ดอนัลด์ ทรัมป์

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์ (อังกฤษ: Donald John Trump;[a] เกิด 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946) เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 และยังเป็นนักธุรกิจ, พิธีกรรายการโทรทัศน์[3] และนักแสดงรับเชิญในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เดอะทรัมป์ ออร์แกไนเซชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ยังเป็นผู้ก่อตั้งทรัมป์เอนเตอร์เทนเมนต์รีสอร์ต ที่มีกิจการกาสิโนและโรงแรมหลายแห่งทั่วโลก[4] และด้วยการใช้ชีวิตที่หรูหรา[5]และการพูดจาที่โผงผางทำให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงและได้รับการจับตามองจากสื่อมากที่สุดคนหนึ่งในโลก[6] อีกทั้งยังส่งผลให้เขาประสบความสำเร็จในรายการเรียลลิตี้โชว์ทางช่องเอ็นบีซี ภายใต้ชื่อ The Apprentice (ที่ซึ่งเขารับตำแหน่งพิธีกรและผู้อำนวยการสร้างควบคู่กัน)

ดอนัลด์ ทรัมป์
Donald J. Trump
ภาพถ่ายทางการ ค.ศ. 2017
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45
ดำรงตำแหน่ง
20 มกราคม ค.ศ. 2017 – 20 มกราคม ค.ศ. 2021
(4 ปี 0 วัน)
รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์
ก่อนหน้าบารัก โอบามา
ถัดไปโจ ไบเดิน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์

(1946-06-14) 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 (78 ปี)
นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
พรรคการเมือง
คู่สมรส
บุตร
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
วิชาชีพนักธุรกิจ
พิธีกรรายการโทรทัศน์
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์/รายการโทรทัศน์
นักการเมือง
ลายมือชื่อDonald J Trump stylized autograph, in ink
เว็บไซต์www.donaldjtrump.com
www.trumplibrary.gov
trumpwhitehouse.archives.gov

ทรัมป์เกิดและเติบโตในนครนิวยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่ 4 ใน จำนวน 5 คนของเฟรด ทรัมป์ เศรษฐีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนครนิวยอร์ก เขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากพ่อของเขาในเป้าหมายของอาชีพการเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์[7] และเมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในปี 1963 ดอนัลด์ ทรัมป์ได้เข้าร่วมบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชันของผู้เป็นพ่อ เริ่มงานโดยการปรับปรุงโรงแรมคอมมอดอร์เป็นแกรนด์ไฮแอตต์กับครอบครัวพริตซ์เกอร์ เขายังคงดำเนินงานทรัมป์ทาวเวอร์ในนิวยอร์ก และหลายโครงการที่พักอยู่อาศัย ต่อมาทรัมป์ยังขยับขยายธุรกิจสู่อุตสาหกรรมการบิน[8] และธุรกิจกาสิโนแอตแลนติกซิตี รวมถึงการซื้อทัชมาฮาลคะซีโน จากครอบครัวครอสบี แต่ก็ประสบกับภาวะล้มละลาย ข่าวส่วนมากในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ของเขามักเกี่ยวกับด้านปัญหาการเงิน

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 หลังจากฟื้นด้านธุรกิจและชื่อเสียง ในปี 2001 เขาสร้างทรัมป์เวิลด์ทาวเวอร์สำเร็จ เป็นอาคารที่อยู่อาศัย 72 ชั้น อยู่ตรงข้ามสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ[9] เขายังเริ่มสร้างทรัมป์เพลซ กลุ่มอาคารหลายหลังริมแม่น้ำฮัดสัน นอกจากนี้ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของพื้นที่การค้าในทรัมป์อินเตอร์แนชชันแนลโฮเตลแอนด์ทาวเวอร์ อาคาร 44 ชั้น (โรงแรมและอาคารชุดรวมกัน) ทรัมป์เป็นเจ้าของพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ในแมนแฮตตันหลายล้านตารางฟุต[10]จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญทางด้านอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาและเป็นคนมีชื่อเสียงสำคัญกับสื่อมวลชน ทรัมป์ยังเป็นเจ้าของกิจการการประกวดนางงามจักรวาล และได้ยึดอาชีพทางธุรกิจรวมทั้งงานบันเทิงมาตลอดหลายสิบปีก่อนที่จะประกาศเจตนารมณ์ของตนเองอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าเขาจะลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016

ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 โดยชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ด้วยวัย 70 ปี ทรัมป์เป็นบุคคลอายุมากที่สุด (ในขณะนั้น) และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศ ทรัมป์กล่าวข้อความเท็จหรือชักจูงให้เข้าใจผิดหลายครั้งทั้งก่อนดำรงตำแหน่งและในตำแหน่ง ซึ่งมีผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงบันทึกไว้ และสื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้อย่างกว้างขวางว่าไม่เคยมีมาก่อนในการเมืองสหรัฐ ความเห็นและการกระทำหลายอย่างของเขามีลักษณะแบบนิยมเชื้อชาติ

แนวนโยบายของทรัมป์เน้นการเจราความสัมพันธ์สหรัฐ–จีนและความตกลงการค้าเสรีใหม่ เช่น นาฟตาและความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก การบังคับใช้กฎหมายการเข้าเมืองอย่างแข็งขัน การสร้างกำแพงใหม่ตามชายแดนสหรัฐเม็กซิโก จุดยืนอื่นของเขาได้แก่การมุ่งอิสระทางพลังงานขณะที่ค้านข้อบังคับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่น เช่น แผนพลังงานสะอาดและความตกลงปารีส ปฏิรูปกิจการทหารผ่านศึก แทนที่รัฐบัญญัติการบริบาลที่เสียได้ (Affordable Care Act) การเลิกมาตรฐานการศึกษาคอมมอนคอร์ (Common Core) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลดความยุ่งยากของประมวลรัษฎากร (ประมวลกฎหมายภาษี) ขณะที่ลดภาษีแก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และกำหนดภาษีนำเข้าต่อบริษัทที่จ้างงานนอกประเทศทำให้เกิดสงครามการค้ากับประเทศจีน ทรัมป์ส่งเสริมแนวนโยบายต่างประเทศที่ไม่แทรกแซงเสียส่วนใหญ่ ขณะที่เพิ่มรายจ่ายทางทหาร "การตรวจสอบภูมิหลังเต็มที่" ของคนเข้าเมืองมุสลิมเพื่อป้องกันการก่อการร้ายอิสลามในประเทศ รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และถอนทหารสหรัฐออกจากภาคเหนือของซีเรีย เขาพบกับคิม จ็อง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือสามครั้ง แต่การเจรจาเรื่องลดอาวุธนิวเคลียร์ล้มเหลว นักวิชาการและนักวิจารณ์อธิบายจุดยืนของทรัมป์ว่าเป็นประชานิยม ลัทธิคุ้มครองและชาตินิยม เขาได้รับการวิจารณ์ในกรณีการรับมือการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ล่าช้า โดยเพิกเฉยต่อคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมทั้งให้ข้อมูลเท็จในการรักษา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก

ภายหลังทรัมป์ปลดเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอในปี 2017 กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งรอเบิร์ต มอลเลอร์เป็นที่ปรึกษาพิเศษในการสืบสวนเรื่องการประสานงานหรือความเชื่อมโยงระหว่างการรณรงค์ทรัมป์และรัฐบาลรัสเซียเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐของรัสเซียปี 2016 และประเด็นที่เกี่ยวข้อง ผลการสอบสวนระบุว่าทรัมป์และคณะรณรงค์หาเสียงของเขาต้อนรับและส่งเสริมการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งนั้น แต่ไม่พบหลักฐานเพียงพอตั้งข้อหาสมคบคิดหรือร่วมมือกับรัสเซีย มอลเลอร์ยังสอบสวนทรัมป์ฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรายงานของเขาสรุปโดยไม่ได้ฟ้องคดีอาญาอุกฉกรรจ์หรือว่าเขาพ้นจากความรับผิดในข้อหานั้น หลังทรัมป์ร้องขอให้ยูเครนสอบสวนโจ ไบเดิน คู่แข่งทางการเมืองของเขา สภาผู้แทนราษฎรดำเนินกระบวนพิจารณาและลงมติให้ถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2019 ฐานละเมิดอำนาจและขัดขวางรัฐสภา แต่วุฒิสภาลงคะแนนเสียงว่าทรัมป์ไม่มีความผิดทั้งสองข้อหาในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ต่อมา ใน ค.ศ. 2021 เขาถูกยื่นถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง จากการปลุกระดมกลุ่มผู้สนับสนุนในเหตุการณ์จลาจล ณ อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐที่ถูกยื่นถอดถอนโดยสภาผู้แทนราษฎรถึง 2 ครั้ง

ทรัมป์แพ้การเลือกตั้งให้แก่ไบเดินใน ค.ศ. 2020 เขาถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่สอง[11] โดยทรัมป์ปฏิเสธการยอมรับผลการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ในหลายพื้นที่[12] หลังพ้นจากตำแหน่ง เขายังมีบทบาททางการเมืองในพรรคริพับลิกัน รวมถึงการสนับสนุนการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2022 และในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 เขาประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2024[13] ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 คณะกรรมการสอบสวนเหตุจลาจลวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 2021 ตั้งข้อหาทางอาญาต่อทรัมป์ ฐานมีส่วนร่วมในความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2020 รวมทั้งสนันสนุนการก่อจลาจล และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 คณะลูกขุนใหญ่แห่งแมนแฮตตันได้ตั้งข้อหาต่อทรัมป์ในความผิดฐานปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจมากถึง 34 กระทง รวมถึงความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศและหมิ่นประมาทอดีตคอลัมนิสต์นิตยสารชาวอเมริกันใน ค.ศ. 2024 ส่งผลให้เขาเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาทางอาญา[14][15] ทรัมป์ได้รับการจัดอันดับโดยนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มให้เป็นหนึ่งในประธานาธิบดีสหรัฐที่แย่ที่สุด[16][17] เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 ทรัมป์รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารในขณะหาเสียง ณ เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุได้ถูกวิสามัญฆาตรกรรมโดยเจ้าหน้าที่อารักขา[18]

ประวัติและชีวิตช่วงต้น

แก้

ทรัมป์เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ทีควีนส์, รัฐนิวยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่สี่จากทั้งหมดจำนวนห้าคน พ่อของทรัมป์ชื่อ เฟเดอริก คริส เฟรด ทรัมป์ (1905 -1999) และแม่ แมรี่ แอนนี่ ทรัมป์ (1912 - 2000)[19][20] ทรัมป์ยังมีพี่น้องทางสายเลือด แมรี แอนนี , เฟรด จูเนียร์ , แอลิซาเบธ และ โรเบิร์ต เฟรด จูเนียร์ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตเสียชีวิตปี 1981 จากแอลกอฮอลล์ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่านั้นเป็นสาเหตุทำให้เลิกแอลกอฮอลล์รวมทั้งบุหรี่ด้วย[21] ทรัมป์ไม่ชอบการจับมือ หรือ Shake hand เมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องมีการจับมือ ทรัมป์จะใช้การดึงเอาตัวของฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาใกล้กับตัวเขา

บรรพบุรุษ

แก้

ทรัมป์มีบิดาที่มีเชื้อสายเยอรมัน และมารดาเชื้อสายสก็อตแลนด์ แม่ของทรัมป์และรวมทั้งปู่ย่าตายายเกิดในยุโรป ปู่ยาตายายของทรัมป์เป็นผู้อพยพมายัง คาลล์ชตัดท์ , เยอรมนี และพ่อของทรัมป์ที่เป็นนักอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์ก เกิดใน ควีนส์[22][23] ส่วนแม่ของทรัมป์อพยพเข้านิวยอร์กในวันเกิดของเธอ จากหมู่บ้าน Tong เกาะเลวิส สก็อตแลนด์ [24] เฟรดและแมรี่พบกันในนิวยอร์กทั้งคู่ตกลงแต่งงานกันในปี 1936 และอพยพครอบครัวไปยังเมืองควีนส์[24][25]

จอห์น เค ทรัมป์ ลุงของทรัมป์ เป็นอาจารย์ในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ระหว่างปี ค.ศ. 1936 ถึง ค.ศ. 1973 ลุงของทรัมป์มีส่วนคิดค้นเรดาร์ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และคิดค้นเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในปี 1943 สำนักงานสอบสวนกลางมีคำสั่งให้จอห์น ทรัมป์ ตรวจสอบกระดาษและอุปกรณ์ของนิโคลา เทสลา เมื่อครั้งที่นิโคลาเสียชีวิตในห้องของเขาที่โรงแรมนิวยอร์กเกอร์ (New Yorker Hotel)[26] เฟดริก ทรัมป์ ปู่ของทรัมป์ เปิดร้านอาหารในซีแอตเทิลและครอนไลค์ (แคนาดา)[27]ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มนับถือนิกายลูเทอแรน แต่พ่อแม่ของทรัมป์นับถือนิกายคริสตจักรปฏิรูป[28] ครอบครัวทรัมป์แรกเริ่มสะกดชื่อสกุลว่า Drumpf แต่ถูกเปลี่ยนเป็น Trumps ในช่วงสงครามสามสิบปี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[29] ทรัมป์กล่าวเขารู้สึกภูมิใจสำหรับการมีเชื้อสายจากเยอรมัน และเคยเป็นผู้นำขบวนพาเหรดออร์เคสตราปี 1999 German-American Steuben Parade นครนิวยอร์ก[30]

การศึกษา

แก้
 
ดอนัลด์ ทรัมป์ ขณะกำลังเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก ช่วงฤดูใบไม้ผลิ 1964

