สัมประสิทธิ์จีนี
สัมประสิทธิ์จีนี (อังกฤษ: Gini coefficient) เป็นวิธีวัดการกระจายของข้อมูลทางสถิติอย่างหนึ่งที่นิยมใช้เป็นตัวบ่งชี้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้หรือการกระจายความร่ำรวย ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักสถิติชาวอิตาลีชื่อ คอร์ราโด จีนี สัมประสิทธิ์จีนีถูกนิยามให้เป็นอัตราส่วนซึ่งมีค่าระหว่าง 0 และ 1 สัมประสิทธิ์จีนีที่ต่ำจะแสดงถึงความเท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ หากค่านี้สูงขึ้นจะบ่งชี้ถึงการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันมากขึ้น สัมประสิทธิ์จีนีที่เท่ากับ 0 หมายถึงความเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์ (ทุกคนมีรายได้เท่ากัน) และ 1 หมายถึงความเหลื่อมล้ำอย่างสมบูรณ์ (มีคนที่มีรายได้เพียงคนเดียว ส่วนคนที่เหลือไม่มีรายได้เลย) การคำนวณสัมประสิทธิ์จีนีอยู่บนสมมติฐานว่าไม่มีใครมีรายได้ต่ำกว่าศูนย์ สัมประสิทธิ์จีนีของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแตกต่างกันในช่วง 0.247 ในเดนมาร์ก และ 0.743 ในนามิเบีย[1]
ดัชนีจีนี (Gini Index) คือสัมประสิทธิ์จีนีที่แสดงเป็นเปอร์เซนต์ ดังนั้นดัชนีจีนีของเดนมาร์กจะเท่ากับ 24.7
ข้อดีของการใช้สัมประสิทธิ์จีนีเป็นมาตรวัดความไม่เท่าเทียมกัน
แก้- ข้อดีหลักของสัมประสิทธิ์จีนีคือการวัดความไม่เท่าเทียมกันเป็นอัตราส่วน ซึ่งแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าค่าทางสถิติตัวอื่น เช่น จีดีพี
- สามารถใช้เปรียบเทียบการกระจายรายได้ในกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันหรือในระดับประเทศ เช่น การกระจายรายได้ในเขตเมืองมักจะแตกต่างจากเขตชนบทในหลาย ๆ ประเทศ
- สัมประสิทธิ์จีนีไม่ซับซ้อนมาก จึงทำให้นำมาใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศต่าง ๆ และสามารถตีความได้ง่าย สัมประสิทธิ์จีนีแสดงให้เห็นว่ารายได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนรวยและคนจนอย่างไร ต่างจากค่าจีดีพีซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรายได้ของประชากรทั้งหมด การวิเคราะห์รายได้ของประชากรโดยใช้ดัชนีทั้งสองอย่างนี้จึงทำให้เห็นภาพได้ดีขึ้น เช่น หากค่าจีดีพีสูงขึ้น ในขณะที่สัมประสิทธิ์จีนีสูงขึ้นด้วย อาจแสดงให้เห็นว่าปัญหาความยากจนของประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ดีขึ้น
- สัมประสิทธิ์จีนีสามารถแสดงการเปลี่ยนแปลงของการกระจายรายได้ภายในประเทศใดประเทศหนึ่งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน จึงสามารถแสดงให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันในประเทศนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง
อ้างอิง
แก้- ↑ Inequality in income or expenditure Human Development Report 2007/2008, United Nations Development Programme, เรียกข้อมูล 2008-08-04 (อังกฤษ)