สงครามกลางเมืองอังกฤษ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
สงครามกลางเมืองอังกฤษ (อังกฤษ: English Civil War; ค.ศ. 1642 ถึงปี ค.ศ. 1651) เป็นสงครามกลางเมืองของอังกฤษ, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ที่ต่อเนื่องกันหลายครั้งระหว่างฝ่ายรัฐสภา และฝ่ายกษัตริย์นิยม สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1 เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1642 ถึงปี ค.ศ. 1646; ครั้งที่ 2 ระหว่างปี ค.ศ. 1648 ถึงปี ค.ศ. 1649 เป็นสงครามของความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ฝ่ายหนึ่งและผู้สนับสนุนรัฐสภายาวอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1649 ถึงปี ค.ศ. 1651 เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และผู้สนับสนุนรัฐสภารัมพ์อีกฝ่ายหนึ่ง สงครามกลางเมืองจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาที่ยุทธการวูสเตอร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1651
สงครามกลางเมืองอังกฤษ | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามสามอาณาจักร | |||||||
ชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาในยุทธการที่เนสบีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1645 เป็นจุดเปลี่ยนในการสู้รบของฝ่ายรัฐสภาต่อฝ่ายนิยมกษัตริย์ | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
- แควาเลียร์- สมาพันธรัฐไอร์แลนด์ |
- เครือจักรภพแห่งอังกฤษ- หัวเกรียน | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
50,700 เสียชีวิต 83,467 ถูกจับกุม [1] |
34,130 เสียชีวิต 32,823 ถูกจับกุม [1] | ||||||
ตายโดยไม่เข้าร่วมรบ 127,000 คน (รวมประชาชนอีก 40,000 คน)[a] |
ผลของสงครามกลางเมืองครั้งที่สองนำไปสู่การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1, การลี้ภัยของพระราชโอรสพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และการเปลี่ยนระบบการปกครองของอังกฤษจากระบอบพระมหากษัตริย์ไปเป็นระบบเครือจักรภพแห่งอังกฤษ ระหว่างปี ค.ศ. 1649 ถึงปี ค.ศ. 1653 และต่อจากนั้นไปเป็นระบบรัฐผู้พิทักษ์ภายใต้การนำของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างปี ค.ศ. 1653 ถึงปี ค.ศ. 1659 เอกสิทธิ์ในการนับถือคริสต์ศาสนาของนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ในอังกฤษสิ้นสุดลงด้วยการรวม การปกครองโดยโปรเตสแตนต์ (Protestant Ascendancy) ในไอร์แลนด์ ในด้านรัฐธรรมนูญสงครามครั้งนี้เป็นการวางรากฐานว่าการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทำได้โดยมิได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่อันที่จริงแล้วปรัชญานี้ก็มิได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังจนกระทั่งถึงสมัยการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปลายคริสต์ศตวรรษ
ความหมาย
แก้คำว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ในภาษาอังกฤษมักจะใช้เป็นคำเอกพจน์แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังโต้แย้งกันว่าเป็นสงครามสองหรือสามสงคราม สงครามนี้เป็นสงครามของอังกฤษแต่ความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มแรกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ (ดู สงครามสามอาณาจักร)
สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งนี้ต่างกับสงครามกลางเมืองอังกฤษของอังกฤษอื่นๆ ตรงที่มิใช่เพียงแต่จะเป็นสงครามที่แก่งแย่งระหว่างผู้นำที่แท้จริงของประเทศ แต่ยังเป็นสงครามที่คำนึงถึงการเลือกระบบการปกครองของบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ นักประวัติศาสตร์บางคนจัดสงครามกลางเมืองอังกฤษว่าเป็น “การปฏิวัติอังกฤษ” งานเขียนเช่นสารานุกรมบริตานิกา ฉบับ ค.ศ. 1911 กล่าวถึงสงครามกลางเมืองอังกฤษว่าเป็น “การปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่” นักประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซเช่นคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ (Christopher Hill) มักจะนิยมใช้คำว่า “การปฏิวัติอังกฤษ” (English Revolution) แทนการใช้คำว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ในการกล่าวถึงสงครามครั้งนี้
สาเหตุ
แก้ปรัชญาการปกครองของพระเจ้าชาลส์
แก้สงครามกลางเมืองอังกฤษเริ่มขึ้นเพียงสี่สิบปีหลังจากการสวรรคตของพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ในปี ค.ศ. 1603 เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1625 อังกฤษและสกอตแลนด์อยู่ในความสงบทั้งทางการภายในและความสัมพันธ์ระหว่างของทั้งสองราชอาณาจักร พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะรวมราชอาณาจักรอังกฤษ, ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์เข้าเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์) แต่ฝ่ายรัฐสภามีความเคลือบแคลงใจถึงพระราชประสงค์ที่ว่านี้ เพราะการก่อตั้งราชอาณาจักรใหม่อาจจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของอังกฤษที่เคยปฏิบัติกันมา และเป็นสิ่งที่เป็นเครื่องมือในการค้ำจุนรากฐานการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์มาจนถึงเวลานั้น นอกจากนั้นเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงครองราชย์ภายใต้ปรัชญาเดียวกันกับพระราชบิดาที่ครั้งหนึ่งตรัสบรรยายตำแหน่งพระมหากษัตริย์ว่าเป็นการเป็น “เทพน้อยๆ บนโลกมนุษย์” (little Gods on Earth) พระเจ้าชาลส์ทรงมีความเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากพระเจ้าให้ปกครองอาณาจักรภายใต้กฎ “เทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์” (Divine Right of Kings) ปรัชญาของพระองค์ก็ยิ่งทำให้รัฐสภาเพิ่มความหวั่นระแวงต่อนโยบายของพระองค์มากยิ่งขึ้น
ในการปกครองพระเจ้าชาลส์ทรงเรียกร้องความจงรักภักดีจากผู้อยู่ใต้การปกครองโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นการแลกเปลี่ยนกับ “การปกครองอย่างยุติธรรม” พระองค์ทรงเห็นว่าการขัดแย้งกับพระองค์เป็นการกระทำที่หยามพระองค์ ความขัดแย้งหรือความเคลือบแคลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาแห่งอังกฤษเป็นผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ในที่สุดก็แตกหักลงและนำไปสู่สงครามกลางเมืองในที่สุด
รัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษ
แก้ก่อนที่จะเกิดการต่อสู้กันรัฐสภาแห่งอังกฤษมิได้มีบทบาทในระบบการปกครองของอังกฤษเท่าใดนัก รัฐสภาเป็นแต่เพียงคณะผู้ถวายคำแนะนำต่อและเป็นเครื่องมือของพระมหากษัตริย์เท่านั้น—พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ที่จะเรียกประชุมหรือยุบรัฐสภาเมื่อใดก็ได้ตามแต่พระราชประสงค์ การที่เรียกประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นการเรียกเข้ามาเพื่อให้ช่วยหาเงินทุนเข้าพระคลัง เพราะรัฐสภาโดยสมาชิกผู้เป็นผู้นำท้องถิ่น (gentry) มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บภาษี พระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องพึ่งบุคคลเหล่านี้ในการทำให้การเก็บภาษีเป็นการราบรื่นโดยไม่มีปัญหาใดใด ถ้าผู้นำท้องถิ่นปฏิเสธที่จะเก็บภาษีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่มีเครื่องมืออื่นใดในการบังคับการเก็บภาษี แม้ว่ารัฐสภาจะอนุญาตให้ผู้แทนของผู้นำท้องถิ่นประชุมและส่งนโยบายเสนอไปยังพระมหากษัตริย์ในรูปของร่างพระราชบัญญัติ แต่ผู้แทนเหล่านี้ไม่มีอำนาจในการบังคับให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัติที่เสนอไป—รัฐสภาอาจจะมีอำนาจในการบังคับพระมหากษัตริย์อยู่บ้างโดยการไม่ยอมร่วมมือในการเก็บภาษีหาเงินให้พระมหากษัตริย์ตามที่ทรงต้องการ แต่ถ้าทำเช่นนั้นพระองค์ก็อาจจะตัดสินใจยุบสภา
รัฐสภากับคำร้องสิทธิ
แก้เหตุการณ์แรกที่ทำให้รัฐสภาเริ่มเป็นกังวลคือการเสกสมรสระหว่างพระเจ้าชาลส์ที่ 1 กับเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียแห่งบูร์บองผู้เป็นเจ้าหญิงโรมันคาทอลิกจากฝรั่งเศส การเสกสมรสเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1625 ไม่นานหลังจากที่พระเจ้าชาลส์เสด็จขึ้นครองราชย์ การเสกสมรสของพระองค์ทำให้อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องพระราชโอรสที่จะเป็นรัชทายาทที่อาจจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างโรมันคาทอลิก ซึ่งทำให้เป็นที่หวั่นกลัวของชาวอังกฤษผู้เป็นโปรเตสแตนต์
นอกจากนั้นพระเจ้าชาลส์ยังมีพระราชประสงค์ที่จะเข้าเกี่ยวข้องในความขัดแย้งในยุโรปที่ขณะนั้นอยู่ภายใต้ความยุ่งเหยิงของสงครามสามสิบปี (ค.ศ. 1618-ค.ศ. 1648) การเข้าร่วมการสงครามหมายถึงการใช้ทุนทรัพย์เป็นจำนวนมหาศาล วิธีที่พระเจ้าชาลส์จะทรงสามารถหาทุนในการทำสงครามได้ก็โดยการขึ้นภาษีที่ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา แต่แทนที่รัฐสภากลับจำกัดสิทธิในการเก็บภาษีตันภาษีปอนด์ที่แต่เดิมเป็นสิทธิส่วนพระองค์ที่ทรงเรียกเก็บได้ตลอดพระชนม์ชีพ รัฐสภาจำกัดให้ทรงเก็บได้เพียงปีเดียว ถ้าจะเก็บในปีต่อไปพระองค์ก็ต้องมาต่อรองขออนุมัติจากรัฐสภาเป็นปีๆ ไป ซึ่งเป็นผลทำให้พระองค์ทรงมีปัญหาทางการเงินหนักยิ่งขึ้น