ทรัมป์จบการศึกษาโรงเรียน The Kew-Forest School ในวัย 13 เขาสมัครโรงเรียนนายร้อยนิวยอร์ก[31] ที่คอร์นวอลล์ รัฐนิวยอร์ก ทรัมป์ศึกษาที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดัมในเดอะบร็องซ์ เป็นเวลาสองปี หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 1964 ทรัมป์ย้ายไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นแห่งแรก ๆ ในสหรัฐอเมริกา[32][33] ขณะนั้น เขาทำงานในบริษัทของครอบครัว Elizabeth Trump & Son โดยชื่อบริษัทตั้งจากชื่อย่าของทรัมป์ เขาจบการศึกษาจากฟิลาเดลเฟียในพฤษภาคม 1968 ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตด้านเศรษฐกิจ[33][34][35] ทรัมป์ไม่ได้เกณฑ์ทหารในช่วงสงครามเวียดนาม[36] เขาได้รับการผ่อนผันเกณท์ทหาร 4 ครั้ง[37] ในปี 1966 เขาได้รับการตรวจสอบทางการแพทย์ซึ่งมีความสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถบรรจุเป็นทหารเกณฑ์ ปี 1968 ได้รับการตัดสินโดยคณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งมีมติให้ผ่อนผัน ในตุลาคม 1968[38] ในบทสัมภาษณ์ชีวประวัติของทรัมป์ ปี 2015 เขาให้เหตุผลว่าที่เขาได้ใบผ่อนผันจากแพทย์เนื่องจากเขามีอาการปวดส้นเท้า[38].[39]

สุขภาพ

แก้

ทรัมป์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และบุหรี่รวมทั้งสิ่งเสพติดทุกประเภท เขามีพฤติกรรมการนอนหลับที่น้อยมากในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยเขาจะนอนเพียง 4-5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น[40] โดยให้เหตุผลว่าการนอนมากเกินไปทำให้เสียเวลาและโอกาสในการทำเรื่องสำคัญในชีวิตและเขาไม่ค่อยออกกำลังกายเท่าไรนักเนื่องจากคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น

ครอบครัวและชีวิตสมรส

แก้
 
ดอนัลด์ ทรัมป์ และ เมลาเนีย ทรัมป์ ในงานเลี้ยงฉลองภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2020

 ดอนัลด์ ทรัมป์ ได้สมรสกับอิวานา (Ivana Zelníčková) นางแบบสาวชาวเช็กเกีย ในปี 1977[41] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์, อิวานกา ทรัมป์, และ อีริค ทรัมป์ ซึ่งต่อมาลูกทั้ง 3 คนก็ได้มรดกจากผู้เป็นพ่อ ด้วยตำแหน่งรองประธานบริษัท ทรัมป์ออร์กาไนเซชัน ที่ซึ่งทรัมป์เป็นประธานบริหารมาอย่างยาวนาน ทรัมป์และอิวาน่าหย่าขาดจากกันในปี 1990 และต่อมาในปี 1993 ทรัมป์ได้สมรสครั้งที่สองกับ มาร์ล่า เมเปิ้ล และมีบุตรด้วยกัน 1 คนคือ ทิฟฟานี่ ซึ่งตั้งชื่อตามร้านเพชรชื่อดังอย่าง Tiffany & Company ก่อนที่ทั้งสองจะแยกกันอยู่ในปี 1997 และหย่าขาดกันในปี 1999

  โดนัลด์ ทรัมป์ พบกับ เมลาเนีย คานอส (Melania Knauss) นางแบบสาวชาวสโลเวเนีย และทำการหมั้นกันในปี 2004 ก่อนจะเข้าพิธีสมรสในปี 2005 ก่อนที่เมลาเนียจะได้รับสัญชาติอเมริกันในปี 2006 และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นเอง เมลาเนีย ทรัมป์ ก็ได้คลอดบุตรชายนามว่า บาร์รอน ทรัมป์[42] ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งมาจากนามปากกาของดอนัลด์ ทรัมป์ โดยมักปรากฏภาพภรรยาและลูกๆของเขาในการหาเสียงของทรัมป์ในช่วงการเลือกตั้งอยู่เสมอ และเมลาเนียได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 20 มกราคม 2017[43]

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี

แก้
 
ดอนัลด์ ทรัมป์ ขณะหาเสียง ณ มลรัฐแอริโซน่าในเดือนมีนาคม 2016

แม้โพลแทบทุกสำนักต่างรายงานตรงกันว่า ทรัมป์มีแนวโน้มสูงที่จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยโพลต่างระบุว่าตั้งแต่เริ่มต้นการหาเสียงช่วงต้นปีจนกระทั่งถึงการเสร็จสิ้นการดีเบตทั้งสามครั้งกับ ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ทรัมป์มีคะแนนตามหลังนางคลินตัน อย่างไรก็ตาม ทรัมป์สามารถชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" ได้สำเร็จ[44] ส่งผลให้ในวัย 70 ปี ทรัมป์เป็นบุคคลอายุมากที่สุด (ในขณะนั้น) และมีทรัพย์สินมากที่สุดที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นบุคคลแรกที่ไม่เคยรับราชการทหารหรือข้าราชการมาก่อน และเป็นบุคคลที่สี่ที่ได้รับเลือกตั้งโดยไม่ได้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งข้างมากทั่วประเทศ เขาได้รับคะแนนเสียง 63 ล้านเสียง[45] และเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีไม่กี่ท่านของสหรัฐที่พ่ายแพ้คะแนน Popular โหวตแต่สามารถเอาชนะด้วย Electoral vote (ด้วยคะแนน 304 - 227) และชนะการเลือกตั้งได้ โดย ไมค์ เพนซ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งรอง ปธน.สหรัฐฯ ก็ได้ก้าวขึ้นรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในส่วนของการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น พรรคริพับลีกันชนะได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 51 ต่อ 47 เสียง ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ผลปรากฏว่า พรรคริพับลีกันสามารถครองเสียงข้างมากในสภาด้วยคะแนนเสียง 232 ต่อ 175 เสียง

นโยบายขณะดำรงตำแหน่ง

แก้

100 วันแรก

แก้

ดอนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐออกจาก TPP (ข้อตกลงการค้าในภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกอยู่ด้วยกันทั้งหมด 12 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด โดยทรัมป์ต้องการให้สหรัฐเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับใครในการพัฒนาเศรษฐกิจ[46] และให้คำมั่นจะสร้างงานให้ชาวอเมริกันอย่างมั่นคงอีกครั้ง เขายืนยันว่าตัวเลขประชาชนผู้ตกงานตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาในสหรัฐจะต้องลดลงอย่างมีนัยสำคัญในรัฐบาลของเขา โดยมีหลักการเพียงอย่างเดียวคือทำเพื่ออเมริกาให้กลับมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้ง ทรัมป์และทีมงานจะปรับแก้กฎหมายและสร้างงานให้แก่อเมริกันชนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตเหล็ก, รถยนต์ ไปจนถึงยารักษาโรค เป็นต้น ทรัมป์ต้องการให้เกิดกระบวนการผลิตและนวัตกรรมใหม่ๆขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นแก่คนอเมริกัน นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้เพิ่มงบประมาณทางการทหารมากขึ้นถึง 10% จากรัฐบาลของโอบามา[47] ต่อมาเมื่อ วันที่ 3 เมษายน 2017 นายฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ประกาศว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ จะบริจาคเงินเดือนทั้งหมดในช่วงไตรมาสแรก กว่า $78,333.32 ให้กับหน่วยงานอุทยานแห่งชาติเพื่อพัฒนาในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ในด้านการต่างประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ออกมาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือที่แข็งกร้าวมากขึ้น ภายหลังจากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดสอบอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมทั้งทำการออกคำสั่งยิงจรวดโจมตีฐานทัพอากาศ Shayrat ในเมืองฮอม ของซีเรีย เพื่อตอบโต้การใช้อาวุธเคมีโจมตีเขตพลเรือน

เศรษฐกิจและสังคม

แก้

ทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนก่อนการเลือกตั้งว่า เขาจะเข้ามาปฏิรูปนโยบายด้านต่างๆที่ บารัค โอบามา ได้ทำไว้ และแสดงเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศภายใต้คอนเซ็ปต์ "Make America Great Again" ซึ่งเป็นนโยบายที่ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีคนที่ 40 เคยใช้หาเสียง[48] ตลอดระยะเวลา 4 ปีในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ เขาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านเศรษฐกิจมาก[49] โดยมีการปรับภาษีให้เท่าเทียมกัน และมีการลดหย่อนภาษีลงอย่างทั่วถึง โดยรวมถึงการลดค่าใช่จ่ายในการเลี้ยงบุตรและค่ารักษาพยาบาลทั่วไปอีกด้วย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนคนว่างงานลงให้มากที่สุด นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นประธานาธิบดีที่ให้ความใส่ใจกับนโยบายด้านการควบคุมผู้อพยพเข้าประเทศมากที่สุดท่านหนึ่ง[50][51][52] เขาให้ความเข้มงวดเรื่องนี้มากเนื่องจากต้องการผลักดันกฎหมายแรงงานให้ชาวอเมริกันมีสิทธิ์มากกว่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในสหรัฐ ซึ่งจุดนี้จะเป็นการรับประกันเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวอเมริกันได้ รวมถึงการประกันรายได้การมีงานที่ดีรองรับโดยคำถึงถึงสิทธิ์ของคนอเมริกันก่อนเป็นอันดับแรก และเขาได้มีการเพิ่มมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการก่อการร้าย โดยมีเป้าหมายหลักคือการลดจำนวนผู้อพยพจากพรมแดนเม็กซิโกและแถบละตินอเมริกาลงให้มากที่สุด[53] เขาและภรรยามีการลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหลายครั้งในหลายรัฐ และแสดงจุดยืนในการเสริมสร้างความมั่นใจของประชาชนต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 
ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมด้วยสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งภริยา และ วุฒิสมาชิก จอห์น คอร์นีย์ ขณะไปเยี่ยมผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ เอล ปาโช่ ในปี 2019

ทรัมป์กล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมอาวุธปืนโดยทั่วไป[54] แม้ว่ามุมมองของเขาจะเปลี่ยนไปบ้างหลังจากเกิดเหตุกราดยิงกันหลายครั้งในระหว่างดำรงตำแหน่ง[55] ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะเสนอกฎหมายเพื่อลดความรุนแรงในการใช้ปืน แต่ต่อมาได้ถูกยกเลิกในเดือนพฤศจิกายนปี 2019 ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้กัญชาโดยเพิกถอนนโยบายของโอบามาในยุคที่ให้ความคุ้มครองสำหรับรัฐทีอนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายโดยกำหนดโทษถึงประหารชีวิต ทรัมป์อนุมัติการให้มีการประหารชีวิตโดยรัฐบาลกลางครั้งแรกในรอบหลายปี ภายใต้การบริหารประเทศของทรัมป์รัฐบาลกลางประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดรวม 13 ราย มากที่สุดในรอบ 56 ปี ในปี 2017 ทรัมป์กล่าวว่าเขาสนับสนุนการใช้วิธีการทรมานด้วยการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ตามกฎหมาย แต่ภายหลังนโยบายดังกล่าวได้ถูกคัดค้านโดย เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ประกันสุขภาพและการศึกษา

แก้

เจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่สุดของทรัมป์อีกประการหนึ่งตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงคือการยกเลิกประกันสุขภาพโอบามา แคร์ ของบารัก โอบามา[56] เนื่องจากเขาเล็งเห็นว่ามันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆกับประชาชนในระดับกลางและระดับล่าง[57] ทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระในการเสียภาษีฟุ่มเฟือยที่มากขึ้นอีกด้วย เขาได้มีนโยบายในการเปลี่ยนไปใช้ระบบการซื้อประกันสุขภาพในราคาที่ถูกลงและยังครอบคลุมสิทธิการรักษาเมื่อเดินทางข้ามรัฐได้อีกด้วย ในส่วนของนโยบายด้านการศึกษา ทรัมป์ได้เล็งเห็นว่าเด็กคืออนาคตของชาติและต้องการสร้างความมั่นใจแก่ชาวโลกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เขามีการผลักดันการพัฒนาด้านการศึกษาทางสายอาชีพมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตให้เยาวชนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและจบมามีงานที่ดีทำและสามารถพึ่งพาตนเองได้[58]

การต่างประเทศ

แก้

ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ตั้งคำถามต่อความสำคัญขององค์กรระหว่างประเทศ และดำเนินนโยบายการค้าและการทหารซึ่งสอดคล้องของกับสโลแกน America First ที่คำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ​เป็นอันดับหนึ่งซึ่งในบางครั้งได้เพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น เขาได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการกล้าที่จะเผชิญหน้ากับจีนและเกาหลีเหนือในฐานะประเทศคู่แข่งและผู้เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคง ทรัมป์เน้นการใช้นโยบายแบบเอกาภาคีนิยม หรือ "Unilateralism" คือให้อเมริกาลุยเดี่ยว ‘Go It Alone’ ไม่จำเป็นต้องอิงกับพันธมิตรชาติใดเป็นพิเศษซึ่งตรงข้ามกับพรรคเดโมแครตของ โจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง[59] (เดโมแครตเน้นการใช้เครื่องมือพหุภาคีระหว่างประเทศและใช้พันธมิตรเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารงานด้านการต่างประเทศ) ยิ่งไปกว่านั้น ในสมัยที่ บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีและไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี เขามีผลงานชิ้นโบว์แดงด้านการต่างประเทศ คือการจัดทำข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์กับอิหร่านในปี 2015 แต่ต่อมาภายหลังทรัมป์ได้ทำการฉีกข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดวิกฤตอิหร่านขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งของเขา[60]

 
ดทรัมป์ และ คิม จอง อึน ขณะพบกันในการประชุมครั้งแรก ณ โรงแรมคาเปลลา เกาะเซนโตซา สาธารณรัฐสิงคโปร์ วันที่ 12 มิ.ย. 2018

