สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ (อังกฤษ: Romanesque architecture) เป็นคำที่บรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกที่เริ่มราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ไปจนถึงสมัยสถาปัตยกรรมกอธิคระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่อังกฤษจะเรียกกันว่า “สถาปัตยกรรมนอร์มัน

มหาวิหารแซงต์ปิแยร์แห่งอองกูเล็ม ประเทศฝรั่งเศส

ลักษณะเด่น ๆ ของสถาปัตยกรรมยุคนี้คือความเทอะทะ เช่นความหนาของกำแพง ประตูหรือหลังคา/เพดานโค้งประทุน เพดานโค้งประทุนซ้อน การใช้โค้งซุ้มอาร์เคดในระหว่างช่วงเสาหนึ่ง ๆ และในแต่ละชั้นที่ต่างขนาดกัน[1] เสาที่แน่นหนา หอใหญ่หนัก และ การตกแต่งรอบโค้ง (เช่น ซุ้มประตูหรืออาร์เคด (arcade)) ลักษณะตัวอาคารก็จะมีลักษณะเรียบ สมส่วนมองแล้วจะเป็นลักษณะที่ดูขึงขังและง่ายไม่ซับซ้อนเช่นสถาปัตยกรรมกอธิคที่ตามมา สถาปัตยกรรมจะพบทั่วไปในทวีปยุโรปไม่ว่าจะเป็นประเทศใดหรือไม่ว่าจะใช้วัสดุใดในการก่อสร้าง

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์จะพบในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานและมหาวิหารเป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีบ้างที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาทในสมัยนั้น คริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ยังคงมีหลงเหลืออยู่ และบางแห่งก็ยังใช้เป็นสถานที่สักการะตราบจนทุกวันนี้ [2]

ความหมาย

แก้
 
มหาวิหารทริเออร์ทางซ้าย
 
การตกแต่งซุ้มประตูที่มหาวิหารแบมเบิร์ก ที่ประเทศเยอรมนี

คำว่า “โรมาเนสก์” ใช้เป็นครั้งแรกโดยนักโบราณคดีชาร์ลส์-อเล็กซีส-อาเดรียน ดูเอริสซิเยร์ เดอ แชวิลล์เมื่อต้นปีคริสต์วรรษที่ 19 เพื่อบรรยายสถาปัตยกรรมตะวันตก ที่เริ่มตั้งแต่คริสต์วรรษที่ 5 จนถึงคริสต์วรรษที่ 13 ในเวลาที่สิ่งก่อสร้างทั้งหลายยังระบุไม่ได้ว่าสร้างเมื่อไหร่[3] คำนี้ในปัจจุบันจำกัดเวลาแคบลงจากเดิมมาเป็นสถาปัตยกรรมตั้งแต่ปลายคริสต์วรรษที่ 10 จนถึงคริสต์วรรษที่ 12 คำว่า “โรมาเนสก์” บรรยายถึงลักษณะที่เป็นแบบบอกได้แน่นอนว่าเป็นยุคกลางแต่ก่อนสมัยสถาปัตยกรรมกอธิคแต่ก็ยังรักษารูปลักษณ์แบบสิ่งก่อสร้างโรมันเช่นซุ้มโค้งฉะนั้นจึงดูเหมือนว่าเป็นศิลปะที่ต่อเนื่องมาจากโรมันซึ่งเป็นแบบเรียบง่ายแต่วิธีการก่อสร้างไม่ดีเท่าสิ่งก่อสร้างโรมัน

คำว่า “สถาปัตยกรรมก่อนโรมาเนสก์” บางครั้งจะหมายถึงสถาปัตยกรรมในประเทศเยอรมนี สมัยคาโรแล็งเชียงและแบบอ็อตโตเนียน (Ottonian) ขณะที่ “สถาปัตยกรรมก่อนโรมาเนสก์ต้น” กล่าวถึงสิ่งก่อสร้างในประเทศอิตาลี ประเทศสเปน และบางส่วนของ ประเทศฝรั่งเศสที่มีลักษณะโรมาเนสก์แต่ก่อนหน้าอิทธิพลของแอบบีคลูนี

ปัจจัยในการขยายตัวของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

แก้

ที่มา

แก้
 
วัดโรมาเนสก์ซานทคลิเมนต์ที่เมืองทอล (Taüll) ประเทศสเปน

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เผยแพร่ไปทั่วยุโรปในสมัยจักรวรรดิโรมัน ถึงแม้ว่านักประวัติศาสตร์ศิลปะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะกล่าวว่าสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เป็นสถาปัตยกรรมที่ต่อเนื่องมาจากสถาปัตยกรรมโรมัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้นวิธีการสร้างสิ่งก่อสร้างของโรมันสูญหายไปเกือบหมดสิ้นจากทวีปยุโรปแล้วเมื่อมาถึงสมัยโรมาเนสก์ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของยุโรปซึ่งเกือบจะไม่ใช้วิธีก่อสร้างแบบโรมันนอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่ ๆ ยิ่งทางสแกนดิเนเวียวิธีก่อสร้างแบบโรมันมิได้เป็นที่รู้จักเลย

การก่อสร้างลักษณะโรมันกับสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์จึงเกือบจะไม่มีความเกี่ยวพันกันใด ๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีบาซิลิกาใหญ่ ๆ ที่สร้างในสมัยโรมันที่ยังใช้กันอยู่ในสมัยนั้นเป็นหลักฐาน สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของสถาปนิกในยุคกลางมิใช่สิ่งก่อสร้างของโรมันแต่เป็นบาซิลิการูปแปดเหลี่ยมแบบไบแซนไทน์ บาซิลิกาซานวิทาเล ที่เมืองราเวนนา ประเทศอิตาลี ดังเช่น ชาเปลพาเลไทน์ที่มหาวิหารอาเคิน (Palatine Chapel) ที่สร้างโดย จักรพรรดิชาร์เลอมาญ เมื่อปี ค.ศ. 800[4]

ไม่นานหลังจากที่สร้างมหาวิหารอาเคินแล้วก็มีการสร้างแอบบีเซนต์กอลล์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 แผนผังการก่อสร้างของสำนักสงฆ์แห่งนี้ยังอยู่ครบถ้วน ที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในบริเวณสำนักสงฆ์ ตัวตึกที่ใหญ่ที่สุดคือตัววิหารซึ่งเป็นผังแบบเยอรมนี ที่มีมุขทั้งด้านตะวันออกและตะวันตกซึ่งจะไม่มีทำกันในภูมิภาคอื่น อีกลักษณะหนึ่งของตัวสำนักสงฆ์คือมีสัดส่วนที่เรียบ ทรงสี่เหลี่ยมตรงจุดตัดระหว่างทางเดินกลางกับแขนกางเขนเป็นผังที่ใช้เป็นรากฐานในการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นของสำนักสงฆ์ ลักษณะเดียวกันนี้จะพบที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ฮินเดสไฮม์ในเยอรมนี ที่สร้างราวร้อยปีต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1001 ถึงปี ค.ศ. 1030[4]

ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ก็เกิดขึ้นทางด้านเหนือของประเทศอิตาลี บางส่วนของประเทศฝรั่งเศส และ ประเทศสเปน ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสำนักสงฆ์คลูนี สถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์แบบนี้เรียกว่า “โรมาเนสก์ยุคแรก” หรือ “โรมาเนสก์แบบลอมบาร์ด” ซึ่งจะมีลักษณะเด่น เช่น กำแพงหนา ไม่มีรูปปั้น แต่จะมีรายละเอียดตกแต่งสม่ำเสมอรอบโค้งที่เรียก “คาดลอมบาร์ด

การเมือง

แก้
 
วัดเซนต์ลอเรนซ์, แบรดฟอร์ด-ออน-เอวอน ซึ่งเป็นวัดโรมานาสก์แท้ที่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากผังเดิมตั้งแต่สร้างมา

เมื่อวันคริสต์มาส ปี ค.ศ. 800 จักรพรรดิชาร์เลอมาญ ทรงทำพิธีสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน โดยสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ผู้สืบเชื้อสายจากพระเจ้าชาร์เลอมาญก็ยังมีอำนาจปกครองยุโรปต่อมา แต่ต่อมายุโรปก็เริ่มมีการแบ่งแยกเป็นราชอาณาจักร และ แคว้นเล็กแคว้นน้อยมากขึ้นและบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งหรือบางครั้งก็รวมตัวกัน เช่น ราชอาณาจักรเยอรมนีที่กลายมาเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือการรุกรานอังกฤษของดยุคแห่งนอร์ม็องดีผู้ต่อมาได้เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1066 เมื่อยึดครองอังกฤษได้พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ก็ทรงวางรากฐานสร้างความแข็งแกร่งเพื่อปัองกันการรุกรานโดยการสร้างปราสาทและคริสต์ศาสนสถานหรือซ่อมแซมคริสต์ศาสนสถานที่มีอยู่แล้วทั่วเกาะอังกฤษ

ในสมัยนั้นสิ่งก่อสร้างที่สร้างมาตั้งแต่สมัยโรมันในจักรวรรดิโรมันตะวันตกก็เสื่อมโทรมลงไปมาก กรรมวิธีการก่อสร้างก็สูญหายไป แต่การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างแบบโดมและการแกะสลักหินยังคงมีการทำกันอยู่ แต่ลวดลายวิวัฒนาการไปจากแบบโรมันไปเป็นแบบไบแซนไทน์ สถาปัตยกรรมที่มามีอิทธิพลต่อสถาปัตยกรรมยุโรปตะวันตกสมัยนั้นก็คือวัดโดมที่คอนสแตนติโนเปิล ซึ่งมีอิทธิพลต่อสิ่งก่อสร้างในบางเมืองที่มีการติดต่อค้าขายผ่านสงครามครูเสด สิ่งก่อสร้างที่มีอิทธิพลไบแซนไทน์ที่กล่าวนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมหาวิหารซานมาร์โค ที่เวนิส หรือมหาวิหารแซงต์ฟรงต์แห่งเพริกูซ์ในประเทศฝรั่งเศส[5]

ทวีปยุโรปในยุคกลางเป็นการปกครองระบบศักดินา (Feudalism) โดยกสิกรทำมาหากินกับที่ดินที่เป็นของขุนนางและยอมเป็นทหารเมื่อถูกเรียกตัว เป็นการแลกเปลี่ยนกับการได้รับการพิทักษ์ ฉะนั้นถ้าขุนนางจะไปสงครามก็ระดมพลจากผู้ที่ขึ้นอยู่ในการปกครอง การสงครามนี้มิใช่แต่สงครามท้องถิ่น แต่อาจจะเป็นสงครามที่ต้องเดินทางข้ามทวีปยุโรปไปรบยังตะวันออกกลาง เช่น สงครามครูเสด สงครามครูเสดระหว่างปี ค.ศ. 1095 ถึง ปี ค.ศ. 1270 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนไป ๆ มา ๆ ระหว่างยุโรปและตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเคลื่อนย้ายก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือความรู้ทางช่าง โดยเฉพาะการก่อสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกราน และงานโลหะเพื่อทำอาวุธซึ่งแปลงมาเป็นการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมได้ การเคลื่อนไหวของผู้คนที่รวมทั้งชนชั้นปกครอง ขุนนาง บาทหลวง ช่างฝีมือ และเกษตรกร ทำให้การก่อสร้างในยุโรปมีลักษณะใกล้เคียงกันโดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด ที่เรียกกันว่า “แบบโรมาเนสก์”

ศาสนา

แก้
 
แอบบีเซนองค์ในประเทศฝรั่งเศส ล้อมรอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างจากหลายสมัย
 
ผังของแอบบีแซงต์กอลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 12 มีการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานกันขึ้นเป็นอันมาก[6] สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จำนวนมากทั้งเล็กและใหญ่ยังคงตั้งอยู่และยังคงใช้เป็นสถานที่สำหรับการสักการะกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ รวมทั้งคริสต์ศาสนสถานที่เป็นที่รู้จักกันเช่นวัดซานตามาเรียอินคอสเมดิน หรือหอศีลจุ่มซานจิโอวานนิที่ฟลอเร็นซ์ และ บาซิลิกาซานเซโนที่เวโรนาในประเทศอิตาลี

ตัวอย่างของคริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ในประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ แอบบีดามส์ และ แอบบีโอมส์ ที่มีชื่อเสียงที่เมืองค็อง นอกจากสำนักสงฆ์แล้วคริสต์ศาสนสถานประจำหมู่บ้านหรือท้องถิ่นทางเหนือของฝรั่งเศสจำนวนมากมีพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์

ที่ประเทศสเปนจะพบวัดโรมาเนสก์ได้จากสำนักสงฆ์สำหรับนักแสวงบุญที่สร้างตามรายทางไปซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา และตัวมหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาเองก็เป็นแบบโรมาเนสก์

ในอังกฤษมหาวิหาร 27 แห่งยกเว้น มหาวิหารซอลสบรี ซึ่งย้ายไปจากโอลด์เซรัม (Old Sarum) ล้วนแต่มีฐานเป็นแบบโรมาเนสก์ทั้งหมด และอีกหลายแห่งเช่น มหาวิหารแคนเตอร์บรีที่สร้างบนฐานแซ็กซอน[7][8] นอกจากมหาวิหารแล้ววัดประจำหมู่บ้านหรือท้องถิ่นในอังกฤษส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานมาจากสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

ในประเทศเยอรมนียังมีคริสต์ศาสนสถานและสำนักสงฆ์ที่สร้างแบบโรมาเนสก์อยู่บ้างตามลุ่มแม่น้ำไรน์ เช่น ที่ไมนทซ์, เวิมส์, สเปเยอร์ และแบมเบิร์ก โดยเฉพาะที่โคโลญที่ยังมีคริสต์ศาสนสถานแบบโรมาเนสก์ขนาดใหญ่ในเมืองที่ยังเหลืออยู่ โดยที่โครงสร้างยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก

เมื่อมีการเผยแพร่ลัทธิศาสนา เช่น ลัทธิออกัสติเนียน หรือ ลัทธิเบ็นนาดิคตินไปทั่วยุโรปก็มีการสร้างวัดแบบโรมาเนสก์ตามไปเช่นที่ อังกฤษ ประเทศโปแลนด์ ประเทศฮังการี สกอตแลนด์ สแกนดิเนเวีย ประเทศเซอร์เบีย และ ซิซิลี และอีกหลายแห่งที่สร้างในอาณาจักรครูเสด [9][10]

