การรวมประเทศเยอรมนี
การรวมประเทศเยอรมนี (เยอรมัน: Deutsche Wiedervereinigung) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1990 เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) รวมประเทศกันเป็นเยอรมนีเดียวที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และได้รวมเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกเป็นนครหนึ่งเดียวด้วยเช่นกัน กระบวนการนี้ถูกระบุไว้โดยรัฐธรรมนูญ กรุนด์เกอเซทซ์ (เยอรมัน: Grundgesetz) มาตรา 23 และเมื่อกระบวนการนี้สิ้นสุดลงก็ถูกขนานนามว่า เอกภาพเยอรมนี (เยอรมัน: Deutsche Einheit) ซึ่งจัดการเฉลิมฉลองทุกวันที่ 3 ตุลาคมของทุกปีในฐานะ วันเอกภาพเยอรมนี (เยอรมัน: Tag der deutschen Einheit)[1] จากการรวมประเทศในครั้งนี้ ส่งผลให้กรุงเบอร์ลินถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมืองหลวงของเยอรมนีอีกครั้งหนึ่ง
จุดเริ่มต้นของการรวมประเทศเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 เมื่อระบอบการปกครองของเยอรมนีตะวันออกเริ่มสั่นคลอนจากการที่สาธารณรัฐประชาชนฮังการีเปิดพรมแดนด้านที่ติดกับออสเตรีย ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ในแนวม่านเหล็กและเกิดการอพยพขนานใหญ่ของชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนหลายพันคน ซึ่งหลบหนีออกจากประเทศไปยังฝั่งตะวันตกและออสเตรียโดยใช้ฮังการีเป็นทางผ่าน นอกจากนี้การปฏิวัติอย่างสงบ (Peaceful Revolution) ซึ่งเป็นระลอกการประท้วงของชาวเยอรมันตะวันออกยังส่งผลให้เกิดการจัดการเลือกตั้งเสรีขึ้นเป็นครั้งแรกในเยอรมนีตะวันออกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1990 และนำไปสู่การเจรจาระหว่างเยอรมนีทั้งสองประเทศถึงประเด็นสนธิสัญญารวมประเทศอีกด้วย[1] ต่อมามีการเจรจาเพิ่มเติมซึ่งชาติมหาอำนาจอีกสี่ชาติที่เคยยึดครองเยอรมนีในอดีตได้มีส่วนร่วมด้วย จึงก่อให้เกิดการลงนามในข้อตกลงของ สนธิสัญญาสองบวกสี่ (สนธิสัญญาว่าด้วยการตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนเยอรมนี) ณ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1990 โดยให้อำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แก่ประเทศเยอรมนีที่รวมกันใหม่ อีกทั้งเป็นการปลดปล่อยเยอรมนีทั้งสองประเทศจากภาระเกี่ยวพันจากข้อจำกัดหลายประการที่เกิดขึ้นในสมัยที่ยังเป็นเขตปกครองของชาติมหาอำนาจด้วยเช่นกัน
หอประชาชนประกาศการภาคยานุวัติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี เข้าสู่ขอบเขตแห่งกฎหมายพื้นฐานสำหรับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตามมาตรา 23 แห่งกฎหมายพื้นฐาน พร้อมให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 ตุลาคม 1990
— ซาบีเนอ แบร์คมัน-โพล ประมุขแห่งรัฐเยอรมนีตะวันออก 23 สิงหาคม 1990
ในทางกฎหมายถือว่าเยอรมนีตะวันออกละทิ้งอธิปไตยของตนเอง และยอมถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) เยอรมนีภายหลังการรวมประเทศ ถือเป็นองค์ภาวะเดียวกันกับเยอรมนีที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า มิใช่ประเทศเกิดใหม่ หรือประเทศผู้สืบสิทธิ์ ด้วยเหตุนี้ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีสามารถดำรงสมาชิกภาพของตนในองค์การระหว่างประเทศอยู่ได้เช่นเดิม เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป, เนโท ฯลฯ ในขณะที่สมาชิกภาพของเยอรมนีตะวันออกที่มีอยู่ในองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ ฯลฯ ถือเป็นอันสิ้นสุดลง
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Vertrag zwischen der Bundesrepublik Deutschland und der Deutschen Demokratischen Republik über die Herstellung der Einheit Deutschlands (Einigungsvertrag) Unification Treaty signed by the Federal Republic of Germany and the German Democratic Republic in Berlin on 31 August 1990 (official text, in German).
บรรณานุกรม
แก้- Maier, Charles S., Dissolution: The Crisis of Communism and the End of East Germany (Princeton University Press, 1997).
- Zelikow, Philip and Condoleezza Rice, Germany Unified and Europe Transformed: A Study in Statecraft (Harvard University Press, 1995 & 1997).
- Jarausch, Konrad H., and Volker Gransow, eds. Uniting Germany: Documents and Debates, 1944–1993 (1994), primary sources in English translation
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- The Unification Treaty (Berlin, 31 August 1990) website of CVCE (Centre of European Studies)
- Hessler, Uwe, "The End of East Germany", dw-world.de, 23 August 2005.
- Berg, Stefan, Steffen Winter and Andreas Wassermann, "Germany's Eastern Burden: The Price of a Failed Reunification", Der Spiegel, 5 September 2005.
- Wiegrefe, Klaus, "An Inside Look at the Reunification Negotiations"Der Spiegel, 29 September 2010.
- "Unfriendly, even dangerous"? Margaret Thatcher and German Unification, Academia.edu, 2016.
- German Embassy Publication, Infocus: German Unity Day[ลิงก์เสีย]
- Problems with Reunification from the Dean Peter Krogh Foreign Affairs Digital Archives