คิโดะ ทากาโยชิ

ซามูไรญี่ปุ่น
(เปลี่ยนทางจาก คิโดะ ทะกะโยะชิ)

คิโดะ ทากาโยชิ (ญี่ปุ่น: 木戸 孝允โรมาจิKido Takayoshiทับศัพท์: きど たかよし; สามารถอ่านได้อีกอย่างว่า "คิโดะ โคอิน" (Kido Kōin), 11 สิงหาคม ค.ศ. 183326 พฤษภาคม ค.ศ. 1877) เป็นรัฐบุรุษของญี่ปุ่นในช่วงยุคบากูมัตสึและยุคเมจิ ในช่วงที่เขาทำงานต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ เขาใช้ชื่อปลอมว่า "นีโบริ มัตสึซูเกะ" (ญี่ปุ่น: 新堀 松輔ทับศัพท์: Niibori Matsusuke)

คิโดะ ทากาโยชิ
木戸 孝允
เกิด11 สิงหาคม ค.ศ. 1833(1833-08-11)
แคว้นโชชู ญี่ปุ่น
เสียชีวิต26 พฤษภาคม ค.ศ. 1877(1877-05-26) (43 ปี)
เกียวโต ญี่ปุ่น
สัญชาติญี่ปุ่น
ชื่ออื่นคิโดะ โคอิน
คัตสึระ โคโงโร (桂 小五郎)
นีโบริ มัตสึซูเกะ (新堀 松輔)
คิโดะ ทากาโยชิ
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ木戸 孝允
ฮิรางานะきど たかよし
การถอดเสียง
โรมาจิKido Takayoshi

ปฐมวัย

แก้

คิโดะเกิดที่เมืองฮางิ แคว้นโชชู (ปัจจุบันคือจังหวัดยามางูจิ บนเกาะฮนชู) ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นบุตรคนสุดท้องของวาดะ มาซากาเงะ ผู้เป็นซามูไรและนายแพทย์ เมื่อมีอายุได้ 7 ปี ตระกูลคัตสึระได้รับเขาเป็นบุญธรรม และใช้ชื่อว่า "คัตสึระ โคโงโร" (ญี่ปุ่น: 桂 小五郎ทับศัพท์: Katsura Kogorō) ไปจนถึง ค.ศ. 1865 ในวัยเด็กนั้นเข้าได้รับการศึกษาจากสำนักเรียนของโยชิดะ โชอิน ซึ่งเป็นผู้ปลูกความคิดเรืองความจงรักภักดีต่อพระจักรพรรดิให้แก่คิโดะ

ในปี ค.ศ. 1852 คิโดะได้เดินทางไปยังนครเอโดะเพื่อศึกษาวิชาดาบเพิ่มเติม และเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงจากแคว้นมิโตะ ศึกษาวิชาการปืนใหญ่กับเองาวะ ทาโรซาเอมง และเดินทางกลับแคว้นโชชูเพื่อควบคุมการสร้างเรือรบแบบตะวันตกลำแรกของทางแคว้น หลังจากได้สังเกตการต่อเรือเดินทะเลแบบตะวันตกที่เมืองท่านางาซากิและชิโมดะ

โค่นล้มรัฐบาลโชกุน

แก้

หลังปี ค.ศ. 1858 คิโดะได้มาประจำอยู่ที่เรือนพำนักของแคว้นโชชูในเอโดะ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างคณะผู้บริหารแคว้นกับกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงชั้นผู้น้อยในแคว้นโชชูซึ่งสนับนุนแนวคิดซนโนโจอิ เมื่อถูกทางรัฐบาลโชกุนสงสัยในความสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มซามูไรแห่งแคว้นมิโตะซึ่งภักดีต่อองค์พระจักรพรรดิหลังเกิดเหตุการณ์พยายามลอบสังหารอันโด โนบูมาซะ เขาจึงถูกย้ายให้ไปประจำที่กรุงเกียวโต อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อยู่เกียวโตนั้นเขาไม่สามารถยับยั้งการยึดอำนาจโดยกองกำลังของแคว้นไอซุและแคว้นซัตสึมะในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1863 ได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้กองกำลังของแคว้นโชชูต้องถูกขับออกจากพระนครหลวงไป คิโดะได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับแผนการพยายามทวงอำนาจคืนของแคว้นโชชูในวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1864 แต่ล้มเหลว ทำให้เขาจำต้องหนีไปซ่อนตัวโดยความช่วยเหลือของเกอิชาชื่อ "อิกูมัตสึ" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของเขา

ภายหลังเมื่องกลุ่มซามูไรหัวรุนแรงภายใต้การนำของทากาซูงิ ชินซากุ สามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองในแคว้นโชชูได้ คิโดะได้กลายเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างพันธมิตรซัตโจระหว่างแคว้นโชชูกับแคว้นซัตสึมะ อันเป็นการยกระดับความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามโบะชิงและการปฏิรูปเมจิตามลำดับ

รัฐบุรุษในยุคเมจิ

แก้
 
คิโดะในเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตก

ผลจากความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ ทำให้คิโดะกล่าวอ้างว่าตนมีบทบาทอย่างยิ่งในการก่อตั้งรัฐบาลเมจิขึ้นใหม่ ในฐานะของ "ซังโย" หรือองคมนตรีแห่งพระจักรพรรดิ เขาได้ช่วยเหลือในการร่างคำปฏิญาณห้าประการ (ญี่ปุ่น: 五箇条の御誓文ทับศัพท์: Gokajō no Goseimon; ; Five Charter Oath) และริเริ่มนโยบายการรวมศุนย์อำนาจสู่รัฐบาลการและการเปลี่ยนแปลงไปสูความทันสมัย โดยมีส่วนร่วมโดยตรงในการยกเลิกระบบแว่นแคว้นของประเทศญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ. 1871 คิโดะได้เข้าร่วมคณะการทูตอิวากูระ (Iwakura Mission) ในการเดินทางรอบโลกสู่สหรัฐอเมริกาและยุโรป เขาสนใจเป็นพิเศษในระบบการศึกษาและระบบการเมืองของชาวตะวันตก ในระหว่างการเดินทางกลับสู่ญี่ปุ่น เขาได้กลายเป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันในการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และด้วยความที่ตระหนักว่าญี่ปุ่นในเวลานั้นยังไม่อาจท้าทายใด ๆ ต่อมหาอำนาจตะวันตกได้ สาเหตุของการเดินทางกลับในครั้งนั้นของคิโดะจึงได้แก่การยับยั้งความคิดในการรุกรานเกาหลี ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอภิปรายทางการเมืองอย่างเผ็ดร้อนในครั้งนั้นด้วยอีกประการหนึ่ง

คิโดะได้สูญเสียตำแหน่งในกลุ่มคณาธิปไตยเมจิให้แก่โอกูโบะ โทชิมิจิ และลาออกจากรัฐบาลเพื่อเป็นการประท้วงการรุกรานไต้หวันใน ค.ศ. 1874 ซึ่งเข้าได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างมาก แต่ต่อมาได้กลับเข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้งตามผลการตกลงในการประชุมที่โอซากะในปี ค.ศ. 1875 และเป็นประธานของสภาผู้ว่าราชการจังหวัด (Assembly of Prefectural Governors) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นจากการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับผิดชอบในการถวายการศึกษาแก่จักรพรรดิเมจิผู้ยังทรงพระเยาว์

คิโดะ ทากาโยชิ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1877 ด้วยโรคภัยไข้เจ็บซึ่งเบียดเบียนมานานปี ในเวลานั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับกบฏซัตสึมะ

มรดกจากคิโดะ

แก้

บันทึกส่วนตัวของคิโดะ ได้เปิดเผยถึงความขัดแย้งในความคิดของเขา ระหว่างความภักดีต่อแว่นแคว้นของตนกับความภักดีต่อผลประโยชน์ของชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า บ่อยครั้งเขาจะบันทึกถึงเรื่องการต่อสู้กับข่าวเรื่องการทรยศหักหลังต่อเพื่อนเก่าของตน ทั้งนี้เนื่องจากอุดมคติเรื่องความเป็นรัฐชาติในเวลานั้นยังเป็นเรื่องใหม่ และซามูไรส่วนใหญ่มักเป็นห่วงถึงเรื่องการรักษาสถานะของตนภายในแว่นแคว้นของตนเอง

คิโดะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสามขุนนางผู้ยิ่งใหญ่ (ญี่ปุ่น: 維新の三傑โรมาจิIshin-no-Sanketsuทับศัพท์: อิชิน โนะ ซังเก็ตสึ) ร่วมกับโอกูโบะ โทชิมิจิ และไซโง ทากาโมริ หลานปู่ของเขาคนหนึ่ง คือ คิโดะ โคอิจิ (ญี่ปุ่น: 木戸幸一) ได้เป็นนักการเมืองของกรุงโตเกียวและที่ปรึกษาผู้ใกล้ชิดของจักรพรรดิโชวะ

อ้างอิง

แก้
  • The Diary of Kido Takayoshi. Volume I (1868–1871), Volume II (1871–1874), Volume III (1874–1877). Trans. Sidney DeVere Brown and Akiko Hirota. Tokyo: University of Tokyo Press, 1983, 1985, 1986
  • Akamatsu, Paul. Meiji 1868: Revolution and Counter-Revolution in Japan. Trans. Miriam Kochan. New York: Harper & Row, 1972.
  • Beasley, W. G. The Meiji Restoration. Stanford: Stanford University Press, 1972.
  • Beasley, W. G. The Rise of Modern Japan: Political, Economic and Social Change Since 1850. New York: St. Martin's Press, 1995.
  • Craig, Albert M. Chōshū in the Meiji Restoration. Cambridge: Harvard University Press, 1961.
  • Jansen, Marius B. and Gilbert Rozman, eds. Japan in Transition: From Tokugawa to Meiji. Princeton: Princeton University Press, 1986.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้