สำนักสงฆ์

แก้

เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 6 นักบุญเบ็นเนดิคก่อตั้งสำนักสงฆ์ลัทธิเบ็นนาดิคตินขึ้น ซึ่งเป็นระบบสำนักสงฆ์ที่นักบวชมาอยู่ด้วยกันอย่างชุมชนอิสระและปฏิบัติตามกฎของนักบุญเบ็นเนดิคที่เขียนไว้ สำนักสงฆ์ของลัทธิเบ็นนาดิคตินเผยแพร่ไปตั้งแต่อิตาลีจนไปทั่วยุโรป และไปนิยมกันมากที่สุดในอังกฤษ จากลัทธิเบ็นนาดิคตินก็ตามด้วยลัทธิคลูนี ลัทธิซิสเตอร์เชียน ลัทธิคาร์ทูเซียน ลัทธิออกัสติเนียน ลัทธิที่เกี่ยวกับสงครามครูเสดเช่น ลัทธิเซนต์จอห์น และลัทธิอัศวินเทมพลาร์

สำนักสงฆ์บางครั้งก็จะเป็นมหาวิหาร หรือมหาวิหารบางมหาวิหารก็จะไม่ขึ้นกับสำนักสงฆ์แต่จะเป็นแบบเซ็คคิวลาร์ ที่ปกครองโดยแคนนอน มหาวิหารสมัยนั้นเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากในยุโรป พระสังฆราชหรือเจ้าอาวาสของสำนักสงฆ์สำคัญ ๆ จะมีความเป็นอยู่อย่างเจ้านาย นอกจากนั้นแล้วสำนักสงฆ์เป็นสถานศึกษาสำคัญหลายสาขาไม่เฉพาะแต่ศาสนา เช่น สำนักสงฆ์ลัทธิเบ็นนาดิคตินอาจจะสอนวิชาศิลปะด้วย นอกจากนั้นยังเป็นที่คัดลอกหนังสือสมัยก่อนที่จะมีโรงพิมพ์ แต่ผู้ที่อยู่ภายนอกสำนักสงฆ์ส่วนใหญ่จะไม่มีการศึกษา[2]

ภูมิภาคเบอร์กันดีในประเทศฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางของสำนักสงฆ์ วัดที่มีอำนาจเช่นแอบบีคลูนีเป็นวัดที่สำคัญในการวางรากฐานของการออกแบบสำนักสงฆ์อื่น ๆ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของคลูนีเอง แต่ตัวสำนักสงฆ์คลูนีในปัจจุบันเกือบจะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดใดเหลืออยู่ “คลูนี 2” ที่สร้างเมื่อ ค.ศ. 963 เป็นต้นมาก็ถูกทำลายไปหมด แต่ “คลูนี 3” ที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1088 ถึงปี ค.ศ. 1130 ยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะการก่อสร้างซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปจนกระทั่งมาถึงสมัยเรอเนซองส์ มหาวิหารที่ยังเป็นรูปทรงโรมาเนสก์เดิมที่เหลืออยู่คือบาซิลิกาแซงต์แซร์แนง, ตูลูสในประเทศฝรั่งเศสที่สร้างระหว่างปี ค.ศ. 1080 ถึงปี ค.ศ. 1120 แสดงให้เห็นลักษณะสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์ที่ดูเทอะทะและใช้โค้งตกแต่งง่าย ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า[4]

การแสวงบุญ และ สงครามครูเสด

แก้
 
แอบบีแซงต์ฟัวที่คองค์ส

สงครามครูเสดเป็นสงครามศาสนาระหว่างผู้นับถือคริสต์ศาสนาจากยุโรป และ ผู้นับถือศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง เนื่องจากผู้นับถือคริสต์ศาสนาต้องการยึดครองกรุงเยรูซาเลมซึ่งถือว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนา สงครามครูเสดทำให้คริสต์ศาสนิกชนเพิ่มความตื่นตัวทางด้านศาสนากันมากขึ้น โดยมีการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เจ้านายจากยุโรปที่กลับมาจากสงครามโดยปลอดภัยก็อาจจะสร้างวัดฉลองหรือขยายวัดเดิม หรือถ้าไม่กลับมาคนที่อยู่ข้างหลังก็อาจจะสร้างวัดให้เป็นอนุสรณ์

ผลพลอยได้จากสงครามครูเสดอีกอย่างหนึ่งมีการนำวัตถุมงคลของนักบุญหรืออัครสาวกกลับมาด้วย หรือวัดหลายวัดเช่นมหาวิหารแซงต์ฟรงต์แห่งเพริกูซ์ มีวัตถุมงคลของวัดเอง ขณะที่มหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลากล่าวว่าเป็นเจ้าของวัตถุมงคลของอัครสาวก ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาจึงกลายมาเป็นจุดหมายของการแสวงบุญที่สำคัญที่สุดในยุโรป นักแสวงบุญที่เดินทางไปแสวงบุญที่ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา บางครั้งก็เดินเท้าเปล่าเพื่อเป็นการแสดงความสำนึกผิด เส้นทางแสวงบุญสายนี้เรียกว่า “เส้นทางเซนต์เจมส์” (Way of Saint James) ซึ่งเริ่มจากหลายประเทศทางตอนเหนือของยุโรปมาจนไปสิ้นสุดลงที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสเปนที่เป็นที่ตั้งของเมืองซานติอาโกเดอคอมโพสเตลา

“ถนนเซ็นต์เจมส์” มีด้วยกันสี่สายที่ผ่านเมืองต่าง ๆ เช่น ชูมิเยร์ (Jumieges), ปารีส, เวเซอเล (Vezelay), คลูนี, อาร์ลส์ (Arles) ในประเทศฝรั่งเศส และ แซงต์กอล (St. Gall) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนมารวมกันที่เป็นสองสายที่เทือกเขาพิเรนีส และในที่สุดก็รวมเป็นสายเดียวเมื่อเข้าสู่ประเทศสเปน สำนักสงฆ์ที่อยู่บน “ถนนเซนต์เจมส์” เช่นมอยซัค (Moissac), ทูลูส, คองค์ส, ลิมอชส์ หรือเบอร์โยส ก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการค้าขายและการบริการนักแสวงบุญ วัดเช่นวัดที่แซงต์เบนัวท์ดูโซลท์ (Saint-Benoît-du-Sault) เป็นตัวอย่างของวัดที่สร้างเพื่อนักแสวงบุญบน“ถนนเซนต์เจมส์”[2][4]

ลักษณะสถาปัตยกรรม

แก้

ลักษณะโดยทั่วไปที่เราเข้าใจกันของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาหรือที่อยู่อาศัยคือจะมีลักษณะแน่นหนาเทอะทะ และแข็งแรง ซึ่งตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมคลาสสิกของกรีกและโรมัน และสถาปัตยกรรมกอธิคที่จะเพรียวกว่าในสมัยต่อมา โครงสร้างที่รับน้ำหนักของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นเสา เสาอิง และซุ้มโค้ง สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์คล้ายกับสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ตรงที่จะใช้กับกำแพง หรือช่วงกำแพงที่เรียกว่าเสาอิง หรือเสาสี่เหลี่ยม (Pier) เป็นสิ่งสำคัญในการรับน้ำหนักสิ่งก่อสร้าง[2]

สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์แบ่งเป็นสองสมัย, “โรมาเนสก์สมัยต้น” และ “โรมาเนสก์สมัยสอง” ความแตกต่างของสองสมัยอยู่ที่ความชำนาญในการก่อสร้าง “โรมาเนสก์สมัยต้น” จะใช้ “กำแพงวัสดุ,” หน้าต่างแคบ, และหลังคาที่ยังไม่โค้ง “โรมาเนสก์สมัยสอง” ต่อมาฝีมือจะดีขี้นและมีใช้เพดานโค้งที่โค้งขึ้นรวมทั้งมีการตกแต่งหน้าหินเพิ่มขึ้น

กำแพง

แก้

กำแพงของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์มักจะหนามากและมีหน้าต่างหรือประตูแคบ ๆ เพียงไม่กี่ช่อง กำแพงจะเป็นสองชั้นภายในจุด้วยขยะสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า “กำแพงวัสดุ”

วัสดุการก่อสร้างจะแตกต่างกันแล้วแต่ละท้องถิ่น ในประเทศอิตาลี โปแลนด์ เยอรมนี และบางส่วนของเนเธอร์แลนด์มักจะสร้างด้วยอิฐ บริเวณอื่น ๆ จะใช้ หินแกรนิต หินปูน หรือ หินเหล็กไฟ[1] หินที่ใช้จะตัดเป็นก้อนไม่เท่ากันเชื่อมต่อกันด้วยปูน การตกแต่งหน้าหินยังไม่ใช่ลักษณะเด่นของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์โดยเฉพาะสมัยโรมาเนสก์ต้น แต่มาปรากฏภายหลังเมื่อมีการใช้หินปูนเป็นสิ่งก่อสร้าง[11]

เสา

แก้
  • เสาสี่เหลี่ยม เสาสี่เหลี่ยม หรือเสาอิง (Pier) ในสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ใช้สำหรับรับซุ้มโค้ง จะทำจากปูนเป็นสี่เหลี่ยมบางส่วนและมีบัวหัวเสาตรงบริเวณที่เริ่มโค้ง บางครั้งเสาก็จะมีเสาแนบ[2] (Shaft) ประกบและมีบัวที่ฐาน แม้ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมแต่บางครั้งจะเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนโดยการใช้ตัวเสาหลักที่กลวงเป็นตัวรับซุ้มโค้ง หรือใช้กลุ่มเสาแนบประกบกันจนไปถึงซุ้มโค้ง บางครั้งเสาอิงก็ใช้สำหรับรับซุ้มโค้งสองซุ้มใหญ่ตัดกันเช่นภายใต้จุดตัดระหว่างทางเดินกลางและแขนกางเขน และมักจะเป็นลักษณะไขว้เป็นฉากต่อกัน [2][4]
  • เสากลม
  • เสาใช้แล้ว ในสมัยนี้ในอิตาลีจะมีการไปนำเอาเสาโรมันโบราณมาใช้ภายในสิ่งก่อสร้างโรมาเนสก์ เสาที่ชนิดที่ทนทานที่สุดก็จะเป็นเสาหินอ่อนเนื้อขนาน แต่ส่วนใหญ่ที่มีจะเป็นเนี้อตั้งและมีหลายสี บางครั้งก็จะนำเอาหัวเสาแบบโรมันของเดิมมาใช้ด้วยโดยเฉพาะหัวเสาแบบโครินเธียน[3] หรือแบบ “โรมันผสม”[9] สิ่งก่อสร้างบางแห่งเช่นเอเทรียมที่บาซิลิกาซานเคลเมนเตที่กรุงโรมจะประกอบด้วยเสาหลายชนิด บนหัวเสาเตี้ยก็ตั้งหัวเสาใหญ่ บนหัวเสาสูงก็ตั้งหัวเสาเล็กลงหน่อยเพื่อปรับระดับให้เท่ากัน[4] ความยืดหยุ่นในการก่อสร้างเช่นนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยสถาปนิกโรมันหรือกอธิค การเอาเสาโรมันมาใช้ในประเทศฝรั่งเศสก็มีบ้างแต่น้อย ส่วนในเยอรมนีและประเทศอื่นๆ การสร้างเสาใหญ่ก็จะตัดจากหินก้อนเดียวทั้งเสา และวางสลับกับเสาอิงใหญ่[9]
  • เสากลอง การใช้เสาในสมัยนี้จะเป็นเสาใหญ่หนักเพราะใช้รับน้ำหนักกำแพงหนาและหลังคาที่หนักในบางครั้ง วิธีก่อสร้างเสาขนาดใหญ่เช่นนี้มักจะตัดหินเป็นแว่นๆที่เรียกว่า “กลอง” แล้ววางซ้อนกัน เช่นเสาในห้องใต้ดินที่มหาวิหารสเปเยอร์ในประเทศเยอรมนี[9] วิธีสร้างเดียวกันนี้ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกเช่นที่ตึกแพนธีอันที่กรุงโรม
  • เสากลวง ถ้าต้องใช้เสาใหญ่มากๆ เช่นที่มหาวิหารเดอแรมที่อังกฤษก็สร้างโดยใช้ปูนก่อกลวงภายในเสาก็อัดด้วยเศษวัสดุก่อสร้าง เสาลักษณะนี้บางทีก็จะมีการตกแต่ง[8]
 
หัวเสารูปอัปลักษณ์ที่อาเมียง
 
หัวเสาโรมาเนสก์
  • หัวเสา การแกะหัวเสาสมัยโรมาเนสก์ได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากการแกะหัวเสาตกแต่งด้วยไบไม้แบบโครินเธียนของโรมัน ฝีมือการแกะก็ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดเท่าใดกับต้นตอเช่นการแกะหัวเสาในอิตาลีที่มหาวิหารปิซาหรือทางใต้ของฝรั่งเศสก็จะคล้ายต้นตำหรับมากกว่างานที่พบในอังกฤษเป็นต้น[9][2]
ตรงฐานของหัวเสาแบบโครินเธียนจะกลมเพราะใช้วางบนเสากลม แต่ตอนบนจะเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อรับผนังหรือซุ้มโค้ง หัวเสาโรมาเนสก์ก็ยังใช้ลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งทำโดยการตัดหินเป็นสี่เหลี่ยมและปาดมุมล่างสึ่มุมออก[5] ฉะนั้นด้านบนจึงยังคงเป็นสี่เหลี่ยมแต่ด้านล่างจะเป็นแปดเหลี่ยมจากการปาดมุมออก เช่นที่พบที่วัดเซนต์ไมเคิลที่ฮิลเดสไฮม์ (St. Michael's Hildesheim)[9]
การตัดเช่นนี้ทำให้ง่ายต่อการแกะตกแต่งผิวหินเช่นใบไม้หรือรูปอื่นๆ ทางตอนเหนือของยุโรปการแกะใบไม้บนหัวเสาจะคล้ายกับที่เห็นในหนังสือวิจิตรมากว่าจะเป็นหัวเสาแบบคลาสสิก การแกะหัวเสาในบางส่วนของฝรั่งเศสและอิตาลีจะไปทางศิลปะไบแซนไทน์ แต่การแกะหัวเสาเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ นอกเหนือไปจากไบไม้เป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ บางหัวเสาก็แกะจากตำนานจากคัมภีร์ไบเบิลหรือแกะเป็นรูปคนหรือสัตว์อัปลักษณ์ หรือจากจินตนาการ หรือแกะเป็นตำนานของนักบุญในท้องถิ่น[5]
บางครั้งหัวเสาทรงสี่เหลี่ยมปาดอย่างที่กล่าวก็จะถูกบีบลงมาเหลือเป็นเพียงแป้นโดยเฉพาะเมื่อใช้กับเสาปูนใหญ่ๆ หรือ เสาใหญ่ที่ใช้สลับกับเสาอิงเช่นที่พบที่มหาวิหารเดอแรม เป็นต้น[6]
  • การใช้เสาในการแบ่งช่องว่างภายในตัวอาคาร
การแบ่งช่องว่างภายในอาคารไม่ว่าจะเป็นวัดหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ โรมาเนสก์จะใช้ซุ้มโค้งสลับกับเสาต่างๆ เป็นเครื่องแบ่ง ลักษณะที่ง่ายที่สุดคือการใช้เสาระหว่างช่วง ที่ชูเมจส์ (Jumieges) ใช้เสากลองสูงระหว่างเสาสี่เหลี่ยม แต่ละเสาสี่เหลี่ยมก็จะรับด้วยเสาที่เตี้ยกว่า หรือที่มหาวิหารเดอแรมที่ใช้บัวและเสาแนบกับเสาสี่เหลี่ยมที่ตกแต่งอย่างสวยงาม และเสาปูนที่ใหญ่โต แต่ละเสาก็ตกแต่งด้วยลวดลายเรขาคณิต[9]
บางครั้งความซับซ้อนของการแบ่งช่องว่างมิได้อยู่ที่การใช้เสาชนิดต่างๆ แต่อยู่ที่ตัวเสาชนิดเดียวกันที่แต่ละอันจะก็แตกต่างจากกันเช่นที่วัดซานอัมโบรจิโอที่มิลานที่ลักษณะเพดานโค้งเป็นตัวกำกับในการบ่งลักษณะของเสาสี่เหลี่ยมสลับที่ต้องรองรับน้ำหนักมากกว่าทำให้เสาสี่เหลี่ยมต้องสร้างให้ใหญ่กว่า[4]

การใช้โค้งหน้าต่างและประตู

แก้
 
เพดานไม้ตกแต่งที่วัดซานมินิอาโต อัล มอนเต ที่ฟลอเรนซ์

โค้งในสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์เป็นครึ่งวงกลมนอกจากบางแห่งที่ยกเว้นเช่นที่มหาวิหารแซงต์ลาซาร์แห่งโอทุงในประเทศฝรั่งเศส และมหาวิหารมอนริอาล ที่ซิซิลี แต่เป็นส่วนน้อย ทั้งสองแห่งใช้โค้งแหลม เชื่อกันว่าการใช้โค้งครึ่งวงกลมมีอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมอิสลาม การวางหน้าต่างจะมีขื่อเหนือหน้าต่าง ถ้าหน้าต่างใหญ่ก็จะเป็นหน้าต่างโค้ง ประตูก็เช่นกันจะเป็นโค้งครึ่งวงกลมด้านบน นอกจากประตูที่มีเสี้ยวครึ่งวงกลม หรือเสี้ยวพระจันทร์ (lunette) ตกแต่งเหนือประตูที่ทำให้ประตูกลายเป็นสี่เหลี่ยม[4]

เพดานและหลังคา

แก้

หลังคาของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ในสมัยโรมาเนสก์จะเป็นไม้ลักษณะที่ใช้โครงรับ สำหรับวัดทางเดินข้างจะเป็นหลังคาโค้งแต่ทางเดินกลางจะเป็นหลังคาไม้เช่นที่มหาวิหารปีเตอร์บะระห์ และมหาวิหารอีลี[8] การใช้หลังคาไม้แบบแสดงโครงนิยมกันในอิตาลี และบางครั้งก็จะตกแต่งขื่อคานอย่างสวยงามเช่นที่บาซิลิกามินิอาโตอัลมอนเตที่ฟลอเรนซ์[2] เพดานที่ทำจากหินหรืออิฐมีด้วยกันหลายแบบและแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตามสมัยจนมาถึงสมัยกอธิค

  • เพดานโค้งประทุน (Barrel vault) เพดานโค้งเป็นลักษณะเพดานที่ง่ายที่สุดโดยใช้โค้งจากเพดานด้านหนึ่งไปสุดอีกด้านหนึ่งเช่นจากด้านตะวันตกของวัดไปยังด้านตะวันออกเหนือทางเดินกลาง ตัวอย่างที่สำคัญที่ยังเหลืออยู่พร้อมด้วยจิตรกรรมฝาผนังคือเพดานที่แอบบีแซงต์-ซาแว็ง-ซูร์-การ์ตองป์[7] ในประเทศฝรั่งเศสทิ่สร้างเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่หลังคาแบบนี้ต้องใช้กำแพงหนาที่มีหน้าต่างแคบ[9]
  • เพดานโค้งประทุนซ้อน เพดานโค้งประทุนซ้อน[8] (Groin vault หรือ double barrel vault หรือ cross vault) เป็นเพดานที่นิยมใช้มากในสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ เหมาะกับเพดานที่ไม่ใหญ่มากในการก่อสร้างสมัยต่อมาโดยเฉพาะการก่อสร้างห้องใต้ดินหรือทางเดินข้าง เพดานโค้งประทุนซ้อนส่วนใหญ่จะเป็นสี่เหลี่ยมและเป็นเพดานโค้งประทุนสองอันตัดฉากกัน เพดานโค้งประทุนซ้อนต่างจากเพดานโค้งสันตรงที่เพดานเองเป็นตัวโครงสร้างทั้งหมด และมักจะแบ่งเป็นส่วนๆ ด้วยโค้งสันต่ำเช่นที่มหาวิหารซานติอาโกเดอคอมโพสเตลลา ที่แอบบีเวเซอเลสันบางสันจะเป็นสี่เหลี่ยมยื่นออกมาและสลับสี[9][12]
  • เพดานโค้งสัน เพดานโค้งสัน[10] (Rib vault) เป็นเพดานที่มีสันแล่นตลอดแนวเพดานตัดกันแต่ละช่วงจะเป็นสันทแยง ในเพดานโค้งสันสันจะเป็นตัวโครงสร้างและช่องว่างระหว่างสันจะสร้างโดยวัสดุที่เบากว่าที่ไม่ต้องใช้เป็นโครงสร้างได้ แต่เพราะเพดานของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์มักจะเป็นแบบครึ่งวงกลม ปัญหาของโครงสร้างและการออกแบบของเพดานโค้งอยู่ที่ส่วนทแยงจะยาวกว่าส่วนขวาง ซึ่งสถาปนิกโรมาเนสแก้ด้วยกันหลายวิธีๆ หนี่งก็คือใช้จุดที่สูงที่สุดเป็นจุดที่สันมาพบกันและช่วงระหว่างสันก็โค้งขึ้นไปหาจุดที่สูงที่สุดเป็นลักษณะคล้ายโดม วิธีแก้นี้ใช้ในอิตาลีที่วัดซานมิเคเล ที่ปาเวีย และซานอัมโบรจิโอที่มิลาน[9] อึกวิธีหนึ่งคือเอียงสันส่วนขวางหรือกดสันทแยงเพื่อให้เส้นกลางขนานแบบเพดานโค้งประทุน วิธีนี้ใช้ที่แอบบีดามส์และแอบบีโอมส์ที่เมืองค็องในประเทศฝรั่งเศส[2]
  • เพดานโค้งแหลม (Pointed arched vault) เมื่อปลายสมัยโรมาเนสก์ก็มีการแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กำหนดความสูงของสันทแยงและสันขวางของสันบนเพดาน โดยการใช้โค้งที่มีรัศมีเท่ากันทั้งทางทแยงและทางขวาง ซึ่งเห็นได้จากเพดานโค้งแหลมที่มหาวิหารเดอแรมในอังกฤษที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1128 มหาวิหารเดอแรมเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สำหรับสิ่งก่อสร้างสมัยโรมาเนสก์แต่กระนั้นสถาปนิกก็ยังทดลองวิธีใหม่ๆ ในการก่อสร้างซึ่งต่อมามามีอิทธิพลต่อวิธีก่อสร้างของสถาปัตยกรรมกอธิคที่ตามมา โครงสร้างอีกอย่างหนี่งที่มหาวิหารเดอแรมริเริ่มใช้คือค้ำยันแบบปีกซึ่งเป็นวิธีก่อสร้างแบบใหม่และมาอิทธพลต่อมาในสมัยกอธิคเช่นกัน แต่ค้ำยันของเดอแรมซ่อนอยู่ใต้ทางเดินข้างและหลังคา เพดานโค้งแหลมแรกที่พบในฝรั่งเศสคือเพดานตรงทางเข้าแอบบีเวซาเลย์ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1130[11]

อ้างอิง

แก้
  1. ศิลป พีระศรี, ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะ, (แปลและเรียบเรียงโดย เขียน ยิ้มศิริ) (กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2512)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 Bannister Fletcher, “History of Architecture on the Comparative Method” (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยการเปรียบเทียบ)
  3. Jean Hubert, Romanesque Art (ศิลปะโรมาเนสก์)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 Helen Gardner, “Art through the Ages’’ (ศิลปะทุกสมัย)
  5. 5.0 5.1 George Holmes, ed. The Oxford History of Medieval Europe (อ็อกฟอร์ดประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง)
  6. “In the years that followed the year 1000, we witnessed the rebuilding of churches all over the universe, but especially in Italy and Gaul.” Chronicle of Raoul Glaber, quoted by Jean Hubert, Romanesque Art (จดหมายเหตุของราอูล กลาเบอร์ อ้างโดย จีน ฮิวเบิร์ต ใน “ศิลปะโรมาเนสก์”)
  7. John Harvey, English Cathedrals (มหาวิหารอังกฤษ)
  8. 8.0 8.1 8.2 Alec Clifton-Taylor, The Cathedrals of England (มหาวิหารของอังกฤษ)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Rolf Toman, Romanesque.
  10. "Architecture". National Tourism Organisation of Serbia. สืบค้นเมื่อ 2007-09-28.
  11. 11.0 11.1 Rene Hyughe, Larousse Encyclopedia of Byzantine and Medieval Art
  12. Nikolaus Pevsner, An Outline of European Architecture (โครงสร้างของสถาปัตยกรรมตะวันตก โดย นิโคลัส เพฟเนอร์)

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

สมุดภาพ

แก้