ฟรีดริช เอ็งเงิลส์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (เยอรมัน: Friedrich Engels, ออกเสียง: [ˈfʁiːdʁɪç ˈɛŋl̩s]) เป็นนักคิดนักเขียนชาวเยอรมัน และนักทฤษฎีสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ เป็นเพื่อนร่วมงานและคู่คิดที่ใกล้ชิดของคาร์ล มากซ์ โดยร่วมกันวางรากฐานของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และลัทธิมากซ์ และมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงหลักการของลัทธิมากซ์ว่าด้วยวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และวัตถุนิยมวิภาษวิธีให้ก้าวหน้าจนเป็นที่ยอมรับทั่วไปในขบวนการสังคมนิยม
ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ | |
---|---|
เกิด | 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 บาร์เมิน, ราชอาณาจักรปรัสเซีย |
เสียชีวิต | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2438 (74 ปี) ลอนดอน, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร |
ยุค | เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ |
แนวทาง | นักเศรษฐศาสตร์ชาวตะวันตก |
สำนัก | เศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์ |
ความสนใจหลัก | เศรษฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์การเมือง, ความน่าจะเป็น, ทฤษฎีการต่อสู้ของชนชั้น, ระบบทุนนิยม |
แนวคิดเด่น | ผู้ร่วมก่อตั้งเศรษฐศาสตร์สำนักมากซ์กับคาร์ล มากซ์, วัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์, ทฤษฎีสภาวะผิดปกติและการใช้หาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องกับคนงาน |
ลายมือชื่อ | |
ประวัติ
แก้เกิดวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2363 ที่เมืองบาร์เมิน (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองวุพเพอร์ทาล) เป็นบุตรของนักธุรกิจสิ่งทอที่มั่งคั่ง เขาเข้าศึกษาในวิทยาลัยแต่เรียนไม่สำเร็จเพราะปฏิเสธที่จะเข้าสอบและลาออกมาช่วยบิดาทำธุรกิจ ใน พ.ศ. 2384 เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารและไปประจำการอยู่ที่นครเบอร์ลินเป็นเวลาปีเศษ เขาสนใจศึกษาเกี่ยวกับกองทหารและยุทธศาสตร์การรบ ซึ่งในเวลาต่อมาเขาก็ได้ถ่ายทอดความรู้ทางทหารดังกล่าวให้มากซ์นำมาเขียนทฤษฏีการเมืองว่าด้วยอำนาจรัฐ โดยเขามีโอกาสพบและรู้จักมากซ์เป็นครั้งแรกที่เมืองโคโลญ ใน พ.ศ. 2385 ในขณะนั้นมากซ์เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไรนิชเชอไซทุง ได้ชักชวนเอ็งเงิลส์ให้ช่วยเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์ มิตรภาพที่เริ่มต้นด้วยตัวอักษรทำให้มากซ์และเอ็งเงิลส์เริ่มใกล้ชิดกันทางความคิด และระหว่าง พ.ศ. 2385–2387 เอ็งเงิลส์ได้ส่งข้อเขียนและทัศนะความคิดเห็นที่แหลมคมทางการเมืองและสังคมให้กับหนังสือต่าง ๆ ที่มากซ์จัดทำอยู่ไม่ขาดระยะ
ในปลายปี พ.ศ. 2385 เขาได้ย้ายไปอยู่อังกฤษและทำงานที่โรงงานสิ่งทอของบิดาสาขาเมืองแมนเชสเตอร์ เขาเชื่อว่า ระบบอุตสาหกรรมของอังกฤษที่กำลังพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้ชนชั้นกรรมกรมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นทั้งกรรมกรจะเป็นพลังหลักของการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมใหม่ เขาจึงเข้าสังกัดกลุ่มปัญญาชนสังคมนิยม และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism) ขณะเดียวกันเขาก็ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสภาวะความเป็นอยู่ของกรรมกรและผลกระทบของชุมชนที่สืบเนื่องจากระบบอุตสาหกรรมใน พ.ศ. 2387 เขาเรียบเรียงผลงานการค้นคว้าเป็นหนังสือสำคัญชื่อ Die Lage derarbeitenden Klasse in England (The Condition of the Working Class in England) โดยเขียนเป็นภาษาเยอรมันและพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในดินแดนเยอรมันและนับเป็นงานเขียนคลาสสิกที่บุกเบิกแนวความคิดสังคมนิยมว่าด้วยชีวิตของกรรมกรอย่างละเอียด มากซ์ชื่นชมหนังสือเล่มนี้มาก เพราะทำให้เขาได้ข้อมูลว่าด้วยลักษณะและวิธีการทำงานของระบบทุนนิยมและบทบาทของอังกฤษในระบอบทุนนิยม
ในกลางปี พ.ศ. 2387 เมื่อเขาเดินทางมาฝรั่งเศสและมีโอกาสพบกับมากซ์ซึ่งขณะนั้นพำนักอยู่ที่ปารีส บุคคลทั้งสองถูกคอกันและในเวลาอันสั้นก็ได้กลายเป็นเพื่อนสนิทและคู่คิดทางปัญญาของกันและกัน และต่อมาเขาก็ได้ถอนตัวออกจากธุรกิจที่รับผิดชอบโดยมาช่วยมากซ์ทำงานค้นคว้าที่บรัสเซลส์และในดินแดนเยอรมัน งานเขียนร่วมกันชิ้นแรกของทั้งสองคือ The German Ideology งานเขียนเรื่องนี้ถือเป็นตำราแบบฉบับที่สำคัญเล่มหนึ่งของสำนักเศรษฐศาสตร์มากซ์
ในต้นปี พ.ศ. 2390 เขาและมากซ์เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มสังคมนิยมที่รู้จักกันในชื่อ "สันนิบาตของผู้รักความเป็นธรรม" (League of the Just) ทั้งเขาและมากซ์ต่างมีบทบาทสำคัญในการชี้แนะทางความคิดและจัดทำโครงการปฏิบัติงานของสันนิบาตฯ ในการประชุมครั้งที่ 2 ของสันนิบาตฯ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2390 ที่ประชุมมีมติให้เขาและมากซ์ร่วมเขียนร่างโครงการที่กำหนดสถานภาพและบทบาท ตลอดจนหลักนโยบายและการดำเนินงานของสันนิบาตเพื่อพิจารณา เขาเป็นผู้ยกร่างโครงการและมากซ์แก้ไขปรับปรุงให้ชื่อว่า หลักการลัทธิคอมมิวนิสต์ (Principles of Communism) แต่ที่ประชุมให้นำออกประกาศในชื่อ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto) ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2391 ก่อนหน้าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในฝรั่งเศส 1 สัปดาห์ พร้อมกันนี้สันนิบาตของผู้รักความเป็นธรรมก็เปลี่ยนชื่อเป็น "สันนิบาตคอมมิวนิสต์" (Leagues of the Communist)
เมื่อเกิดการปฏิวัติ พ.ศ. 2391 ทั่วยุโรป เขาได้เดินทางกลับไปบาร์เมนเพื่อเคลื่อนไหวปฏิวัติ แต่ในเวลาอันสั้นก็ต้องลี้ภัยกลับมาอังกฤษอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากการปฏิวัติในดินแดนเยอรมันล้มเหลว
พ.ศ. 2393 เขากลับไปทำธุรกิจโรงงานสิ่งทอที่เมืองแมนเชสเตอร์อีกครั้ง เพราะตระหนักว่าเขาต้องมีรายได้ประจำเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และจุนเจือมากซ์ที่กำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อเขียนหนังสือเรื่อง ทุน (Das Kapital)
พ.ศ. 2407 เขาเป็นผู้แทนสันนิบาตคอมมิวนิสต์เข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งแรกของสมาคมกรรมกรสากล (International Workingmen's Association) ซึ่งต่อมามีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า "องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ 1" เขาได้รับเลือกเป็นกรรมการในคณะมนตรีทั่วไป
ในปลายปี พ.ศ. 2412 บิดาของเขาก็เสียชีวิต เขาจึงขายกิจการโรงงานสิ่งทอทั้งหมดและใน พ.ศ. 2413 ก็อพยพไปลอนดอนเพื่อใช้ชีวิตอิสระและเพื่อดูแลมากซ์ให้มีเวลาเขียนหนังสือเรื่อง ทุน ให้สำเร็จ ภายหลังการมรณกรรมของมากซ์ ใน พ.ศ. 2426 เขาได้ใช้ชีวิตในบั้นปลายของเขาเกือบ 12 ปี ในการรวบรวมงานเขียนต่าง ๆ ของมากซ์มาเรียบเรียงโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง ทุน เล่มที่ 2 และเล่มที่ 3 ซึ่งมากซ์ทำค้างไว้ออกเผยแพร่
ผลงาน
แก้นอกจากการรวบรวมงานของมากซ์แล้ว เอ็งเงิลส์เองก็มีงานค้นคว้าเรื่องสำคัญของเขาเองออกเผยแพร่หลายเล่ม งานเขียนที่เด่นเลื่องชื่อ เช่น
- Anti Duhring (พ.ศ. 2421)
- Ludwig Feuerbach and the End of Classical German Philosophy (พ.ศ. 2427)
ผลงานสองเล่มนี้ วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิค กล่าวยกย่องว่ามีความสำคัญระดับเดียวกับ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
- The Origin of the Family, Private Property and the State (พ.ศ. 2427)
- Socialism: Utopian and Scientific (พ.ศ. 2435)
และงานค้นคว้าชิ้นสุดท้ายที่ไม่เสร็จสมบูรณ์คือ Dialectic of Nature ซึ่งต่อมาจัดพิมพืเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2468
1 ปีหลังจากหนังสือ ทุน เล่มที่ 3 ออกเผยแพร่ เขาก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2438 ขณะอายุ 75 ปี
อ้างอิง
แก้- สัญชัย สุวังบุตร. สารานุกรมประวัติศาสตร์ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม E-F.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- มาร์ก เอกสารอัตถชีวประวัติ
- The Legend of Marx, or “Engels the founder” เก็บถาวร 2013-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย แม็กซิมิลเลียน รูเบล
- Reason in Revolt: Marxism and Modern Science
- Engels: The Che Guevara of his Day เก็บถาวร 2012-11-27 ที่ archive.today
- The Brave New World: Tristram Hunt On Marx and Engels' Revolutionary Vision เก็บถาวร 2010-01-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- German Biography from dhm.de[ลิงก์เสีย]
ผลงานของเอ็งเงิลส์
แก้- The Marx & Engels Internet Archive ที่ Marxists.org
- Marx and Engels in their native German language
- ผลงานของ Friedrich Engels ที่โครงการกูเทินแบร์ค
- Libcom.org/library Frederick Engels archive เก็บถาวร 2014-04-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ผลงานโดยฟรีดริช เอ็งเงิลส์ (ในเยอรมนี) ที่ Zeno.org
- Pathfinder Press เก็บถาวร 2013-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Friedrich Engels, “On Rifled Cannon เก็บถาวร 2010-07-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," articles from the New York Tribune, April, May and June, 1860, reprinted in Military Affairs 21, no. 4 (Winter 1957) ed. Morton Borden, 193-198.