แต่ปัญหาการขาดทุนทรัพย์ก็มิได้ทำให้พระเจ้าชาลส์หยุดยั้งการเข้าเกี่ยวข้องในการสงคราม ทรงตัดสินพระทัยส่งกองกำลังไปช่วยอูว์เกอโนที่ถูกล้อมอยู่ที่ลารอแชล โดยมีจอร์จ วิลเลียรส์ ดยุคแห่งบัคคิงแฮมที่ 1ข้าราชสำนักคนโปรดไปเป็นแม่ทัพ แต่ก็เป็นการทัพที่ล้มเหลว รัฐสภาที่เป็นปรปักษ์ต่อดยุคแห่งบัคคิงแฮมอยู่แล้วเรียกร้องให้ปลดดยุคแห่งบัคคิงแฮมออกจากตำแหน่ง พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงยอมและทรงโต้ตอบด้วยการยุบรัฐสภา การกระทำครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการช่วยดยุคแห่งบัคคิงแฮมแต่ก็เป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐสภามากยิ่งขึ้น
หลังจากที่ทรงยุบรัฐสภาแล้ว และไม่ทรงสามารถหาเงินโดยไม่มีรัฐสภาช่วยแล้วพระเจ้าชาลส์ก็ทรงตั้งรัฐสภาใหม่ในปี ค.ศ. 1628 ที่รวมทั้งโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่รัฐสภาใหม่ยื่นคำร้องขอสิทธิฟ้องร้องรัฐ ซึ่งในที่สุดพระองค์ก็ทรงยอมรับเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้ทุนทรัพย์จากการที่รัฐสภาช่วยเก็บภาษีให้พระองค์
สมัยการปกครองส่วนพระองค์ของพระเจ้าชาลส์
แก้หลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงเลี่ยงการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นเวลากว่าสิบปีซึ่งเป็นสมัยที่เรียกว่า “สิบเอ็ดปีแห่งความกดขี่” (Eleven Years' Tyranny) ในช่วงเวลานี้พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงสามารถหาเงินได้ง่ายๆ โดยปราศจากรัฐสภา แต่ก็ทรงหันไปหาวิธีอื่นในการหาเงินเข้าท้องพระคลัง เช่นการนำกฎหมายโบราณออกมารื้อฟื้นใช้ในการเรียกค่าปรับจากขุนนางผู้มิได้เข้าร่วมในพิธีราชาภิเษกของพระองค์ก่อนหน้านั้น นอกจากนั้นก็ยังทรงพยายามโดยการเก็บภาษีเรือที่เรียกร้องเก็บภาษีจากแคว้นต่างๆ ที่ไม่อยู่ติดทะเลสำหรับราชนาวีอังกฤษ บางคนก็ต่อต้านไม่ยอมจ่ายภาษีที่ว่าเพราะถือว่าเป็นภาษีที่ผิดกฎหมายแต่ก็ไปแพ้ในศาลซึ่งก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเพิ่มความไม่พอใจในวิธีการปกครองของพระองค์มากยิ่งขึ้น
ระหว่างการเก็บภาษีแล้ว ใน “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” พระเจ้าชาลส์ก็ยังทรงก่อให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา โดยการที่มีพระประสงค์ที่จะแยกนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ให้ใกลจากลัทธิคาลวินมากขึ้น ไปทางที่ใช้ระบอบประเพณีทางศาสนาเช่นที่ใกล้เคียงกับธรรมเนียมโบราณมากขึ้นกว่าที่ปฏิบัติกันในลัทธิคาลวิน[2] พระประสงค์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยอัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดที่ปรึกษาทางการเมืองส่วนพระองค์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยพระเจ้าชาลส์เองให้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ในปี ค.ศ.1633[3][4] และทรงริเริ่มการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เป็นการพยายามเพิ่มอำนาจให้แก่นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์มากขึ้น อัครบาทหลวงลอดพยายามทำให้สถาบันศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยการปลดนักบวชที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายและปิดองค์การต่างๆ ของกลุ่มเพียวริตัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการต่อต้านนโยบายการปฏิรูปศาสนาของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระราชนโยบายของพระองค์เป็นนโยบายที่ค้านกับปรัชญาของลัทธิคาลวินที่ต้องการให้นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ทำพิธีศาสนาเช่นที่ระบุไว้ใน “หนังสือสวดมนต์สามัญ” (Book of Common Prayer) นอกไปจากนั้นอัครบาทหลวงลอดก็ยังนิยมคริสต์ศาสนปรัชญาของลัทธิอาร์มิเนียนนิสม์ (Arminianism) ของจาโคบัส อาร์มิเนียส (Jacobus Arminius) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ผู้เคร่งครัดในลัทธิคาลวินิสม์ถือว่าแทบจะเป็นปรัชญาของ “โรมันคาทอลิก”
เพื่อจะเป็นควบคุมผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อการเปลี่ยนแปลง อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอดตั้งระบบศาลที่เป็นที่น่ายำเกรงขึ้นสองศาล “Court of High Commission” และ “ศาลโถงดาว” (Court of Star Chamber) เพื่อใช้ในการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมรับการปฏิรูป ศาลแรกมีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การที่ทำความเสียหายต่อตนเองได้ ศาลหลังมีอำนาจออกบทลงโทษใดๆ ก็ได้รวมทั้งการทรมานยกเว้นแต่เพียงการประหารชีวิตเท่านั้น
อำนาจเหนือกฎหมายของ “ศาลโถงดาว” ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์เป็นอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจใดๆ ที่เคยใช้กันมาก่อนในรัชสมัยของพระองค์ ภายในรัชสมัยของพระองค์ผู้ถูกกล่าวหามักจะถูกลากตัวขึ้นศาลโดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ และไม่มีสิทธิในการคัดค้านข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้นด้วย นอกจากนั้นคำสารภาพที่ได้มาก็มักจะได้มาจากการทรมาน
การก่อความไม่สงบในสกอตแลนด์
แก้“สมัยการปกครองส่วนพระองค์” มายุติลงเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงพยายามนำนโยบายทางศาสนาที่บังคับใช้ในอังกฤษไปใช้ในสกอตแลนด์ แม้ว่านิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์จะมีนโยบายเป็นของตนเอง แต่พระเจ้าชาลส์มีพระราชประสงค์ที่จะให้การปฏิบัติทางศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งเกาะอังกฤษที่รวมทั้งสกอตแลนด์ โดยการเสนอการใช้หนังสือสวดมนต์สามัญในสกอตแลนด์ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1637 แต่ทางสกอตแลนด์ประท้วงอย่างรุนแรงจนเกิดการจลาจลในเอดินบะระห์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1638 ทางสกอตแลนด์ก็ยื่นการประท้วงอย่างเป็นทางการในพันธสัญญาแห่งชาติ (National Covenant) ซึ่งเป็นเอกสารที่ประท้วงข้อเสนอต่างๆ ของพระเจ้าชาลส์ที่ยังมิได้รับการทดสอบโดยรัฐสภาแห่งสกอตแลนด์และสภาทั่วไปของศาสนาของสกอตแลนด์ก่อนที่จะนำมาปฏิบัติ
ไม่นานหลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยกถอนการบังคับใช้หนังสือสวดมนต์สามัญในสกอตแลนด์และทรงเรียกประชุมสภาทั่วไปของนิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ที่กลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1638 สภาทั่วไปที่มีอิทธิพลจากมติมหาชนไม่ยอมรับหนังสือสวดมนต์และประกาศว่าเป็นการผิดกฎหมายและไล่บาทหลวงออกจากการร่วมประชุม พระเจ้าชาลส์ทรงเรียกร้องให้สภาทั่วไปถอนการกระทำแต่สภาทั่วไปไม่ยอม ทั้งสองฝ่ายต่างจึงเริ่มรวบรวมกองทหารสำหรับการสงครามที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้น
ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1639 พระเจ้าชาลส์ทรงนำกองทัพขึ้นไปยังเขตแดนสกอตแลน์เพื่อจะไปปราบความไม่สงบที่เรียกว่าสงครามบาทหลวง แต่ก็เป็นการสู้รบที่ไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ชนะอย่างเป็นที่แน่นอน ในที่สุดพระองค์ก็ยอมรับข้อเสนอยุติการศึกจากฝ่ายสกอตแลนด์—สัญญาสงบศึกเบริค (Pacification of Berwick) แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเมื่อสงครามบาทหลวงครั้งที่สองเริ่มขึ้นในฤดูร้อนของปีต่อมาในปี ค.ศ. 1640 ครั้งนี้ฝ่ายสกอตแลนด์ได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าชาลส์และยึดนิวคาสเซิลอัพพอนไทน์ ในที่สุดพระเจ้าชาลส์ก็ทรงยอมตกลงที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการศาสนาในสกอตแลนด์ นอกจากนั้นก็ยังทรงต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายสกอตแลนด์ด้วย
เรียกประชุมรัฐสภา
แก้ก่อนหน้าที่จะเข้าสงครามกับสกอตแลนด์พระเจ้าชาลส์ทรงมีความรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องปราบปรามความไม่สงบในสกอตแลนด์แต่ไม่ทรงมีงบประมาณพอ พระองค์จึงทรงพยายามหาทุนโดยการเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ที่เพิ่งได้รับเลือกในปี ค.ศ. 1640 แต่ฝ่ายเสียงข้างมากของรัฐสภานำโดยจอห์น พิม (John Pym) ถือโอกาสในการยื่นข้อร้องทุกข์ที่มีต่อระบบการใช้อำนาจในทางที่ผิดของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่าง “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” ที่ผ่านมาและแสดงการต่อต้านพระราชนโยบายในการรุกรานสกอตแลนด์ของพระองค์ พระเจ้าชาลส์ทรงเห็นว่าการกระทำของรัฐสภาเป็นการกระทำที่ “Lèse majesté” (หยามอำนาจของพระมหากษัตริย์) พระองค์จึงมีพระราชโองการให้ยุบรัฐสภาหลังจากได้รับการเรียกเข้าประชุมเพียงสามอาทิตย์ รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภาสั้น”
เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภา พระเจ้าชาลส์ก็เสด็จไปโจมตีสกอตแลนด์อีกครั้งซึ่งเป็นการละเมิดสัญญาสงบศึกเบอร์วิค และทรงได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน สกอตแลนด์ถือโอกาสรุกรานอังกฤษและเข้ายึดนอร์ทธัมเบอร์แลนด์และเดอแรม.
