สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

รัฐอธิปไตยในอดีต (ค.ศ. 1801-1922)

สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (อังกฤษ: United Kingdom of Great Britain and Ireland) เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของสหราชอาณาจักร ในช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2343 (ค.ศ. 1801)[1] ถึง 12 เมษายน พ.ศ. 2470 โดยราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์เข้ารวมตัวกัน หลังจากที่ส่วนหนึ่งของไอร์แลนด์แยกตัวออกมาตั้งเป็นรัฐอิสระในปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) ชื่อนี้ยังคงใช้ไปจนกระทั่งเปลี่ยนเป็น สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ

สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

United Kingdom of Great Britain and Ireland
ค.ศ. 1801–ค.ศ. 1922
คำขวัญฝรั่งเศส: "Dieu et mon droit"
“พระเจ้าและสิทธิแห่งข้า”
อาณาเขตของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
อาณาเขตของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
สถานะสหภาพรัฐ
เมืองหลวงลอนดอน
ภาษาทั่วไปภาษาอังกฤษ
การปกครองรัฐเดี่ยว ระบบรัฐสภา ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
กษัตริย์ 
• ค.ศ. 1801 – ค.ศ. 1820
พระเจ้าจอร์จที่ 3
• ค.ศ. 1820 – ค.ศ. 1830
พระเจ้าจอร์จที่ 4
• ค.ศ. 1830 – ค.ศ. 1837
พระเจ้าวิลเลียมที่ 4
• ค.ศ. 1837 – ค.ศ. 1901
พระราชินีนาถวิกตอเรีย
• ค.ศ. 1901 – ค.ศ. 1910
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7
• ค.ศ. 1910 – ค.ศ. 1927 (ต่อ)
พระเจ้าจอร์จที่ 5
นายกรัฐมนตรี 
• ค.ศ. 1801
วิลเลียม พิตต์ ผู้เยาว์
• ค.ศ. 1924 – ค.ศ. 1927 (ต่อ)
สแตนลีย์ บอลด์วิน
สภานิติบัญญัติรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร
สภาขุนนาง
สภาสามัญชน
ประวัติศาสตร์ 
• พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800
1 มกราคม ค.ศ. 1801
• สนธิสัญญาอังกฤษ-ไอร์แลนด์
6 ธันวาคม ค.ศ. 1922
• พระราชบัญญัติการขานพระอิสริยยศและนามของรัฐสภา ค.ศ. 1927
12 เมษายน ค.ศ. 1927
พื้นที่
ค.ศ. 1801315,093 ตารางกิโลเมตร (121,658 ตารางไมล์)
ค.ศ. 1921315,093 ตารางกิโลเมตร (121,658 ตารางไมล์)
ประชากร
• ค.ศ. 1801
16345646
• ค.ศ. 1921
42769196
สกุลเงินปอนด์สเตอร์ลิง
รหัส ISO 3166GB
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
ราชอาณาจักรไอร์แลนด์
สหราชอาณาจักร
เสรีรัฐไอริช

สงครามนโปเลียน แก้

วิลเลียม พิตต์ ผู้เยาว์ (William Pitt the Younger) เสนอนโยบายผ่อนปรนพวกคาทอลิก (Catholic Emancipation) ที่ถูกกดขี่ในอังกฤษมานาน แต่พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงปฏิเสธเพราะจะทำให้ทรงเสียคำสัตย์ที่ให้ไว้ตอนครองราชย์ว่าจะรักษานิกายแองกลิกัน วิลเลียมพิตต์จึงลาออกและให้เฮนรี แอดดิงตัน (Henry Addington) เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในค.ศ. 1804 นโปเลียนปราบดาภิเษกตนเองเป็นจักรพรรดิ บรรดาชาติต่าง ๆ ในยุโรปจึงรวมตัวกันเป็นสัมพันธมิตรครั้งที่สาม (Third Coalition) นโปเลียนพยายามจะบุกสหราชอาณาจักรทางทะเล แต่อังกฤษนั้นบัดนี้เป็นเจ้าแห่งทะเลไปแล้ว ตีทัพเรือฝรั่งเศสและสเปนแตกยับที่แหลมตราฟัลการ์ (Trafalgar) โดยการนำของลอร์ดเนลสัน (Lord Nelson) แต่ชาติอื่นนั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนสหราชอาณาจักร สัมพันธมิตรจึงสลายตัวในค.ศ. 1805

วิลเลียมพิตต์เสียชีวิตในค.ศ. 1806 จอร์จ เกรนวิลล์ (George Grenville) กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีและได้ฟอกซ์ (Charles James Fox) กลับเข้าคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งคู่ล้วนเป็นพระศัตรูเก่าของพระเจ้าจอร์จ เกรนวิลล์เสนอให้ผ่อนปรนพวกคาทอลิกอีกครั้ง คราวนี้พระเจ้าจอร์จทรงต่อต้านอย่างรุนแรง ถึงกับบังคับให้เกรนวิลล์สาบานว่าจะไม่เสนออะไรแบบนี้ออกมาอีก ซึ่งเกรนวิลล์ก็ไม่ยอม

สมัยผู้สำเร็จราชการแทน (ค.ศ. 1811 ถึง ค.ศ. 1837) แก้

อาการทางพระสติของพระเจ้าจอร์จย่ำแย่มากในค.ศ. 1811 จนรัฐสภาออกพระราชบัญญัติผู้สำเร็จราชการแทน (Act of Regency) ให้เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) พระโอรสเป็นผู้สำเร็จราชการแทน เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงทรงเสนอนโยบายผ่อนปรนพวกคาทอลิก ซึ่งพวกโทรี (Tories) และนายกรัฐมนตรีสเปนเซอร์ เพอร์ซิวัล (Spencer Perceval) ต่อต้านอยู่แล้ว เจ้าชายทรงพยายามจะหันหาพวกวิก (Whigs) ซึ่งตอนนี้ไร้ซึ่งอำนาจ แต่ค.ศ. 1812 เพอร์ซิวัลถูกลอบสังหาร นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือเอิร์ลแห่งลิเวอร์พูล นำสหราชอาณาจักรได้ชัยชนะในการทำสงครามกับนโปเลียน ในค.ศ. 1814 การประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้เลื่อนพระยศพระเจ้าจอร์จจากอิเล็กเตอร์แห่งฮันโนเฟอร์เป็นกษัตริย์แห่งฮันโนเฟอร์ (King of Hannover) ซึ่งพระเจ้าจอร์จก็ทรงไม่อาจจะรับรู้อะไรได้แล้ว

สหรัฐอเมริกาแม้จะเป็นเอกราชไปแล้วแต่ก็ค้าขายกับฝรั่งเศสทำให้นโปเลียนมีรายได้ รวมทั้งยังรุกรานแคนาดาของสหราชอาณาจักรอีกด้วย จึงเกิดสงคราม ค.ศ. 1812 (War of 1812) แต่ก็สิ้นสุดลงในค.ศ. 1815 และปีเดียวกันนโปเลียนก็กลับมาแต่ก็พ่ายแพ้ดยุกแห่งเวลลิงตันในสมรภูมิวอเตอร์ลู

สมัยผู้สำเร็จราชการแทน หรือ สมัยรีเจนซี (Regency) เป็นสมัยที่อังกฤษใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย มีรูปแบบเป็นของตน เจ้าชายแห่งเวลส์ทรงให้จอห์น แนช (John Nash) สร้าง Regent's Park และ Regency Street รวมทั้ง Brighton Pavilion โดยผสมผสานสถาปัตยกรรมอินเดียจากทัชมาฮาล และของจีน เรียกว่า Indian Gothic

 
พีธีราชาภิเษกอันหรูหราฟุ่มเฟือยของพระเจ้าจอร์จที่ 4

ในค.ศ. 1820 พระเจ้าจอร์จที่ 3 สิ้นพระชนม์ เจ้าชายแห่งเวลส์ครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร แต่ความสัมพันธ์พระองค์กับพระราชินี คือคาโรลีนแห่งบรุนชวิก (Caroline of Brunswick) ไม่สู้จะดีนัก ทั้งสองพระองค์แยกกันประทับและไปมีความสัมพันธ์กับคนอื่น พระนางคาโรลีนทรงกลับมาจากยุโรปเพื่อเข้าร่วมพิธีบรมราชาภิเษก แต่พระเจ้าจอร์จทรงไม่ยอมและจะปลดพระนาง แต่ที่ปรึกษาของพระองค์แนะนำว่าหากทรงทำเช่นนั้นความสัมพันธ์ของพระองค์กับหญิงอื่นก็จะถูกขุดขุ้ยเช่นกัน ดังนั้นจึงทรงออกร่างพระราชบัญญัติความผิดและโทษ (Pains and Penalties Bill) ในค.ศ. 1820 ให้รัฐสภาสามารถลงโทษผู้มีความผิดได้โดยไม่ต้องผ่านศาล

พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไม่เป็นที่ต้องรับเลยในหมู่ประชาชน ทำให้รัฐสภาต้องยกเลิกมันไป พระเจ้าจอร์จก็ไม่ทรงทำอะไรได้ นอกจากกันพระนางคาโรลีนไม่ให้ร่วมพิธีราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่หรูหราฟุ่มเฟือยมากและเป็นที่สนใจของประชาชน เสด็จเยือนสกอตแลนด์และไอร์แลนด์ เป็นครั้งแรกในรอบหลายร้อยปีที่กษัตริย์ทรงออกจากอังกฤษ

การผ่อนปรนพวกคาทอลิก แก้

แม้ในตอนแรกพระเจ้าจอร์จจะทรงสนับสนุนการผ่อนปรนพวกคาทอลิก แต่หลังจากขึ้นครองราชย์แล้วก็มีพระดำริกลับกัน คือทรงต่อต้านพวกคาทอลิก เพราะตามคำปฏิญาณในพิธีราชาภิเษกทรงสัญญาว่าจะรักษานิกายโปรเตสแตนต์ รวมทั้งลอร์ดลิเวอร์พูลที่ต่อต้านคาทอลิกอย่างแรก ทำให้นโยบายนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้

แต่ในค.ศ. 1827 ลอร์ดลิเวอร์พูลลาออก จอร์จ แคนนิง (George Canning) พวกโทรีที่สนับสนุนคาทอลิก ได้เป็นนายกรัฐมนตรีและผลักดันนโยบายนี้อีกครั้ง ทำให้พวกโทรีคนอื่น ๆ โดยเฉพาะดยุกแห่งเวลลิงตันไม่พอใจ จึงหันไปเข้าพวกวิก แต่แคนนิงก็เสียชีวิตปีเดียวกัน ไวเคานต์ก๊อดริช ในค.ศ. 1828 ดยุกแห่งเวลลิงตันได้เป็นนายกรัฐมนตรี และเริ่มมีความคิดหันไปสนับสนุนคาทอลิก พระเจ้าจอร์จก็เช่นกัน จนทั้งสองคนออกพระราชบัญญัติผ่อนปรนคาทอลิก (Catholic Relief Act) ปลดปล่อยชาวคาทอลิกที่ถูกลิดรอนสิทธิต่าง ๆ มานาน 300 กว่าปี

พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 แก้

พระเจ้าจอร์จที่ 4 สิ้นพระชนม์ในค.ศ. 1830 โดยทรงไม่มีทายาทในสมรส (ทรงมีโอรสนอกสมรส) พระอนุชาดยุกแห่งคลาเรนซ์ (Duke of Clarence) พระชนมายุ 64 พรรษา จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ผิดกับพระเชษฐา พระเจ้าวิลเลียมทรงมัธยัสถ์ ไม่หรูหราฟุ่มเฟือย และยังทรงเป็นทหารเรืออีกด้วย จึงได้รับพระสมยานามว่า กษัตริย์กะลาสี (The Sailor King) การเลือกตั้งปรากฏพวกวิกที่หายไปนานก็กลับเข้าสู่รัฐสภา มีนายกรัฐมนตรีเอิร์ลเกรย์เป็นผู้นำ เกรย์วางแผนที่จะปฏิรูประบอบการปกครองของอังกฤษที่ล้าหลังและไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยหลายร้อยปี จึงเสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิรูป (Reform Bill) ซึ่งก็ถูกค้านโดยสภาสามัญชน เอิร์ลเกรย์จึงจะยุบสภาสามัญ และเลือกตั้งใหม่ในค.ศ. 1831 จนได้พวกปฏิรูปเข้าสภามามาก แต่สภาขุนนางก็ยังคงต่อต้านร่างพระราชบัญญัติอยู่ดี

เกรย์เสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปอีกครั้ง แต่ก็ตกไปด้วยการออกเสียงของสภาขุนนาง คราวนี้ประชาชนลุกฮือเรียกร้องให้ออกพระราชกฤษฎีกา เรียกว่า วิกฤตการณ์ปฏิรูป (Reform Crisis) เกรย์เสนอให้พระเจ้าวิลเลียมพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่พวกที่สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อจะให้ไปออกเสียงในสภาขุนนาง แต่พระเจ้าวิลเลียมทรงปฏิเสธเพราะบรรดาศักดิ์จะพระราชทานให้ใครพร่ำเพร่อมิได้ ทำให้พระเจ้าวิลเลียมทรงเป็นที่ตำหนิของประชาชน ทรงถึงขนาดถูกปาโคลนใส่ จนทรงยอมเอิร์ล เกรย์และแต่งตั้งขุนนางใหม่จนไปออกเสียงสนับสนุนพระราชบัญญัติปฏิรูป (Reform Act) จนสำเร็จในค.ศ. 1821

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แก้

ในค.ศ. 1837 พระเจ้าวิลเลียมสวรรคตโดยไม่มีทายาท พระนัดดาองค์โปรด คือ เจ้าหญิงวิกตอเรีย (Victoria) พระธิดาของดัชเชสแห่งเคนท์ (Duchess of Kent) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แต่ตามกฎหมายแซลิก สตรีจะครองแว่นแคว้นมิได้ พระอนุชาของพระเจ้าวิลเลียม คือ ดยุกแห่งคัมบาลันด์ (Duke of Cumberland) เป็นพระเจ้าแอนสท์ เอากุสท์ที่ 1 แห่งฮันโนเฟอร์ สิ้นสุดการร่วมประมุขระหว่างสหราชอาณาจักรกับฮันโนเฟอร์

อ้างอิง แก้

  1. 1 มกราคม ค.ศ. 1801 คิดตามการเปลี่ยนพุทธศักราชในเดือนเมษายน ดูเพิ่มที่พุทธศักราช

ดูเพิ่ม แก้