แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน

แกร์ฮาร์ท โยฮัน โรแบร์ท เฮาพท์มัน (อังกฤษ: Gerhart Johann Robert Hauptmann) เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1862 ณ เมืองโอเบอร์ซัลทซ์บรุน (Obersalzbrunn) ทางตอนใต้ของไซลีเชีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศโปแลนด์) เขาเป็นบุตรคนสุดท้องของเจ้าของโรงแรมที่ทันสมัยชื่อ ซัวร์พร็อยซิชเชินโครเนอ (Zur Preussischen Krone) เขาเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา เขาเป็นเด็กที่ช่างคิดช่างฝัน ไม่ชอบคิดอะไรตามกฎเกณฑ์ และชอบวาดรูป

แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน

วัยศึกษา

แก้

เขาได้เข้าเรียนโรงเรียนประถมในหมู่บ้าน และมีครูพิเศษมาสอนภาษาละตินและไวโอลินที่บ้าน ต่อมาเขาก็เข้าเรียนมัธยมใน ค.ศ. 1874 ในโรงเรียนประจำในเบรสเลา แต่ก็เรียนไม่จบ ต้องลาออกมาก่อนเนื่องจากเรียนอ่อนมาก ใน ค.ศ. 1878 เขาถูกส่งไปเรียนเกษตรกรรมที่ฟาร์มของลุง แต่ก็ต้องกลับมาบ้านเนื่องจากป่วยเป็นโรคปอด ต่อมาเขาก็มีความสนใจทางด้านวัฒนธรรมและอยากเป็นประติมากร จึงไปเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะที่เบร็สเลา และเมื่ออายุ 20 ปี เขาก็ย้ายไปเรียนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยนา ต่อมาใน ค.ศ. 1883–1884 เขาก็ได้ย้ายไปศึกษาศิลปะและเป็นประติมากรในโรม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงกลับมาที่เบอร์ลินและเรียนศิลปะการละครแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก ใน ค.ศ. 1885 เขาแต่งงานกับมารี ทีเนอมัน (Marie Thienemann) และอาศัยอยู่ในเบอร์ลิน จากนั้นเฮาพท์มันได้เปลี่ยนความคิดมาสนใจทางด้านวรรณกรรม

วัยทำงาน

แก้

อันที่จริงเฮาพท์มันได้มีความสนใจงานด้านการเขียนมาตั้งแต่ตอนที่อยู่ที่โรม เขาได้เริ่มเขียนบทกลอนแบบจินตนิยมซึ่งนำมาจากเรื่อง Prometheus แต่เมื่อเขาเริ่มงานเขียนอย่างจริงจังเขาก็ปฏิเสธความคิดแบบเพ้อฝันและหันมาสู่ความเป็นจริง เขาได้รับอิทธิพลจากเฮนริก อิบเซน นักเขียนแนวสัจนิยมชาวนอร์เวย์ ผลงานชิ้นแรก ๆ ของเขาเป็นแนวธรรมชาตินิยม ได้แก่ Bahnwärter Thiel (1888) ซึ่งเป็นเรื่องแนวจิตวิทยา-ธรรมชาตินิยม ส่วนบทละครเรื่องแรกของของเขา คือ Vor Sonnenaufgang (1889) ซึ่งได้เปิดแสดงครั้งแรกที่เบอร์ลิน ได้สร้างความตกตะลึงแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะเขาได้นำภาพความเป็นจริงมาตีแผ่อย่างละเอียด ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในเยอรมนี ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักขึ้นมา ต่อมาเขาก็โด่งดังไปทั่งโลกจากบทละครเรื่อง Die Weber (1892) ซึ่งเป็นเรื่องจริงของคนงานทอผ้าในแคว้นไซลีเชีย บทละครเรื่องนี้เขาได้เขียนสภาพความเป็นจริงของความลำบากของคนงานทอผ้า โดยนำมาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และยังได้ใช้ภาษาท้องถิ่นในงานเขียนชิ้นนี้ด้วย บทละครเรื่องนี้ตอนแรกถูกห้ามแสดงเพราะชนชั้นปกครองเห็นว่าเป็นการปลุกระดม แต่ศาลก็ตัดสินให้แสดงได้ ต่อมาแนวการเขียนของเขาเริ่มมีแนวจินตนิยมสมัยหลัง ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ และคลาสสิกสมัยใหม่เพิ่มเข้ามา เช่น Die versunkene Glocke (1897), Der arme Heinrich (1902) ฯลฯ แต่เขาก็ยังเขียนบทละครแนวธรรมชาตินิยมที่แสดงให้เห็นชีวิตของคนชนชั้นล่างแบบที่เขาถนัด เช่น Fuhrmann Henschell (1899), Rose Bernd (1903) เป็นต้น

ใน ค.ศ. 1904 เขาหย่าขาดจากมารีและแต่งงานใหม่กับแมร์เกอเรเทอ มาร์ชัลค์ (Mergerete Marschalk) เด็กสาวที่เขาหลงรัก เฮาพท์มันได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ ค.ศ. 1912 ในคริสต์ทศวรรษ 1920 เขาก็ได้เปลี่ยนแนวการเขียนของเขามาเป็นประเภทเทพนิยายและเรื่องเล่า เช่น Till Eulenspiegel (1928) นวนิยายเรื่องสุดท้ายของเขาคือ Das Abenteuer meiner Jugend (1937) ซึ่งเขาเขียนขึ้นจากชีวิตของเขาเองในวัยเด็กและวัยรุ่น ในบั้นปลายของชีวิตเขาอาศัยอยู่บนเนินเขาในเมืองอักเนเทินดอร์ฟ (Agnetendorf) ในไซลีเชีย และเสียชีวิตที่นั่นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1946

ผลงาน

แก้
 
แสตมป์แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน
  • 1885 Promethidenlos
  • 1887 Fasching
  • 1888 Bahnwärter Thiel, Das bunte Buch
  • 1889 Vor Sonnenaufgang
  • 1890 Das Friedensfest, Der Apostel
  • 1891 Einsame Menschen
  • 1892 Die Weber, Kollege Crampton
  • 1893 Der Biberpelz
  • 1894 Hanneles Himmelfahrt
  • 1896 Florian Geyer, Elga
  • 1897 Die versunkene Glocke
  • 1899 Fuhrmann Henschel, Schluck und Jau
  • 1900 Michael Krammer
  • 1901 Der rote Hahn
  • 1902 Der arme Heinrich
  • 1903 Rose Bernd
  • 1906 Die Jungfern vom Bischfsberg
  • 1907 Und Pippa tanzt!
  • 1908 Kaiser Karls Geisel, Griechisher Frühling
  • 1909 Griselda
  • 1910 Der Narr in Christo Emanuel Quint
  • 1911 Die Ratten
  • 1912 Atlantis, Gabriel Schillings Flucht, Gral-Phantasien
  • 1913 Festspiel in deutschen Reimen
  • 1914 Der Bogen des Odysseue
  • 1915 Magnus Garbe
  • 1917 Winterballade
  • 1918 Der Ketzer von Soana
  • 1919 Indipohdi
  • 1920 Der weisse Heiland
  • 1921 Phantom, Anna, Peter Brauer
  • 1923 Veland, Die blaue Blume
  • 1924 Die Insel der großen Mutter
  • 1925 Festakus
  • 1926 Dodothea Angermann
  • 1927 Die Hochzeit auf Buchenhorst, Wanda
  • 1928 Till Eulenspiegel, Shakespears Hamlet, Die schwarze Maske
  • 1929 Hexenritt, Buch der Leidenschaft
  • 1930 Die Spitzhacke
  • 1932 Vor Sonnenuntergang
  • 1933 Die goldene Harfe
  • 1934 Das Meerwunder
  • 1935 Hamlet in Wittenberg
  • 1936 Im Wirbel der Berufung, Mary
  • 1937 Das Abenteuer meiner Jugend, Ulrich von Lichtenstein
  • 1938 Die Tochter der Kathedrale
  • 1939 Der Schuß im Park
  • 1941 Iphigenie in Delphi, Das Märchen
  • 1942 Agamemnons Tod, Der große Traum
  • 1943 Iphigenie in Aulis
  • 1944 Elektra, Mignon