ลัทธิคาลวิน (อังกฤษ: Calvinism) ขนบปฏิรูป (Reformed tradition) หรือ เทววิทยาปฏิรูป เป็นเทววิทยาศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่ถือแนวคำสอนและการปฏิบัติตามการตีความของฌ็อง กาลแว็ง และนักเทววิทยาอื่น ๆ ช่วงการปฏิรูปศาสนา ลัทธิคาลวินแตกหักกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก จึงนับเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์ แต่ก็ต่างจากโปรเตสแตนต์สายอื่น ๆ เช่น ลูเทอแรน ในประเด็นต่าง ๆ เช่น พระเยซูในพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ หลักบังคับในการนมัสการ การบังคับใช้กฎของพระเจ้ากับคริสตชน[1][2] การเรียกเทววิทยาสายนี้ว่า "ลัทธิคาลวิน" ค่อนข้างคลาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริง เป็นเทววิทยาที่มีแนวคิดหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับฌ็อง กาลแว็งผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียว นักเทววิทยากลุ่มนี้ถูกฝ่ายลูเทอแรนเรียกว่า "ลัทธิคาลวิน" แต่ในภายในสายมักใช้คำว่า คณะปฏิรูป มากกว่า[3] นับแต่มีการโต้แย้งอาร์มิเนียน ฝ่ายปฏิรูปก็แบ่งออกเป็นสองสาย คือ สายคาลวิน และ สายอาร์มิเนียน แต่ปัจจุบันมักใช้คำว่า คณะปฏิรูป ในเชิงไวพจน์กับลัทธิคาลวินมากกว่า[4][5]

นักเทววิทยาสายปฏิรูปที่มีบทบาทสำคัญในยุคต้น ๆ ได้แก่ ฌ็อง กาลแว็ง มาร์ทิน บูเคอร์ ไฮน์ริช บุลลิงเงอร์ และปีเอโตร มาร์ตีเร แวร์มิกลี จุดเด่นของลัทธิคาลวินมีอยู่ 5 ประเด็น ที่เป็นที่รู้จักที่สุดคือความเชื่อเรื่องเทวลิขิตและมนุษย์เสื่อมทรามโดยสิ้นเชิง

ประเด็น 5 ข้อของลัทธิคาลวิน (5 Points of Calvinism; TULIP) ได้แก่

  1. ความเสื่อมทรามโดยสิ้นเชิง (Total Depravity) - เชื่อในหลักเรื่องบาปกำเนิด ว่ามนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนชั่วร้ายหมด จึงไม่มีใครจะถึงความรอดได้เอง
  2. การทรงเลือกโดยปราศจากเงื่อนไข (Unconditional Election) - พระเจ้าได้เลือกผู้ที่จะได้อยู่บนสวรรค์และอยู่ในนรกไว้แล้ว ความเชื่อ การกระทำใด ๆ ก็ตาม ไม่มีผลต่อความรอด ด้วยเหตุผลตามข้อแรก
  3. การไถ่บาปอย่างจำกัด (Limited Atonement) - พระทรมานของพระเยซูเป็นไปเพื่อผู้ที่ถูกเลือกให้อยู่บนสวรรค์แล้วเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ทรงเลือก
  4. พระคุณที่ไม่อาจขัดขวางได้ (Irresistable Grace) - การที่ผู้เชื่อเริ่มเชื่อในพระเจ้าไม่ได้เป็นเพราะผู้นั้น แต่เป็นเพราะพระเจ้า
  5. การทรงพิทักษ์รักษาวิสุทธิชน (Perseverance of the Saints) - เมื่อเป็นธรรมิกชนได้รับความรอดแล้ว ก็จะได้รับความรอดตลอดไป ไม่มีเสื่อม

อ้างอิง แก้

  1. Schaff, Philip. "Protestantism". New Schaff-Herzog Encyclopedia of Religious Knowledge. Vol. IX. pp. 297–299.
  2. Muller, Richard A. (2006). Dictionary of Latin and Greek Theological Terms: Drawn Principally from Protestant Scholastic Theology (1st ed.). Baker Book House. pp. 320–321. ISBN 978-0801020643.
  3. Hägglund, Bengt (2007). Teologins Historia [History of Theology] (ภาษาเยอรมัน). Translated by Gene J. Lund (Fourth Revised ed.). Saint Louis: Concordia Publishing House.
  4. "Reformed Churches". Christian Cyclopedia.
  5. Gonzalez, Justo L. The Story of Christianity, Vol. Two: The Reformation to the Present Day (New York: Harpercollins Publishers, 1985; reprint – Peabody: Prince Press, 2008) 180

ดูเพิ่ม แก้