วิถีการผลิต (อังกฤษ: Mode of production, เยอรมัน: Produktionsweise แปลตรงตัวว่า “หนทางของการผลิต”) ในงานเขียนของคาร์ล มากซ์ และทฤษฎีลัทธิมากซ์เกี่ยวกับวิภาษวิธีประวัติศาสตร์นั้น คือการผสานกันของลักษณะเฉพาะต่อไปนี้

  • พลังการผลิต: ซึ่งรวมถึงพลังแรงงานของมนุษย์ และปัจจัยการผลิต (เช่น เครื่องมือ เครื่องจักรในการผลิต อาคารพาณิชย์และอาคารอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน องค์ความรู้เชิงเทคนิค วัตถุดิบ พืช สัตว์ และที่ดินที่นำมาใช้ประโยชน์ได้)
  • ความสัมพันธ์ทางการผลิตเชิงสังคม และเชิงเทคนิค: ในที่นี้รวมถึงทรัพย์สิน ความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเชิงควบคุมที่ใช้บริหารจัดการสินทรัพย์ทางการผลิตของสังคม (มักมีบรรญัติในกฎหมาย) ความร่วมมือกันในการทำงานและรูปแบบของความเกี่ยวพันกัน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และวัตถุ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นทางสังคม

มากซ์มีทัศนะเรื่องสมรรถภาพในการผลิตที่มีต่อความสัมพันธ์ทางสังคม ว่าเป็นลักษณะพื้นฐานของการผลิตซ้ำในสังคม ซึ่งในการผลิตแบบทุนนิยม รูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้โดยเนื้อแท้นั้นขัดแย้งกับการพัฒนาศักยภาพทางการผลิตของมนุษย์[1]

แนวคิดนี้เดิมเป็นของอดัม สมิธ เรื่องวิถีการยังชีพ ซึ่งวิเคราะห์ความก้าวหน้าของสังคมแต่ละประเภท ว่าขึ้นอยู่กับแนวทางที่สมาชิกในสังคมจัดหาสิ่งต่าง ๆ สำหรับความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์[2]

ความสำคัญของแนวคิด แก้

พื้นเดิมของแนวคิดเรื่องวิถีการผลิตนั้น มาจากทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์ 4 ขั้น จากยุคเรืองปัญญาของสก็อตแลนด์ ที่กล่าวถึง สังคมล่าสัตว์/สังคมเลี้ยงปศุสัตว์/สังคมเกษตรกรรม/สังคมพาณิชย์ โดยแต่ละรูปแบบมีลักษณะเฉพาะตัวทางสังคมและวัฒนธรรม[3] ซึ่งมากซ์ใช้เชื่อมโยงกับแนวคิดวิถีการผลิต โดยระบุว่า “วิถีการผลิตทางวัตถุ เป็นสิ่งที่ชี้นำลักษณะทั่วไปซึ่งกระบวนการของชีวิตทางสังคม การเมือง และจิตวิญญาณ”[4]

มากซ์มีความเห็นว่า แนวทางที่มนุษย์เกี่ยวพันกับโลกกายภาพ ตลอดจนแนวทางที่มนุษย์มีความเกี่ยวพันระหว่างกันในสังคมนั้น มีความเชื่อมโยงที่มีความเฉพาะเจาะจงและหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยระบุว่า “มนุษย์ [ผู้ที่] ผลิตผ้า ลินิน ผ้าไหม ฯลฯ ยังได้ผลิต ‘ความสัมพันธ์ทางสังคม’ ท่ามกลางกิจกรรมที่กำลังเตรียมผ้าและลินินไปพร้อม ๆ กัน[5] มนุษย์จำเป็นต้องบริโภคเพื่อความอยู่รอด แต่การจะบริโภคได้นั้นจำต้องมีการผลิต และการผลิตนั้นเองทำให้มนุษย์จำเป็นต้องเข้าสู่ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือเจตน์จำนงค์ของตนเอง

ในทัศนะของมากซ์ การไขความลับเรื่องเหตุของระเบียบสังคมที่ดำรงอยู่ และต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น จำต้องเข้าไปวิเคราะห์วิถีการผลิตนั้น ๆ ของสังคมดังกล่าว[6] มากซ์ยังแย้งเพิ่มเติมว่า วิถีการผลิตเป็นที่สิ่งที่กำหนดธรรมชาติของวิถีการกระจายตัว วิถีการหมุนเวียน และวิถีการบริโภค ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นสิ่งที่กำหนดบริบททางเศรษฐกิจ และเพื่อทำความเข้าใจวิถีการกระจายตัวของความมั่งคั่งนั้น จำต้องเข้าใจถึงเงื่อนไขภายใต้บริบทการผลิตด้วยเช่นกัน

วิถีการผลิตนั้นมีความพิเศษเชิงประวัติศาสตร์ในทัศนะของมากซ์ เพราะเป็นสิ่งที่กำหนดองค์ประกอบทางอินทรีย์ของภาพรวม (หรือภาพรวมของการผลิตซ้ำด้วยตนเอง) ซึ่งเอื้อให้สามารถกลับมาสร้างเงื่อนไขใหม่เพื่อยืดวัฏจักรของตัวเองให้มีเสถียรภาพ ตลอดจนมีอายุยาวนานได้นับร้อยหรือพันปี และด้วยการลงมือผลิตแรงงานส่วนเกินภายใต้ระบบความสัมพันธ์ทางทรัพยสินนี้เอง ชนชั้นแรงงานกลายเป็นผู้ผลิตซ้ำรากฐานของระเบียบสังคมเดิมตลอดเวลา นอกจากนี้ วิถีการผลิตเป็นสิ่งที่กำหนดวิถีการกระจายตัว วิถีการหมุนเวียน และวิถีการบริโภค ซึ่งต่างก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ จดหมายของมากซ์ที่เขียนถึงอานเนนคอฟระบุว่า “เมื่อพินิจถึงลำดับขั้นใด ๆ ของพัฒนาการทางการผลิต การพาณิชย์ หรือการบริโภคนั้น เราจะพบว่ามีความสอดคล้องกับระเบียบสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นระเบียบแบบเครือวงศ์วานและมีลำดับขั้นทางชนชั้น หรืออาจเรียกว่า ความสอดคล้องกันของประชาสังคม”[7]

