คอสเพลย์
คอสเพลย์ (อังกฤษ; cosplay) เป็นคำที่เกิดจากหน่วยคำควบของคำว่า "costume play" คือกิจกรรมและศิลปะการแสดงสดอย่างหนึ่งโดยที่ผู้เข้าร่วมจะถูกเรียกว่าคอสเพลเยอร์ ซึ่งจะสวมใส่เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับเพื่อแสดงเป็นตัวละครที่เฉพาะเจาะจง[1] คอสเพลเยอร์มักจะมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อยครั้งเพื่อสร้างวัฒนธรรมย่อยของตนเองขึ้นมา และการใช้คำว่า "คอสเพลย์" ในวงกว้างนั้นรวมไปถึงการสวมบทบาทพร้อมเครื่องแต่งกายใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในการชุมนุมใด ๆ โดยไม่นับรวมการแสดงบนเวทีอีกด้วย สิ่งใดก็ตามที่สามารถนำมาตีความเช่นนี้ได้อย่างชัดเจนก็สามารถถูกนับว่าเป็นคอสเพลย์ได้เช่นกัน แหล่งที่มาของคอสเพลย์ที่เป็นที่นิยมได้แก่อนิเมะ, การ์ตูน, หนังสือการ์ตูน, มังงะ, ซีรีส์โทรทัศน์, การแสดงดนตรีร็อก, วิดีโอเกม และในบางกรณีก็อาจจะเป็นตัวละครต้นแบบด้วยเช่นกัน คำว่าคอสเพลย์นี้ประกอบจากคำสองคำดังที่กล่าวไว้ข้างต้นซึ่งก็คือ costume และ role play
จุดเริ่มต้นของคอสเพลย์ในยุคใหม่นั้นมาจากการแต่งกายของแฟนนิยายวิทยาศาสตร์ในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์ที่เริ่มจัดขึ้นโดยโมโจโรภายใต้ชื่อ "futuristicostumes" ซึ่งจัดขึ้นในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกครั้งที่ 1 ในเมืองนครนิวยอร์กเมื่อปี 1939[2] คำว่าคอสเพลย์ในภาษาญี่ปุ่น (コスプレ, โคสุปุเระ, kosupure) เกิดขึ้นเมื่อปี 1984 การเติบโตของจำนวนประชากรคอสเพลเยอร์ที่ทำเป็นงานอดิเรกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ปรากฏการณ์นี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมประชานิยมของญี่ปุ่น รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและโลกตะวันตกด้วยเช่นกัน งานคอสเพลย์ถือเป็นกิจกรรมที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในฐานะของงานประชุมแฟนคลับ และในปัจจุบันนี้ได้มีงานชุมนุมหรือการประกวดและแข่งขัน, รวมถึงเครือข่ายสังคม, เว็บไซต์ และสื่อรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์อีกมากมาย คอสเพลย์เป็นที่นิยมในคนทุกเพศทุกวัยและไม่แปลกเลยที่จะได้เห็นการแต่งกายข้ามเพศหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเจนเดอร์-เบนดิง (gender-bending)
ศัพท์มูลวิทยา
แก้คำว่า "cosplay" นั้นเป็นหน่วยคำควบในภาษาญี่ปุ่นซึ่งมาจากการคำในภาษาอังกฤษสองคำคือ costume และ play[1] คำว่าคอสเพลย์ถูกคิดค้นขึ้นโดยโนบุยูกิ ทาคาฮาชิจาก Studio Hard[3] หลังจากที่เขาได้เข้าร่วมงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกในปี 1984 (เวิลด์คอน) ที่ลอสแองเจลิส[4]และได้เห็นการแต่งกายของแฟนนิยายวิทยาศาสตร์ที่นั่น ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้เขียนบทความให้กับนิตยสารมายอะนิเมะของญี่ปุ่น[3] ทาคาฮาชิได้ตัดสินใจคิดค้นคำใหม่ชึ้นมาแทนที่การใช้คำแปลจากภาษาอังกฤษคำว่า "masquerade" เนื่องจากคำแปลในภาษาญี่ปุ่นนั้นจะได้ความหมายว่า "เครื่องแต่งกายของชนชั้นสูง" ซึ่งไม่เหมาะสมกับประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอมาที่เวิลด์คอน[5][6] การคิดค้นคำใหม่เช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการย่อคำในภาษาญี่ปุ่นที่จะใช้มอราแรกของคู่คำนั้น ๆ มาสร้างเป็นคำใหม่ ซึ่งในที่นี้คือคำว่า 'costume' ที่ได้กลายเป็นโคสุ (コス) และคำว่า 'play' ที่ได้กลายเป็นปุเระ (プレ)
ประวัติศาสตร์
แก้ก่อนศตวรรษที่ 20
แก้บทความหลัก: งานเต้นรำหน้ากาก, ฮาโลวีน, ปาร์ตี้คอสตูม
งานเต้นรำหน้ากากถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานคาร์นิวัลในศตวรรษที่ 15 พร้อมทั้งเป็นส่วนสำคัญในงานพระราชพิธี, งานประกวด, และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ของราชวงศ์ในช่วงปลายยุคกลางอย่างเช่นงานฉลองชัยชนะหรืองานอภิเษกสมรสเป็นต้น นอกจากนี้ยังขยายออกไปยังเทศกาลการแต่งกายสาธารณะในอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 16 ของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาอีกด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานเต้นรำของชนชั้นสูงโดยเฉพาะในแถบเวนิส
ในเดือนเมษายนปี 1877 ฌูล แวร์นได้ส่งบัตรเชิญเกือบ 700 ใบสำหรับงานเต้นรำในเครื่องแต่งกายที่หรูหรา ซึ่งแขกหลายคนแต่งตัวเป็นตัวละครจากนิยายของแวร์น[7]
งานปาร์ตี้เครื่องแต่งกาย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน) หรืองานปาร์ตี้แต่งกายแฟนซี (ภาษาอังกฤษแบบบริติช) เป็นงานที่ได้รับความนิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา นอกจากนี้หนังสือแนะนำการแต่งกายในยุคนั้นเช่น เครื่องแต่งกายของตัวละครเพศชาย (Male Character Costumes) ของซามูเอล มิลเลอร์ (1884)[8] หรือ หนังสืออธิบายการแต่งกายแฟนซี (Fancy Dresses Described) ของอาร์เดิร์น โฮลต์ (1887)[9] มักเน้นไปที่การแต่งกายแบบทั่วไปโดยส่วนใหญ่ เช่นการแต่งกายในยุคต่าง ๆ , การแต่งกายประจำชาติ, วัตถุสิ่งของหรือแนวคิดทางนามธรรมเช่น "ฤดูใบไม้ร่วง" หรือ "กลางคืน" ซึ่งบางส่วนของการแต่งกายที่ระบุไว้ในนั้นเป็นของบุคคลในประวัติศาสตร์ แม้ว่าบางส่วนจะมาจากนวนิยาย เช่นตัวละครจาก สามทหารเสือ หรือตัวละครอื่น ๆ จากผลงานของเชกสเปียร์
ในเดือนมีนาคมปี 1891 เฮอร์เบิร์ต ทิบบิตส์ได้มีการเชิญชวนคนกลุ่มหนึ่งที่ในปัจจุบันอาจถูกเรียกได้ว่าเป็น "คอสเพลเยอร์" ซึ่งการเชิญชวนนี้ยังได้รับการโฆษณาอีกด้วย เพื่อให้มาเข้าร่วมงานที่จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 5–10 มีนาคมในปีเดียวกันที่อาคารรอยัลอัลเบิร์ตฮอลล์ในกรุงลอนดอน งานนี้มีชื่อว่า Vril-Ya Bazaar and Fete ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นจากนวนิยายวิทยาศาสตร์และตัวละครในเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านั้นยี่สิบปี[10]
การแต่งกายของแฟนคลับ
แก้ตัวละครจากการ์ตูนแนววิทยาศาสตร์ของ เอ.ดี. คอนโดที่มีชื่อว่ามิสเตอร์สกายแก็คจากดาวอังคาร (นักชาติพันธุ์วิทยาจากดาวอังคารที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวบนโลกอย่างน่าตลกขบขัน) อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครสมมุติตัวแรกที่ผู้คนได้ทำการเลียนแบบโดยสวมใส่เครื่องแต่งกาย ซึ่งในปี 1908 คู่สามีภรรยาวิลเลียมเฟลล์ (William Fell) จากเมืองซินซินแนติในรัฐโอไฮโอถูกรายงานว่ามีการเข้าร่วมงานหน้ากากที่ลานสเก็ตโดยสวมเครื่องแต่งกายเป็นมิสเตอร์สกายแก็คและมิสดิลล์พิกเกิลส์ ต่อมาในปี 1910 ผู้หญิงที่ไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในงานหน้ากากที่เทศมณฑลทาโคมาในรัฐวอชิงตัน โดยสวมเครื่องแต่งกายเป็นมิสเตอร์สกายแก็คด้วยเช่นกัน[14][15]
บุคคลกลุ่มแรกที่สวมเครื่องแต่งกายเข้าร่วมงานประชุมหรืองานชุมนุมจริงคือแฟนนิยายวิทยาศาสตร์นามว่าฟอร์เรสต์ เจ. อัคเคอร์แมนและเมอร์เทิล อาร์. ดักลาส ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการว่าโมโรโจ พวกเขาเข้าร่วมงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกครั้งแรกในปี 1939 (Nycon หรือ 1st Worldcon) ที่อาคารคาราวานฮอลล์ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสวมใส่ในกิจกรรม "futuristicostumes" ซึ่งประกอบด้วยเสื้อคลุมสีเขียวและกางเกงขาสั้นที่ได้รับการออกแบบโดยอ้างอิงจากภาพวาดในนิตยสารเยื่อกระดาษของแฟรงค์ อาร์. พอลและจากภาพยนตร์ปี 1936 เรื่องธิงส์ทูคัม โดยทั้งสองชุดนั้นออกแบบและตัดเย็บขึ้นมาโดยดักลาส[15][16][17]
