จักรพรรดิเมจิ
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือพระนามหลังสวรรคตคือ จักรพรรดิเมจิ (ญี่ปุ่น: 明治天皇; โรมาจิ: Meiji-tennō) เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ที่ 122 ตามธรรมเนียมการสืบราชสันตติวงศ์ตามประเพณี ครองราชสมบัติตั้งแต่ปี 1867 จวบจนสวรรคตในปี 1912 ทรงเป็นประมุของค์แรกของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งเกิดการฟื้นฟูเมจิ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายต่อหลายครั้งของญี่ปุ่นได้เปลี่ยนญี่ปุ่นจาก รัฐศักดินา ที่โดดเดี่ยวไปสู่มหาอำนาจทางอุตสาหกรรม
จักรพรรดิเมจิ | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พระบรมฉายาลักษณ์ของ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ในปี เมจิที่ 6 (ค.ศ. 1873) | |||||||||
จักรพรรดิญี่ปุ่น | |||||||||
ครองราชย์ | 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867 - 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 (43 ปี 292 วัน) | ||||||||
พิธีขึ้น | 12 ตุลาคม ค.ศ. 1868 พระราชวังหลวงเกียวโต | ||||||||
ก่อนหน้า | จักรพรรดิโคเม | ||||||||
ถัดไป | จักรพรรดิไทโช | ||||||||
พระราชสมภพ | 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852 เกียวโต, ญี่ปุ่น มุตสึฮิโตะ (睦仁) พระราชทานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852 | ||||||||
สวรรคต | 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 (59 พรรษา) โตเกียว, จักรวรรดิญี่ปุ่น | ||||||||
ฝังพระศพ | 13 กันยายน ค.ศ. 1912 สุสานหลวงฟุชิมิโมะโมะยะมะ | ||||||||
จักรพรรดินี | ฮารูโกะ อิชิโจ อภิเษกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 1869 | ||||||||
พระราชบุตร | สมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ เจ้าหญิงมาซาโกะ ทาเคดะ เจ้าหญิงฟูซาโกะ คิตาชิรากาวะ เจ้าหญิงโนบูโกะ อาซากะ เจ้าหญิงโทชิโกะ ฮิงาชิกูนิ | ||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ญี่ปุ่น | ||||||||
พระราชบิดา | จักรพรรดิโคเม | ||||||||
พระราชมารดา | พระสนมโยชิโกะ | ||||||||
ลายพระอภิไธย | |||||||||
ช่วงเวลา | |||||||||
เหตุการณ์สำคัญ |
|
ในช่วงที่จักรพรรดิเมจิประสูติในปี 1852 ญี่ปุ่นเป็นประเทศศักดินาก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ปกครองโดยโชกุนและไดเมียวที่ปกครองเหนือแคว้นศักดินา 270 แห่งทั่วประเทศ[1] ในช่วงที่จักรพรรดิเมจิสวรรคตในปี 1912 ญี่ปุ่นได้ผ่านการปฏิวัติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่บนเวทีโลก
พระราชประวัติ
แก้วัยพระเยาว์
แก้จักรพรรดิเมจิเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852 ในตำหนักเล็ก ๆ นอกพระราชวังหลวงเกียวโต มีพระนามว่า เจ้าชายมุตสึฮิโตะ และเมื่อแรกประสูติทรงราชทินนามเป็น เจ้าซาชิ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ในจักรพรรดิโคเม (องค์แรกสิ้นพระชนม์ไปก่อน) ส่วนมารดาของพระองค์คือ โยชิโกะ จากตระกูลนากายามะ ตระกูลข้าราชบริพารในวังหลวงตระกูลหนึ่ง โยชิโกะเป็นนางสนมนางหนึ่งในบรรดานางสนมหลายสิบคนของจักรพรรดิโคเม
สี่เดือนหลังประสูติ ญี่ปุ่นได้เผชิญหน้ากับการมาถึงของ "กองเรือดำ" ในบัญชาของพลเรือจัตวาแมทธิว ซี. เพร์รี จากสหรัฐอเมริกา เข้ามายังอ่าวเอโดะและบังคับให้รัฐบาลโชกุนเปิดประเทศ การเปิดประเทศนี่เองทำให้รัฐบาลโชกุนเผชิญหน้ากับฝ่ายกบฎ (ฝ่ายหัวสมัยใหม่) ทั้งสองฝ่ายต่างก็อยากได้จักรพรรดิมาเป็นพวก แต่พระราชบิดาของพระองค์เลือกที่จะวางตัวเป็นกลางขอแค่ให้พระราชวงศ์ได้อยู่รอดปลอดภัย ชีวิตที่ลำบากยากแค้นในวัยเด็กทำให้เจ้าชายมุตสึฮิโตะเป็นเด็กขี้ขลาด ในปี 1864 ฝ่ายกบฎแคว้นโชชูพยายามบุกวังหลวงจนเกิดเป็นการต่อสู้กับฝ่ายโชกุนจนเสียงปืนใหญ่ดังสนั่นทั่วทั้งวังหลวง ในขณะนั้นเจ้าชายมุตสึฮิโตะในวัย 11 ชันษาตกใจถึงกับเป็นลม การที่รัชทายาทอ่อนแอเช่นนี้ได้สร้างความวิตกต่อตระกูลนากายามะอย่างมาก ทำให้พวกเขาเริ่มตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องฝึกฝนให้ว่าที่จักรพรรดินั้น "ร่างกายกำยำ จิตใจเหี้ยมหาญ" พวกเขาจึงให้ ไซโง ทากาโมริ ซามูไรเลื่องชื่อหัวสมัยใหม่มารับหน้าที่พระอาจารย์อบรมสั่งสอนเจ้าชายมุตสึฮิโตะ
หลังไซโงกลายมาเป็นพระอาจารย์ ไซโงได้เปลี่ยนสนามของวังหลวงเป็นลานประลอง เขาอบรมสั่งสอนเจ้าชายมุตสึฮิโตะในแบบของนักรบ ทั้งวิชาฟันดาบ, ยิงธนู, ขี่ม้า, มวยปล้ำ เจ้าชายองค์น้อยผู้บอบบางได้เติบใหญ่เป็นนักรบจากการอบรมของไซโง
ขึ้นเป็นจักรพรรดิ
แก้ภายหลังพระราชบิดาได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1867 พระองค์ก็ขึ้นครองราชสมบัติในสี่วันให้หลัง หลังจากครองราชย์ได้สองเดือน ในวันที่ 7 เมษายน พระองค์ก็ทรงประกาศพระราชโองการบัญญัติห้าข้อที่ถูกร่างโดยคณะที่ปรึกษาหัวก้าวหน้า ซึ่งถือเป็นพระราชโองการแรกในสมัยเมจิ ส่วนหนึ่งของพระราชโองการดังกล่าวมีดังความ: "จงค้นคว้าและรวบรวมวิทยาการทั้งหลายทั่วโลกเพื่อเสริมสร้างรากฐานการปกครองแห่งจักรพรรดิ"
การที่จักรพรรดิไม่ได้เสด็จออกนอกนครหลวงเกียวโตเลยตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1867 จนกระทั่งได้เสด็จไปยังนครโอซากะในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1868 ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ต้องใช้พระวิริยอุตสาหะยาวนานเพียงใด กว่าจะล่วงพ้นวิสัยทัศน์อันคับแคบของเหล่าข้าราชการในช่วงต้นรัชสมัยไปได้
การปฏิรูปประเทศ
แก้เจริญรอยตามตะวันตก
แก้ยุวจักรพรรดิได้รับการปลูกฝังจากบุคคลกลุ่มหัวก้าวหน้า บุคคลเหล่านี้ได้ตั้งให้ถวายความรู้แก่จักรพรรดิ เช่นความทันสมัยของเยอรมนี, วัฒนธรรมฝรั่งเศส, กฎหมายเยอรมนี, การเมืองการปกครองของฝรั่งเศส, นายทุนของยุโรปและอเมริกา ผู้ใกล้ชิดพระองค์ต่างจัดหาหนังสือที่กระตุ้นความคิดแบบยุโรปวางไว้บนโต๊ะทรงงานเสมอ ด้วยเหตุนี้เองทำให้จักรพรรดิเมจิทรงตื่นตัวและเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว ทรงยกเลิกธรรมเนียมโบราณคร่ำครึอย่าง โกนคิ้วย้อมฟันดำ ทรงกำหนดให้เครื่องแต่งกายชุดสูทแบบตะวันตกเป็นเครื่องแต่งกายทางการ ทรงเป็นผู้นำการรับประทานเนื้อวัวและนมวัวในญี่ปุ่น ชาวโตเกียวหันมาบริโภคเนื้อวัวอย่างจริงจัง จากวันละ 1 ตัวเป็นวันละ 20 ตัว
ในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1878 พระองค์ทรงตัดพระเกษาด้วยองค์เองจนสั้นจนเป็นเรื่องที่ตื่นตะลึงไปทั้งประเทศ และยังออกพระราชโองการ "ตัดผมสั้น ปลดอาวุธ"
ย้ายเมืองหลวง
แก้โลกทัศน์ของพระองค์ขยับขยายอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าฤดูใบไม้ร่วงของปี 1868 หลังจากที่คณะรัฐบาลในพระองค์ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังนครเอโดะ และเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว จักรพรรดิเมจิเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปยังนครหลวงใหม่เป็นครั้งแรก ไพร่พลในขบวนเสด็จครั้งนั้นมีจำนวนถึง 3,300 ชีวิต ระหว่างทางได้ทอดพระเนตรดูผืนน้ำทะเลเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน เหตุการณ์นี้ทำให้คิโดะ ทะกะโยะชิ ที่โดยเสด็จอยู่ด้วยบันทึกไว้ว่า "ข้าพเจ้าตื้นตันจนมีน้ำตา เมื่อตระหนักว่านี่คือจุดเริ่มต้นแห่งยุคสมัยที่เดชานุภาพจะได้แผ่ไปทั่วโลกอันไพศาล" ครั้นขบวนเสด็จถึงกรุงโตเกียวในวันที่ 5 พฤศจิกายน พสกนิกรมากมายหลายหมื่นมาเฝ้ารอรับเสด็จอยู่ทั้งสองข้างทาง เพื่อถวายความจงรักภักดี พร้อมกันนั้น พระราชยานประดับรูปไก่ฟ้าทองคำก็เคลื่อนตรงไปยังปราสาทเอโดะ อดีตที่พำนักของโชกุนที่จะใช้เป็นที่ประทับ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1869 องค์จักรพรรดิเสด็จกลับไปยังเกียวโตเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะเสด็จมาประทับที่โตกียวเป็นการถาวรในอีก 2 เดือนต่อมา
นโยบายด้านการศึกษา
แก้รัฐบาลเมจิให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมหาศาล ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 200 ล้านตำลึงซึ่งญี่ปุ่นได้รับมาจากสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปลายยุคเมจิพบว่ามีประชาชนกว่าร้อยละ 95 ของประเทศที่ได้รับการศึกษา ไม่มีบ้านไหนไม่ได้เรียน ไม่มีคนไหนไม่ได้เรียน เนื่องจากการเรียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับตามกฎหมาย ในหลายเมืองต้องใช้ตำรวจบังคับให้เด็กไปโรงเรียนตั้งแต่ 8 นาฬิกาถึง 15 นาฬิกา หากตำรวจพบเด็กวัยเรียนอยู่นอกโรงเรียนในเวลาดังกล่าวจะถูกจับตัวส่งโรงเรียนทันที
การเมืองการปกครองตอนต้นรัชกาล
แก้เหตุผลหลักที่ผู้นำคนสำคัญในรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกูโบะ โทชิมิจิ และไซโง ทากาโมริ แห่งแคว้นซัตสึมะ ได้กราบทูลเชิญจักรพรรดิเมจิไปยังโตเกียว ก็เพื่อผลักดันให้สมเด็จพระจักรพรรดิพระประมุขเป็นอิสระจากแนวคิดและลักษณะอนุรักษนิยมของชาวเกียวโต ค.ศ. 1871 ไซโกได้ทูลเกล้าฯ ถวายเสนอแผนปฏิรูปโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- อันดับแรก เพื่อลดจำนวนนางกำนัล เขาชี้แจงว่านับแต่อดีตมาจนบัดนั้น พวกนางมักจะมีอิทธิพลครอบงำวังหลวงมากเกินไป
- อันดับที่สอง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลต่าง ๆ ทั้งฝ่ายทหารตั้งแต่ชั้นนักรบสามัญหรือซามูไรขึ้นไป และผู้ที่สืบเชื้อสาย หรือสืบความรู้ทางการปกครอง ได้เข้าทำงานและรับพระราชทานตำแหน่งสูง ๆ ตามความเหมาะสมภายในวังหลวงได้
อิทธิพลการศึกษาแบบอนุรักษนิยมส่งผลให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงคัดค้านแผนปฏิรูปเหล่านี้ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเป็นพระราชโองการได้ใน ค.ศ. 1872 ไม่ช้า สมเด็จพระจักรพรรดิก็สนิทสนมกับไซโงเป็นพิเศษ ไซโงสนับสนุนให้พระองค์ทรงม้าเพื่ออกกำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่พระวรกาย และส่งเสริมให้มีความสนพระทัยในการทหารในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพ จักรพรรดิเมจิโปรดการออกตรวจกำลังพล ที่ส่วนใหญ่มาจากแคว้นโชชูและซัตสึมะ เรียกว่า โกชิมเป (ทหารราชองครักษ์) จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1871
ความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรสยาม
แก้รัชสมัยของพระองค์ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยาม ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะสืบทอดความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามและจักรวรรดิญี่ปุ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (พระยศในขณะนั้น) เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีและลงพระนามในสนธิสัญญากับผู้แทนพระองค์ของจักรพรรดิเมจิที่กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1887[2] เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีและส่งเสริมการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ในเวลาต่อมาหลังจากพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เจ้าชายอากิฮิโตะ โคมัตสึโนะมิยะและคณะผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิระหว่างทางเสด็จกลับจากสหราชอาณาจักร[3]ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและประทับที่วังสราญรมย์ ในการนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าชายโคมัตสึโนะมิยะนำพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงที่สุดของญี่ปุ่นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4] ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระยาภาสกรวงศ์ ที่ปรึกษาราชการในพระองค์ที่ไว้วางพระราชหฤทัยนำพระราชสาส์นตอบและเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงที่สุดของสยามในสมัยนั้น (เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระดับสูงที่สุดของไทยในปัจจุบันสถาปนาขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระจักรพรรดิ[5]
สงครามกับจีน
แก้ในวันที่ 25 กรกฎาคม 1894 จักรพรรดิเมจิทรงบัญชาให้กองทัพญี่ปุ่นใช้วิธีการแบบโจรสลัดในการโจมตีกองเรือเป่ยหยางของจีนที่ลอยลำอยู่ในคาบสมุทรเกาหลี หลังจากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงออกแถลงการณ์ว่า "...จีนได้ส่งกองทัพใหญ่มายังคาบสมุทรเกาหลีเพื่อหมายจะโจมตีเรือรบญี่ปุ่น..."[6] และจักรพรรดิเมจิทรงประกาศสงครามกับจักรวรรดิชิง พระองค์โปรดให้ย้ายฐานทัพหลักมาอยู่ที่เมืองฮิโระชิมะ จักรพรรดิวัย 42 ปีทรงบัญชาการรบด้วยองค์เองตลอด 225 วัน[6] ทรงสนพระทัยสถานการณ์ศึกตลอดเวลาถึงขนาดมีรับสั่งไว้ว่าให้ปลุกพระองค์ได้ทุกเมื่อหากมีความคืบหน้า และยังทรงห้ามมิให้เหล่าข้าหลวงนางในมาปรนนิบัติพระองค์ที่ค่ายทหาร[6] ทรงเรียนรู้การใช้ผ้าขนหนูถูหลังด้วยองค์เอง การกระทำเหล่านี้สร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารญี่ปุ่นเป็นอันมาก
พระบรมวงศ์
แก้พระอัครมเหสีและพระสนม
แก้จักรพรรดิเมจิอภิเษกสมรสกับท่านหญิงฮารูโกะ อิจิโจ ซึ่งต่อมาเมื่อสวรรคตได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวง แต่ไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาด้วยกัน เนื่องจากพระพลานามัยของสมเด็จพระจักรพรรดินีไม่เอื้ออำนวย แต่มีพระราชโอรส-ธิดาทั้งสิ้น 15 พระองค์ โดยประสูติจากพระสนมทั้งหมด โดยมีรายนาม พระมเหสี และพระสนม ดังนี้
- พระอัครมเหสี
- สมเด็จพระจักรพรรดินีฮารูโกะ (นามเดิม ท่านหญิงฮารูโกะ อิชิโจ)
- พระสนม
- พระสนมมิตสึโกะ (1853-1873)
- พระสนมนัตสึโกะ ฮาชิโมโตะ (1856–1873)
- พระสนมนารุโกะ ยานางิวาระ (1855–1943)
- พระสนมโคโตโกะ ชิงุซะ (1855–1944)
- พระสนมซาชิโกะ โซโนะ (1867–1947)
พระราชโอรสและธิดา
แก้แม้ว่าจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็งจะไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาด้วยกัน แต่ก็มีพระราชโอรส-ธิดาประสูติจากพระสนม ทั้งสิ้น 15 พระองค์ คือ
- เจ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม) ประสูติ 18 กันยายน ค.ศ. 1873 และสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน ประสูติแด่พระสนมมิตสึโกะ
- เจ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) ประสูติ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1876 และสิ้นพระชนม์ในวันเดียวกัน ประสูติแด่พระสนมนัตสึโกะ
- เจ้าหญิงชิเงโกะ เจ้าอูเมะ ประสูติ 25 มกราคม ค.ศ. 1879 ประสูติแด่พระสนมนะรุโกะ
- เจ้าชายโยชิฮิโตะ เจ้าฮารุ ประสูติ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1879 (ต่อมาคือจักรพรรดิไทโช) ประสูติแด่พระสนมนะรุโกะ
- เจ้าชายยูกิฮิโตะ เจ้าทาเกะ ประสูติ 23 กันยายน ค.ศ. 1880 ประสูติแด่พระสนมนะรุโกะ
- เจ้าหญิงอากิโกะ เจ้าชิเงะ ประสูติ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1884 ประสูติแด่ พระสนมโคโตะโกะ
- เจ้าหญิงฟูมิโกะ เจ้ามาซุ ประสูติ 26 มกราคม ค.ศ. 1886 ประสูติแด่พระสนมโคโตะโกะ
- เจ้าหญิงชิซูโกะ เจ้าฮิซะ ประสูติ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1889 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าชายมิชิฮิโตะ เจ้าอากิ ประสูติ ค.ศ. 1890 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าหญิงมาซาโกะ เจ้าทาซูเนะ ประสูติ 30 กันยายน ค.ศ. 1891 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าหญิงฟูซาโกะ เจ้าคาเนะ ประสูติ 28 มกราคม ค.ศ. 1893 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าหญิงโนบูโกะ เจ้าฟูมิ ประสูติ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1894 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าชายเทรูฮิโตะ เจ้ามิซุ ประสูติ ค.ศ. 1896 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าหญิงโทชิโกะ เจ้ายาซุ ประสูติ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
- เจ้าหญิงทากิโกะ เจ้าซาดะ ประสูติ ค.ศ. 1900 ประสูติแด่พระสนมซะชิโกะ
ประชวรและเสด็จสวรรคต
แก้ในช่วงปลายรัชกาล พระจักรพรรดิทรงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับโรคเบาหวาน และโรคไบร์ท (โรคไตอย่างหนึ่ง) ที่พระอาการมีแต่ทรุดลง จนในรัฐพิธีหลายวาระ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงอ่อนเพลียอย่างหนักให้ผู้คนสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งในปีที่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนฤดูร้อนปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) นั้น ก็ยังไม่มีสัญญาณบอกเหตุว่าจะเสด็จสวรรคตในปีเดียวกันนั้น
เดือนมกราคมปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) พระจักรพรรดิเสด็จร่วมงานประกวดกวีนิพนธ์ในวันปีใหม่ที่จัดขึ้นในพระราชวังเป็นประจำอย่างเช่นทุกปีเช่นที่เคยทรงปฏิบัติมา
เดือนกุมภาพันธ์ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระประชวร แต่ไม่นานพระอาการก็ดีขึ้น สามารถทรงงานตามหมายงานที่กำหนดได้ตามปรกติเป็นต้นว่า
- วันที่ 30 พฤษภาคม เสด็จไปร่วมพิธีสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนเตรียมทหารในสังกัดกองทัพบก ทรงตรวจแถวนักเรียนที่เพิ่งจบ และพระราชทานปริญญาบัตร
- วันที่ 28 มิถุนายน เสด็จออกต้อนรับนายชาร์ล วิลเลี่ยม เอลเลียต อดีตอธิการบดีประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างประเทศมาร่วมด้วย
- แต่ในวันที่ 10 กรกฎาคม ขณะเสด็จไปยังมหาวิทยาลัยโตเกียวอิมพีเรียลเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรในพิธีสำเร็จการศึกษา สมเด็จพระจักรพรรดิทรงรู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง และทรงพระดำเนินขึ้นบันไดได้อย่างยากเย็น ซึ่ง 5 วันต่อมาขณะกำลังจะประทับในที่ประชุมสภาองคมนตรี พระวรกายเกิดอาการสั่นอย่างแรง ระหว่างการประชุมก็ทรงเผลอหลับไปกับที่ประทับ สีพระพักตร์บอกได้ว่าเพลียหนักอย่างชัดเจน
วันที่ 19 เดือนเดียวกัน ได้เสด็จไปประทับที่โต๊ะทรงพระอักษร แต่ทรงเหนื่อยเกินกว่าจะทรงงานใด ๆ ได้ และขณะกำลังจะประทับยืนขึ้นนั่นเอง ทรงล้มลง บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียวแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิถูกเรียกตัวมาช่วยคณะแพทย์หลวงถวายการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลได้ตัดสินแถลงข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบในทันที
ระยะเวลาหลายวันต่อจากนั้น หนังสือพิมพ์ต่างพากันรายงานถึงพระอาการอย่างละเอียด ทั้งพระอัตราชีพจรที่อ่อนลงเรื่อย ๆ และการทำงานเสื่อมทรุดลงของอวัยวะต่าง ๆ ประชาชนต่างสวดอธิษฐานให้สมเด็จพระจักรพรรดิหายประชวร มหาชนมารวมตัวกันอยู่รายรอบพระราชวัง หลายคนคุกเข่าหรือหมอบกราบอยู่กับพื้น
ท้ายที่สุดสมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย เมื่อเวลา 0.43 นาฬิกา ของวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) พระชนมายุได้ 60 พรรษา ณ พระราชวังโตเกียว
ภายหลังการสวรรคต
แก้ชาติทั้งชาติจมหายไปในความรู้สึกสูญเสียที่ท่วมท้น นักเขียนนวนิยายโทคุมิ โรกะ บรรยายไว้ว่า
การสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิได้ปิดบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชสมัยเมจิลงแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกราวกับว่าแม้ชีวิตของตัวเองก็ถูกปลิดหลุดจากขั้ว
ยะมะงะตะเองก็สะเทือนใจ จนถ่ายทอดออกมาในบทกวีว่า
แสงฟ้า วันนี้ ดับลงแล้ว ปล่อยให้โลก มิดมืด
คืนวันที่ 13 กันยายน ประชาชนต่างยืนเบียดเสียดกันรอรับขบวนเสด็จอย่างเงียบ ๆ ขณะที่หีบบรรจุพระบรมศพบนพระราชยานเทียมโคเคลื่อนผ่านเสียงเดียวที่ได้ยินคือเสียงกงล้อบดเบา ๆ ไปบนพื้นทรายกับเสียงเอียดอาดของเพลารถ พอขบวนแห่เคลื่อนไปถึงศาลาพระราชพิธีที่สร้างขึ้นบนลานสวนสนามโอะยะมะที่เตรียมไว้สำหรับวาระนี้โดยเฉพาะ โดยมีจักรพรรดิไทโช จักรพรรดิพระองค์ใหม่ มีพระราชดำรัสสรรเสริญจักรพรรดิเมจิ เจ้าชายไซองจิ นายกรัฐมนตรี และวะตะนะเบะ ชิอะกิ สมุหราชมนเทียร ก็ได้กล่าวคำสรรเสริญแด่จักรพรรดิเมจิด้วยเช่นกัน
วันที่ 15 กันยายน ได้อัญเชิญพระบรมศพจากกรุงโตเกียว ไปสู่นครเกียวโตโดยทางรถไฟเพื่อประกอบพิธีฝังพระบรมศพไว้ที่สุสานหลวงโมะโมะยะมะ เขตฟุจิมิ เหตุการณ์เดียวที่ทำให้ช่วงเวลาที่คนทั้งชาติกำลังโศกเศร้าและไว้ทุกข์ต้องสะดุดไปคือข่าว นายพลโนงิ หนึ่งในวีรบุรุษจากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น พร้อมด้วยภริยา กระทำพิธีอัตวินิบาตกรรมภายในบ้านพักของตัวเองเมื่อวันที่ 13 กันยายน
สำหรับชาวญี่ปุ่นหลายคน การตายของนายพลโนงิ กระตุ้นให้พวกเขาหวนรำลึกถึงประเพณีปฏิบัติของซามูไรในยุคกลางที่จะตามเจ้านายของตนไปยมโลกด้วยความจงรักภักดี แต่สำหรับคนอื่น ๆ การตายของโมงิกลับเป็นเรื่องหลงยุคหลงสมัย และขัดกับเจตนารมณ์ที่ต้องการพาญี่ปุ่นเข้าสู่การเป็นสมัยใหม่ที่จักรพรรดิเมจิทรงเป็นสัญลักษณ์
ในฐานะที่ทรงเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชน และมีพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ให้ชมพระบารมีแทนสมเด็จพระบรมสาทิสลักษณ์เช่นในสมัยก่อน ต้องนับว่าจักรพรรดิเมจิมีพระบุคลิกภาพที่เด็ดขาด เปี่ยมด้วยพระราชอำนาจยิ่ง โดยรวมแล้ว พระราชจริยวัตรที่งามสง่าของจักรพรรดิเมจิ ส่งให้ทรงเป็นจักรพรรดิของญี่ปุ่นยุคใหม่เพียงพระองค์เดียวที่เรียกได้ว่าทรงพระบรมเดชานุภาพ อย่างแท้จริง
ในปี ค.ศ. 1913 รัฐสภาได้ตัดสินใจสร้างศาลเจ้าเมจิขึ้นที่เขตโยโยงิ กรุงโตเกียว เพื่ออุทิศถวายแด่ดวงพระวิญญาณ เป็นการประโลมจิตใตและบรรเทากระแสจงรักภักดีแบบสุดโต่งของประชาชาชนลงบ้าง ก่อนที่พระอารามจะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1920 หนุ่มสาวหลายพันคนอาสาเข้าช่วยก่อสร้างพระอาราม และปลูกต้นไม้ที่นำมาจากทุกภาคของประเทศให้เต็มพื้นที่สวนอันกว้างขวางโดยรอบ ความเทิดทูนบูชาในสมัยจักรพรรดิเมจิของพวกเขายังคงมีสูง โดยมีรายงานว่า หญิงสาวบางคนแสดงความประสงค์ที่จะถูกฝังทั้งเป็นใต้พระอารามก่อนสร้างเสร็จ โชคดีที่มีคนเกลี้ยกล่อมให้หญิงสาวเหล่านั้นตัดปอยผมของตนถวายแทน
พระอิสริยยศ
แก้- 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1852 – 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1860: เจ้าซาชิ
- 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1860 – 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867: มกุฎราชกุมาร
- 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1867 – 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1912: สมเด็จพระจักรพรรดิ
- ภายหลังสวรรคต: จักรพรรดิเมจิ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- เครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เตอร์
- เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.)[7]
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
อ้างอิง
แก้- ↑ Keene 2002, p. 200.
- ↑ "หนังสือแรติฟิเคชันแห่งหนังสือประกาศทางพระราชไมตรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 6 มกราคม 1888. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019.
...หนังสือปฏิญญาณฉบับหนึ่ง ว่าด้วยทางพระราชไมตรีแลการค้าขาย ในระหว่างประเทศสยามกับประเทศยี่ปุ่น ได้ทำตกลงกันที่กรุงโตกิโย ณวัน ๒ เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ ตรงกับวันที่ ๒๖ เดือน ๙ ศักราชไมชี ๒๐ ปี แลตรงกับวันที่ ๒๖ เซบเตมเบอคฤสตศักราช ๑๘๘๗...ฝ่ายสมเดจพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ...
- ↑ "ข่าวเจ้ายี่ปุ่นจะเข้ามากรุงเทพฯ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 7 พฤศจิกายน 1887. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019.
...กำหนดเจ้ายี่ปุ่นชื่อปรินสกุมัสสุซึ่งเปนผู้แทนสมเดจพระเจ้าเอมเปอเรอยี่ปุ่น ไปในการเฉลิมศิริราชสมบัติสมเดจพระนางเจ้าราชินีกรุงอังกฤษ จะกลับจากกรุงอังกฤษมาถึงเมืองสิงคโปร์...พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดวังสราญรมย์สำหรับเปนที่พัก...
- ↑ "เจ้ายี่ปุ่นเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 7 พฤศจิกายน 1887. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019.
...แล้วปรินส์ อากิหิโต โกมัตสุ ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาสน ของสมเดจพระเจ้ามุสุหิโต มิคาโด ราชาธิราชประเทศยี่ปุ่น เจริญทางพระราชไมตรี แลถวายเครื่องราชอิสริยยศยี่ปุ่นอย่างสูงชื่อไครเสนถิมัม...
- ↑ "สำเนาพระราชสาสนไปเมืองยี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 30 พฤศจิกายน 1887. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2019.
...ด้วยในการที่เราได้ทรงมอบให้ที่ปฤกษาราชการอันเปนที่รัก แลไว้วางพระราชหฤไทยของเรา พระยาภาสกรวงศ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน จางวางมหาดเล็ก ที่ปฤกษาราชการในพระองค์ เลฟเตอแนนตคอลอแนลตำแหน่งวิเสศ ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์...ได้ให้เรามีโอกาศอันเปนที่ยินดีเหมือนกัน ที่จะได้ทรงตั้งพระองคด้วยเครื่องขัตติยราชอิศริยยศ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งตรามหาจักรกรี บรมราชวงษของเรา เพื่อเปนที่หมายอย่างสูงสุดแห่งทางพระราชไมตรีแลความนับถึออย่างยิ่ง...
- ↑ 6.0 6.1 6.2 หวังหลง (2559) ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา. สำนักพิมพ์มติชน. ISBN 9789740214564
- ↑ "พระราชสาสนไปญี่ปุ่น" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 4 (37): 296. 30 ธันวาคม 2430. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2021-07-07.
- Sidney Devere Brown and Akiko Hirota, 'The Diary of Kido Takayoshi', 3 vois., Tokyo: University of Tokyo Press, 1983-86
- Herschel Webb, 'The Japanese Imperial Institution in the Tokugawa Period', New York: Columbia University Press, 1968
ก่อนหน้า | จักรพรรดิเมจิ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
จักรพรรดิโคเม | จักรพรรดิญี่ปุ่น (พ.ศ. 2410 - พ.ศ. 2455) |
จักรพรรดิไทโช |