อย่างไรก็ดี วิถีการผลิตใด ๆ ก็ตาม จะยังคงมีเศษเสี้ยวของวิถีการผลิตก่อนหน้านั้นอยู่ พร้อม ๆ กับหน่ออ่อนของวิถีการผลิตถัดไป[8] การปรากฏขึ้นของพลังการผลิตชนิดใหม่ จะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับวิถีการผลิตปัจจุบัน และเมื่อความขัดแย้งอุบัติขึ้น วิถีการผลิตจะวิวัฒน์ภายในโครงสร้างเดิม และเป็นเหตุให้ล่มสลายโดยสมบูรณ์

กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม แก้

วิวัฒนาการของระบบเศรษฐกิจและสังคมขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ และก่อให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพภายใน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพใหญ่ ความไร้ประสิทธิภาพที่เด่นชัดที่สุดจะมาในรูปของความขัดแย้งทางชนชั้น สังคมแบบเก่าที่ตกยุคจะเหนี่ยวรั้งความก้าวหน้าทางสังคมมิให้เดินหน้าต่อไป ในขณะเดียวกันก็จะยิ่งทวีความขัดแย้งระหว่างเทคโนโลยีและโครงสร้างสังคม (กอรปด้วยความสัมพันธ์ทางสังคม หรือระเบียบการผลิตที่ได้รับการยอมรับแบบเดิม) และจะมีพัฒนาการไปจนถึงจุดที่ระบบไม่สามารถรองรับความขัดแย้งนี้ได้อีกต่อไป จนกระทั่งถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติสังคมจากภายใน ซึ่งจะเปิดทางให้ความสัมพันธ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ปรากฏขึ้น และมีความเข้ากันได้ดีกับระดับเทคโนโลยีในปัจจุบัน (กำลังการผลิต)[9]

พลังขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในอารยธรรมใด ๆ นั้น ล้วนมีพื้นฐานจากประเด็นทางวัตถุ โดยเฉพาะในแง่ระดับทางเทคโนโลยี องค์ความรู้ปัจจุบันของมนุษย์ และระเบียบสังคมที่เป็นไป ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้มากซ์บรรญัติแนวคิดใหม่ เรียกว่า มโนทัศน์ทางวัตถุของประวัติศาสตร์ (ดูเพิ่มเติมในบทความ วัตถุนิยม) ซึ่งแตกต่างจากแนวทางการวิเคราะห์แบบจิตนิยม (ซึ่งมากซ์เคยเขียนวิพากษ์พรูดอน)[10] ซึ่งกล่าวว่าพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม คือมโนคติของปัจเจกผู้ตื่นรู้ทางปัญญา

วิถีการผลิตแบบต่าง ๆ แก้

วิถีการผลิตแบบชนเผ่า และแบบยุคหินใหม่ แก้

มากซ์และเอ็งเงิลส์มักเรียกวิถีการผลิต “แรกสุด” ว่าคอมมิวนิสต์ยุคบุพกาล[11] ในทัศนะของลัทธิมากซ์สายคลาสสิคนั้น วิถีการผลิตแรกสุดมี 2 ประเภทคือ วิถีการผลิตแบบชนเผ่าหรืออนารยชน และแบบกลุ่มเครือญาติแห่งยุคหินใหม่[12] วิถีของชนเผ่าผู้เป็นนักล่าสัตว์เก็บของป่านั้น ดำรงอยู่ในฐานะหนทางความอยู่รอดเดียวของมนุษย์ยาวนานกว่าครึ่งค่อนทางในประวัติศาสตร์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคหินใหม่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ลำดับช่วงชั้นทางสังคมมีอยู่อย่างจำกัด (สอดคล้องกับความจำกัดในทรัพย์สินส่วนบุคคล ส่วนพื้นที่ล่าสัตว์เป็นของส่วนรวม)[13] ในขณะที่ความเชื่อปรัมปรา พิธีกรรม และเวทย์มนต์คาถา ถูกมองว่าเป็นกระแสหลักของรูปแบบทางวัฒนธรรม[14]

เมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้การทำกสิกรรมในช่วงต้นของการปฏิวัติยุคหินใหม่ ซึ่งพ่วงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการทำเครื่องปั้นดินเผา หมักสุรา อบอาหาร และรู้จักทอผ้า[15] นั้น ช่วงชั้นทางสังคมเริ่มทวีความชัดเจนขึ้น และในที่สุดกลายเป็นต้นกำเนิดของชนชั้น[16] ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล[17] และปกครองกันด้วยลำดับชั้นทางกลุ่มเครือญาติ

ลัทธินับถือภูตผีถูกแทนที่ด้วยการบูชาเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์[18] และในเวลาเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ถือเพศหญิงเป็นใหญ่ เป็นถือเพศชายเป็นใหญ่[19]

