เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต

เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (รัสเซีย: Генеральный секретарь ЦК КПСС) เป็นตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (CPSU) สถาปนาขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1924 จวบจนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้จะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต[2][3] เลขาธิการมีอำนาจควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์โดยตรงในทางนิตินัย แต่ด้วยพรรคมีอำนาจผูกขาดทางการเมือง เลขาธิการจึงมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารของรัฐบาลโซเวียตด้วยในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ เลขาธิการยังถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของสหภาพโซเวียต เนื่องจากความสามารถของตำแหน่งในการกํากับนโยบายระหว่างประเทศและภายในประเทศของรัฐ รวมถึงยังมีอำนาจเหนือพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต

เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์
แห่งสหภาพโซเวียต
Генеральный секретарь ЦК КПСС
ตราประจำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
ผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด
โจเซฟ สตาลิน

3 เมษายน ค.ศ. 1922 – 16 ตุลาคม ค.ศ. 1952
(โดยพฤตินัย 5 มีนาคม ค.ศ. 1953)
คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์
การเรียกขานสหายเลขาธิการ (ไม่เป็นทางการ)
สมาชิกของ
จวนวุฒิสภาเครมลิน[1]
ที่ว่าการเครมลิน มอสโก
ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการกลาง
สถาปนา3 เมษายน 1922; 102 ปีก่อน (1922-04-03)
คนแรกโจเซฟ สตาลิน
คนสุดท้ายวลาดีมีร์ อีวัชโค (รักษาการ)
ยกเลิก29 สิงหาคม 1991; 33 ปีก่อน (1991-08-29)
เงินตอบแทน10,000 รูเบิลโซเวียตต่อปี

ประวัติ

แก้

ก่อนหน้าการปฏิวัติเดือนตุลาคม งานของเลขาธิการพรรคส่วนใหญ่เป็นของข้าราชการ โดยหลังจากการยึดอํานาจของบอลเชวิค ตำแหน่งเลขาธิการรับผิดชอบจึงได้สถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1919 เพื่อดำเนินงานด้านการปกครอง[4] หลังจากบอลเชวิคได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองรัสเซีย ตำแหน่งเลขาธิการจึงก่อตั้งขึ้นโดยวลาดีมีร์ เลนิน เมื่อ ค.ศ. 1922 ด้วยความตั้งใจที่จะตอบสนองวัตถุประสงค์ด้านการบริหารและวินัยอย่างสิ้นเชิง หน้าที่หลักของตำแหน่งคือการกําหนดองค์ประกอบของสมาชิกพรรคและกําหนดตําแหน่งภายในพรรค นอกจากนั้น เลขาธิการยังดูแลการบันทึกกิจกรรมของพรรค รวมถึงได้รับมอบหมายการแจ้งให้ผู้นําพรรคและสมาชิกทราบเกี่ยวกับกิจกรรมของพรรคด้วย

เมื่อมีการก่อตั้งคณะรัฐมนตรี เลนินได้แต่งตั้งโจเซฟ สตาลิน เป็นเลขาธิการ ไม่กี่ปีต่อมา สตาลินได้นำหลักการคติประชาธิปไตยรวมศูนย์มาใช้เพื่อยกสถานะตำแหน่งของเขาให้กลายเป็นหัวหน้าพรรค และท้ายที่สุดเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต[5] ทรอตสกีกล่าวว่าการยกตำแหน่งของสตาลินมาจากคำแนะนำเบื้องต้นของกรีโกรี ซีโนเวียฟ[6] โดยมุมมองดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากนักประวัติศาสตร์จำนวนมาก[7][8] ตามที่วาดิม โรโกวิน นักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซียกล่าวไว้ว่า การรับเลือกตำแหน่งของสตาลินเกิดขึ้นหลังจากการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่สิบเอ็ด (มีนาคม–เมษายน ค.ศ. 1922) และด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ของเลนิน เขาจึงเข้าร่วมการประชุมใหญ่เป็นระยะ ๆ เท่านั้น โดยเข้าร่วมเพียงสี่ครั้งจากการประชุมทั้งสิบสองครั้ง[9]