ขณะเดียวกันทอมัส เวนท์เวิร์ธ หัวหน้าที่ปรึกษาของพระเจ้าชาลส์ ผู้เป็นผู้ปกครองไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1632 ก็ไปตกลงกับผู้นำท้องถิ่นโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์ว่าจะให้เสรีภาพทางศาสนาเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสียภาษีใหม่ที่เวนท์เวิร์ธนำกลับมาถวายพระเจ้าชาลส์
ในปี ค.ศ. 1639 พระเจ้าชาลส์ทรงเรียกเวนท์เวิร์ธกลับอังกฤษ และทรงแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดในปี ค.ศ. 1640 โดยทรงหวังที่จะให้เวนท์เวิร์ธไปทำอย่างเดียวกันนั้นกับสกอตแลนด์ แต่ครั้งนี้เวนท์เวิร์ธไม่ประสบความสำเร็จ และทหารอังกฤษต้องถอยหนีหลังจากเผชิญหน้ากับสกอตแลนด์เป็นหนที่สองในปี ค.ศ. 1640 ทางเหนือของอังกฤษเกือบทั้งหมดจึงถูกยึดโดยสกอตแลนด์ พระเจ้าชาลส์ทรงถูกบังคับให้จ่ายค่าชดใช้สงครามเป็นจำนวน £850 ต่อวันในการหยุดยั้งจ้างไม่ให้สกอตแลนด์เดินทัพต่อไปในอังกฤษ
สถานะการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้พระเจ้าชาลส์ทรงประสบปัญหาทางการเงินหนักกว่าครั้งใดใด ในฐานะพระมหากษัตริย์ของสกอตแลนด์พระองค์ทรงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าบำรุงกองทัพสกอตแลนด์ในอังกฤษ และในฐานะพระมหากษัตริย์ของอังกฤษพระองค์ทรงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าบำรุงกองทัพอังกฤษในการป้องกันอังกฤษเองด้วย เพื่อหาทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายในค่าบำรุงรักษากองทัพต่างๆ พระองค์จึงต้องเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1640
รัฐสภายาว
แก้รัฐสภาใหม่ที่เรียกเข้ามายิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์หนักยิ่งขึ้นกว่ารัฐสภาเดิม ที่เริ่มโดยการยื่นคำร้องทุกข์ต่อการปกครองของพระองค์และรัฐบาลของพระองค์อันไม่เป็นธรรม โดยมีพิมและจอห์น แฮมพ์เด็น (John Hampden) เป็นผู้นำ นอกจากนั้นรัฐสภาก็ยังดำเนินการปฏิรูปต่างๆ เช่นผ่านพระราชบัญญัติว่ารัฐสภาต้องประชุมอย่างน้อยสามปีต่อครั้งโดยไม่ต้องได้รับการเรียกจากพระมหากษัตริย์ กฎหมายอื่นที่ผ่านก็ได้แก่การระบุว่าพระมหากษัตริย์ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และรัฐสภามีอำนาจเหนือองคมนตรีของพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระมหากษัตริย์ไม่สามารถยุบรัฐสภาได้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากตัวรัฐสภาเอง รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภายาว” แต่รัฐสภาก็พยายามเลี่ยงข้อขัดแย้งกับพระเจ้าชาลส์โดยการให้สมาชิกลงนามใน “ปฏิญาณความภักดี” ต่อพระองค์
เมื่อต้นปี ค.ศ. 1641 รัฐสภาก็สั่งจับทอมัส เวนท์เวิร์ธ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดและส่งไปขังไว้ที่หอคอยแห่งลอนดอนในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน จอห์น พิมอ้างว่าการเตรียมพร้อมของเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดในการรณรงค์ในการต่อต้านผู้รุกรานอังกฤษอันที่จริงแล้วเป็นการเตรียมตัวต่อต้านอังกฤษเอง แต่สภาสามัญชนก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อกล่าวหาได้ จอห์น พิมและเฮนรี เวน (ผู้พ่อ) (Henry Vane the Elder) จึงหันไปใช้พระราชบัญญัติริบทรัพย์ (Bill of Attainder) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่ระบุว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดโดยไม่ต้องพิสูจน์ในศาลแต่โดยการอนุมัติจากพระมหากษัตริย์ แต่พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงยอมอนุมัติ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดกลัวว่าสงครามจะเกิดขึ้นก็เขียนจดหมายไปถึงพระเจ้าชาลส์ให้ทรงพิจารณาใหม่ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดจึงถูกประหารชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1641.[5]
แต่แทนที่การเสียสละของเอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดจะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นจากสงคราม กลับกลายเป็นเหตุที่นำมาซึ่งสงคราม ภายในไม่กี่เดือนหลังจากนั้นกลุ่มโรมันคาทอลิกไอร์แลนด์ผู้ที่กลัวอำนาจของโปรเตสแตนต์ที่เพิ่มมากขึ้นก็เริ่มสงครามก่อนในการปฏิวัติไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 ในขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่าพระเจ้าชาลส์ทรงสนับสนุนฝ่ายโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์ สมาชิกสภาสามัญชนที่เป็นเพียวริตันก็เริ่มแสดงความหวาดหวั่นต่อการกระทำของพระเจ้าชาลส์
สถานะการณ์ระหว่างพระเจ้าชาลส์กับรัฐสภาก็เลวร้ายขึ้นทุกวัน จนในที่สุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1642 พระเจ้าชาลส์พร้อมกับกองทหารราว 400 คนก็บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อที่จะพยายามจับตัวสมาชิกห้าคนของรัฐสภาในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน แต่ผู้ถูกกล่าวหารู้ตัวเสียก่อนและหลบหนีไปทันก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาถึง ยกเว้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่มิได้หนีไปกับผู้อื่น พระเจ้าชาลส์จึงตรัสถามประธานสภา วิลเลียม เล็นทาลล์ (William Lenthall) ว่าสมาชิกสภาหลบหนีกันไปไหนหมดซึ่งเล็นทาลล์ให้คำตอบที่เป็นที่รู้จักกันว่า “May it please your Majesty, I have neither eyes to see nor tongue to speak in this place but as the House is pleased to direct me, whose servant I am here.”[6] ซึ่งเท่ากับว่าเล็นทาลล์ประกาศตนเป็นผู้รับใช้รัฐสภาแทนที่จะเป็นผู้รับใช้พระมหากษัตริย์
ความกดขี่ในท้องถิ่น
แก้ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1642 เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดความแตกแยกกันในทางความเห็น ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์ก็เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากความไม่ยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่นการบังคับเก็บค่าธรรมเนียมในการระบายน้ำในบริเวณเดอะเฟ็นส์ (The Fens) ซึ่งมีผลต่อประชากรเป็นจำนวนมากหลังจากที่ทรงให้สัญญาการระบายน้ำต่อผู้รับเหมา ซึ่งเป็นผลทำให้ประชากรทางตะวันออกจำนวนมากไปเข้าข้างฝ่ายรัฐสภา เช่น เอ็ดเวิร์ด มองตากิว เอิร์ลแห่งแมนเชสเตอร์ที่ 2 และโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ก็มีเช่น โรเบิร์ต เบอร์ตี เอิร์ลแห่งลินซีย์ที่ 1 (Robert Bertie, 1st Earl of Lindsey) ผู้เสียชีวิตในการต่อสู้ในฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่ยุทธการเอ็ดจฮิลล์
สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1
แก้เมื่อต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1642 ไม่กี่วันหลังจากที่พระเจ้าชาลส์ทรงบุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อจะจับกุมสมาชิกห้าคนในสภาสามัญชนแต่ไม่สำเร็จ พระองค์ก็ไม่ทรงมีความรู้สึกปลอดภัยที่จะประทับในลอนดอนอยู่ต่อไป พระองค์จึงเสด็จหนีออกจากลอนดอน แต่ระหว่างนั้นจนตลอดหน้าร้อนก็ยังมีการต่อรองระหว่างรัฐสภายาวกับพระองค์เพื่อหาทางประนีประนอมแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด บ้านเมืองในขณะนั้นก็แตกแยกกันเป็นฝักฝ่าย เช่นเมืองพอร์ทสมัธภายใต้การนำของเซอร์จอร์จ กอริง ลอร์ดกอริงประกาศเข้าข้างพระเจ้าชาลส์ แต่เมื่อทรงพยายามรวบรวมอาวุธจากคิงสตันอัพพอนฮัลล์ (Kingston upon Hull) ที่เป็นคลังอาวุธที่ใช้ในการรณรงค์ต่อต้านสกอตแลนด์ก่อนหน้านั้น เซอร์จอห์น ฮ็อทแฮม บารอนเน็ทที่ 1 ข้าหลวงฝ่ายทหารที่ไดัรับแต่งตั้งโดยรัฐสภาในเดือนมกราคมก็ไม่ยอมให้พระเจ้าชาลส์เข้าเมือง พระองค์ก็เสด็จกลับมาพร้อมกับกองทหารเพิ่มเติมแต่ก็ไม่ทรงสามารถเข้าเมืองฮัลล์ได้ (การล้อมเมืองฮัลล์ (Siege of Hull (1642)) พระเจ้าชาลส์จึงทรงออกหมายจับฮ็อทแฮมในข้อหากบฏแต่ก็ไม่ทรงสามารถบังคับใช้ได้ ตลอดหน้าร้อนความตึงเครียดก็เพิ่มมากระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาก็เพิ่มมากขึ้นทุกที และการปะทะกันกระเส็นกระสายก็เริ่มเกิดขึ้นทั่วไปแต่การเสียชีวิตเกิดขึ้นที่ครั้งแรกแมนเชสเตอร์[7]
เมื่อความขัดแย้งเริ่มขึ้นบรรยากาศส่วนใหญ่ทั่วๆ ไปในประเทศก็เป็นกลาง แม้ว่าราชนาวีอังกฤษและเมืองใหญ่จะมีแนวโน้มที่จะเข้าข้างรัฐสภาก็ตาม ส่วนการสนับสนุนของพระเจ้าชาลส์ส่วนใหญ่มาจากชุมชนในชนบท นักประวัติศาสตร์ประมาณว่าทั้งสองฝ่ายขณะนั้นมีกองกำลังรวมกันเพียงประมาณ 15,000 คน แต่เมื่อสงครามขยายตัวเพิ่มขึ้น ความกระทบกระเทือนก็มีผลต่อสังคมทุกระดับ ชุมชนบางชุมชนก็พยายามรักษาตัวเป็นกลาง บ้างก็ก่อตั้งกองคลับเม็น (Clubmen) เพื่อป้องกันชุมชนในท้องถิ่นจากการเอาประโยชน์จากกองทหารของทั้งฝ่ายนิยมกษัตริย์และฝ่ายรัฐสภา แต่ส่วนใหญ่พบว่าไม่สามารถต่อต้านกำลังของทั้งสองฝ่ายได้