ในปี 2017 เมื่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังคงมีแนวโน้มที่จะรุนแรงอย่างต่อเนื่องนั้น ทรัมป์ได้ยกระดับคำสั่งเตือนว่าเกาหลีเหนือจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กำลังปฏิบัติและเท่ากับเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูต่อเมริกาและชาวโลก ในปลายปี 2017 ทรัมป์ประกาศว่าเขาต้องการให้เกาหลีเหนือ[61] "เลิกใช้นิวเคลียร์โดยสมบูรณ์" และมีส่วนร่วมในการติดต่อกับผู้นำคิมจองอึนเพื่อยุติแผนการดังกล่าว ในห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดนี้ทรัมป์และคิมได้แลกเปลี่ยนจดหมายกันอย่างน้อย 27 ฉบับซึ่งทั้งสองคนอธิบายถึงมิตรภาพส่วนตัวที่อบอุ่นและมีแนวโน้มทีจะดีขึ้น โดยคิมได้ยื่นข้อเสนอที่จะพบกับทรัมป์จำนวน 3 ครั้ง[62] ได้แก่: ที่สิงคโปร์ในปี 2018 ในฮานอยในปี 2019 และในเขตปลอดทหารเกาหลีภายในในปี 2019 โดยทรัมป์ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ได้พบกับผู้นำเกาหลีเหนือและได้เหยียบแผ่นดินเกาหลีเหนือ[63] ทรัมป์ยังยกเลิกการคว่ำบาตรบางส่วนที่สหรัฐฯมีต่อเกาหลีเหนือในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามเกาหลีเหนือมิได้มีการยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์แต่อย่างใด และการเจรจาในเดือนตุลาคม 2019 ก็ล้มเหลวลงในที่สุดหลังจากที่คิมยืนยันว่าเกาหลีเหนือจะไม่ยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์

 
ทรัมป์และปูตินในการการประชุมสุดยอด G20 ที่เมืองโอซากะ ปี 2019

ในขณะที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียไม่รุนแรงและตึงเครียดเท่าเกาหลีเหนือ ทรัมป์มักกล่าวชื่นชมและไม่ค่อยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน เท่าใดนัก[64] แต่ก็มีการต่อต้านการกระทำบางอย่างของรัฐบาลรัสเซียในบางเหตุการณ์ โดยฝ่ายบริหารของทรัมป์ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯที่บังคับใช้กับรัสเซียหลังจากการผนวกไครเมียในปี 2014 และทรัมป์ยังสนับสนุนให้รัสเซียกลับเข้าสู่การเป็นสมาชิกกลุ่ม 7[65] และภายหลังจากที่เขาได้พบกับปูตินในการประชุมสุดยอดผู้นำที่เฮลซิงกิเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์สมาชิกพรรคการเมืองทั้งทางฝั่งริพับลิกันและเดโมแครตในการปฏิเสธการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 แทนที่จะยอมรับการพิสูจน์เหตุการณ์ดังกล่าวของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯว่ารัสเซียได้ทำการแทรกแซงการเลือกตั้งดังกล่าวจริง

การรับมือกับไวรัสโคโรนา

แก้

ในเดือนธันวาคม 2019 ไวรัสโคโรนาได้แพร่ระบาดขึ้นในหวู่ฮั่นประเทศจีนและแพร่กระจายไปทั่วโลกภายในไม่กี่สัปดาห์[66] มีรายงานผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการยืนยันในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 20 มกราคม ปี 2020[67] การระบาดของโรคนี้ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดย Alex Azar รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการบริการมนุษย์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2020 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ทรัมป์กล่าวต่อสาธารณชนว่าการระบาดในสหรัฐอเมริกานั้นร้ายแรงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่และอยู่ภายใต้การควบคุม ขอให้ประชาชนมั่นใจเนื่องจากไวรัสนี้จะสิ้นสุดลงในไม่ช้า[68] ในขณะเดียวกันเขากลับกล่าวยอมรับสิ่งที่ตรงกันข้ามออกมาในการสนทนาส่วนตัวกับ บ็อบ วู้ดวาร์ด ในเดือนมีนาคมปี 2020 โดยทรัมป์บอกกับวู้ดวาร์ดเป็นการส่วนตัวว่าเขาจำเป็นต้องให้สัมภาษณ์ในเชิงบวกเพื่อไม่ให้ประชาชนชาวอเมริกันเกิดความตื่นตระหนก ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา การจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และ BioNTech ล็อตแรกได้เดินทางถึงสหรัฐอเมริกา โดยคนงานจากโรงงานไฟเซอร์เร่งจัดเตรียมวัคซีนให้พร้อมส่งไปยังทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศ โดยการจัดซื้อวัคซีนนี้ถือเป็นผลงานใหญ่โครงการสุดท้ายที่ทรัมป์ได้ฝากไว้แก่ประชาชนก่อนจะส่งมอบอำนาจต่อให้รัฐบาลของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่

เครดิต: ศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี อดีตนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย (American Studies Association in Thailand - ASAT), องค์กรวีโอเอ ภาคภาษาไทย

พ้นจากตำแหน่ง

แก้
 
ผลการเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งทรัมป์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไบเดนไปด้วยคะแนน Electoral Vote 232 - 306

ดอนัลด์ ทรัมป์ ประสบกับความยากลำบากในการหาเสียงและซื้อใจประชาชนในการเลือกตั้งสมัยที่สองเป็นอย่างมาก[69] โพลทุกสำนักต่างรายงานไปในทิศทางเดียวกันว่าเขามีคะแนนตามหลัง โจ ไบเดิน จากพรรคเดโมแครต มากถึง 10 จุด และยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเท่าไรคะแนนความนิยมของเขาก็ยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและความรุนแรงจากการประท้วงในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อดีตเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญในทำเนียบขาวและในคณะรัฐมนตรีต่างทยอยออกมาพูดถึงทรัมป์ในแง่ลบอย่างมาก ในขณะที่สมาชิกพรรคแทบทุกคนต่างถอดใจว่าเขาจะแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน

ทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 ส่งผลให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมัยที่สอง (และถือเป็นคนแรกในรอบ 28 ปีต่อจาก จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช)[70] แม้เขาจะสามารถรักษาฐานเสียงของตนเองไว้ได้ในหลายมลรัฐ[71] (โดยเฉพาะรัฐแถบตอนกลางและทางเหนือของประเทศที่ประชากรมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม) แต่ก็เสียคะแนนให้แก่ไบเดินในหลายมลรัฐทางภาคตะวันตกและตะวันออกเช่นกัน[72] โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่างให้ความเห็นว่า ทรัมป์ล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา[73] และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในด้านสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านการเหยียดผิวจากกรณีการเสียชีวิตของ "จอร์จ ฟลอยด์"[74] รวมทั้งการประกาศสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษีกับจีนและคู่ค้าอีกหลายประเทศได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจลามไปทั้งโลก[75] ในขณะที่ประชาชนกว่า 74 ล้านเสียง ที่ยังคงเชื่อมั่นและเทคะแนนให้เขาเนื่องมาจากความมั่นใจในนโยบายทางเศรษฐกิจและการปราบปรามผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการแก้ปัญหาภาวะการว่างงานในประเทศ โดยรัฐจอร์เจียได้ประกาศนับคะแนนใหม่ด้วยมือหลังจากผลโหวตสุดท้ายไบเดนมีคะแนนนำทรัมป์อยู่เพียง 14,000 คะแนน แต่เมื่อมีการนับคะแนนใหม่อย่างเป็นทางการก็ได้รับการยืนยันว่าไบเดนเอาชนะทรัมป์ไปได้ โดยในช่วงแรกของการนับคะแนนรวมทั่วประเทศทรัมป์มีคะแนนนำห่างไบเดนในหลายมลรัฐพอสมควร แต่เมื่อมีการนับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ คะแนนของไบเดนก็ตีตื้นขึ้นมาและสามารถเอาชนะไปได้ในหลายมลรัฐ (การเลือกตั้งครั้งนี้เปิดให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าทางไปรษณีย์เนื่องจากสถานการณ์โควิด)[76]

นอกจากนี้ไบเดินยังถือเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ที่ได้รับคะแนนโหวต (Popular Vote) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์มากถึง 81 ล้านเสียงอีกด้วย[77] ทรัมป์ได้ลงจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ[78] เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีสาบานตนของไบเดิน และกมลา แฮร์ริส ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ที่ พาล์มบีช (Palm Beach) รัฐฟลอริดา

โซเชียลมีเดีย

แก้

ทรัมป์ถือเป็นหนึ่งในบุคคลระดับโลกที่มีชื่อเสียงในด้านการใช้โซเชียลมีเดีย[79] โดยเขามีผู้ติดตามจำนวนมากนับตั้งแต่สมัครบัญชีทวิตเตอร์ใน ค.ศ. 2009 และมีจำนวนผู้ติดตามสูงถึง 90 ล้านคนทั่วโลก โดยตลอดระยะเวลา 12 ปี เขาทำการโพสต์ในทวิตเตอร์ไปถึง 57,000 ครั้ง โดยเป็นการโพสต์ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง 25,000 ครั้ง[80] เขายังชื่นชอบการติดต่อสื่อสารผ่าน เฟซบุ๊ก โดยมักใช้เป็นพื้นที่ส่วนตัวในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โจมตีคู่แข่งทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง เช่น บารัก โอบามาและโจ ไบเดน รวมถึง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทรัมป์มาตลอดตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งในช่วงแรก[81] บัญชีเฟซบุ๊กของทรัมป์ถูกแบนอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2021[82]

ความสัมพันธ์กับสื่อ

แก้
 
ทรัมป์ขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อ ณ ทำเนียบขาวในปี 2017

ทรัมป์มีชื่อเสียงในด้านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2016 เขามีความสัมพันธ์ในแง่ที่เรียกว่า "ทั้งรักทั้งเกลียด" (Love - Hate relationship) กับสื่อต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ[83] เขามักเรียกสื่อที่เขียนข่าวโจมตีเขาในแง่ลบว่าเป็นสื่อจอมลวงโลก (Fake News Media) และกล่าวว่าสื่อเหล่านี้เป็นศัตรูต่อประชาชนรวมทั้งประเทศชาติ ในฐานะประธานาธิบดีทรัมป์เปิดเผยต่อสาธารณะชนอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการเพิกถอนหนังสือรับรองของนักข่าวที่เขามองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่สร้างสรรค์[84] ทีมกฎหมายของเขาทำการเพิกถอนบัตรประจำตัวของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว 2 คน ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว หลายต่อหลายครั้งที่ทรัมป์ถูกโจมตีว่ามักใช้วาจาข่มขู่ผู้สื่อข่าวหลายครั้ง ในช่วงต้นปี 2020 ทีมแคมเปญหาเสียงของทรัมป์ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ เดอะวอชิงตันโพสต์ และ ซีเอ็นเอ็นในข้อหาหมิ่นประมาท ก่อนที่คดีดังกล่าวจะถูกยกฟ้องเนื่องจากศาลเห็นว่าสื่อดังกล่าวไม่มีเจตนาในการดูหมิ่นทรัมป์

วงการมวยปล้ำ

แก้

ในปี 2013 ดับเบิลยูดับเบิลยูอี ได้บรรจุชื่อทรัมป์เข้าสู่หอเกียรติยศดับเบิลยูดับเบิลยูอีประจำปี 2013 ในหมวด Celebrity (ผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับการจดจำในการมีบทบาทและ / หรือมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับ WWE)[85] โดยเฉพาะในศึก WrestleMania ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2007 ซึ่งทรัมป์ได้เป็นแขกรับเชิญในรายการ ณ เวลานั้น ทรัมป์ยังมีสถานะเป็นพิธีกรทีวีและนักธุรกิจซึ่งการมาขึ้นสังเวียนครั้งนั้น เขาได้รับบทบาทเป็นหุ้นส่วนของสมาคม WWE ก่อนจะแตกคอกับ วินซ์ แม็คมาน ประธานบริหาร ทำให้ทั้งคู่มาเผชิญหน้ากันในศึก WrestleMania โดยต่างฝ่ายต่างสนับสนุนนักมวยปล้ำฝั่งละ 1 คน ซึ่ง ทรัมป์ อยู่ฝั่งของ บ็อบบี้ แลชลีย์ ส่วนแม็คมาน เลือก อูมากา พร้อมกับมีเดิมพันว่านักมวยปล้ำของใครแพ้ ฝั่งนั้นจะต้องโกนหัวต่อหน้าผู้ชมเต็มสนาม ไฟต์ดังกล่าว นักมวยปล้ำทั้งสองฝ่ายสู้กันอย่างดุเดือด ขณะที่ทรัมป์และแม็คมานก็มีการออกอาวุธใส่กันพอหอมปากหอมคอ ส่วนผลการต่อสู้ปรากฏว่า บ็อบบี้ แลชลีย์ เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้สำเร็จ ทำให้ทรัมป์และนักมวยปล้ำคู่ใจจัดการจับแม็คมานโกนหัวกันสดๆบนเวที

ทรัพย์สิน

แก้

ทรัมป์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีฐานะร่ำรวยมากที่สุดระดับมหาเศรษฐีของสหรัฐอเมริกา[7] เขาเริ่มสร้างเนื่อสร้างตัวจากธุรกิจที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อ[86] และได้ขยายกิจการไปยังหลายพื้นที่ทั่วโลก เช่น กาสิโน โรงแรม ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม[87] อีกทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัททรัมป์ออร์กาไนเซชัน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา[7] ในปี 2018 The New York Times ได้รายงานชีวประวัติและข้อมูลความร่ำรวยของทรัมป์ว่าทรัมป์มีความมั่งคั่งกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆที่เจ้าตัวถือครองกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ความมั่งคั่งของทรัมป์ยังคงมีความคลุมเคลือ โดยเขาเคยเคยเปิดเผยว่ามีทรัพย์สินมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์[88] ในขณะที่บลูมเบิร์กประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3 พันล้านดอลลาร์ และนิตยสารฟอร์จูนประเมินว่าเขามีทรัพย์สิน 3.9 พันล้านดอลลาร์[89]

 
ทรัมป์ทาวเวอร์ ตึกระฟ้าหรูหราย่านแมนแฮตตันในนิวยอร์กถือเป็นกิจการหลักที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ ดอนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทรัมป์ เปิดเผยว่า อาณาจักรธุรกิจของตนเองได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการล็อกดาวน์เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีผลต่อรายได้ โดยรายได้จากโรงแรมในเครือของทรัมป์ทั้งในวอชิงตันและลาสเวกัสลดลงกว่าครึ่ง รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกีฬากอล์ฟจนทำให้รายได้โดยรวมของเขาลดลงจนเหลืออยู่ที่ประมาณ 273-308 ล้านดอลลาร์ ในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินครั้งสุดท้ายในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐ นายทรัมป์ได้ลงรายละเอียดความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ในตอนที่ธุรกิจท่องเที่ยวมากมายได้รับผลกระทบเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว โดยสมัยที่เป็นผู้นำสหรัฐ ทรัมป์ได้ต่อต้านนโยบายที่จะชะลอการแพร่ระบาดผ่านการใส่หน้ากากอนามัยและยืนยันว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้อย่างปลอดภัย ข้อมูลการเงินที่ครอบคลุมตลอดทั้งปี 2020 จนถึง 20 วันแรกของปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า รายได้จากโรงแรมทรัมป์ในวอชิงตัน ลดลงเหลือ 15.1 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 40.5 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อนหน้า[90] ขณะที่สาขาลาสเวกัส ยอดขายที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมลดลงเหลือ 9.2 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 23.3 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ กอล์ฟรีสอร์ตที่เมืองไมแอมี ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญอีกแห่งของทรัมป์ ก็มีรายได้ลดลงเหลือ 44 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 77 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า ขณะที่สนามกอล์ฟของทรัมป์ ทั้งในอังกฤษและไอร์แลนด์ก็มีรายได้ลดลงประมาณ 2 ใน 3 ของที่เคยทำได้ในปีก่อนหน้า โดย ข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) พบว่า ทรัพย์สินของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลดลงราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 21,525 ล้านบาท เหลือ 2,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70,725 ล้านบาทหลังก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐ[7]

อ้างอิง

แก้
  1. Gillin, Joshua (August 24, 2015). "Bush says Trump was a Democrat longer than a Republican `in the last decade'". PolitiFact. สืบค้นเมื่อ 2015-10-21.
  2. Sargent, Hilary (January 22, 2014). "The Man Responsible for Donald Trump's Never-Ending Presidential Campaign". Boston.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-03. สืบค้นเมื่อ 2016-11-09. A New Hampshire Republican activist named Mike Dunbar dreamed up the idea of a Donald Trump presidency [in] early summer of 1987... Dunbar launched a ‘Draft Trump’ campaign... Stories about a possible Trump presidency ran in newspapers across the country... (Trump was registered as a Democrat at the time...)
  3. "Donald Trump". Biography (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. "The Trump Organization | Luxury Real Estate Portfolio". www.trump.com (ภาษาอังกฤษ).
  5. https://edition.cnn.com/2021/04/07/politics/donald-trump-forbes-billionaires/index.html
  6. "Donald Trump's life story: From hotel developer to president". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "Donald (John) Trump biography". biography.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-08. สืบค้นเมื่อ 2008-07-06.
  8. "The Art of the Greater Fool: How the Shuttle Business Got Grounded". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-12. สืบค้นเมื่อ 2008-05-22.
  9. "Trump World Tower". Emporis. สืบค้นเมื่อ 2008-05-22.
  10. "What is Trump Worth?". Forbes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-08. สืบค้นเมื่อ 2008-07-04.
  11. https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/how-many-us-presidents-lost-second-term-b1640998.html
  12. Fowler, Stephen (2020-11-22). "Trump Requests Georgia Recount, Meaning 5 Million Votes Will Be Tabulated A 3rd Time". NPR (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-12-26.
  13. "เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 : โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่กำลังเสียเปรียบ". BBC News ไทย. 2022-11-16.
  14. "Donald Trump pictured in New York court as he pleads not guilty to 34 felony counts". Sky News (ภาษาอังกฤษ).
  15. Valle, Jeremy Herb,Kara Scannell,Lauren del (2023-04-04). "Donald Trump pleads not guilty to 34 felony counts of falsifying business records | CNN Politics". CNN (ภาษาอังกฤษ).
  16. Institute, Siena College Research. "American Presidents: Greatest and Worst" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  17. Sheehey, Maeve. "Trump debuts at 41st in C-SPAN presidential rankings". POLITICO (ภาษาอังกฤษ).
  18. "Trump injured but 'fine' after attempted assassination at rally, shooter and one attendee are dead". AP News (ภาษาอังกฤษ). 2024-07-13.
  19. New York City Department of Health (มิถุนายน 14, 1946). "Donald Trump Birth Certificate" (PDF). ABC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 12, 2016. สืบค้นเมื่อ November 26, 2016.
  20. Jamaica Hospital (June 14, 1946). "Certificate of Birth: Donald John Trump" (PDF). Fox News Channel. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ April 9, 2011. สืบค้นเมื่อ May 31, 2016.
  21. Horowitz, Jason (January 2, 2016). "For Donald Trump, Lessons From a Brother's Suffering". The New York Times. สืบค้นเมื่อ July 24, 2016.
  22. Blair, Gwenda (August 24, 2015). "The Man Who Made Trump Who He Is". Politico. สืบค้นเมื่อ July 24, 2016.
  23. "Mary MacLeod Trump Philanthropist, 88". The New York Times (Obituary). August 9, 2000. สืบค้นเมื่อ May 12, 2016.
  24. 24.0 24.1 Pilon, Mary (June 24, 2016). "Donald Trump's Immigrant Mother". The New Yorker.
  25. McGrane, Sally (April 29, 2016). "The Ancestral German Home of the Trumps". The New Yorker.
  26. Davidson, Amy (April 8, 2016). "Donald Trump's Nuclear Uncle". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ July 24, 2016.
  27. "Donald Trump's grandfather ran Canadian brothel during gold rush". CBC News. September 19, 2015. สืบค้นเมื่อ December 10, 2015.
  28. Blair, Gwenda (2001). The Trumps: Three Generations of Builders and a Presidential Candidate (1st ed.). Simon & Schuster. pp. 28–29, 453; ISBN 9780743210799.
  29. Blair, Gwenda (2001). The Trumps: Three Generations That Built an Empire. New York: Simon & Schuster. p. 26. ISBN 978-0-7432-1079-9.
  30. Frates, Chris (August 24, 2015). "Donald Trump's Immigrant Wives". CNN. สืบค้นเมื่อ September 3, 2015.
  31. Strauss, Valerie (July 17, 2015). "Yes, Donald Trump really went to an Ivy League school". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ February 27, 2016.
  32. Blair, Gwenda (2005). Donald Trump: Master Apprentice. Simon and Schuster. pp. 16–. ISBN 978-0-7432-7510-1.
  33. 33.0 33.1 Viser, Matt (August 28, 2015). "Even in college, Donald Trump was brash". Boston Globe.
  34. "The Best Known Brand Name in Real Estate". The Wharton School. Spring 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-12. สืบค้นเมื่อ 2017-02-26.
  35. "Two Hundred and Twelfth Commencement for the Conferring of Degrees" (PDF). University of Pennsylvania. May 20, 1968. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ July 19, 2016. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  36. Montopoli, Brian (April 29, 2011). "Donald Trump avoided Vietnam with deferments, records show". CBS News. สืบค้นเมื่อ July 17, 2015.
  37. Lee, Kurtis (August 4, 2016). "How deferments protected Donald Trump from serving in Vietnam". Los Angeles Times. ISSN 0458-3035. สืบค้นเมื่อ August 4, 2016.
  38. 38.0 38.1 Whitlock, Craig (July 21, 2015). "Questions linger about Trump's draft deferments during Vietnam War". The Washington Post.
  39. Barbaro, Michael (September 8, 2015). "Donald Trump Likens His Schooling to Military Service in Book" – โดยทาง NYTimes.com.
  40. https://www.sleepadvisor.org/donald-trump-sleep/
  41. https://www.townandcountrymag.com/trump-family-news/
  42. "Donald J. Trump". The White House (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  43. https://www.businessinsider.com/trump-family-history-from-immigrants-to-americas-first-family-2020-6
  44. "2016 presidential election results". edition.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  45. "US election 2016 result: Trump beats Clinton to take White House". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2016-11-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  46. "Trump executive order pulls out of TPP trade deal". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2017-01-24. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  47. https://edition.cnn.com/specials/politics/100-days-donald-trump
  48. "Reagan: 'Making America great' the first time — United States Studies Centre". www.ussc.edu.au.
  49. U.S, Full Bio Follow Linkedin Kimberly Amadeo is an expert on; Economies, World; investing; Analysis, With Over 20 Years of Experience in Economic; Balance, business strategy She is the President of the economic website World Money Watch As a writer for The; economy, Kimberly provides insight on the state of the present-day; Amadeo, as well as past events that have had a lasting impact Read The Balance's editorial policies Kimberly. "President Donald Trump's Economic Plans and Policies". The Balance (ภาษาอังกฤษ).
  50. "Immigration – The White House". trumpwhitehouse.archives.gov.
  51. Anderson, Stuart. "A Review Of Trump Immigration Policy". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
  52. "President Trump's Executive Orders on Immigration and Refugees". The Center for Migration Studies of New York (CMS) (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2017-01-29.
  53. U.S, Full Bio Follow Linkedin Kimberly Amadeo is an expert on; Economies, World; investing; Analysis, With Over 20 Years of Experience in Economic; Amadeo, business strategy She is the President of the economic website World Money Watch Read The Balance's editorial policies Kimberly. "The Impact of Donald Trump's Immigration Policies". The Balance (ภาษาอังกฤษ).
  54. https://www.bbc.com/news/av/world-us-canada-41479161
  55. https://www.factcheck.org/2019/08/trumps-mixed-record-on-gun-control/
  56. https://www.npr.org/sections/health-shots/2019/10/14/768731628/trump-is-trying-hard-to-thwart-obamacare-hows-that-going
  57. "Trump says Obamacare must die. Biden says he'll make it into 'Bidencare.'". NBC News (ภาษาอังกฤษ).
  58. "Education Policy Ideas for President Trump". Education Strategy Group (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  59. Welle (www.dw.com), Deutsche. "US election: How Donald Trump has changed global foreign policy | DW | 24.10.2020". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  60. https://theconversation.com/the-foreign-policy-legacy-that-donald-trump-leaves-joe-biden-148573
  61. https://www.pbs.org/newshour/show/trumps-legacy-on-foreign-policy-and-the-challenges-facing-biden
  62. "Trump-Kim Summit". AP NEWS.
  63. "Trump meets Kim Jong Un, steps into North Korea". NBC News (ภาษาอังกฤษ).
  64. https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48797485
  65. "G7 leaders reject Russia's return after Trump summit invite". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  66. Editors, History com. "First confirmed case of COVID-19 found in U.S." HISTORY (ภาษาอังกฤษ). {{cite web}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  67. Taylor, Derrick Bryson (2021-03-17). "A Timeline of the Coronavirus Pandemic". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  68. Peters, Cameron (2020-06-08). "A detailed timeline of all the ways Trump failed to respond to the coronavirus". Vox (ภาษาอังกฤษ).
  69. Hart, Roderick P. (2021-03-03). "Why Trump Lost and How? A Rhetorical Explanation". American Behavioral Scientist (ภาษาอังกฤษ): 0002764221996760. doi:10.1177/0002764221996760. ISSN 0002-7642.
  70. "George H. W. Bush". The White House (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  71. "2020 presidential election results". www.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  72. https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/trump-lost-2020-election-coronanvirus-pandemic-b1796315.html
  73. Westenfeld, Adrienne (2020-11-16). "Barack Obama Broke Down Every Way Donald Trump Failed to Handle COVID-19". Esquire (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  74. "George Floyd: What happened in the final moments of his life". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2020-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  75. https://claremontreviewofbooks.com/why-trump-lost/
  76. "2020 presidential election results". www.cnn.com (ภาษาอังกฤษ).
  77. https://www.nbcnews.com/think/opinion/trump-lost-2020-election-biden-could-he-win-2024-ncna1247805
  78. https://www.bbc.com/news/55730719
  79. https://www.theverge.com/2021/5/4/22419850/donald-trump-social-media-platform-ban-twitter-facebook
  80. https://www.bbc.com/news/technology-57018148
  81. https://www.bbc.com/news/av/world-us-canada-48386303
  82. https://www.nytimes.com/2021/05/05/technology/facebook-trump-ban-upheld.html
  83. https://www.pressgazette.co.uk/trump-vs-media-freedom-of-press-distrust/
  84. https://www.rutgers.edu/news/how-trump-shaped-media
  85. Murphy, Ryan. "Donald Trump announced for WWE Hall of Fame". WWE.
  86. https://edition.cnn.com/2021/04/07/politics/donald-trump-forbes-billionaires/index.html
  87. "Donald Trump's life story: From hotel developer to president". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2021-03-01. สืบค้นเมื่อ 2021-05-24.
  88. https://www.forbes.com/sites/danalexander/2020/09/28/yes-donald-trump-is-still-a-billionaire-that-makes-his-750-tax-payment-even-more-scandalous/?sh=22de81152885
  89. "Mary MacLeod Trump Philanthropist, 88". The New York Times (Obituary). August 9, 2000. สืบค้นเมื่อ May 12, 2016.
  90. "The Trump Organization | Luxury Real Estate Portfolio". www.trump.com (ภาษาอังกฤษ).

เชิงอรรถ

แก้
  1. เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /trʌmp/

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า ดอนัลด์ ทรัมป์ ถัดไป
บารัก โอบามา    
ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45
(20 มกราคม พ.ศ. 2560 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564)
  โจ ไบเดิน
อังเกลา แมร์เคิล   บุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์
(พ.ศ. 2559)
  กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการคุกคามทางเพศ