มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (อังกฤษ: University of Pennsylvania) (โดยทั่วไปเรียกว่า เพน (Penn) หรือ ยูเพน (UPenn) ) เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่เมือง ฟิลาเดลเฟีย ในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2283 (ค.ศ. 1740) โดยนายเบนจามิน แฟรงคลิน ซึ่งนับว่าเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในสมาชิกไอวีลีก มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้รับการยอมรับให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีชื่อเสียงในด้าน การแพทย์ พาณิชยศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียนับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เข้ายากและมีการแข่งขันสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา หลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศ โดยนิตยสารยูเอสนิว (US News & World Report 2010) นอกจากนี้ วิทยาลัยและคณะต่างๆในระดับปริญญาโทและเอกส่วนใหญ่ก็ถูกจัดอยู่ใน Top 10 เกือบทั้งสิ้น ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2552) มีนักศึกษาประมาณ 24,599 คน และคณาจารกว่า 4,127 คน ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีงบประมาณทั้งสิ้น 5.542 พันล้านดอลล่าสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท นับเป็นจำนวนมากที่สุดในกลุ่มไอวีลีก

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
ชื่อย่อเพน (Penn) หรือ ยูเพน (UPenn)
คติพจน์Leges sine moribus vanae (Laws without morals are in vain)
ประเภทมหาวิทยาลัยเอกชน
สถาปนา1740
ที่ตั้ง
เว็บไซต์www.upenn.edu
เบนจามิน แฟรงคลิน ผู้สถาปนามหาวิทยาลัย
รูปปั้นเบนจามิน แฟรงคลิน หน้า College Hall

ประวัติ

แก้

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีจุดกำเนิดมาจาก Charity School of Philadelphia ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1740 (พ.ศ. 2283) ต่อมาในปี ค.ศ. 1749 นายเบนจามิน แฟรงคลิน นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่และผู้นำการปฏิวัติอเมริกามีแนวความคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการผลิตนักศึกษาเพื่อมาทำงานในภาครัฐและภาคธุรกิจ ซึ่งแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยในยุคนั้นที่เน้นเฉพาะการสอนศาสนาเช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยเยล เขาจึงได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสมัยใหม่ขึ้น และมีการเรียนการสอนศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา โดยพัฒนาจาก Charity School of Philadelphia เป็น Academy of Philadelphia ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น College of Philadelphia และเปลี่ยนเป็น University of the State of Pennsylvania ตามลำดับ ต่อมาในปี ค.ศ.1791 ได้ใช้ชื่อ University of Pennsylvania (มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเซีย) มาจนถึงปัจจุบัน [1]

ในปีค.ศ.1765 ได้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ (Medical School) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการจัดทำหลักสูตรปริญญาตรี (Undergraduate) และการศึกษาวิชาชีพ (Professional Education) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจึงประกาศตนเป็นมหาวิทยาลัย (University) แห่งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี ค.ศ. 1790 นายเจมส์ วิลสันผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้บรรยายวิชากฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลกลาง ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ (Law School) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ (School of Engineering and Applied Sciences) ขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปีค.ศ. 1850 และ 1852 ตามลำดับ ต่อมาในปี ค.ศ. 1881 ได้มีการจัดตั้งวอร์ตันสคูล (Wharton's School of Finance and Commerce)ขึ้น นับเป็นคณะพาณิชยศาสตร์แห่งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีวิทยาลัยและคณะต่างๆรวมกันทั้งสิ้นกว่า 12 คณะ

ข้อมูลทั่วไป[2]

แก้

1. จำนวนนักศึกษา

  • ระดับปริญญาตรี: 10,337 คน
  • ระดับปริญญาโทและเอก: 10,306 คน
  • นักศึกษาภาคพิเศษ: 3,956 คน
  • รวมทั้งสิ้น 24,599 คน

2. จำนวนคณาจารย์

  • อาจารย์ประจำ: 2,549 คน
  • อาจารย์พิเศษ: 1,578 คน
  • รวม 4,127 คน
  • อาจารย์ผู้ช่วย: 2,342 คน
  • สัดส่วนนักศึกษาต่ออาจารย์ 6:1

3. การวิจัย

  • มีศูนย์และสถาบันวิจัยทั้งสิ้น 165 แห่ง มีคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยกว่า 3,800 คน และนักศึกษาวิจัยกว่า 1,000 คน
  • ในปี ค.ศ. 2010 มีงบประมาณวิจัยทั้งสิ้นกว่า 814 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 27,000 ล้านบาท

4. วิทยาเขต

  • West Philadelphia (University City) (วิทยาเขตหลัก): เนื้อที่ 1.13 ตารางกิโลเมตร มีอาคารกว่า180 อาคาร (ไม่นับโรงพยาบาล)
  • New Bolton Center: เนื้อที่ 2.4 ตารางกิโลเมตร มีอาคารกว่า 104 อาคาร
  • Morris Arboretum: เนื้อที่ 0.37 ตารางกิโลเมตร มีอาคารกว่า 29 อาคาร

5. งบประมาณประจำปี

  • 5.542 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท (ค.ศ. 2010)
 
College Hall มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

การศึกษาในระดับปริญญาตรี

แก้

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีคณะที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีจำนวน 4 คณะ ได้แก่

  • College of Arts and Sciences (CAS) (วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์)
  • School of Engineering and Applied Sciences (SEAS) (คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์)
  • School of Nursing (คณะพยาบาลศาสตร์)
  • The Wharton School (วอร์ตันสคูลหรือคณะพาณิชยศาสตร์)

โดยภาพรวม หลักสูตรปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่เข้ายากที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนิตยสารยูเอสนิว (US News & World Report 2010) ได้จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศ (ร่วมกับ MIT และ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรปริญญาตรีด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของวอตันสคูลได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศมาโดยตลอด[3] นอกจากนี้ สาขาวิชาอื่นๆก็ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับ Top 10 ของประเทศเช่นเดียวกัน[4]

การศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก

แก้

มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีวิทยาลัยและคณะที่เปิดสอนในระดับปริญญาโทและเอกจำนวน 12 คณะ ได้แก่

  • Annenberg School for Communication (คณะนิเทศศาสตร์)
  • Graduate School of Arts & Sciences (วิทยาลัยศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์)
  • Graduate School of Education (คณะครุศาสตร์)
  • Law School (คณะนิติศาสตร์)
  • School of Dental Medicine (คณะทันตแพทย์ศาสตร์)
  • School of Design (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์)
  • School of Engineering and Applied Science (คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์)
  • School of Medicine (คณะแพทยศาสตร์)
  • School of Nursing (คณะพยาบาลศาสตร์)
  • School of Social Policy & Practice (คณะนโยบายสังคม)
  • School of Veterinary Medicine (คณะสัตวแพทย์ศาสตร์)
  • Wharton School (วอร์ตันสคูลหรือคณะพาณิชยศาสตร์)

วิทยาลัยและคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียนับว่ามีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียมีชื่อเสียงเป็นพิเศษในด้านพาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การแพทย์ นิติศาสตร์ และ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วอร์ตันสคูลหรือคณะพาณิชยศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น Top 3 ของโลกจากหลายสถาบัน (อันดับ 1 โดยนิตยสาร Financial Times[5]) คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 3 ของประเทศ คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียได้รับการยอมรับว่าเป็นคณะนิติศาสตร์ชั้นนำและเข้ายากมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ในอันดับ Top 10 ของประเทศทุกปี[6] คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 ของประเทศ นอกจากนี้ คณะนโยบายสังคม และคณะครุศาสตร์ก็ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 ของประเทศโดยนิตยสารยูเอสนิวส์ (US News & World Report)[7]

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

แก้
  • เบนจามิน แฟรงคลิน นักการเมือง นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ นักการทูต และหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งและประกาศอิสรภาพของประเทศอเมริกา
  • เจมส์ วิลสัน ผู้พิพากษาศาลฎีกา หนึ่งผู้ลงนามในใบประกาศอิสรภาพและรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา
  • วิลเลี่ยม เฮนรี่ แฮริสัน ประธานาธิบดีคนที่ 9 ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • วิลเลี่ยม เบรนแนน ผู้พิพากษาศาลฎีกา
  • โดนัล ทรัมป์ มหาเศรษฐีและเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา
  • จอร์จ สมิส ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปีค.ศ. 2009
  • ชาลส์ อดัมส์ นักเขียนการ์ตูนเรื่อง อดัมส์ แฟมิลี่
  • โรเบิร์ต แครนดาล ประธานสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์
  • โยทาโร่ โคบายาชิ ประธานบริษัทฟูจิซีรอกส์
  • ลีโอนาร์ด เลาเดอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องสำอางค์ Estee Lauder
  • อดิตยา มิตทอล ประธานบริษัท Mittal Steel แห่งอินเดีย

ศิษย์เก่าชาวไทยที่มีชื่อเสียง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-08. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  2. [1] เก็บถาวร 2010-02-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Penn: Facts and Figures
  3. "Best Undergraduate Business Programs, US News & World Report". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-26. สืบค้นเมื่อ 2010-03-06.
  4. "Best Colleges 2010, US News & World Report". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-21. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
  5. "Global MBA Rankings, Financial Times". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-28. สืบค้นเมื่อ 2010-03-06.
  6. "Best Law Schools, US News & World Report". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-01. สืบค้นเมื่อ 2010-03-06.
  7. [2] University rankings, US News & World Report