หลังจากความล้มเหลวที่ฮัลล์แล้วพระเจ้าชาลส์ก็เสด็จต่อไปยังน็อตติงแฮมและทรง “ยกธง” (raise the royal standard) หรือประกาศสงครามต่อฝ่ายรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1642 ในขณะนั้นทรงมีกองทหาม้าราว 2,000 คนและทหารราบยอร์คเชอร์อีกบ้าง ในการรวบรวมกองพลพระองค์ทรงรื้อฟื้นกฎหมายโบราณที่เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะดมไพร่พล” ที่เป็นพระราชกฤษฎีกาที่มอบอำนาจให้พระเจ้าแผ่นดินในการมีสิทธิเรียกเกณฑ์ทหารในการทำสงครามได้ ผู้สนับสนุนพระองค์ก็เริ่มรวบรวมกองทัพที่มีจำนวนมากขึ้นในอาณาบริเวณที่ทรง “ยกธง” หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงย้ายไปทางตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มด้วยสตาฟฟอร์ด (Stafford) และต่อมาไปยังชรูสบรี (Shrewsbury) เพราะทรงได้รับการสนับสนุนอย่างแน่นหนาในบริเวณหุบเขาเซเวิร์นและทางตอนเหนือของเวลส์[8] ขณะที่เสด็จผ่านเวลลิงตันในชร็อพเชอร์พระองค์ก็มีพระราชประกาศเจตนาที่มารู้จักกันว่า “พระราชประกาศเวลลิงตัน” (Wellington Declaration) ซึ่งเป็นการทรงแถลงอุดมการณ์ว่าในการต่อสู้ครั้งนี้พระองค์จะทรงพิทักษ์ “ศาสนาโปรเตสแตนต์, กฎหมายอังกฤษ และเสรีภาพของรัฐสภา”
ในขณะเดียวกันทางฝ่ายรัฐสภาก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉยระหว่างก่อนหน้าที่จะเกิดสงคราม โดยสร้างเสริมเมืองที่เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ และในเมืองเหล่านั้นก็แต่งตั้งผู้สนับสนุนนโยบายของฝ่ายรัฐสภาเป็นผู้บริหาร ภายในวันที่ 9 มิถุนายนทางฝ่ายรัฐสภาก็สามารถรวบรวมกำลังพลอาสาสมัครได้ถึง 10,000 คนและแต่งตั้งให้โรเบิร์ต เดเวอโรซ์ เอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ที่ 3 เป็นผู้บังคับบัญชา สามวันต่อมา “Lords Lieutenant” ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภาใช้อำนาจที่ได้รับจากกฤษฎีการะดมทหารอาสาสมัคร ในการเกณฑ์ทหารเข้าร่วมในกองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์[9]
สองอาทิตย์หลังจากที่พระเจ้าชาลส์ก็ทรงประกาศสงครามที่น็อตติงแฮม เอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก็นำกองทัพขึ้นไปยังนอร์ทแธมตัน (Northampton) โดยได้ผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นระหว่างทาง (รวมทั้งกองทหารม้าจากเคมบริดจ์เชอร์ที่รวบรวมและบังคับบัญชาโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) ภายในกลางเดือนกันยายนกองกำลังของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 25, 200 คนโดยเป็นทหารราบเสีย 21,000 คนและทหารม้าอีก 4200 คน เมื่อวันที่ 14 กันยายนเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก็ย้ายกองทัพไปโคเวนทริและต่อไปยังทางเหนือของค็อตสวอลด์ส (Cotswolds) จุดที่เป็นที่ตั้งทัพเป็นตำแหน่งที่อยู่ระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมด้านหนึ่งและลอนดอนอีกด้านหนึ่ง
ขณะนั้นกองทหารของทั้งสองฝ่ายก็มีจำนวนรวมกันเป็นหมื่นและมีวูสเตอร์เชอร์เท่านั้นที่ขวางกลางระหว่างสองกองทัพ ซึ่งทำให้ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงในการประจันหน้ากันได้ การต่อสู้ครั้งแรกของสงครามกลางเมืองเริ่มด้วยกองทหารม้าหนึ่งพันคนนำโดยเจ้าชายรูเปิร์ตแห่งไรน์พระนัดดาของพระเจ้าชาลส์จากเยอรมนีเป็นฝ่ายจู่โจมและได้รับชัยชนะต่อกองทหารม้าของฝ่ายรัฐสภาภายใต้การนำของนายพันจอห์น บราวน์ในยุทธการเพาวิคบริดจ์ที่สะพานข้ามแม่น้ำทีม (River Teme) ไม่ไกลจากวูสเตอร์[10]
หลังจากนั้นเจ้าชายรูเปิร์ตก็ถอยกลับไปชรูสบรี ที่ชรูสบรีสภาสงครามโต้แย้งกันถึงนโยบายสองนโยบายในการที่จะดำเนินการสงครามต่อไป นโยบายแรกคือการเดินทัพเข้าหาที่ตั้งใหม่ของกองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ใกล้วูสเตอร์ นโยบายคือเลี่ยงการประจันหน้ากับเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์และพยายามเดินทัพไปทางที่เปิดโล่งไปยังลอนดอน สภาตัดสินใจเดินทัพไปลอนดอนแต่มิได้พยายามเลี่ยงการต่อสู้ เพราะผู้นำทหารฝ่ายพระเจ้าชาลส์ต้องการจะประจันหน้าในการต่อนสู้กับเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ก่อนที่กองทัพของเอสเซ็กซ์จะแข็งตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสาเหตุมาจากความกระหายสงครามของทั้งสองฝ่ายซึ่งทำให้การตัดสินยิ่งยากยิ่งขึ้น ซึ่งเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอนที่ 1 กล่าวว่า: “เป็นการถูกต้องในการตัดสินใจที่จะเดินทัพต่อไปยังลอนดอนเพราะเป็นที่แน่นอนว่าเอสเซ็กซ์จะต้องพยายามเข้าขัดขวาง”[11] กองทัพของพระเจ้าชาลส์จึงเริ่มเดินทัพไปยังลอนดอนเมื่อวันที่ 12 ตุลคมสองวันล่วงหน้ากองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ โดยเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็ได้ผลเพราะเป็นการบังคับให้เอสเซ็กซ์ต้องเคลื่อนทัพมาขัดขวาง[11]
สงครามอย่างเป็นทางการ (Pitched battle) เริ่มต่อสู้กันเป็นครั้งแรกในยุทธการเอ็ดจฮิลล์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1642 ครั้งนี้ไม่มีใครแพ้ใครชนะแต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็อ้างตนว่าเป็นผู้ชนะ การปะทะกันครั้งที่สองเกิดขึ้นที่ยุทธการเทอแนมกรีน ครั้งนี้พระเจ้าชาลส์ทรงถูกบังคับให้ถอยไปยังเมืองออกซฟอร์ด ซึ่งกลายเป็นที่ตั้งมั่นของพระองค์จนสงครามยุติลง
ในปี ค.ศ. 1643 กองทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมได้รับชัยชนะที่ยุทธการแอดวาลตันมัวร์ และได้อำนาจในการควบคุมบริเวณยอร์เชอร์เกือบทั้งหมด ทางมิดแลนด์สกองทัพฝ่ายรัฐสภานำโดยเซอร์จอห์น เจลล์ บารอนเน็ตที่ 1 เข้าล้อมและยึดเมืองลิชฟิลด์ (Lichfield) ได้ หลังจากการเสียชีวิตของผู้นำคนเดิม ลอร์ดบรุ้ค กองนี้ต่อมาสมทบกับเซอร์จอห์น เบรเรตันในการต่อสู้ในยุทธการฮอพตันฮีธที่ไม่มีผู้ใดแพ้ผู้ใดชนะเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1643 ที่เอิร์ลแห่งนอร์ทแธมตันแม่ทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมเสียชีวิต ต่อมาในการต่อสู้ทางตะวันตกฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้รับชัยชนะในยุทธการแลนสดาวน์และยุทธการราวนด์เวย์ดาวน์ เจ้าชายรูเปิร์ตทรงยึดบริสตอล ในปีเดียวกันโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ก็ก่อตั้งกองทหารม้า “Ironside” ซึ่งเป็นกองทหารที่มีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นผู้นำทางการทหารของครอมเวลล์ และเป็นการทำให้ไดัรับชัยชนะในยุทธการเกนสบะระห์ในเดือนกรกฎาคม
โดยทั่วไปแล้วครึ่งแรกของสงครามฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นฝ่ายได้เปรียบ จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1643 เมื่อกองทัพของเอิร์ลแห่งเอสเซ็กซ์ได้รับชัยชนะในยุทธการนิวบรีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1643 ที่ทำให้สามารถกลับเข้ากรุงลอนดอนได้ นอกจากนั้นทางฝ่ายรัฐสภาก็ยังได้รับชัยชนะในยุทธการวินซบีย์ทำให้มีอำนาจในการควบคุมลิงคอล์น ในการพยายามเพิ่มจำนวนทหารในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐสภาพระเจ้าชาลส์ก็ทรงหันไปต่อรองการยุติสงครามในไอร์แลนด์เพื่อจะได้นำกำลังทหารกลับมาต่อสู้ในอังกฤษ ขณะที่ทางฝ่ายรัฐสภาไปหาทางตกลงกับสกอตแลนด์ในการขอความช่วยเหลือ
เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากสกอตแลนด์ รัฐสภาก็ได้รับชัยชนะในยุทธการมารสตันมัวร์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1644 ซึ่งทำให้มีอำนาจควบคุมในบริเวณยอร์คและทางเหนือของอังกฤษ การเป็นผู้นำในการสู้รบของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ในยุทธการต่างๆ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสามารถของการเป็นทั้งผู้นำทั้งในทางการทหารและทางการเมือง แต่การพ่ายแพ้ของฝ่ายรัฐสภาที่ยุทธการลอสวิเธล (Battle of Lostwithiel) ในคอร์นวอลล์เป็นการพ่ายแพ้ที่ทางฝ่ายรัฐสภาได้รับความเสียหายอย่างหนักในการต่อสู้ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ การประจันหน้าต่อมาที่ยุทธการนิวบรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1644 แม้ว่าจะไม่มีผลแน่นอนทางการรณรงค์แต่ทางด้านการยุทธศาสตร์ฝ่ายรัฐสภาเป็นฝ่ายได้เปรียบ
ในปี ค.ศ. 1645 รัฐสภามุ่งมั่นที่จะต่อสู้จนกว่าสงครามจะยุติโดยพยายามปรับปรุงกองทัพโดยการผ่านกฤษฎีกาห้ามตนเอง (Self-denying Ordinance) ซึ่งเป็นกฤษฎีกาที่ระบุห้ามสมาชิกของรัฐสภาในการมีหน้าที่เป็นผู้นำทางการทหารและจัดระบบการทหารขึ้นใหม่ในรูปของกองทัพตัวแบบใหม่ภายใต้การนำของทอมัส แฟร์แฟ็กซ์ ลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์แห่งคาเมรอนที่ 3 โดยมี โอลิเวอร์ ครอมเวลล์เป็นผู้ช่วยและเป็น Lieutenant General ของกองทหารม้า ในยุทธการเนสบีย์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนและยุทธการแลงพอร์ตเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมฝ่ายรัฐสภาก็ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกองทัพของพระเจ้าชาลส์
พระเจ้าชาลส์ทรงพยายามที่จะรื้อฟื้นผู้สนับสนุนของพระองค์ในบริเวณมิดแลนด์ส และทรงเริ่มสร้างบริเวณสนับสนุนระหว่างออกซฟอร์ดและนิวอาร์คออนเทร้นต์ในน็อตติงแฮมพ์เชอร์ ทรงยึดเลสเตอร์ที่อยู่ระหว่างทั้งสองเมืองแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เมื่อไม่ทรงมีโอกาสสร้างเสริมกำลังให้แข็งแกร่งขึ้น พระองค์ก็ทรงหันไปพึ่งกองทัพสกอตแลนด์ที่เซาท์เวลล์ในน็อตติงแฮมพ์เชอร์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 1
ทางฝ่ายที่สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ก็มีความเชื่อว่าจุดประสงค์ในการต่อสู้ก็เพื่อเป็นการอนุรักษ์สถาบันรัฐบาลในสถาบันศาสนาและราชอาณาจักรตามที่เคยเป็นมา ส่วนฝ่ายรัฐสภาก็เชื่อว่าการจับอาวุธขึ้นก็เพื่อเป็นการทำให้เกิดความสมดุลของรัฐบาลในสถาบันศาสนาและราชอาณาจักรที่เกิดจากการใช้อำนาจในทางที่ผิดของพระเจ้าชาลส์และผู้เกี่ยวข้องในระหว่างสิบเอ็ดปีของสมัยการปกครองส่วนพระองค์ ทัศนคติของสมาชิกรัฐสภามีตั้งแต่ผู้สนับสนุนพระเจ้าชาลส์อย่างเต็มที่ไปจนถึงผู้มีความคิดเห็นรุนแรงที่ต้องการปฏิรูปเพื่อเสรีภาพทางศาสนา และผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการกระจายอำนาจทางการเมืองระดับชาติ
สงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2
แก้พระเจ้าชาลส์ทรงฉวยโอกาสขณะที่ความสนใจในตัวพระองค์หันเหไปทางอื่น โดยทรงไปเจรจาต่อรองตกลงกับฝ่ายสกอตแลนด์โดยทรงสัญญาว่าจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการปฏิรูปศาสนาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1647 แม้ว่าขณะนั้นจะยังคงทรงเป็นนักโทษอยู่แต่ข้อตกลงนี้เป็นการนำไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งที่ 2
การก่อความไม่สงบโดยฝ่ายกษัตริย์นิยมเริ่มเกิดขึ้นโดยทั่วไปอีกครั้งในอังกฤษและการรุกรานโดยสกอตแลนด์ก็เริ่มขึ้นในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1648 กองกำลังของฝ่ายรัฐสภา[12] สามารถกำหราบความไม่สงบเล็กๆ น้อยๆ ในอังกฤษได้เกือบทั้งหมดแต่ความไม่สงบในเค้นท์, เอสเซ็กซ์, คัมเบอร์แลนด์, การปฏิวัติในเวลส์ และการรุกรานของสกอตแลนด์เป็นการต่อสู้แบบประจันหน้าและเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อกว่า
ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1648 ทหารฝ่ายรัฐสภาที่ยังไม่ได้รับค่าจ้างในเวลส์ก็เปลี่ยนข้างไปเป็นฝ่ายพระเจ้าชาลส์ แต่นายพันทอมัส ฮอร์ตันก็สามารถกำหราบได้ในยุทธการเซนต์เฟกันส์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม หลังจากนั้นผู้นำของฝ่ายปฏิวัติก็วางอาวุธเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมหลังจากเพมโบรคถูกล้อม (siege of Pembroke) อยู่สองเดือน ต่อมาทอมัส แฟร์แฟ็กซ์ก็ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายกษัตริย์นิยมในเค้นท์ในยุทธการเมดสตันเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน หลังจากได้รับชัยชนะที่เมดสตันและเค้นท์แล้วลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์ก็หันทัพขึ้นเหนือเพื่อไปปราบเอสเซ็กซ์ ที่เริ่มแข็งตัวขึ้นภายใต้การนำของเซอร์ชาลส์ ลูคัส (Charles Lucas) แม้ว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย แต่ลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์ก็สามารถขับฝ่ายฝ่ายกษัตริย์นิยมถอยเข้าไปในเมืองโคลเชสเตอร์ แต่การโจมตีโคลเชสเตอร์ครั้งแรกได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากชาวเมือง จนแฟร์แฟ็กซ์ต้องตั้งหลักล้อมเมืองโคลเชสเตอร์อยู่สิบเอ็ดอาทิตย์ก่อนที่จะฝ่ายนิยมกษัตริย์จะยอมแพ้
ทางด้านเหนือของอังกฤษ นายพลจอห์น แลมเบิร์ตได้รับความสำเร็จในการต่อสู้กับฝ่ายกษัตริย์นิยมที่แข็งตัวขึ้น — ศึกที่ใหญ่ที่สุดเป็นการต่อสู้กับเซอร์มาร์มาดยุค แลงเดลในคัมเบอร์แลนด์ เจมส์ แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 1 ผู้นำฝ่ายสกอตแลนด์เดินทัพไปทางตะวันตกยังคาร์ไลล์ ในการสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยมโดยการรุกรานจากสกอตแลนด์ ฝ่ายรัฐสภาภายใต้การนำของครอมเวลล์ประจันหน้ากับกองทัพสกอตแลนด์ในยุทธการเพรสตันระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม ถึงวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1648 ยุทธการส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่วอลตัน-เลอ-เดลใกล้เพรสตันในแลงคาสเชอร์ ผลของยุทธการก็คือครอมเวลล์ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายสกอตแลนด์ที่นำโดยเจมส์ แฮมมิลตัน ชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาครั้งนี้เป็นการยุติสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2
หลังสงครามกลางเมืองครั้งที่ 1 ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ร่วมในสงครามเกือบทั้งหมดได้รับการอภัยโทษโดยมีเงื่อนไขว่าห้ามถืออาวุธในการต่อต้านฝ่ายรัฐสภาหลังจากนั้น ผู้มีศักดิ์ศรีฝ่ายกษัตริย์นิยมเช่นเจคอป แอสต์ลีย์ บารอนแอสต์ลีย์แห่งเรดดิงที่ 1 ไม่ยอมเสียคำพูดโดยการไม่ร่วมในสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ฉะนั้นฝ่ายรัฐสภาผู้ได้รับชัยชนะในสงครามครั้งที่ 2 จึงมิได้แสดงความปราณีต่อผู้ลุกขึ้นจับอาวุธเป็นครั้งที่สอง ค่ำวันที่โคลเชสเตอร์ยอมแพ้ฝ่ายรัฐสภาก็ประหารชีวิตเซอร์ชาลส์ ลูคัสและเซอร์จอร์จ ลิสเซิล (George Lisle) ผู้มีอำนาจฝ่ายรัฐสภาตัดสินลงโทษผู้นำการต่อสู้ในเวลส์ที่รวมทั้งนายพลโรว์แลนด์ ลาฟาร์น (Rowland Laugharne), นายพันจอห์น พอยเยอร์ (John Poyer) และนายพันไรซ์ เพาเวล (Rice Powel) โดยการประหารชีวิต แต่อันที่จริงแล้วก็สังหารพอยเยอร์เพียงคนเดียวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1649 โดยการเลือกจากสามคน ในบรรดาผู้นำที่เป็นขุนนางคนสำคัญๆ ของฝ่ายกษัตริย์ห้าคนที่ตกไปอยู่ในเงื้อมือของฝ่ายรัฐสภาสามคน เจมส์ แฮมมิลตัน ดยุคแห่งแฮมมิลตันที่ 1, เฮนรี ริช เอิร์ลแห่งฮอลแลนด์ที่ 1 และอาร์เธอร์ เคเพลล์ บารอนคาเพลล์แห่งแฮดแฮมที่ 1 ถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัวที่เวสต์มินสเตอร์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม
การไต่สวนพระเจ้าชาลส์ในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน
แก้การทรยศของพระเจ้าชาลส์ในการก่อสงครามกลางเมืองสองครั้งทำให้ฝ่ายรัฐสภาต้องโต้แย้งกันว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะให้พระองค์ทรงปกครองประเทศต่อไป ผู้ที่ยังคงสนับสนุนพระองค์ก็ยังคงพยายามเจรจาต่อรองกับพระองค์
ความไม่พอใจที่รัฐสภาบางส่วนยังคงสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ทำให้กองทหารกลุ่มหนึ่งที่นำโดยทอมัส ไพรด์ (Thomas Pride) บุกเข้ายึดรัฐสภา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1648 เพื่อจับตัวสมาชิกสภา 45 คนและกันอีก 146 คนออกจากห้องประชุม และอนุญาตให้เพียง 75 คนที่สนับสนุนการกำจัดพระเจ้าชาลส์ที่กองทหารเป็นผู้เลือกให้คงทำหน้าที่สมาชิกต่อไป รัฐสภาที่เหลือเรียกว่ารัฐสภารัมพ์ได้รับคำสั่งให้ก่อตั้ง “ศาลยุติธรรมสูงสุดในการพิจารณาคดีพระเจ้าชาลส์ที่ 1” ในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน การกระทำครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันว่า “การยึดรัฐสภาของไพรด์”
เมื่อการพิจารณาคดีสิ้นสุดลงก็มีคณะกรรมการผู้พิพากษา 59 คนก็ตัดสินว่าพระเจ้าชาลส์ทรงมีความผิดในข้อหากบฏต่อแผ่นดินเพราะทรงเป็นผู้ “กดขี่, ทรยศ, ฆาตกรรม และเป็นศัตรูต่อประชาชน”[13][14] การปลงพระชนม์ด้วยการตัดพระเศียรเกิดขึ้นหน้าตึกเลี้ยงรับรองของพระราชวังไวท์ฮอลล์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 (หลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์ ในปี ค.ศ. 1660, พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็ทรงประหารชีวิตคณะกรรมการผู้พิพากษาบางคนที่ยังมีชีวิตอยู่และที่ยังไม่มีโอกาสหลบหนีไปต่างประเทศ หรือไม่ก็จำขังตลอดชีพ
สงครามกลางเมืองครั้งที่ 3
แก้ไอร์แลนด์
แก้ไอร์แลนด์มีสงครามติดต่อกันมาตั้งแต่การปฏิวัติไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1641 โดยมี สหพันธ์ไอร์แลนด์ (Confederate Ireland) เป็นผู้มีอำนาจควบคุมไอร์แลนด์เกือบทั้งหมด แต่อำนาจของกองทัพฝ่ายรัฐสภาของอังกฤษก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน หลังจากที่พระเจ้าชาลส์ทรงถูกจับได้ในปี ค.ศ. 1648 แล้วฝ่ายสหพันธ์ก็ลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับฝ่ายกษัตริย์นิยมอังกฤษ กองกำลังร่วมระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมอังกฤษและฝ่ายสหพันธ์ไอร์แลนด์ภายใต้การนำของเจมส์ บัตเลอร์ ดยุคแห่งออร์มอนด์ที่ 1 (James Butler, 1st Duke of Ormonde) พยายามที่จะกำจัดกองทัพฝ่ายรัฐสภาของอังกฤษที่ยึดดับลินอยู่ แต่ฝ่ายรัฐสภาก็ดึงการต่อสู้ไปที่ยุทธการรัธไมน์ส (Battle of Rathmines) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1649 อดีตสมาชิกรัฐสภานายพลโรเบิร์ต เบลค (Robert Blake) หยุดยั้งกองทัพเรือของเจ้าชายรูเปิร์ตที่คินสเซล แต่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ขึ้นฝั่งได้ที่ดับลิน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1649 พร้อมกับกองทัพที่นำมาปราบฝ่ายพันธมิตรของกษัตริย์นิยมอังกฤษและสหพันธ์ไอร์แลนด์
