เรือลาดตระเวน (อังกฤษ: cruiser) เป็นประเภทของเรือรบประเภทหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือพิฆาตแต่จะมีขนาดเล็กกว่าเรือประจัญบาน เรือลาดตระเวนมีวัตุถุประสงค์หลักในการปฏิบัติการโจมตีและป้องกันภารกิจทางทะเลได้อย่างอิสระ มีความคล่องตัวสูง สามารถต่อตีเป้าหมายได้หลากหลายประเภท เช่น เรือดำน้ำ อากาศยาน และเรือรบผิวน้ำประเภทอื่น ๆ เรือลาดตระเวนเริ่มมีบทบาทสำคัญในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนกระทั่งสงครามเย็นสงบลง

เรือ ยูเอสเอส พอร์ต รอยัล (CG 73) เรือลาดตระเวนชั้นติคอนเดอโรกา แห่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

ในอดีตนั้นเรือลาดตระเวนมิได้จัดเป็นหนึ่งในประเภทของเรือรบ หากแต่เป็นเรือฟริเกตที่ได้รับมอบหมายภารกิจในการลาดตระเวนอย่างอิสระออกจากกองเรือขนาดใหญ่ จึงจำต้องมีส่วนในการเข้าโจมตีเรือสินค้าของศัตรู จนกระทั่งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า "เรือลาดตระเวน" กลายเป็นรูปแบบของเรือรบประเภทหนึ่งซึ่งออกแบบมาเพื่อภารกิจลาดตระเวนโดยเฉพาะ และจากปลายทศวรรษ 1890 ถึงทศวรรษที่ 1950 เรือลาดตระเวนจะหมายถึงเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือพิฆาตแต่จะมีขนาดเล็กกว่าเรือประจัญบาน

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภายหลังได้มีการปลดประจำการเรือประจัญบานจนหมดสิ้นแล้วนั้น ทำให้เรือลาดตระเวนกลายเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการปฏิบัติการรบผิวน้ำ อย่างไรก็ตามก็ได้มีการพัฒนาให้เรือลาดตระเวนมีความสามารถในการป้องกันกองเรือจากภัยคุกคามทางอากาศ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเภทของเรือลาดตระเวนกลายเป็นเรือรบผิวน้ำที่มีขนาดระวางขับน้ำมากที่สุดในกองทัพเรือ (ไม่นับเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือช่วยรบอื่น ๆ)

อย่างไรก็ตามยังมีเรือพิฆาตติดอาวุธนำวิถีชั้นอาเลห์เบิร์ก ของสหรัฐอเมริกา และชั้นคองโง ของญี่ปุ่น ที่มีขนาดใหญ่ระดับเดียวกับเรือลาดตระเวน แต่ก็ไม่อาจใช้คำว่าเรือลาดตระเวนได้ เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง[1]

เรือลาดตระเวนประจำการในปัจจุบัน แก้

กองทัพเรือที่มีเรือลาดตระเวนประจำการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส อิตาลี และเปรู ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 กองทัพเรืออิตาลีได้ปลดประจำการเรือชั้นวิตตอริโอ เวเนโต และในปี ค.ศ. 2010 กองทัพเรือฝรั่งเศสได้ปลดประจำการเรือลาดตระเวนชั้นโยนออฟอาร์ค (R97) ทำให้ในปัจจุบัน มีเรือลาดตระเวนประจำการอยู่ในกองทัพเรือเพียง 3 ชาติ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และเปรู

อ้างอิง แก้

  1. "Northrop Grumman christened its 28th Aegis guided missile destroyer, William P. Lawrence (DDG 110)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-01. สืบค้นเมื่อ 2010-09-28.