ประเทศลักเซมเบิร์ก

ประเทศในยุโรปตะวันตก

ลักเซมเบิร์ก (อังกฤษ: Luxembourg; ลักเซมเบิร์ก: Lëtzebuerg; ฝรั่งเศส: Luxembourg; เยอรมัน: Luxemburg ) หรือชื่อทางการคือ ราชรัฐลักเซมเบิร์ก (อังกฤษ: Grand Duchy of Luxembourg; ลักเซมเบิร์ก: Groussherzogtum Lëtzebuerg; ฝรั่งเศส: Grand-Duché de Luxembourg; เยอรมัน: Großherzogtum Luxemburg ) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปยุโรป มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศเยอรมนี ทางทิศใต้ติดฝรั่งเศส และทางทิศตะวันตกติดเบลเยียม มีเมืองหลวงคือนครลักเซมเบิร์ก[5] ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสี่เมืองที่เป็นที่ตั้งของสถาบันสำคัญทั้งเจ็ดแห่งสหภาพยุโรป (ร่วมกับบรัสเซลส์ แฟรงก์เฟิร์ต และ สทราซบูร์) และยังเป็นที่ตั้งของสถาบันสำคัญหลายแห่งของทวีปรวมถึงศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป[6][7]

ราชรัฐลักเซมเบิร์ก

Groussherzogtum Lëtzebuerg (ลักเซมเบิร์ก)
Grand-Duché de Luxembourg (ฝรั่งเศส)
Großherzogtum Luxemburg (เยอรมัน)
คำขวัญMir wëlle bleiwe wat mir sinn
"เราต้องการจะยังคงเป็นในสิ่งที่เป็นอยู่"
เพลงชาติOns Heemecht
"บ้านเกิดของเรา"


- สถานที่ตั้งของประเทศลักเซมเบิร์ก (สีเขียวเข้ม) - ในทวีปยุโรป (สีเขียวและสีเทาเข้ม) - ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (สีเขียว)
- สถานที่ตั้งของประเทศลักเซมเบิร์ก (สีเขียวเข้ม)
- ในทวีปยุโรป (สีเขียวและสีเทาเข้ม)
- ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (สีเขียว)
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
ลักเซมเบิร์ก1
49°48′52″N 6°7′54″E / 49.81444°N 6.13167°E / 49.81444; 6.13167
ภาษาราชการภาษาเยอรมัน, ภาษาฝรั่งเศส และภาษาลักเซมเบิร์ก
(โดยนิตินัยตั้งแต่ พ.ศ. 2527)
ไม่เป็นทางการภาษาดัตช์
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
• แกรนด์ดยุกผู้ปกครอง
แกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก
• แกรนด์ดยุกรัชทายาท
เจ้าชายกีโยม แกรนด์ดยุกรัชทายาทแห่งลักเซมเบิร์ก
• นายกรัฐมนตรี
Luc Frieden
สภานิติบัญญัติสภาผู้แทนราษฎร
เอกราช
9 มิถุนายน พ.ศ. 2358
19 เมษายน พ.ศ. 2382
11 พฤษภาคม พ.ศ. 2410
• สิ้นสุดรัฐร่วมประมุข
23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433
• เข้าร่วมสหภาพยุโรป
25 มีนาคม พ.ศ. 2500
พื้นที่
• รวม
2,586 ตารางกิโลเมตร (998 ตารางไมล์) (169)
0.60%
1 E9
ประชากร
• มีนาคม 2564 ประมาณ
633,622[1] (168th)
• สำมะโนประชากร 2554
512,353
242 ต่อตารางกิโลเมตร (626.8 ต่อตารางไมล์) (58th)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) 2563 (ประมาณ)
• รวม
เพิ่มขึ้น $66.848 พันล้าน[2] (99th)
เพิ่มขึ้น $112,045[2] (2nd)
จีดีพี (ราคาตลาด) 2562 (ประมาณ)
• รวม
ลดลง $69.453 พันล้าน[2] (69th)
ลดลง $113,196[2] (1st)
จีนี (2561)Negative increase 33.2[3]
ปานกลาง
เอชดีไอ (2562)เพิ่มขึ้น 0.916[4]
สูงมาก · 23rd
สกุลเงินยูโร () 2 (EUR)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (CEST)
รูปแบบวันที่dd/mm/yyyy
ไฟบ้าน230 V–50 Hz
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์352
รหัส ISO 3166LU
โดเมนบนสุด.lu
1. ลักเซมเบิร์กเป็นนครรัฐ
2. ก่อนปี พ.ศ. 2542 ใช้ฟรังก์ลักเซมเบิร์ก

วัฒนธรรมลักเซมเบิร์ก อาทิ ภาษา และ วิถีชีวิตของผู้คน มีความเกี่ยวพันอย่างสูงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนี และ ฝรั่งเศส และแม้จะมีภาษาลักเซมเบิร์กเป็นภาษาประจำชาติ ทว่าภาษาเยอรมันและภาษาฝรั่งเศสก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในบริบททางกฎหมายและการปกครอง และทั้งสามภาษามีสถานะเป็นภาษาราชการโดยนิตินัย

ด้วยพื้นที่เพียง 2,586 ตารางกิโลเมตร (998 ตารางไมล์) ส่งผลให้ลักเซมเบิร์กเป็นรัฐอธิปไตยที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปยุโรป[8] และใน ค.ศ. 2022 ลักเซมเบิร์กมีประชากรเพียง 645,397 คน[9] ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดในยุโรป แต่เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูงที่สุด[10] และชาวต่างชาติมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด[11] ในฐานะตัวแทนประเทศประชาธิปไตยที่มีระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ลักเซมเบิร์กอยู่ภายใต้การปกครองของแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์กซึ่งถือเป็นผู้สืบเชื้อสายจากขุนนางผู้ยิ่งใหญ่แห่งแกรนด์ดัชชีพระองค์สุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ เมืองลักเซมเบิร์กซึ่งมีป้อมปราการเก่าแก่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกใน ค.ศ. 1994 อันเนื่องมาจากสถาปัตยกรรมอันสวยงาม

ประวัติศาสตร์ของลักเซมเบิร์กเริ่มต้นใน ค.ศ. 963[12] เมื่อเคานท์ซิเอกฟิลด์แห่งลักเซมเบิร์กได้สร้างปราสาทบริเวณเมืองหลวงปัจจุบัน[13] ต่อมา รัชทายาทของซิเอกฟิลด์ได้ขยายอาณาเขตผ่านการทำสงคราม และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชบริพารในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ต่อมา ใน ค.ศ. 1308 จักรพรรดิไฮน์ริชที่ 7 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนีและในเวลาต่อมาได้กลายเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ราชวงศ์ลักเซมเบิร์กได้ให้กำเนิดจักรพรรดิจำนวน 4 พระองค์ในช่วงยุคกลางตอนปลาย และดินแดนแห่งนี้ได้กลายสภาพเป็นเครือราชรัฐบูร์กอญ ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในสิบเจ็ดจังหวัดของเนเธอร์แลนด์ของฮาพส์บวร์ค ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา เมืองและป้อมปราการแห่งลักเซมเบิร์กซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างราชอาณาจักรฝรั่งเศสและดินแดนฮาพส์บวร์ค ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นป้อมปราการที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และออสเตรียของมาเรีย เทเรซา ลักเซมเบิร์กได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่งและจักรวรรดิที่หนึ่งภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1[14]

รัฐลักเซมเบิร์กในปัจจุบันได้ถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาใน ค.ศ. 1815 ก่อนที่เขตการปกครองแกรนด์ดัชชีซึ่งมีป้อมปราการอันแข็งแกร่งจะได้กลายสภาพเป็นรัฐอิสระภายใต้การครอบครองของพระเจ้าวิลเลิมที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์ โดยมีกองทหารปรัสเซียคอยคุ้มกันเมืองจากอีกรัฐหนึ่ง ก่อนจะเผชิญการรุกรานจากฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1839 หลังจากความวุ่นวายของการปฏิวัติเบลเยียม ส่งผลให้ดินแดนส่วนที่พูดภาษาฝรั่งเศสของลักเซมเบิร์กได้ถูกยกให้เบลเยียม และดินแดนอีกส่วนหนึ่งที่พูดภาษาลักเซมเบิร์ก (ยกเว้นอาเรเลอร์ลันด์ พื้นที่รอบอาร์ลอน) กลายมาเป็น ราชรัฐลักเซมเบิร์ก จนถึงปัจจุบัน[15]

ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และแม้จะมีประชากรไม่มากแต่เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุดของยุโรป[16] โดยมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและสวัสดิการคุณภาพ[17][18][19] และยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูง[20] ลักเซมเบิร์กเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, สหประชาชาติ, เนโท และ เบเนลักซ์[21][22] ลักเซมเบิร์กดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติใน ค.ศ. 2013–14 เป็นครั้งแรก และใน ค.ศ. 2022 พลเมืองลักเซมเบิร์กได้รับอนุมัติการตรวจลงตราที่ใช้เดินทางเข้าออกประเทศหรือเขตแดนได้มากถึง 189 ประเทศทั่วโลก โดยหนังสือเดินทางของลักซัมเบิร์กได้รับการจัดอันดับโดย แพลตฟอร์มการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตทั่วโลก (Henley Passport Index) ให้เป็นหนังสือเดินทางที่ทรงอิทธิพลที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก[23] เท่ากับฟินแลนด์ และ อิตาลี[24]

ประวัติศาสตร์

แก้
 
แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตแห่งลักเซมเบิร์ก ผู้พัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจของลักเซมเบิร์ก

ราชรัฐลักเซมเบิร์กเป็นนครรัฐ มีประวัติความเป็นมาย้อนหลังมากกว่า 1,000 ปี เมื่อ ค.ศ. 963 เคานท์ซิเอกฟิลด์แห่งลักเซมเบิร์ก เคานท์แห่งอาร์เดนเนส และผู้ก่อตั้งราชวงศ์ลักเซมเบิร์กสร้างปราสาทในบริเวณเมืองหลวงของลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีภูเขาสลับซับซ้อนล้อมรอบหลายชั้น เป็นที่รู้กันทั่วไปในนาม “ยิบรอลตราทางเหนือ” (The Gibraltar of the North) ในช่วงปลายยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์ลักเซมเบิร์กมีความรุ่งเรืองมาก กษัตริย์หลายพระองค์ในยุโรปสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์นี้ อาทิ จักรพรรดิปกครองเยอรมนี 4 พระองค์ กษัตริย์ปกครองโบฮีเมีย 4 พระองค์ และกษัตริย์ปกครองฮังการี 1 พระองค์ กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงของลักเซมเบิร์ก ในยุคนั้น ได้แก่ สมเด็จพระจักรพรรดิไฮนริคที่ 7 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์,พระเจ้าจอห์นแห่งโบฮีเมียและดยุกแวนเซลอสที่ 1 แห่งลักเซมเบิร์ก จากนั้นก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจเบอร์กันดีใน ค.ศ. 1467 เมื่อดัสเชสเอลิซาเบธที่ 2 ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ลักเซมเบิร์กพระองค์สุดท้าย ทรงได้สละสิทธิอันชอบธรรมของพระนางในราชบัลลังก์ พระโอรสของฟิลลิปเดอะกูด ดยุกแห่งเบอร์กันดีคือ ชาร์ลส์เดอะโบลด์ ดยุกแห่งเบอร์กันดีทรงยอมรับพระอิศริยยศนี้โดยรวมเข้ากับพระยศ "ดยุกแห่งเบอร์กันดี" หลังจากนั้นลักเซมเบิร์กประสบความพ่ายแพ้ในสงครามหลายครั้ง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติต่าง ๆ เช่น สเปน ฝรั่งเศส ออสเตรีย และรัสเซีย จนกระทั่งสิ้นสุดคริสศตวรรษที่ 19 ใน ค.ศ. 1815 ลักเซมเบิร์กได้รับอิสรภาพอีกครั้ง โดยการประชุมที่เวียนนา (Congress of Vienna) ได้ยกฐานะของลักเซมเบิร์กจาก Duchy เป็น Grand Duchy และมอบให้เป็นพระราชสมบัติส่วนพระองค์ของกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ ให้สิทธิในการปกครองแก่สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 1 แห่งเนเธอร์แลนด์และใน ค.ศ. 1868 สนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London 1867) ได้รับรองบูรณภาพ แบ่งดินแดน และสิทธิในการปกครองตนเองของลักเซมเบิร์ก[25]

 
แกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์ก แกรนด์ดยุกองค์ปัจจุบัน

ใน ค.ศ. 1890 ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเล็มที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าหญิงวิลเฮลมินา ทรงเป็นรัชทายาทเพียงพระองค์เดียวได้ขึ้นครองราชสมบัติเนเธอร์แลนด์ โดยไม่ผูกมัดตามข้อตกลงของราชสกุล อย่างไรก็ตามราชบัลลังก์ลักเซมเบิร์กได้ผ่านไปถึงเชื้อสายบุรุษของราชวงศ์นัสเซาสายอื่น คือ ดยุกอดอลฟ์ผู้ถูกขับออกจากตำแหน่งดยุกแห่งนัสเซาและเป็นประมุขของสายราชวงศ์นัสเซา-เวลเบิร์ก และแกรนด์ดยุกของลักเซมเบิร์กในสมัยนั้นโดยไม่มีพระราชโอรสสืบทอด ทำให้ราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ตระกูลนัสเซาซึ่งก็คือ แกรนด์ดยุกอดอลฟ์แห่งลักเซมเบิร์กได้ขึ้นครองราชย์แทนใน ค.ศ. 1907 แกรนด์ดยุกวิลเล็มที่ 4 แห่งลักเซมเบิร์กผู้เป็นพระโอรสเพียงองค์เดียวของแกรนด์ดยุกอดอลฟีได้รับสิทธิการชอบธรรมแก่พระธิดาองค์โตคือเจ้าหญิงมารี อเดเลด ซึ่งเป็นสิทธิในการสืบราชสมบัติด้วยความบริสุทธิ์แห่งการไร้บุรุษในราชวงศ์ และระบุไว้ในกฎดั้งเดิมราชสกุลนัสเซา พระนางจึงทรงเป็นแกรนด์ดัสเชสพระองค์แรกผู้ปกครองแกรนด์ดัชชีแห่งลักเซมเบิร์กเมื่อพระบิดาเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1912 และทรงสละราชสมบัติใน ค.ศ. 1919 พระขนิษฐาจึงครองราชย์สืบต่อคือแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อต และลักเซมเบิร์กเริ่มต้นมีราชวงศ์ของตนเองในรัชสมัยของแกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อตแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duchess Charlotte) ลักเซมเบิร์กได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การพัฒนาดังกล่าวได้หยุดชะงักลงเมื่อเยอรมนีได้เข้ายึดครองลักเซมเบิร์กในระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง ทั้ง ๆ ที่ลักเซมเบิร์กได้ประกาศความเป็นกลาง ต่อมาใน ค.ศ. 1964 กษัตริย์ของลักเซมเบิร์กคือ แกรนด์ดยุกฌองแห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke Jean) ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชชนนี คือ แกรนด์ดัชเชสชาร์ล็อต ซึ่งสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสหลังจากที่ทรงครองราชย์มานานถึง 45 ปี กษัตริย์องค์ปัจจุบันของลักเซมเบิร์กคือ แกรนด์ดยุกอ็องรีที่ 1 แห่งลักเซมเบิร์ก (Grand Duke Henri) ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2000 เป็นกษัตริย์องค์ที่ 6 ของราชวงศ์ นัสเซา-เวลเบิร์ก สืบต่อจากแกรนด์ดยุกฌอง พระราชชนก ซึ่งสละราชสมบัติหลังจากที่ครองราชย์นานถึง 36 ปี ให้แก่พระราชโอรส ภายหลังได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักเซมเบิร์กได้ยกเลิกนโยบายความเป็นกลางและเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร เช่น สหภาพยุโรป องค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (เนโท),[26] สหภาพยุโรปตะวันตก (Western European Union-WEU) และ OSCE (Organization for Security and Cooperation in Europe)[27]

การเมืองการปกครอง

แก้

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 พรรค CSV (Christian Socialist Party) และพรรค LSAP (Luxembourg Socialist Workers’ Party) ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปในลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2004 ได้บรรลุการเจรจาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี โดยมีนายชอง-โกลด จุงก์เกอร์หัวหน้าพรรค CSV ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สาม และนายฌอง แอสเซลบอร์น หัวหน้าพรรค LSAP ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการเข้าเมือง ทั้งนี้ นายชอง-โกลด จุงก์เกอร์ได้นำคณะรัฐมนตรีรวม 15 ราย เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับหน้าที่ต่อแกรนด์ดยุกอ็องรีแห่งลักเซมเบิร์กในวันเดียวกัน

 
ซาเวียร์ เบทเทล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาให้ทันสมัย (modernization) นวัตกรรม (innovation) การปรับโอน (transformation) และบูรณาการ (integration) ในทุก ๆ ด้าน

นโยบายด้านการเงินการคลังจะเน้นความยืดหยุ่น จะดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ส่วนการดำเนินนโยบายด้านงบประมาณจะต้องสอดคล้องกับ Stability Pact และนโยบายการพัฒนาของสหภาพยุโรป รวมทั้งจะปรับเปลี่ยนปีงบประมาณให้ตรงกับช่วงปีงบประมาณของสหภาพยุโรป

นโยบายด้านเศรษฐกิจจะเน้นการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ความทันสมัย และรูปแบบที่เปิดรับต่อปัจจัยและเงื่อนไขใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยให้มีการค้นคว้าและวิเคราะห์สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมด้าน e-dynamic การลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการคมนาคม อาทิ ถนนและเส้นทางรถไฟ

โดยที่ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศขนาดเล็ก จึงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อความร่วมมือกับประเทศในยุโรปตะวันตก ทั้งในกรอบทวิภาคีอียู และ เนโทเพื่อเป็นหลักประกันต่อเอกราช

ด้านความมั่นคง ลักเซมเบิร์กมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงเพื่อตอบสนองต่อภารกิจของชาติและภารกิจในกรอบของอียู และ เนโท โดยจะเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงร้อยละ 1.2 ของจีดีพีและเร่งปรับปรุงสถานที่ตั้งทางการทหาร ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจการรักษาสันติภาพในกรอบระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองต่อเงื่อนไขใหม่ ๆ ของอียู และ เนโท

ลักเซมเบิร์กยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ และเป็นประเทศหนึ่งที่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของ UN ในการให้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และใน ค.ศ. 2001 ลักเซมเบิร์กให้เงินช่วยเหลือแก่ต่างประเทศร้อยละ 0.8 ของจีดีพีซึ่งเกินเป้าหมายของ UN และ OECD นอกจากนั้น ลักเซมเบิร์กมีแผนการที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือให้ถึงร้อยละ 1 ใน ค.ศ. 2005 เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศที่มีความยากจนและประสบภัยสงคราม[28]

การต่างประเทศ

แก้

ลักเซมเบิร์กเป็นผู้สนับสนุนการบูรณาการทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปมาอย่างยาวนาน ใน ค.ศ. 1921 ลักเซมเบิร์กและเบลเยียมได้ก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบลเยียม-ลักเซมเบิร์ก (BLEU) เพื่อสร้างระบอบการปกครองของสกุลเงินที่แลกเปลี่ยนได้และธรรมเนียมปฏิบัติร่วมกัน ลักเซมเบิร์กเป็นสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจเบเนลักซ์และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป) นอกจากนี้ยังเข้าร่วมในกลุ่มเชงเกน (ตั้งชื่อตามหมู่บ้านเชงเก้นแห่งลักเซมเบิร์กที่มีการลงนามในข้อตกลง) และยังเป็นที่ตั้งของ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป

กองทัพ

แก้
 
ทหารจากกองทัพบกของลักเซมเบิร์กในขณะเดินสวนสนามในวันชาติ

กองทัพลักเซมเบิร์กส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในคาเซิร์น เจ้าหน้าที่ทั่วไปประจำอยู่ในเมืองหลวง กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนโดยมีแกรนด์ดยุคเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด François Bausch รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน มีอำนาจในการสั่งการและดูแลการปฏิบัติการของกองทัพบก หัวหน้าใหญ่ของกองทัพคือหัวหน้ากลาโหมซึ่งควบทั้งตำแหน่งรัฐมนตรีคนที่สองและดำรงตำแหน่งนายพล ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลจึงไม่มีกองทัพเรือ ในส่วนของกองทัพอากาศ เครื่องบิน NATO AWACS จำนวนสิบเจ็ดลำได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องบินประจำกองทัพลักเซมเบิร์กตามข้อตกลงร่วมกับเบลเยียม ทั้งสองประเทศได้จัดหาเงินทุนสำหรับเครื่องบินขนส่งสินค้าทางทหาร A400M จำนวนหนึ่งลำ[29]

ลักเซมเบิร์กได้เข้าร่วมใน Eurocorps ซึ่งสนับสนุนกองกำลังในภารกิจ UNPROFOR และ IFOR ในอดีตของประเทศยูโกสลาเวีย และได้เข้าร่วมกับกลุ่มเล็กๆ ในภารกิจ NATO SFOR ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา กองทหารลักเซมเบิร์กได้ส่งกำลังไปยังอัฟกานิสถานเพื่อสนับสนุน ISAF กองทัพยังได้เข้าร่วมในภารกิจบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม เช่น การจัดตั้งค่ายผู้ลี้ภัยสำหรับชาวเคิร์ด และการจัดหาเสบียงฉุกเฉินให้กับแอลเบเนีย[30][31][32]

เขตการปกครอง

แก้
 
อำเภอของประเทศลักเซมเบิร์ก

ประเทศลักเซมเบิร์กในอดีต (จนถึง ค.ศ. 2015) แบ่งเป็น 3 เขต ได้แก่เขตดิกเคริช เขตเกร็ยเวอมาเคอร์ และเขตลักเซมเบิร์ก ซึ่งสามเขตดังกล่าวจะแบ่งย่อยลงไปอีกเป็น 12 อำเภอและ 102 เทศบาล[33] อย่างไรก็ตาม การปกครองระดับเขตได้ถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 2015[34][35] ทำให้ในปัจจุบันหน่วยการบริหารระดับสูงสุดของประเทศลักเซมเบิร์กได้แก่อำเภอ ซึ่งมีจำนวน 12 อำเภอ ได้แก่

ภูมิศาสตร์

แก้

ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในยุโรป และมีขนาดเป็นอันดับ 167 ของโลก พื้นที่ทั่วประเทศ 2,586 ตารางกิโลเมตร ทางตะวันตกของประเทศ มีพรมแดนติดกับจังหวัดลักเซมเบิร์กของเบลเยียม ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่ (4,443 ตารางกิโลเมตร) เกือบสองเท่าของประเทศลักเซมเบิร์ก

