ภาพอูกิโยะ (ญี่ปุ่น: 浮世絵โรมาจิUkiyo-e) คือกลุ่ม (genre) ของภาพศิลปะของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในยุคเอโดะ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนชั้นกลางในยุคนั้น โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงการขับร้อง สตรีในแหล่งเริงรมย์ ภูมิทัศน์ แต่มีบางส่วนที่อยู่ในหัวข้อของประวัติศาสตร์ ราชสำนัก และศาสนาด้วย โดยภาพศิลปะในกลุ่มนี้ มีทั้งภาพเขียนด้วยมือ (肉筆画) ซึ่งมีราคาสูงกว่าเพราะแต่ละภาพมีเพียงชิ้นเดียว และ ภาพที่พิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ (木版画) ที่มีราคาถูกกว่าเนื่องจากสามารถพิมพ์ได้จำนวนมากกว่า คนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ง่าย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปจะเป็นภาพพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้นี้

ทิวทัศน์ของภูเขาฟูจิภาพหนึ่งในชุด “สถานี 53 สถานีบนเส้นทางโทไกโด” (Fifty-three Stations of the Tōkaidō) โดยฮิโรชิเงะ ตีพิมพ์ ค.ศ. 1850

คำว่า “อูกิโยะ” ความหมายแต่เดิมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ เขียนเป็นตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นว่า 憂世 หมายถึง โลกนี้มีแต่ความทุกข์ หลังจากนั้นรับความหมายจากภาษาจีนของคำว่า 浮生 ซึ่งหมายถึง ชีวิตนี้ไม่เที่ยง (แปรปรวน) เข้ามารวมกัน กลายเป็นตัวเขียนใหม่คือ 浮世 ซึ่งหมายถึง โลกนี้ไม่เที่ยง ผู้คนในยุคหลังที่ใช้ชีวิตบันเทิงเริงรมย์ และหันหลังให้ความเคร่งครัดทางศาสนาในยุคก่อนหน้า มองว่าในเมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ก็ควรปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่บันเทิงใจ (ญี่ปุ่น: 浮かれるโรมาจิukareru) จึงนำศัพท์นี้มาใช้ในความหมายบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับความหมายในยุคแรก ภาพที่วาดออกมาตามแนวนี้ จึ่งเป็นภาพของสิ่งบันเทิงใจในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับละครคาบูกิ ซูโม่ เกอิชา หญิงงามเมืองทั้งระดับทั่ว ๆ ไป และระดับสูงที่อยู่บริเวณโยชิมูระ ซึ่งมีชื่อเรียกว่าโออิระ (花魁) ไปจนถึงภาพที่แสดงการเสพกามที่เรียกว่าชุงงะ (ญี่ปุ่น: 春画โรมาจิshunga) ลักษณะดังกล่าวทำให้ “ukiyo-e” หรือ “ภาพของโลกที่น่าบันเทิงใจ” เป็นกลุ่มภาพที่มีเอกลักษณ์ของตนเองต่างไปจากภาพเขียนประเภทอื่น

นักประพันธ์ร่วมสมัยอาซาอิ เรียวอิ (Asai Ryōi) ได้บรรยายถึง เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของความหมายตามยุคสมัยของคำว่า “อูกิโยะ” ในนิยายชื่อ Ukiyo monogatari (浮世物語 หรือ "ตำนานของอูกิโยะ") ที่เขียนในปี ค.ศ. 1661 โดยตอนหนึ่งได้บรรยายถึงความหมายในยุคหลังว่า:

... ใช้ชีวิตอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง, ดื่มด่ำกับความงามของดวงจันทร์ หิมะ ดอกซากูระ ใบเมเปิล ร้องเพลง ดื่มเหล้าสาเก ไม่วิตกกับความขัดสนที่จะตามมา ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่มีความกังวล .. เฉกเช่น น้ำเต้าที่ล่องลอยไปกับสายน้ำ... นี่คือสิ่งที่เรียกว่า อูกิโยะ[1]

ลักษณะศิลปะที่มีวิวัฒนาการขึ้นมาจากปรัชญานี้เป็นที่นิยมกันในวัฒนธรรมเมืองของเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) ระหว่างครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่เริ่มจากงานที่มีสีเดียวของฮิชิกาวะ โมโรโนบุ ในคริสต์ทศวรรษ 1670 ในระยะแรกภาพพิมพ์ก็ใช้เพียงหมึกอินเดีย (India ink) ต่อมาก็มีการเพิ่มสีด้วยแปรง แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซูซูกิ ฮารูโนบุ ก็คิดค้นวิธีพิมพ์หลายสีขึ้นที่เรียกว่า “นิชิกิ-เอะ” (nishiki-e) ขึ้น

ภาพอูกิโยะเป็นศิลปะที่ราคาพอประมาณเพราะสามารถผลิตเป็นจำนวนมากได้ และเป็นงานที่สร้างขึ้นสำหรับชาวเมืองผู้ที่ส่วนใหญ่แล้วก็ฐานะไม่ดีพอที่จะซื้องานที่เป็นต้นฉบับได้ หัวข้อที่สร้างในระยะแรกก็เป็นชีวิตในเมือง โดยเฉพาะจากบริเวณแหล่งสำราญ ที่รวมทั้งสตรีผู้มีความงาม นักมวยปล้ำซูโม่ และนักแสดงละครที่มีชื่อเสียง ต่อมาหัวเรื่องก็ขยายไปรวมภูมิทัศน์ที่ก็กลายมาเป็นที่นิยม หัวข้อทางการเมือง และ ชีวิตของชนชั้นที่เหนือกว่าที่กล่าวเป็นหัวข้อที่ทำได้แต่หาดูได้ยาก แต่กิจกรรมทางเพศซึ่งก็ไม่ห้ามจะพบได้บ่อยในงานพิมพ์ภาพ แต่ศิลปินและผู้พิมพ์บางครั้งก็จะถูกลงโทษเมื่อสร้างภาพ "ชุงงะ" ที่ชัดแจ้ง

ศิลปินภาพอูกิโยะคนสำคัญ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Richard Douglas Lane. Images from the Floating World. Old Saybrook, CT: Konecky & Konecky, 1978. p11.
  • Lambourne, Lionel. Japonisme: Cultural Crossings Between Japan and the West. London, New York: Phaidon Press, 2005. ISBN 0-7148-4105-6
  • Friese, Gordon. Hori-shi. 249 facsimiles of different seals from 96 Japanese engravers. Unna: Verlag im bücherzentrum, 2008.
  • Newland, Amy Reigle. The Hotei Encyclopedia of Japanese Woodblock Prints. Amsterdam: Hotei Publishing, 2005. ISBN 90-74822-65-7
  • Roni Uever, Susugu Yoshida (1991) Ukiyo-E: 250 Years of Japanese Art, Gallery Books, 1991, ISBN 0-8317-9041-5
  • Yamada, Chisaburah F. Dialogue in Art: Japan and the West. Tokyo, New York: Kodansha International Ltd., 1976. ISBN 0-87011-214-7

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภาพอูกิโยะ