มีฮาอิล กอร์บาชอฟ
มีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ[1][a] (รัสเซีย: Михаи́л Серге́евич Горбачёв) (2 มีนาคม ค.ศ. 1931 – 30 สิงหาคม ค.ศ. 2022) เป็นนักการเมืองชาวโซเวียตและรัสเซีย เป็นผู้นำคนที่ 8 และคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต ดำรงแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต ระหว่าง ค.ศ. 1985 ถึง ค.ศ. 1991 ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารสูงสุดแห่งสภาโซเวียตสูงสุด ระหว่าง ค.ศ. 1988 ถึง ค.ศ. 1989 ดำรงตำแหน่งประธานสภาโซเวียตสูงสุดระหว่าง ค.ศ. 1989 ถึง ค.ศ. 1990 และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโซเวียต ระหว่าง ค.ศ. 1990 ถึง ค.ศ. 1991 จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย กอร์บาชอฟเคยมีอุดมการณ์แบบลัทธิมากซ์–เลนิน แต่เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมในคริสต์ทศวรรษ 1990
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ | |
---|---|
Михаил Горбачёв | |
กอร์บาชอฟ ใน ค.ศ. 1989 | |
ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต | |
ดำรงตำแหน่ง 15 มีนาคม ค.ศ. 1990 – 25 ธันวาคม ค.ศ. 1991 (1 ปี 285 วัน) | |
รองประธานาธิบดี | เกนนาดี ยานาเยฟ |
ก่อนหน้า | ตนเอง (ประธานสภาโซเวียตสูงสุด) |
ถัดไป | ล่มสลาย |
เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต | |
ดำรงตำแหน่ง 11 มีนาคม ค.ศ. 1985 – 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 (6 ปี 166 วัน) | |
ก่อนหน้า | คอนสตันติน เชียร์เนนโค |
ถัดไป | วลาดีมีร์ อีวัชโก (รักษาการ) |
ประธานสภาโซเวียตสูงสุด | |
ดำรงตำแหน่ง 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 – 15 มีนาคม ค.ศ. 1990 (0 ปี 294 วัน) | |
ก่อนหน้า | ตนเอง (ประธานคณะผู้บริหารสูงสุดแห่งสภาโซเวียตสูงสุด) |
ถัดไป | ตนเอง (ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต) |
ประธานคณะผู้บริหารสูงสุดแห่งสภาโซเวียตสูงสุด | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม ค.ศ. 1988 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 (0 ปี 236 วัน) | |
ก่อนหน้า | อันเดรย์ โกรมืยโค |
ถัดไป | ตนเอง (ในตำแหน่งประธานสภาโซเวียตสูงสุด) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 2 มีนาคม ค.ศ. 1931 ปรีวอลโนเย, ดินแดนสตัฟโรปอล, สาธารณรัฐรัสเซีย สหภาพโซเวียต |
เสียชีวิต | 30 สิงหาคม ค.ศ. 2022 มอสโก ประเทศรัสเซีย | (91 ปี)
ศาสนา | ไม่มี |
พรรคการเมือง | อิสระ (ค.ศ. 1991–2000, ค.ศ. 2013–2022) |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น |
|
คู่สมรส | ไรซา กอร์บาโชวา (สมรส ค.ศ. 1953–1999) |
ลายมือชื่อ | |
กอร์บาชอฟมีเชื้อสายยูเครนและรัสเซีย เขาเกิดที่เมืองปรีวอลโนเย ดินแดนสตัฟโรปอล ครอบครัวเป็นชาวไร่ยากจน กอร์บาชอฟเติบโตขึ้นมาภายใต้การปกครองของโจเซฟ สตาลิน ในวัยหนุ่มกอร์บาชอฟทำงานเกี่ยวกับรถเกี่ยวข้าวในฟาร์มนารวมก่อนที่จะเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลานั้นสหภาพโซเวียตปกครองในฐานะรัฐพรรคเดียวตามการตีความหลักอุดมการณ์ลัทธิมากซ์–เลนินที่แพร่หลาย ขณะศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมอสโก เขาแต่งงานกับไรซา ตีตาเลนโค เพื่อนนักศึกษาใน ค.ศ. 1953 ก่อนที่จะได้รับปริญญาทางกฎหมายใน ค.ศ. 1955 กอร์บาชอฟย้ายไปอยู่ที่สตัฟโรปอล เขาทำงานให้กับคอมโซมอล และหลังจากการตายของสตาลิน เขาเป็นแกนนำสนับสนุนนโยบายการปฏิรูปและการล้มล้างอิทธิพลของสตาลินของนีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียต เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคที่หนึ่งของคณะกรรมการระดับภูมิภาคประจำสตัฟโรโปลใน ค.ศ. 1970 ซึ่งระหว่างดำรงตำแหน่ง เขาดูแลการก่อสร้างคลองเกรตสตัฟโรปอล ใน ค.ศ. 1978 กอร์บาชอฟเดินทางไปกรุงมอสโกเพื่อรับตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการกลางของพรรค และใน ค.ศ. 1979 ก็ได้เป็นสมาชิกโปลิตบูโร ภายในสามปีหลังจากการอสัญกรรมของเลโอนิด เบรจเนฟ ผู้นำโซเวียต ตามด้วยยูรี อันโดรปอฟ และคอนสตันติน เชียร์เนนโค ที่ปกครองในช่วงเวลาสั้น ๆ โปลิตบูโรได้เลือกกอร์บาชอฟเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และหัวหน้ารัฐบาลโดยพฤตินัยใน ค.ศ. 1985
กอร์บาชอฟเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งสำคัญเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากภัยพิบัติเชียร์โนบีลใน ค.ศ. 1986 แม้จะมุ่งมั่นที่จะรักษารัฐโซเวียตและอุดมการณ์สังคมนิยม เขาถอนกำลังจากสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถานและเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐเพื่อจำกัดอาวุธนิวเคลียร์และยุติสงครามเย็น ในประเทศ นโยบาย "กลัสนอสต์" ("การเปิดกว้าง") ทำให้เสรีภาพในการพูดและสื่อเพิ่มขึ้น ในขณะที่ "เปเรสตรอยคา" ("การปรับโครงสร้าง") พยายามกระจายอำนาจการตัดสินใจทางเศรษฐกิจเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ มาตรการการทำให้เป็นประชาธิปไตยและการก่อตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งได้บ่อนทำลายระบบรัฐพรรคเดียว กอร์บาชอฟปฏิเสธที่จะเข้าแทรกแซงทางทหารเมื่อหลายประเทศในกลุ่มตะวันออกละทิ้งการปกครองแบบมากซ์–เลนินใน ค.ศ. 1989-1990 ภายในสหภาพโซเวียต ความรู้สึกชาตินิยมที่เพิ่มมากขึ้นขู่ว่าจะสลายสหภาพโซเวียต และมีกลุ่มหัวรุนแรงมากซ์–เลนินพยายามก่อรัฐประหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ สหภาพโซเวียตล่มสลาย กอร์บาชอฟลาออกจากตำแหน่ง หลังจากออกจากตำแหน่ง เขาได้ก่อตั้งมูลนิธิกอร์บาชอฟและกลายเป็นผู้วิจารณ์ประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซินและวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และรณรงค์ขบวนการสังคมประชาธิปไตยในรัสเซีย กอร์บาชอฟเสียชีวิตใน ค.ศ. 2022 หลังจากล้มป่วยมาระยะหนึ่ง
กอร์บาชอฟถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญที่สุดในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง เขาได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางสำหรับบทบาทสำคัญของเขาในการยุติสงครามเย็น นำเสนอเสรีภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจใหม่ในสหภาพโซเวียต และยอมทนทั้งการล่มสลายของระบอบมากซ์–เลนิน ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางและการรวมประเทศเยอรมนี แต่เขามักถูกเย้ยหยันในรัสเซียและรัฐอื่น ๆ ในอดีตสหภาพโซเวียตที่เร่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้อิทธิพลทั่วโลกของรัสเซียตกต่ำลงและก่อให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
หมายเหตุ
แก้- ↑ รัสเซีย: Михаил Сергеевич Горбачёв, อักษรโรมัน: Mikhail Sergeyevich Gorbachyov, สัทอักษรสากล: [mʲɪxɐˈil sʲɪrˈɡʲejɪvʲɪtɕ ɡərbɐˈtɕɵf] ( ฟังเสียง)
อ้างอิง
แก้- ↑ สัญชัย สุวังบุตร (2547). ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม และคณะ (บ.ก.). สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (pdf). Vol. 1 (อักษร A-B) (3 ed.). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. p. 85. ISBN 974-9588-25-8. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2555.
ก่อนหน้า | มีฮาอิล กอร์บาชอฟ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สถาปนาตำแหน่ง | ประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1990 - 1991) |
ยุบตำแหน่ง | ||
คอนสตันติน เชียร์เนนโค | เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ค.ศ. 1985 - 1991) |
วลาดิมีร์ อิวัชโก | ||
คอราซอน อากีโน | บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ (ค.ศ. 1987) |
โลก | ||
โลก | บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ บุคคลแห่งทศวรรษ (ค.ศ. 1989) |
จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช |