อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ

อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ (กรีนแลนด์: Kalaallit Nunaanni nuna eqqissisimatitaq, เดนมาร์ก: Den Nordøstlige Grønlands Nationalpark, อังกฤษ: Northeast Greenland National Park) เป็นอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นพื้นที่คุ้มครองที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 9 ของโลก (พื้นที่คุ้มครองอื่นที่ใหญ่กว่ามักมีพื้นที่ส่วนมากเป็นทะเล)[1] ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1974 และขยายพื้นที่เท่ากับปัจจุบันในปี ค.ศ. 1988 ครอบคลุมพื้นที่บริเวณตอนในและชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ 972,000 ก.ม.2 (375,000 ต.ร.ไมล์)[2] โดยอุทยานแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 29 ของโลกหากเปรียบเทียบพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกับอีก 195 ประเทศ อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศเดนมาร์ก และเป็นอุทยานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวในกรีนแลนด์ นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ยังเป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือที่สุดของโลกและเป็นพื้นที่การปกครองระดับที่ 2 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากภูมิภาค Qikiqtaaluk ในดินแดนนูนาวุต ประเทศแคนาดา

อุทยานแห่งชาติกรีนแลนด์ตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่ตั้ง กรีนแลนด์
 เดนมาร์ก
พิกัด76°N 30°W / 76°N 30°W / 76; -30
พื้นที่972,000 ก.ม.2 (375,000 ต.ร.ไมล์)
จัดตั้ง21 พฤษภาคม ค.ศ. 1974

ภูมิศาสตร์ แก้

อุทยานแห่งนี้มีพื้นที่ติดต่อกับเทศบาล Sermersooq ทางตอนใต้และติดต่อกับเทศบาล Avannaata ทางตะวันตามเส้นเมริเดียนที่ 45° ตะวันตก พื้นที่ตอนในส่วนใหญ่ของอุทยานเป็นส่วนหนึ่งของพืดน้ำแข็งกรีนแลนด์ อย่างไรก็ตามพบพื้นที่ปราศจากน้ำแข็งตามแนวชายฝั่งและบริเวณแพร์รีแลนด์ทางตอนเหนือ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์เฟรเดอริกที่ 8 แลนด์และคริสเตียนที่ 10 แลนด์ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งนี้ อุทยานแห่งนี้เผชิญกับการสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้[3]

ประวัติศาสตร์ แก้

 
ฟยอร์ดไคเซอร์ฟรันทซ์ โยเซ็ฟ

อุทยานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1974 ในบริเวณตอนเหนือของอดีตเทศบาลอิตตอกกอร์ตอมีตในเทศมณฑลตูนู (กรีนแลนด์ตะวันออก) ในปี ค.ศ. 1988 อุทยานได้รับพื้นที่เพิ่มเติมจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเทศมณฑลอาวันนา (กรีนแลนด์เหนือ) อีก 272,000 ก.ม.2 (105,000 ต.ร.ไมล์) ซึ่งมีขนาดพื้นที่เท่ากับในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1977 ได้รับการจัดตั้งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ค่ายวิจัยพืดน้ำแข็งในอดีตอย่าง Eismitte และ North Ice ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ ปัจจุบันแผนกสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของกรีนแลนด์เป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่

ประชากร แก้

 
สถานีซัคเคนเบิร์ก

อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ไม่มีประชากรมนุษย์ที่อาศัยอยู่อย่างถาวร อย่างไรก็ตามมีกว่า 400 จุดที่มีการใช้งานบ้างในฤดูร้อน ในปี ค.ศ. 1986 เคยมีประชากร 40 คน อาศัยอยู่ที่ Mestersvig ประชากรส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดและดำเนินการยุติการสำรวจแหล่งทำเหมือง จากนั้นได้ออกจากพื้นที่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาไม่มีประชากรที่อาศัยอยู่อย่างถาวรอีก เมื่อไม่นานนี้มีประชากรเพียง 31 คนและสุนัขประมาณ 110 ตัวที่อยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ในฤดูหนาว กระจายอยู่ตามสถานีต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่ง (ยกเว้นค่ายซัมมิต):[4][5]

ในช่วงฤดูร้อน จะมีนักวิทยาศาสตร์เข้ามาเพิ่มจำนวนจากจำนวนข้างต้น สถานีวิจัย ZERO (Zackenberg Ecological Research Operations; 74°28′11″N 20°34′15″W / 74.469725°N 20.570847°W / 74.469725; -20.570847) สามารถรองรับนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ได้มากกว่า 20 คน

สัตว์ท้องถิ่น แก้

 
ภูเขาน้ำแข็งในอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งนี้มีวัวมัสค์ประมาณ 5,000–10,000 ตัว รวมถึงหมีขั้วโลกและวอลรัสจำนวนมาก ซึ่งพบได้ในบริเวณชายฝั่งของอุทยาน ในปี ค.ศ. 1993 จำนวนของวัวมัสค์ในอุทยานคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรวัวมัสค์ในโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นที่พบ เช่น สุนัขจิ้งจอกอาร์กติก เออร์มิน หนูเลมมิง กระต่ายป่าอาร์กติก ซึ่งรวมถึงประชากรขนาดเล็กแต่มีความสำคัญอย่าง หมาป่ากรีนแลนด์ นอกจากนี้ยังพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น แมวน้ำวงแหวน แมวน้ำเครา แมวน้ำลายพิณ รวมไปถึงวาฬนาร์วาลและวาฬเบลูกา เป็นต้น[6]

สปีชีส์ของนกที่พบในอุทยานแห่งนี้ เช่น นกน้ำลายดำทั่วไป ห่านเพรียง ห่านเท้าชมพู เป็ดทะเลคอมมอนไอเดอร์ เป็ดทะเลคิงไอเดอร์ เหยี่ยวไจร์ฟัลคอน นกเค้าแมวหิมะ นกซันเดอร์ลิง นก Rock ptarmigan และนกเรเวน เป็นต้น[6]

อ้างอิง แก้

  1. "The National Park". Greenland.com. สืบค้นเมื่อ 2013-06-18.
  2. Statistics Greenland, Greenland in Figures, 2009
  3. Ramskov, Jens. "Climate models underestimate the melting of the ice cap " In English Ingeniøren, 26 December 2014. Accessed: 26 December 2014.
  4. "The Sirius Sledge Patrol". Destination EastGreenland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-21. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.
  5. NOAA Research เก็บถาวร 2008-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. 6.0 6.1 "Kalaallit Nunaat high arctic tundra". Terrestrial Ecoregions. World Wildlife Fund. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้