เทนนิส (อังกฤษ: tennis) เป็นกีฬาที่เล่นในร่มหรือกลางแจ้ง แบ่งเป็น 2 ฝ่ายแข่งกัน โดยมีผู้เล่นในประเภทเดี่ยวฝ่ายละ 1 คน และผู้เล่นในประเภทคู่ฝ่ายละ 2 คน ใช้ไม้เทนนิสตีส่งลูกไปมาเหนือตาข่ายภายในเขตที่กำหนด โดยพยายามตีลูกให้ลงในแดนคู่แข่ง จนคู่แข่งไม่สามารถตีลูกกลับมาลงในแดนของเราได้

เทนนิส
สมาพันธ์สูงสุดสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ
เล่นครั้งแรกคริสต์ศตวรรษที่ 19 เบอร์มิงแฮม, อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
ลักษณะเฉพาะ
การปะทะไม่มี
ผู้เล่นในทีมเดี่ยวหรือคู่
แข่งรวมชายหญิงใช่, แยกการแข่งขัน & คู่ผสม
หมวดหมู่ในร่มหรือกลางแจ้ง
อุปกรณ์ลูกเทนนิส, แร็กเก็ต, ตาข่าย
สถานที่สนามเทนนิส
จัดแข่งขัน
ประเทศ ภูมิภาคทั่วโลก
โอลิมปิกส่วนหนึ่งของโอลิมปิกฤดูร้อน 1896 ถึง 1924
กีฬาสาธิตในโอลิมปิกฤดูร้อน 1968 และ 1984
ส่วนหนึ่งของโอลิมปิกฤดูร้อนตั้งแต่ปี 1988
พาราลิมปิกวีลแชร์เทนนิส ตั้งแต่พาราลิมปิกฤดูร้อน 1992
การแข่งขันยูเอสโอเพน

เทนนิสเป็นเกมกีฬาชนิดหนึ่งซึ่งใช้ไม้แร็กเก็ต ถือกำเนิดในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงแรกๆนั้นเทนนิสได้แพร่ขยายไปยังกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูง แท้จริงแล้วเทนนิสเป็นกีฬาสากลและเป็นเกมที่เล่นกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 ซึ่งมีการจัดทัวร์นาเมนต์ครั้งแรก เทนนิสจึงได้กลายเป็นกีฬาอาชีพ เทนนิสได้ถูกบรรจุลงในกีฬาโอลิมปิก ณ โซล ปี ค.ศ.1988

อุปกรณ์การเล่น

แก้
 
ไม้เทนนิสและลูกเทนนิส
  • ไม้เทนนิส หรือ แร็กเก็ต (Racquet) จะมีด้ามจับและมีบริเวณที่ใช้ในการตีลูกบอลซึ่งขึงเอ็นไว้กับมือถือไม้
  • ลูกเทนนิส (บอล) จะต้องมีขนาดและน้ำหนักเป็นไปตามข้อกำหนดในการแข่งขัน ในการแข่งขันแต่ละนัดจะมีการเปลี่ยนบอล เพราะบอลมักจะสูญเสียคุณสมบัติไประหว่างการเล่น จึงมีการกำหนดให้มีการเปลี่ยนบอลตามจำนวนเกมที่เล่นไปแล้ว เช่น อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบอลทุกครั้ง ยกเว้นในเซ็ตแรกอาจเปลี่ยนที่ 7 เกมเนื่องจากบอลถูกใช้ในการอุ่นเครื่องก่อนการเล่นไปบ้างแล้ว เป็นต้น ฝ่ายที่ได้เสิร์ฟในเกมที่เปลี่ยนบอลใหม่ มักจะชูบอลให้ฝ่ายตรงข้ามทราบว่ามีการเปลี่ยนบอลใหม่แล้วก่อนที่จะเริ่มเสิร์ฟไปยังฝ่ายตรงข้าม

สนาม

แก้

สนามเทนนิสจะมีขอบเขตเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และต้องมีพื้นที่รอบๆเพียงพอให้ผู้เล่นสามารถวิ่งไปตีลูกได้ คือทั้งสนามและโดยรอบควรมีพื้นที่กว้างอย่างน้อย 27 ฟุต ยาวอย่างน้อย 78 ฟุต

