ลิตเติลบอย (อังกฤษ: Little Boy) เป็นชื่อรหัสของระเบิดปรมาณู ที่ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองฮิโรชิมะ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 โดยเครื่องบิน B-29 Superfortress (เครื่องบินลำนี้มีชื่อ Enola Gay) ผู้ทำหน้าที่นักบินคือ พันโทพอล ทิบเบตส์ (Lt.Col.Paul Tibbets) แห่งกองกำลังอากาศในกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (ภายหลังได้ยกฐานะขึ้นเป็นกองทัพอากาศ) นับเป็นระเบิดปรมาณูลูกแรก ที่ใช้ในการสงคราม ส่วนระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ซึ่งมีชื่อว่า แฟตแมน นั้น ถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองนางาซากิของญี่ปุ่นในอีก 3 วันต่อมา

แบบจำลองระเบิดลิตเติลบอยหลังจากระเบิดจริงถูกนำไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมะ

อาวุธนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นในระหว่างจัดตั้งโครงการแมนฮัตตัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้กำลังระเบิดมาจากธาตุยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการแยกไอโซโทปแล้ว (enriched uranium) การทิ้งระเบิดปรมาณูเหนือเมืองฮิโรชิมะ และนางาซากิของญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นการระเบิดปรมาณูครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ (ครั้งแรก เป็นการทดลองเรียกว่า ทดลองทรีนิตี้ (Trinity test) ระเบิดลิตเติลบอย มีความยาว 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 71 เซนติเมตร และน้ำหนัก 4,000 กิโลกรัม บรรจุธาตุยูเรเนียมประมาณ 64 กิโลกรัม แต่ส่วนที่จะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิซชันมีน้ำหนักเพียง 700 กรัมเท่านั้น

การทิ้งระเบิดถล่มเมืองฮิโรชิม่า

แก้
 
เมฆรูปดอกเห็ดเหนือเมืองฮิโรชิมะหลังการทิ้งระเบิด "ลิตเติลบอย"

ระเบิดลิตเติลบอยนั้นถูกลำเลียงขึ้นเครื่องบิน B29 และบินขึ้นไปยังระดับความสูง 9,600 เมตร เหนือเมืองฮิโรชิมะ จากนั้นจึงปล่อยลงมา เมื่อเวลาประมาณ 8.15 น. (JST) การจุดชนวนระเบิดเกิดขึ้นที่ระดับความสูง 580 เมตร และด้วยแรงระเบิด 13 - 16 กิโลตัน ทำให้ระเบิดลูกนี้มีอานุภาพต่ำกว่า "แฟตแมน" ซึ่งถูกนำไปทิ้งเหนือเมืองนางาซากิ (21 - 23 กิโลตัน) เอกสารของทางการระบุว่าอานุภาพของระเบิดปรมาณูลูกนี้เทียบเท่ากับการระเบิดของระเบิดทีเอ็นที (TNT) ปริมาณราว 15 กิโลตัน นั่นคือ 6.3 × 1013 จูล = 63 TJ (เทอราจูล) [1]

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายและจำนวนของเหยื่อระเบิดลูกนี้มีสูงกว่ามาก เพราะเมืองฮิโรชิมะนั้นอยู่บนที่ราบ ขณะที่จุดศูนย์กลางของเมืองนางาซากิอยู่ในหุบเขาขนาดเล็ก

มีผู้คนประมาณ 70,000 คน เสียชีวิตอันเป็นผลจากการระเบิดโดยตรง และที่ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนใกล้เคียงกัน ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนมากต้องเสียชีวิตในภายหลังจากการะเบิด อันเนื่องมาจากกัมมันตรังสี และมะเร็ง[2]

สำหรับมารดาที่กำลังตั้งครรภ์นั้นก็ต้องสูญเสียทารกในครรภ์ไป หรือมิฉะนั้นก็ให้กำเนิดทารกที่พิการ เสื้อผ้าไหม้หมดจนเหลือแต่เนื้อตัวเปล่าเปลือย

ความสำเร็จของการทิ้งระเบิดครั้งนี้ได้ถูกรายงานข่าวกระจายออกไปอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาท่ามกลางความอยากรู้ นักวิจารณ์จำนวนมากคาดว่าน่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามก่อนที่มันจะยืดเยื้อและมีการบุกเกาะญี่ปุ่นอย่างนองเลือด

อ้างอิง

แก้
  1. http://www.warbirdforum.com/hiroshim.htm
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-25. สืบค้นเมื่อ 2006-02-07.