ยุครัฐในอารักขา

(เปลี่ยนทางจาก รัฐผู้พิทักษ์)

รัฐในอารักขา (อังกฤษ: Protectorate) เป็นช่วงสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์เครือจักรภพอังกฤษซึ่งดินแดนอังกฤษและเวลส์, ไอร์แลนด์, และสกอตแลนด์ มีสถานะเป็นสาธารณรัฐ และมีผู้ปกครองเรียกว่า "เจ้าผู้อารักขา" (Lord Protector) เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1653 เมื่อมีการยุบเลิกรัฐสภารัมป์ (Rump Parliament) และรัฐสภาแบร์โบน (Barebone's Parliament) แล้วโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าผู้อารักขาเครือจักรภพตามบทบัญญัติของตราสารการปกครอง (Instrument of Government) ต่อมาใน ค.ศ. 1659 คณะกรรมาธิการความปลอดภัย (Committee of Safety) เข้ายุบเลิกรัฐสภาอีกครั้ง เนื่องจากริชาร์ด ครอมเวลล์ (Richard Cromwell) ผู้สืบทอดตำแหน่งจากโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ไม่สามารถควบคุมรัฐสภาและกองทัพได้ เป็นจุดสิ้นสุดของรัฐในอารักขา ทำให้รัฐสภารัมป์กลับมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และสภาแห่งรัฐ (Council of State) กลับมาเป็นฝ่ายบริหารอีกครั้ง

เครือจักรภพอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์

ค.ศ. 1653–ค.ศ. 1659
อาณาเขตของเครือจักรภพ ค.ศ. 1659
อาณาเขตของเครือจักรภพ ค.ศ. 1659
สถานะสาธารณรัฐ
เมืองหลวงลอนดอน
ภาษาทั่วไปอังกฤษ (ทางการ)
สกอต, ไอริช, เวลส์, คอร์นิช, เกลิกแบบสกอต
ศาสนา
พิวริตันนิซึม
การปกครองสาธารณรัฐแบบรัฐเดี่ยวที่มีรัฐสภา
เจ้าผู้อารักขา 
• ค.ศ. 1653–58
โอลิเวอร์ ครอมเวลล์
• ค.ศ. 1658–59
ริชาร์ด ครอมเวลล์
สภานิติบัญญัติรัฐสภา
สภาอื่น
(ค.ศ. 1658–59)
สภาสามัญชน
(ค.ศ. 1654-55/1656-58/1659)
ประวัติศาสตร์ 
16 ธันวาคม ค.ศ. 1653
25 พฤษภาคม ค.ศ. 1657
• การลาออกของริชาร์ด ครอมเวลล์
25 พฤษภาคม ค.ศ. 1659
สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง
ก่อนหน้า
ถัดไป
เครือจักรภพแห่งอังกฤษ
ราชอาณาจักรสกอตแลนด์
เครือจักรภพแห่งอังกฤษ
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไอร์แลนด์
 สหราชอาณาจักร

ภูมิหลัง

แก้

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649 มีการพิจารณาคดีและปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ต่อมา วันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1649 มีการตรา "พระราชบัญญัติประกาศให้อังกฤษเป็นเครือจักรภพ" (An Act declaring England to be a Commonwealth) ซึ่งกำหนดให้อังกฤษและเมืองขึ้นทั้งหมดมีสถานะเป็นสาธารณรัฐ มีผู้ปกครอง คือ รัฐสภารัมป์เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และสภาแห่งรัฐเป็นฝ่ายบริหาร

ภายหลังจากที่ตระกูลครอมเวลล์พิชิตไอร์แลนด์เป็นผลสำเร็จ ไอร์แลนด์ก็ตกอยู่ในการปกครองรูปแบบเดียวกัน โดยมีผู้ว่าการฝ่ายทหาร (military governor) เป็นผู้นำสูงสุด แต่งตั้งขึ้น ณ กรุงดับลิน ต่อมามีการรุกรานและยึดครองสกอตแลนด์ได้ ทำให้สกอตแลนด์ต้องอยู่ในการปกครองของผู้ว่าการ (governor) เช่นกัน ซึ่งแต่งตั้งครั้งแรกใน ค.ศ. 1651

แต่ไม่นานหลังจากที่กลุ่มนิยมราชวงศ์และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ถูกปราบราบคาบในยุทธการที่วุร์สเตอร์เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1651 ก็มีการริเริ่มให้ผู้ว่าการสกอตแลนด์มีวาระยาวขึ้น โดยในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1651 รัฐสภารัมป์ออกประกาศให้รวมรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน แต่กระบวนการมาลุล่วงเอาเมื่อมีการตรารัฐบัญญัติสหภาพ (Act of Union) ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1657

ระหว่างนั้น ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1653 ตระกูลครอมเวลล์ ซึ่งได้การสนับสนุนจากกลุ่มแกรนดี (Grandee) ในสภาทัพบก (Army Council) นำกำลังบุกเข้าห้องประชุมรัฐสภารัมป์และสั่งเลิกประชุม หลังจากได้ทราบมาว่า รัฐสภารัมป์พยายามจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้ตกลงกันแล้วว่า จะยุบรัฐสภา

ภายในหนึ่งเดือนหลังจากยุบเลิกรัฐสภารัมป์ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งได้คำแนะนำจากทอมัส แฮร์ริสัน (Thomas Harrison) และเสียงสนับสนุนจากนายทหารคนอื่น ๆ ในกองทัพบก ก็ส่งคำร้องขอไปยังชุมนุมศาสนจักร (congregational church) ในทุกเทศมณฑล เพื่อให้เสนอชื่อบุคคลที่ศาสนจักรเห็นว่า สมควรเข้าเป็นผู้บริหารการแผ่นดินคณะใหม่ ครั้นวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1653 มีการนำรายชื่อดังกล่าวมาจัดตั้งรัฐสภา เรียกว่า "รัฐสภาแบร์โบน" แต่กลุ่มแกรนดีเห็นว่า ควบคุมยาก ทั้งยังตกเป็นเป้าการล้อเลียนอยู่เสมอ สมาชิกรัฐสภาแบร์โบนที่สนับสนุนโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ จึงจัดการให้รัฐสภาถูกยุบ โดยยื่นญัตติขอยุบเลิกรัฐสภาในเวลาที่มีสมาชิกไม่กี่คนมาประชุม สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวก็ถูกทหารขับออกจากห้องประชุม ในที่สุด กลุ่มแกรนดีก็ออกตราสารการปกครองเพื่อปูทางให้เกิดการปกครองแบบรัฐในอารักขา

การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์

แก้

เมื่อยุบเลิกรัฐสภาแบร์โบนแล้ว จอห์น แลมเบิร์ต (John Lambert) นายทหารผู้หนึ่ง เสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่า "ตราสารการปกครอง" ซึ่งใช้รูปแบบส่วนใหญ่ตามหัวข้อคำเสนอ (Heads of Proposals) ตราสารดังกล่าวทำให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ได้เป็นเจ้าผู้อารักขาไปชั่วชีวิต โดยมีสถานะเป็นประธานแมจิสเตรต (magistrate) และดำเนินการปกครอง มีอำนาจเรียกประชุมและยุบเลิกรัฐสภา แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากสภาแห่งรัฐด้วย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1653

การปกครองของกลุ่มพลตรี

แก้

รัฐสภาชุดแรกของรัฐในอารักขาเปิดประชุมในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1654 และหลังจากรัฐสภาแสดงท่าทีบางประการในเบื้องต้นเพื่อเป็นนัยว่า ยอมรับบุคคลที่โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แต่งตั้งเอาไว้ รัฐสภาก็เริ่มกระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ แต่ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1655 โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐบัญญัติบางฉบับ ก็ประกาศยุบเลิกรัฐสภาเสียทีเดียว แทนที่จะยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ เซอร์จอห์น เพนรัดด็อก (John Penruddock) จึงนำกลุ่มผู้สนับสนุนราชวงศ์ลุกขึ้นต่อต้านการปกครอง เป็นเหตุให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ แบ่งเขตการปกครองทั่วอังกฤษออกเป็นเขตทหาร (military district) ให้มีหัวหน้าเขตเป็นทหารชั้นพลตรี 15 คนซึ่งขึ้นตรงต่อเขาเท่านั้น รวมกันเรียกว่า "ผู้ว่าการผู้ทรงธรรม" (godly governor) และมีอำนาจควบคุมกองทหาร เก็บภาษี ตลอดทั้งสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลจะได้รับการสนับสนุนจากท้องที่ต่าง ๆ ในอังกฤษและเวลส์ นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งข้าหลวงรักษาความสงบแห่งจักรภพ (commissioner for securing the peace of the commonwealth) ขึ้นทุกเทศมณฑลเพื่อทำงานร่วมกับผู้ว่าการดังกล่าว ข้าหลวงเหล่านี้บางคนซึ่งเป็นส่วนน้อยเคยคร่ำหวอดในวงการเมือง แต่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกลัทธิพิวริตันนิซึมซึ่งอ้าแขนต้อนรับกลุ่มพลตรีและสนับสนุนกิจการของพวกเขาด้วยความเปรมปรีดิ์ อย่างไรก็ดี หลายคนเกรงว่า กลุ่มพลตรีจะเป็นภัยต่ออำนาจหน้าที่ของตนและต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศ ประกอบกับเมื่อพลตรี จอห์น เดสเบอระ (John Desborough) ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับภาษีเพื่อให้มีการสนับสนุนทางการเงินต่อการดำเนินงานของกลุ่มพลตรี แต่รัฐสภาชุดที่สองของรัฐในอารักขา ซึ่งแต่งตั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1656 ลงคะแนนไม่เห็นชอบ เพราะประหวั่นว่า ประเทศจะกลายเป็นรัฐทหารเป็นการถาวร ทำให้กลุ่มพลตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่ถึงหนึ่งปี นอกจากนี้ กิจกรรมของกลุ่มพลตรีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1655 จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1656 ยังส่งผลให้ผู้คนเกลียดชังระบอบการปกครองนี้ยิ่งขึ้นไปอีก[1]

บทบาทของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์

แก้

เมื่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญดำเนินมาจนถึง ค.ศ. 1657 ปรากฏว่า รัฐสภาเสนอให้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทำให้เขาคิดไม่ตก เพราะตัวเขาเองเป็นโต้โผในการล้มล้างระบอบกษัตริย์มาก่อน เขาทนหนักใจเพราะข้อเสนอนี้มาถึง 6 สัปดาห์ จนวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1657 จึงแถลงว่า ไม่รับเป็นกษัตริย์[2] แต่กระนั้น ก็รับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาอีกครั้ง ซึ่งมีอำนาจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามที่ระบุไว้ในเอกสาร "ฎีกาและคำแนะนำอันนอบน้อม" (Humble Petition and Advice) อันประกาศใช้แทนที่ตราสารการปกครอง แม้ไม่ยอมเป็นกษัตริย์ แต่ก็เข้ารับตำแหน่งเจ้าผู้อารักขา ณ ท้องพระโรงเวสต์มินสเตอร์ด้วยการขึ้นนั่งเหนือบัลลังก์ราชาภิเษกที่สั่งให้ยกมาจากเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ พิธีรับตำแหน่งของเขายังคล้ายกับพิธีราชาภิเษก มีการใช้ราชสัญลักษณ์และกกุธภัณฑ์หลายอย่าง เช่น เครื่องทรงสีม่วง, ดาบแห่งความยุติธรรม, คทา, และจุลมงกุฏ แต่ไม่ได้ใช้มงกุฏหรือลูกโลก ซึ่งเอามาใส่ไว้ในตราประจำแหน่งของเขาแทน กระนั้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ "ไม่เคยได้รับความยินยอมพร้อมใจจากชนในชาติ และรัฐในอารักขาก็ดำเนินไปโดยตั้งอยู่บนการใช้กำลังทหาร"[3]

การปกครองของริชาร์ด ครอมเวลล์

แก้

เมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1658 ริชาร์ด ครอมเวลล์ บุตรชายคนที่สามของเขา ก็สืบตำแหน่งเจ้าผู้อารักขาต่อ ริชาร์ดพยายามขยายรากฐานของการปกครองแบบรัฐในอารักขาจากการใช้กำลังทหารไปยังกลุ่มพลเรือน เขาเรียกประชุมรัฐสภาใน ค.ศ. 1659 แต่สมาชิกพากันประณามการปกครองของบิดาเขาว่า เป็น "ยุคสมัยแห่งเผด็จการและความถดถอยทางเศรษฐกิจ" ทั้งโจมตีสถานะของเจ้าผู้อารักขาว่า ไม่ใช่กษัตริย์ ก็เหมือนเป็นกษัตริย์ ทั้งพยายามถ่วงการประชุมด้วยการต่อต้านไม่รู้จบและกลเม็ดเด็ดพรายต่าง ๆ[4]

เมื่อริชาร์ด ครอมเวลล์ เห็นว่า ตนไม่สามารถควบคุมใด ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาหรือกองทัพ จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1658 เพื่อแทนที่สภาแห่งรัฐของรัฐในอารักขา แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1658 ก็จัดตั้งสภาแห่งรัฐขึ้นอีกครั้งเพื่อแทนที่คณะกรรมาธิการความปลอดภัย ตัวริชาร์ดเองนั้นไม่ได้ถูกถอดจากตำแหน่งหรือจับกุมอย่างโจ่งแจ้ง แต่มีการยอมให้เขาจางตัวเองออกไปจากหน้าการเมือง นับเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐในอารักขา[5]

ผลพวง

แก้

หลังจากความวุ่นวายในช่วงสั้น ๆ แห่งการรื้อฟื้นเครือจักรภพ ก็มีการยอมรับตามประกาศเบรดา (Declaration of Breda) ให้นำระบอบกษัตริย์กลับคืนมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1660 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการริเริ่มของพลเอก จอร์จ มองก์ (George Monck)

อ้างอิง

แก้
  1. Durston 1998, pp. 18–37.
  2. Roots 1989, p. 128.
  3. Jones 1978, p. 113.
  4. Jones 1978, pp. 117, 118.
  5. Jones 1978, p. 120.

บรรณานุกรม

แก้
  • Durston, Christopher (1998). "The Fall of Cromwell's Major-Generals". English Historical Review. 113 (450): 18–37. doi:10.1093/ehr/cxiii.450.18. ISSN 0013-8266.
  • Hirst, Derek (1990). "The Lord Protector, 1653–8". ใน Morrill (บ.ก.). Oliver Cromwell and the English Revolution. p. 137. Call Number: DA426 .O45 1990.
  • Hutton, Ronald (2000). The British Republic 1649–1660 (2nd ed.). Macmillan. pp. 116–118.
  • Jones, J.R. (1978). Country and Court: England 1658–1714. Edward Arnold. pp. 113–120.
  • Roots, Ivan (1989). Speeches of Oliver Cromwell. Everyman classics. p. 128. ISBN 0-460-01254-1.

ดูเพิ่ม

แก้