ทางตอนเหนือของประเทศ เป็นเนินเขาและภูเขาเตี้ย ๆ จุดสูงสุดอยู่ที่ Kneiff ใกล้กับเมือง Wilwerdange[36] มีความสูง 560 เมตร พื้นที่อื่น ๆ มักจะเป็นเนินเขาเตี้ย ๆ เช่นกัน

เศรษฐกิจ

แก้
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 62.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2017)
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว 104,103 ดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2017)
  • อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.3% (ค.ศ. 2017)
  • อัตราเงินเฟ้อ 1.7% (ค.ศ. 2017)
  • อัตราการว่างงาน 3.6% (ค.ศ. 2003)
  • มูลค่าการส่งออก ประมาณ 9.052 พันล้านยูโร (ค.ศ. 2003)
  • มูลค่าการนำเข้า 12.060 พันล้านยูโร (ค.ศ. 2003)
  • สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่โลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เคมีภัณฑ์
  • สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อุปกรณ์การขนส่ง ผลิตภัณฑ์โลหะ อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เคมีภัณฑ์
  • ประเทศคู่ค้าสำคัญ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส จีน เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย

ภาคการบริการเป็นสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของลักเซมเบิร์ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาการเงินการธนาคาร โดยลักเซมเบิร์กมีกฎหมายด้านการเงินที่ดึงดูดนักลงทุน ทำให้ลักเซมเบิร์กกลายเป็นศูนย์กลางด้านกองทุนลงทุนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น โดยจะเห็นได้จากการที่ใน ค.ศ. 2000 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลักเซมเบิร์กมาจากภาคบริการถึงร้อยละ 69 (ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 30 และภาคการเกษตร ร้อยละ 1) และมีแรงงานถึงร้อยละ 90 ของแรงงานทั้งหมดทำงานในภาคบริการ (ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 8 และภาคการเกษตร ร้อยละ 2)

เศรษฐกิจการค้า

แก้

สภาวะเศรษฐกิจ ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคง อัตราการเติบโตปานกลาง เงินเฟ้อต่ำ และมีนวัตกรรมในระดับสูง[37] มีอัตราการว่างงานต่ำ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งในอดีตเหล็กกล้าเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด แต่ปัจจุบันได้มีอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยาง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ การเจริญเติบโตทางภาคการเงิน ซึ่งอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP คิดเป็นร้อยละ 22 ส่วนใหญ่นำไปชดเชยให้กับอุตสาหกรรมเหล็กกล้า ธนาคารส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ ภาคเกษตรกรรมมีลักษณะเป็นไร่ขนาดเล็ก แรงงานต่างชาติหรือแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญมากในด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด ถึงแม้ว่าลักเซมเบิร์กจะได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาเหมือนเช่นประเทศอื่น ๆ แต่ก็ยังสามารถรักษาให้อัตราการเจริญเติบโตยังเข้มแข็งต่อไปได้

สหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก เบลเยียมและลักเซมเบิร์กได้จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจเบลโก-ลักเซมเบิร์ก (Belgium-Luxembourg Economic Union - BLEU) ระหว่างกันเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 ซึ่งทำให้การเก็บสถิติการค้าและการลงทุนมักจะเป็นไปบนพื้นฐานของตัวเลขของทั้งสองประเทศรวมกัน นอกจากนี้ มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของทั้งสองประเทศไว้ที่อัตราส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง (one-to-one parity) สหภาพเศรษฐกิจเบลโก- ลักเซมเบิร์กมีลักษณะสำคัญ ดังนี้[38][39]

  1. จัดระบบการค้าเสรีระหว่างกัน
  2. มีการประสานนโยบายในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม รวมทั้ง ปรับกฎหมายภายในประเทศทั้งสองให้สอดคล้องกัน
  3. ธนาคารแห่งประเทศเบลเยี่ยมจะทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของ ทั้งสองประเทศ
  4. ใช้กฎหมายด้านการปริวรรตเงินตราต่างประเทศแบบเดียวกัน
  5. มีการจำกัดปริมาณเงินฟรังค์ลักเซมเบิร์ก โดยกำหนดปริมาณเป็นระยะ ๆ ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เงินฟรังค์ของทั้งสองประเทศมีค่าเท่ากัน
  6. เบลเยียมจะมีบทบาทนำด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากลักเซมเบิร์กมี GDP ประมาณร้อยละ 4.5 ของ GDP เบลเยียม และลักเซมเบิร์กได้เน้นภาคบริการโดยเฉพาะเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการธนาคาร โดยมีนโยบายด้านการเงินที่เสรี และอัตราภาษีเงินได้ที่ต่ำ

ประชากร

แก้

ชาติพันธุ์

แก้

ประชากรผู้อพยพเพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 20 เนื่องจากการมาถึงของผู้อพยพจากเบลเยียม ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และโปรตุเกส[40] ใน ค.ศ. 2013 มีประชากรประมาณ 88,000 คนที่มีสัญชาติโปรตุเกส ในปี 2013 มีผู้อยู่อาศัยถาวร 537,039 คน[41] โดย 44.5% เป็นชาวต่างชาติหรือผู้อพยพ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือชาวโปรตุเกส ซึ่งคิดเป็น 16.4% ของประชากรทั้งหมด ตามด้วยชาวฝรั่งเศส (6.6%) ชาวอิตาลี (3.4%) เบลเยียม (3.3%) และชาวเยอรมัน (2.3%) อีก 6.4% มาจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ ในขณะที่ 6.1% ที่เหลือเป็นของนอกสหภาพยุโรปอื่น ๆ[42]

นับตั้งแต่เริ่มสงครามในยูโกสลาเวีย ลักเซมเบิร์กได้รับผู้อพยพจำนวนมากจากบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มอนเตเนโกร และเซอร์เบีย ทุกปี ผู้อพยพใหม่กว่า 10,000 คนมาถึงลักเซมเบิร์ก ส่วนใหญ่มาจากรัฐในสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับยุโรปตะวันออก ในปี 2000 มีผู้อพยพในลักเซมเบิร์ก 162,000 คน คิดเป็น 37% ของประชากรทั้งหมด มีผู้อพยพผิดกฎหมายประมาณ 5,000 คนในลักเซมเบิร์กในปี 2002

ภาษา

แก้

ภาษาราชการของลักเซมเบิร์กประกอบด้วย 3 ภาษาหลัก ได้แก่; ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาลักเซมเบิร์ก[43] ซึ่งเป็นภาษาฟรังโกเนียนใช้สำหรับสำหรับประชากรในท้องถิ่นซึ่งเข้าใจร่วมกันได้กับภาษาเยอรมันในบางบริบท และรวมถึงคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสมากกว่า 5,000 คำ พลเมืองหรือผู้อยู่อาศัยทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในสามภาษาดังกล่าวในการติดต่อราชการและสถานที่ทั่วๆไป และจะได้รับการบริการเป็นภาษานั้น ๆ ลักเซมเบิร์กยังมีภาษาท้องถิ่นหลายภาษา จากการสำรวจใน ค.ศ. 2009 เปิดเผยว่าภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ประชากรส่วนใหญ่พูด (99%) ตามมาด้วย ลักเซมเบิร์ก (82%) เยอรมัน (81%) และภาษาอังกฤษ (72%) ก็นิยมพูดโดยประชากรส่วนใหญ่เช่นกัน[44]

ภาษาราชการแต่ละภาษาถูกใช้เป็นภาษาหลักในบางบริบทของชีวิตประจำวันโดยไม่เฉพาะเจาะจง ภาษาลักเซมเบิร์กเป็นภาษาประจำชาติของราชรัฐแกรนด์ดัชชีและถือเป็นภาษาแม่หรือ "ภาษาของหลัก" สำหรับประชากรในท้องถิ่น เป็นภาษาที่ชาวลักเซมเบิร์กมักใช้พูดกันทั่วไปในชีวิตประจำวันในครอบครัว และเพื่อนฝูง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผลิตนวนิยายในภาษาลักเซมเบิร์กเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้เป็นภาษาเขียน และแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก (ประมาณ 60% ของประชากร) มักไม่ได้ใช้ภาษาลักเซมเบิร์กแต่จะใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันแทน[45][46]

ในขณะที่เอกสารราชการและการติดต่อระดับพิธีการ มักจะใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก และยังเป็นภาษาที่ใช้พูดกันมากที่สุดในเมืองหลวง และยังปรากฏตามสื่อบันเทิงในชีวิตประจำวันมากมาย นอกจากนี้ ภาษาฝรั่งเศสยังถูกใช้ในบริบทของการเมือง และกฎหมาย อาทิ การอภิปรายในรัฐสภา, การตัดสินคดีความ, การออกเอกสารสำคัญของรัฐบาล เช่น หนังสือเดินทาง และสัญญาการเช่าซื้อ เป็นต้น และภาษาเยอรมันยังถูกใช้ในสื่อมากเช่นเดียวกับภาษาฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ภาษาโปรตุเกสยังมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับในหลายทศวรรษที่ผ่านมา อันเนื่องจากการมีผู้อพยพชาวโปรตุเกสเข้ามาเป็นจำนวนมาก

ศาสนา

แก้
 
โบสถ์นอร์ธเทอดามแห่งลักเซมเบิร์ก

ศาสนาที่มีอิทธิพลได้แก่ คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนายิว กรีกออร์ทอดอกซ์ แองกลิกันนิยม รัสเซียออร์ทอดอกซ์ ลูเธอแรน ลัทธิคาลวิน ลัทธิ Mennonitism และอิสลาม ตั้งแต่ปี 1980 การประเมินโดย CIA Factbook สำหรับปี 2000 ระบุว่า 87% ของชาวลักเซมเบิร์กเป็นชาวคาทอลิกรวมทั้งตระกูลแกรนด์ดยุค ส่วนที่เหลือ 13% ประกอบไปด้วยโปรเตสแตนต์ คริสเตียนออร์โธดอกซ์ ชาวยิว มุสลิม และผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือไม่มีศาสนา จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัย Pew ในปี 2010 พบว่า 70.4% เป็นคริสเตียน มุสลิม 2.3% ไม่นับถือศาสนา 26.8% และศาสนาอื่น 0.5%[47][48]

การศึกษา

แก้
 
มหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์ก

โรงเรียนส่วนใหญ่ดำเนินการโดยรัฐและไม่มีค่าใช้จ่ายการเข้าโรงเรียนต้องมีอายุตั้งแต่ 4 ถึง 16 ปี ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาในลักเซมเบิร์กเป็นแบบหลายภาษาและประกอบด้วยการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับมัธยมศึกษา และการศึกษาระดับอุดมศึกษา ยกเว้นในสถาบันการศึกษาระดับสูงของลักเซมเบิร์กการเรียนการสอนส่วนใหญ่จะเป็นภาษาฝรั่งเศส[49][50]

การศึกษาขั้นพื้นฐาน (enseignement fondamental) ประกอบด้วยโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา จะเรียกว่า Lycées มหาวิทยาลัยลักเซมเบิร์กเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในลักเซมเบิร์ก[51] ใน ค.ศ. 2014 คณะวิชาธุรกิจลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นโรงเรียนธุรกิจระดับบัณฑิตศึกษาได้รับการจัดตั้งขึ้นผ่านความคิดริเริ่มของเอกชน และได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งลักเซมเบิร์กใน ค.ศ. 2017[52]

สุขภาพ

แก้

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก การใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในนามของรัฐบาลลักเซมเบิร์กอยู่ที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินประมาณ 8,182 ดอลลาร์สำหรับพลเมืองแต่ละคน ประเทศลักเซมเบิร์กใช้จ่ายเงินเกือบ 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้านสุขภาพ โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านบริการด้านสุขภาพและโครงการที่เกี่ยวข้องสูงที่สุดใน ค.ศ. 2012 ในบรรดาประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ในยุโรปที่มีรายได้เฉลี่ยสูง

วัฒนธรรม

แก้
 
เอ็ดเวิร์ด สไตเชน ช่างภาพชื่อดังชาวอเมริกัน-ลักเซมเบิร์ก

ลักเซมเบิร์กได้รับวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน แต่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นจำนวนมาก[53] เนื่องจากเป็นประเทศในชนบทที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และศิลปะแห่งชาติ (NMHA) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองลักเซมเบิร์ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ Grand Duke Jean (Mudam) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การทหารแห่งชาติ (MNHM) ใน Diekirch เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเป็นตัวแทนของ Battle of the Bulge เมืองลักเซมเบิร์กเองอยู่ในรายชื่อมรดกโลกขององค์การยูเนสโก[54] เนื่องจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของป้อมปราการ[55]

ประเทศได้ผลิตศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติบางคน รวมทั้งจิตรกรเช่น Théo Kerg, Joseph Kutter และ Michel Majerus และช่างภาพ เอ็ดเวิร์ด สไตเชน (Edward Steichen) ถือเป็นหนึ่งในช่างภาพที่ผลงานโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับระดับโลก ผลงานของเขามักเป็นภาพถ่ายที่ปรากฏบ่อยครั้งในนิตยสาร Camera Work ของ Alfred Stieglitz ในระหว่างการตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1903 ถึง 1917 โดยเขาได้รับการยกย่องว่าเป็น "ช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่ " และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศและพิพิธภัณฑ์การถ่ายภาพนานาชาติ[56][57][58]

ลักเซมเบิร์กเป็นเมืองแรกที่ได้รับการตั้งชื่อว่า European Capital of Culture หรือเป็น เมืองศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมยุโรป ถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือใน ค.ศ. 1995 และกครั้งใน ค.ศ. 2007[59][60]

กีฬา

แก้

กีฬาในลักเซมเบิร์กไม่เหมือนกับประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป โดยไม่มีกีฬาประจำชาติ แต่รวมกีฬาหลายประเภททั้งแบบทีมและส่วนบุคคลในหลากหลายโอกาส แม้จะขาดการพัฒนาด้านกีฬาอย่างต่อเนื่อง แต่ประชากรกว่า 100,000 คนเป็นสมาชิกที่ได้รับใบอนุญาตของสหพันธ์กีฬาแห่งชาติ และประเทศมีสนามกีฬา Stade de Luxembourg ตั้งอยู่ในย่าน Gasperich ทางตอนใต้ของเมืองลักเซมเบิร์ก เป็นสนามกีฬาแห่งชาติและสถานที่เล่นกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยจุได้ 9,386 คนสำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและรักบี้ และ 15,000 สำหรับคอนเสิร์ต สถานที่เล่นกีฬาในร่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคือ d'Coque, Kirchberg ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ซึ่งมีความจุ 8,300 สนามนี้ใช้สำหรับบาสเกตบอล แฮนด์บอล ยิมนาสติก และวอลเลย์บอล รวมถึงรอบชิงชนะเลิศวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์ยุโรป 2007

อาหาร

แก้
 
คอหมูรมควันเสริ์ฟพร้อมถั่ว ทานคู่กับเบียร์

อาหารลักเซมเบิร์กได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอาหารฝรั่งเศสและเยอรมนีที่อยู่ใกล้เคียง และได้รับการเสริมแต่งโดยผู้อพยพชาวอิตาลีและโปรตุเกสจำนวนมาก อาหารพื้นเมืองลักเซมเบิร์กส่วนใหญ่ซึ่งบริโภคเป็นอาหารประจำวันแบบดั้งเดิม มีรากฐานมาจากอาหารพื้นบ้านของประเทศเช่นเดียวกับในประเทศเพื่อนบ้านในเยอรมนี ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชากรโดยเฉลี่ยมากที่สุดต่อคนในยุโรป อย่างไรก็ตาม ปริมาณแอลกอฮอล์โดยส่วนมากบริโภคโดยลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากมีส่วนทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงตามสถิติ ดังนั้น การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้จึงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดปริมาณการบริโภคที่แท้จริงของประชากรลักเซมเบิร์ก

