ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขตอิทธิพล (อังกฤษ: sphere of influence; SOI) หมายถึงพื้นที่หรือภูมิภาคซึ่งมีรัฐหรือองค์กรหนึ่ง ๆ มีอิทธิพลเหนือกว่าในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การทหารหรือการเมือง

ขณะที่อาจมีการจัดตั้งพันธมิตรอย่างเป็นทางการหรือพันธกรณีในรูปสนธิสัญญาอื่น ๆ ระหว่างดินแดนที่แผ่อิทธิพลและดินแดนที่อยู่ภายใต้อิทธิพล การจัดการอย่างเป็นทางการในรูปแบบเขตอิทธิพลนี้ไม่จำเป็น และบ่อยครั้งที่อิทธิพลสามารถเป็นตัวอย่างของอำนาจอย่างอ่อน และเช่นเดียวกัน พันธมิตรอย่างเป็นทางการก็ไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าประเทศหนึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของอีกประเทศหนึ่งด้วย

ในกรณีสุดขั้ว ประเทศที่อยู่ใน "เขตอิทธิพล" ของอีกประเทศหนึ่งนั้นอาจเป็นรองรัฐนั้นและเป็นเสมือนกับรัฐบริวารหรืออาณานิคมในทางพฤตินัย ระบบเขตอิทธิพลซึ่งชาติทรงอำนาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศหนึ่งนั้นยังคงมีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และบ่อยครั้งมักจะถูกวิเคราะห์ในรูปแบบของอภิมหาอำนาจ มหาอำนาจ และ/หรือรัฐระดับกลาง

ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของจักรวรรดิญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง จักรวรดิญี่ปุ่นมีเขตอิทธิพลขนาดใหญ่มาก รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปกครองดินแดนบางส่วนโดยตรงในกรณีของเกาหลี แมนจูเรีย เวียดนาม ไต้หวัน และบางส่วนของจีน ดังนั้น "วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" จึงสามารถถูกวาดอย่างง่าย ๆ บนแผนที่มหาสมุทรแปซิฟิกเป็นวงขนาดใหญ่ล้อมรอบหมู่เกาะญี่ปุ่นและชาติเอเชียและแปซิฟิกที่อยู่ภายใต้การควบคุมนั่นเอง

บางครั้งหลายส่วนของประเทศอาจอยู่ภายใต้เขตอิทธิพลสองเขตที่แตกต่างกัน ในสมัยอาณานิคม อิหร่านและไทยมีสถานะเป็นรัฐกันชนตั้งอยู่ระหว่างจักรวรรดิของอังกฤษกับรัสเซียและอังกฤษกับฝรั่งเศสตามลำดับ ถูกแบ่งแยกระหว่างเขตอิทธิพลของรัฐจักรวรรดิ เช่นเดียวกัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครองสี่ส่วน ซึ่งในภายหลังได้รวมตัวกันเป็นเยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออก อดีตสมาชิกของนาโต และประเทศหลังเป็นสมาชิกของสนธิสัญญาวอร์ซอ