วิถีการผลิตแบบเอเชีย แก้

วิถีการผลิตแบบเอเชีย เป็นหนึ่งในทฤษฎีของมากซ์ที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เดิมใช้เพื่ออธิบายสังคมยุคก่อนสังคมทาส หรือยุคก่อนศักดินา โดยอิงจากสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยดินที่ขุดค้นพบในอินเดีย ลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีส และลุ่มแม่น้ำไนล์ (ตั้งชื่อตามแหล่งที่ขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ว่ามาจาก “เอเชีย” ใหญ่) กล่าวกันว่าวิถีการผลิตแบบเอเชียเป็นสังคมที่มีชนชั้นรูปแบบแรก ที่ซึ่งมีคนกลุ่มน้อยแย่งชิงผลิตผลส่วนเกินด้วยความรุนแรง โดยเล็งเป้าไปที่กลุ่มชนเร่ร่อนหรือหมู่บ้านที่ลงหลักปักฐานแล้ว ที่อาศัยภายในเขตของตน วิถีการผลิตเช่นนี้ปรากฏขึ้นได้ด้วยแรงหนุนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีประมวลผลข้อมูล เช่น มีการประดิษฐ์ตัวอักษร การจัดกลุ่มและเก็บรักษาข้อมูล[20] ตลอดจนองค์ความรู้อื่น ๆ เช่นคณิตศาสตร์ การทำปฏิทิน ชลประทาน และมาตรฐานของมาตรวัดสำหรับการชั่งตวง[21]

แรงงานส่วนเกินได้มาจากการเกณฑ์แรงงานช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูกของปี (เพื่อใช้สร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นพีระมิด ซิกกุรัต และสถานที่อาบน้ำรวมของอินเดีย) นอกจากนี้ยังสามารถรีดแรงงานส่วนเกินโดยตรงได้อีกในรูปแบบผลผลิตจากชุมชน ลักษณะเด่นอีกประการของวิถีการผลิตแบบนี้ คือการเข้ามาครอบครองพื้นที่ทำกินโดยตรงของศาสนาเทวนิยมในชุมชน (ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก หรือกลุ่มชนเร่ร่อน) เช่น ¾ ของที่ดินจะจัดสรรให้กับบรรดาครัวเรือน ในขณะที่ที่ดินอีก ¼ ที่เหลือจัดสรรไว้ให้ลงแรงเพาะปลูกเพื่อบำรุงคณะนักบวช[22] ชนชั้นนำในวิถีการผลิตเช่นนี้มักเป็นกึ่งชนชั้นสูง-กึ่งนักบวช ผู้ซึ่งกล่าวอ้างว่าตนเป็นอวตารของเทพเจ้า พลังการผลิตที่เกี่ยวพันกับวิถีการผลิตแบบเอเชียนั้น มีตั้งแต่เทคนิคการเกษตรแบบพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ชลประทาน และการเก็บถนอมสินค้าไว้เพื่อประโยชน์ของสังคม (ยุ้งฉาง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีการนำผลิตผลส่วนเกินมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้อารยธรรมแรกเริ่มทั้งหลายในแถบเอเชียถึงคราวเสื่อมลง[23]

วิถีการผลิตแบบโบราณ แก้

บ่อยครั้งมักใช้อีกชื่อว่า “สังคมทาส” วิถีการผลิตแบบนี้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่วิวัฒน์มาจากสังคมที่พึ่งพาตนเองในยุคหินใหม่ และกลายรูปแบบมาเป็นเมืองแบบโปลิสหรือนครรัฐ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่นการใช้เครื่องมือที่ทำจากเหล็ก การใช้เหรียญกษาปณ์ และการประดิษฐ์ตัวอักษร มีการแบ่งงานทางแรงงาน ระหว่างงานอุตสาหกรรม การค้า และการเกษตร ทำให้ชุมชนเติบโตขึ้นไปสู่ระดับของความเป็นเมืองได้ในที่สุด[24] เมื่อเวลาผ่านไปก็เรียกร้องการรวมกลุ่มทางสังคมในรูปแบบใหม่ อันส่งผลให้ตัวแทนจากกลุ่มสังคมเมืองได้เข้าปกครองกลุ่มสังคมชนเผ่า ไม่ว่าจะอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม[25] มีการบัญญัติใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมแทนที่กฏแบบตาต่อตาฟันต่อฟันแบบเดิม[26] กรณีละครโศกนาฏกรรมของกรีก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของรูปแบบวัฒนธรรมใหม่เช่นนี้ ตามที่โรเบิร์ต เฟเกิลส์ระบุว่า “[ละคร]โอเรสเชียนับเป็นพิธีกรรมของช่วงเปลี่ยนผ่านจากความป่าเถื่อนเป็นอารยะ...จากการล้างแค้นด้วยเลือดมาเป็นความยุติธรรมทางสังคม”[27]

สังคมกรีกและสังคมโรมันถือเป็นตัวอย่างที่เป็นแบบฉบับของสังคมยุคโบราณ พลังการผลิตของวิถีการผลิตนี้รวมถึงเทคนิคการเกษตรชั้นสูง (เกษตรแบบ 2 แปลง) มีการใช้สัตว์เป็นเครื่องทุ่นแรงในการเกษตรอย่างกว้างขวาง มีการทำอุตสาหกรรม (เหมืองแร่และเครื่องปั้นดินเผา) ตลอดจนมีโครงข่ายการค้าที่เจริญก้าวหน้า ความแตกต่างของวิถีการผลิตแบบโบราณและวิถีการผลิตแบบเอเชีย อยู่ที่รูปแบบของทรัพย์สิน เช่นการถือครองมนุษย์ในฐานะทรัพย์สิน (ทาส)[28] ดังที่เพลโตบรรยายถึงนครรัฐในฝัน แมกนีเซีย และวาดภาพความสะดวกสบายของพลเมืองชนชั้นนำไว้ว่า “ไร่นาของพวกเขาฝากให้พวกทาสดูแล ผู้ซึ่งทำผลผลิตจากที่ดินในปริมาณที่เพียงพอต่อการรักษาความสุขขั้นต่ำของชนชั้นนำได้”[29] วิถีการผลิตแบบโบราณมีลักษณะที่โดดเด่นอีกประการ นั่นคือชนชั้นปกครองจะหลีกเลี่ยงและไม่กล่าวอ้างว่าเป็นอวตารโดยตรงของเทพเจ้า แต่จะอ้างว่าเป็นผู้สืบสายเลือดจากเทพเจ้ามากกว่า อีกหนึ่งหนทางที่จะสร้างความชอบธรรมในการปกครองของตน อาจทำได้โดยยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองเป็นบางส่วน

