สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3[1] แห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: George III of the United Kingdom; 4 มิถุนายน ค.ศ. 1738 – 29 มกราคม ค.ศ. 1820) เป็นพระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์สมัยราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1801 และหลังจากนั้นเป็นพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์จนสวรรคตเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1820 ที่พระราชวังวินด์เซอร์ บาร์กเชอร์ สหราชอาณาจักร พระบรมศพอยู่ที่เซนต์จอร์จส์แชเปลที่พระราชวังวินด์เซอร์

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3
พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์[a]
เจ้าผู้ครอง/พระมหากษัตริย์เเห่งฮันโนเฟอร์[b]
ครองราชย์25 ตุลาคม 1760 – 29 มกราคม 1820 (59 ปี 97 วัน)
ราชาภิเษก22 กันยายน 1761
ก่อนหน้าพระเจ้าจอร์จที่ 2
ถัดไปพระเจ้าจอร์จที่ 4
ผู้สำเร็จราชการเจ้าชายจอร์จ เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รัชทายาท
นายกรัฐมนตรี
พระราชสมภพ4 มิถุนายน ค.ศ. 1738(1738-06-04)
พระราชวังเซนต์เจมส์, ลอนดอน
สวรรคต29 มกราคม ค.ศ. 1820(1820-01-29) (81 ปี)
ปราสาทวินด์เซอร์, ลอนดอน
ฝังพระบรมศพ16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820
เซนต์จอร์จส์แชแปล ลอนดอน
คู่อภิเษกชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์
พระราชบุตร
รายละเอียด
พระนามเต็ม
จอร์จ วิลเลียม เฟรเดอริก
ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์
พระราชบิดาเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์
พระราชมารดาเจ้าหญิงออกัสตาแห่งซัคเซิน-โกทา
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าจอร์จที่ 3 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1738[2] ที่ตำหนักนอร์โฟล์ค กรุงลอนดอน เป็นพระราชโอรสในเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์และเจ้าหญิงออกัสตาแห่งซัคเซิน-โกทา ต่อมาทรงได้อภิเษกสมรสกับชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ และมีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน 15 พระองค์ นอกจะเป็นกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่แล้ว พระองค์ยังมีพระยศเป็นดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์คและผู้คัดเลือกแห่งฮันโนเฟอร์ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และต่อมาเป็นกษัตริย์ฮันโนเฟอร์เพราะรัฐผู้คัดเลือกเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์คได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็นราชอาณาจักรฮันโนเฟอร์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1814 พระเจ้าจอร์จที่ 3 เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์ที่สามในราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ และเป็นกษัตริย์ฮันโนเฟอร์องค์แรกของอังกฤษที่พระราชสมภพในราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และตรัสภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่[3] และไม่เคยเสด็จไปเยอรมนี

รัชสมัยอันยาวนานของพระเจ้าจอร์จที่ 3 เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางทหารหลายครั้งระหว่างราชอาณาจักรของพระองค์และประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเกือบทั้งหมด เมื่อต้นรัชสมัยบริเตนใหญ่ได้รับชัยชนะต่อฝรั่งเศสในสงครามเจ็ดปีซึ่งทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรปผู้มีอิทธิพลในทวีปอเมริกาเหนือและอินเดีย แต่ต่อมาอังกฤษก็สูญเสียอาณานิคมอเมริกาไปกับสงครามปฏิวัติอเมริกัน (American Revolutionary War) ซึ่งเป็นสงครามที่ทำให้เกิดการก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ต่อมาราชอาณาจักรก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ที่สิ้นสุดลงด้วยการพ่ายแพ้ของนโปเลียนในปี ค.ศ. 1815 นอกจากนั้นระหว่างรัชสมัยของพระองค์ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และราชอาณาจักรไอร์แลนด์ได้รวมตัวกันเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์อีกด้วย

แต่ต่อมาพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงเสียพระสติเป็นครั้งคราวและในที่สุดก็เป็นการถาวร พระอาการของพระองค์เป็นปัญหาที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยนั้นงงงวยเพราะไม่ทราบสาเหตุและไม่ทราบวิธีถวายการรักษา แต่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าพระอาการต่าง ๆ ตรงกับอาการของโรคพอร์ฟิเรีย (porphyria) ซึ่งเป็นโรคที่อาจจะเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารพิษ การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่ามีสารพิษระดับสูงในเส้นพระเกษาของพระเจ้าจอร์จที่ 3 หลังจากเมื่อพระอาการทรุดลงเป็นครั้งสุดท้ายจนทรงไม่สามารถปกครองประเทศได้เมื่อปี ค.ศ. 1810 เจ้าชายจอร์จ เจ้าชายแห่งเวลส์จึงทรงปกครองราชอาณาจักรในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 สวรรคต ขณะทรงมีพระชนพรรษา 81 พรรษา ทรงครองสิริราชย์สมบัติ 59 ปี 97 วัน ยาวนานที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของสหราชอาณาจักร เจ้าชายแห่งเวลส์จึงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร การวิจัยทางพระราชประวัติพระเจ้าจอร์จที่ 3 เปลี่ยนแปลงภาพพจน์ของพระองค์ตลอดมา ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุมาจากการศึกษาจากเอกสารอ้างอิงที่ไม่เป็นธรรมต่อพระองค์[4]

พระชนมชีพช่วงต้น แก้

พระเจ้าจอร์จเสด็จพระราชสมภพที่พระตำหนักนอร์โฟล์กในกรุงลอนดอน เป็นพระนัดดาในพระเจ้าจอร์จที่ 2 และพระโอรสของเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์และเจ้าหญิงออกัสตาแห่งซัคเซิน-โกทา ประสูติก่อนกำหนดถึงสองเดือนและไม่ทราบกันในขณะนั้นว่าจะทรงรอดหรือไม่ ทรงได้รับบัพติศมาในวันเดียวกันโดยศาสนาจารย์ทอมัส เซกเกอร์ บิชอปแห่งออกซฟอร์ด[5] เดือนหนึ่งต่อมาก็ทรงรับบัพติศมาอีกครั้งหนึ่งอย่างเป็นทางการที่พระตำหนักนอร์โฟล์กโดยเซกเกอร์เช่นกัน โดยมีพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 1 แห่งสวีเดนเป็นพระราชอัยกาทูนหัว (ผู้ทรงมอบฉันทะให้ชาลส์ คาลเวิร์ต บารอนบัลติมอร์ที่ 5 เป็นผู้แทนพระองค์) ฟรีดริชที่ 3 ดยุกแห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทนแบร์ก พระปิตุลา (ผู้มอบฉันทะให้เฮนรี บริดเจส ดยุกที่ 2 แห่งแชนดอสเป็นผู้แทน) และพระนางโซฟี โดโรเทอา แห่งปรัสเซีย พระอัยกี (ผู้ทรงมอบฉันทะให้เลดีชาร์ลอต เอ็ดวินเป็นผู้แทนพระองค์)[6]

เจ้าชายจอร์จทรงเจริญพระชันษาขึ้นมาเป็นเด็กที่พระสุขภาพพลานามัยดีแต่ทรงไว้องค์และขี้อาย ครอบครัวของพระองค์ย้ายจากจตุรัสเลสเตอร์ไปยังที่ประทับใหม่ที่พระองค์และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งยอร์กและออลบานี พระอนุชา ทรงได้รับการศึกษาจากพระอาจารย์ส่วนพระองค์ จดหมายจากครอบครัวแสดงว่าทรงเขียนและอ่านได้ทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมัน และทรงมีความคิดเห็นทางการเมืองตั้งแต่มีพระชนมายุได้เพียง 8 พรรษา[7] เจ้าชายจอร์จเป็นกษัตริย์อังกฤษองค์แรกที่ทรงศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ นอกจากเคมีศาสตร์และฟิสิกส์แล้วพระองค์ก็ยังทรงศึกษาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาละติน ประวัติศาสตร์ ดนตรี ภูมิศาสตร์ การพาณิชย์ การเกษตรกรรม และกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกไปจากการกีฬาและการสังคม เช่น การเต้นรำ การดวลดาบ และการขี่ม้า การศึกษาทางศาสนาเป็นการศึกษาภายใต้คริสตจักรแห่งอังกฤษ[8]

 
ภาพเขียนจากราวปี ค.ศ. 1749 ที่เจ้าชายจอร์จ (กลาง) และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งยอร์กและออลบานี พระอนุชา และพระอาจารย์ฟรานซิส อายคอฟผู้ต่อมาเป็นอธิการบดีของมหาวิหารบริสตอล
 
เจ้าชายจอร์จ ในพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งเวลส์ ใน ค.ศ. 1751

พระเจ้าจอร์จที่ 2 ไม่ทรงสนพระทัยในพระนัดดาเท่าใดนัก แต่ในปี ค.ศ. 1751 เมื่อเจ้าชายเฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ พระโอรสสิ้นพระชนม์โดยกะทันหันจากการบาดเจ็บที่ปอด เจ้าชายจอร์จก็กลายเป็นรัชทายาท และทรงได้รับตำแหน่งของพระราชบิดาและทรงดำรงตำแหน่งเป็นดยุกแห่งเอดินบะระ พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงหันมาสนพระทัยในตัวพระนัดดา สามอาทิตย์หลังจากนั้นก็พระราชทานตำแหน่งให้เจ้าชายจอร์จเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์[9] ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1756 เมื่อทรงใกล้จะมีพระชนมายุ 18 พรรษาพระเจ้าจอร์จที่ 2 ก็พระราชทานพระราชวังเซนต์เจมส์ให้แก่เจ้าชายจอร์จ แต่เจ้าชายจอร์จไม่ทรงยอมรับโดยคำแนะนำของพระมารดาและจอห์น สจวต เอิร์ลที่ 3 แห่งบิวต์ พระสหายของพระมารดา ผู้ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี[10] พระมารดาของเจ้าชายจอร์จทรงพอพระทัยที่จะให้เจ้าชายจอร์จประทับอยู่กับพระองค์เพื่อที่จะได้อบรมเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดทางจริยธรรมด้วยพระองค์เอง[11][12]

อภิเษกสมรส แก้

 
พระบรมสาทิสลักษณ์ ในวันบรมราชาภิเษก

ในปี ค.ศ. 1760 ขณะที่เจ้าชายจอร์จทรงมีพระชนมายุได้ 22 ชันษา ทรงเสวยราชย์เป็นกษัตริย์สืบต่อจากพระเจ้าจอร์จที่ 2 ผู้เป็นพระอัยกาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760 สองสัปดาห์ก่อนพระองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 8 กันยายน ในโบสถ์หลวง, พระราชวังเซนต์เจมส์กับดัสเชสชาร์ลอตแห่งเม็คเล็นบวร์ค-สเตรลิตธ์ และทั้งสองพระองค์ทรงเข้าพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 22 กันยายน ในการเป็นกษัตริย์และสมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนใหญ่และสหราชอาณาจักร

พระเกียรติยศ แก้

พระบรมราชอิสริยยศ แก้

ในบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์

  • 4 มิถุนายน ค.ศ. 1738 - 31 มีนาคม ค.ศ. 1751: ฮิสรอยัลไฮเนส เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ (His Royal Highness Prince George of Wales)
  • 31 มีนาคม ค.ศ. 1751 - 20 เมษายน ค.ศ. 1751: ฮิสรอยัลไฮเนส ดยุกแห่งเอดินบะระ (His Royal Highness The Duke of Edinburgh)
  • 20 เมษายน ค.ศ. 1751 - 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760: ฮิสรอยัลไฮเนส เจ้าชายแห่งเวลส์ (His Royal Highness The Prince of Wales)
  • 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760 - 31 ธันวาคม ค.ศ. 1800: ฮิสมาเจสตี พระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (His Majesty The King of Great Britain and Ireland)
  • 1 มกราคม ค.ศ. 1801 - 29 มกราคม ค.ศ. 1820: ฮิสมาเจสตี พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร (His Majesty The King of the United Kingdom)

ในฮันโนเฟอร์

  • 4 มิถุนายน ค.ศ. 1738 - 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760: ฮิสเซอร์รีนไฮเนส เจ้าชายเกออร์ค วิลเฮล์ม ฟรีดริช แห่งฮันโนเวอร์ (His Serene Highness Prince George William Frederick of Hanover)
  • 25 ตุลาคม ค.ศ. 1760 - 12 ตุลาคม ค.ศ. 1814: ฮิสเซอร์รีนไฮเนส เจ้าผู้ครองฮันโนเฟอร์ (His Serene Highness The Prince-Elector of Hanover)
  • 12 ตุลาคม ค.ศ. 1814 - 29 มกราคม 1820: ฮิสมาเจสตี พระมหากษัตริย์แห่งฮันโนเฟอร์ (His Majesty The King of Hanover)

อาร์ม แก้

 
 
 
 
 
ตราอาร์มในระหว่างปี 1749 - 1751
ตราอาร์มในระหว่างปี 1751 - 1760 ในฐานะเจ้าชายแห่งเวลส์
ตราอาร์มในระหว่างปี 1760 - 1801 ในฐานะกษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่
ตราอาร์มในระหว่างปี 1801 - 1816 ในฐานะกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
ตราอาร์มในระหว่างปี 1816 เป็นต้นไป ในฐานะกษัตริย์แห่งฮันโนเฟอร์

พระราชโอรสและธิดา แก้

พระเจ้าจอร์จที่ 3 และสมเด็จพระราชินีชาร์ลอต ทรงมีพระราชโอรสและธิดาร่วมกัน 15 พระองค์ ดังนี้

พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ หมายเหตุ
สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร 12 สิงหาคม ค.ศ. 1762 26 มิถุนายน ค.ศ. 1830 อภิเษกสมรสในปี 1795 กับ คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล; มีพระธิดาด้วยกัน 1 พระองค์คือ เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ ออกัสตาแห่งเวลส์
เจ้าชายเฟรเดอริก ดยุกแห่งยอร์กและออลบานี 16 สิงหาคม ค.ศ. 1763 5 มกราคม ค.ศ. 1827 อภิเษกสมรสในปี 1791 กับ เจ้าหญิงเฟรเดอริกา ชาร์ลอตต์แห่งปรัสเซีย; ไม่มีพระโอรสหรือธิดา
สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักร 21 สิงหาคม ค.ศ. 1765 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 อภิเษกสมรสในปี 1818 กับ อาเดิลไฮด์แห่งซัคเซิน-ไมนิงเงิน ; มีพระธิดาด้วยกัน 2 พระองค์แต่สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระเยาว์ , มีนางสนมเป็นนางละครมีพระโอรสธิดากว่า 10 พระองค์แต่เป็นพระโอรสธิดานอกกฎหมาย; และยังทรงเป็นบรรพบุรุษของ เดวิด แคเมอรอน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร
เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระราชกุมารี 29 กันยายน ค.ศ. 1766 6 ตุลาคม ค.ศ. 1828 อภิเษกสมรสในปี 1797 กับ พระเจ้าฟรีดริชที่ 1 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค; ไม่มีพระโอรสหรือธิดา
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งเคนต์และสแตรธเอิร์น 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1767 23 มกราคม ค.ศ. 1820 อภิเษกสมรสในปี 1818 กับ เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์; มีพระธิดาคือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร; ผู้ที่สืบสายพระโลหิตมาจากพระราชินีนาถวิกตอเรีย ได้แก่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน, สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน, สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ และ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก.
เจ้าหญิงออกัสตา โซเฟีย 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1768 22 กันยายน ค.ศ. 1840 ไม่ได้อภิเษกสมรส
เจ้าหญิงเอลิซาเบธ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 10 มกราคม ค.ศ. 1840 อภิเษกสมรสในปี 1818 กับ ฟรีดริชที่ 4 ลันด์กราฟแห่งเฮสส์และฮอมบวร์ค; ไม่มีพระโอรสหรือธิดา
พระเจ้าแอ็นสท์ เอากุสท์ที่ 1 แห่งฮันโนเฟอร์ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1771 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1851 อภิเษกสมรสในปี 1815 กับ เฟรเดอริกาแห่งเมคเลนบวร์ค-ชเตรลิทซ์; มีพระโอรส 1 พระองค์; ผู้ที่สืบพระโลหิตมาจากเออร์เนสได้แก่ พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ และสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน
เจ้าชายออกัสตัส เฟรเดอริก ดยุกแห่งซัสเซกซ์ 27 มกราคม ค.ศ. 1773 21 เมษายน ค.ศ. 1843 (1) อภิเษกสมรสกับ เลดี้ ออกัสตา เมอร์เรย์; มีพระบุตร; ในปี 1794
(2) อภิเษกสมรสในปี 1831 กับ เลดี้ เซซิเลีย บักกิน(ต่อมาคือ ดัชเชสแห่งอินเวอร์เนส); ไม่มีพระโอรสหรือธิดา
เจ้าชายอดอลฟัส ดยุกแห่งเคมบริดจ์ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1774 8 มิถุนายน ค.ศ. 1850 อภิเษกสมรสในปี 1818 กับเจ้าหญิงออกัสตาแห่งเฮสส์-คาสเซิล; มีพระบุตร; ผู้ที่สืบสายพระโลหิตคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร
เจ้าหญิงแมรี ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์และเอดินบะระ 25 เมษายน ค.ศ. 1776 30 เมษายน ค.ศ. 1857 อภิเษกสมรสในปี 1816 กับ เจ้าชายวิลเลียม เฟรเดอริก ดยุกแห่งกลอสเตอร์และเอดินบะระ; ไม่มีพระโอรสหรือธิดา
เจ้าหญิงโซเฟีย 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1777 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1848 ไม่ได้อภิเษกสมรส
เจ้าชายออกเทเวียส 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1779 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1783 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์
เจ้าชายอัลเฟรด 22 กันยายน ค.ศ. 1780 20 สิงหาคม ค.ศ. 1782 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระเยาว์
เจ้าหญิงอเมเลีย 7 สิงหาคม ค.ศ. 1783 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1810 ไม่ได้อภิเษกสมรส ไม่มีพระบุตร

บรรพบุรุษ แก้

หมายเหตุ แก้

  1. เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณจักรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1801 ภายหลังพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800
  2. เปลี่ยนพระยศเป็นกษัตริย์แห่งฮันโนเฟอร์ตั้งแต่ 12 ตุลาคม 1814

อ้างอิง แก้

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 253
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ date
  3. The Royal Household. "George III". Official website of the British Monarchy. สืบค้นเมื่อ 2007-05-25.
  4. Butterfield, Herbert (1957). George III and the Historians. London: Collins. pp. 9.
  5. Hibbert, p.8
  6. "No. 7712". The London Gazette. 20 June 1738.
  7. Brooke, pp.23–41
  8. Brooke, pp.42–44, 55
  9. Hibbert, pp.3–15
  10. Brooke, pp.51–52; Hibbert, pp.24–25
  11. Bullion, John L. (2004), "Augusta , princess of Wales (1719–1772)", Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/46829, สืบค้นเมื่อ 2008-09-17 (Subscription required)
  12. Ayling, p.33

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร


ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ถัดไป
พระเจ้าจอร์จที่ 2    
พระมหากษัตริย์บริเตนใหญ่
(ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์)

(25 ตุลาคม ค.ศ. 176031 ธันวาคม ค.ศ. 1800)
  พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ได้รวมราชอาณาจักรบริเตนใหญ่กับราชอาณาจักรไอร์แลนด์เป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
ว่าง    
พระมหากษัตริย์ไอร์แลนด์
(ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์)

(25 ตุลาคม ค.ศ. 176031 ธันวาคม ค.ศ. 1800)
  ว่าง
ไม่มี
พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ได้รวมราชอาณาจักรบริเตนใหญ่กับราชอาณาจักรไอร์แลนด์เป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
   
พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร
(ราชวงศ์ฮันโนเฟอร์)

(1 มกราคม ค.ศ. 180129 มกราคม ค.ศ. 1820)
  พระเจ้าจอร์จที่ 4