การกำหราบฝ่ายกษัตริย์นิยมในไอร์แลนด์ของครอมเวลล์ในไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1649 มีผลกระทบกระเทือนต่อชาวไอร์แลนด์อยู่เป็นระยะเวลานาน หลังจากได้รับชัยชนะจากการล้อมเมืองโดรเกดา (siege of Drogheda) แล้วทางฝ่ายรัฐสภาก็จัดการสังหารหมู่ของผู้คนร่วม 3,500 คน ในจำนวนนั้น 2,700 คนเป็นทหารฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่อีก 700 คนไม่ใช่ทหารแต่รวมทั้งประชาชน, นักโทษและนักบวชโรมันคาทอลิก (ครอมเวลล์อ้างว่าบุคคลเหล่านั้นถืออาวุธ)
ความทารุณจากเหตุการณ์ครั้งนี้กลายมาเป็นสาเหตุหนึ่งของความบาดหมางระหว่างชาวไอร์แลนด์ที่มีต่อชาวอังกฤษ และระหว่างผู้เป็นโรมันคาทอลิกต่อผู้เป็นโปรเตสแตนต์เป็นเวลาร่วมสามร้อยปีต่อมา การสังหารหมู่เป็นการกระทำที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของภาพพจน์ที่ชาวไอร์แลนด์มีต่อความทารุณของครอมเวลล์ แม้ว่าชาวไอร์แลนด์จะยังมาเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมากมายกว่าที่เกิดขึ้นที่โดรเกดาและเว็กซ์ฟอร์ดในสงครามกองโจร (guerrilla warfare) ที่เกิดขึ้นต่อมาหลังจากนั้น แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายรัฐสภาก็มิได้รับชัยชนะต่อไอร์แลนด์จนอีกสี่ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1653 เมื่อกองทัพฝ่ายสหพันธ์ไอร์แลนด์ (Confederate Ireland) และฝ่ายกษัตริย์นิยมยอมแพ้
นักประวัติศาสตร์ประมาณกันว่าในบั้นปลายของสงครามไอร์แลนด์สูญเสียประชากรไปราว 30% ซึ่งไม่ก็จากสงครามหรือจากการหนีไปต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับชัยชนะก็ยึดที่ดินที่เป็นของโรมันคาทอลิกแต่เดิมเกือบทั้งหมดและแจกจ่ายให้แก่เจ้าหนี้รัฐสภา, ทหารฝ่ายรัฐสภาที่ไปรบที่ไอร์แลนด์ และแก่ชาวอังกฤษที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในไอร์แลนด์ก่อนสงคราม
สกอตแลนด์
แก้การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแนวทางของสงครามสามอาณาจักร (Scotland in the Wars of the Three Kingdoms) ซึ่งเป็นสงครามของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์นิยมและกลุ่มพันธสัญญา (Covenanters) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1644 มาถึงปี ค.ศ. 1649 ความขัดแย้งก็ทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยมอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วน ส่วนเจมส์ แกรม มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสที่ 1 ผู้นำก็หนีไปต่างประเทศ เมื่อเริ่มแรกพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงหนุนให้มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสรวบรวมกองทัพในสกอตแลนด์ให้มาร่วมกับฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่กลุ่มพันธสัญญา (ผู้ไม่เห็นด้วยกับการปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 และหวาดกลัวต่ออนาคตของนิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) และความมีอิสระของสกอตแลนด์ภายใต้เครือจักรภพแห่งอังกฤษ) ก็ถวายราชบัลลังก์สกอตแลนด์ให้แก่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 พระเจ้าชาลส์ทรงทิ้งมาร์ควิสไว้กับศัตรู แต่มาร์ควิสแห่งมอนท์โรสผู้ไปรวมรวมกองทหารมาจากนอร์เวย์มาขึ้นฝั่งได้และไม่สามารถยุติการต่อสู้ได้ ในที่สุดฝ่ายพันธสัญญาก็ได้รับชัยชนะต่อมอนท์โรสที่ยุทธการคาร์บิสเดล (Battle of Carbisdale) ในรอสไชร์เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1650 มอนท์โรสถูกฝ่ายพันธสัญญาจับได้หลังจากนั้นไม่นานนักและถูกนำตัวไปเอดินบะระห์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม รัฐสภาแห่งสกอตแลนด์ตัดสินให้ประหารชีวิตมอนท์โรส มอนท์โรสถูกแขวนคอในวันต่อมา
พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงขึ้นฝั่งสกอตแลนด์ที่การ์มัธในมลฑลมอเรย์เชอร์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1650 และทรงลงนามในพันธสัญญาแห่งชาติ ค.ศ. 1638 (National Covenant) และ ข้อตกลงระหว่างฝ่ายรัฐสภากับกลุ่มพันธสัญญา ค.ศ. 1643 (Solemn League and Covenant) ทันทีหลังจากที่ทรงขึ้นฝั่ง ด้วยความสนับสนุนของฝ่ายกษัตริย์นิยมของสกอตแลนด์เดิมและกองทัพของกลุ่มพันธสัญญาใหม่พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็กลายเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณรัฐอังกฤษ ในการตอบโต้ต่อความมั่นคงของสาธารณรัฐครอมเวลล์ก็ทิ้งนายทหารบางคนไว้ที่ไอร์แลนด์เพื่อปราบปรามความไม่สงบที่นั่นต่อไปและตนเองเดินทางกลับอังกฤษ
ครอมเวลล์เดินทางไปถึงสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1650 และตั้งหลักล้อมเมืองเอดินบะระห์ ในปลายเดือนสิงหาคมทั้งเชื้อโรคและความขาดแคลนเสบียงก็ทำให้ครอมเวลล์ต้องนำทัพถอยกลับไปยังที่มั่นที่ดันบาร์ กองทัพสกอตแลนด์ที่รวบรวมภายใต้นายพลเดวิด เลสลี (David Leslie) พยายามเข้าขัดขวางการถอยทัพแต่ครอมเวลล์ก็เอาชนะได้ที่ยุทธการดันบาร์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1650 หลังจากนั้นครอมเวลล์จึงเข้ายึดเอดินบะระห์ และในปลายปีนั้นกองทัพของครอมเวลล์ก็ยึดสกอตแลนด์ตอนใต้ได้เกือบหมด
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1651 กองทัพของครอมเวลล์ก็ข้ามปากน้ำเฟิร์ธออฟฟอร์ธไปยังเมืองไฟฟ์และได้รับชัยชนะต่อฝ่ายสกอตแลนด์ในยุทธการอินเวอร์คีทธิง (Battle of Inverkeithing) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1651) กองทัพตัวแบบใหม่เดินทัพล่วงหน้าไปยังเพิร์ธ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พระเจ้าชาลส์นำกองทัพสกอตแลนด์เดินทัพลงใต้ไปยังอังกฤษ ครอมเวลล์จึงเดินทัพตามกองทัพสกอตแลนด์โดยทิ้งจอร์จ มองค์ ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลที่ 1 ให้ดำเนินการรณรงค์ต่อไปในสกอตแลนด์ให้เสร็จสิ้น ดยุคแห่งอาลเบอมาร์ลยึดสเตอร์ลิง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมและดันดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปีต่อมาในปี ค.ศ. 1652 ก็เป็นการกำหราบการต่อต้านที่กระเส็นกระสายของฝ่ายต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น จากนั้นภายใต้ “ข้อเสนอสหภาพ” (Tender of Union) ก็เป็นที่ตกลงกันว่าสกอตแลนด์มีสิทธิที่จะมีที่นั่งในรัฐสภาในลอนดอนร่วม 30 ที่นั่งโดยมีนายพลมองค์เป็นข้าหลวงแห่งสกอตแลนด์
อังกฤษ
แก้แม้ว่ากองทัพตัวแบบใหม่ของครอมเวลล์จะได้รับชัยชนะต่อกองทัพสกอตแลนด์ที่ดันบาร์แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ในการเดินทัพจากสกอตแลนด์ลึกเข้าไปในอังกฤษ กองทัพฝ่ายกษัตริย์นิยมหันการเดินทางไปทางตะวันตกไปในบริเวณที่ผู้สนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยมหนาแน่นแต่แม้ว่าจะมีผู้มาสมทบแต่ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าที่พระเจ้าชาลส์และกองทัพสกอตแลนด์ของพระองค์คาดหวังไว้ ในที่สุดกองทัพฝ่ายกษัตริย์และฝ่ายรัฐสภาก็เข้าประจันหน้ากันโดยครอมเวลล์เป็นฝ่ายที่ไดัรับชัยชนะที่วูสเตอร์เมื่อวันที่3 กันยายน ค.ศ. 1651 พระเจ้าชาลส์จึงจำต้องเสด็จหนีและในที่สุดก็ข้ามไปฝรั่งเศสซึ่งเป็นการทำให้สงครามกลางเมืองอังกฤษยุติลงในที่สุด
อำนาจทางการเมือง
แก้ในระหว่างสงครามฝ่ายรัฐสภาก่อตั้งคณะกรรมาธิการต่างๆ ผู้มีอำนาจในการบริหารการรณรงค์ คณะกรรมาธิการชุดแรกคือคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยอังกฤษ (English Committee of Safety) ที่ก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมในปี ค.ศ. 1642 ที่มีสมาชิกด้วยกัน 15 จากสมาชิกรัฐสภา
หลังจากนั้นก็เป็นคณะกรรมาธิการพันธมิตรระหว่างอังกฤษกับสกอตแลนด์เพื่อต่อต้านฝ่ายกษัตริย์นิยมที่เรียกว่าคณะกรรมาธิการสองอาณาจักร (Committee of Both Kingdoms) ที่มาแทนคณะกรรมาธิการแรกระหว่าง ค.ศ. 1644 ถึง ค.ศ. 1648 รัฐสภายุบคณะกรรมาธิการสองอาณาจักรเมื่อความเป็นพันธมิตรสิ้นสุดลงแต่ฝ่ายอังกฤษยังคงพบปะกันต่อไปและกลายมาเป็นคณะกรรมาธิการดาร์บีย์เฮาส์ (Derby House Committee) ต่อมาคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยอังกฤษที่สองก็มาแทนคณะกรรมาธิการหลังนี้
ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน
แก้สงครามกลางเมืองอังกฤษก็เช่นเดียวกันกับสงครามอื่นๆ ในสมัยนั้นที่สิ่งที่คร่าชีวิตมากกว่าการเสียชีวิตในการรบคือ เชื้อโรค จำนวนผู้เสียชีวิตที่แน่นอนทั้งหมดไม่เป็นที่ทราบและการประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตในการรบจากผู้ที่เสียชีวิตจากเชื้อโรคหรือจากการยุบตัวลงของประชากรเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตัวเลขผู้เสียชีวิตระหว่างช่วงนี้เป็นตัวเลขที่ไม่น่าเชื่อถือแต่ก็มีการพยายามที่ประเมินกันอย่างคร่าวๆ[15][16] ประมาณกันว่าในอังกฤษมีจำนวนผู้เสียชีวิตไปอย่างต่ำที่สุด 100,000 คนจากโรคภัยที่เกี่ยวกับสงครามกลางเมืองทั้งสามสงคราม บันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า 84,830 คนเสียชีวิตในสงครามเอง เมื่อนับรวมกับสงครามบาทหลวงอีกสองครั้งก็เป็นประมาณ 190,000 คน[17]
หลังจากการพ่ายแพ้ที่วูสเตอร์แล้วพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ก็ต้องพยายามเสด็จหนี ในระหว่างทางพระองค์ก็ทรงต้องทรงเผชิญภัยหลายอย่างรวมทั้งการซ่อนพระองค์ในโพรงต้นโอ้คที่เป็นเรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันดี เจมส์ แสตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีย์ที่ 7 ถูกประหารชีวิต ทหารในกองทัพของพระองค์สังหารไป 3,000 ระหว่างยุทธการและอีก 10,000 ถูกจับที่วูสเตอร์หรือหลังจากนั้น ทหารอังกฤษที่ถูกจับถูกเกณฑ์ให้เป็นทหารในกองทัพตัวแบบใหม่และถูกส่งไปประจำการในไอร์แลนด์ ส่วนทหารสกอตแลนด์อีก 8,000 คนที่ถูกจับถูกเนรเทศไปนิวอิงแลนด์, เบอร์มิวดา และเวสต์อินดีส ไปทำงานให้กับเจ้าของที่ดินที่นั่นในฐานะกรรมกรหนี้ (Indentured labour) การสูญเสียของฝ่ายรัฐสภาเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับฝ่ายกษัตริย์[18]
จำนวนผู้เสียชีวิตในสกอตแลนด์เป็นที่ไม่น่าเชื่อถือยิ่งกว่าของอังกฤษ การเสียชีวิตรวมทั้งการเสียชีวิตของเชลยในสงครามที่ถูกดูแลในสภาพที่ช่วยให้เสียชีวิตเร็วขึ้น โดยประมาณกล่าวกันว่าเชลยสงคราม 10,000 ที่ถูกจับไม่รอดหรือไม่มีโอกาสกลับสกอตแลนด์ (8,000 คนถูกจับทันทีหลังจากยุทธการวูสเตอร์และถูกเนรเทศ[19]) ส่วนการเสียชีวิตจากเชื้อโรคที่เกี่ยวกับสงครามไม่มีสถิติ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสถิติการเสียชีวิตของอังกฤษแล้วสกอตแลนด์ก็คงเสียผู้คนไปราว 60,000 คน[20]
ตัวเลขในไอร์แลนด์กล่าวกันว่าเป็นตัวเลขของ “ปาฏิหาริย์ของความคิดเห็นสอดแทรก” แต่ที่ทราบแน่นอนคือความเสียหายในไอร์แลนด์เป็นความเสียหายอันใหญ่หลวง จากการประมาณตัวเลขโดยเซอร์วิลเลียม เพ็ตติผู้เป็นบิดาแห่งการศึกษาเรื่องประชากร แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่บันทึกไว้แต่ก็เป็นแต่เพียงการสันนิษฐาน และไม่รวมจำนวนประมาณ 40,000 คนที่จำต้องหนี ในจำนวนนี้บางคนก็ไปเป็นทหารในกองทัพต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ยุโรป ขณะที่กลุ่มอื่นถูกขายไปเป็นกรรมกรหนี้ในนิวอิงแลนด์ และเวสต์อินดีส ไปทำงานให้กับเจ้าของที่ดินที่นั่น ผู้ที่ถูกขายให้ไปทำงานในนิวอิงแลนด์บางคนก็ไปประสบความสำเร็จมีฐานะดีขึ้น แต่ผู้ที่ไปเวสต์อินดีสก็ไปทำงานจนตายคาที่ดิน เพ็ตติประมาณว่าฝ่ายโปรเตสแตนต์ 112,000 คนเสียชีวิตเพราะโรคระบาด, สงคราม, และความอดอยาก และโรมันคาทอลิกอีก 504,000 ถูกสังหาร[21]
ตัวเลขนี้เท่ากับว่าอังกฤษสูญเสียประชากรประมาณ 3.7% สกอตแลนด์ 6% และไอร์แลนด์ 41% เมื่อนำตัวเลขมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ร้ายอื่นๆ แล้วก็ทำให้ทราบว่าเป็นความเสียหายอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับไอร์แลนด์ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์การสูญเสียอื่นๆ เช่น ความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ (Great Hunger) ระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1852 ที่ทำให้ไอร์แลนด์สูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนประมาณ 16% และจากสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อโซเวียตสูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนประมาณ 16%.[22]
ผลประโยชน์
แก้ขณะที่สงครามทำความเสียหายให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่แต่ก็มีบางกลุ่มที่ได้ตักตวงผลประโยชน์เพิ่มขึ้นให้แก่ตนเองระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1640 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำงานในลอนดอนเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำ[23]
ชุมชนนอกตัวเมืองก็ยึดไม้และทรัพยากรอื่นๆ จากที่ดินหรือบ้านที่ถูกยึดจากฝ่ายกษัตริย์นิยมและโรมันคาทอลิก ก็มีบ้างที่ผู้ยึดปรับปรุงสภาพของผู้อยู่อาศัยในที่ดินเหล่านั้น[24] แต่การฉวยผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็มาสิ้นสุดลงเมื่อสงครามสงบหรือในสมัยฟื้นฟูราชวงศ์ แต่ก็มีบ้างที่เป็นการได้ประโยชน์อย่างถาวร
ผลของสงคราม
แก้สงครามทำให้อังกฤษ, สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ทำให้อังกฤษกลายเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปยุโรปในขณะนั้นที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังจากการปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 รัฐบาลสาธารณรัฐของเครือจักรภพแห่งอังกฤษ ปกครองอังกฤษ (และต่อมาสกอตแลนด์ และไอร์แลนด์) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1649 ถึง ค.ศ. 1653 และจากปี ค.ศ. 1659 ถึง ค.ศ. 1660 ระหว่างสองช่วงระยะเวลานี้รัฐสภาก็แบ่งตัวเป็นฝักเป็นฝ่ายและมีความขัดแย้งกันเองภายใน ในที่สุดโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ก็ขึ้นปกครองรัฐผู้พิทักษ์ในฐานะเจ้าผู้พิทักษ์ (ซึ่งก็เท่ากับเป็นระบอบเผด็จการ) จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1658
หลังจากครอมเวลล์ ถึงแก่อสัญกรรม ริชาร์ดลูกชายก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้พิทักษ์ต่อจากบิดาแต่ฝ่ายทหารไม่มีความเชื่อถือในสมรรถภาพของริชาร์ด เจ็ดเดือนหลังจากนั้นฝ่ายทหารก็ปลดริชาร์ด และในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1659 ฝ่ายทหารก็เรียกรัฐสภารัมพ์เข้ามาใหม่ แต่เมื่อเข้ามารัฐสภารัมพ์ก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1653 และปฏิบัติต่อฝ่ายทหารตามใจชอบ ฝ่ายทหารจึงยุบรัฐสภารัมพ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1659 โอกาสที่บ้านเมืองจะกลายเป็นอนาธิปไตย ก็เพิ่มมากขึ้นทุกวันเมื่อฝ่ายทหารเองก็สลายตัวเป็นฝักฝ่ายแตกแยกกัน
ภายใต้บรรยากาศของความไม่แน่นอนของบ้านเมือ นายพลจอร์จ มองค์ผู้เป็นข้าหลวงของสกอตแลนด์ภายใต้ครอมเวลล์พร้อมด้วยกองทัพสกอตแลนด์ก็ยกทัพลงมาจากสกอตแลนด์ เพื่อปูทางในการฟื้นฟูราชวงศ์
เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1660 ตามพระราชประกาศเบรดา (Declaration of Breda), พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงวางเงื่อนไขต่างๆ ในการยอมรับกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ นายพลมองค์ก็เรียก รัฐสภาคอนเว็นท์ชั่นที่เข้าประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1660 ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 รัฐสภาคอนเว็นท์ชั่นก็ประกาศว่าพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เป็นประมุขของอังกฤษถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่การปลงพระชนม์ของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649 พระเจ้าชาลส์เสด็จกลับจากการลี้ภัยที่เบรดาในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 ประชาชนชาวลอนดอนก็ได้มีโอกาสต้อนรับพระเจ้าชาลส์กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ พระราชพิธีราชาภิเศกเกิดขึ้นที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1661 เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันว่า “การฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ”
แม้ว่าราชบัลลังก์จะได้รับการฟื้นฟูแต่ก็เป็นราชบัลลังก์ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ฉะนั้นสงครามกลางเมืองจึงมีผลในการวางพื้นฐานในการเปลี่ยนรูประบบการปกครองบ้านเมืองในอังกฤษและสกอตแลนด์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองนี้เป็นรากฐานของการก่อตั้งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ต่อมาในปี ค.ศ. 1707 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ที่เป็นการป้องกันการปฏิวัติแบบเสียเลือดเสียเนื้อที่มักจะขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตามแบบฉบับของการปฏิวัติในยุโรปหลังจากการปฏิวัติจาโคแบง (Jacobin) ในคริสต์ศตวรรษที่18 ในฝรั่งเศสและต่อมาการปฏิวัติของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ซึ่งมักจะมีผลในการยุบการปกครองพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์องค์ต่อมากดดันรัฐสภาจนในที่สุดรัฐสภาก็ตัดสินใจเลือกผู้ครองราชย์ใหม่ในปี ค.ศ. 1688 ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ และในปี ค.ศ. 1701 พระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ หลังจากการการฟื้นฟูราชวงศ์ฝักฝ่ายของรัฐสภาก็กลายเป็นพรรคการเมือง ที่ต่อมากลายเป็นพรรคทอรี (Tory) and พรรควิก (Whig)) ที่มีปรัชญาการปกครองที่แตกต่างกันในการมีอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยของพระมหากษัตริย์
ทฤษฎีเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอังกฤษ
แก้เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความคิดทางการเมืองตระกูลวิกมีอิทธิพลต่อทฤษฎีเกี่ยวกับสงครามกลางเมือง ที่อธิบายว่าสงครามกลางเมืองมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างรัฐสภา (โดยเฉพาะสภาสามัญชน) กับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาเป็นร้อยๆ ปีก่อนหน้านั้น โดยฝ่ายรัฐสภาเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนชาวอังกฤษขณะที่ราชวงศ์สจวตพยายามขยายอำนาจในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์หรือความกระทบกระเทือนต่อประชาชน
ซามูเอล รอว์สัน การ์ดิเนอร์ (Samuel Rawson Gardiner) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของวิกเสนอความคิดที่เป็นที่นิยมกันที่ว่าสงครามกลางเมืองคือ “การกบฏเพียวริตัน” (Puritan Revolution) ที่เป็นการต่อต้านการกดขี่ของสถาบันศาสนาของราชวงศ์สจวต และเป็นการปูพื้นฐานสำหรับ “การยอมรับความต่างศาสนา” ในสมัยของการฟื้นฟูราชวงศ์ ฉะนั้น กลุ่มเพียวริตัน จึงสนับสนุนผู้ที่ต้องการรักษาประเพณีดั้งเดิมในการต่อต้านอำนาจอันไม่เป็นธรรมของพระมหากษัตริย์
ทฤษฎีของฝ่ายวิกถูกคัดค้านโดยทฤษฎีของลัทธิมาร์กซที่เป็นที่นิยมกันในคริสต์ทศวรรษ 1940 ที่ตีความหมายของสงครามกลางเมืองอังกฤษว่าเป็นสงครามของการปฏิวัติของชนชั้นกลาง ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์มาร์กซคริสโตเฟอร์ ฮิลล์:
“สงครามกลางเมืองเป็นสงครามระหว่างชนชั้น ที่ประกอบด้วยฝ่ายขุนนางผู้เป็นเจ้าของที่ดินและพรรคพวกและสถาบันศาสนา กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ประกอบด้วยชนชั้นผู้ค้าขายและผู้ทำการอุตสาหกรรมในเมืองหรือชนบทนอกเมืองหลวง . . .ผู้นำท้องถิ่นที่มีหัวก้าวหน้า. . .ประชากรส่วนใหญ่ที่มีโอกาสถกเถียงกันและเข้าใจถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น. . . ในประวัติศาสตร์อังกฤษสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นเมื่อชนชั้นกลางที่มีฐานะดีที่มีอำนาจทางสังคมตัดสินใจยุบเลิกระบบการปกครองของรัฐบาลอังกฤษที่มีมาตั้งแต่ยุคกลาง นอกจากนั้นวิกก็เช่นเดียวกับลัทธิมาร์กซพบบทบาททางศาสนา: ในทางระบบปรัชญาลัทธิเพียวริตันเหมาะสมกับชนชั้นกลาง ฉะนั้นลัทธิมาร์กซจึงถือว่ากลุ่มเพียวริตันคือชนชั้นกลาง”
ในคริสต์ทศวรรษ 1970 นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ที่มารู้จักกันว่าลัทธิการสังคายนาประวัติศาสตร์ (Historical revisionism) ค้านกับทั้งทฤษฎีของวิกและลัทธิมาร์กซ[25] ในปี ค.ศ. 1973 กลุ่มนักประวัติศาสตร์สังคายนาพิมพ์ประชุมบทนิพนธ์ “ที่มาของสงคราการเมืองอังกฤษ” (The Origins of the English Civil War) (คอนราด รัสเซลล์ บรรณาธิการ) นักประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับทั้งทฤษฎีของวิกและลัทธิมาร์กซที่ว่าสงครามการเมืองอังกฤษเป็นสงครามสังคม-เศรษฐกิจระยะยาวของสังคมอังกฤษ และเห็นว่าเป็นผลงานที่เจาะจงเฉพาะช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีก่อนที่สงครามจะเกิดขึ้น และหันกลับไปพิจารณาข้อเขียนของเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอนที่ 1 นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสงครามกลางเมืองในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติและสงคราการเมืองในอังกฤษ” (History of the Rebellion and Civil Wars in England) ที่กลุ่มนักประวัติศาสตร์สังคายนาเห็นว่าเป็นเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ลงตัวตามการวิเคราะห์ของวิกและลัทธิมาร์กซ เช่นกลุ่มเพียวริตันเป็นต้นที่ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นพันธมิตรกับฝ่ายรัฐสภา หรือสมาชิกชนชั้นกลางหลายคนก็ต่อสู้ในฝ่ายนิยมกษัตริย์ ขณะที่ขุนนางเจ้าของที่ดินไปเข้าข้างฝ่ายรัฐสภา ฉะนั้นนักประวัติศาสตร์สังคายนาจึงไม่ถือว่าทฤษฎีของทั้งวิกและลัทธิมาร์กซเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองอังกฤษเป็นทฤษฎีที่น่าเชื่อถือ[25]
เจน โอลไมเยอร์ (Jane Ohlmeyer) ละทิ้งคำว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ไปใช้คำว่า “สงครามของสามอาณาจักร” (Wars of the Three) และ “สงครามกลางเมืองบริติช” (British Civil Wars) โดยให้ความเห็นว่าการศึกษาสงครามกลางเมืองในอังกฤษไม่อาจจะเข้าใจได้จากการศึกษาที่มองสงครามนี้โดยการแยกไปจากการเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์อื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ทรงมีบทบาทสำคัญที่ไม่ทรงเป็นแต่เพียงพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ และยังทรงมีความสัมพันธ์กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในราชอาณาจักรอื่นๆ ของพระองค์ด้วย เช่นเมื่อทรงพยายามบังคับใช้หนังสือสวดมนต์อังกฤษในสกอตแลนด์ซึ่งทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มพันธสัญญา จนต้องทรงหันมาพึ่งกองทัพในการบังคับใช้ และทำให้ทรงต้องเรียกประชุมรัฐสภาแห่งอังกฤษเพื่อเก็บภาษีใหม่สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรวบรวมกองกำลังในการรณรงค์ แต่รัฐสภาแห่งอังกฤษไม่เต็มใจที่จะทำตามพระราชประสงค์ในการที่พระเจ้าชาลส์จะทรงใช้เงินที่ได้มาในการรณรงค์ต่อสู้กับสกอตแลนด์นอกจากจะทรงยอมรับฟังคำร้องทุกข์จากฝ่ายรัฐสภาก่อน พอมาถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1640 พระเจ้าชาลส์ก็ทรงทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่ปั่นป่วน และไม่ทรงยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด เพราะถ้าทรงยินยอมให้ฝ่ายหนึ่งก็เท่ากับว่าทรงต้องเป็นศัตรูกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งความยุ่งเหยิงต่างๆ เหล่านี้มิสามารถทำให้การศึกษาสงครามการเมืองอังกฤษเป็นแต่เพียงสงครามที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษเท่านั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Clodfelter, Michael (2002). Warfare and Armed Conflicts: A Standard Reference to Casualty and Other Figures 1500-1999. McFarland & Co. p. 52. ISBN 978-0-7864-1204-4.
- ↑ "พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ". Spiritus-temporis.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-29. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
- ↑ "อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอด, ค.ศ. 1573-ค.ศ. 1645". British-civil-wars.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-15. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
- ↑ "วิลเลียม ลอด". Nndb.com. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
- ↑ Jacob Abbott Charles I Chapter Downfall of Strafford and Laud
- ↑ "บางคนมีสติดี, บางคนเสียหัว". The Daily Telegraph. 28 ตุลาคม ค.ศ. 2000. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Trevor Royle References pp. 158-166
- ↑ Trevor Royle References pp 170, 183
- ↑ Trevor Royle References pp 165, 161
- ↑ Trevor Royle References pp 171-188
- ↑ 11.0 11.1 Encyclopaedia Britannica Eleventh Edition Great Rebellion
- ↑ House of Lords Journal Volume 10 19 May 1648: Letter from L. Fairfax, about the Disposal of the Forces, to suppress the Insurrections in Suffolk, Lancashire, and S. Wales; and for Belvoir Castle to be secured เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and the House of Lords Journal Volume 10 19 May 1648: Disposition of the Remainder of the Forces in England and Wales not mentioned in the Fairfax letter เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Sean Kelsey, Sean. "The Trial of Charles I" English Historical Review 2003, Volume 118, Number 477 Pp. 583-616
- ↑ Michael Kirby The trial of King พระเจ้าชาลส์ทรง - defining moment for our constitutional liberties speech to the Anglo-Australasian Lawyers' association, on 22 January 1999.
- ↑ Matthew White Selected Death Tolls for Wars, Massacres and Atrocities Before the 20th century: British Isles, 1641-52
- ↑ Charles Carlton (1992). The Experience of the British Civil Wars, Routledge, ISBN 0-415-10391-6. Pages 211 - 214
- ↑ Carlton, Page 211
- ↑ Trevor Royal Page 602
- ↑ Trevor Royle. "Civil War: The Wars of the Three Kingdoms 1638-1660"; Pub Abacus 2006; (first published 2004); ISBN 978-0-349-11564-1. p. 602
- ↑ Carlton, page 212
- ↑ Carlton, Page 213
- ↑ Carlton, Page 214
- ↑ "Christopher O'Riordan, Self-determination and the London Transport Workers in the Century of Revolution" (1992).
- ↑ Christopher O'Riordan, "Popular Exploitation of Enemy Estates in the English Revolution", History, vol. 78 (1993), pp.184-200.
- ↑ 25.0 25.1 Glenn Burgess Historiographical reviews on revisionism: an analysis of early Stuart historiography in the 1970s and 1980s, The Historical Journal, 33, 3 (1990), pp . 609—627)
ดูเพิ่ม
แก้
อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref>
สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/>
ที่สอดคล้องกัน