พื้นสนาม

แก้

ต้องเป็นพื้นผิวเรียบ สนามแต่ละพื้นผิวให้ความเร็วและการกระดอนของบอลที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • พื้นแข็ง (hard court) ทำจากคอนกรีต ราดยาง หรืออะครีลิก พื้นแข็งจะทำให้บอลเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า และกระดอนได้อย่างแท้จริง
  • พื้นดิน (clay court) ปัจจุบันมักไม่ได้ทำมาจากดินจริง แต่จะเป็นอิฐป่นและปูทับด้วยอนุภาคพิเศษที่ไม่ดูดซับน้ำง่าย พื้นดินมักจะทำให้บอลเคลื่อนที่ช้ากว่า และบอลจะติดสปินมากกว่า
  • พื้นหญ้า (grass court) บอลจะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า แต่การกระดอนมักจะไม่แน่ไม่นอน ปัจจุบันมีการใช้หญ้าชนิดใหม่ที่ทำให้บอลกระดอนได้สูงขึ้นและการเคลื่อนที่ของบอลช้าลงกว่าหญ้ารุ่นก่อน
  • พื้นพรม (carpet court) มักใช้เล่นเฉพาะเทนนิสในร่ม และไม่มีการใช้พื้นสนามนี้แล้วสำหรับการแข่งขันของ ATP และ WTA
  • พื้นไม้ (wood court) ทำให้บอลกระดอนต่ำและเคลื่อนที่เร็ว ปัจจุบันไม่มีการใช้พื้นสนามนี้แล้วในการแข่งขันระดับอาชีพ

ขนาดสนาม

แก้
 
แผนผังสนามเทนนิส
  • ยาว 23.77 เมตร (78 ฟุต) กว้าง 8.23 เมตร (27 ฟุต) สำหรับประเภทผู้เล่นเดี่ยว
  • ยาว 23.77 เมตร (78 ฟุต) กว้าง 10.97 เมตร (36 ฟุต) สำหรับประเภทผู้เล่นคู่

เส้นสนาม

แก้
  • เส้นหลัง หรือ เส้นท้ายสนาม (baseline) เป็นเส้นแนวนอน อยู่ด้านหลังสุดของสนามของแต่ละฝ่าย และจะมีขีดกลาง (center mark) อยู่ตรงกึ่งกลางของเส้นหลัง
  • เส้นข้าง (sideline) เป็นเส้นแนวตั้งด้านซ้ายและขวาของขอบสนาม ทอดไปตามความยาวของสนาม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตความกว้างของพื้นที่สนาม ในการเล่นประเภทเดี่ยวจะใช้เส้นข้างด้านใน (single sideline) ส่วนการเล่นประเภทคู่จะใช้เส้นข้างด้านนอก (double sideline)
  • เส้นเสิร์ฟ (service line) เป็นเส้นแนวนอนขีดแบ่งพื้นที่ในสนามของแต่ละฝ่ายออกเป็นด้านหน้าและด้านหลัง เส้นอยู่ห่างจากตาข่าย 6.40 เมตร (21 ฟุต)
  • เส้นเสิร์ฟกลาง (center service line) เป็นเส้นกลางสนามทอดตั้งฉากในแนวตั้งกับเส้นเสิร์ฟ ทำให้เกิดกรอบพื้นที่เสิร์ฟ (service box) ฝ่ายละ 2 ด้าน คือ กรอบด้านซ้ายของแต่ละฝ่ายเรียกว่า Advantage court กับกรอบด้านขวาของแต่ละฝ่ายเรียกว่า Deuce court ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ชิดตาข่าย โดยผู้เล่นที่เสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟลูกให้ลงในกรอบพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องเสิร์ฟลูกให้ลงด้านซ้ายหรือขวาจะขึ้นอยู่กับคะแนนที่เล่นในขณะนั้น
  • เมื่อบอลตกสัมผัสเส้นถือว่าบอลสัมผัสพื้นที่ว่างภายในเส้นนั้น

ตาข่าย (เน็ต)

แก้
  • ขึงไว้กึ่งกลางสนามในแนวขวางตลอดความกว้างของสนาม เพื่อแบ่งสนามออกเป็น 2 ฝั่งเท่ากัน
  • ความสูงของตาข่ายตรงกึ่งกลางสูง 0.914 เมตร (3 ฟุต) ส่วนตาข่ายบริเวณเสาสูง 1.07 เมตร (3.5 ฟุต)
  • เสาตาข่ายเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 15 ซม. (6 นิ้ว) และสูงไม่เกิน 2.5 ซม. (1 นิ้ว) จากด้านบนของตาข่าย เสาอยู่ห่างจากเส้นข้างด้านนอก 0.91 เมตร (3 ฟุต)
  • แถบด้านบนของตาข่ายกว้าง 5-6.35 ซม. (2-2.5 นิ้ว)

วิธีการเล่น

แก้

การเลือกแดน/เลือกเสิร์ฟ

แก้

ผู้ตัดสินจะโยนเหรียญเพื่อตัดสินหาผู้ชนะ ซึ่งจะได้เลือก 1 ใน 3 ตัวเลือกต่อไปนี้

  1. เลือกเสิร์ฟหรือรับเสิร์ฟก่อนในเกมแรก โดยคู่แข่งจะได้เลือกแดนแทน
  2. เลือกแดนในเกมแรก โดยคู่แข่งจะได้เลือกเสิร์ฟหรือรับเสิร์ฟในเกมแรกแทน
  3. เลือกให้คู่แข่งเป็นฝ่ายเลือก 1 ใน 2 ข้อด้านบน

การเสิร์ฟลูกเทนนิส

แก้
  • การเสิร์ฟ (serving) คือ การตีส่งบอลครั้งแรกของคะแนนนั้นๆไปให้คู่แข่ง ประเภทผู้เล่นเดี่ยวจะผลัดกันเสิร์ฟฝ่ายละ 1 เกมไปเรื่อยๆ ส่วนในการเล่นประเภทคู่ ผู้เล่นทั้งสองคนในฝ่ายเดียวกันจะต้องผลัดเสิร์ฟคนละ 1 เกมด้วย (ฝ่ายหนึ่งผลัดเสิร์ฟในเกมคี่ ฝ่ายหนึ่งผลัดเสิร์ฟในเกมคู่)
  • การเสิร์ฟ โยนบอลและตีกลางอากาศ
  • การเสิร์ฟ ห้ามเดิน วิ่ง หรือเคลื่อนที่ไปมาขณะเสิร์ฟ (foot fault) ยกเว้นเท้าเคลื่อนที่เล็กน้อย ส่วนฝ่ายรับจะยืนบริเวณใดก็ได้ในฝ่ายของตน
  • การเสิร์ฟ ยืนหลังเส้นหลังในด้านที่กำหนดไว้สำหรับคะแนนนั้นๆ ห้ามเหยียบเส้นใดๆ รวมทั้งห้ามยืนเลยแนวเส้นข้างและแนวขีดกลางของเส้นหลัง (foot fault)
  • การเสิร์ฟโดยตีไม่โดนบอล จะถือว่าการเสิร์ฟครั้งนั้นเสีย แต่การโยนบอลแล้วปล่อยบอลตกลงพื้นโดยที่ไม่พยายามตีบอลสามารถทำได้และสามารถเริ่มเสิร์ฟใหม่ได้
  • การเสิร์ฟโดยตีบอลแล้วบอลไปโดนหรือสัมผัสวัตถุอื่นก่อนตกลงพื้นสนามถือว่าเสิร์ฟเสีย เช่น โดนเสาตาข่าย โดนผู้เล่นฝ่ายเดียวกับเรา เป็นต้น
  • การเสิร์ฟ จะต้องเสิร์ฟโดยสลับฝั่งขวา/ซ้ายของเส้นเสิร์ฟกลางไปทุกคะแนน กล่าวคือ ในเกมทั่วไปเริ่มเสิร์ฟคะแนนแรกที่ด้านหลังสนามด้านขวาของเส้นเสิร์ฟกลาง(ด้าน Deuce court) และในคะแนนถัดไปต้องสลับไปเสิร์ฟที่หลังสนามด้านซ้ายของเส้นเสิร์ฟกลาง(ด้าน Advantage court)
  • การเสิร์ฟเมื่อเล่นเกมไทเบรก(โปรดดูที่ไทเบรก) ฝ่ายแรกจะเสิร์ฟแค่คะแนนที่ 1 ก่อน จากหลังสนามด้านขวาของเส้นเสิร์ฟกลาง(ด้าน Deuce court) และต่อจากนี้จะผลัดการเสิร์ฟฝ่ายละ 2 คะแนนไปเรื่อยๆสลับกัน โดยตั้งแต่คะแนนที่ 2 จะให้อีกฝ่ายเริ่มเสิร์ฟจากหลังสนามด้านซ้ายของเส้นเสิร์ฟกลาง(ด้าน Advantage court) และต้องสลับด้านเสิร์ฟซ้าย/ขวาไปทุก 1 คะแนนเช่นกัน หากเล่นประเภทคู่ก็ต้องสลับกันเสิร์ฟคนละ 2 คะแนนเช่นกัน
  • การเสิร์ฟจะต้องเสิร์ฟให้บอลลงในกรอบพื้นที่เสิร์ฟ (service box) ของฝ่ายตรงข้ามในแนวทแยง เช่น กรณีเราเสิร์ฟจากด้านซ้าย ลูกเสิร์ฟจะต้องไปตกในกรอบพื้นที่เสิร์ฟด้านซ้ายของฝ่ายตรงข้ามด้วยเช่นกัน(ด้านขวามือเรา) เป็นต้น
  • เสิร์ฟเล็ต (let) จะต้องทำการเสิร์ฟลูกนั้นใหม่ ได้แก่ การเสิร์ฟโดยที่ลูกสัมผัสตาข่ายแล้วตกลงในกรอบพื้นที่เสิร์ฟที่ถูกต้องในแนวทแยง หรือลูกสัมผัสตาข่ายแล้วไปโดนผู้เล่นฝั่งตรงข้ามโดยที่ลูกยังไม่ตกพื้น หรือการเสิร์ฟเมื่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามยังไม่พร้อม ยกเว้นการเสิร์ฟที่ลูกสัมผัสตาข่ายแล้วตกนอกกรอบพื้นที่เสิร์ฟที่ถูกต้องจะถือว่าลูกนั้นเสียทันที (fault)
  • การเสิร์ฟ มีสิทธิ์เสิร์ฟได้คะแนนละ 2 ครั้ง หากเสิร์ฟครั้งแรกเสีย จะต้องเสิร์ฟครั้งที่ 2 และหากเป็นการเสียของลูกเสิร์ฟครั้งที่ 2 ของคะแนนนั้น(double fault) จะต้องเสียคะแนนนั้นให้คู่แข่งด้วย

การตีลูกกลับ

แก้
  • เมื่อลูกข้ามตาข่ายมาแล้ว สามารถตีลูกกลับไปในแดนคู่แข่ง โดยที่ลูกบอลอาจจะยังไม่กระทบพื้นสนามเลยก็ได้ หรือลูกกระทบพื้นสนามฝ่ายของเรามาแล้วไม่เกิน 1 ครั้งก็ได้
  • ต้องตีลูกบอลกลับภายในครั้งเดียว
  • การตีลูกบอลกลับแล้วลูกสัมผัสตาข่ายข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามไม่ถือว่าผิดกติกา
  • ผู้เล่นฝ่ายใดไม่สามารถตีลูกบอลกลับไปยังแดนของฝ่ายตรงข้ามได้โดยถูกกติกา จะต้องเสียคะแนนนั้นให้คู่แข่ง

การสลับแดน

แก้
  • การสลับแดน สลับแดนเมื่อเกมรวมกันเป็นเลขคี่และเมื่อจบเซ็ต แต่หากจบเซ็ตโดยเกมรวมกันเป็นเลขคู่ จะสลับแดนหลังจากจบเกมแรกของเซ็ตถัดไป ส่วนการสลับแดนในการเล่นไทเบรกจะสลับเมื่อคะแนนรวมกันได้ทุก 6 คะแนน

การตัดสินผู้ชนะ

แก้
 
แผนผังการนับคะแนนกีฬาเทนนิส

การตัดสินผู้ชนะของการแข่งขัน(match) ตัดสินจากจำนวนเซ็ต(set) ที่ได้กำหนดไว้ในการแข่งขันนั้น
โดยในแต่ละเซ็ตจะประกอบด้วยหลายๆเกม(game) และในแต่ละเกมจะประกอบไปด้วยการนับคะแนน(point) จากการเล่น ดังนี้

การนับเกมของเซ็ต

แก้
  • ในแต่ละเซ็ต ฝ่ายใดทำได้ 6 เกมก่อนและอีกฝ่ายทำได้ไม่เกิน 4 เกม จะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น เช่น ชนะ 6-4 เกม หรือ 6-3 เกม เป็นต้น
  • กรณีเซ็ตนั้น เสมอกันที่ 5-5 เกม จะต้องเล่นต่อจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำได้ 7 เกมก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะเซ็ตนั้น เช่น ชนะ 7-5 เกม
  • กรณีเซ็ตนั้น เสมอกันที่ 6-6 เกม จะต้องเล่นไทเบรกต่อในเกมที่ 7 เพื่อตัดสินผู้ชนะเซ็ต ซึ่งจะชนะ 7-6 เกม หรือแพ้ 6-7 เกม (ยกเว้นในเซ็ตสุดท้ายของรายการแกรนด์สแลมจะไม่มีการเล่นไทเบรก จะเล่นจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำคู่แข่งได้ 2 เกม)
  • จำนวนเกมในแต่ละเซ็ตอาจแปรเปลี่ยนได้ตามกติกาของบางรายการแข่งขันที่กำหนดขึ้นเฉพาะกิจ

การนับคะแนนของเกม

แก้
  • ในเกมหนึ่งๆ ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามทำคะแนนได้จะนับคะแนนของฝ่ายนั้นเรียงตามลำดับดังนี้ 15, 30, 40, เกม (ซึ่งก็คือคะแนนที่ 1, 2, 3, 4 ที่ทำได้ตามลำดับนั่นเอง) ส่วนคะแนนศูนย์ (0) ภาษาอังกฤษขานว่า เลิฟ (love)
  • ในการขานคะแนน ให้ขานคะแนนของฝ่ายที่เสิร์ฟขึ้นก่อน เช่น 40-30 หมายถึง ฝ่ายเสิร์ฟได้ 40 คะแนน และฝ่ายรับเสิร์ฟได้ 30 คะแนน เป็นต้น
  • หากคะแนนเสมอกันที่ 40-40 จะต้องเล่นต่อไปอีก 2 คะแนน เรียกว่า ดิวซ์ (deuce) และเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนนำ 1 คะแนนได้ก่อน เรียกว่า ได้เปรียบ (Advantage มักใช้อักษรย่อ A หรือ Adv) เช่น 40-A หรือ A-40 และหากฝ่ายนั้นทำได้อีก 1 คะแนน ก็จะชนะในเกมนี้ไป แต่หากทำไม่ได้ก็ถือว่ากลับมาเสมอกันที่ 40-40 อีกครั้ง และก็ต้องเล่นดิวซ์ต่อไป (แต่มีกติกาพิเศษในบางรายการแข่งขันที่กำหนดว่าจะไม่มีการเล่นต่อ 2 คะแนน ฝ่ายไหนได้คะแนนหลังจากคะแนนที่ 40 ก่อนถือว่าชนะเกมนั้น)
  • หากเกมใดที่ฝ่ายเสิร์ฟของเกมนั้นเป็นฝ่ายชนะ จะเรียกว่า รักษาเกมเสิร์ฟได้ แต่หากฝ่ายเสิร์ฟแพ้เกมนั้น จะเรียกว่า ถูกเบรกเกมเสิร์ฟ
  • ไทเบรก (tie break) ใช้เพื่อตัดสินผู้ชนะของเซ็ตนั้นในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเสมอกันที่ 6-6 เกม การเล่นเกมที่ 7 เป็นเกมสุดท้ายของเซ็ต เรียกว่าเล่น ไทเบรก โดยในเกมนี้จะนับคะแนนเป็น 1, 2, 3,... ไปเรื่อยๆ ฝ่ายใดที่ทำได้ 7 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะในเซ็ตนั้น เช่น ชนะ 7-4 คะแนนของเกมที่ 7 ก็จะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น เป็นต้น แต่หากคะแนนของเกมนี้เสมอกันที่ 6-6 คะแนนอีก ผู้เล่นฝ่ายใดก็ตามที่ทำคะแนนนำคู่แข่งได้ 2 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะในเซ็ตนั้น เช่น ชนะ 8-6 คะแนน หรือแพ้ 8-10 คะแนน เป็นต้น เมื่อไทเบรกจบลง ผลจะเป็นชนะ 7-6 เกม หรือแพ้ 6-7 เกมในเซ็ตนั้นๆ (ยกเว้นในเซ็ตสุดท้ายของรายการแกรนด์สแลมจะไม่มีการเล่นไทเบรก)

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้