คามิกาเซะ (ญี่ปุ่น: 神風โรมาจิKamikaze) หรือ เรียกอย่างเป็นทางการว่า กองกำลังจู่โจมพิเศษ (特別攻撃隊 โทกุูเบะสึโคเกะกิไต) เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่าลมสวรรค์ หรือลมแห่งเทวะ คามิกาเซะในภาษาญี่ปุ่น ถูกนำมาใช้เรียกลมสลาตัน และนำมาใช้เป็นชื่อฝูงบินและนักบินคามิกาเซะเท่านั้น ต่างไปจากในภาษาอังกฤษที่ชาวตะวันตกนำคำ ๆ นี้มาใช้เรียกการโจมตีแบบพลีชีพ (suicide attacks) คำ ๆ นี้ได้ถูกนำมาใช้เรียกอากาศยานพลีชีพของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งบรรทุกระเบิดและพุ่งเข้าชนเรือ และคำนี้ยังหมายถึงนักบินผู้บังคับอากาศยานประเภทนี้ด้วย

เครื่องบิน 52c Zeroes ถูกส่งจากเกาหลีสู่เกาะคีวชู (ต้นปี พ.ศ. 2488)

ญี่ปุ่นใช้ยุทธวิธีพลีชีพด้วยฝูงบินคามิกาเซะนี้เป็นอย่างมาก ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นบุกฟิลิปปินส์ในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) และเพื่อหยุดยั้งการบุกของกองทัพเรือฝ่ายสัมพันธมิตร และที่เมืองโอกินาวะ

ความหมาย

แก้

คำว่า คามิกาเซะ มาจากคำสองคำต่อกัน คือ kami หมายถึง พระเจ้า (god) และ kaze หมายถึง ลม (wind) รวมกันมีความหมายว่า ลมแห่งสวรรค์ หรือ divine wind ในภาษาอังกฤษ และยังหมายถึง ชื่อพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 1824 พายุลูกนี้ทำให้กองทัพเรือของจีนจำนวน 4,500 ลำ ในสมัยของจักรพรรดิจีน กุบไลข่าน ที่จะเข้าโจมตียึดญี่ปุ่น โดยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ชาวญี่ปุ่นเป็นหนี้บุญคุณพายุไต้ฝุ่นลูกนี้เป็นอย่างมากจึงได้ตั้งชื่อว่า "คามิกาเซะ" แปลว่า "พายุเทพเจ้า" และเป็นที่มาของชื่อกองบิน "คามิกาเซะ" ในกองทัพอากาศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งทื่ 2

ประวัติ

แก้
 
เรือ Intrepid (CV-11) ถูกฝูงบินคามิกาเซะเข้าโจมตีที่จุดสำคัญ (25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487)

นาวาโท อะไซกิ ทาไม อาจารย์สอน การบินทหารเรือ ได้สอบถามนักเรียนการบิน 23 คนในกลุ่มว่ามีใครสนใจจะเข้าร่วม ในกองกำลังโจมตีพิเศษ (Special Attack Force) โดยนักเรียนทั้งหมดตกลงที่จะเข้าร่วมการ ปฏิบัติการครั้งนี้ รวมทั้งต่อมา ยูคิโอะ เซกิ ก็เข้าร่วมเป็นคนที่ 24 หน่วยโจมตีพิเศษคามิกาเซะนี้ มี 4 หน่วยย่อย คือหน่วยชิคิชิมา (Shikishima), หน่วยยามาโตะ (Yamato), หน่วยอาซาฮิ (Asahi) และ หน่วยยามาซาคูรา (Yamazakura)ชื่อของ หน่วยย่อยเหล่านี้ นำมาจากบทกวีเกี่ยวกับความรักชาติ ซึ่งประพันธ์ โดยนักปราชญ์ยุคคลาสสิก ของญี่ปุ่น ชื่อ โมโตริ โนรินากะ

หลักฐานเกี่ยวกับการโจมตีครั้งแรกของคามิกาเซะที่เชื่อถือได้จากรายงานโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเป็นที่ยอมรับของหลาย ๆ ฝ่าย คือ การโจมตีเรือลาดตระเวนหนัก ของออสเตรเลีย ชื่อ HMAS Australia เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ถูกเครื่องบินญี่ปุ่น บรรทุกระเบิดหนัก 200 กิโลกรัม (หรือ 441 ปอนด์) พุ่งเข้าชนกลางทะเล นอกเกาะเลเต (Leyte) เครื่องบินลำนี้ปะทะเข้ากับ ส่วนโครงสร้างเหนือดาดฟ้าใหญ่ของเรือ เหนือสะพานเดินเรือ เกิดการระเบิด น้ำมันลุกไหม้และซากปรักหักพังกระจัดกระจาย เป็นวงกว้าง แต่ระเบิดหนัก 200 กิโลกรัมที่ติดมากับเครื่องบิน ไม่เกิดการระเบิด มีคนเสียชีวิตบนเรืออย่างน้อย 30 นาย แต่การโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มาจากเครื่องบินคามิกาเซะของหน่วยโจมตีพิเศษ (special attack unit) ภายใต้การนำของ นาวาโท ทาไม แต่เป็นการปฏิบัติการของนักบินญี่ปุ่นไม่ทราบนาม

ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2487 ฝูงบินคามิกาเซะ ซึ่งประกอบด้วย เครื่องบินซีโร่ (Zero) จำนวน 5 ลำ นำโดย เรือโท เซกิ ได้เข้าโจมตี เรือบรรทุกเครื่องบินคุ้มกันของสหรัฐ ฯ ชื่อ USS St. Lo แม้ว่าจะมีเครื่องบิน ซีโร่เพียงลำเดียวที่พุ่งเข้าชนเรือ USS St. Lo ได้สำเร็จ แต่ก็ส่งผลเกินคุ้มระเบิดที่ติดมากับเครื่องบินเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ลุกลามต่อไปยังคลังระเบิดของเรือ USS St. Lo เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงจนเรือจม นอกจากนี้เครื่องบินคามิกาเซะลำอื่น ๆ ได้สร้างความเสียหายให้เรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรอีกมากมายนับไม่ถ้วน เนื่องจากเรือรบของสัมพันธมิตรจำนวนมากในยุคนั้น ดาดฟ้าเรือทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของไฟจากระเบิดได้เป็นอย่างดีกล่าวได้ว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน ของสหรัฐฯในช่วงนั้นตกเป็นเป้าการโจมตีของคามิกาเซะได้ง่ายกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษที่มีดาดฟ้าทำด้วยเหล็ก และเข้าประจำการในกองเรือแปซิฟิกของอังกฤษ ในช่วงปี พ.ศ. 2488

เรือ HMAS Australia กลับมาร่วมรบได้อีกครั้งในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2488 ได้ถูกฝูงบินคามิกาเซะโจมตีถึงหกครั้ง มีทหารประจำเรือเสียชีวิตถึง 86 นายแต่เรือก็รอดจากการถูกทำลายมาได้ เรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตร ลำอื่น ๆ ที่รอดจากการระเบิดและจมลงทะเล แม้จะถูกฝูงบินคามิกาเซะโจมตีซ้ำหลายครั้งในช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ชั้น Essex ของสหรัฐ ฯ จำนวน 2 ลำ คือ เรือ USS Intrepid และ USS Franklin

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จากการรายงานของประเทศญี่ปุ่นนักบินทหารเรือ ของราชนาวีญี่ปุ่นสังเวยชีวิตไปในภารกิจพลีชีพนี้ ถึง 2,525 นายและนักบินพลีชีพคามิกาเซะ ในส่วนของกองทัพบกญี่ปุ่นเสียชีวิต 1,387 นาย ตามสถิติที่ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้บันทึกไว้ เหล่านักบินที่ห้าวหาญนี้จมเรือรบของฝ่ายสัมพันธมิตรไป 81 ลำ และทำความเสียหายให้เรือรบอีก 195 ลำ คามิกาเซะได้สร้างความสูญเสียให้แก่กองทัพเรือ สหรัฐ ฯ ในการรบทางทะเลฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุความสูญเสียทั้งหมด

แต่จากข้อมูลของฝ่ายสัมพันธมิตร มีเรือรบฝ่ายสัมพันธมิตรจมลงจากการโจมตีของคามิกาเซะ เพียง 34 ลำ และอีก 288 ลำได้รับความเสียหาย

คามิกาเซะ ในมุมมองของชาวญี่ปุ่นผู้รักชาติ

แก้
 
จากภาพ 26 พฤษภาคม 1945 ยูคิโอะ อาราคิ (อุ้มลูกสุนัข) ถ่ายรูปกับเพื่อนร่วมฝูงบินก่อนภารกิจพลีชีพเรือสัญชาติอเมริกัน เสียชีวิตด้วยวัย 17 ปี

ปฏิบัติการของเหล่านักบินคามิกาเซะ ที่ดูบ้าบิ่นเกินมนุษย์ในสายตาของชาวตะวันตก แต่ชาวญี่ปุ่นกลับมีความคิดและความรู้สึกกับหน่วยโจมตีพิเศษนี้ด้วยความต้องการเสียสละ ไม่เคยขาดแคลนอาสาสมัคร นักบินที่จะมาทำงานให้แก่หน่วยโจมตีพิเศษพลีชีพคามิกาเซะ มีจำนวนคนที่ต้องการจะมาเป็นนักบินพลีชีพ มากกว่าจำนวนเครื่องบินที่มีอยู่ถึงสามเท่า ในการคัดเลือกตัวนักบิน พวกนักบินมากประสบการณ์ต่าง ๆ จะถูกกีดกันออกไป เนื่องจากนักบินเหล่านี้มีคุณค่าในการรบเชิงป้องกัน (defensive) และในการฝึกสอนนักบินรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งทางกองทัพจะต้องอาศัยนักบินมากประสบการณ์เหล่านี้ในระยะยาว

นักบินพลีชีพคามิกาเซะส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วง 20 ปี ส่วนมากเป็นนักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แรงจูงใจที่ทำให้นักศึกษาเหล่านี้เข้าร่วมเป็นนักบินพลีชีพของกองทัพมาจาก ความรักชาติ (patriotism), ความปรารถนาที่จะนำเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูลของตนเอง ด้วยการสละชีพเป็นชาติพลี และเพื่อพิสูจน์คุณค่าของความเป็นลูกผู้ชาย ซึ่งกลายเป็นความนิยมรักชาติของวัยรุ่นญี่ปุ่นในขณะนั้น

ธรรมเนียมปฏิบัติและตำนานเล่าขาน

แก้

ก่อนที่นักบินคามิกาเซะจะออกปฏิบัติการเพียงเล็กน้อย ธรรมเนียมปฏิบัติที่ทางหน่วยจะจัดขึ้นเป็นพิธีพิเศษ (special ceremony) ให้แก่นักบินเหล่านี้ มีการสวดมนต์ให้พรนักบิน และญาติมิตรของนักบินที่มาร่วมในงาน เหล่านักบินจะได้รับเครื่องยศทางทหาร (military decoration) ซึ่งมีผลต่อขวัญและกำลังใจของนักบินที่จะออกไปปฏิบัติการ และทำให้เกิดภาพพจน์และแรงจูงใจที่ดีต่ออาสาสมัครที่ต้องการจะมาเป็นนักบินคามิกาเซะรุ่นต่อ ๆ ไป

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้