แม้ระบบการปกครองจะมิใช่ประชาธิปไตยที่เต็มรูปแบบ แต่ก็ครอบคลุมพลเมืองทั้งหมดของอาณาจักร ซึ่งเป็นตัวช่วยให้โรมสามารถขยายอำนาจจักรวรรดิแบบเมืองได้ทั่วแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน และเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายถนน ท่าเรือ หอประภาคาร สะพานส่งน้ำ ตลอดจนสะพานข้ามแม่น้ำต่าง ๆ และด้วยความเชี่ยวชาญของวิศวกร สถาปนิก พ่อค้าวาณิชย์ และนักการอุตสาหกรรม ต่างก็มีส่วนช่วยเกื้อหนุนการค้าระหว่างศูนย์กลางของเมืองต่าง ๆ ที่กำลังเติบโต[30]

วิถีการผลิตแบบศักดินา แก้

การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ทำให้พื้นที่ของยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่กลับคืนสู่วิถีแห่งการเกษตรเพื่อยังชีพ มีเมืองและเส้นทางการค้าที่ถูกทิ้งร้างอยู่อย่างกระจัดกระจาย[31] อำนาจการปกครองมีจำกัดเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งมีถนนที่ทรุดโทรมและสภาพที่ยากลำบากสำหรับการทำเกษตร[32] รูปแบบของสังคมแบบใหม่ปรากฏขึ้นแทนที่รูปแบบของสายสัมพันธ์เครือญาติ คณะนักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือแบบพลเมืองตามกฎหมายที่เคยมีมาแต่เดิม นั่นคือรูปแบบสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ปกครอง-ผู้รับใช้ และยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ต่อกันนี้ในรูปแบบศักดินา[33] รูปแบบเช่นนี้เรียกว่า วิถีการผลิตแบบศักดินา ซึ่งเป็นระบบที่ครอบงำสังคมตะวันตกกินเวลาตั้งแต่การสิ้นสุดของโลกยุคโบราณ จนถึงยุคเริ่มต้นของทุนนิยม (ระบบคล้ายกันนี้มีใช้กันเกือบทั่วโลกเช่นกัน) ในยุคนี้ได้ประจักษ์ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงกระจายศูนย์ จากจักรวรรดิโบราณไปสู่รัฐชาติในรูปแบบเริ่มแรกสุด

รูปแบบหลักของทรัพย์สิน คือการครอบครองที่ดินภายใต้สัญญาที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน เช่นอัศวินตอบแทนด้วยการไปทำงานในกองทัพ แรงงานตอบแทนโดยทำงานให้เจ้าผู้ปกครองในฐานะชาวนาอิสระหรือไพร่ติดที่ดิน[34] การขูดรีดจึงเกิดขึ้นในลักษณะของสัญญาเช่นนี้ (แม้บางครั้งจะมีการใช้ความรุนแรงบีบบังคับเอาก็ตาม)[35] ชนชั้นปกครองมักเป็นขุนนางหรือชนชั้นสูง สร้างความชอบธรรมทางการปกครองด้วยการสนับสนุนของคณะนักบวช พลังการผลิตกอรปด้วยเทคนิคการผลิตที่ซับซ้อน (เกษตรแบบ 2 หรือ 3 แปลง มีการลงปุ๋ยและปลูกต้นลูเซิร์นระหว่างการพักแปลง) มีการใช้เครื่องทุ่นแรงที่มิใช่สิ่งมีชีวิต (เช่นระบบกลไกฟันเฟืองและกังหันลม) ตลอดจนมีการใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของช่างฝีมือในการผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง

อุดมการณ์ที่เป็นกระแสหลักคือระบบลำดับขั้นทางสังคม ที่ทำให้ดูอ่อนลงด้วยการทำสัญญาพึ่งพาระหว่างกันภายใต้ระบบศักดินาดังกล่าว[36] ดังที่เมทแลนด์เคยชี้ไว้ว่า ระบบศักดินานั้นแตกออกเป็นหลายสาขาย่อย มีการขยายตัวครอบคลุมกว่าครึ่งทวีปเป็นเวลาหลายร้อยปี[37] อย่างไรก็ดี แม้มีรูปแบบต่างกันแต่หัวใจสำคัญยังคงเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ (ดังที่จอห์น เบอร์โรว์เคยกล่าวไว้) “กอรปด้วยระบบกฎหมาย สังคม การทหาร และเศรษฐกิจ...กอรปด้วยรูปแบบกองทัพที่เป็นระบบและลำดับขั้นทางสังคม เหล่านี้เป็นจริยธรรมที่ภายหลังมากซ์เรียกว่าวิถีการผลิต”[38]

ในช่วงเวลานี้ ชนชั้นพ่อค้าวาณิชย์ได้เติบโตและแข็งแกร่งขึ้น มีแรงจูงใจในการทำกำไรเป็นแรงขับเคลื่อน แต่ถูกขัดขวางมิให้ทำกำไรได้เต็มกำลังเพราะติดกับอยู่ในธรรมชาติของสังคมศักดินา ที่ซึ่งไพร่ถูกผูกมัดให้ติดอยู่กับที่ดิน และไม่สามารถไถ่ตนออกมาเป็นคนงานในโรงงานหรือแรงงานสินจ้างได้ ภาวการณ์นี้ท้ายที่สุดจะจุดประกายให้เกิดห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติทางสังคม (ตัวอย่างเช่นสงครามกลางเมืองอังกฤษ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ค.ศ.1688 การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ฯลฯ) อันทำให้ระเบียบแห่งสังคมและการเมืองในสังคมศักดินานั้น (หรือความสัมพันธ์ของการถือครองทรัพย์สินในระบบศักดินา) ถึงกาลล่มสลาย โดยกระฎุมพียุคแรกเริ่ม[39]