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้นำบอลเชวิคคนสำคัญอย่างยาคอฟ สเวียร์ดลอฟ เป็นปัจจัยหลักในการยกสถานะตำแหน่งของสตาลินให้กลายเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสเวียร์ดลอฟดํารงตําแหน่งประธานแรกเริ่มของคณะเลขาธิการพรรค และถือว่าเขาเป็นว่าที่เลขาธิการพรรคโดยชอบธรรม[10][11]

ก่อนการถึงแก่อสัญกรรมของเลนินใน ค.ศ. 1924 การดํารงตําแหน่งเลขาธิการของสตาลินถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก[12] ในเดือนสุดท้ายของเลนิน เขาเขียนพินัยกรรมซึ่งเรียกร้องให้ถอดถอนสตาลิน โดยอ้างว่าสตาลินจะกลายเป็นเผด็จการและใช้อํานาจในทางที่ผิด พินัยกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ซึ่งเป็นอันตรายต่อตําแหน่งเลขาธิการของสตาลิน และมีการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดเขาออกจากตําแหน่ง แต่ด้วยความช่วยเหลือจากกรีโกรี ซีโนเวียฟ และเลฟ คาเมเนฟ สตาลินยังคงรอดพ้นจากวิกฤตการณ์และยังคงอยู่ในตำแหน่งเช่นเดิม หลังจากเลนินถึงแก่อสัญกรรม สตาลินเริ่มรวมอำนาจของเขาโดยอาศัยตำแหน่งเลขาธิการ ซึ่งใน ค.ศ. 1928 เขากลายเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตโดยพฤตินัย ในขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการกลายเป็นตำแหน่งสูงสุดของชาติ ต่อมาใน ค.ศ. 1934 ในการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 17 ได้ละเว้นการรับเลือกตำแหน่งเลขาธิการของสตาลินอย่างเป็นทางการ รวมถึงสตาลินยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่เขาเคยเป็นทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นหัวหน้าพรรคโดยไม่ถูกลดทอนอำนาจด้วย[13]

ในทศวรรษ 1950 สตาลินเริ่มลดบทบาทของตนจากคณะเลขาธิการมากขึ้น โดยปล่อยให้เกออร์กี มาเลนคอฟ เป็นผู้ดูแลโครงสร้างพรรค ซึ่งอาจเป็นการทดสอบความสามารถของเขาในฐานะผู้สืบทอดที่มีศักยภาพ[14] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1952 ณ การประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 19 สตาลินปรับโครงสร้างผู้นําของพรรคใหม่ สตาลินกล่าวคำขอของเขาต่อมาเลนคอฟให้ปลดเขาจากเลขาธิการพรรค เนื่องจากอายุของเขา แต่กลับถูกปฏิเสธจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค เนื่องจากผู้แทนไม่แน่ใจเกี่ยวกับความตั้งใจของสตาลิน[15] ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ที่ประชุมได้ยกเลิกตำแหน่งเลขาธิการอย่างเป็นทางการ แม้ว่าสตาลินยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิกเลขาธิการพรรคและมีอำนาจสูงสุดในพรรคก็ตาม[16][17] เมื่อสตาลินถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1953 มาเลนคอฟจึงถือว่าเป็นสมาชิกที่สำคัญที่สุดของคณะเลขาธิการ ซึ่งรวมถึงนีกีตา ครุชชอฟ และคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ของอำนาจตรอยกา ซึ่งประกอบด้วยมาเลนคอฟ เบรียา และโมโลตอฟ มาเลนคอฟกลายเป็นประธานคณะรัฐมนตรี แต่เขาถูกบังคับให้ลาออกจากคณะเลขาธิการในอีกเก้าวันต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม เป็นผลให้ครุชชอฟควบคุมรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ[18] และได้รับเลือกให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการอันดับหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในระหว่างการประชุมคณะกรรมการกลางเมื่อวันที่ 14 กันยายน ปีเดียวกัน ต่อมาครุชชอฟสามารถเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองที่พยายามคัดค้านการปฏิรูปทางการเมืองของเขาได้ ครุชชอฟสามารถลบล้างอำนาจของมาเลนคอฟ, โมโลตอฟ และลาซาร์ คากาโนวิช (หนึ่งในผู้ร่วมงานเก่าแก่และใกล้ชิดกับสตาลินมากที่สุด) ได้อย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1957 ซึ่งความสําเร็จนี้ช่วยเสริมสร้างอํานาจสูงสุดของครุชชอฟในฐานะตําแหน่งเลขาธิการอันดับหนึ่ง[19]

