือเป็นแนวคิดกระแสหลักหนึ่งในสองกระแสภายใต้ลัทธิสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเคียงคู่กับอนาธิปไตย[46]

ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมยังรวมถึงแนวคิดกระแสอื่น ๆ เช่น ลัทธิลุกเซิมบวร์ค ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย โซซียาลิสม์อูบาร์บารี (ฝรั่งเศส: Socialisme ou Barbarie; สังคมนิยมหรืออนารยชน) แนวทางจอห์นสัน-ฟอเรสต์ ลัทธิสังคมนิยมโลก ลัทธิเลททริหรือสภาวะนิยม (Lettrism หรือ Situationism) ออปอเรซโม (อิตาลี: Operaismo) หรืออัตินิยม (autonomism) และฝ่ายซ้ายใหม่[47] ซึ่งบ่อยครั้งที่ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดฝ่ายซ้ายยุคหลัง (post-left) และอนาธิปไตยแบบสังคมนิยม นักทฤษฎีตามลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมที่มีชื่อเสียง เช่น ออนทอน พันเนอคุก, รายา ดูนาเยฟสกายา, ซี.แอล.อาร์. เจมส์, คอร์นีเลียส กัสโตรรีอาดีส, เมาริซ บรินตัน, กี เดอบอร์, ดานียาล เกแรง, แอเนสโต สเครปันติ และราอูล วาเนญอง

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม

แก้

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมคือการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายจัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีพรรคกรรมกรคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (KAPD) เป็นหลักสำคัญขององค์กร และยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวตามเหตุผลและหลักการของมาร์กซิสต์และสังคมนิยมแบบอิสรนิยม

หลักการสำคัญของลัทธินีคือให้รัฐบาลและเศรษฐกิจควรจะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์คณะแรงงาน (workers' council) ซึ่งประกอบด้วยการเลือกผู้แทนจากสถานที่ทำงานและสามารถให้มีการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งได้ทุกเมื่อ จากแนวคิดดังกล่าว หลักการของสภาคอมมิวนิสต์จึงขัดต่อลัทธิอำนาจนิยม สังคมนิยมรัฐ และทุนนิยมรัฐ รวมไปถึงการต่อต้านพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ เนื่องจากจะนำไปสู่พรรคการเมืองเผด็จการในที่สุด ทั้งยังสนับสนุนประชาธิปไตยโดยชนชั้นแรงงาน ซึ่งเหล่าผู้ใช้แรงงานจะสามารถจัดตั้งสหพันธ์แรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของตน นอกจากนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมมักจะถูกมองว่ามีส่วนคล้ายกับลัทธิอนาธิปไตย เนื่องจากแนวคิดต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมตามแบบลัทธิเลนินและปฏิเสธแนวคิดของพลพรรคแนวหน้านิยม (party vanguardism)

ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย

แก้
 
โรซา ลุกเซิมบวร์ค

ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายคือกรอบมุมมองตามลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือโดยฝ่ายซ้าย วิจารณ์แนวคิดและแนวปฏิบัติทางการเมืองหลังระลอกการปฏิวัติโดยพวกบอลเชวิกและพวกประชาธิปไตยสังคมนิยมที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง โดยคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายแสดงจุดยืนที่ว่าตนเองคือกลุ่มก้อนที่มีแนวคิดยึดโยงตามลัทธิมากซ์และชนกรรมาชีพอย่างแท้จริงมากกว่าคอมมิวนิสต์ตามลัทธิมากซ์-เลนิน ซึ่งสนับสนุนโดยคอมมิวนิสต์สากลหลังการประชุมครั้งที่หนึ่ง (เดือนมีนาคม ค.ศ. 1919) และระหว่างการประชุมครั้งที่สอง (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. 1920)[48]

คอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายประกอบไปด้วยขบวนการทางการเมืองหลายกลุ่ม ไล่ตั้งแต่พวกลัทธิมากซ์-เลนิน (ที่ถูกมองว่าแท้จริงคือพวกฝ่ายซ้ายของระบอบทุนนิยมมากกว่า) และพวกลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย (บางส่วนถือว่าเป็นพวกสังคมนิยมสากล) เช่นเดียวกับกลุ่มปฏิวัติสังคมนิยมอื่น ๆ อีกหลายแนว เช่น ลัทธิเดอเลออน (De Leonism) ที่มักจะถูกมองว่าเป็นพวกสังคมนิยมสากลในบางโอกาส[49]

คอมมิวนิสต์แบบอื่น

แก้

รูปแบบหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิมากซ์ อย่างไรก็ตามลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวทางอื่นที่ไม่ใช่ลัทธิมากซ์ยังปรากฏให้เห็นด้วยเช่นกัน

ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย

แก้

ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย (หรือรู้จักในชื่อ ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม) คือทฤษฎีตามลัทธิอนาธิปไตย มีเป้าหมายเพื่อล้มล้างรัฐ ทรัพย์สินส่วนบุคคล และระบอบทุนนิยม และแทนที่ด้วยการเป็นเจ้าของร่วมในปัจจัยการผลิต [50][51] ประชาธิปไตยโดยตรง และเครือข่ายของหน่วยงานอาสาและสภาแรงงานที่มีโครงสร้างเป็นแนวนอน (horizontal) ซึ่งมีลักษณะการผลิตและบริโภคตามหลักการ "จากแต่ละคนตามความสามารถ ให้แต่ละคนตามความต้องการ" (From each according to his ability, to each according to his needs)[52][53]

 
ปีเตอร์ ครอพอตกิน นักทฤษฎีคนสำคัญตามลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย

ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยแตกต่างจากลัทธิมากซ์เนื่องจากปฏิเสธมุมมองที่ว่าจำเป็นต้องมีรัฐคอมมิวนิสต์ก่อนถึงจะสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงได้ นักทฤษฎีคนสำคัญตามแนวคิดนี้คือ ปีเตอร์ ครอพอตกิน ได้แย้งว่าสังคมนักปฏิวัติควรที่จะ "เปลี่ยนผ่านตนเองไปสู้สังคมคอมมิวนิสต์โดยทนที" หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ "ขั้นที่สูงและสมบูรณ์กว่า" ตามคำนิยามของมากซ์[54] ซึ่งเป็นแนวทางที่พยายามหลีกเลี่ยง "การแบ่งแยกชนชั้นและความปรารถนาให้รัฐเป็นผู้สอดส่องดูแลทุกอย่าง"[54]

รูปแบบบางประการของลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย เช่น ลัทธิอนาธิปไตยที่เน้นแนวทางการจราจล (insurrectionary anarchism) ถูกจัดว่าเป็นรูปแบบตามลัทธิอัตนิยม (egoism) และได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมากจากลัทธิปัจเจกนิยม (individualism)[55][56][57] ซึ่งเชื่อว่าลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีลักษะณะแบ่งปันร่วมกันหรือเป็นส่วนรวมแต่อย่างใด (คอมมิวนิสต์เองเป็นชื่อที่แปลว่า "ส่วนรวม") ในขณะที่ผู้ที่เชื่อในลัทธิดังกล่าวมองลัทธิของตนว่าเป็นแนวทางประนีประนอมความปฏิปักษ์ระหว่างปัจเจกชนและสังคม[58][59][60]

ในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคปัจจุบัน ตัวอย่างดีที่สุดของสังคมตามลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยคือดินแดนอนาธิปไตย (ดินแดนในสภาพไร้ขื่อแป) ช่วงระหว่างการปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1936 และดินแดนเสรี (Free Territory) ช่วงระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีพื้นฐานใกล้เคียงกับแนวคิดในปัจจุบันและเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ทั่วโลก กระแสนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยในสเปนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1936 ด้วยความพยายามและอิทธิพลของกลุ่มอนาธิปไตยสเปนในช่วงการปฏิวัติสเปนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองสเปน ส่วนมากรวมกลุ่มกันในอารากอน บางส่วนของเลเวนเตและอันดาลูซิอา รวมถึงพื้นที่แกนกลางของกลุ่มอนาธิปไตยกาตาลันในกาตาลุญญา แต่ภายหลังถูกบดขยี่และปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองกำลังผสมระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม) กองกำลังของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กองกำลังของเบนิโต มุสโสลินี การปราบปรามโดยพรรคคอมมิวนิสต์สเปน (ซึ่งสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน) เช่นเดียวกับการปิดกั้นทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์โดยกลุ่มประเทศในระบอบทุนนิยมและสาธารณรัฐสเปน ในขณะที่รัสเซียในช่วงการปฏิวัติ นักอนาธิปไตยอย่างเนสเตอร์ มักห์โน ดำเนินกิจกรรมจัดตั้งและปกป้องดินแดนเสรีในยูเครนผ่านกองทัพปฏิวัติ-จราจลยูเครน และกลุ่มผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่กองกำลังของฝ่ายบอลเชวิกในปี ค.ศ. 1921

ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์

แก้

ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์คือรูปแบบหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ทางศาสนาซึ่งมีหลักพื้นฐานอยู่บนศาสนาคริสต์ เป็นทฤษฎีการเมืองและศาสนศาสตร์ที่มองว่าคำสอนของพระเยซูบังคับให้ชาวคริสต์สนับสนุนลัทธิสังคมนิยมในฐานะระบอบสังคมในอุดมคติ และแม้จะไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ก่อตั้งเมื่อใด แต่นักคริสเตียนคอมมิวนิสต์หลายคนพยายามนำเสนอหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิลที่บ่งชี้ว่าชาวคริสต์ยุคแรก (รวมถึงอัครทูต) ได้ก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กของตนเองหลังการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระเยซู ด้วยเหตุนี้ผู้สนับสนุนลัทธิดังกล่าวจึงมักจะเสนอว่าพระเยซูคริสต์เป็นผู้สอนและอัครทูตเป็นผู้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติใช้ด้วยตนเอง

ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ยังถูกมองว่าเป็นรูปแบบสุดโต้งของลัทธิคริสเตียนสังคมนิยม คริสเตียนคอมมิวนิสต์จึงอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับลัทธิมากซ์ในทุกประเด็น เช่น การที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางอเทวนิยมและต่อต้านศาสนาของฝ่ายฆราวาสนิยมในลัทธิมากซ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับแง่มุมทางเศรษฐกิจและอัตถิภาวนิยมหลาย ๆ ประเด็นของทฤษฎีมากซิสต์ เช่น แนวคิดที่ว่าระบอบทุนนิยมเอาเปรียบชนชั้นแรงงานด้วยการรีดไถมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานในรูปของกำไร และแนวคิดที่ว่าระบบแรงงานว่าจ้าง (wage labor) เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์เกิดความแปลกแยก (alienation) ซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจหน้าที่ที่ไม่ยุติธรรมและฉาบฉวย นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกับลัทธิมากซ์ด้วยว่าระบอบทุนนิยมก่อให้เกิดแง่มุมด้านลบของมนุษย์ แทนที่ค่านิยมด้านบวก เช่น ความเมตตา ความกรุณา ความยุติธรรม และความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความโลภ ความเห็นแก่ตัว และความมักใหญ่ใฝ่สูง

ข้อวิจารณ์

แก้

ข้อวิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ มีการพยายามจัตตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ในตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[61] และสิ่งอื่น ๆ กับพวกเขาทั้งหลายที่เกี่ยวกับกฎและหลักการต่าง ๆ ของลัทธิคอมมิวนิสต์[62]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. Ball, Terence; Dagger, Richard. (2019) [1999]. "Communism" (revised ed.). Encyclopædia Britannica. Retrieved 10 June 2020.
  2. "Communism". World Book Encyclopedia (Ci–Cz) . 4. Chicago: World Book. 2008. p. 890. ISBN 978-0-7166-0108-1.
  3. Kinna, Ruth (2012). Berry, Dave; Kinna, Ruth; Pinta, Saku; Prichard, Alex (บ.ก.). Libertarian Socialism: Politics in Black and Red. London: Palgrave Macmillan. pp. 1–34. ISBN 9781137284754.
  4. Richard Pipes Communism: A History (2001) ISBN 978-0-8129-6864-4, pp. 3–5.
  5. The Cambridge History of Iran Volume 3, The Seleucid, Parthian and Sasanian Period, edited by Ehsan Yarshater, Parts 1 and 2, p. 1019, Cambridge University Press (1983)
  6. Ermak, Gennady (2016). Communism: The Great Misunderstanding. ISBN 1533082898.
  7. Lansford 2007, pp. 24–25
  8. "Diggers' Manifesto". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-29. สืบค้นเมื่อ 2011-07-19.
  9. 9.0 9.1 Bernstein 1895.
  10. "Communism" A Dictionary of Sociology. John Scott and Gordon Marshall. Oxford University Press 2005. Oxford Reference Online. Oxford University Press.
  11. 11.0 11.1 11.2 "Communism." Encyclopædia Britannica. 2006. Encyclopædia Britannica Online.
  12. Russia in the Twentieth Century: The Quest for Stability. David R. Marples. p. 38
  13. How the Soviet Union is Governed. Jerry F. Hough. p. 81
  14. The Life and Times of Soviet Socialism. Alex F. Dowlah, John E. Elliott. p. 18
  15. Marc Edelman, "Late Marx and the Russian road: Marx and the 'Peripheries of Capitalism'"—book reviews. Monthly Review, Dec., 1984
  16. Holmes 2009, p. 18.
  17. Norman Davies. "Communism" The Oxford Companion to World War II. Ed. I. C. B. Dear and M. R. D. Foot. Oxford University Press, 2001.
  18. Sedov, Lev (1980). The Red Book on the Moscow Trial: Documents. New York: New Park Publications. ISBN 0-86151-015-1
  19. "Kushtetuta e Republikës Popullore Socialiste të Shqipërisë : [miratuar nga Kuvendi Popullor më 28. 12. 1976]. – SearchWorks (SULAIR)" (ภาษาแอลเบเนีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-29. สืบค้นเมื่อ 3 June 2011.
  20. Georgakas, Dan (1992). "The Hollywood Blacklist". Encyclopedia of the American Left. University of Illinois Press.
  21. Declaration № 142-Н of the Soviet of the Republics of the Supreme Soviet of the Soviet Union, formally establishing the dissolution of the Soviet Union as a state and subject of international law. (รัสเซีย)
  22. "Gorbachev, Last Soviet Leader, Resigns; U.S. Recognizes Republics' Independence". New York Times. สืบค้นเมื่อ April 27, 2015.
  23. "The End of the Soviet Union; Text of Declaration: 'Mutual Recognition' and 'an Equal Basis'". The New York Times. December 22, 1991. สืบค้นเมื่อ March 30, 2013.
  24. "Gorbachev, Last Soviet Leader, Resigns; U.S. Recognizes Republics' Independence". The New York Times. สืบค้นเมื่อ March 30, 2013.
  25. "Nepal's election The Maoists triumph Economist.com". Economist.com. April 17, 2008. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011. สืบค้นเมื่อ October 18, 2009.
  26. "Fighting Poverty: Findings and Lessons from China's Success". World Bank. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-29. สืบค้นเมื่อ August 10, 2006.
  27. Marx, Karl. The German Ideology. 1845. Part I: Feuerbach. Opposition of the Materialist and Idealist Outlook. A. Idealism and Materialism. "Communism is for us not a state of affairs which is to be established, an ideal to which reality [will] have to adjust itself. We call communism the real movement which abolishes the present state of things. The conditions of this movement result from the premises now in existence."
  28. Engels, Friedrich. Marx & Engels Selected Works, Volume One, pp. 81–97, Progress Publishers, Moscow, 1969. "Principles of Communism". #4 – "How did the proletariat originate?"
  29. 29.0 29.1 "State capitalism" in the Soviet Union เก็บถาวร 2019-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, M.C. Howard and J.E. King
  30. "To the Rural Poor" (1903). Collected Works. vol. 6. p. 366.
  31. Г. Лисичкин (G. Lisichkin), Мифы и реальность, Новый мир (Novy Mir), 1989, № 3, p. 59 (รัสเซีย).
  32. Александр Бутенко (Aleksandr Butenko), Социализм сегодня: опыт и новая теория// Журнал Альтернативы, №1, 1996, pp. 2–22 (รัสเซีย).
  33. Contemporary Marxism, issues 4–5. Synthesis Publications, 1981. p. 151. "[S]ocialism in one country, a pragmatic deviation from classical Marxism".
  34. North Korea Under Communism: Report of an Envoy to Paradise. Cornell Erik. p. 169. "Socialism in one country, a slogan that aroused protests as not only it implied a major deviation from Marxist internationalism, but was also strictly speaking incompatible with the basic tenets of Marxism".
  35. Ermak, Gennady (2016). Communism: The Great Misunderstanding. ISBN 1533082898.
  36. A Critique of the Draft Social-Democratic Program of 1891. "Marx & Engels Collected Works", Vol 27, p. 217. "If one thing is certain it is that our party and the working class can only come to power under the form of a democratic republic. This is even the specific form for the dictatorship of the proletariat".
  37. "Socialism: Utopian and Scientific". Friedrich Engels. Part III. Progress Publishers. "But, the transformation—either into joint-stock companies and trusts, or into State-ownership—does not do away with the capitalistic nature of the productive forces".
  38. "Socialism: Utopian and Scientific". Friedrich Engels. Part III. Progress Publishers. "The proletariat seizes the public power, and by means of this transforms the socialized means of production, slipping from the hands of the bourgeoisie, into public property. By this act, the proletariat frees the means of production from the character of capital they have thus far borne, and gives their socialized character complete freedom to work itself out".
  39. History for the IB Diploma: Communism in Crisis 1976–89. Allan Todd. p. 16. "The term Marxism–Leninism, invented by Stalin, was not used until after Lenin's death in 1924. It soon came to be used in Stalin's Soviet Union to refer to what he described as 'orthodox Marxism'. This increasingly came to mean what Stalin himself had to say about political and economic issues." [...] "However, many Marxists (even members of the Communist Party itself) believed that Stalin's ideas and practices (such as socialism in one country and the purges) were almost total distortions of what Marx and Lenin had said".
  40. Pierce, Wayne.Libertarian Marxism's Relation to Anarchism. "The Utopian". 73–80.
  41. Hermann Gorter, Anton Pannekoek and Sylvia Pankhurst (2007). Non-Leninist Marxism: Writings on the Workers Councils. St. Petersburg, Florida: Red and Black Publishers. ISBN 978-0-9791813-6-8.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  42. Marot, Eric. "Trotsky, the Left Opposition and the Rise of Stalinism: Theory and Practice"
  43. The Retreat of Social Democracy ... Re-imposition of Work in Britain and the 'Social Europe'. Aufheben. Issue No. 8. 1999.
  44. Ernesto Screpanti, Libertarian Communism: Marx Engels and the Political Economy of Freedom, Palgrave Macmillan, London, 2007.
  45. Hal Draper (1971). The Principle of Self-Emancipation in Marx and Engels. The Socialist Register. สืบค้นเมื่อ April 25, 2015.
  46. Chomsky, Noam. "Government In The Future" Poetry Center of the New York YM-YWHA. Lecture.
  47. "A libertarian Marxist tendency map". libcom.org. สืบค้นเมื่อ October 1, 2011.
  48. Non-Leninist Marxism: Writings on the Workers Councils (includes texts by Gorter, Pannekoek, Pankhurst and Rühle), Red and Black Publishers, St. Petersburg, Florida, 2007. ISBN 978-0-9791813-6-8.
  49. "The Legacy of De Leonism, part III: De Leon's misconceptions on class struggle". Internationalism. 2000–2001.
  50. Alan James Mayne (1999). From Politics Past to Politics Future: An Integrated Analysis of Current and Emergent Paradigms. Greenwood Publishing Group. p. 316. ISBN 978-0-275-96151-0.
  51. Anarchism for Know-It-Alls. Filiquarian Publishing. 2008. ISBN 978-1-59986-218-7.
  52. Fabbri, Luigi (13 October 2002). "Anarchism and Communism. Northeastern Anarchist #4. 1922". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 July 2011.
  53. Makhno, Mett, Arshinov, Valevski, Linski (Dielo Trouda) (1926). "Constructive Section". The Organizational Platform of the Libertarian Communists. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  54. 54.0 54.1 ""What is Anarchist Communism?" by Wayne Price". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.
  55. Christopher Gray, Leaving the Twentieth Century, p. 88.
  56. Novatore, Renzo. "Towards the creative Nothing". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.
  57. "Bob Black. Nightmares of Reason". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.
  58. "Communism is the one which guarantees the greatest amount of individual liberty—provided that the idea that begets the community be Liberty, Anarchy ... Communism guarantees economic freedom better than any other form of association, because it can guarantee wellbeing, even luxury, in return for a few hours of work instead of a day's work". Kropotkin, Peter. "Communism and Anarchy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.
  59. This other society will be libertarian communism, in which social solidarity and free individuality find their full expression, and in which these two ideas develop in perfect harmony. Dielo Truda (Workers' Cause). "Organisational Platform of the Libertarian Communists". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.
  60. "I see the dichotomies made between individualism and communism, individual revolt and class struggle, the struggle against human exploitation and the exploitation of nature as false dichotomies and feel that those who accept them are impoverishing their own critique and struggle". "MY PERSPECTIVES – Willful Disobedience Vol. 2, No. 12". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 29, 2011.
  61. Bruno Bosteels, The actuality of communism (Verso Books, 2014)
  62. Raymond C. Taras, The Road to Disillusion: From Critical Marxism to Post-communism in Eastern Europe (Routledge, 2015).

บรรณานุกรม

แก้

หนังสือเพิ่มเติม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้