วิถีการผลิตแบบทุนนิยม แก้

ช่วงปลายยุคกลาง ระบบศักดินาเริ่มถูกบดบังรัศมีจากการกำเนิดและเติบโตของเมืองเสรี การหมุนเวียนของเงินตราจากแรงงานภาคบริการ[40] การเข้ามาทดแทนระบบกองทัพแบบศักดินาด้วยระบบทหารประจำการ (ซึ่งได้รับค่าตัว) ตลอดจนบทบาทที่ลดลงของศักดินาในฐานะเจ้าที่ดิน[41] สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแม้ว่าศักดินาจะยังสามารถรักษาเศษเสี้ยวของอภิสิทธิ์ คติธรรม และแวดวงของตนในยุโรปจนถึงช่วงปลายของสหัสวรรษ (ค.ศ.1000) ไว้ได้ก็ตาม[42] ยุคสมัยถัดจากนี้เป็นสิ่งที่สมิธเรียกว่ายุคแห่งการพาณิชย์ และที่มากซ์เรียกว่าวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ที่ครอบคลุมช่วงเวลาจากยุคลัทธิพาณิชยนิยม ไปสู่ยุคจักรวรรดินิยม หรือกระทั่งยุคหลังจากนั้น วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเกี่ยวพันโดยตรงกับการถือกำเนิดขึ้นของสังคมอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเศรษฐกิจตลาดโลก มากซ์ระบุว่าแกนกลางของระบบทุนสมัยใหม่มาจากการที่ระบบเงินตราซึ่งมีบทบาทแลกเปลี่ยนสินค้า (C-M-C, commerce) ถูกเข้าทดแทนด้วยระบบเงินตรา ที่นำไปสู่การนำกำไรกลับเข้ามาลงทุนใหม่เพื่อการผลิตในอนาคต (M-C-M, capitalism) เหล่านี้นับเป็นระบบสังคมแบบใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้[43]

รูปแบบทรัพย์สินที่สำคัญของวิถีการผลิตแบบนี้ คือทรัพย์สินเอกชนที่มาในรูปของที่ดิน วัตถุดิบ เครื่องมือการผลิต และแรงงานมนุษย์ เหล่านี้จะถูกทำให้เป็นเสมือนสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันได้ด้วยเงินตรา (รับประกันโดยรัฐ) ซึ่งมีการรองรับด้วยสัญญาต่าง ๆ ดังคำกล่าวของมากซ์ที่ว่า “มนุษย์เราถูกชักจูงให้เข้าสู่วังวนของความเป็นทรัพย์สินเอกชน”[44] รูปแบบการขูดรีดที่สำคัญของวิถีนี้ มาในรูปแบบ (ที่ยุคก่อนหน้านี้ต้องทำงานฟรี) แรงงานสินจ้าง (ดู ว่าด้วยทุน[45] ในบริบทว่าด้วยการลงแรงงานเพื่อใช้หนี้[46] ทาสสินจ้าง และรูปแบบการขูดรีดอื่น ๆ) ชนชั้นผู้ปกครองในอรรถาธิบายของมากซ์คือชนชั้นกระฎุมพี หรือนายทุนผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต ซึ่งเป็นผู้ขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินจากชนชั้นกรรมาชีพ ในฐานะที่กรรมาชีพมีเพียงพลังแรงงานที่ตนครอบครองเพียงอย่างเดียว และจำต้องขายพลังแรงงานนี้เพื่อความอยู่รอด[47] ยูวาล ฮารารี ได้ปรับมโนทัศน์ของคู่ขัดแย้งนี้เพื่อให้เหมาะกับยุคศตวรรษที่ 21 โดยระบุว่า คนรวยลงทุนเพื่อนำเงินกลับไปลงทุนซ้ำ ส่วนคนที่เหลือยอมเป็นหนี้เพื่อให้ได้บริโภค และกลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าของปัจจัยการผลิต[48]

พลังการผลิตที่สำคัญภายใต้ระบบทุนนิยมนั้น รวมถึงระบบโดยรวมของการผลิตสมัยใหม่ที่มากับโครงสร้างการบริหารรัฐ ประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี และที่สำคัญที่สุดคือ ทุนทางการเงิน อุดมการณ์ของระบบนี้มีการวิวัฒน์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังที่เฟรดเดอริค เจมสันกล่าวว่า “แสงสว่างทางปัญญาของตะวันตกนั้น อาจนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่แยบยลของชนชั้นกระฎุมพี ที่ซึ่งค่านิยม วาทกรรม อุปนิสัย และวิถีชีวิตประจำวันของระบอบโบราณนั้น ถูกรื้อทิ้งอย่างเป็นระบบ เพื่อเปิดทางให้แนวคิดใหม่ รูปแบบชีวิตและอุปนิสัยใหม่ ตลอดจนค่านิยมใหม่แห่งสังคมทุนนิยมตลาด”[49] นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการด้านประโยชน์นิยม และแนวคิดการผลิตตามเหตุผล (เวเบอร์) การฝึกอบรมและความมีวินัย (ฟูโกต์) ตลอดจนโครงสร้างเวลาแบบใหม่ของระบบทุนนิยม[50]

วิถีการผลิตแบบสังคมนิยม แก้

สังคมนิยมเป็นวิถีการผลิตที่มากซ์มีทัศนะว่าจะได้สถาปนาเป็นวิถีกระแสหลักหลังจากทุนนิยม และท้ายที่สุดก็จะถูกเข้าทดแทนด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์หลังจากนั้น ซึ่งคำว่า ‘สังคมนิยม’ ตลอดจน ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ทั้งคู่นั้น มีปรากฏมาก่อนยุคของมากซ์ และมีความหมายอื่น ๆ นอกเหนือจากที่มากซ์ใช้ อย่างไรก็ดีทั้งคู่ต่างก็เป็นพลังการผลิตที่จะเติบโตจนบดบังกรอบของทุนนิยม[51]

ในงานเขียนที่ตีพิมพ์ปีค.ศ. 1917 เรื่อง รัฐและการปฏิวัติ เลนินระบุว่า หลังจากที่โค่นล้มทุนนิยมลุล่วงแล้ว ห้วงเวลาของวิถีแบบคอมมิวนิสต์ที่เข้ามาแทนจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้น ขั้นแรกคือสังคมนิยม ขั้นถัดไปคือคอมมิวนิสต์ไร้รัฐ หรือคอมมิวนิสต์บริสุทธิ์ ซึ่งจะได้สถาปนาขึ้นหลังจากที่เศษเสี้ยวชิ้นสุดท้ายของทุนนิยมได้ถูกกำจัดออกไปจนหมดจดแล้ว ด้านมากซ์นั้นมักใช้ศัพท์ว่า คอมมิวนิสต์”ขั้นแรก” และคอมมิวนิสต์”ขั้นสูง” แต่เลนินชี้ประเด็นของเอ็งเงิลส์ที่ขยายความบทบรรยายของมากซ์ว่า คอมมิวนิสต์”ขั้นแรก” ของมากซ์นั้น เทียบเท่ากับคำที่คนทั่วไปเรียกใช้สังคมนิยม[52]

สำหรับนิยามของสังคมนิยมสำหรับนักลัทธิมากซ์นั้น คือวิถีการผลิตที่นับเอามูลค่าใช้สอยเป็นบรรทัดฐานการผลิตเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้นกฎแห่งมูลค่าจึงไม่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกต่อไป การผลิตเพื่อใช้สอยแบบมากซ์นั้นจะมีการชี้นำด้วยการวางแผนเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง[53] ในขณะที่การกระจายตัวของผลผลิตขึ้นอยู่กับหลักการแต่ละคนรับผลตอบแทนตามสัดส่วนคุณูปการ[54] ความสัมพันธ์ทางสังคมของระบบสังคมนิยมนั้น มีลักษณะที่ว่า ชนชั้นแรงงานเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตและปัจจัยเลี้ยงชีพต่าง ๆ ผ่านสหกรณ์วิสาหกิจ กรรมสิทธิ์ส่วนรวม หรือระบบคนงานบริหารตนเอง

เนื่องจากคาร์ล มากซ์ และฟรีดริช เอ็งเงิลส์ จงใจเขียนเกี่ยวกับสังคมนิยมเพียงเล็กน้อย จึงทำให้รายละเอียดที่ว่าวิถีการผลิตใหม่ควรมีการจัดตั้งอย่างไรนั้นถูกละเลย โดยให้เหตุผลว่า ทฤษฎีทั้งหลายถือว่าเป็นเพียงวิถีอุดมคิตแบบยูโทเปียเท่านั้น จนกว่าวิถีการผลิตแบบใหม่จะถือกำเนิดขึ้น ดังที่จอร์จ ซอเรลกล่าวไว้ว่า “การคาดการณ์ล่วงหน้าต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับอุดมการณ์ใหม่สำหรับโครงสร้างส่วนบน ตลอดจนเงื่อนไขของการผลิตนั้น ถือว่ามิใช่แนวทางของลัทธิมากซ์”[55] อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของชีวิตมากซ์ชี้ว่าคอมมูนปารีสนั้น นับเป็นตัวอย่างการลุกฮือแรกสุดของชนชั้นกรรมาชีพ ตลอดจนเป็นโมเดลแรกสุดของการจัดตั้งสังคมนิยมในอนาคตให้เป็นคอมมูนอีกด้วย โดยกล่าวเสริมว่า:

"คอมมูนมีรูปแบบของสภาเทศบาล ได้รับเลือกโดยประชากรทุกหมู่เหล่าที่อาศัยอยู่ในแต่ละท้องที่ สภานี้สามารถจัดตั้งและปลดออกได้ทุกเมื่อ  สมาชิกส่วนใหญ่ในสภาเป็นชนชั้นแรงงาน หรือเป็นตัวแทนผู้เป็นที่ยอมรับของชนชั้นแรงงาน... ส่วนหน่วยงานตำรวจ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเครื่องมือของรัฐ ได้ถูกริบสถานะออกจากความเชื่อมโยงทางการเมือง และแปรเปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่ของคอมมูน ซึ่งสามารถแต่งตั้งและปลดออกได้ทุกเมื่อ เงื่อนไขดังกล่าวนี้มีการบังคับใช้กับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่นเดียวกัน หน่วยงานสาธารณะมีไว้เพื่อบริการชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นประชากรระดับล่างไปจนถึงสมาชิกสภาคอมมูนก็ตาม ด้านอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ตลอดจนเบี้ยเลี้ยงตามฐานันดรจากรัฐ ถูกยกเลิกไปพร้อม ๆ กับความทรงเกียรติของตัวฐานันดรนั้นเอง... และเมื่อสามารถกำจัดกองกำลังอันเป็นเครื่องมือของรัฐแบบเก่า เช่นกองทัพประจำการ และตำรวจ ลงไปได้แล้วนั้น คอมมูนยังได้ดำเนินการกำจัดอำนาจของเหล่านักบวช ซึ่งเป็นเครื่องมือแห่งการกดขี่ทางจิตวิญญาณอีกด้วย... อิสระอันเสแสร้งของบรรดาตุลาการถูกยกเลิกไป... เพื่อหลีกทางให้กับกระบวนการเลือกตั้ง แต่งตั้ง และปลดออก... คอมมูนมีหน้าที่เป็นทั้งองค์กรบริหารและตรากฎหมายในเวลาเดียวกัน... แทนที่จะต้องมามีการเลือกตั้งทุก ๆ สามปี หรือหกปี ที่ซึ่งสมาชิกในสภาจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนำ และกดขี่ประชาชนธรรมดาในเวลาเดียวกัน การให้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป หรือถ้วนหน้านั้น เป็นกลไกที่จะรับใช้ประชาชนทุกคนในคอมมูน ในขณะที่การให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเฉพาะบุคคลนั้น เป็นเพียงกลไกที่รับใช้นายจ้าง เพื่อเอื้อแก่การแสวงหาคนงาน หัวหน้างาน และผู้ดูแลบัญชีสำหรับธุรกิจของชนชั้นนายจ้างเท่านั้น”[56]

วิถีการผลิตแบบคอมมิวนิสต์ แก้

คอมมิวนิสต์ถือเป็นวิถีการผลิตแบบสุดท้าย คาดว่าจะกำเนิดขึ้นหลังจากสังคมนิยม ซึ่งเป็นไปตามกระแสธารแห่งประวัติศาสตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากซ์ไม่ได้กล่าวถึงธรรมชาติของสังคมคอมมิวนิสต์อย่างละเอียดเท่าใดนัก เนื่องจากมากซ์มักใช้ศัพท์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์สลับกันเสมอ อย่างไรก็ดี มากซ์กล่าวถึงวิถีการผลิตแบบคอมมิวนิสต์สั้น ๆ ในวิพากษ์โปรแกรมโกธา ว่า การที่จะปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างเต็มที่ “ในสังคมคอมมิวนิสต์ขั้นสูงสุดนั้น... [เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ] สังคมนั้นสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า ‘แต่ละคนทำงานตามความสามารถของตน โดยแต่ละคนรับผลตอบแทนตามความจำเป็น’”[57]

จุดเชื่อมโยงของวิถีการผลิต แก้

ในสังคมหรือประเทศใด ๆ นั้น อาจมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันแต่ดำรงอยู่ร่วมกัน โดยมีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจผ่านทางการค้าและพันธกรณีอื่น ๆ ที่มีต่อกัน แต่ละวิถีการผลิตที่แตกต่างกันนี้ ต่างก็มีรูปแบบของชนชั้นทางสังคม ตลอดจนช่วงชั้นทางประชากรที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหการในตัวเมืองของนายทุน อาจดำรงอยู่ร่วมกันกับการผลิตเพื่อยังชีพของชาวนาในชนบท ในขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกันชนเผ่าล่าสัตว์เก็บของป่า และแลกเปลี่ยนกันอย่างเรียบง่าย ดังนั้นวิถีการผลิตทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ อาจรวมตัวกันจนกลายเป็นเศรษฐกิจลูกผสม

อย่างไรก็ดี มากซ์มองว่า การขยายตัวของตลาดแบบทุนนิยมมีแนวโน้มที่จะกลืนกินและเข้าแทนที่วิถีการผลิตแบบเก่า เนื่องจากสังคมของนายทุนนั้นมีลักษณะที่ว่า เมื่อเวลาหมุนไปวิถีการผลิตแบบทุนนิยมจะกลายเป็นวิถีกระแสหลักของสังคม ทำให้ในแง่วัฒนธรรม หลักกฎหมาย และจารีตประเพณีของสังคมนั้น อาจมีธรรมเนียมปฏิบัติจากวิถีการผลิตก่อนหน้านั้นหลงเหลืออยู่เสมอ เพราะฉะนั้น หากกล่าวถึงประเทศ 2 ประเทศที่ต่างก็เป็นทุนนิยม ซึ่งมีความเหมือนกันในแง่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยวิสาหกิจเอกชนที่มุ่งแสวงหาผลกำไรและแรงงานสินจ้าง ประเทศทั้งคู่นี้อาจมีลักษณะทางสังคมที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนจากความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม ศาสนา กฎทางสังคม และประวัติศาสตร์ของชาตินั้น ๆ

เพื่อที่จะขยายความเกี่ยวกับแนวคิดนี้นั้น เลออน ทรอตสกี มีคำบรรยายเกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกอันเป็นที่โจษจันว่า เป็นกระบวนพัฒนาการที่หลอมรวมกันแต่ไม่เสมอกันของสังคมและวิถีการผลิตที่ดำรงอยู่ร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดต่างก็มีอิทธิพลต่อกัน นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ซึ่งอาจใช้เวลากว่าศตวรรษในประเทศหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่รวบรัดหรือมองเห็นได้แต่ไกลสำหรับอีกประเทศหนึ่ง ตามที่ทรอตสกีตั้งข้อสังเกตในบทแรกของงานเขียนประวัติศาสตร์ของตน การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ.1917 ว่า “[ชนป่าเถื่อน] ยอมเลิกใช้คันธนูและลูกศรในทันใด เพื่อแลกกับปืนไรเฟิล โดยไม่ต้องมีการทดลองใช้อาวุธที่เคยมีอยู่ในยุคระหว่างสองสิ่งนี้ในอดีตทั้งสิ้น นักล่าอาณานิคมชาวยุโรปในทวีปอเมริกาจึงไม่ต้องเริ่มต้นประวัติศาสตร์ใหม่หมดตั้งแต่ต้น” ดังนั้น เทคนิคและวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ อาจหลอมรวมกันอย่างแปลกใหม่และมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งไม่สามารถเป็นที่เข้าใจได้ นอกเสียจากจะต้องย้อนรอยเข้าไปศึกษาการปรากฏขึ้นทางประวัติศาสตร์ของสิ่งเหล่านี้ ในบริบทเฉพาะที่นั้น ๆ

ดูเพิ่มเติม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Marx, Grundrisse. (English Translation)
  2. New Voices on Adam Smith, by Leonidas Montes, Eric Schliesser. Routledge, March 2006. P 295.
  3. R Meek, Social Science and the Ignoble Savage (Cambridge 1976) p. 117-9 and p. 186-8.
  4. Quoted in J Childers ed., The Columbia Dictionary of Modern Literary and Cultural Criticism (New York 1995) p. 191.
  5. Quoted in J O’Neill, Sociology as a Skin Trade (London 1972) p. 115.
  6. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 11
  7. Quoted in J O’Neill, Sociology as a Skin Trade (London 1972) p. 116
  8. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 12
  9. Marxism.org: Mode of Production.
  10. J O’Neill, Sociology as a Skin Trade (London 1972) p. 115-6
  11. Scott, John; Marshall, Gordon (2007). A Dictionary of Sociology. USA: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-860987-2.
  12. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 46-7
  13. J Diamond, The World Until Yesterday (Penguin 2012) p. 13-1
  14. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 47
  15. G Childe, What Happened in History (Penguin 1954) p. 60-2
  16. J Diamond, The World Until Yesterday (London 2012) p. 15-17
  17. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 47
  18. Y Harari, Sapiens (London 2011) p. 235-7
  19. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 51
  20. Y Harari, Sapiens (London 2011) p. 137 and p. 145
  21. G Childe, What Happened in History (Penguin 1954) p. 117-125
  22. G Childe, What Happened in History (Penguin 1954) p. 94-5
  23. A R Burn, Persia and the Greeks (Stanford 1984) p. 565
  24. G Childe, What Happened in History (Penguin 1954) p. 25 and 196-7
  25. O. Murray ed., The Oxford History of the Classical World (Oxford 1991) p. 207-10
  26. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 51
  27. R Fagles trans., The Oresteia (Penguin 1981) p. 19-21
  28. “The pagan State recognised only the Masters as citizens...work is assigned to the Slaves”, Alexandre Kojeve, Introduction to the Reading of Hegel (London 1980) p. 57
  29. Plato, The Laws (Penguin 1988) p. 296
  30. G Childe, What Happened in History (Penguin 1954) p. 263-73
  31. P Wolff, The Awakening of Europe (Penguin 1968) p. 22-3
  32. R W Southern The Making of the Middle Ages (London 1993) p. 20 and p. 80
  33. J M Wallace-Hadrill, The Barbarian West (London 1964) p. 110-1 and p. 143
  34. Barrington Moore Jr, Social Origins of Dictatorship and Democracy(Penguin 1977) p. 419 and p. 4-5
  35. "The very essence of feudal property was exploitation in its most naked form", R H Tawney, Religion and the Rise of Capitalism (London 1937) p. 56
  36. W Ullmann A history of Political Thought in the Middle Ages (Penguin 1965) p. 90 and p. 147
  37. G C Coulton Medieval Panorama (Cambridge 1938) p. 50
  38. J Burrow, A History of Histories (Penguin 2009) p. 317
  39. Marx, Preface to A Contribution to the Critique of Political Economy, Marx, Early writings, Penguin, 1975, p425-6
  40. G C Coulton Medieval Panorama (Cambridge 1938) p. 73-6 and 284-6
  41. Barrington Moore Jr, Social Origins of Dictatorship and Democracy(Penguin 1977) p. 5
  42. M Scott, Medieval Europe (London 1964) p. 241 and p. 420
  43. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 267
  44. Quoted in J O’Neill, Sociology as a Skin Trade (London 1972) p. 26
  45. J O’Neill, Sociology as a Skin Trade (London 1972) p. 191
  46. Y Harari, Sapiens (London 2011) p. 368-71
  47. P. King, The Philosophy Book (London 2011) p. 199-200
  48. Y Harari, Sapiens (London 2011) p. 390
  49. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 50
  50. M Hardt ed., The Jameson Reader (Oxford 2000) p. 47-50 and p. 277-8
  51. E H Carr, The Bolshevik Revolution 2 (Penguin 1971) p. 11
  52. Lenin, Vladimir (1917). "The State and Revolution". Lenin Internet Archive at marxists.org. Retrieved October 18, 2018.
  53. E H Carr, The Bolshevik Revolution 2 (Penguin 1971) p. 15-6
  54. Marx, Karl. Critique of the Gotha Programme.
  55. Quoted in E H Carr, The Bolshevik Revolution 2 (Penguin 1971) p. 13
  56. Marx, Karl; Engels, Friedrich (1871). "The Civil War in France". Marx/Engels Archive at marxists.org. Retrieved October 18, 2018.
  57. Quoted in E H Carr, The Bolshevik Revolution 2 (Penguin 1971) p. 12

เอกสารเพิ่มเติม แก้

  • Perry Anderson, Passages from Antiquity to Feudalism.
  • Perry Anderson, Lineages of the Absolutist State.
  • G.E.M. De Ste Croix, The Class Struggle in the Ancient Greek World: From the Archaic Age to the Arab Conquests.
  • Chris Harman, A People's History of the World.
  • Barry Hindess & Paul Q. Hirst, Pre-capitalist modes of production. London: Routledge, 1975.
  • Lawrence Krader, The Asiatic Mode of Production; Sources, Development and Critique in the Writings of Karl Marx.
  • Ernest Mandel, Marxist Economic Theory.
  • Ellen Meiksins Wood, The Origin of Capitalism: A Longer View.
  • George Novack, Understanding History: Marxist Essays.
  • Fritjof Tichelman, The Social Evolution of Indonesia: The Asiatic Mode of Production and its Legacy.
  • W.M.J. van Binsbergen & P.L. Geschiere, ed., Old Modes of Production and Capitalist Encroachment.
  • Charles Woolfson, The Labour Theory of Culture.
  • Harold Wolpe, ed. The articulation of modes of production.
  • Michael Perelman, Steal This Idea: Intellectual Property Rights and the Corporate Confiscation of Creativity.