ใน ค.ศ. 1964 ฝ่ายค้านในโปลิตบูโรและคณะกรรมการกลาง ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา นําไปสู่การถอดถอนครุสชอฟออกจากตําแหน่ง เลโอนิด เบรจเนฟ สืบต่อตำแหน่งเลขาธิการอันดับหนึ่งต่อจากครุชชอฟ แต่ในช่วงแรกเป็นการปกครองแบบผู้นำร่วม โดยได้รวมตัวกันเป็นตรอยการ่วมกับอะเลคเซย์ โคซีกิน และนีโคไล ปอดกอร์นืย[20] ตำแหน่งได้รับการเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นเพียง "เลขาธิการ" อีกครั้งใน ค.ศ. 1966[21] ระบบผู้นำร่วมสามารถจำกัดอำนาจของเลขาธิการในระหว่างยุคเบรจเนฟ[22] อิทธิพลของเบรจเนฟเติบโตขึ้นตลอดทศวรรษ 1970 เนื่องจากเขาสามารถรักษาการสนับสนุนโดยหลีกเลี่ยงการปฏิรูปที่รุนแรง[23] หลังจากการอสัญกรรมของเบรจเนฟ ยูรี อันโดรปอฟ และคอนสตันติน เชียร์เนนโค ยังมีอำนาจในการปกครองแบบเดียวกันกับที่เบรจเนฟมี[24] ต่อมามีฮาอิล กอร์บาชอฟ ได้ปกครองสหภาพโซเวียตในฐานะเลขาธิการจนถึง ค.ศ. 1990 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สูญเสียอำนาจผูกขาดเหนือระบบการเมือง ตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพโซเวียตได้รับการสถาปนาขึ้นเพื่อให้กอร์บาชอฟสามารถรักษาบทบาทของเขาในฐานะผู้นําของสหภาพโซเวียตต่อไปได้[25] ภายหลังความล้มเหลวจากเหตุการณ์รัฐประหารเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1991 กอร์บาชอฟจึงประกาศลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ[26] และวลาดีมีร์ อีวัชโค รองเลขาธิการได้รักษาการตำแหน่งของเขาเป็นเวลาห้าวันก่อนที่บอริส เยลต์ซิน จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีรัสเซียคนใหม่ และได้ระงับกิจกรรมทั้งหมดในพรรคคอมมิวนิสต์[27] หลังจากพรรคถูกสั่งห้าม สหภาพแห่งบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์–พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (UCP–CPSU) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยโอเลก เชนิน ใน ค.ศ. 1993 และอุทิศตนเพื่อฟื้นฟูและบูรณะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตอีกครั้ง โดยองค์กรนี้มีสมาชิกมาจากบรรดาสาธารณรัฐโซเวียตเดิมทั้งหมด[28]

รายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง

แก้
ภาพ ชื่อ
(เกิด–เสียชีวิต)
การดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ ระยะเวลา
เลขาธิการชำนาญการแห่งคณะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค)
(ค.ศ. 1918–1919)
  ยาคอฟ สเวียร์ดลอฟ
(ค.ศ. 1885–1919)[29]
ค.ศ. 1918 16 มีนาคม ค.ศ. 1919 † 0–1 ปี สเวียร์ดลอฟดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1919 ซึ่งในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง เขามีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องทางทฤษฎีเป็นหลักมากกว่าเรื่องการเมือง[30]
  เยเลนา สตาโซวา
(ค.ศ. 1873–1966)[31]
มีนาคม ค.ศ. 1919 ธันวาคม ค.ศ. 1919 9 เดือน เมื่อมีการยุบตำแหน่งของเธอ สตาโซวาจึงไม่ถือว่าเป็นคู่แข่งคนสำคัญของตำแหน่งเลขาธิการรับผิดชอบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สืบต่อมาจากประธานคณะเลขาธิการ[32]
เลขาธิการรับผิดชอบแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค)
(ค.ศ. 1919–1922)
  นีโคไล เครสตินสกี
(ค.ศ. 1883–1938)[33]
ธันวาคม ค.ศ. 1919 มีนาคม ค.ศ. 1921 1 ปี 3 เดือน ตำแหน่งเลขาธิการรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่เหมือนกับเลขาธิการ เป็นตำแหน่งที่มีสถานะค่อนข้างระดับล่าง เนื่องจากเครสตินสกียังคงเป็นสมาชิกของโปลิตบูโร ออร์กบูโร และคณะเลขาธิการ อย่างไรก็ตาม เครสตินสกีไม่เคยพยายามสร้างฐานอำนาจอิสระเหมือนดังที่โจเซฟ สตาลิน ได้กระทำในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ[4]
  วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ
(ค.ศ. 1890–1986)[34]
16 มีนาคม ค.ศ. 1921 3 เมษายน ค.ศ. 1922 0 ปี 291 วัน ได้รับการรับเลือกให้เป็นเลขาธิการรับผิดชอบในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 โดยที่ประชุมตัดสินใจว่าตำแหน่งเลขาธิการรับผิดชอบควรรวมอยู่ในโปลิตบูโร เป็นผลให้โมโลตอฟกลายเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งของโปลิตบูโรด้วย[35]
เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพทั้งปวง (บอลเชวิค)
(ค.ศ. 1922–1952)
  โจเซฟ สตาลิน
(ค.ศ. 1878–1953)[36]
3 เมษายน ค.ศ. 1922 5 มีนาคม ค.ศ. 1953 30 ปี 336 วัน สตาลินอาศัยตำแหน่งเลขาธิการในการสร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งให้กับตนเอง โดยในการประชุมพรรคครั้งที่ 17 เมื่อ ค.ศ. 1934 ได้ละเว้นการรับเลือกตำแหน่งเลขาธิการของสตาลินอย่างเป็นทางการ[37] และตำแหน่งก็ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงมากนักหลังจากนั้น[38] ต่อมาใน ค.ศ. 1952 สตาลินได้ยกเลิกตําแหน่ง แต่เขายังคงไว้ซึ่งอํานาจสูงสุดและตําแหน่งของเขาในฐานะประธานคณะรัฐมนตรีจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1953[17] สตาลินดำรงตำแหน่งเลขาธิการยาวนาที่สุดเป็นเวลา 30 ปี 7 เดือน โดยเทียบเป็นเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของการดำรงอยู่ของสหภาพโซเวียต
เลขาธิการอันดับหนึ่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
(ค.ศ. 1953–1966)
  นีกีตา ครุชชอฟ
(ค.ศ. 1894–1971)[39]
14 มีนาคม ค.ศ. 1953 14 ตุลาคม ค.ศ. 1964 11 ปี 30 วัน ครุชชอฟสถาปนาตำแหน่งอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1953 ในชื่อ "เลขาธิการอันดับหนึ่ง" โดยเมื่อ ค.ศ. 1957 เกออร์กี มาเลนคอฟ หัวหน้าสมาชิกกลุ่มต่อต้านพรรคเกือบถอดเขาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกังวลว่าอำนาจของเลขาธิการอันดับหนึ่งนั้นมีแทบไม่จำกัด[40] ครุชชอฟถูกปลดออกจากผู้นําสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1964 และเลโอนิด เบรจเนฟ ได้รับตำแหน่งต่อจากเขา[21]
  เลโอนิด เบรจเนฟ
(ค.ศ. 1906–1982)[41]
14 ตุลาคม ค.ศ. 1964 8 เมษายน ค.ศ. 1966 1 ปี 176 วัน เบรจเนฟเป็นหนึ่งในคณะผู้นำร่วม เขาก่อตั้งระบอบผู้มีอำนาจสามคน (Triumvirate) อย่างไม่เป็นทางการ (หรือที่รู้จักกันในภาษารัสเซียว่าตรอยกา) ควบคู่กับอะเลคเซย์ โคซีกิน หัวหน้ารัฐบาล และนีโคไล ปอดกอร์นืย ผู้เป็นประธานสภาประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1965[20] ตำแหน่งเลขาธิการอันดับหนึ่งเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นเช่นเดิมในระหว่างการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ 23 เมื่อ ค.ศ. 1966[22]
เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
(1966–1991)
  เลโอนิด เบรจเนฟ
(ค.ศ. 1906–1982)[41]
8 เมษายน ค.ศ. 1966 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 † 16 ปี 216 วัน ขอบเขตอํานาจและหน้าที่ของเบรจเนฟในฐานะเลขาธิการเป็นไปอย่างจํากัดภายในคณะผู้นำร่วม[23] แต่ในช่วงทศวรรษ 1970 อิทธิพลของเบรจเนฟเริ่มมากกว่าโคซีกินและปอดกอร์นืย เนื่องด้วยเขาสามารถรักษาการสนับสนุนได้จากการหลีกเลี่ยงการปฏิรูปที่รุนแรง
  ยูรี อันโดรปอฟ
(ค.ศ. 1914–1984)[42]
12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1982 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 † 1 ปี 89 วัน เขากลายเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเบรจเนฟที่ความเป็นไปได้มากที่สุด จากการที่เขาเป็นประธานคณะกรรมการในการจัดการรัฐพิธีศพของเบรจเนฟ[43] อันโดรปอฟใช้รูปแบบเดียวกันกับเบรจเนฟในการปกครองประเทศก่อนที่เขาจะถึงแก่อสัญกรรม[24]
  คอนสตันติน เชียร์เนนโค
(ค.ศ. 1911–1985)[41]
13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1984 10 มีนาคม ค.ศ. 1985 † 1 ปี 25 วัน เชียร์เนนโคในวัย 72 ปี ได้รับเลือกให้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการขณะที่มีสุขภาพแย่ลงอย่างรวดเร็ว[44] เช่นเดียวกันกับอันโดรปอฟ เขาปกครองประเทศในรูปแบบเดียวกับเบรจเนฟ[24]
  มีฮาอิล กอร์บาชอฟ
(ค.ศ. 1931–2022)[45]
11 มีนาคม ค.ศ. 1985 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 6 ปี 166 วัน ในการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนประชาชนใน ค.ศ. 1990 ได้มีการถอดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพโซเวียต ค.ศ. 1977 ออก ส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์สูญเสียสถานะ "พลังผู้นําและชี้นําของสังคมโซเวียต" อํานาจของเลขาธิการถูกลดทอนลงอย่างมาก และตลอดระยะเวลาที่เหลือของการดํารงตําแหน่ง กอร์บาชอฟปกครองประเทศผ่านตำแหน่งประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต[25] เขาลาออกจากพรรคเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 อันเกิดจากผลลัพธ์ของรัฐประหารเดือนสิงหาคม[26]
  วลาดีมีร์ อีวัชโค
(ค.ศ. 1932–1994)
รักษาการ
[46]
24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991 0 ปี 5 วัน เขาได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการ ณ การประชุมใหญ่ครั้งที่ 28 ของพรรค อีวัชโคทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการหลังจากการลาออกของกอร์บาชอฟ แต่เมื่อถึงตอนนั้นพรรคก็ไร้อํานาจทางการเมือง กิจกรรมของพรรคถูกระงับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1991[27] และถูกสั่งห้ามเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน[47]

อ้างอิง

แก้
  1. "ГЛАВНЫЙ КОРПУС КРЕМЛЯ". The VVM Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 January 2018. สืบค้นเมื่อ 27 January 2018.
  2. Armstrong 1986, p. 93.
  3. "Soviet Union – General Secretary: Power and Authority". www.country-data.com. สืบค้นเมื่อ 2022-11-28.
  4. 4.0 4.1 Fainsod & Hough 1979, p. 126.
  5. Fainsod & Hough 1979, pp. 142–146.
  6. Trotsky, Leon (1970). Writings of Leon Trotsky: 1936–37 (ภาษาอังกฤษ). Pathfinder Press. p. 9.
  7. Brackman, Roman (23 November 2004). The Secret File of Joseph Stalin: A Hidden Life (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 136. ISBN 978-1-135-75840-0.
  8. Marples, David R.; Hurska, Alla (23 August 2022). Joseph Stalin: A Reference Guide to His Life and Works (ภาษาอังกฤษ). Rowman & Littlefield. p. 270. ISBN 978-1-5381-3361-3.
  9. Rogovin, Vadim (2021). Was There an Alternative? Trotskyism: a Look Back Through the Years (ภาษาอังกฤษ). Mehring Books. p. 61. ISBN 978-1-893638-97-6.
  10. Mccauley, Martin (13 September 2013). Stalin and Stalinism: Revised 3rd Edition (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 35. ISBN 978-1-317-86369-4.
  11. Ragsdale, Hugh (1996). The Russian Tragedy: The Burden of History (ภาษาอังกฤษ). M.E. Sharpe. p. 198. ISBN 978-1-56324-755-2.
  12. "What Lenin's Critics Got Right". Dissent Magazine. สืบค้นเมื่อ 2022-02-22.
  13. "Secretariat, Orgburo, Politburo and Presidium of the CC of the CPSU in 1919–1990 – Izvestia of the CC of the CPSU" (ภาษารัสเซีย). 7 November 1990. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 November 2011. สืบค้นเมื่อ 21 October 2011.
  14. Z. Medvedev & R. Medvedev 2006, p. 40.
  15. Z. Medvedev & R. Medvedev 2006, p. 40-41.
  16. Geoffrey Roberts, Stalin's Wars: From World War to Cold War, 1939 – 1953, p. 345.
  17. 17.0 17.1 Brown 2009, pp. 231–232.
  18. Ra'anan 2006, pp. 29–31.
  19. Ra'anan 2006, p. 58.
  20. 20.0 20.1 Brown 2009, p. 403.
  21. 21.0 21.1 Service 2009, p. 378.
  22. 22.0 22.1 McCauley 1997, p. 48.
  23. 23.0 23.1 Baylis 1989, pp. 98–99 & 104.
  24. 24.0 24.1 24.2 Baylis 1989, p. 98.
  25. 25.0 25.1 Kort 2010, p. 394.
  26. 26.0 26.1 Radetsky 2007, p. 219.
  27. 27.0 27.1 McCauley 1997, p. 105.
  28. Backes & Moreau 2008, p. 415.
  29. Williamson 2007, p. 42.
  30. Zemtsov 2001, p. 132.
  31. McCauley 1997, p. 117.
  32. Noonan 2001, p. 183.
  33. Rogovin 2001, p. 38.
  34. Phillips 2001, p. 20.
  35. Grill 2002, p. 72.
  36. Brown 2009, p. 59.
  37. Rappaport 1999, pp. 95–96.
  38. Ulam 2007, p. 734.
  39. Taubman 2003, p. 258.
  40. Ra'anan 2006, p. 69.
  41. 41.0 41.1 41.2 Chubarov 2003, p. 60.
  42. Vasil'eva 1994, pp. 218.
  43. White 2000, p. 211.
  44. Service 2009, pp. 433–435.
  45. Service 2009, p. 435.
  46. McCauley 1998, p. 314.
  47. Указ Президента РСФСР от 6 ноября 1991 г. № 169 «О деятельности КПСС и КП РСФСР»

บรรณานุกรม

แก้