การเดินทางของเพร์รี

การเดินทางของเพร์รี (ญี่ปุ่น: 黒船来航โรมาจิkurofune raikō) เป็นการเดินทางทางการทูตและการทหารระหว่างปี ค.ศ. 1853 - 1854 ไปยังรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินทางสองครั้งโดยเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐ มีเป้าหมายในการสำรวจ รวมถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและการเจรจาข้อตกลงทางการค้ากับนานาประเทศในภูมิภาค การเปิดการติดต่อกับรัฐบาลญี่ปุ่นถือเป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ ของการสำรวจนี้ และเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้การสำรวจนี้เกิดขึ้น

ภาพวาดการเดินทางใน ค.ศ. 1854

การเดินทางอยู่ภายใต้การบัญชาการของ พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี ภายใต้คำสั่งจาก ประธานาธิบดี มิลลาร์ด ฟิลล์มอร์ มีเป้าหมายหลักคือการบังคับให้ยุตินโยบายการปิดประเทศของญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 220 ปี และเปิดท่าเรือของญี่ปุ่นเพื่อการค้ากับอเมริกาผ่านการเจรจาต่อรองด้วยเรือปืนหากจำเป็น การเดินทางของเพร์รีนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นกับมหาอำนาจตะวันตกโดยตรง และในที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายในการปกครองโดยรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ และเกิดการการฟื้นฟูพระราชอำนาจของจักรพรรดิหลังจากนั้น เส้นทางการค้าของญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้นำคตินิยมศิลปะญี่ปุ่นไปสู่สังคมโลกซึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นในแง่มุมต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อศิลปะในยุโรปและอเมริกา

ปูมหลัง แก้

การค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างอเมริกาและจีน และการมีอยู่ของนักล่าวาฬ ชาวอเมริกันนอกชายฝั่งของญี่ปุ่น และการรวมกลุ่มของมหาอำนาจยุโรปในเอเชีย ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนในการตัดสินใจของประธานาธิบดีฟิลมอร์ให้ส่งคณะเดินทางไปยังญี่ปุ่น[1] ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นโยบายปิดประเทศของญี่ปุ่นกำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1844 พระเจ้าวิลเลิมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้ส่งพระราชหัตถเลขาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยุตินโยบายปิดประเทศด้วยพระองค์เอง ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงจะถูกบังคับจากโลกภายนอก[2] ระหว่างปี ค.ศ. 1790 ถึง ค.ศ. 1853 เรือสหรัฐอย่างน้อยยี่สิบเจ็ดลำ (รวมถึงเรือรบสามลำ) ได้ไปเยือนญี่ปุ่น

มีการพบเห็นการบุกรุกน่านน้ำญี่ปุ่นโดยเรือต่างประเทศเพิ่มขึ้น และสิ่งนี้นำไปสู่การอภิปรายภายในอย่างมากในญี่ปุ่นเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1851 ดาเนียล เว็บสเตอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้อนุญาตให้ พลเรือจัตวา จอห์น เอช. ออลิค ผู้บัญชาการกองเรืออินเดียตะวันออกของอเมริกา ส่งลูกเรือชาวญี่ปุ่นที่เรืออับปางจำนวน 17 คน ซึ่งพำนักอยู่ในซานฟรานซิสโกกลับญี่ปุ่น ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่น

อ้างอิง แก้

  1. W. G. Beasley, The Meiji Restoration, p.88.
  2. W. G. Beasley, The Meiji Restoration, p.78