การรวมชาติเยอรมัน
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
การรวมชาติเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsche Einigung) คือการที่รัฐเล็กน้อยต่างๆที่พูดภาษาเยอรมันถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิเยอรมัน การรวมชาติมีขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1871 ในโถงกระจก พระราชวังแวร์ซายในประเทศฝรั่งเศส เจ้ารัฐเยอรมันทรงประชุมกันที่นั้นเพื่อประกาศให้พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย เป็นจักรพรรดิเยอรมัน หลังฝรั่งเศสยอมจำนนในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ที่จริงการเปลี่ยนผ่านโดยพฤตินัยของประชากรที่พูดภาษาเยอรมันเข้าเป็นการจัดระเบียบรัฐแบบสหพันธ์มีการพัฒนาไปบ้างแล้วผ่านพันธมิตรทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างผู้ปกครองที่เป็นเจ้า แต่ก็เป็นแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ เพราะผลประโยชน์ส่วนตนของภาคีขัดขวางกระบวนการเป็นเวลาเกือบศตวรรษเพราะการทดลองอภิชนจากการยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ค.ศ. 1806) และการเจริญของชาตินิยมตลอดสมัยสงครามนโปเลียน
การรวมชาติได้เผยความตึงเครียดเนื่องจากความแตกต่างทางศาสนา ภาษา สังคมและวัฒนธรรมในหมู่ผู้อยู่อาศัยของชาติใหม่ เป็นการแนะนัยว่า ค.ศ. 1871 แสดงชั่วขณะหนึ่งในภาวะต่อเนื่องของกระบวนการการรวมชาติที่ใหญ่กว่าเท่านั้น จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มักทรงได้รับขนานพระนามว่า "จักรพรรดิชาวเยอรมันทั้งปวง" (Emperor of all the Germanies) บันทึกข่าวร่วมสมัยมักเรียก "ชาวเยอรมัน" และในจักรวรรดิ สมาชิกชนชั้นขุนนางชั้นสูงถูกเรียก "เจ้าเยอรมนี" หรือ "เจ้าชาวเยอรมัน" สำหรับดินแดนที่เคยถูกเรียกว่า อาณาจักรแฟรงก์ตะวันออก มีการจัดระเบียบและปกครองเป็นราชอาณาจักรปิด (pocket kingdom) นับแต่สมัยรุ่งเรืองของชาร์เลอมาญ (ค.ศ. 800) เมื่อพิจารณาภูมิประเทศภูเขาซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของดินแดนแถบนั้นแล้ว ชัดเจนว่าประชากรที่แตกออกนั้นจะพัฒนาความแตกต่างทางวัฒนธรรม การศึกษา ภาษาและศาสนาเป็นเวลานานแสนนาน เยอรมนีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการพัฒนาการขนส่งและคมนาคมซึ่งผูกประชากรเข้าเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และเหนียวแน่นกว่า ขณะที่ทำให้โลกทั้งใบอยู่ภายใต้อิทธิพลของโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมและการขนส่งที่ดีกว่า
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชนชาติเยอรมันซึ่งมีรัฐเอกราชกว่า 500 แห่งถูกยุบอย่างชะงัดเมื่อจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 ทรงสละราชสมบัติ (6 สิงหาคม ค.ศ. 1806) ระหว่างสงครามประสานมิตรครั้งที่สาม แม้มีการหยุดชะงักทางกฎหมาย การปกครองและการเมืองซึ่งสัมพันธ์กับการสิ้นสุดของจักรวรรดิ แต่ประชากรพื้นที่ที่พูดภาษาเยอรมันของจักรวรรดิเก่ามีประเพณีภาษา วัฒนธรรมและกฎหมายร่วมกันซึ่งได้รับการเสริมอีกจากประสบการณ์ที่เหมือนกันในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน เสรีนิยมยุโรปให้รากฐานทางปัญญาแก่การรวมชาติโดยการท้าทายแบบจำลองการจัดระเบียบสังคมและการเมืองของราชวงศ์และผู้นิยมสมบูรณาญาสิทธิ์ (absolutist) การแสดงแบบเยอรมันของเสรีนิยมยุโรปเน้นความสำคัญของเอกภาพประเพณี การศึกษาและภาษาของประชากรในภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ ในทางเศรษฐกิจ การสร้างซอลแฟร์แอง (Zollverein) หรือสหภาพศุลกากรของปรัสเซียใน ค.ศ. 1818 และการขยายรวมรัฐอื่นของสมาพันธรัฐเยอรมันในเวลาต่อมา ลดการแข่งขันระหว่างและภายในรัฐต่าง ๆ วิธีการขนส่งที่กำเนิดใหม่อำนวยความสะดวกการเดินทางทางธุรกิจและนันทนาการ นำให้มีการติดต่อและความขัดแย้งบ้างในหมู่ผู้พูดภาษาเยอรมันทั่วยุโรปกลาง
แบบจำลองเขตอิทธิพลทางการทูตในการประชุมใหญ่เวียนนาระหว่างปี 1814–1815 นั้น ได้พยายามตอกย้ำภาวะผู้นำออสเตรียในยุโรปกลาง ทว่า ผู้เจรจาที่กรุงเวียนนามองข้ามความเข้มแข็งของปรัสเซียที่เติบโตขึ้นภายในและระหว่างรัฐเยอรมันและมิได้คาดการณ์ว่าปรัสเซียจะเจริญขึ้นท้าทายภาวะผู้นำของออสเตรีย ทวินิยมเยอรมันได้เสนอสองทางเลือก ได้แก่:
- ไคลน์ดอยท์เชอเลอซุง (Kleindeutsche Lösung): เยอรมนีขนาดเล็กกว่าซึ่งกีดออสเตรียออกไป
- โกรสส์ดอยท์เชอเลอซุง (Großdeutsche Lösung): เยอรมนีขนาดใหญ่กว่าที่มีออสเตรียเป็นผู้นำ
นักประวัติศาสตร์โต้แย้งว่าออทโท ฟอน บิสมาร์ค นายกรัฐมนตรีปรัสเซีย มีแผนการใหญ่ขยายสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ ค.ศ. 1866 ให้รวมรัฐเยอรมันเอกราชที่เหลืออยู่เป็นรัฐเดี่ยวหรือเพียงขยายอำนาจของราชอาณาจักรปรัสเซีย พวกเขาสรุปว่าปัจจัยนอกเหนือจากความเข้มแข็งของเรอัลโพลีทิคของบิสมาร์คนำองค์การทางการเมืองสมัยใหม่ตอนต้นต่าง ๆ ให้จัดระเบียบความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหารและการทูตในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปฏิกิริยาต่อชาตินิยมเดนมาร์กและฝรั่งเศสให้จุดสนใจแก่การแสดงออกซึ่งเอกภาพเยอรมัน ความสำเร็จทางทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งของปรัสเซียในสงครามภูมิภาคสามครั้งทำให้เกิดความกระตือรือร้นและทรนงซึ่งนักการเมืองสามารถตักตวงเพื่อสนับสนุนการรวมชาติได้ ประสบการณ์นี้สะท้อนความทรงจำเกี่ยวกับความสำเร็จร่วมกันในสงครามนโปเลียน โดยเฉพาะยิ่งในสงครามปลดปล่อย ค.ศ. 1813–1814 โดยการสถาปนาเยอรมนีที่ปราศจากออสเตรีย การรวมชาติทางการเมืองและการปกครองใน ค.ศ. 1871 อย่างน้อยแก้ปัญหาทวินิยมได้ครู่หนึ่ง