เครือข่ายสังคม
เครือข่ายสังคม หมายถึงโครงสร้างทางสังคมที่สร้างขึ้นจากกลุ่มของผู้กระทำ (เช่นปัจเจกบุคคลหรือองค์การ) และความสัมพันธ์ทวิภาคระหว่างผู้กระทำเหล่านี้ ทัศนมิติเครือข่ายสังคมช่วยให้สามารถวิเคราะห์โครงสร้างของหน่วยสังคมทั้งมวลได้อย่างกระจ่างแจ้ง [1] การศึกษาโครงสร้างเหล่านี้ใช้การวิเคราะห์เครือข่ายสังคมเพื่อระบุแบบอย่างท้องถิ่นหรือทั่วโลก ค้นหาหน่วยสังคมที่มีอิทธิพล และตรวจวัดพลวัตของเครือข่าย
เครือข่ายทางสังคม หมายถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างกลุ่ม เพื่อเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ หรือเพื่อสร้างองค์กรไร้สาย ซึ่งปัจจุบันเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไฮไฟฟ์ ไลน์ (โปรแกรมประยุกต์) ผ่านสมาร์ตโฟนมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันสนับสนุนให้การเข้าถึงเครือข่ายผ่านสมาร์ตโฟนทำได้ง่ายขึ้นมาก[2]
เครือข่ายสังคมและการวิเคราะห์เป็นสาขาวิชาสหวิทยาการโดยแท้ อันปรากฏขึ้นจากจิตวิทยาสังคม สังคมวิทยา สถิติศาสตร์ และทฤษฎีกราฟ จอร์จ ซิมเมิล (Georg Simmel) ได้แต่งตำราเกี่ยวกับทฤษฎีเชิงโครงสร้างในสังคมวิทยา เพื่อเน้นให้เห็นถึงพลวัตของความสัมพันธ์ไตรภาคและ "ข่ายโยงใยของการเข้าร่วมกลุ่ม" [3] จาค็อบ โมเรโน (Jacob Moreno) ก็มีชื่อเสียงในเรื่องการพัฒนาผังสังคมมิติ (sociogram) ขึ้นเป็นคนแรกในคริสต์ทศวรรษ 1930 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แนวการศึกษาเหล่านี้ถูกทำให้เป็นระเบียบแบบแผนเชิงคณิตศาสตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1950 จากนั้นทฤษฎีและวิธีการต่าง ๆ ของเครือข่ายสังคมก็เป็นที่แพร่หลายในสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ในคริสต์ทศวรรษ 1980 [1][4] ปัจจุบันนี้การวิเคราะห์เครือข่ายสังคมเป็นหนึ่งในกระบวนทัศน์หลักของสังคมวิทยาร่วมสมัย และถูกนำไปใช้ในศาสตร์เชิงสังคมและรูปนัยอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้เครือข่ายสังคมก่อร่างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชาวิทยาการเครือข่ายที่เพิ่งเริ่มต้น ควบคู่ไปกับเครือข่ายซับซ้อนอื่น ๆ [5][6]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Wasserman, Stanley; Faust, Katherine (1994). "Social Network Analysis in the Social and Behavioral Sciences". Social Network Analysis: Methods and Applications. Cambridge University Press. pp. 1–27. ISBN 9780521387071.
- ↑ Dahl, Boonruean Thongtip. The Social The Shortage of Budgeting (pp.15).Doctor of Philosophy Public Administration: Western University Press,2018
- ↑ Scott, W. Richard; Davis, Gerald F. (2003). "Networks In and Around Organizations". Organizations and Organizing. Pearson Prentice Hall. ISBN 0-13-195893-3.
- ↑ Freeman, Linton (2004). The Development of Social Network Analysis: A Study in the Sociology of Science. Empirical Press. ISBN 1-59457-714-5.
- ↑ Borgatti, Stephen P.; Mehra, Ajay; Brass, Daniel J.; Labianca, Giuseppe (2009). "Network Analysis in the Social Sciences". Science. 323 (5916): 892–895. doi:10.1126/science.1165821.
- ↑ Easley, David; Kleinberg, Jon (2010). "Overview". Networks, Crowds, and Markets: Reasoning about a Highly Connected World. Cambridge University Press. pp. 1–20. ISBN 978-0-521-19533-1.