อาหารที่ได้รับความนิยมโดยทั่วไปได้แก่ เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป เช่น เบคอน แฮม รมควัน ทานคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเยอรมนีและฝรั่งเศส[61][62][63]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "Statistiques // Luxembourg". statistiques.public.lu. สืบค้นเมื่อ 19 December 2019.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "World Economic Outlook Database, October 2019". IMF.org. International Monetary Fund. สืบค้นเมื่อ 8 January 2020.
  3. "Gini coefficient of equivalised disposable income - EU-SILC survey". ec.europa.eu. Eurostat. สืบค้นเมื่อ 20 October 2019.
  4. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  5. "Europe :: Luxembourg — The World Factbook - Central Intelligence Agency". www.cia.gov. สืบค้นเมื่อ 12 December 2020.
  6. "Decision of the Representatives of the Governments of the Member States on the location of the seats of the institutions (12 December 1992) - CVCE Website". web.archive.org. 2019-10-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-13. สืบค้นเมื่อ 2022-10-08.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  7. "Luxembourg | national capital, Luxembourg | Britannica". www.britannica.com (ภาษาอังกฤษ).
  8. "TGM - Eurostat". ec.europa.eu.
  9. https://statistiques.public.lu/fr/actualites/population/population/2020/04/20200401/index.html_Language=fra&MainTheme=2&FldrName=1[ลิงก์เสีย]
  10. "The World Factbook". web.archive.org. 2016-05-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  11. Centre, UNESCO World Heritage. "City of Luxembourg: its Old Quarters and Fortifications". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  12. "History of the city of Luxembourg". www.luxembourg-city.com (ภาษาอังกฤษ).
  13. Kreins, Jean-Marie (2010). Histoire du Luxembourg (5 ed.). Paris, France: Presses Universitaires de France.
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-27. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  15. A propos... Histoire du Grand-Duché de Luxembourg. Luxembourg: Service information et presse du gouvernement luxembourgeois, Département édition. 2008. pp. 5–6. ISBN 978-2-87999-093-4.
  16. https://www.usnews.com/news/best-countries/luxembourg
  17. "Luxembourg - Employment, Social Affairs & Inclusion - European Commission". ec.europa.eu.
  18. "Social welfare measures". guichet.public.lu (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-07. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  19. "Luxembourg: Introduction". globaledge.msu.edu (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  20. "GDP growth (annual %) - Luxembourg | Data". data.worldbank.org.
  21. "Luxembourg timeline" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  22. "European Union | Definition, Purpose, History, & Members". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  23. "Luxembourg Passport Dashboard | Passport Index 2021". Passport Index - Global Mobility Intelligence (ภาษาอังกฤษ).
  24. "Passport Index". Henley & Partners (ภาษาอังกฤษ).
  25. Kreins, Jean-Marie (2003). Histoire du Luxembourg (ภาษาฝรั่งเศส) (3rd ed.). Paris: Presses Universitaires de France. pp. 80–81. ISBN 978-2-13-053852-3.
  26. "Luxembourg and NATO". NATO. สืบค้นเมื่อ 18 April 2021.
  27. "Luxembourg - History". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  28. "en". gouvernement.lu (ภาษาอังกฤษ). 2017-06-13.
  29. SA, Interact. "Accueil". www.armee.lu (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  30. "Luxembourg". www.aeroflight.co.uk.
  31. "A400M Future Large Aircraft - FLA". www.globalsecurity.org.
  32. "Luxembourg Army History". web.archive.org. 2010-07-02. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-02. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  33. "Carte des communes – Luxembourg.lu – Cartes du Luxembourg". Luxembourg.public.lu. 21 September 2011. สืบค้นเมื่อ 1 February 2013.
  34. "Commissariats de district: clap de fin". 10 Mar 2014. สืบค้นเมื่อ 23 Apr 2020.
  35. "Fin des commissariats de district". 8 Jul 2015. สืบค้นเมื่อ 12 Feb 2017.
  36. "Mountains in Luxembourg" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 June 2007. สืบค้นเมื่อ 24 February 2010., recueil de statistiques par commune. statistiques.public.lu (2003) p. 20
  37. "The Global Innovation Index 2012" (PDF). INSEAD. สืบค้นเมื่อ 22 July 2012.
  38. "Luxembourg Economy: Population, GDP, Inflation, Business, Trade, FDI, Corruption". www.heritage.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-21. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  39. "Luxembourg Economic Snapshot - OECD". www.oecd.org.
  40. "Luxembourg Presidency - Being a Luxembourger". www.eu2005.lu.
  41. "Affichage de tableau". statistiques.public.lu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-07. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  42. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-09-20. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  43. "The Luxembourgish language: a guide to Luxembourg's native tongue". Expat Guide to Luxembourg | Expatica (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  44. "Parlement européen - Lëtzebuergesch léieren (FR)". www.europarl.europa.eu.
  45. "Luxembourgish language". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  46. "Which languages are used in Luxembourg?". myLIFE (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-11-09.
  47. "Luxembourg, Religion And Social Profile | National Profiles | International Data | TheARDA". www.thearda.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-28. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  48. "Luxembourg Religions - Demographics". www.indexmundi.com (ภาษาอังกฤษ).
  49. INFPC. "The Luxembourg school system - lifelong-learning.lu". www.lifelong-learning.lu (ภาษาอังกฤษ).
  50. Anonymous (2017-10-09). "Luxembourg". Eurydice - European Commission (ภาษาอังกฤษ).
  51. Luxembourg, Université du. "Page d'accueil". Université du Luxembourg.
  52. "University of Luxembourg". Times Higher Education (THE) (ภาษาอังกฤษ). 2021-08-10.
  53. "What to Do in Luxembourg - Visit Luxembourg". www.visitluxembourg.com.
  54. "City of Luxembourg - World Heritage Site - Pictures, Info and Travel Reports". www.worldheritagesite.org.
  55. https://whc.unesco.org/en/list/699/
  56. "Edward Steichen". International Photography Hall of Fame (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-20. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  57. "Edward Steichen Artworks & Famous Photography". The Art Story.
  58. "Visit Missouri | Enjoy The Show". Visit Missouri (ภาษาอังกฤษ).
  59. "European Capitals of Culture | Culture and Creativity". ec.europa.eu (ภาษาอังกฤษ).
  60. "Luxembourg European Capital". www.luxembourg-city.com (ภาษาอังกฤษ).
  61. "Luxembourg cuisine: top traditional dishes to try". You Could Travel (ภาษาอังกฤษ). 2017-08-18.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  62. "Most Popular Luxembourg Food". www.tasteatlas.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-07. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  63. "Luxembourg food and drink guide". World Travel Guide (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
 
Wikinews
วิกิข่าว มีข่าวเกี่ยวกับบทความ:
Category:Luxembourg