การยอมจำนนของญี่ปุ่น

การยอมจำนนของจักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 เป็นการปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนหน้านั้น เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1945 กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินปฏิบัติการและการบุกครองญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรใกล้เข้ามา ผู้นำญี่ปุ่น (สภาสั่งการสงครามสูงสุด หรือ "บิ๊กซิกส์", Big Six) แม้จะแถลงต่อสาธารณะแสดงเจตนาว่าจะต่อสู้ต่อไปจนจบ แต่ร้องขออย่างลับ ๆ ให้สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นกลางในขณะนั้น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพบนเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นได้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียตเตรียมโจมตีญี่ปุ่น ตามคำมั่นต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักรที่ให้ไว้ในการประชุมเตหะรานและยอลตา

มาโมรุ ชิเงะมิตสึ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น บนเรือยูเอสเอส มิสซูรี (BB-63) ขณะที่พลเอก ริชาร์ด เค. ซูเธอร์แลนด์ มองจากฝั่งตรงข้าม
Japanese Imperial Seal.svg
รัชสมัยเมจิ รัชสมัยไทโช รัชสมัยโชวะ
ประวัติศาสตร์จักรวรรดิญี่ปุ่น

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูที่นครฮิโรชิมะ เย็นวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น อันเป็นไปตามความตกลงยอลตา แต่ละเมิดสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต–ญี่ปุ่น และไม่นานหลังเที่ยงคืนวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหภาพโซเวียตบุกครองรัฐหุ่นเชิดแมนจูกัวของจักรวรรดิญี่ปุ่น วันเดียวกัน สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่นางาซากิ ความตระหนกจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะทรงเข้าแทรกแซงและบัญชาให้ผู้นำบิ๊กซิกส์ยอมรับเงื่อนไขยุติสงครามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งไว้ในแถลงการณ์พอตสดัม หลังการเจรจาหลังฉากหลายวันและรัฐประหารที่ล้มเหลว สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะจึงพระราชทานพระราชดำรัสทางวิทยุที่บันทึกไว้แพร่สัญญาณทั่วจักรวรรดิเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ในพระราชดำรัสดังกล่าว อันเรียกว่า เกียวกุอง โฮโซ พระองค์ทรงประกาศว่าญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

วันที่ 28 สิงหาคม การยึดครองญี่ปุ่นโดยผู้บัญชาการสูงสุดแทนฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มขึ้น พิธียอมจำนนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน บนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี (BB-63) ของกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งข้าราชการจากรัฐบาลญี่ปุ่นลงนามตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น และยุติความเป็นศัตรูกันในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งพลเรือนและทหารฝ่ายสัมพันธมิตรล้วนเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะเหนือญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ทหารและกำลังพลบางส่วนที่ถูกโดดเดี่ยวของจักรวรรดิญี่ปุ่นทั้งในทวีปเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกปฏิเสธที่จะยอมจำนนเป็นเวลาหลายเดือนและหลายปีหลังจากนั้น บางคนปฏิเสธกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1970 บทบาทของการทิ้งระเบิดปรมาณูในการยอมจำนนของญี่ปุ่น และจริยธรรมของการโจมตีทั้งสองยังเป็นที่ถกเถียง สถานะสงครามระหว่างญี่ปุ่นและฝ่ายสัมพันธมิตรยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1952 และอีกสี่ปีให้หลัง ก่อนที่ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตจะลงนามแถลงการณ์ร่วมโซเวียต–ญี่ปุ่น ค.ศ. 1956 ซึ่งยุติสถานะสงครามระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ

ข้อความแก้ไข

 
ผู้แทนจากจักรวรรดิญี่ปุ่นในพิธียอมจำนน บนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี (BB-63)
 
ต้นฉบับตราสารยอมจำนน
ตราสารยอมจำนน
ฝ่ายเรา โดยบัญชาและในนามของจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น รัฐบาลแห่งญี่ปุ่น และกองบัญชาการใหญ่จักรวรรดิญี่ปุ่น ขอยอมรับบรรดาเงื่อนไขอันปรากฏในปฏิญญาซึ่งกำหนดขึ้นโดยหัวหน้ารัฐบาลแห่งสหรัฐ, จีน และบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1945 ที่เมืองพ็อทซ์ดัม และสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตได้เข้าร่วมภาคีในภายหลัง ประกอบกันเป็น 4 อัครภาคีซึ่งต่อไปนี้จะได้เรียกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร
ฝ่ายเราขอประกาศการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ของกองบัญชาการใหญ่จักรวรรดิญี่ปุ่น และกองทหารญี่ปุ่นทุกเหล่าทัพ ตลอดจนกองกำลังในบังคับของญี่ปุ่นในทุกๆที่
ฝ่ายเราจะได้บัญชากองกำลังญี่ปุ่นและพลเรือนญี่ปุ่นในทุกๆที่ ให้ยุติการประทุษกำลังในทันที เพื่อรักษาและสงวนไว้ซึ่งความเสียหายต่อบรรดาเรือ อากาศยาน ตลอดจนทรัพย์สินทางพลเรือนและทางทหาร รวมทั้งจะเชื่อฟังทำตามข้อปฏิบัติต่างๆซึ่งอาจกำหนดขึ้นโดยผู้บัญชาการสูงสุดแทนฝ่ายสัมพันธมิตร หรือหน่วยงานราชการญี่ปุ่นในกำกับของผบ.สส.นั้น
ฝ่ายเราจะได้บัญชากองบัญชาการใหญ่จักรวรรดิ ให้ออกคำสั่งถึงบรรดาผู้บัญชาการทหารของกองกำลังญี่ปุ่นและกองกำลังในบังคับของญี่ปุ่นทั้งหมดในทุกๆที่ในทันทีให้พวกเขาตลอดจนกำลังในบังคับทำการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ฝ่ายเราจะได้บัญชาบรรดาเจ้าพนักงานพลเรือน ทหาร และทหารเรือ ให้เชื่อฟังและบังคับใช้ซึ่งปฏิญญา คำสั่ง และข้อสั่งการทั้งปวงที่เห็นว่าเป็นของผู้บัญชาการสูงสุดแทนฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่ว่าที่ทำขึ้นโดยตัวผบ.สส.หรือโดยอำนาจของผบ.สส เพื่อที่ว่าสารยอมจำนนนี้จะได้สัมฤทธิ์ผล และเราได้กำชับเจ้าพนักงานทั้งปวงให้อยู่ประจำหน้าที่โดยยังคงปฏิบัติราชการต่อไปที่ไม่ใช่การรบ เว้นแต่จะถูกสั่งเป็นพิเศษให้เลิกปฏิบัติเสียโดยตัวผบ.สส.หรือโดยอำนาจของผบ.สส.
ฝ่ายเราให้การรับรองว่า องค์จักรพรรดิ และรัฐบาลญี่ปุ่นรวมถึงผู้รับช่วงต่อ จะได้ร่วมผลักดันปฏิญญาพ็อทซ์ดัมอย่างเต็มกำลังจนสำเร็จลุล่วง และการออกคำสั่งรวมถึงการดำเนินการใดๆก็ตาม อาจจำเป็นต้องผ่านทางผู้บัญชาการการสูงสุดแทนฝ่ายสัมพันธมิตรหรือผ่านทางผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรที่ได้แต่งตั้งไว้เสียก่อน เพื่อที่ว่าปฏิญญานั้นจะมีผลใช้ได้สืบไป
ฝ่ายเราจะได้บัญชารัฐบาลจักรวรรดิญี่ปุ่นและกองบัญชาการใหญ่จักรวรรดิญี่ปุ่น ให้ทำการปลดปล่อยเชลยสงครามและพลเรือนผู้ต้องขังของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งขณะนี้อยู่ในบังคับของญี่ปุ่น ทั้งหมดในทันที ตลอดจนให้ความคุ้มครอง รักษา เลี้ยงดู และขนส่งอย่างฉับไวไปยังสถานที่ที่กำหนด
อำนาจของจักรพรรดิและรัฐบาลญี่ปุ่นในการปกครองประเทศจะอยู่ในบังคับของผู้บัญชาการสูงสุดแทนฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งจะได้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆดังกล่าวในการที่ว่าเงื่อนไขยอมจำนนเหล่านี้จะได้สัมฤทธิ์ผลสืบไป
ลงนาม ณ อ่าวโตเกียว, ญี่ปุ่น เวลา 09.04 น. เมื่อวันที่สองของเดือนกันยายน ค.ศ. 1945
(ลงชื่อ) มาโมรุ ชิเงะมิตสึ
โดยบัญชาและในนามของจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นและรัฐบาลญี่ปุ่น
(ลงชื่อ) โยชิจิโร อูเมซุ
โดยบัญชาและในนามของกองบัญชาการใหญ่จักรวรรดิ
รับ ณ อ่าวโตเกียว, ญี่ปุ่น เวลา 09.08 น. เมื่อวันที่สองของเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 ไว้สำหรับสหรัฐ สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต และในทางประโยชน์ของภาคีชาติอื่นที่ทำสงครามกับญี่ปุ่น
(ลงชื่อ) Douglas MacArthur
ผู้บัญชาการสูงสุดแทนฝ่ายสัมพันธมิตร
(ลงชื่อ) C.W. Nimitz
ผู้แทนสหรัฐ
(ลงชื่อ) Xu Yongchang
ผู้แทนสาธารณรัฐจีน
(ลงชื่อ) Bruce Fraser
ผู้แทนสหราชอาณาจักร
(ลงชื่อ) Kuzma Derevyanko
ผู้แทนสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
(ลงชื่อ) Thomas Blamley
ผู้แทนเครือรัฐออสเตรเลีย
(ลงชื่อ) L. Moore Cosgrave
ผู้แทนประเทศจักรภพแคนาดา
(ลงชื่อ) Jaques Le Clerc
ผู้แทนรัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
(ลงชื่อ) C.E.L. Helfrich
ผู้แทนราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
(ลงชื่อ) Leonard M. Isitt
ผู้แทนประเทศจักรภพนิวซีแลนด์


แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข