สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น

(เปลี่ยนทางจาก สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น)

สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น (รัสเซีย: Ру́сско-япóнская войнá, อักษรโรมัน: Rússko-yapónskaya voyná; ญี่ปุ่น: 日露戦争, อักษรโรมัน: Nichiro sensō, แปลตรงตัว'สงครามญี่ปุ่น-รัสเซีย') เป็น สงครามครั้งใหญ่ครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 อันเนื่องมาจากลัทธิจักรวรรดินิยมของจักรวรรดิรัสเซียและจักรวรรดิญี่ปุ่น ในบริเวณทางใต้ของแมนจูเรียในพื้นที่คาบสมุทรเหลียวตง, เฉิ่นหยาง และบริเวณเกาหลีในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี, ทะเลเหลือง

สงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น

จากบน ซ้ายไปขวา: เรือลาดตระเวนรัสเซีย ปาเบดา ขณะปะทะ, ทหารราบญี่ปุ่นเดินข้ามแม่น้ำยาลู่, กองทหารม้ารัสเซียที่มุกเดน, ศพทหารญี่ปุ่นที่พอร์ตอาเธอร์, เรือลาดตระเวนรัสเซีย วาร์ยัก
วันที่8 กุมภาพันธ์ 1904 – 5 กันยายน 1905
(1 ปี 6 เดือน กับ 3 สัปดาห์)
สถานที่
ผล ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ; เกิดสนธิสัญญาพอร์ตสมัท
ดินแดน
เปลี่ยนแปลง
รัสเซียถอนอิทธิพลจากแมนจูเรีย และ
เสียครึ่งใต้ของเกาะซาฮาลินแก่ญี่ปุ่น
คู่สงคราม
รัสเซีย จักรวรรดิรัสเซีย
ราชรัฐมอนเตเนโกร[1]
จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
จักรพรรดินิโคลัสที่ 2
ซาร์แห่งรัสเซีย
จักรวรรดิรัสเซีย อะเลคเซย์ กูโรแพทกิน
จักรวรรดิรัสเซีย ออสการ์ กริเปนเบิร์ก
รัฐมนตรีว่าการสงคราม
จักรวรรดิรัสเซีย สเตปัน มาคารอฟ 
ผบ.กองเรือแปซิฟิก
ผบ.กองพลทหารราบที่สอง
จักรวรรดิรัสเซีย วิลเง็มล์ วีลเกียฟต์ 
ผบ.กองเรือแปซิฟิก
จักรวรรดิรัสเซีย ซีโนวี โรซเดสท์เวนสกี
ผบ.กองเรือบอลติก
จักรพรรดิเมจิ
จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น
จักรวรรดิญี่ปุ่น โอยามะ อิวาโอะ
รัฐมนตรีว่าการสงคราม
จักรวรรดิญี่ปุ่น โคดามะ เก็นตาโร
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
จักรวรรดิญี่ปุ่น โนงิ มาเรซูเกะ
ผบ.กองพลทหารราบที่สาม
จักรวรรดิญี่ปุ่น โทโง เฮฮาจิโร
ผบ.กองเรือผสม
กำลัง
ราว 500,000 นาย ราว 300,000 นาย
ความสูญเสีย
ตายในการรบ 32,904
บาดเจ็บตาย 6,614
ป่วยตาย 11,170
บาดเจ็บ 146,032
เชลย 74,369[2][3]
ตายในการรบ 47,387
บาดเจ็บตาย 11,425
ป่วยตาย 27,192
บาดเจ็บ 173,425 [2][3]

รัสเซียได้ร้องขอท่าเรือน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกไว้ [4] เพื่อใช้งานด้านกองทัพเรือและการค้าทางทะเลของรัสเซีย เนื่องจากนครวลาดิวอสต็อกของรัสเซียสามารถเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มที่เฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น แต่เมืองพอร์ตอาเธอร์ (ลวี่ชุนเกาในปัจจุบัน) สามารถเปิดดำเนินการได้ตลอดทั้งปี ซึ่งตั้งแต่สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ยุติลง ในปี 1903 รัสเซียไม่สามารถตกลงและเจรจากับญี่ปุ่นได้[5] ญี่ปุ่นจึงเลือกวิธีการทำสงครามเพื่อให้ได้ครอบงำคาบสมุทรเกาหลี ภายหลังการเจรจาอันยากเย็นได้จบลงในปี 1904 กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีภาคตะวันออกของรัสเซียที่พอร์ตอาเธอร์ และฐานทัพเรือในจังหวัดเหลียวตง ที่รัสเซียเช่าจากจีนอยู่ รัสเซียไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ไม่ว่าจะทั้งทั้งทางบกและทางทะเล

ผลการรบคือกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้รับชัยชนะเหนือกองทัพของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งเป็นที่ไม่คาดคิดสำหรับประเทศผู้สังเกตการณ์ต่างๆ จากสงครามครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนสมดุลของขั้วอำนาจโลก ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนรัสเซีย

เบื้องหลัง

แก้

ภายหลังการปฏิรูปเมจิ ในปี 1868 รัฐบาลในสมเด็จพระจักรพรรดิมีนโยบายในการพัฒนาชาติให้เท่าทันตะวันตก[6] โดยการพัฒนาเทคโนโลยี บุคคลากร ให้ทันสมัยต่อโลก จนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่ทันสมัย​​ในเวลาน้อยกว่าครึ่งศตวรรษ ญี่ปุ่นที่รักษาอธิปไตยของพวกเขาไว้ได้รับการยอมรับในฐานะชาติที่เท่าเทียมกับมหาอำนาจตะวันตก

รัสเซียซึ่งถือเป็นจักรวรรดิที่แข็งแกร่งและเป็นมหาอำนาจ มีความทะเยอทะยานต่อดินแดนในเอเชียตะวันออก ในคริสต์ทศวรรษที่ 1890 รัสเซียได้ขยายอาณาเขตไปทั่วเอเชียกลาง ไปยังอัฟกานิสถาน กระบวนการดูดกลืนรัฐท้องถิ่นของรัสเซียยังคงดำเนินไป ญี่ปุ่นที่ได้มีความหวั่นเกรงต่อรัสเซียหวังที่จะมีอิทธิพลในภูมิภาค จึงได้ถือเอาเกาหลีและแมนจูเรียบางส่วนเป็นรัฐหน้าด่าน

สงครามจีน-ญี่ปุ่น (1894–1895)

แก้
 
นายพลชาวจีนจากเปียงยาง ยอมศิโรราบต่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม 1894

รัฐบาลในพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเห็นว่า ราชอาณาจักรเกาหลี ประเทศราชของจักรวรรดิชิงอันเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้ญี่ปุ่นที่สุดนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการปกป้องอธิปไตยและรักษาความปลอดภัยของชาติตน ซึ่งประชากรและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังมีความต้องการทางปัจจัยด้านนโยบายทางต่างประเทศของญี่ปุ่น อย่างน้อยที่สุด ญี่ปุ่นคิดว่าหากญี่ปุ่นไม่ได้เข้าครอบครองเกาหลี ก็หวังว่าเกาหลีจะเป็นเอกราชปราศจากการครอบงำโดยชาติใดๆ

