มังงะ

การ์ตูนเล่มที่สร้างในญี่ปุ่น

มังงะ (ญี่ปุ่น: 漫画โรมาจิmanga) เป็นคำภาษาญี่ปุ่นสำหรับเรียกการ์ตูนช่อง สำหรับภายนอกประเทศญี่ปุ่น คำนี้ถูกใช้เรียกการ์ตูนช่องที่มาจากญี่ปุ่น มังงะพัฒนามาจากอุคิโยเอะและจิตรกรรมตะวันตก และเริ่มคงรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ตัวอย่างมังงะที่มีวิกิพีตังเป็นตัวละครหลัก

มังงะที่ได้รับความนิยมสูงมักถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ ละครโทรทัศน์ เนื้อหาของมังงะเหล่านั้นมักถูกดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมต่อการแพร่ภาพทางโทรทัศน์และเพื่อให้ถูกรสนิยมของผู้ชมทั่วไปยิ่งขึ้น

ประวัติ

แก้
 
คำว่า "มังงะ" ถูกใช้อย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกหลังจากจิตรกรอุคิโยเอะชื่อโฮคุไซตีพิมพ์หนังสือชื่อโฮคุไซมังงะในคริสต์ศตวรรษที่ 19

คำว่า มังงะหรือคำว่า Manga แปลตรงตัวว่า "ภาพตามอารมณ์" ถูกใช้อย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกหลังจากจิตรกรอุคิโยเอะชื่อโฮคุไซตีพิมพ์หนังสือชื่อโฮคุไซมังงะในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อย่างไรก็ดีนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มเห็นว่ามังงะอาจมีประวัติยาวนานกว่านั้น โดยมีหลักฐานคือภาพจิกะ (แปลตรงตัวว่า "ภาพตลก") ซึ่งเป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 12 มีลักษณะหลายประการคล้ายคลึงกับมังงะในปัจจุบัน อาทิ การเน้นเนื้อเรื่อง และการใช้เส้นที่เรียบง่ายแต่สละสลวย เป็นต้น

มังงะพัฒนามาจากการผสมผสานศิลปะการวาดภาพแบบอุคิโยเอะกับจิตรกรรมตะวันตก ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะพัฒนาตัวเองให้ทันกับมหาอำนาจตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผลักดันให้ญี่ปุ่นนำเข้าวัฒนธรรมตะวันตกหลาย ๆ รูปแบบ รวมทั้งการจ้างศิลปินตะวันตกมาสอนศิลปินญี่ปุ่นเกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานทางศิลปะ เช่น เส้น รูปทรง และสี ซึ่งการวาดภาพแบบอุคิโยเอะไม่ให้ความสำคัญเนื่องจากคิดว่าความรู้สึกโดยรวมของภาพสำคัญกว่า อย่างไรก็ดี มังงะที่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกาบังคับให้เปิดเสรีภาพแก่สื่อมวลชน

ในศตวรรษที่ 21 คำว่ามังงะเปลี่ยนความหมายเดิมมาหมายถึงหนังสือการ์ตูน อย่างไรก็ดีคนญี่ปุ่นมักใช้คำนี้เรียกหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็ก ส่วนหนังสือการ์ตูนทั่วไปใช้คำว่า コミックス (คอมิกส์) ซึ่งเป็นคำทับศัพท์ของ comics ในภาษาอังกฤษ ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ มังงะ (manga) ถูกใช้เรียกหนังสือการ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยการใช้คำว่ามังงะยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

มังงะมีความสำคัญวัฒนธรรมญี่ปุ่นและได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นว่าเป็นวิจิตรศิลป์และวรรณกรรมรูปแบบหนึ่ง มังงะในปัจจุบันถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษนิยมทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศอย่างกว้างขวางว่ามีความรุนแรงและเนื้อหาทางเพศปะปนอยู่มาก อย่างไรก็ดี ประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่มีกฎหมายจัดระเบียบมังงะ เว้นแต่กฎหมายคลุมเครือฉบับหนึ่งที่กล่าวทำนองว่า "ห้ามผู้ใดจัดจำหน่ายสื่อที่ขัดต่อความดีงามของสังคมจนเกินไป" เท่านั้น นักวาดการ์ตูนในญี่ปุ่นจีงมีเสรีภาพที่จะเขียนมังงะที่มีเนื้อหาทุกแนวสำหรับผู้อ่านทุกกลุ่ม

ลักษณะเฉพาะตัวของมังงะ

แก้
 
วิธีอ่านมังงะแบบญี่ปุ่น

รูปในมังงะส่วนใหญ่จะเน้นเส้นมากกว่ารูปทรงและการให้แสงเงา การจัดช่องภาพจะไม่ตายตัวเหมือนการ์ตูนสี่ช่องหรือการ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์ การอ่านมังงะจะอ่านจากขวาไปซ้ายตามวิธีเขียนหนังสือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวละครในมังงะมักจะดูเหมือนคนตะวันตกหรือไม่ก็มีนัยน์ตาขนาดใหญ่ ความใหญ่ของตากลายมาเป็นลักษณะเด่นของมังงะและอนิเมะตั้งแต่ยุคปี 1960 เมื่อเทะซึกะ โอะซะมุ ผู้เขียนเรื่องแอสโตรบอยซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของมังงะในปัจจุบัน เริ่มวาดตาของตัวละครแบบนั้น โดยเอาแบบมาจากตัวการ์ตูนของดิสนีย์ อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่านักเขียนการ์ตูนทุกคนจะวาดตัวละครให้มีตาใหญ่เสมอไป มังงะนั้นจะถูกแยกจาก comic อย่างเด่นชัดเพราะเป็นการเขียนเทคนิกการถ่ายทำภาพยนตร์ (cinematic style) โดยผู้เขียนจะทำการเขียนภาพระยะไกลระยะใกล้ระยะประชิด เปลี่ยนมุมมองและตัดต่อเนื้อหาเรื่องราวอย่างฉับไวโดยใช้เส้น speed เพิ่มความเร็ว

การตีพิมพ์มังงะ

แก้

หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ในญี่ปุ่นจะตีพิมพ์มังงะหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน โดยแต่ละเรื่องจะมีประมาณ 10 ถึง 40 หน้าต่อฉบับ หนังสือเหล่านี้มักจะตีพิมพ์โดยใช้กระดาษคุณภาพต่ำและมีจำนวนหน้าตั้งแต่ 200 ถึง 850 หน้า นอกจากนี้บางครั้งยังตีพิมพ์การ์ตูนจบในตอนและการ์ตูนสี่ช่อง มังงะเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะถูกตีพิมพ์อยู่หลายปีถ้าหากได้รับความนิยมสูง นักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการเขียนการ์ตูนจบในตอนก่อนเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง ซึ่งถ้าได้รับความนิยมก็จะได้เขียนมังงะเรื่องยาวต่อไป

หลังจากที่มังงะเรื่องหนึ่ง ๆ ถูกตีพิมพ์ไปได้ระยะหนึ่ง สำนักพิมพ์ก็จะรวบรวมมาตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนรวมเล่ม (ญี่ปุ่น: ทังโคบง) โดยใช้กระดาษคุณภาพสูง เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการไล่ตามมังงะเรื่องที่กำลังตีพิมพ์อยู่หรือผู้ที่ไม่สะดวกกับการซื้อหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ มังงะที่มีชื่อเสียงอาจจะถูกรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูน "ฉบับพิเศษ" ซึ่งอาจมีปกแข็ง พิมพ์ด้วยหมึกสามสี หรือมีจำนวนตอนมากกว่าหนังสือการ์ตูนรวมเล่มทั่วไป โดยมีนักสะสมเป็นกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้มังงะเก่า ๆ ยังถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ด้วยกระดาษคุณภาพต่ำลงและจำหน่ายในราคาเล่มละประมาณ 100 เยนเพื่อแข่งกับมังงะมือสอง

มังงะโดยหลักแล้วจะแบ่งออกเป็นประเภทตามเพศและอายุของกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือหนังสือการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย (โชเน็น) และสำหรับเด็กผู้หญิง (โชโจะ) จะมีรูปหน้าปกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและไม่วางขายบนชั้นหนังสือเดียวกัน

นักเขียนการ์ตูนบางคนจะเพิ่มหน้าพิเศษเรียกว่า โอมาเกะ (แปลตรงตัวว่า "ของแถม") ลงในหนังสือการ์ตูนรวมเล่ม โอมาเกะมักจะเล่าการออกแบบตัวละครและฉาก มีภาพร่างมังงะ หรือไม่ก็เป็นมังงะหรือข้อเขียนอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับมังงะในเล่มเลย

โดจินชิคือมังงะที่ตีพิมพ์อย่างไม่เป็นทางการโดยผู้ติดตามมังงะ โดจินชิส่วนมากจะเขียนขึ้นโดยนำตัวละครและเนื้อเรื่องจากมังงะที่วางขายอยู่ในตลาดมาแต่งเติม หรือไม่ก็เขียนเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่แต่ยังใช้ตัวละครเดิมอยู่ ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีบริษัทรวบรวมโดจินชิของมังงะ อนิเมะ หรือเกมที่มีชื่อเสียงมาตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูน และมีร้านการ์ตูนจำนวนหนึ่งที่ขายแต่โดจินชิ คอมิเก็ตเป็นเทศกาลขายตรงโดจินชิขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นปีละสองครั้ง โดยมีศิลปินเข้าร่วมงานถึงกว่า 10,000 กลุ่มและมีผู้เข้าชมงานแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 400,000 คน

มังงะนอกประเทศญี่ปุ่น

แก้

มังงะหลายเรื่องถูกแปลและจำหน่ายในประเทศหลาย ๆ ประเทศ อาทิ เกาหลี จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ฯลฯ ในประเทศไทย ธุรกิจมังงะเพิ่งจะมาเติบโตเมื่อช่วงต้นๆยุค'90 โดยก่อนปี พ.ศ. 2536-2538(1993-1995)[1][2] [3]มังงะในไทยส่วนใหญ่ได้จัดทำโดยไม่ได้รับลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องจากญี่ปุ่นและคุณภาพหนังสือก็ไม่ค่อยจะดีนักทั้งรูปเล่มและการแปล[4] หลังจากนั้นจึงเริ่มมีบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมายและตีพิมพ์มังงะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน[5] ปัจจุบันมังงะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ตลาดมีขนาดใหญ่และมีบริษัทแข่งขันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีบริษัทที่สำคัญ ๆ ได้แก่ วิบูลย์กิจ, สยามอินเตอร์คอมิกส์, เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์, รักพิมพ์, Animag, Dex Press, Zenshu, บงกช และฟีนิกซ์ และมีการวางตลาดหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์เช่น ซีคิดส์, BOOM และKC.Weekly ซึ่งทั้งหมดตีพิมพ์มังงะแนวโชเน็นที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมอีกยุคหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ามังงะในไทยราคาถูกกว่ามังงะในต่างประเทศมาก

เนื่องจากมังงะในประเทศญี่ปุ่นเขียนจากขวาไปซ้าย เวลาที่มังงะถูกแปลเป็นภาษาอื่น รูปภาพจะถูกกลับให้อ่านได้จากซ้ายไปขวา อย่างไรก็ดีนักเขียนการ์ตูนหลายคนไม่พอใจกับการกลับภาพและขอให้สำนักพิมพ์ในต่างประเทศตีพิมพ์มังงะให้อ่านจากขวาไปซ้ายเหมือนต้นฉบับ ในปัจจุบัน สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ตีพิมพ์มังงะให้อ่านจากขวาไปซ้ายมากขึ้น เนื่องจากต้องการแสดงความเคารพต่อศิลปิน ผนวกกับเสียงเรียกร้องจากนักอ่านมังงะ หรือไม่ก็เป็นเพราะไม่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างเต็มที่จากสำนักพิมพ์ หมายถึง สำนักพิมพ์อาจไม่ได้รับอนุญาตจากทางบริษัทต้นสังกัดให้กลับด้านการ์ตูนให้เป็นซ้ายไปขวาได้

ในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจมังงะยังมีขนาดเล็ก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับธุรกิจอนิเมะซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง บริษัทตีพิมพ์มังงะที่มีชื่อเสียงในอเมริกาบริษัทหนึ่งคือ วิซมีเดีย (Viz Media) ซึ่งตีพิมพ์มังงะของโชงะกุกังและชูเอฉะ เช่น อีวานเกเลียน ดราก้อนบอล เทนจิกับเพิ่อนต่างดาว ซามุไรพเนจร คนเก่งทะลุโลก เกมกลคนอัจฉริยะ และผลงานของ รุมิโกะ ทากาฮาชิ หลาย ๆ เรื่อง อีกบริษัทหนึ่งคือ โตเกียวป๊อป (TOKYOPOP) ซึ่งใช้การพิมพ์มังงะโดยคงวิธีการอ่านแบบญี่ปุ่นไว้เป็นจุดขาย และได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างความนิยมมังงะในอเมริกา โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยรุ่นหญิง อย่างไรก็ดียังมีนักวิจารณ์บางกลุ่มกล่าวว่าทางบริษัทเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ แปลได้ใจความไม่ตรงกับต้นฉบับ และภาษาที่ใช้ (หลังจากการแปลแล้ว) ค่อนข้างหยาบคาย

ฝรั่งเศสมีตลาดมังงะที่แข็งแรงและมีความหลากหลาย มังงะหลายเรื่องที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสอยู่ในแนวที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนอกประเทศญี่ปุ่นนัก เช่น ดราม่าสำหรับผู้ใหญ่ หรือมังงะแนวทดลองต่าง ๆ นักเขียนการ์ตูนอย่าง จิโระ ทานิกุชิ ซึ่งแทบไม่มีคนรู้จักในประเทศอื่น มีชื่อเสียงอย่างมากในฝรั่งเศส สาเหตุหนึ่งที่มังงะได้รับความนิยมอย่างสูงในฝรั่งเศสคือความที่ฝรั่งเศสมีตลาดการ์ตูนเชื้อชาติฝรั่งเศสอยู่ก่อนแล้ว

สำนักพิมพ์ชวงยีตีพิมพ์มังงะเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนในสิงคโปร์ และส่งออกหนังสือการ์ตูนภาษาอังกฤษส่วนหนึ่งไปยังออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ในอินโดนีเซีย มังงะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดมังงะขนาดใหญ่ที่สุดนอกญี่ปุ่น สำนักพิมพ์ในอินโดนีเชียที่มีชื่อเสียงได้แก่ อีเล็กซ์มีเดียคอมพุทินโด (Elex Media Komputindo) อะโคไลท์ (Acolyte) และกรามีเดีย (Gramedia) นอกจากนี้มังงะยังเป็นตัวจุดประกายการ์ตูนเชื้อสายอินโดนีเซียอีกด้วย

ในออสเตรเลีย มังงะชื่อดังหลายเรื่องถูกจัดจำหน่ายโดยบริษัท แม้ดแมน เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (Madman Entertainment)

มังงะสามารถพบได้ทั่วไปบนแผงหนังสือในประเทศเกาหลี อย่างไรก็ดีนักอ่านส่วนใหญ่นิยมอ่านมังงะทางอินเทอร์เน็ตเนื่องจากราคาถูกกว่า บริษัทตีพิมพ์มังงะที่มีชื่อในเกาหลี ได้แก่ ไดวอน (Daiwon) และโซลมังฮวาซา (Seol Munhwasa)

สแกนเลชันเป็นการเผยแพร่มังงะทางอินเทอร์เน็ตรูปแบบหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วผู้ติดตามมังงะจำนวนหนึ่งจะรวมตัวกันสแกนมังงะที่ยังไม่ถูกซื้อลิขสิทธิ์ในประเทศของตน แปล เปลี่ยนข้อความให้เป็นภาษาใหม่ และเปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนอื่นดาวน์โหลดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายผ่านทางไออาร์ซีหรือบิททอร์เรนท์ กลุ่มสแกนเลชันส่วนใหญ่ขอให้ผู้อ่านหยุดแจกจ่ายมังงะของตนและซื้อหนังสือการ์ตูนที่ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ดียังเป็นที่วิตกกันว่าการแจกจ่ายมังงะที่ถูกซื้อลิขสิทธิ์แล้วจะไม่จบลงง่าย ๆ

ประเภทของมังงะ

แก้

ประเภทของมังงะที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้สามารถนำไปใช้กับอนิเมะ, ละครโทรทัศน์และเกมได้ด้วย

ตามกลุ่มเป้าหมาย

แก้

ตามเนื้อหา

แก้

ตามรูปแบบ

แก้

มังงะที่มีชื่อเสียง

แก้

โชเน็น

แก้

โชโจะ

แก้

เซเน็น

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 2521-2525
  2. "2527-2530 บ้านการ์ตูนไทยหอสมุดวังท่าพระ".
  3. PAT STUDIO ,1970 Heroes Never Die สำนักพิมพ์ Animate GroupISBN 974-93214-7-2.น.75-80
  4. Comic Quest.Issue.14 Sep/2002,"บันทึกปูมหลังของการเข้ามาของฉบับลิขสิทธ์" น.29-34
  5. ช่วงยุคลิขสิทธ์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • มังงะ ที่เว็บไซต์ Curlie
  •   คู่มือการท่องเที่ยว Anime and manga in Japan จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)