หลังจากนั้นอัคเคอร์แมนได้ให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาคิดว่าทุกคนคงจะสวมชุดแนวเดียวกันกับเขาในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์ ทว่ากลับมีเพียงแค่เขาและดักลาสเท่านั้น[18]
แนวคิดการแต่งกายของแฟนคลับได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตามในงานงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกครั้งที่ 2 ในปี 1940 นั้นมีทั้งการจัดงานแฟนซีแบบไม่เป็นทางการในห้องของดักลาสและการจัดงานแฟนซีอย่างเป็นทางการที่เป็นส่วนหนึ่งของรายการอยู่แล้วด้วยเช่นกัน[4][19][20] เดวิด ไคล์ชนะการประกวดแฟนซีโดยสวมชุดมิง เดอะ เมอร์ซิเลสที่จัดทำขึ้นมาโดยเลสลี่ เพอร์รี ในขณะที่โรเบิร์ต เอ. ดับเบิลยู. โลว์นเดสได้รับรางวัลตำแหน่งที่สองจากการสวมชุดบาร์ เซเนสโตร (จากนวนิยายเดอะไบลนด์สปอตโดยออสติน ฮอลล์และโฮเมอร์ เอียน ฟลินท์)[19] ผู้เข้าร่วมงานคนอื่น ๆ ที่แต่งกายเข้าร่วมงานนั้นซึ่งรวมถึงแขกรับเชิญพิเศษนามว่าอี. อี. สมิธที่แต่งกายเป็นนอร์ธเวสต์ สมิธ (จากชุดเรื่องสั้นของซี. แอล. มัวร์) และทั้งอัคเคอร์แมนและดักลาสก็ได้สวมชุดในแนวคิด futuristicostumes ของพวกเขาอีกครั้งในงานประชุมครั้งนี้[18][19][21] การประกวดการแต่งกายแฟนซีและงานเต้นรำชุดแฟนซีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[20] งานเต้นรำแฟนซีในช่วงแรกเริ่มของเวิลด์คอนนั้นประกอบด้วยวงดนตรี, การเต้นรำ, อาหารและเครื่องดื่ม ผู้เข้าแข่งขันจะทำการเดินผ่านบนเวทีหรือแม้กระทั่งจัดแจงพื้นที่สำหรับการใช้เป็นพื้นที่เต้นรำ[20]
อัคเคอร์แมนสวมชุด "คนค่อมแห่งนอเทรอดาม" ไปที่งานเวิลด์คอนครั้งที่ 3 ในปี 1941 ซึ่งรวมถึงหน้ากากที่ออกแบบและสร้างโดยเรย์ แฮร์รี่เฮาเซน แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็หยุดสวมชุดแฟนซีไปเข้าร่วมงานประชุม[18] ส่วนดักลาสนั้นได้สวมชุดของตัวละครอัคคา (จากนวนิยายเรื่องเดอะมูนพูลของเอ. เมอร์ริตต์) โดยรวมถึงหน้ากากที่ทำขึ้นโดยแฮร์รี่เฮาเซนอีกเช่นกัน ซึ่งเธอได้สวมชุดนี้เข้าร่วมงานเวิลด์คอนครั้งที่ 3 และชุดสเน็คมาเธอร์ (ซึ่งอ้างอิงจากนวนิยายของเมอร์ริตต์อีกเรื่องที่มีชื่อว่าเดอะสเน็คมาเธอร์) เพื่อเข้าร่วมงานเวิลด์คอนครั้งที่ 4 ในปี 1946[22] ในขณะนั้นคำศัพท์ที่ใช้เรียกงานชุมนุมเช่นนี้ยังไม่มีการกำหนดขึ้นมา ในสารานุกรมแฟนซี (Fancyclopedia) ของแจ็ค สเปียร์ฉบับปี 1944 ใช้คำว่า costume party[23]
กฎข้อบังคับเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายได้เริ่มมีการกำหนดขึ้นมาเพื่อกำหนดแนวทางการแต่งกายและตอบสนองกับความนิยมในการแต่งกายบางรูปแบบ ผู้เข้าแข่งขันที่ทำการเปลือยกายคนแรกได้ปรากฏขึ้นในงานแต่งกายแฟนซีของเวิลด์คอนในปี 1952 ทว่าจุดสูงสุดของความนิยมนี้อยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1970 และต้นทศวรรษที่ 1980 โดยในแต่ละปีนั้นมีเพียงคนจำนวนน้อยเท่านั้น[20] ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่กฎที่ว่า "ไม่มีเครื่องแต่งกายก็คือไม่มีเครื่องแต่งกาย" โดยเป็นการห้ามการเปลือยกายเต็มตัว แม้ว่าจะอนุญาตให้มีการเปลือยกายบางส่วนได้ตราบใดที่เป็นการนำเสนอตัวละครนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง[15] ไมค์ เรสนิกอธิบายว่าชุดเปลือยที่ดีที่สุดคือชุดของคริส ลุนดี (Kris Lundi) ที่สวมชุดฮาร์พีในงานเวิลด์คอนครั้งที่ 32 ในปี 1974 (เธอได้รับรางวัลชมเชยในการแข่งขัน)[20][24][25] เครื่องแต่งกายอีกชุดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎนั้นมาจากผู้เข้าร่วมงานที่งานเวิลด์คอนครั้งที่ 20 ในปี 1962 ซึ่งมีการพกพาอาวุธเลียนแบบที่สามารถปล่อยเปลวไฟได้จริง อันนำไปสู่กฎการห้ามใช้ไฟจริง[20] ต่อมาในงานครั้งที่ 30 ในปี 1972 ศิลปินนามว่าสก็อต ชอว์ได้ทำการสวมชุดที่ประกอบด้วยเนยถั่วเป็นจำนวนมากเพื่อนำเสนอตัวละครจากคอมิกซ์ใต้ดินของเขาเองที่มีชื่อเรียกว่า "เดอะเทิร์ด" (The Turd) ทว่าเนยถั่วเหล่านั้นได้หลุดออกมาและก่อให้เกิดความเสียหายกับเฟอร์นิเจอร์ผิวนุ่มและเครื่องแต่งกายของคนอื่น ๆ และเริ่มส่งกลิ่นเหม็นภายใต้ความร้อนของแสงไฟ หลังจากนั้นอาหาร, วัตถุที่มีกลิ่น และสิ่งที่อาจทำให้เลอะเทอะจึงถูกห้ามใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องแต่งกายหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น[20][26][27][28]
การแต่งกายในลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นพร้อมกับความนิยมในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์และการมีปฏิสัมพันธ์ของแฟน ๆ เหตุการณ์แรกเริ่มที่มีการแต่งกายในงานประชุมที่สหราชอาณาจักรนั้นเกิดขึ้นในงานประชุมนิยายวิทยาศาสตร์ลอนดอนในปี 1953 แต่ยังคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์แฟนตาซีลิเวอร์พูลที่เข้าร่วมงานไซตริคอน (Cytricon) ครั้งที่ 1 ในปี 1955 ในเมืองเคทเทอริงนั้นได้สวมเครื่องแต่งกายเข้าร่วมงานและทำเช่นนั้นต่อมาในปีต่อ ๆ ไป[29] ต่อมาในงานเวิลด์คอนครั้งที่ 15 ในปี 1957 ได้กำหนดให้มีการประกวดชุดแฟนซีอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสหราชอาณาจักร[29] ต่อมาในงานอีสเตอร์คอนในปี 1960 ที่จัดขึ้นในลอนดอนนั้นอาจนับได้ว่าเป็นงานประชุมในสหราชอาณาจักรครั้งแรกที่มีการจัดงานเลี้ยงชุดแฟนซีอย่างเป็นทางการที่เป็นส่วนหนึ่งของรายการ[30] โดยมีผู้ชนะร่วมกันคือเอเธล ลินด์เซย์ (Ethel Lindsay) และไอนา ชอร์ร็อค (Ina Shorrock) ในฐานะแม่มดสองคนจากนวนิยายเดอะวิทเชสออฟคาร์เรส ซึ่งเขียนขึ้นโดยเจมส์ เอช. ชมิทซ์[31]
ในปี 1969 ได้มีการจัดงานประชุมสตาร์ เทรคขึ้นมา และต่อมาในปี 1972 จึงได้เริ่มการจัดงานประชุมใหญ่ขึ้นมา ซึ่งได้มีการจัดประกวดเครื่องแต่งกายมาโดยตลอด[32]
ในประเทศญี่ปุ่น การแต่งกายในงานประชุมนั้นเป็นกิจกรรมของแฟนคลับที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ในช่วงปี 1970 โดยเฉพาะหลังจากการเปิดตัวงานคอมิเก็ตในเดือนธันวาคมปี 1975[15] ซึ่งการแต่งกายในช่วงเวลานั้นถูกเรียกว่าคะโซ (仮装)[15] บันทึกครั้งแรกที่เกี่ยวกับการแต่งกายในงานประชุมโดยแฟนคลับในญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นที่งานอาชิโนคอนในปี 1978 ณ เมืองฮาโกเนะ ซึ่งในงานนี้นักวิจารณ์นิยายวิทยาศาสตร์แนวอนาคตนามว่ามะริ โคะทะนิก็ได้สวมชุดที่อ้างอิงมาจากภาพปกของนวนิยายเรื่องอะไฟติงแมนออฟมาร์ส โดยเอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรห์ส[33][34] โคะทะนิได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีผู้เข้าร่วมงานปาร์ตี้ชุดแฟนซีประมาณยี่สิบคน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของชมรมแฟนคลับไทรทันออฟเดอะซีของเธอและกลุ่มคันไซเอนเตอร์เทนเนอร์ส (関西芸人, คันไซเกนิน) ที่เป็นต้นกำเนิดของสตูดิโออนิเมะไกแน็กซ์ ทว่าโดยส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมงานนั้นแต่งตัวตามปกติ[33] หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคันไซซึ่งเป็นเพื่อนที่ไม่เปิดเผยชื่อของยะสุฮิโระ ทะเคะดะได้สวมชุดทัสเคนเรดเดอร์ (จากภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส) ที่ทำขึ้นอย่างเร่งด่วนจากม้วนกระดาษชำระของโรงแรมที่เป็นเจ้าภาพ[35] การประกวดชุดแฟนซีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งอย่างถาวรของงานประชุมนิฮงเอสเอฟไทไคนับตั้งแต่งานโทคอนครั้งที่ 7 ในปี 1980 เป็นต้นมา
การแข่งขันแต่งกายชุดแฟนซีครั้งแรกที่จัดขึ้นในงานประชุมหนังสือคอมมิคนั้นเป็นไปได้ว่าอาจจะจัดขึ้นในงานอะคาเดมีคอนครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นที่โรงแรมบรอดเวย์เซ็นทรัลในนครนิวยอร์กในเดือนสิงหาคม ปี 1965[36] รอย ทอมัส ผู้ที่ต่อมาได้เป็นบรรณาธิการบริหารของมาร์เวลคอมิกส์ แต่ในขณะนั้นเขาเพิ่งเปลี่ยนจากบรรณาธิการแฟนซีนมาเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพก็ได้เข้าร่วมงานโดยแต่งกายในชุดพลาสติกแมน[36]
งานเต้นรำหน้ากากครั้งแรกที่จัดขึ้นที่งานแซนดีเอโกคอมิกคอนนั้นจัดขึ้นในปี 1974 ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ 6 โดยมีจูน โฟเรย์ที่ในขณะนั้นเป็นนักพากย์เสียงมาเป็นผู้ดำเนินรายการ[37] บริงเก้ สตีเวนส์ ผู้ที่ต่อมาจะได้กลายเป็นดาราภาพยนตร์สยองขวัญนั้นสามารถคว้ารางวัลที่หนึ่งด้วยการสวมชุดของตัวละครแวมไพเรลลาในงานครั้งนี้[38][39] แอกเคอร์แมน (ผู้สร้างแวมไพเรลลา) ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้และถ่ายภาพร่วมกับสตีเวนส์ และต่อมาพวกเขาจึงได้กลายเป็นเพื่อนกัน สตีเวนส์ยังได้กล่าวว่า "ฟอร์รีและภรรยาของเขาเวนเดย์นได้กลายเป็นเสมือนพ่อแม่ทูนหัวของฉันในไม่ช้า"[40] ต่อมาช่างภาพนามว่าแดน โกลเด้นได้เห็นภาพถ่ายของสตีเวนส์ในชุดคอสตูมแวมไพเรลลาในขณะเยี่ยมบ้านของแอกเคอร์แมน ทำให้ต่อมาเขาได้จ้างเธอให้เข้าแสดงในบทที่ไม่มีบทพูดในภาพยนตร์ของนักศึกษาครั้งแรกของเธอ ที่มีชื่อเรื่องว่าไซแซ็คอิสคิง (1980) และต่อมาได้ถ่ายภาพเธอขึ้นปกนิตยสารเฟมม์แฟเทลส์ฉบับแรกในปี 1992[40] ซึ่งสตีเวนส์ได้ยกให้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักแสดงของเธอ[40]
ประมาณหนึ่งปีหลังจากการออกฉายภาพยนตร์เดอะร็อกกี้เฮอร์เรอร์พิกเจอร์โชว์ในปี 1975 ผู้ชมก็เริ่มแต่งกายเป็นตัวละครจากภาพยนตร์และเล่นบทบาทสมมติด้วยกัน (แม้ว่าสาเหตุแรกเริ่มของการแต่งกายจะเป็นการเข้าชมฟรี) โดยสวมใส่เครื่องแต่งกายที่มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับสูง[41][42]
งานคอสตูมคอน (Costume-Con) ซึ่งเป็นงานประชุมที่อุทิศให้กับการออกแบบเครื่องแต่งกายได้ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนมกราคมปี 1983[43][44] หลังจากนั้นต่อมาได้มีการจัดตั้งสมาคมนักออกแบบเครื่องแต่งกายนานาชาติ (International Costumers Guild, Inc.) ขึ้นมาหลังจากงานคอสตูมคอนครั้งที่ 3 ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้ชื่อว่าสมาคมแห่งนักออกแบบเครื่องแต่งกายแฟนตาซีโคลัมเบียใหญ่ (Greater Columbia Fantasy Costumer's Guild) เพื่อเป็นองค์กรหลักและสนับสนุนการออกแบบเครื่องแต่งกาย[43]
คอสเพลย์
แก้การออกแบบเครื่องแต่งกายเป็นกิจกรรมของบรรดาแฟนคลับในญี่ปุ่นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา และกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นหลังจากรายงานของทาคาฮาชิ อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ใหม่นี้ยังไม่ได้รับความนิยมขึ้นมาโดยทันที เป็นเวลาหนึ่งถึงสองปีหลังจากบทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ก่อนที่คำศัพท์นี้จะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่แฟนคลับที่เข้าร่วมงานประชุมหลังจากนั้นเป็นเวลาต่อมา[15] และในช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากที่ได้รับการเผยแพร่ทางโทรทัศน์และนิตยสาร คอสเพลย์ในด้านคำศัพท์และการปฏิบัติจริงก็ได้กลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น[15]
คาเฟ่คอสเพลย์แห่งแรกได้ถูกจัดตั้งขึ้นในย่านอากิฮาบาระ ในกรุงโตเกียวในช่วงปลายทศวรรษ 1990[4][45] เมดคาเฟ่ชั่วคราวได้ถูกจัดตั้งขึ้นในงานโตเกียวคาแร็กเตอร์คอลเล็กชัน (Tokyo Character Collection) ในเดือนสิงหาคมปี 1998 เพื่อโปรโมตวิดีโอเกม Welcome to Pia Carrot 2 (1997)[45] หลังจากนั้นต่อมาร้านเปียแคร์รอตเรสโตรองต์ (Pia Carrot Restaurant) ก็ได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งคราวที่ร้านเกเมอร์ส (Gamers) ในย่านอากิฮาบาระจนถึงปี 2000[45] เนื่องด้วยการเชื่อมโยงกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เฉพาะเจาะจงจึงทำให้อายุการเปิดทำการของคาเฟ่เหล่านี้มีจำกัด ซึ่งต่อมาปัญหานี้ได้ถูกแก้ไขโดยการใช้เมดทั่วไป ส่งผลให้เกิดร้านคาเฟ่ถาวรแห่งแรกคือ Cure Maid Café ซึ่งเปิดในเดือนมีนาคมปี 2001[45]
งานประชุมคอสเพลย์โลก (World Cosplay Summit) ครั้งแรกนั้นจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมปี 2003 ณ โรงแรมโรสคอร์ท (Rose Court) ในนครนาโงยะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการเชิญคอสเพลเยอร์จำนวนห้าคนจากประเทศเยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลีเข้าร่วม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการประกวดหรือแข่งขันจนกระทั่งปี 2005 ในการแข่งขันชิงแชมป์คอสเพลย์ระดับโลก (World Cosplay Championship) โดยผู้ชนะกลุ่มแรกนั้นเป็นทีมจากประเทศอิตาลี ได้แก่ จอร์เจีย เว็คคินี, ฟรานเชสก้า ดานี และเอมิเลีย ฟาตา ลิเวีย
การเข้าร่วมงานประกวดเครื่องแต่งกายในงานเวิลด์คอนนั้นเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980 และเริ่มเสื่อมความนิยมลงหลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม ความนิยมเช่นนี้ได้กลับคืนมาอีกครั้งเมื่อแนวคิดเรื่องการคอสเพลย์ได้รับการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น
คอสเพลย์ในทางปฏิบัติ
แก้เครื่องแต่งกายสำหรับการคอสเพลย์นั้นมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่เสื้อผ้าที่มีความเรียบง่ายไปจนถึงเครื่องแต่งกายที่มีรายละเอียดซับซ้อน โดยทั่วไปแล้วคอสเพลย์นั้นถือว่าแตกต่างจากการแต่งกายในวันฮาโลวีนหรือมาร์ดิกรา เนื่องจากจุดประสงค์ของการคอสเพลย์คือการเลียนแบบตัวละครแบบเฉพาะเจาะจงมากกว่าการสะท้อนวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ของงานเทศกาล ดังนั้นแล้วในขณะที่ยังอยู่ในเครื่องแต่งกายนั้นคอสเพลเยอร์บางคนจึงมักพยายามเลียนแบบท่าทาง อากัปกิริยา และภาษากายของตัวละครที่พวกเขาสวมบทบาทอยู่ (โดยมีช่วงพักจากการแสดงบทบาท) ตัวละครที่ได้รับเลือกสำหรับการคอสเพลย์นั้นอาจมาจากภาพยนตร์ ซีรีส์โทรทัศน์ หนังสือ การ์ตูน วิดีโอเกม วงดนตรี อนิเมะ หรือมังงะก็ย่อมได้ คอสเพลเยอร์บางคนอาจเลือกแต่งคอสเพลย์เป็นตัวละครที่พวกเขาสร้างขึ้นเองหรือเป็นการผสมผสานของแนวคิดต่าง ๆ (เช่น ตัวละครในรูปแบบสตีมพังก์) และเป็นที่ยอมรับในหมู่คอสเพลเยอร์ว่าผู้ใดก็ตามสามารถแต่งกายเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงเพศ (genderbending) การคอสเพลย์ข้ามเพศ (crossplay) หรือการแสดงในลักษณะของการแต่งกายข้ามเพศ (drag) การสวมบทบาทเป็นตัวละครที่มีเชื้อชาติแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งการแต่งกายในแบบฮิญาบเพื่อเป็นกัปตันอเมริกา[46][47]
เครื่องแต่งกาย
แก้คอสเพลเยอร์จัดหาหรือได้รับเครื่องแต่งกายมาจากหลากหลายแหล่ง มีผู้ผลิตสินค้าได้ผลิตและจำหน่ายเครื่องแต่งกายสำเร็จรูปสำหรับการคอสเพลย์ ซึ่งแต่ละแหล่งย่อมมีคุณภาพที่แตกต่างกัน ชุดเหล่านี้มักวางจำหน่ายทางออนไลน์ แต่ยังสามารถซื้อได้จากผู้จำหน่ายตามงานประชุมต่าง ๆ เช่นกัน ในปี 2008 นั้นเหล่าผู้ผลิตชุดคอสเพลย์ในญี่ปุ่นได้รายงานผลกำไรที่สูงถึง 35,000 ล้านเยน[48] นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่รับทำงานตามคำสั่งเพื่อการจัดทำเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบฉาก หรือวิกที่ออกแบบและปรับให้เหมาะสมโดยเฉพาะกับผู้จ้างวานแต่ละคน นอกจากนี้ คอสเพลเยอร์บางคนที่นิยมสร้างชุดด้วยตนเองยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตให้แก่ประกอบแต่ละชิ้นและวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น วิกที่ยังไม่ได้จัดทรง สีย้อมผม ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ ยางลาเท็กซ์ชนิดเหลว สีทาตัว เครื่องประดับแต่งกาย และอาวุธจำลอง
ระเบียงภาพ
แก้-
ตลับแปลงร่างบนชุดของเซเลอร์มูนจัดเป็นอุปกรณ์ในการคอสเพลย์ชนิดหนึ่ง
-
คามาโดะ ทันจิโร่ และ คามาโดะ เนซึโกะในงานคอสเพลย์เมื่อปี พ.ศ.2564
-
ภาพถ่ายคอสเพลย์จากด้านหลัง คามาโดะ เนซึโกะ บริเวณป้ายรถประจำทางในปี พ.ศ.2565
-
โทโมเอะ โฮตารุ หรือ เซเลอร์แซทเทิร์น ในงานคอสเพลย์
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "Washingtonpost.com: What Would Godzilla Say?". www.washingtonpost.com.
- ↑ Culp, Jennifer (2016-05-09). "Meet the Woman Who Invented Cosplay". Racked (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 3.0 3.1 "Nobuyuki (Nov) Takahashi". web.archive.org. 2012-07-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-05. สืบค้นเมื่อ 2024-04-26.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "75 Years Of Capes and Face Paint: A History of Cosplay". Yahoo Entertainment (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-07-24.
- ↑ "The History of Cosplay". Japan Powered (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-10-16.
- ↑ Mechademia. 1, Emerging worlds of anime and manga. Internet Archive. Minneapolis, Minn. : University of Minnesota Press ; Bristol : University Presses Marketing [distributor]. 2006. ISBN 978-0-8166-4945-7.
{{cite book}}
: CS1 maint: others (ลิงก์) - ↑ Liptak, Andrew (2022-06-28). Cosplay: A History: The Builders, Fans, and Makers Who Bring Your Favorite Stories to Life (ภาษาอังกฤษ). Simon and Schuster. ISBN 978-1-5344-5582-5.
- ↑ Samuel Miller. male character costumes.
- ↑ Holt, Ardern (1887). Fancy dresses described : or, What to wear at fancy balls. University of California Libraries. London : Debenham & Freebody : Wyman & Sons.
- ↑ "'The Coming Race' and 'Vril-Ya' Bazaar and Fete, in joint aid of The West End Hospital, and the School of Massage and Electricity | Royal Albert Hall Memories". web.archive.org. 2021-04-12.
- ↑ "Cosplay Is Over 100 Years Old". Kotaku (ภาษาอังกฤษ). 2016-05-17.
- ↑ Jamieson, Gavin (2014-04-08). "6 Nerd Culture Stereotypes That Are Way Older Than You Think". Cracked.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "UNDERCOVER CHARACTER | Diving deep into the world of cosplay | Myrtle Beach Sun News". web.archive.org. 2017-09-21.
- ↑ Miller, Ron (2013-09-19). "Was Mr. Skygack the First Alien Character in Comics?". Gizmodo (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 Ashcraft Brian; Plunkett, Luke (2014). Cosplay World. Prestel Publishing. pp. 6–11. ISBN 9783791349251.
- ↑ "Mimosa 29, pages 55-59. "Caravan to the Stars" by Dave Kyle". www.jophan.org.
- ↑ Culp, Jennifer (2016-05-09). "Meet the Woman Who Invented Cosplay". Racked (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ 18.0 18.1 18.2 Painter, Deborah (2010). Forry: The Life of Forrest J Ackerman. McFarland. pp. 37–39. ISBN 9780786448845.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 Rich, Mark (2009). C.M. Kornbluth: The Life and Works of a Science Fiction Visionary. McFarland. p. 69. ISBN 9780786457113.
- ↑ 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 20.6 Resnick, Mike (2015). "Worldcon Masquerades". Always a Fan. Wildside Press. pp. 106–110. ISBN 9781434448149.
- ↑ "Textile Technoculture Creations and the Early Days of Women's Cosplay — Lady Science". web.archive.org. 2023-08-25.
- ↑ "eFanzines.com - Robert Lichtman - Trap Door". web.archive.org. 2017-02-08.
- ↑ Speer, John Bristol (1944). Fancyclopedia (1st ed.). Los Angeles: Forrest J Ackerman. p. 21.
- ↑ "Kris Lundi aka Animal X as a Harpy, Discon II, 1974". web.archive.org. 2017-02-08.
- ↑ "Discon II - 1974 WorldCon - W74M024". fanac.org.
- ↑ "Mimosa 25, pages 13-20. "Worldcon Memories (Part 4)" by Mike Resnick". www.jophan.org.
- ↑ Glyer, Mike (2013-02-26). "Scott Shaw! Deuce of Deuces". File 770 (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "The Turd". web.archive.org. 2015-10-13.
- ↑ 29.0 29.1 "COSPLAY: 1930s TO 1950s". www.fiawol.org.uk.
- ↑ "COSPLAY: 1960s and 1970s". www.fiawol.org.uk.
- ↑ "LONCON (1960)". www.fiawol.org.uk.
- ↑ "Star Trek Conventions - Fanlore". fanlore.org.
- ↑ 33.0 33.1 "Interview: Mari Kotani, Pioneer of Japanese Cosplay - Origins - An Introduction to Japanese Subcultures - Keio University". web.archive.org. 2017-05-02.
- ↑ Thorn, Rachel (2004). "Girls And Women Getting Out Of Hand: The Pleasure And Politics Of Japan's Amateur Comics Community". In Kelly, William W. (ed.). Fanning the Flames: Fans and Consumer Culture in Contemporary Japan. SUNY Press. p. 175. ISBN 9780791460320.
- ↑ Takeda, Yasuhiro (2005). The Notenki Memoirs. ADV Manga. ISBN 9781413902341.
- ↑ 36.0 36.1 Schelly, Bill (7 November 2012). "Found! 'New' Photos from the 1965 New York Comicon! (part 2)". Alter Ego. 3 (83). TwoMorrows Publishing: 69–70.
- ↑ "Downey Jr. dances, Arnold surprises, Spider-Man rushes the stage: Every year of Comic-Con in one giant timeline". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-07-08.
- ↑ "Jazma Online Forum". web.archive.org. 2017-04-07.
- ↑ Bozung, Justin (2012-04-28). "The Brinke Stevens Interview". The Gentlemen's Blog to Midnite Cinema.
- ↑ 40.0 40.1 40.2 Collum, Jason Paul (2004). Assault of the Killer B's. McFarland. p. 24. ISBN 9780786480418.
- ↑ Samuels, Stuart (1983). Midnight Movies. Collier Books. p. 11. ISBN 002081450X.
- ↑ Making The Rocky Horror Picture Show, สืบค้นเมื่อ 2024-11-24
- ↑ 43.0 43.1 "The Genesis and Evolution of Costume-Con – Costume-ConNections" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Bacon-Smith, Camille (2000). Science Fiction Culture. University of Pennsylvania Press. p. 56. ISBN 9780812215304.
- ↑ 45.0 45.1 45.2 45.3 "Intersections: Maid in Japan: An Ethnographic Account of Alternative Intimacy". intersections.anu.edu.au.
- ↑ "Cosplayer Spotlight on Hijabi Hooligan Cosplay - The Marvel Report". web.archive.org. 2020-10-30.
- ↑ "The Muslim cosplayer who uses the hijab in her outfits" (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2024-11-24.
- ↑ Hayden, Craig (2012). The Rhetoric of Soft Power: Public Diplomacy in Global Contexts (ภาษาอังกฤษ). Lexington Books. ISBN 978-0-7391-4258-5.