ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม นักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์ และราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์[1] และ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร (ส.ส.พระนคร) กับกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กรุงเทพมหานคร) พรรคประชาธิปัตย์ รวม 4 สมัย
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 24 มีนาคม พ.ศ. 2461 อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา |
เสียชีวิต | 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 (85 ปี) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร |
เชื้อชาติ | ไทย |
อาชีพ | นักการเมือง, กวี และ นักเขียน |
ประวัติ
แก้ณัฐวุฒิ เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2461[2][3] ที่บ้านน้ำโอ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรทั้งหมด 4 คน ของรัง เกื้อหนุน ผู้เป็นบิดา และสาย สุทธิสงคราม ผู้เป็นมารดา
เมื่อวัยเด็กได้เริ่มเรียนหนังสือ ก.ข. และมโนจากบิดา[2] เมื่ออายุได้ 8 ปีเศษ นายรังผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรมลง จึงได้เรียนหนังสือขอม และหนังสือไทยกับพระอาจารย์ยอด วัดโรง ต่อมาปี พ.ศ. 2471 ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล ต.บ้านโรง จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 และเรียนต่อที่โรงเรียนธัญญะเจริญ โรงเรียนประจำอำเภอระโนด จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2475 และเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ระหว่างเรียนนั้น ณัฐวุฒิ มีความตั้งใจจะเขียนหนังสือชีวประวัติของคนไทย โดยกล่าวไว้ว่า[4]
เรื่องเขียนหนังสือชีวประวัติคนไทยนั้น ได้ตั้งใจและคิดมาตั้งแต่เด็ก เพราะได้อ่านแต่ชีวประวัติของชาวต่างประเทศแทบทั้งสิ้น เหมือนกับเมืองไทยไม่มีคนดี ไม่มีวีรบุรุษ มหาบุรุษ จึงไม่มีหนังสือชีวประวัติท่านเหล่านั้น
เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ สอบได้เป็นนักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. (รุ่นแรก) และสอบมัธยมศึกษาปีที่ 8 ได้ด้วย[5] จึงได้ลาออกจากแผนกเตรียมปริญญามาเรียนกฎหมายจนจบชั้นปริญญาตรีจากนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2487[2]
ชีวิตครอบครัว สมรสกับ ประจบ รัตนวิเชียร มีบุตรชายหญิงอย่างละหนึ่งคน
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจและหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546[6] [7] สิริอายุรวม 86 ปี
การทำงาน
แก้ณัฐวุฒิ ประกอบอาชีพเป็นทนายความ ประจำสำนักงานกฎหมายเสนีย์อรรถการีย์ และสำนักงานกฎหมายศิริธรรม และรับราชการเป็นข้าราชการชั้นตรี ในกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี
งานการเมือง
แก้ในทางการเมือง ถือเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคเบื้องต้นก่อตั้งพรรค ด้วยการเป็นกรรมการบริหารและบรรณารักษ์ ดูแลงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ของพรรคเป็นคนแรก รวมถึงเป็นทนายความว่าความให้พรรคประชาธิปัตย์ จากการถูกฟ้องจาก ผัน สุขสำราญ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งถือเป็นคดีความครั้งแรกของทางพรรคด้วย
ณัฐวุฒิ ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในจังหวัดพระนคร เมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ครั้งแรก แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนมาทั้งหมด 75,784 คะแนน เป็นลำดับที่ 14 (จากทั้งหมด 9 ลำดับ) และได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งซ่อมแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2501 พร้อมกับสมาชิกพรรครุ่นเดียวกัน เช่น เล็ก นานา, สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์, พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นต้น
จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเทศมนตรีนครกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2511 และเป็น ส.ส.พระนคร อีกครั้ง ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 และเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร 2 สมัย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 และพ.ศ. 2519
เขาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[8]
ผลงาน
แก้นอกจากงานการเมืองแล้ว ณัฐวุฒิยังเป็นนักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศมากมาย รวมถึงชีวประวัติบุคคลสำคัญต่าง ๆ ด้วย เช่น พระประวัติและนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. 2505), ผู้สร้างวรรณกรรม (พ.ศ. 2520), นายควง อภัยวงศ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2522), ในหลวงอานันท์ (พ.ศ. 2522) เป็นต้น และได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นราชบัณฑิต ประเภทประวัติศาสตร์
ผลงานส่วนใหญ่ของ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม จำกัดเฉพาะในแวดวงสถาบันกษัตริย์และกลุ่มชนชั้นปกครอง[2] มีการสอดแทรกคำวิพากษ์วิจารญ์และตั้งสมมุติฐานจากหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองประกอบตามสมควร และมีแนวความคิดจากอิทธิพลปรัชญาประวัติศาสตร์ของพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (ความรู้สึกชาตินิยม) ร่วมกัน เช่น ชีวประวัติของเจ้าพระยาส่วนใหญ่ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ใช้พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหลักในการค้นคว้าเรียบเรียงงานเขียนของเขา[9] และใช้เอกสารจากผู้แต่งท่านอื่น ๆ หลายท่าน ผลงานที่สำคัญของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เช่น[2]
ประเภทชีวประวัติบุคคล
แก้- สมเด็จพระนางเรือล่ม
- บุรุษอาชาไนย และพระเกียรติประวัติ ร.๔
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อัครเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑-๒
- สามจอมพล
- ชีวิตและเกียรติคุณ แห่งพระอาจารย์ ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม สมุทรปราการ
- พระประวัติและพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- พระประวัติและงานสำคัญของจอมพล กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
- สามเจ้าพระยา
- จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- ๒๙ เจ้าพระยา (ฉบับพิศดาร)
- โอรสลับพระเจ้าตาก
- ๒๗ เจ้าพระยา
- เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
- กษัตริย์วังหน้า
- พระประวัติและงานสำคัญของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
- พระบรมราชินี กรุงรัตนโกสินทร์
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร กรุงรัตนโกสินทร์
- ชีวประวัติ เจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ (ฉบับย่อ)
- ชีวิตและงานกวีนิพนธ์ของคุณพุ่ม จินตกวีสตรี
- พระประวัติและงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
- ใครเป็นใคร ในพรรคประชาธิปัตย์ (อัตชีวประวัติ)
- ผู้สร้างวรรณกรรม
- นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์
- ในหลวงอานันท์
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ถวายชีวิตรักษาแผ่นดินอีสาน
ประเภทสารคดี ตำนาน และประวัติพระพุทธรูป
แก้- พระบัวเข็มในประเทศไทย
- พระพุทธไพรีพินาศ
- ประวัติพระบัวเข็มองสรภาณธุรส (เป้า) พระพิมพ์ พระกริ่ง ๕ ภาค
- ประวัติ ๓ คณาจารย์
- ปูชนียวัตถุสถานของไทย
ประเภทฉันทลักษณ์และวรรณดคี
แก้- วรรณกรรมปักษ์ใต้
- โคลงนิราศนครสวรรค์
- พระลอคำกลอนกับชีวิตและงานวรรณกรรม ของ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม)
ประเภทบทความประกอบหนังสือ
แก้- สารากร เล่ม 1-5
- ชีวิตในประวัติศาสตร์
- สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แดนดอกพยอมไพร
- กรรมลิขิต
- การค้าของไทย สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งกรุงศรีอยุธยา
- เจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยาบางท่านในสกุลบุนนาค
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2530 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[10]
- พ.ศ. 2527 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[11]
อ้างอิง
แก้- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. ท่านเขียนประวัติชีวิตของข้าพเจ้า ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตในประเภทประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, 2526. 156 หน้า.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ณัฏฐวดี ชนะชัย. (2524). "งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม," ใน วารสารธรรมศาสตร์ 10(2): 41-57.
- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2519, 24 มีนาคม). ใครเป็นใครในพรรคประชาธิปัตย์ (บทความอัตชีวประวัติ) และบทสัมภาษณ์ของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. พิมพ์แจกเมื่ออายุครบ 53 ปีบริบูรณ์.
- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. "คำนำ," ใน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คสุ์, 2551. หน้า 7. ISBN 978-974-34157-77
- ↑ ใหม่ รักหมู่. บันทึก ๒๕ นักการเมือง. กรุงเทพฯ : นพรัตน์, 2522.
- ↑ อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
- ↑ นายควง อภัยวงศ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม พ.ศ. 2522
- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. "คำนำ," ใน ๒๙ เจ้าพระยา (ฉบับพิศดาร). พระนคร : ม.ป.ท., 2509. 996 หน้า.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐๑๓, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม บนเว็บไซต์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา