อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติ (อังกฤษ: national park) คือ อุทยาน (park) ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสงวนรักษา มักเป็นแหล่งสงวนที่ดินทางธรรมชาติ ที่ดินกึ่งธรรมชาติ หรือที่ดินที่สร้างขึ้น ตามประกาศหรืออยู่ในความครอบครองของรัฐเอกราช แม้ประเทศแต่ละแห่งจะนิยามอุทยานแห่งชาติของตนไว้ต่างกัน แต่มีแนวคิดร่วมกัน คือ การสงวนรักษา "ธรรมชาติแบบป่า" (wild nature) ไว้เพื่อคนรุ่นหลัง และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิของชาติ[1] ส่วนในระดับสากลนั้น องค์การระหว่างประเทศชื่อ "สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ" หรือ "ไอยูซีเอ็น" (International Union for Conservation of Nature: IUCN) และหน่วยงานในสังกัด คือ คณะกรรมการโลกว่าด้วยพื้นที่คุ้มครอง (World Commission on Protected Areas) เป็นผู้นิยามอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่คุ้มครอง ประเภท "หมวด 2" (Category II)
ในสหรัฐ แม้มีการเสนอเกี่ยวกับประเภทของอุทยานแห่งชาติมาก่อนแล้ว แต่มีการจัดตั้ง "อุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่รื่นรมย์เพื่อประโยชน์และความเพลิดเพลินของประชาชน" (public park or pleasuring-ground for the benefit and enjoyment of the people) เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1872 คือ อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน (Yellowstone National Park)[2] เยลโลว์สโตนไม่ได้รับการเรียกขานในกฎหมายว่า เป็นอุทยานแห่งชาติ แต่ในทางปฏิบัติถือกันว่า เป็นอุทยานแห่งชาติ[3] และถือกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นอุทยานแห่งชาติที่แรกในโลก และเป็นอุทยานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ส่วนพื้นที่คุ้มครองที่เก่าแก่ที่สุดนั้น คือ ป่าสงวนโทเบโกเมนริดจ์ (Tobago Main Ridge Forest Reserve) จัดตั้งใน ค.ศ. 1776 กับเขตโดยรอบ คือ ภูเขาบอจด์ข่าน (Bogd Khan Mountain) จัดตั้งใน ค.ศ. 1778 ซึ่งเป็นเวลาเกือบหนึ่งร้อยปีก่อนเยลโลว์สโตน[4][5] สถานที่ที่กฎหมายสหรัฐเรียกอย่างเป็นทางการว่า "อุทยานแห่งชาติ" เป็นที่แรก คือ อุทยานแห่งชาติแมกคะนอว์ (Mackinac National Park) จัดตั้งใน ค.ศ. 1875 ต่อมาใน ค.ศ. 1879 มีการจัดตั้งราชอุทยานแห่งชาติ (Royal National Park) ในออสเตรเลีย จึงถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก[6] อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. 1895 มีการแปรสถานะแมกคะนอว์จาก อุทยานแห่งชาติ เป็น อุทยานแห่งรัฐ (state park) โดยโอนกรรมสิทธิ์จากรัฐบาลระดับชาติไปให้รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐมิชิแกนแทน[7] ดังนั้น จึงมีผู้ถือว่า ราชอุทยานของออสเตรเลียเป็นอุทยานแห่งชาติอันเก่าแก่เป็นอันดับที่สองของโลก[7][8][9] ครั้น ค.ศ. 1911 แคนาดาจัดตั้งหน่วยงานชื่อ "อุทยานแคนาดา" (Parks Canada) ขึ้นดูแลอุทยานแห่งชาติ นับเป็นหน่วยราชการแห่งแรกของโลกที่จัดตั้งขึ้นเพื่องานด้านอุทยานแห่งชาติ[10]
อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตามนิยามของไอยูซีเอ็น คือ อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Greenland National Park) ซึ่งจัดตั้งใน ค.ศ. 1974 และตามข้อมูลของไอยูซีเอ็น ใน ค.ศ. 2006 มีอุทยานแห่งชาติ 6,555 แห่งที่เข้าหลักเกณฑ์ของไอยูซีเอ็น นอกจากนี้ ไอยูซีเอ็นยังพิจารณาปรับเปลี่ยนนิยามอุทยานแห่งชาติอยู่เป็นระยะ[11]
อุทยานแห่งชาติมักเปิดให้เข้าชมได้เสมอ[12] อุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่ยังจัดให้มีนันทนาการกลางแจ้งและแคมปิง รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชนในประเด็นความสำคัญของการรักษาธรรมชาติและความน่าพิศวงของธรรมชาติ
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Europarc Federation (eds.) 2009, Living Parks, 100 Years of National Parks in Europe, Oekom Verlag, München
- ↑ The Act เก็บถาวร 23 มกราคม 2017 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Report of the Superintendent of Yellowstone National Park for the Year 1872 เก็บถาวร 3 เมษายน 2016 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 43rd Congress, 3rd Session, ex. doc. 35, quoting Department of Interior letter of 10 May 1872, "The reservation so set apart is to be known as the "Yellowstone National Park"."
- ↑ Hardy, U. (9 April 2017). "The 10 Oldest National Parks In The World". The CultureTrip. สืบค้นเมื่อ 21 December 2017.
- ↑ Bonnett, A. (2016). The Geography of Nostalgia: Global and Local Perspectives on Modernity and Loss. Routledge. p. 68. ISBN 978-1-315-88297-0.
- ↑ "National parks". Department of Communications, Information Technology and the Arts. Australian Government. 31 July 2007. สืบค้นเมื่อ 2 November 2014.
- ↑ 7.0 7.1 Kim Allen Scott, 2011 "Robertson's Echo The Conservation Ethic in the Establishment of Yellowstone and Royal National Parks" Yellowstone Science 19:3
- ↑ "Audley Bottom". Pinkava.asu.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 November 2014. สืบค้นเมื่อ 3 November 2014.
- ↑ Rodney Harrison, 2012 "Heritage: Critical approaches" Routledge
- ↑ "Archived copy". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2017.
{{cite web}}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์) - ↑ "History of the National Parks". Association of National Park Authorities. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 เมษายน 2013. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012.
- ↑ Gissibl, B., S. Höhler and P. Kupper, 2012, Civilizing Nature, National Parks in Global Historical Perspective, Berghahn, Oxford