จากชัยชนะของจักรวรรดิญี่ปุ่นเหนือจักรวรรดิชิง นำไปสู่สนธิสัญญาชิโมโนเซกิ[7] และจีนสูญเสียอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีและคาบสมุทรเหลียวตง รวมถึงเสียดินแดนไต้หวัน ให้แก่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามรัสเซียซึ่งยังมีความทะเยอทะยานในภูมิภาคนี้อยู่ ได้พยายามชักชวนเยอรมันและฝรั่งเศส ในการกดดันและบีบญี่ปุ่น โดยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นปลดปล่อยคาบสมุทรเหลียวตง

การรุกคืบของรัสเซีย

แก้

ในเดือนธันวาคม 1897 กองทัพเรือรัสเซียได้ปรากฏขึ้นที่พอร์ตอาเธอร์ เดิมรัสเซียต้องการพอร์ตอาเธอร์ซึ่งเป็นเมืองท่าเขตน้ำอุ่นอยู่แล้ว และต้องการพอร์ตอาเธอร์โดยเร็วที่สุด ในปี 1898 รัสเซียจึงได้เลือกที่จะเช่าพอร์ตอาร์เธอร์, ต้าเหลียงว่าน และน่านน้ำโดยรอบ จากจีน ซึ่งชาวรัสเซียเชื่ออย่างยิ่งว่า วิธีนี้จะทำให้พวกเขาไม่สูญเสียเวลาในการเข้าครอบครอง

ภายหลังเข้าบริหารพอร์ตอาเธอร์แล้ว ปีต่อมารัสเซียได้สร้างทางรถไฟจากฮาร์บิน ผ่านเฉิ่นหยาง [8]สู่พอร์ตอาเธอร์ ซึ่งการพัฒนาทางรถไฟนี้เองเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการก่อกบฏนักมวย [9]

รัสเซียเริ่มที่จะแผ่อิทธิพลเข้าไปในเกาหลี โดยในปี 1898 พวกเขาได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่และการป่าไม้ที่อยู่ใกล้แม่น้ำยาลู่และตูเหมิน [10] ญี่ปุ่นซึ่งจ้องจะปกครองเกาหลีเกิดความวิตกกังวลขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าโจมตีก่อนที่ทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียจะแล้วเสร็จในเวลาอีกไม่กี่ปี

ความร่วมมือด้านหน่วยข่าวกรอง ระหว่างอังกฤษ-ญี่ปุ่น

แก้

ก่อนสงครามจะอุบัติขึ้น หน่วยข่าวกรองของอังกฤษและญี่ปุ่น ได้ร่วมมือกันที่จะต่อต้านรัสเซีย[11] กองทัพบริติชอินเดีย ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่มลายูและจีน มักจะดักจับและอ่านโทรเลขที่เกี่ยวข้องกับการทหารและสงคราม ซึ่งได้มีการแบ่งปันข้อมูลที่ได้มาแก่ญี่ปุ่น [12] ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นก็ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับรัสเซียแก่อังกฤษเป็นภาษาอังกฤษที่สมบูรณ์แบบ ที่เขียนโดยหน่วยข่าวกรองของญี่ปุ่น [13] และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยข่าวกรองของอังกฤษและญี่ปุ่น ได้รวบรวมหลักฐานมาก ว่าเยอรมนีกำลังสนับสนุนรัสเซียเข้าสู่สงคราม เพื่อต้องการให้เกิดความสั่นคลอนทางด้านดุลอำนาจในชาติยุโรป ทำให้อังกฤษได้ตระหนักมากขึ้นถึงภัยคุกคามต่อนานาชาติ[14]

การเจรจาก่อนสงคราม

แก้

รัฐบุรุษ อิโต ฮิโระบุมิ มีความเห็นว่า ญี่ปุ่นควรเจรจากับรัสเซีย โดยญี่ปุ่นยินดีให้รัสเซียครอบครองแมนจูเรียโดยดี และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน รัสเซียก็ต้องยอมให้ญี่ปุ่นเข้าครอบครองเกาหลีตอนเหนือ[15]

ช่วงครึ่งหลังของปี 1903 ญี่ปุ่น-รัสเซียจึงเข้าเจรจาผลประโยชน์ระหว่างกัน ต่างฝ่ายต่างหวังที่จะบรรลุความประสงค์ของตนโดยไม่ต้องใช้กำลัง อย่างไรก็ตาม ในเอกสารร่างสัญญาของทั้งสองฝ่าย มีหลายจุดที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้เสนอข้อเรียกร้องไปยังรัสเซียก่อน ได้เสนอขอบริหารเกาหลีในฐานะผู้อารักขาและยอมให้รัสเซียบริหารแมนจูเรียในฐานะผู้อารักขาเช่นกัน แต่รัสเซียต้องยอมรับสิทธิของญี่ปุ่นในการช่วยปฏิรูปของรัฐบาลเกาหลีตลอดจนด้านการทหาร โดยทั้งสองฝ่ายจะไม่ขัดขวางการพาณิชย์และอุตสาหกรรมของกันและกัน โดยทั้งสองฝ่ายสามารถส่งทหารเข้าไปในเขตบริหารของตนเองได้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และระงับความไม่สงบวุ่นวาย[16]

รัสเซียเห็นว่าข้อเสนอของญี่ปุ่นนั้นดูจะเหมือนการปกครองเกาหลีโดยตรงมากเกินไป รัสเซียจึงยอมให้ญี่ปุ่นเป็นได้แค่เพียงผู้ช่วยและผู้ให้คำปรึกษาต่อรัฐบาลเกาหลีในการพัฒนาประเทศโดยต้องไม่ไปละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพของเกาหลี นอกจากนี้ ยังเสนอให้ญี่ปุ่นต้องแจ้งรัสเซียทราบทุกครั้งเมื่อญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไปในเกาหลี นอกจากนี้ยังเสนอไม่ให้ใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของดินแดนเกาหลีเป็นจุดยุทธศาสตร์ และห้ามใช้พื้นที่ชายฝั่งเกาหลีดำเนินกิจกรรมทางทหารที่เป็นการคุกคามเสรีภาพการเดินเรือในช่องแคบเกาหลี[17]

"...ในระหว่างที่การเจรจาดำเนินไปนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้คำตอบอย่างฉับไวและคิดคำนึงต่อข้อเสนอของรัฐบาลรัสเซียเป็นพิเศษอยู่เสมอ การเจรจานี้ได้ดำเนินมาไม่น้อยกว่าสี่เดือนแล้วและก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถคาดเดาวันได้ข้อสรุปอย่างแน่นอนได้[18] ในสภาพการณ์เช่นนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นคงสามารถทำได้แค่เฝ้ามองด้วยความกังวลใจถึงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการเจรจาต่อรอง"[19] โคมูระ จูตาโร (小村壽太郎) รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น. โทรเลขถึงรัฐมนตรีในรัสเซีย ลงวันที่ 1 ธันวาคม 1903

ต้นเดือนมกราคม 1904 รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งสมมติฐานว่า ทางรัสเซียนั้นแท้จริงแล้วอาจไม่ได้สนใจทั้งเรื่องของแมนจูเรียหรือเกาหลี แค่กำลังซื้อเวลาเพื่อสั่งสมกำลังทหารเท่านั้น[20] ดังนั้น ในวันที่ 13 มกราคม ญี่ปุ่นจึงได้ส่งทูตไปยังรัสเซียอีกครั้ง ว่าญี่ปุ่นจะไม่ก้าวก่ายอิทธิพลของรัสเซียแมนจูเรีย และรัสเซียก็ต้องไม่ก้าวก่ายอิทธิพลของญี่ปุ่นในเกาหลี เวลาผ่านไปยี่สิบวันก็ไร้การตอบกลับใดๆ จากรัสเซีย การไร้ปฏิกิริยานี้สอดคล้องกับสมมติฐานของญี่ปุ่น ในที่สุด ญี่ปุ่นตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1904[20][21]

ประกาศสงคราม

แก้
 
ดินแดนแมนจูเรียทั้งหมด โดยที่สีแดงอ่อนคือแมนจูเรียของรัสเซีย

จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามต่อรัสเซียในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1904 [22] อย่างไรก็ตาม สามชั่วโมงก่อนที่รัฐบาลรัสเซียจะได้รับทราบถึงคำประกาศสงคราม กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นทำการโจมตีกองเรือรัสเซียทางตะวันออกของพอร์ตอาเธอร์ เมื่อข่าวการโจมตีทราบไปถึงจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ก็ถึงกับทรงตื่นตะลึง ทรงไม่เชื่อว่าญี่ปุ่นจะสามารถกระทำสงครามโดยไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ประกอบกับก่อนหน้านั้นทรงได้รับคำยืนยันจากรัฐมนตรีของพระองค์ว่า ญี่ปุ่นจะไม่ใช้กำลังทางทหาร ซึ่งรัสเซียได้ประกาศสงครามในแปดวันต่อมา[23]

ญี่ปุ่นที่ชาญฉลาดได้อ้างถึงการโจมตีสวีเดนโดยรัสเซียเมื่อปี 1809 ว่าครั้งนั้นรัสเซียก็ไม่ได้ประกาศสงครามก่อน อีกทั้งการเปิดฉากโจมตีก่อนคำประกาศสงครามในขณะนั้นก็ยังไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ข้อบังคับที่กำหนดให้ต้องประกาศสงครามก่อนการโจมตีนั้นถูกกำหนดขึ้นภายหลังในการประชุมสันติภาพครั้งที่สองในกรุงเฮก เมื่อเดือนตุลาคม 1907 โดยมีผลตั้งแต่ 26 มกราคม 1910 [24]

จักรวรรดิชิงซึ่งแพ้สงครามต่อญี่ปุ่นมาแล้วได้มีความพยายามเอาใจญี่ปุ่น โดยการเสนอความช่วยเหลือทางการทหารไปยังญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นก็ได้ปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม ยฺเหวียน ชื่อไข่ อุปราชแห่งจี๋ลี่และผู้บัญชาการกองทัพเป่ยหยาง ได้ส่งทูตไปพบกับนายพลของญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้ง เพื่อมอบอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชาวแมนจูเรียบางส่วนก็เข้าร่วมรบกับทั้งสองฝ่าย ในฐานะทหารรับจ้าง

แนวร่วมของรัสเซีย

แก้

มอนเตเนโกร ได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น เป็นสัญญาณของการสนับสนุนทางทหารสำหรับรัสเซีย เนื่องด้วยเป็นการตอบแทนรัสเซียในการช่วยมอนเตเนโกรต่อการต่อต้านจักรวรรดิออตโตมัน แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดทางการขนส่งและระยะทาง ผลงานและความพยายามในการช่วยเหลือรัสเซียจึงถูกจำกัด โดยการส่งทหารชาวมอนเตเนโกรจำนวนเล็กน้อยเข้าร่วมกับกองทัพจักรวรรดิรัสเซียแทน

เหตุการณ์ในปี 1904

แก้

พอร์ตอาเธอร์บนคาบสมุทรเหลียวตงทางตอนใต้ของดินแดนแมนจูเรีย ได้กลายเป็นฐานทัพเรือสำคัญของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อรัสเซียในการมีอำนาจและอิทธิพลในทะเลตะวันออก และเพื่อการนั้น รัสเซียจึงต้องประมือกับญี่ปุ่นเป็นอย่างแรก

ยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์

แก้
 
กองปืนใหญ่ของรัสเซียบนชายฝั่งระดมยิงต่อต้านกองเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น

คืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1904 จักรพรรดินาวีญี่ปุ่นภายใต้บัญชาการของ พลเรือโทโทโง เฮฮาจิโร ได้เปิดศึกโดยเรือพิฆาตตอร์ปิโด[25] ได้โจมตีเรือรบของรัสเซียที่พอร์ตอาเธอร์ จากการโจมตีนั้นได้สร้างความเสียหายให้แก่เรือรบ เชซาเรวิช และ เร็ทวิซัน เรือรบที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือรัสเซีย ที่ลอยลำอยู่ทางตะวันออก และ เรือลาดตระเวน พัลลาดา[26] จากการโจมตีเหล่านี้ได้พัฒนาในการต่อสู้ของกองทัพเรือรัสเซียในเช้าวันถัดไป ทำให้กองเรือจักรพรรดินาวีญี่ปุ่นมีความลังเลที่จะโจมตีต่อ ซึ่งนี่เองทำให้กองเรือของพลเรือโทโทโงไม่สามารถที่จะโจมตีเรือของรัสเซียได้ เพราะว่ากองเรือของรัสเซียถูกปกป้องโดยกองปืนใหญ่ที่อยู่บนชายฝั่ง ถึงกระนั้นรัสเซียก็มีความลังเลที่จะออกเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเสียชีวิตของพลเรือโทสเตปัน มาคารอฟ เมื่อ 13 เมษายน 1904

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการเหล่านี้ก้ได้เปิดช่องทางให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถยกพลขึ้นบกที่อินชอน ในเกาหลีได้ ซึ่งต่อมาไม่นานญี่ปุ่นก็เข้ายึดครองกรุงฮันยัง (โซล) และเกาหลีก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งต่อมา กองพลที่ 1 ของพลตรีทาเมโมโตะ ก็พร้อมที่จะข้ามแม่น้ำยาลู่เพื่อยึดครองแมนจูเรีย

การรบที่แม่น้ำยาลู่

แก้
 
ภาพวาดยุทธการที่แม่น้ำยาลู่ วาดโดยวะตะนะเบะ โนะบุกะซุ ในปี 1904

วันที่ 30 เมษายน 1904 ยุทธการที่แม่น้ำยาลู่กลายเป็นการรบภาคพื้นดินครั้งแรกของสงคราม กองพลที่หนึ่งแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งเคลื่อนพลจากเกาหลีได้ข้ามแม่น้ำยาลู่เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู้แมนจูเรียได้บุกโจมตีที่ตั้งของรัสเซีย โดยการวางแผนอย่างดีโดยพลตรีคุโระกิ รัสเซียซึ่งพ่ายแพ้ทางกลยุทธ์ของญี่ปุ่นและมีกำลังทางทหารที่น้อยกว่าจึงได้รับคำสั่งให้ถอยทัพ จากความพ่ายแพ้ของกองกำลังเฉพาะกิจรัสเซียตะวันออก ได้ทำให้รัสเซียล้มเลิกความคิดที่ว่า การทำสงครามกับญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องง่ายและรัสเซียจะได้รับชัยชนะในเวลาอันสั้น[27] ทหารญี่ปุ่นได้รุดหน้าต่อไปยังอีกหลายจุดบนชายฝั่งดินแดนแมนจูเรีย และขับไล่รัสเซียให้ถอยร่นกลับไปพอร์ตอาเธอร์ ซึ่งเมื่อกองทัพญี่ปุ่นตามไปถึงพอร์ตอาเธอร์ในวันที่ 25 พฤษภาคมแล้ว ก็เกิดการรบขึ้นที่เรียกว่ายุทธการที่หนานชาง ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นได้รับชัยชนะ แต่ก็ต้องสูญเสียกำลังพลไปจำนวนมากจากความพยายามในการรักษาฐานที่มั่นของรัสเซีย

การปิดล้อมพอร์ตอาเธอร์

แก้
 
ภาพวาดพื้นที่สมรภูมิ การปิดล้อมพอร์ตอาเธอร์

ในคืนวันที่ 13- 14 กุมภาพันธุ์ 1904 ญี่ปุ่นได้พยายามที่จะปิดกั้นทางเข้าทางทะเลสู่พอร์ตอาเธอร์ โดยได้จมเรือกลไฟบรรทุกซีเมนต์หลายลำในเขตน้ำลึกก่อนที่จะเข้าถึงท่าเรือแต่ก็ไม่เป็นผล[28] ในขณะความพยายามของครั้งที่สองในการปิดล้อมพอร์ตอาเธอร์ในคืนวันที่ 3-4 พฤษภาคม 1904 เองก็ล้มเหลว ซึ่งก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม พลเรือโทมาคารอฟได้รับคำสั่งจากกองเรือแปซิฟิกที่หนึ่งในการทลายการปิดล้อม

12 เมษายน 1904 เรือรบรัสเซียสองลำ อันได้แก่ เรือธงเปโตรปาวลอฟสค์ (Petropavlovsk) และเรือลาดตระเวน โปเบดา (Pobeda) มุ่งหน้าออกจากพอร์ตอาเธอร์ แต่ก็ถูกทุ่นระเบิดของญี่ปุ่นเสียก่อนบริเวณปากทางเข้า ทำให้เรือธงเปโตรปาวลอฟสค์อัปปางลงในทันทีในขณะที่เรือปาเบดาถูกลากกลับไปที่ท่าเพื่อซ่อมแซม ซึ่งในเหตุการณ์นี้พลเรือโทมาคารอฟได้เสียชีวิตไปพร้อมกับเรือธงเปโตรปาวลอฟสค์

15 เมษายน 1904 รัฐบาลรัสเซียได้แสดงการคุกคามผู้สื่อข่าวอังกฤษที่กำลังโดยสารเรือการข่าวของอังกฤษ ไฮ้มุ๋น ไปในพื้นที่ปะทะ เพื่อรายงานสถานการณ์ไปยังสำนักงานของหนังสือพิมพ์ Times ในกรุงลอนดอน ซึ่งรัสเซียกังวลว่าสื่ออังกฤษจะตีพิมพ์ถึงสถานการณ์ว่ารัสเซียที่กำลังเพลี่ยงพล้ำแก่กองเรือญี่ปุ่น

รัสเซียเรียนรู้ถึงกลยุทธ์ของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ในเรื่องของทุ่นระเบิด ในวันที่ 15 พฤษภาคม 1904 รัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการเอาคืน โดยเป้าหมายคือเรือรบญี่ปุ่นสองลำ ยาชิมะ และ ฮัตสึเซะ ซึ่งเรือทั้งสองลำได้ถูกทุ่นระเบิดของรัสเซีย เรือฮัตสึเซะอัปปางลงในเวลาไม่กี่นาที พร้อมๆกับลูกเรือ 450 นาย ในขณะที่ยาชิมะ ถูกทุ่นระเบิดขณะกำลังถูกลากจูงไปซ่อมบำรุง ต่อมาในวันที่ 23 มิถุนายน 1904 ความพยายามในการทลายวงล้อมภายใต้คำสั่งของพลเรือตรีวีลเกียฟต์ล้มเหลว ซึ่งในปลายเดือน กองเรือญี่ปุ่นเริ่มโจมตีท่าเรือพอร์ตอาเธอร์ด้วยปืนใหญ่

การล้อมโจมตีพอร์ตอาเธอร์

แก้
 
การระดมยิงในภารกิจล้อมโจมตีพอร์ตอาเธอร์ 1904

การล้อมโจมตีพอร์ตอาเธอร์ ได้เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 1904 ช่วงเวลาเดียวกันกับการปิดล้อมพอร์ตอาเธอร์ กองทหารญี่ปุ่นได้พยายามโจมตีป้อมรัสเซียบนยอดเขาที่สามารถมองเห็นท่าเรืออยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายมากกว่าพันนายในภารกิจนี้

แต่ด้วยความสามารถของหมู่ปืนใหญ่ Krupp howitzers (เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกปืน: 11 นิ้ว) ผลิตโดยเยอรมัน ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเข้ายึดครองป้อมปราการนี้ได้ในเดือนธันวาคม 1904 การยึดป้อมปราการนี้เองทำให้กองทหารญี่ปุ่นเกิดความได้เปรียบ เนื่องจากสามารถยิงปืนใหญ่ระยะไกลสู่เขตของกองเรือรัสเซียได้ ซึ่งทำให้กองเรือรัสเซียไม่สามารถตอบโต้กองปืนใหญ่ภาคพื้นดินของญี่ปุ่นอย่างมีประสิทธิผล และไม่สามารถฝ่าวงล้อมของกองเรือญี่ปุ่นที่ปิดอ่าวอยู่ได้ ญี่ปุ่นสามารถจมเรือ 4 ลำของรัสเซียไปในภารกิจนี้ ด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น นี่เป็นกรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์และการทหารที่สำคัญ ที่กองทหารบกสามารถมีชัยเหนือกองเรือโดยการยิงปืนใหญ่

เมื่อความพยายามในการรักษาฐานที่มั่นจากการโอบล้อมของญี่ปุ่นได้ล้มเหลวลง กองกำลังรัสเซียภาคเหนือ ได้ถอยร่นจากพอร์ตอาเธอร์ไปยังมุกเดน (เฉิ่นหยาง) พลตรี อนาตอลี สเตสซีล ผู้บัญชาการกองทหารรักษาการพอร์ตอาเธอร์ กล่าวว่า เป้าหมายที่จะต้องปกป้องเมืองได้สูญสิ้นไปทั้งหมดภายหลังจากที่กองเรือถูกทำลาย และแต่ละครั้งที่ญี่ปุ่นโจมตี ฝ่ายรัสเซียก็บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีความสูญเสียนั้นน้อยมาก เรื่องนี้ส่งผลให้ พลตรี สเตสซีล ตัดสินใจยอมจำนนต่อนายพลของญี่ปุ่นในวันที่ 2 มกราคม 1905 ทำให้ญี่ปุ่นเข้ายึดครองพอร์ตอาเธอร์ได้สำเร็จ ซึ่งการตัดสินใจของพลตรีสเตสซีลครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจโดยตัวของเขาเอง ไม่มีการแจ้งหรือขอคำปรึกษาต่อต้นสังกัดหรือรัฐบาลพระเจ้าซาร์มาก่อน ซึ่งล้วนแต่คัดค้านและไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจโดยพลการของเขา ซึ่งทำให้ในปี 1908 เขาถูกพิพากษาประหารชีวิต ด้วยเหตุผลการป้องกันดินแดนในอารักขาที่ไร้ความสามารถของเขา และกระทำการฝ่าผืนคำสั่ง

ยุทธนาวีทะเลเหลือง

แก้
เรือธง มิกะซะ ของพลเรือโทโทโง
เรือธง เชซาเรวิช ของพลเรือตรีวีลเกียฟต์

ด้วยการถึงแก่อนิจกรรมในการรบ ของพลเรือโทสเตปัน มาคารอฟ ระหว่างการปิดล้อมพอร์ตอาเธอร์ในเดือนเมษายน 1904 ทางกองทัพส่วนกลางของรัสเซีย ได้แต่งตั้ง พลเรือตรีวิลเง็มล์ วีลเกียฟต์ มาเป็นผู้บัญชาการประจำกองบัญชาการกองเรือตะวันออก พร้อมกันนี้ได้รับคำสั่งให้โจมตีกองกำลังญี่ปุ่นที่พอร์ตอาเธอร์ และเคลื่อนพลไปเสริมที่วลาดิวอสต็อก ในการนี้เขาได้บัญชาการเรือธง เชซาเรวิช (Tsesarevich) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือธงที่ทรงเกียรติที่สุดของรัสเซีย

พลเรือตรีวีลเกียฟต์ ได้เคลื่อนกองเรือของเขา ซึ่งประกอบด้วย 6 เรือประจัญบาน, 4 เรือลาดตระเวน และ 14 เรือพิฆาตตอร์ปิโด สู่ทะเลเหลือง ในเช้ามืดวันที่ 10 สิงหาคม 1904 ซึ่งที่นั่น กองเรือญี่ปุ่นที่บัญชาการโดย พลเรือโทโทโง เฮฮาจิโร ประกอบด้วย 4 เรือประจัญบาน, 10 เรือลาดตระเวน และ 18 เรือพิฆาตตอร์ปิโด ได้มารออยู่แล้ว

เวลา 12.15น. โดยประมาณ กองเรือทั้งสองอยู่ในระยะที่สามารถมองเห็นกันและกัน และในเวลาประมาณ 13.00น. นายพลโทโง ได้เดินกระบวนเรือญี่ปุ่นตัดหน้ากระบวนเรือรัสเซียเป็นรูปตัว T และเริ่มยิงหมู่ปืนหลักเป็นระยะทาง 12 กิโลเมตร ซึ่งไกลที่สุดเท่าที่มีการเคยบันทึกในขณะนั้น[29] กองเรือรัสเซียได้ยิงปืนใหญ่ตอบโต้กลับ แต่ด้วยระยะห่างของทั้งคู่จึงยังไม่มีกระสุนโดนเป้า เวลาผ่านไปราว 30 นาทีหลังการเริ่มระดมยิงอย่างต่อเนื่อง ทั้งคู่ได้อยู่ในระยะห่าง 6 กิโลเมตร และเริ่มโจมตีด้วยหมู่ปืนรอง เวลาประมาณ 18.30น. กระสุนปืนใหญ่ลูกหนึ่งจากเรือของนายพลโทโง ตกยังสะพานเดินเรือของเรือธงที่นายพลวีลเกียฟต์บัญชาการอยู่ และสังหารเขาในทันที

จากกระสุนปืนใหญ่ลูกเมื่อครู่ ทำให้หางเสือของเรือธงเชซาเรวิช เกิดการติดขัดทำให้เธอแล่นไปในทิศทางที่ผิด ซึ่งทำให้กองเรือรัสเซียเกิดความสับสน อย่างไรก็ตาม พลเรือโทโทโง ได้ตัดสินใจที่จะจมเชซาเรวิช และระดมยิงเธอต่อไป แต่เธอก็ได้ถูกช่วยเหลือไว้จากเรือรบนามบุรุษว่า เร็ตวีซัน (Retvizan) ซึ่งได้มาลากเธอออกไปจากดงกระสุนปืนใหญ่ของนายพลโทโง[30] นายพลโทโงซึ่งรับรู้ถึงการมาเยือนของกองเรือบอลติกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่เสี่ยงที่จะไล่ตามไปโจมตีและถอนกำลังกลับพอร์ตอาเธอร์ ความดีความชอบของโทโงทำให้เขาได้รับยศเป็นพลเรือเอกในเดือนมิถุนายน 1904

การเคลื่อนพลของกองเรือบอลติก

แก้
 
เส้นทาง วันที่และตำแหน่งของกองเรือบอลติก

จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ทรงประสงค์พิชิตญี่ปุ่นโดยเร็ว จึงส่งกองเรือบอลติกที่ประจำอยู่ยุโรปมาสนับสนุนกองเรือตะวันออก กองเรือบอลติก (หรือกองเรือแปซิฟิกที่ 2) อยู่ภายใต้การบัญชาการของ พลเรือตรีซีโนวี โรซเดสท์เวนสกี

กองเรือเริ่มออกเดินทางในวันที่ 15 ตุลาคม 1904 ซึ่งจะต้องเดินทางด้วยระยะทางเกือบครึ่งโลกจากทะเลบอลติกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และต้องใช้เส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮปซึ่งเป็นเส้นทางที่ไกลกว่า อันเป็นผลมาจากกรณีทะเลเหนือ (อังกฤษ: Dogger Bank incident) ที่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 1904 กองเรือรัสเซียยิงเรือประมงอังกฤษที่พวกเขาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรือตอร์ปิโดของศัตรู ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษอ้างเหตุผลนี้ในการไม่อนุญาตให้กองเรือรัสเซียเดินเรือผ่านคลองสุเอซ ทำให้กองเรือรัสเซียต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกว่า 7 เดือน การเคลื่อนพลครั้งนี้ได้รับความสนใจจากชาวรัสเซียและยุโรปมาก

เนื่องจากระยะทางที่ไกลมาก ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก อันเป็นผลมาจากความไม่คุ้นเคยต่อสภาพอากาศของลูกเรือ, ปัญหาด้านเครื่องยนต์ขัดข้อง ตลอดจนการซื้อถ่านหินตามเมืองท่ารายทางนั้นก็ลำบาก เนื่องจากเมืองท่าของอังกฤษปฏิเสธการจำหน่ายถ่านหินแก่กองเรือบอลติก

เหตุการณ์ในปี 1905

แก้

ยุทธการซันเดปุ

แก้

ระหว่างวันที่ 25 ถึง 29 มกราคม กองพลที่สองของจักรวรรดิรัสเซียภายใต้บัญชาของ นายพลออสการ์ กริเปนเบิร์ก เข้าโจมตีขนาบข้างกองทหารญี่ปุ่นใกล้กับตำบลซันเดปุ (ทางใต้ของมุกเดน) โดยที่กองทหารญี่ปุ่นนั้นไม่ทันตั้งตัว การโจมตีดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ด้วยขาดการสนับสนุนจากกองทหารรัสเซียหน่วยอื่นทำให้รัสเซียต้องยุติการโจมตีโดยคำสั่งจาก พลเอก อะเลคเซย์ กูโรแพทกิน รัฐมนตรีว่าการสงคราม และไม่สามารถตัดสินผลการรบได้ ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นก็ตระหนักได้ว่า ญี่ปุ่นต้องทำลายกองทหารราบของรัสเซียให้สิ้นก่อนที่กำลังเสริมของรัสเซียจะมาถึงผ่านทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย

ยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ

แก้

ระหว่างที่กองเรือแปซิฟิกที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย (กองเรือบอลติก) เดินทางข้ามทะเลกว่า 33,000 กิโลเมตรมาพอร์ตอาเธอร์ ขวัญและกำลังใจของทหารเรือรัสเซียถูกบั่นทอนไปอย่างมากตั้งแต่กองเรือเดินทางถึงมาดากัสการ์ และทราบข่าวถึงความพ่ายแพ้อย่างหมดท่าที่พอร์ตอาเธอร์ พลเรือตรีโรซเดสท์เวนสกี ตอนนี้ได้แต่หวังให้กองเรือไปถึงท่าเรือวลาดิวอสต็อกโดยเร็วที่สุด ซึ่งมีอยู่ 3 เส้นทางด้วยกันที่จะยังวลาดิวอสต็อก ซึ่งเส้นทางที่ใกล้ที่สุดต้องผ่านช่องแคบสึชิมะ ที่อยู่ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่น แต่ทั้งนี้ เส้นทางนี้ก็เป็นเส้นทางที่เสี่ยงที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่กองเรือญี่ปุ่นใช้สัญจรระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีซึ่งญี่ปุ่นตั้งฐานทัพเรืออยู่

พลเรือเอกโทโงได้ตระหนักอย่างดีถึงความเคลื่อนไหวของรัสเซียภายหลังจากเสียดินแดนพอร์ตอาเธอร์ไป ว่ากองเรือรัสเซียกำลังพยายามไปเทียบท่าที่ท่าเรือรัสเซียอื่นๆในตะวันออกไกล ตลอดจนวลาดิวอสต็อก ระหว่างนี้ นายพลโทโงได้เริ่มวางแผนการรบ และซ่อมบำรุงเรือรบต่างๆ เพื่อเตรียมรับกับการมาเยือนของกองเรือบอลติก

กองเรือผสมของญี่ปุ่น แต่เดิมมีเรือประจัญบาน 6 ลำ ได้ถูกปรับลดเหลือ 4 ลำ (2 ลำนำไปใช้งานเกี่ยวกับเหมืองแร่) และมีเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาตตอรืปิโดตลอดจนเรืออื่นๆ อีก 104 ลำ ในขณะที่กองเรือบอลติก ประกอบด้วยเรือประจัญบาน 8 ลำ ซึ่งในจำนวนนี้มีเรือชั้น บอร์โอดิโน (Borodino) ซึ่งเป็นเรือชั้นใหม่ เข้าร่วมภารกิจด้วย และประกอบด้วยเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาตตอรืปิโดตลอดจนเรืออื่นๆ รวมกันอีก 20 ลำ

 
เช้าวันที่ 27 พฤษภาคม 1905 ภาพถ่ายกองเรือญี่ปุ่นมุ่งหน้าสู่กองเรือบอลติก

ปลายเดือน พฤษภาคม 1905 กองเรือบอลติกใกล้จะถึงวลาดิวอสต็อก และเลือกเส้นทางที่ใกล้และเสี่ยงกว่า คือผ่านช่องแคบสึชิมะ โดยเลือกที่จะเดินทางในตอนกลางคืนเพื่อเลี่ยงที่จะถูกตรวจเจอ แต่นับเป็นโชคร้ายของกองเรือรัสเซีย ขณะผ่านช่องแคบในคืนวันที่ 26 พฤษภาคม 1905 เรือพยาบาลที่ตามมายังคงเปิดเดินเครื่องยนต์และส่องไฟเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายการสงคราม[31] ทำให้กองเรือบอลติกถูกตรวจเจอโดยกองเรือลาดตระเวนรับจ้างของญี่ปุ่น ชินาโนะมารุ โดยได้ส่งสัญญาณวิทยุแจ้งไปยังศูนย์บัญชาการของพลเรือเอกโทโง และกองเรือผสมก็ได้รับคำสั่งออกปฏิบัติการในทันที[32] นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองทหารเรือของญี่ปุ่นที่ไปสอดแนมมา ว่ากองเรือรัสเซีย จัดกระบวนเรือเป็นแถวตอนเรียงสอง ทำให้นายพลโทโง ตัดสินใจจะทำการ "ข้ามกระบวน T"[33] กับกระบวนเรือรัสเซีย (นำกระบวนเรือฝ่าอีกกระบวนเรือในทิศทางตั้งฉาก) การปะทะเปิดฉากขึ้น ในเวลา 14.08น. ของวันที่ 27 พฤษภาคม โดยกองเรือรัสเซียเปิดฉากโจมตีด้วยการระดมยิงใส่กองเรือผสมของญี่ปุ่น กองเรือญี่ปุ่นแล่นตัดทะลุกระบวนเรือทั้งสองแถวของรัสเซียทำมุม 40° แล้วเลี้ยวกลับเป็นรูปตัวยู (U) หัวแถวของกองเรือรัสเซียเสียขบวน และถูกบีบให้แล่นขนานกับกองเรือผสมของนายพลโทโง ควันจากปล่องไฟของกองเรือรัสเซียลอยบังทางปืนของตัวเอง จากนั้นเรือรบทุกลำของกองเรือญี่ปุ่นก็ระดมยิงใส้เรือกองเรือบอลติก กองเรือบอลติกไม่สามารถต้านทางกองเรือญี่ปุ่นได้จนเรือหลายลำต้องหนี แต่หลายลำก็ถูกไล่ตามจนทัน การรบวันแรกสิ้นสุดลงในเวลา 19.27 โดยมีเรือรบรัสเซียบางส่วนหนีรอดไปได้ ซึ่งกองเรือญี่ปุ่น ได้ปฏิบัติการไล้ตามในเช้าวันรุ่งขึ้น

เมื่อการรบสิ้นสุดลง มีเรือรัสเซียเพียง 3 ลำเท่านั้นที่หนีรอดไปถึงวลาดิวอสต็อก ส่วนที่เหลือถูกญี่ปุ่นจมและยึด กำลังพลรัสเซียเสียชีวิตกว่า 5,000 นาย และถูกจับเป็นเชลยกว่า 6,000 นายส่วนกำลังพลญี่ปุ่นเสียชีวิต 117 นาย ข่าวที่กองเรือบอลติกพ่ายแพ้หมดสภาพในเวลาแค่วันเดียว สร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งรัสเซียและยุโรป รัสเซียซึ่งขนะนี้ไม่เหลือศักยภาพที่จะสู้รบกับญี่ปุ่นได้อีก จึงยอมจำนน และนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาพอร์ตสมัท เป็นอันสิ้นสุดสงคราม กองทัพเรือรัสเซียได้ถูกตำหนิอย่างรุนแรงและเกิดความไม่พอใจรัฐบาลขึ้นในหมู่ประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นของความตกต่ำของราชวงศ์โรมานอฟ กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ประจักษ์แสนยานุภาพต่อนานาชาติ และขึ้นมาแทนที่อันดับของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย

ภายหลังสงคราม

แก้

การสงบศึก

แก้
 
การประชุมเจรจาสงบศึก ที่สหรัฐอเมริกา

แม้ว่าทางพฤตินัย การรบจะสิ้นสุดลงตั้งแต่รัสเซียพ่ายแพ้ในยุทธนาวีช่องแคบชิสึมะ แต่ในทางนิตินัยถือว่าสงครามได้ยุติลง เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ (สนธิสัญญาสงบศึก) ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลพระเจ้าซาร์เผชิญกับกระแสการปฏิวัติ ประชาชนขยาดต่อสงคราม แท้จริงแล้ว ภายหลังยุทธนาวีช่องแคบชิสึมะ ทางรัฐบาลพระเจ้าซาร์จะส่งทหารเข้าไปรบต่ออีกก็ย่อมได้ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ, สถานะการคลังของรัฐบาล ตลอดจนความพ่ายแพ้ในศึกครั้งผ่านๆมาทั้งทางบกและทางทะเลต่อญี่ปุ่นได้สร้างความอับอายเกินกว่าที่จะรับได้อีก เช่นนั้นแล้ว จักรพรรดิซาร์นิโคลัสที่ 2 จึงทรงเลือกที่จะเจรจาสันติภาพกับญี่ปุ่น (การยอมจำนน) เพื่อที่รัฐบาลกลางจะได้มีสมาธิในการจัดการความยุ่งยากและความปั่นป่วนภายในประเทศที่เริ่มปะทุขึ้น

ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เสนอให้สหรัฐอเมริกาเป็นคนกลางในการจัดเจรจาสันติภาพนี้ขึ้น ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในเวลาต่อมา ฝ่ายรัสเซียได้ส่ง เซรกี วิตเต เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายรัสเซีย ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นมี รัฐมนตรีโคะมุระ จุตะโร ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายญี่ปุ่น และได้ลงนามในสันธิสัญญาสันติภาพ ในวันที่ 5 กันยายน 1905 ณ อู่ทัพเรือพอร์ตสมัท ในตำบลพอร์ทสมัท ของรัฐนิวแฮมป์เชอร์ ทำให้สนธิสัญญานี้ถูกรู้จักกันในชื่อ "สนธิสัญญาพอร์ตสมัท" ในการนี้รัสเซียให้การยอมรับว่าเกาหลีเป็นเขตใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น และรัสเซียตกลงที่จะย้ายออกจากเกาหลีไปแมนจูเรีย นอกจากนี้ ภายหลังลงนาม ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ยังสนับสนุนให้รัสเซียปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ญี่ปุ่น ซึ่งในตอนแรก โคะมุระได้เรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามจากรัสเซียสูงถึง 15,000 ล้านเยน (1,490 ล้านปอนด์)[34] ก่อนที่ฝ่ายญี่ปุ่นจะยินยอมไม่คิดค่าปฏิกรรมสงครามตามที่สหรัฐอเมริกาเสนอมา

รัสเซียได้ยุติสัญญาสิทธิ 25 ปีในการเช่าพอร์ตสมัท ตลอดจนน่านน้ำและคาบสมุทรในบริเวณนั้น และยกครึ่งหนึ่งส่วนใต้ของเกาะซาฮาลินแก่ญี่ปุ่น ซึ่งต่อมา ญี่ปุ่นได้เสียดินแดนส่วนนี้แก่สหภาพโซเวียตภายหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

ผลกระทบทางการเมือง

แก้
 
ภาพวาดล้อเลียนของสื่ออังกฤษ; "บัลลังก์พระเจ้าซาร์กำลังสั่นคลอนเนื่องด้วยการสงครามกับญี่ปุ่น"

ชัยชนะของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะในสงครามใหญ่ครั้งแรกของชาติตะวันออกในยุคใหม่ที่มีเหนือชาติยุโรป ข่าวการพ่ายแพ้ของรัสเซียได้สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วทั้งยุโรปตลอดจนอาณานิคมต่างๆ ชื่อเสียงและบารมีของญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในเวทีโลก และเริ่มได้รับการยอมรับในฐานะประเทศทันสมัย ขณะเดียวกัน รัสเซียที่สูญเสียกองเรือบอลติกนั้น แทบจะหมดความภาคภูมิและความน่ายำเกรงต่อชาติอื่นๆในยุโรป ย้อนไปเมื่อครั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ตอนนั้นรัสเซียเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับฝรั่งเศสและเซอร์เบีย การพ่ายแพ้ของรัสเซียในครั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เพื่อที่จะวางแผนทำสงครามต่อฝรั่งเศสและเซอร์เบีย

การคลัง

แก้

ก่อนสงคราม รัสเซียมีทองคำสำรองในท้องพระคลังมูลค่ากว่า 106.3 ล้านปอนด์ แต่รัสเซียกลับขาดดุลงบประมาณแผ่นดินติดต่อกันหลายปีจนต้องกู้เงินจากต่างประเทศ[35] งบประมาณด้านสงครามส่วนใหญ่ของรัสเซียใช้เงินกู้จากฝรั่งเศสเป็นหลัก แม้ว่าฝรั่งเศสจะไม่ต้องการเข้ามีส่วนร่วมในการสงครามทั้งทางตรงและอ้อม แต่รัฐบาลฝรั่งเศสตลอดจนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสก็จำใจต้องให้เงินกู้แก่รัสเซียด้วยตระหนักว่าผลประโยชน์ตลอดจนเศรษฐกิจของสองประเทศนั้นถูกผูกไว้ด้วยกัน วงเงินกู้แรกมีมูลค่า 800 ล้านฟรังก์ (30.4 ล้านปอนด์) วงเงินกู้ครั้งต่อมาจะมีมูลค่า 600 ล้านฟรังก์แต่ก็ถูกยกเลิกก่อน นอกเหนือไปจากการกู้เงินจากฝรั่งเศส รัสเซียยังได้ทำการกู้เงินจำนวน 500 ล้านมาร์กจากเยอรมัน ซึ่งเยอรมันเองก็จัดสรรเงินกู้เพื่อการสงครามให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นด้วย[35][36]

อีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นมีทองคำสำรองมูลค่าเพียง 11.7 ล้านปอนด์ (118 ล้านเยน) ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นต้องทำสงครามกับรัสเซีย เงินทุนส่วนใหญ่ในการทำสงครามจึงมาจากการก่อหนี้ ญี่ปุ่นตั้งงบประมาณสำหรับสงครามครั้งนี้ไว้ไม่เกิน 1,721 ล้านเยน[34] ในจำนวนนี้ 42% เป็นเงินกู้ในประเทศ และอีก 40% เป็นเงินกู้ต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่กู้จากสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ที่เหลืออีก 11% ใช้เงินคลังของรัฐบาลญี่ปุ่น[34] อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามสิ้นสุดพบว่าการเบิกจ่ายจริงอยู่ที่ราว 1,500 ล้านเยน

รายชื่อการปะทะ

แก้

รายชื่อการปะทะเรียงตามลำดับเหตุการณ์

อ้างอิง

แก้
  1. "Montenegro, Japan to declare truce," United Press International (US); "Montenegro, Japan End 100 Years' War," History News Network (US). citing World Peace Herald, 16 June 2006; Montenegrina, digitalna biblioteka crnogorske kulture (Montegreina, digital library of Montenegrin culture), Istorija: Đuro Batrićević, citing Batrićević, Đuro. (1996). Crnogorci u rusko-japanskom ratu (Montenegrins in the Russo-Japanese War); compare Dr Anto Gvozdenović: general u tri vojske. Crnogorci u rusko-japanskom ratu (Dr. Anto Gvozdenovic: General in Three Armies; Montenegrins in the Russo-Japanese War)
  2. 2.0 2.1 Samuel Dumas, Losses of Life Caused By War (1923)
  3. 3.0 3.1 Erols.com, Twentieth Century Atlas – Death Tolls and Casualty Statistics for Wars, Dictatorships and Genocides.
  4. Forczyk, p. 22 "Tsar's diary entry"
  5. John Steinburg, Was the Russo-Japanese Conflict World War Zero?. p. 2.
  6. Harwood 2006, p. 128
  7. Rewriting the Russo-Japanese War: A Centenary Perspective, Schimmelpenninick van der Oye, p. 80.
  8. Jukes, Geoffrey page 9
  9. Connaughton, pp. 19–20
  10. Paine, p. 317
  11. Chapman, John W. M. "Russia, Germany and the Anglo-Japanese Intelligence Collaboration, 1896–1906" pages 41–55 from Russia War, Peace and Diplomacy edited by Mark & Ljubica Erickson, London: Weidenfeld & Nicolson, 2004 page 42.
  12. Chapman, John W.M. "Russia, Germany and the Anglo-Japanese Intelligence Collaboration, 1896–1906" pages 41–55 from Russia War, Peace and Diplomacy edited by Mark & Ljubica Erickson, London: Weidenfeld & Nicolson, 2004 page 55.
  13. Chapman, John W.M. "Russia, Germany and the Anglo-Japanese Intelligence Collaboration, 1896–1906" pages 41–55 from Russia War, Peace and Diplomacy edited by Mark & Ljubica Erickson, London: Weidenfeld & Nicolson, 2004. p. 54.
  14. Chapman, John W. M. "Russia, Germany and the Anglo-Japanese Intelligence Collaboration, 1896–1906" pages 41–55 from Russia War, Peace and Diplomacy edited by Mark & Ljubica Erickson, London: Weidenfeld & Nicolson, 2004. pp. 52–54.
  15. Text in Correspondence Regarding Negotiations ... (1903–1904) p. 38.
  16. Text in Japanese Ministry of Foreign Affairs, Correspondence Regarding Negotiations ... (1903–1904) pp. 7–9.
  17. Text in Correspondence Regarding Negotiations ... (1903–1904) pp. 23–24.
  18. Schmmelpenninck van der Oye, David (2005). "The Immediate Origins of the War". ใน Wolff, David (บ.ก.). The Russo-Japanese War in Global Perspective: World War Zero. Leiden, Boston: Brill. p. 42.
  19. Text in Correspondence Regarding Negotiations ... (1903–1904) p. 38.
  20. 20.0 20.1 Koda, Yoji (1 April 2005). "The Russo-Japanese War: Primary Causes of Japanese Success". Naval War College Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 6 April 2015 – โดยทาง HighBeam.
  21. Jukes, The Russo-Japanese War, p. 21.
  22. ความน่าเชื่อถือจากนักวิจัยทางวิชาการ เอจิโระ ยามาซะ จากร่างปฏิญญาข้อความของญี่ปุ่นจากสงคราม— see Naval Postgraduate School (US) thesis: Na, Sang Hyung. "The Korean-Japanese Dispute over Dokdo/Takeshima," p. 62 n207 เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ธันวาคม 2007, citing Byang-Ryull Kim. (2006). Ilbon Gunbu'ui Dokdo Chim Talsa (The Plunder of Dokdo by the Japanese Military), p. 121.
  23. Connaughton, p. 34.
  24. Yale University: Laws of War: Opening of Hostilities (Hague III) ; 18 ตุลาคม 1907, Avalon Project at Yale Law School เก็บถาวร 2008-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  25. Grant p. 12, 15, 17, 42
  26. Shaw, Albert (March, 1904). "The Progress of the World – Japan's Swift Action". The American Monthly Review of Reviews. New York: The Review of Reviews Company. 29 (3): 260 {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  27. Connaughton, p.65
  28. Grant, p. 48–50
  29. Forczyk p. 50
  30. Forczyk p. 53
  31. Watts p. 22
  32. Mahan p. 455
  33. Mahan p. 456
  34. 34.0 34.1 34.2 John Steinberg (2007). The Russo-Japanese War in Global Perspective: World War Zero. Vol. 2.
  35. 35.0 35.1 Sherman, A. J."German-Jewish Bankers in World Politics, The Financing of the Russo-Japanese War" Leo Baeck Institute Yearbook(1983) 28(1): 59–73 doi:10.1093/leobaeck/28.1.59
  36. Ion, A. Hamish; Errington, E. J. (1993). Great Powers and Little Wars: The Limits of Power. Westport, Connecticut: Praeger Publishers. pp. 146, 151–152. ISBN 978-0275939656. สืบค้นเมื่อ 11 August 2015 – โดยทาง Questia.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้