ยุคเรืองปัญญา

สมัยภูมิธรรม

ยุคเรืองปัญญา (อังกฤษ: Age of Enlightenment; ฝรั่งเศส: Siècle des Lumières) หรือ ยุคแสงสว่าง เป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมของเหล่าปัญญาชนในยุโรปและอาณานิคมบนทวีปอเมริกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปสังคมและส่งเสริมการใช้หลักเหตุผลมากกว่าการใช้หลักจารีต หรือสิทธันตนิยม (dogmatism) ความเชื่อ และการเปิดเผยจากพระเจ้า รวมไปถึงส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง การเคลื่อนไหวในยุคเรืองปัญญาให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อเสรีภาพในการแสดงออก และการแลกเปลี่ยนความรู้หรือการใช้ปัญญา เพื่อต่อต้านความเชื่อทางไสยศาสตร์[1] โมหาคติ และการสั่งสอนที่เคลือบคลุมหรือไม่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม (obscurantism) จากทางคริสตจักรและรัฐบาล ลักษณะที่สำคัญของทัศนคติในยุคเรืองปัญญา คือ แนวคิดมนุษย์นิยมที่เชื่อในตัวมนุษย์และสติปัญญาของมนุษย์ว่าสามารถเข้าใจถึงความจริงของทั้งโลกกายภาพ และของปัญหาทางจริยธรรมและการปกครองในสังคมมนุษย์ได้ โดยไม่จำต้องยอมศิโรราบต่อจารีตที่สืบทอดกันมา ภาษิตประจำใจที่ใช้กันแพร่หลายของปัญญาชนในยุคนี้ ได้แก่ ภาษิตละตินว่า Sapere aude ("จงกล้าที่จะใช้ปัญญา").[2]

ฌ็อง-ฌัก รูโซ บุคคลสำคัญจากยุคเรืองปัญญา

ยุคเรืองปัญญาเริ่มตั้นขึ้นในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1650 - 1700 โดยถูกจุดประกายจากเหล่านักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น เรอเน เดการ์ต (1596–1650), บารุค สปิโนซา (1632–1677), จอห์น ล็อก (1632–1704), ปิแยร์ เบย์ล (1647–1706), ไอแซก นิวตัน (1643–1727), วอลแตร์ (1694–1778). จุดเริ่มต้นของยุคเรืองปัญญามีที่มาจากการผนวกเข้าด้วยกันของอุดมคติว่าด้วยมนุษย์นิยมของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ กับการบุกเบิกความรู้และการค้นพบในสาขาปรัชญาธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น จากงานเขียนของเซอร์ฟรานซิส เบคอน และการค้นพบเทคนิคทางคณิตวิเคราะห์สมัยใหม่ของนักปรัชญาฝรั่งเศส เรอเน เดการ์ต ผู้เป็นเจ้าของภาษิตว่า Cogito ergo sum ("เพราะข้าพเจ้าสงสัย ข้าพเจ้าจึงมีตัวตน")

เมื่อพูดถึงปรัชญาว่าด้วยสังคมและการเมืองแล้ว ยุคเรืองปัญญาได้ให้กำเนิดแนวคิดและมโนทัศน์ใหม่ ๆ ที่ยังส่งอิทธิพลมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น เสรีภาพ ภราดรภาพ ความอดกลั้น การแยกศาสนาออกจากการปกครอง และรัฐบาลภาตใต้รัฐธรรมนูญ. แนวคิดเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเจ้าผู้ปกครองร่วมสมัยจำนวนไม่น้อย ซึ่งให้การสนับสนุนแนวความคิดสำคัญเหล่านี้ จนในที่สุดก็รับเอามโนทัศน์จากชนชั้นอุดมปัญญามาปรับใช้กับการบริหารปกครองของรัฐบาลตนเอง จึงมีการเรียกเจ้านายเหล่านี้ว่า ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม การเรืองปัญญานี้เบ่งบานอยู่จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1790 - 1800 เมื่อความสำคัญของเหตุผลถูกแทนที่ด้วยความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึก ในแนวคิดแบบศิลปะจินตนิยม ฝ่ายต่อต้านการเรืองปัญญาจึงมีกำลังขึ้นอีกครั้ง.[3]

ในฝรั่งเศส ยุคเรืองปัญญาก่อกำเนิดขึ้นจากการรวมกลุ่มสนทนากันตามซาลอน และต่อมานำไปสู่โครงการสร้างและเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะที่ทะเยอทะยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารานุกรม หรือ L'encyclopédie (1751-1752) ที่มีเดอนี ดีเดอโร (1713–1784) เป็นบรรณาธิการใหญ่ โดยเป็นการนำบทความความรู้หลากหลายสาขา – ซึ่งไม่เพียงแต่สาขาปรัชญา หรือวรรณกรรม แต่รวมไปถึงความรู้หรือการค้นพบใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และการหัตถกรรม – หลายพันชิ้นมารวบรวมไว้ โดยมีผู้รู้คนสำคัญของยุคเป็นผู้สนับสนุนช่วยเขียนบทความ เช่น วอลแตร์, ฌ็อง-ฌัก รูโซ และมงแต็สกีเยอ สำเนาของสารานุกรมชุด 35 เล่มนี้ ถูกขายมากกว่า 25,000 ชุด ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ถูกขายนอกฝรั่งเศส แรงขับเคลื่อนจากการเรืองปัญญาแพร่ขยายไปตามชุมชนเมืองทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษ, สกอตแลนด์, รัฐเยอรมันต่าง ๆ, เนเธอร์แลนด์, รัสเซีย, อิตาลี, ออสเตรีย และจากนั้นจึงไปขยายไปยังอาณานิคมของชาติยุโรปในทวีปอเมริกา ที่ซึ่งได้มีอิทธิพลต่อบุคคลสำคัญอย่างเบนจามิน แฟรงคลินและทอมัส เจฟเฟอร์สัน รวมทั้งชนชั้นอุดมปัญญาในวงกว้าง นอกจากนี้ยังส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิวัติอเมริกัน. มโนทัศน์และทฤษฎีทางการเมืองจากยุคเรืองปัญญานี้เองที่มีอิทธิพลต่อคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา, ข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิพลเมือง (Bill of Rights) ของสหรัฐอเมริกา, คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศส และรัฐธรรมนูญวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1791 ของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย[4]

บุคคลสำคัญของยุคนี้

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Ellen Wilson and Peter Reill, Encyclopedia of the Enlightenment (2004) p 577
  2. Gay, Peter (1996), The Enlightenment: An Interpretation, W.W. Norton & Company, ISBN 0-393-00870-3
  3. Casey, Christopher (October 30, 2008). ""Grecian Grandeurs and the Rude Wasting of Old Time": Britain, the Elgin Marbles, and Post-Revolutionary Hellenism". Foundations. Volume III, Number 1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-13. สืบค้นเมื่อ 2009-06-25.
  4. Robert R. Palmer, The Age of the Democratic Revolution (1964)