ราชาธิปไตย (อังกฤษ: monarchy) เป็นรูปแบบการปกครองที่ตำแหน่งประมุขแห่งรัฐโดยปกติถืออยู่กระทั่งสวรรคตหรือสละราชสมบัติ โดยมากมักได้อำนาจมาโดยการสืบราชสมบัติในราชวงศ์เดียวกัน แต่ก็มีพระมหากษัตริย์ที่มาจากการเลือกตั้งหรือตั้งตนเป็นเจ้าด้วยเช่นกัน ขณะที่ในระบอบสาธารณรัฐ ประมุขของรัฐ (ซึ่งมักเรียกว่าประธานาธิบดี) โดยปกติมาจากการเลือกตั้ง และทำหน้าที่อยู่ในช่วงในเวลาที่แน่นอน เช่น 4 ปี 6 ปี เป็นต้น

ราชาธิปไตยเป็นหนึ่งในระบอบการปกครองที่เก่าแก่ที่สุด อาจถือกำเนิดขึ้นจากระบบการปกครองแบบหัวหน้าเผ่า (tribal kingship) หรือสมณเพศหลวง (royal priesthood) ในอดีต บางประเทศเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงได้เทวสิทธิ์ให้มาปกครองประเทศตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า หรือบางประเทศอาจเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นเทพเจ้ามาจุติหรืออวตาร พระมหากษัตริย์ยังอาจมาจากพฤติการณ์รุนแรงของกลุ่มรุกรานต่อชุมชนท้องถิ่น ซึ่งแย่งชิงสิทธิของชุมชนเหนือประเพณี ผู้นำของกลุ่มที่แย่งชิงสิทธินั้นมักสถาปนาตนเป็นพระมหากษัตริย์ สถานะพระมหากษัตริย์กล่าวกันว่าเป็นผลซึ่งเผยถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากร ชุมชน พระมหากษัตริย์และตำแหน่งของพระองค์

ราชาธิปไตยเคยเป็นระบอบการปกครองที่แพร่หลายที่สุดจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ปัจจุบันมิได้แพร่หลายอีกต่อไป อย่างน้อยก็ในระดับชาติ ประเทศซึ่งยังปกครองแบบราชาธิปไตยอยู่ ปัจจุบันมักพบในรูปของราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์ทรงถือบทบาททางกฎหมายและพิธีกรรมเป็นเอกลักษณ์ แต่ไม่ทรงใช้หรือใช้อำนาจทางการเมืองอย่างจำกัดตามรัฐธรรมนูญหรือประเพณีซึ่งจัดสรรรฝ่ายปกครองที่อื่น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ แต่อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน (ปรมิตตาญาสิทธิราชย์) พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ถูกสถาปนาขึ้นตามจารีตประเพณีหรือตามประมวลกฎหมายเพื่อไม่ให้มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง ส่วนบางประเทศยังใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ถูกจำกัดภายใต้กฎหมาย

ปัจจุบันมี 44 รัฐเอกราชในโลกที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ โดย 16 รัฐเป็นเครือจักรภพแห่งชาติ ซึ่งยอมรับว่าสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุขแห่งรัฐของตน ประเทศราชาธิปไตยทุกประเทศในยุโรปเป็นแบบภายใต้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นนครรัฐวาติกัน

  ราชาธิปไตยกึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ
  ราชาธิปไตยต่ำกว่ารัฐ (ประเพณี)

ประเภทของราชาธิปไตย แก้

ราชาธิปไตย คือ การที่มีประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ แบ่งออกตามขอบเขต พระราชอำนาจเป็น

  1. สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของรัฐและการบริหาร
  2. ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (limited monarchy) กษัตริย์เป็นประมุขที่มีอำนาจจำกัด เช่น ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional monarchy) ซึ่งพระราชอำนาจจะจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

การล่มสลายของราชาธิปไตย แก้

ราชาธิปไตยอาจถึงจุดจบได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น อาจจะมีการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์เกิดขึ้น หรืออย่างในอิตาลีหรือกรีซ ประชาชนลงประชามติตั้งสาธารณรัฐทำให้ราชาธิปไตยถึงจุดสิ้นสุด ในบางกรณี เช่นในอังกฤษและสเปน ราชาธิปไตยถูกโค่นล้มลงหรือได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ในภายหลัง หลังจากที่จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ประกาศสละราชสมบัติ ชาวฝรั่งเศสได้ฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บงขึ้นมาใหม่หลังจากถูกจักรวรรดิของนโปเลียนยกเลิกไป

ดูเพิ่ม แก้