ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

มนุษย์ผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกบนหมู่เกาะญี่ปุ่นย้อนรอยถึงช่วงก่อนประวัติศาสตร์ราว 30,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ยุคโจมง ซึ่งตั้งชื่อตามเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบที่ถือกำเนิดในยุคดังกล่าว ตามด้วยยุคยาโยอิในช่วง 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชแรก ในยุคนี้มีการรับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จากประเทศในเอเชียมาใช้ และปรากฏบันทึกที่กล่าวถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกใน หนังสือฮั่น ในคริสต์ศตวรรษแรก

ช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 3 ชาวยาโยอิจากผืนแผ่นดินใหญ่ย้ายถิ่นเข้าสู่หมู่เกาะญี่ปุ่นและริเริ่มการใช้เทคโนโลยีเหล็กและอารยธรรมเกษตรกรรม[1] ประชากรชาวยาโยอิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากอารยธรรมเกษตรกรรมจนครอบงำชาวโจมงซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองเก็บของป่าล่าสัตว์ที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะญี่ปุ่นในที่สุด[2] ระหว่างศตวรรษที่ 4 ถึง 9 อาณาจักรและชนเผ่าญี่ปุ่นค่อย ๆ เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้รัฐบาลรวมศูนย์อำนาจนำโดยจักรพรรดิญี่ปุ่นเพียงในพระนาม มีการสถาปนาราชวงศ์ที่มีการสืบสันติวงศ์จวบจนถึงปัจจุบันขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในเชิงพิธีเกือบทั้งหมด ใน ค.ศ. 794 มีการก่อตั้งเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่เฮอังเกียว (เกียวโตในปัจจุบัน) อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอังซึ่งสิ้นสุดใน ค.ศ. 1185 ยุคเฮอังได้รับการยอมรับว่าเป็นยุคทองแห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นคลาสสิก และนับจากนั้นศาสนาของชาวญี่ปุ่นเป็นการผสมรวมเข้ากับการปฏิบัติตามหลักทางลัทธิชินโตและศาสนาพุทธ

หลายศตวรรษต่อมา พระราชอำนาจของราชวงศ์ลดลงและถ่ายผ่านไปสู่ตระกูลฟูจิวาระซึ่งเป็นตระกูลขุนนางทรงอิทธิพล ส่งต่อไปยังตระกูลทหารและไพร่พลซามูไร ตระกูลมินาโมโตะภายใต้การนำของมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะได้รับชัยชนะจากสงครามเก็มเปใน ค.ศ. 1180–85 นำไปสู่ความพ่ายแพ่ของตระกูลทหารไทระซึ่งเป็นคู่แข่งกับตระกูลมินาโมโตะ หลังการยึดอำนาจ โยริโตโมะสถาปนาเมืองหลวงในคามากูระและเป็นผู้รับตำแหน่ง "โชกุน" ใน ค.ศ. 1274 และ ค.ศ. 1281 รัฐบาลโชกุนคามากูระสามารถต้านทานการรุกรานของมองโกลได้ แต่ใน ค.ศ. 1333 รัฐบาลล้มลงโดยคู่ต่อสู้ผู้อ้างสิทธิต่อรัฐบาลโชกุน ซึ่งนำทางสู่ยุคมูโรมาจิ ในยุคนี้ ผู้นำทางทหารท้องถิ่นที่เรียกว่า "ไดเมียว" เริ่มมีอิทธิพลเหนือโชกุน ท้ายที่สุด ประเทศญี่ปุ่นตกลงมาสู่ยุคสงครามกลางเมือง เมื่อเวลาผ่านไปถึงท้ายศตวรรษที่ 16 ประเทศญี่ปุ่นกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งภายใต้การนำของไดเมียวที่ทรงอำนาจ โอดะ โนบูนางะ และผู้สืบตำแหน่งของเขา โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ หลังการเสียชีวิตของโทโยโตมิใน ค.ศ. 1598 โทกูงาวะ อิเอยาซุ ขึ้นครองอำนาจและได้รับการแต่งตั้งเป็นโชกุนโดยจักรพรรดิ รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะซึ่งปกครองประเทศจากเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) เป็นรัฐบาลผู้นำยุครุ่งเรืองและสันติสุขที่รู้จักในชื่อยุคเอโดะ (ค.ศ. 1600–1868) รัฐบาลโทกูงาวะกำหนดระบบชนชั้นอย่างเข้มงวดต่อสังคมญี่ปุ่นและตัดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกแทบทั้งหมด

ประเทศโปรตุเกสและประเทศญี่ปุ่นเริ่มติดต่อกันใน ค.ศ. 1543 จากการที่ชาวโปรตุเกสในฐานะชาวยุโรปกลุ่มแรกที่มาถึงประเทศญี่ปุ่นทางหมู่เกาะตอนใต้ ชาวโปรตุเกสสร้างอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัดต่อประเทศญี่ปุ่นแม้จะมีการข้อจำกัดด้านการติดต่อโดยการนำเข้าอาวุธปืนสู่การสงครามญี่ปุ่น การเดินทางของเพร์รีชาวอเมริกันใน ค.ศ. 1853–54 ยุติการอยู่อย่างสันโดษของประเทศญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลโชกุนและการคืนอำนาจสู่จักรพรรดิระหว่างสงครามโบชินใน ค.ศ. 1868 ผู้นำชาติใหม่ของยุคเมจิเปลี่ยนประเทศที่เป็นเกาะศักดินาโดดเดี่ยวเป็นจักรวรรดิซึ่งมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับตะวันตกและกลายเป็นมหาอำนาจในที่สุด แม้ว่าประชาธิปไตยและวัฒนธรรมสมัยใหม่รุ่งเรืองในยุคไทโช (ค.ศ. 1912–26) กองทัพที่แข็งแกร่งของประเทศญี่ปุ่นมีอิสระในการปกครองตนเองสูงและครอบงำผู้นำพลเรือนญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ. 1920 ถึง ค.ศ. 1930 กองทัพญี่ปุ่นบุกครองแมนจูเรียใน ค.ศ. 1931 และจาก ค.ศ. 1937 เป็นต่อมา ความขัดแย้งทวีคูณเป็นสงครามอันยาวนานกับประเทศจีน ใน ค.ศ. 1941 การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ของประเทศญี่ปุ่นนำไปสู่สงครามกับสหรัฐและฝ่ายสัมพันธมิตร กองกำลังญี่ปุ่นเริ่มอ่อนกำลังลงแต่สามารถต้านทานไว้ได้แม้จะมีการโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายสัมพันธมิตรที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อศูนย์กลางประชากร จักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศการยอมจำนนของญี่ปุ่นในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หลังจากเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิและการบุกครองแมนจูเรียของสหภาพโซเวียต

ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองญี่ปุ่นจนถึง ค.ศ. 1952 ในระหว่างนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกบัญญัติขึ้นใน ค.ศ. 1947 ซึ่งเปลี่ยนแปลงประเทศญี่ปุ่นสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หลัง ค.ศ. 1955 ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดภายใต้การปกครองของพรรคเสรีประชาธิปไตยและกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ตั้งแต่ทศวรรษที่สาบสูญในช่วง ค.ศ. 1990 การเติบโตทางเศรษฐกิจชลอลง ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 และคลื่นสึนามิ หนึ่งในภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกซึ่งทำให้ผู้คนกว่า 20,000 คนเสียชีวิตและจุดชนวนภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และญี่ปุ่นโบราณ แก้

ยุคหินเก่า แก้

 
ประเทศญี่ปุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งใหญ่สุดครั้งสุดท้ายในช่วงอายุไพลสโตซีนตอนปลาย ประมาณ 20,000 ปีก่อน
  ภูมิภาคเหนือระดับน้ำทะเล
  ไม่มีพืชพรรณ
  ทะเล

คนเก็บของป่าล่าสัตว์มาถึงญี่ปุ่นในช่วงยุคหินเก่า แม้ว่าจะมีหลักฐานถึงการมีอยู่ของพวกเขาหลงเหลือน้อยจากดินเปรี้ยวที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ (fossilization) อย่างไรก็ตาม การค้นพบขวานรูปทรงโค้งเรียบ (ground-edge axe) ที่สร้างขึ้นกว่า 30,000 ปีก่อนอาจเป็นหลักฐานแรกของมนุษย์ในญี่ปุ่น[3] มีการคาดการณ์ว่ามนุษย์กลุ่มแรกมาถึงญี่ปุ่นโดยเรือทางน้ำ[4] พบหลักฐานการพำนักอาศัยของมนุษย์เมื่อ 32,000 ปีก่อนในถ้ำยามาชิตะ[5] และกว่า 20,000 ปีก่อนในถ้ำชิราโฮะซาโอเนตาบารุ บนเกาะอิชิงากิ[6]

ยุคโจมง แก้

 
แบบจำลองสร้างใหม่ของครอบครัวโจมงจากซากโบราณซันไน-มารูยามะ

ยุคโจมงของญี่ปุ่นช่วงก่อนประวัติศาสตร์กินเวลาตั้งแต่ราว 13,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[7] ถึงราว 1,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[8] ญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ถือวัฒนธรรมคนเก็บของป่าล่าสัตว์ที่มีอิทธิพลเป็นสำคัญจนอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ว่าเป็นสังคมการปักหลักอยู่กับที่ (sedentism) และเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนทางวัฒนธรรม[9] นักวิชาการชาวอเมริกัน เอ็ดเวิร์ด เอส. มอร์ส กล่าวว่าชื่อ "โจมง" หมายถึง "ลายเชือกทาบ" (cord-marked) จากการที่เขาค้นพบเศษเครื่องปั้นดินเผาใน ค.ศ. 1877[10] แบบอย่างของเครื่องปั้นดินเผาแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมโจมงช่วงแรก ๆ โดยการตกแต่งด้วยประทับลายเชือกให้เป็นรอยลงบนพื้นผิวที่เป็นดินเหนียวเปียก[11] เครื่องปั้นดินเผาโจมงได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกและของโลก[12]

ยุคยาโยอิ แก้

การมาถึงของชาวยาโยอิจากทวีปเอเชียได้นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในขั้นต้นต่อหมู่เกาะญี่ปุ่นและบีบอัดช่วงเวลาของความสำเร็จพันปีการปฏิวัติยุคหินใหม่ให้เหลือเพียงช่วงทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการทำนา[13] และโลหวิทยา (metallurgy) การเริ่มต้นของคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงลูกนี้คาดว่าเริ่มเมื่อราว 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช[14] ขณะที่หลักฐานจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (radio-carbon evidence) ชี้ให้เห็นว่าห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มต้นกว่า 500 ปีก่อนหน้า (ระหว่าง 1,000 และ 800 ปีก่อนคริสต์ศักราช)[15][16] โดยการหาอายุจากคีวชูตอนเหนือ ชาวยาโยอิได้รับอาวุธและเครื่องมือที่ทำมาจากทองสัมฤทธิ์และเหล็กจากจีนและคาบสมุทรเกาหลีจนค่อย ๆ เข้าแทนที่ชาวโจมง[17] นอกจากนี้ยังริเริ่มการทอและการผลิตผ้าไหม[18] เริ่มเรียนรู้วิธีการทำงานไม้[15] และเทคโนโลยีการทำแก้วใหม่[15] อีกทั้งยังปรากฏให้เห็นถึงแบบอย่าง (style) ทางสถาปัตยกรรมที่แปลกใหม่[19] การแผ่ขยายของชาวยาโยอินำไปสู่การหลอมรวมกับชาวโจมงพื้นเมือง ส่งผลให้เกิดการผสมรวมทางพันธุกรรมเล็กน้อยในยุคยาโยอิ[20]

 
ระฆังทองสัมฤทธ์ยุคยาโยอิ (โดตากุ) ในคริสต์ศตวรรษที่ 3

เทคโนโลยียาโยอิมีต้นกำเนิดมาจากเอเชียแผ่นดินใหญ่ แต่มีข้อถกเถียงระหว่างนักวิชาการว่าการขยายของเทคโนโลยีนั้นเกิดขึ้นโดยการย้ายถิ่นหรือเป็นเพียงการแพร่กระจายความคิด (diffusion of idea) หรือเป็นการผสมรวมระหว่างทั้งสอง อย่างไรก็ดี ทฤษฎีการย้ายถิ่นได้รับการสนับสนุนโดยการศึกษาทางพันธุศาสตร์และภาษาศาสตร์[15] นักประวัติศาสตร์ ฮานิฮาระ คาซูโร เสนอว่าการไหลทะลักเข้ามาของผู้อพยพประจำปีจากทวีปอยู่ที่ราว 350 ถึง 3000 คน[21]

ประชากรของญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นเพราะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเหนือชาวโจมง การคำนวณขนาดประชากรอยู่ที่ราว 1 ถึง 4 ล้านคนในช่วงสุดท้ายของยุคยาโยอิ[22] ซากโครงกระดูกจากยุคโจมงตอนปลายชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมสภาพที่ย่ำแย่ด้านมาตรฐานสุขภาพและสารอาหาร ซึ่งแตกต่างจากซากโบราณคดีในยุคยาโยอิที่สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่มักมีสถานที่คล้ายโรงเก็บเมล็ดข้าวอยู่ภายในสิ่งปลูกสร้าง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของทั้งการจัดช่วงชั้นทางสังคมและการสงครามระหว่างชนเผ่าบ่งชี้โดยสุสานที่ทำขึ้นโดยเฉพาะและป้อมปราการทหาร[15]

ในยุคยาโยอิ ชนเผ่ายาโยอิต่างค่อย ๆ รวมตัวกันเป็นอาณาจักรต่าง ๆ หนังสือฮั่น ซึ่งเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด เขียนเสร็จสิ้นใน ค.ศ. 82 ได้กล่าวถึงการแบ่งแยกญี่ปุ่นหรือ "วะ" ออกเป็น 100 อาณาจักร ขณะที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนในเวลาต่อมา เว่ยจื่อ (魏書, "Book of Wei") ระบุว่าจนถึง ค.ศ. 240 มีอาณาจักรทรงพลังหนึ่งครองอำนาจเหนืออาณาจักรอื่น อ้างอิงตาม เว่ยจื่อ อาณาจักรดังกล่าวคือ ยามาไต อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ถกเถียงเรื่องตำแหน่งของอาณาจักรและมติอื่น ๆ ของการพรรณณาใน เว่ยจื่อ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวว่ายามาไตปกครองโดยราชินีที่ชื่อฮิมิโกะ[23]

ยุคโคฟุง (ราว ค.ศ. 250–538) แก้

 
ไดเซ็นเรียวโคฟุง จังหวัดโอซากะ

ในยุคโคฟุง ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ค่อย ๆ รวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้อาณาจักรเดียวกัน สัญลักษณ์ของอำนาจที่เพิ่มขึ้นของผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่คือ โคฟุง มูนดินฝังศพที่สร้างขึ้นตั้งแต่ราว ค.ศ. 250 เป็นต้นมา[24] โดยส่วนมากมักมีขนาดใหญ่ เช่น สุสานจักรพรรดินินโตกุ มูนดินฝังศพรูปรูกุญแจยาว 486 เมตร ที่ใช้เวลาแรงงานจำนวนมหาศาลกว่า 15 ปี จนสำเร็จ สุสานได้รับการยอมรับว่าเป็นหลุมฝังศพที่สร้างขึ้นสำหรับจักรพรรดินินโตกุตามชื่อ[25] โคฟุง ส่วนใหญ่จะถูกล้อมรอบด้วยรูปปั้นเครื่องดินเผาดินเหนียวสีหม้อใหม่ (Teracotta clay figure) ที่เรียกว่า ฮานิวะ โดยมักปั้นเป็นรูปนักรบและม้า[24]

ศูนย์กลางของรัฐรวมคือยามาโตะในภูมิภาคคิไน (ภาคกลางของญี่ปุ่น)[24] ผู้ปกครองรัฐยามาโตะเป็นหนึ่งในผู้สืบราชสันติวงศ์จักรพรรดิที่เป็นราชวงศ์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของโลก ผู้ปกครองรัฐยามาโตะขยายอำนาจทั่วญี่ปุ่นผ่านการพิชิดดินแดนโดยกำลังทหาร แต่พวกเขามักเลือกใช้วิธีการขยายอำนาจด้วยการโน้มน้าวผู้นำท้องถิ่นให้ยอมรับอำนาจอันชอบธรรมเพื่อแลกกับตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลในรัฐบาล[26] ตระกูลท้องถิ่นที่ทรงอำนาจหลายตระกูลที่เข้าร่วมกับรัฐยามาโตะเป็นที่รู้จักในชื่อ อูจิ[27]

 
การขยายอาณาเขตของราชสำนักยามาโตะในยุคโคฟุง

ผู้นำในยุคโคฟุงพยายามจนได้รับการยอมรับทางการทูตจากจีน และได้รับการขนานนามผู้นำสืบเนื่องทั้งห้าว่าเป็นกษัตริย์แห่งวะทั้งห้า ช่างฝีมือและนักวิชาการจากจีนและสามราชอาณาจักรเกาหลีมีส่วนร่วมที่สำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีข้ามทวีปและทักษะการปกครองรัฐสู่ญี่ปุ่นในยุคนี้[27]

นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นเดียวกันว่ามีการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างสหพันธรัฐยามาโตะและสหพันธรัฐอิซูโมะหลายศตวรรษก่อนการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร[28]

ยุคญี่ปุ่นคลาสสิก แก้

ยุคอาซูกะ แก้

 
วัดพุทธโฮรีวจิเป็นสิ่งปลูกสร้างไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อสร้างตามพระบัญชาของเจ้าชายโชโตกุ โฮรีวจิเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น

ยุคอาซูกะเริ่มต้นในช่วง ค.ศ. 538 ตอนต้นพร้อมกับศาสนาพุทธจากอาณาจักรเกาหลีแพ็กเจ[29] นับตั้งแต่นั้นมา ศาสนาพุทธอยู่เคียงข้างกับศาสนาชินโตท้องถิ่นญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "ชินบุตสึชูโง"[30] ยุคนี้ตั้งชื่อตามเมืองหลวงโดยพฤตินัย อาซูกะ ในภูมิภาคคิไน[31]

ตระกูลพุทธโซงะเข้าควบคุมรัฐบาลญี่ปุ่นจากเบื้องหลังในช่วง ค.ศ. 580 เกือบ 60 ปี[32] เจ้าชายโชโตกุ ผู้เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธและผู้สืบสกุลโซงะบางส่วน ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้นำโดยพฤตินัยของญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 594–622 โชโตกุเขียนรัฐธรรมนูญสิบเจ็ดมาตราซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิขงจื๊อ เป็นจรรยาบรรณแก่ข้าราชการและพลเมือง และพยายามริเริ่มราชการพลเมืองที่ยึดตามคุณความดีที่เรียก "ระบบยศผ้าโพกหัวสิบสองชั้น" (冠位十二階, Kan'i Jūnikai)[33] ใน ค.ศ. 607 โชโตกุพูดดูหมิ่นจีนเล็กน้อยโดยการเปิดประโยคในจดหมายของเขาว่า "จากผู้นำแห่งแผ่นดินอาทิตย์อุทัยถึงผู้นำแห่งแผ่นดินอาทิตย์สนธยา (อาทิตย์ตก)"[a] ตามที่เห็นในอักษรคันจิสำหรับคำว่าญี่ปุ่น (นิปปง)[34] จนถึง ค.ศ. 670 คำว่า นิฮง ซึ่งเป็นอีกคำหนึ่งที่มีความหมายตรงกันกับคำว่า นิปปง สถาปนาตนเองเป็นชื่อทางการของญี่ปุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน[35]

 
คำว่า นิฮง เขียนในอักษรคันจิ (แนวนอน) ตัวอักษรแปลว่า "ญี่ปุ่น" ในภาษาญี่ปุ่น
 
เจ้าชายโชโตกุเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในยุคอาซูกะ และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้สนับสนุนพระพุทธศาสนาหลักคนแรกในญี่ปุ่น

ใน ค.ศ. 645 ตระกูลโซงะถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารโดยเจ้าชายนากะ โนะ โอเอะ และ ฟูจิวาระ โนะ คามาตาริ ผู้ก่อตั้งตระกูลฟูจิวาระ[36] รัฐบาลของเขาวางแผนและริเริ่มการปฏิรูปไทกะซึ่งเริ่มจากการปฏิรูปแผ่นดินโดยยึดตามแนวคิดลัทธิขงจื๊อและปรัชญาจากจีน การปฏิรูปนี้ทำให้ทุกผืนแผ่นดินในญี่ปุ่นเป็นของรัฐและจัดสรรที่ดินให้อย่างเท่าเทียมกัน (Equal-field system) แก่เกษตรกร อีกทั้งยังสั่งให้มีการลงทะเบียนบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อใช้เป็นพื้นฐานของระบบการเก็บภาษีใหม่[37] จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการปฏิรูปนี้คือการรวมและเพิ่มพระราชอำนาจของพระราชวังหลวงที่ยังยึดตามโครงสร้างรัฐบาลจีน คณะทูตและนักเรียนถูกส่งไปยังจีนเพื่อเรียนรู้การเขียนอักษรจีน, การเมือง, ศิลปะ และศาสนา หลังจากการปฏิรูป ใน ค.ศ. 672 เกิดสงครามจินชินนองเลือดขึ้นระหว่าง เจ้าชายโออามะ และหลานชายของเขา เจ้าชายโอโตโมะ ซึ่งทั้งสองเป็นคู่แข่งที่จะได้ขึ้นบัลลังก์ สงครามจินชินกลายเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองในครั้งต่อไป[36] การปฏิรูปเหล่านี้บรรลุถึงจุดสูงสุดได้ด้วยการประกาศใช้ประมวลกฎหมายไทโฮซึ่งเป็นการทำให้บทกฎหมาย (statute) ที่มีผลบังคับใช้อยู่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้งยังกำหนดโครงสร้างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นภายใต้การปกครองต่าง ๆ[38] การปฏิรูปกฎหมายนี้ก่อให้เกิด ริตสึเรียว ซึ่งเป็นระบบของรัฐบาลรวมอำนาจแบบจีนที่อยู่ในอำนาจตลอดครึ่ง 1,000 ปี[36]

ศิลปะในยุคอาซูกะปรากฏลักษณะเด่นเฉพาะของศิลปะในศาสนาพุทธอยู่[39] หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงคือวัดพุทธโฮรีวจิซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อสร้างตามพระบัญชาของเจ้าชายโชโตกุ[40]

ยุคนาระ (ค.ศ. 710–794) แก้

 
ศาลาหลวงพ่อโต (ไดบุตสึเด็ง) ภายในโทไดจิ วัดพุทธนี้ได้รับการสนับสนุนโดยราชสำนักในยุคนาระ

ใน ค.ศ. 710 รัฐบาลได้ก่อตั้งเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ใหม่ที่เฮโจเกียว (ปัจจุบันคือเมืองนาระ) โดยได้รับต้นแบบจากเมืองหลวงของราชวงศ์ถังของจีน ฉางอาน ในยุคนี้ มีการผลิตหนังสือสองเล่มแรกในญี่ปุ่น: โคจิกิ และ นิฮงโชกิ[41] บันทึกตำนานของญี่ปุ่นตอนต้นและปรัมปรากำเนิดโลก ซึ่งทั้งสองเล่มอธิบายการสืบราชสันตติวงศ์ในฐานะทายาทแห่งพระเจ้า[42] มีการผลิต มันโยชู ขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 8 ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมกวีนิพนธ์ญี่ปุ่นที่ดีที่สุด[43]

ในยุคนี้ ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น ไฟป่า, ความแห้งแล้ง, ทุพภิกขภัย และการอุบัติของโรคอย่างการระบาดของโรคฝีดาษใน ค.ศ. 735–737 ที่คร่าชีวิตหนึ่งส่วนสี่ของประชากรทั้งหมด[44] จักรพรรดิโชมุ (ครองราชย์ ค.ศ. 724–749) เกรงว่าความหละหลวมของการเคร่งศาสนาของเขาเป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเพิ่มการส่งเสริมศาสนาพุทธของรัฐบาลซึ่งรวมถึงการก่อสร้างวัดโทไดจิใน ค.ศ. 752[45] เงินระดมทุนในการก่อสร้างวัดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยพระพุทธที่ทรงอิทธิพล เกียวกิ และหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้น วัดโทไดจิถูกใช้โดยพระจีน กันจิน เป็นสถานที่สำหรับบวช[46] ญี่ปุ่นไม่เคยประสบปัญหาการลดลงของประชากรที่ต่อเนื่องมาจนถึงยุคเฮอัง[47]

ยุคเฮอัง (ค.ศ. 794–1185) แก้

 
แบบจำลองย่อส่วนของเมืองหลวงโบราณ เฮอังเกียว
 
สงครามโกะซันเน็งในคริสต์ศตวรรษที่ 11

ใน ค.ศ. 784 มีการย้ายเมืองหลวงอย่างชั่วคราวไปยัง นางาโอกะเกียว และอีกครั้งใน ค.ศ. 794 ไปยัง เฮอังเกียว (เกียวโตในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในยุคเฮอังจนถึง ค.ศ. 1868[48] อำนาจทางการเมืองภายในราชสำนักถ่ายผ่านไปสู่ตระกูลฟูจิวาระ ครอบครัวขุนนางราชสำนักที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดกับราชวงศ์ผ่านการสมรสต่างพวก (intermarriage)[49] ระหว่าง ค.ศ. 812 และ 814 การระบาดของโรคฝีดาษเป็นผลให้ประชากรเกือบกึ่งหนึ่งของชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต[50]

ใน ค.ศ. 858 ฟูจิวาระ โนะ โยชิฟูซะ ประกาศว่าเขาเป็น "เซ็ชโช" (摂政, sesshō, "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์") ต่อจักรพรรดิที่ยังทรงพระเยาว์เกินกว่าจะปกครอง บุตรชายของเขา ฟูจิวาระ โนะ โมโตสึเนะ ก่อตั้งสำนักงานของ "คัมปากุ" เพื่อสำเร็จราชการแทนจักรพรรดิที่ทรงเจริญพระชนพรรษาแล้ว ฟูจิวาระ โนะ มิจินางะ รัฐบุรุษคนสำคัญผู้ที่ได้ครองตำแหน่งคัมปากุไปใน ค.ศ. 996 ปกครองญี่ปุ่นภายใต้อำนาจอันเหลือล้นของตระกูลฟูจิวาระ[51] และให้บุตรสาวทั้ง 4 ของเขาสมรสกับจักรพรรดิทั้งองค์ปัจจุบันและในอนาคต[49] ตระกูลฟูจิวาระครองอำนาจจนถึง ค.ศ. 1086 เมื่อจักรพรรดิชิรากาวะสละราชบัลลังก์ให้แก่บุตรชายของเขา จักรพรรดิโฮริกาวะ แต่ยังคงใช้อำนาจทางการเมืองอย่างการริเริ่มธรรมเนียมปฏิบัติการว่าราชการในวัด (院政, insei)[52] โดยจักรพรรดิที่ครองราชย์อยู่จะทรงพระราชกรณียกิจเพียงแต่พระนาม ขณะที่อำนาจที่แท้จริงถือโดยจักรพรรดิองค์ก่อนที่สละราชสมบัติเป็นเบื้องหลัง[51]

ตลอดยุคเฮอัง พระราชอำนาจของราชสำนักอยู่ในภาวะตกต่ำ ราชสำนักกลายเป็นหลุ่มหลงต่อการคลานอำนาจจนละเลยการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนอกเมืองหลวง[49] มีการโอนที่ดินเป็นของรัฐ (nationalization of land) อันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐแบบริตสึเรียวเสื่อมถอยลงจากการที่ครอบครัวขุนนางต่าง ๆ และคำสั่งศาสนาสามารถครองสถานะ "ยกเว้นภาษี" สำหรับคฤหาสน์ส่วนตัว (โชเอ็ง) ของพวกเขา[51] จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่ดินในญี่ปุ่นถูกควบคุมโดยเจ้าของโชเอ็งมากกว่ารัฐบาลกลาง ด้วยเหตุนี้ ราชสำนักจึงสูญเสียรายได้จากภาษีอากรเพื่อจ่ายให้แก่กองทัพ เพื่อเป็นการตอบโต้ เจ้าของโชเอ็งก่อตั้งกองทัพนักรบซามูไรเป็นของตนเอง[53] สองครอบครัวขุนนางทรงอิทธิพลที่สืบทอดมาจากราชวงศ์[54] ตระกูลไทระ และ ตระกูลมินาโมโตะ ได้ครอบครองกองทัพขนาดใหญ่และโชเอ็งหลายแห่งนอกเมืองหลวง รัฐบาลกลางเริ่มใช้ตระกูลนักรบสองตระกูลนี้ในการต่อต้านการกบฏและการปล้นสะดม[55] ประชากรของญี่ปุ่นมั่นคงในช่วงปลายยุคเฮอังหลังการถอยลงกว่าหลายร้อยปี[56]

ในระหว่างยุคเฮอังตอนต้น ราชสำนักสามารถรวมอำนาจควบคุมเหนือชาวเอมิชิบนเกาะฮนชูตอนเหนือ[57] โอโตโมะ โนะ โอโตมาโระ เป็นชายคนแรกที่ราชสำนักมอบยศ "เซอิไทโชกุน" (征夷大将軍, seii tai-shōgun, "จอมทัพปราบอนารยชน")[58] ใน ค.ศ. 802 เซอิไทโชกุน ซากาโนอูเอะ โนะ ทามูรามาโระ พิชิตชาวเอมิชิที่อยู่ภายใต้การนำของอาเตรูอิ[57] ภายใน ค.ศ. 1051 สมาชิกตระกูลอาเบะที่ครองตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในรัฐบาลท้องถิ่นเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนต่อรัฐบาลกลาง ราชสำนักร้องขอให้ตระกูลมินาโมโตะเข้าพิชิตตระกูลอาเบะที่เคยเอาชนะในสงครามเซ็นกูเน็ง[59] ส่งผลให้ราชสำนักอ้างสิทธิ์การใช้อำนาจทางตอนเหนือของญี่ปุ่นอย่างชั่วคราว ภายหลังจากสงครามกลางเมือง ฟูจิวาระ โนะ คิโยฮาระขึ้นครองอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่ครอบครัวของเขาควบคุมฮาชูตอนเหนือเป็นระยะเวลาเกือบร้อยปีจากฮิราอิซูมิ เมืองหลวงของพวกเขา[60]

ใน ค.ศ. 1156 เกิดข้อพิพาทระหว่างลำดับการสืบราชสันตติวงศ์และผู้อ้างถึงสิทธิ์การขึ้นครองราชย์สององค์ที่ต่างเป็นคู่แข่งกัน (จักรพรรดิโกะ-ชิรากาวะ และ จักรพรรดิซูโตกุ) ว่าจ้างตระกูลไทระและมินาโมโตะโดยหวังว่าจะสามารถขึ้นครองราชย์ได้ผ่านการใช้กำลังทหาร ในสงครามนี้ ตระกูลไทกะภายใต้การนำของ ไทระ โนะ คิโยโมริ เอาชนะตระกูลมินาโมโตะ คิโยโมริใช้ประโยชน์จากชัยชนะของเขาในการสะสมอำนาจของเขาในเกียวโตและแต่งตั้งพระราชนัดดา (หลานชาย) ของเขา อันโตกุ ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ผลสืบเนื่องจากสงครามนี้คือการแข่งขันกันระหว่างตระกูลมินาโมโตะและไทระ จนในที่สุด ข้อพิพาทและการคลานอำนาจของทั้งสองตระกูลนำไปสู่กบฏปีเฮจิใน ค.ศ. 1160 ใน ค.ศ. 1180 สมาชิกตระกูลมินาโมโตะที่คิโยโมริขับไล่ไปคามากูระ มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ ท้าทาย ไทระ โนะ คิโยโมริ[61] แม้ว่า ไทระ โนะ คิโยโมริ เสียชีวิตใน ค.ศ. 1181 สงครามเก็มเปนองเลือดที่ตามมาระหว่างตระกูลไทระและมินาโมโตะดำเนินต่อไปอีกสี่ปี ชัยชนะของตระกูลมินาโมโตะได้รับการรับรองใน ค.ศ. 1185 เมื่อกองกำลังนำโดยน้องชายของโยริโตโมะ มินาโมโตะ โนะ โยชิสึเนะ ได้รับชัยชนะในสงครามชี้ขาด ยุทธนาวีที่ดันโนะอูระ โยริโตโมะและผู้ติดตามของเขากลายเป็นผู้นำของญี่ปุ่นโดยพฤตินัย[62]

วัฒนธรรมเฮอัง แก้

 
ม้วนภาพจากบท "แม่น้ำไม้ไผ่" ของ ตำนานเก็นจิ ราว ค.ศ. 1130

ในยุคเฮอัง ราชสำนักเป็นศูนย์กลางสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมระดับสูง[63] ความสำเร็จด้านวรรณกรรมอย่างประชุมบทร้อยกรอง โคกินวากาชู และ โทซะนิกิ ล้วนเกี่ยวข้องกับนักกวีนิพนธ์ คิ โนะ สึรายูกิ อีกทั้งประชุมปกิณกนิพนธ์ (collection of miscellany) มากูระโนะโซชิ ของ เซ โชนางง[64] และ ตำนานเก็นจิ ของ มูราซากิ ชิกิบุ ซึ่งมักได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานวรรณกรรมญี่ปุ่นยอดเยี่ยม[65]

การพัฒนาของชุดตัวหนังสือพยางค์คานะเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการลดลงของอิทธิพลจีนในยุคเฮอัง การส่งราชทูตไปราชวงศ์ถังซึ่งเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 630[66] หยุดลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 อย่างไรก็ตามคณะผู้แทนพระและนักวิชาการอย่างไม่เป็นทางการยังดำเนินต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ การพัฒนารูปแบบทางศิลปะและกวีนิพนธ์ญี่ปุ่นดั้งเดิมได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว[67] ความสำเร็จด้านสถาปัตยกรรมที่สำคัญนอกจากเฮอังเกียวคือวัดเบียวโดอิง สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1053 ในเมืองอูจิ[68]

ยุคศักดินา แก้

ยุคคามากูระ (ค.ศ. 1185–1333) แก้

 
มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ เป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลโชกุนคามากูระใน ค.ศ. 1192 นี่เป็นรัฐบาลทหารชุดแรกที่โชกุนพร้อมกับซามูไรเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นโดยพฤตินัย

หลังจากการเก็บสะสมรวบรวมอำนาจของมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ เขาเลือกที่จะปกครองญี่ปุ่นร่วมกับราชสำนักเกียวโต แม้ว่าโยริโตโมะจะตั้งรัฐบาลของเขาขึ้นที่คามากูระในภูมิภาคคันโตทางตะวันออกของญี่ปุ่น อำนาจของเขาจะต้องผ่านความเห็นชอบตามกฎหมายโดยราชสำนักเกียวโตในหลายโอกาส ใน ค.ศ. 1192 จักรพรรดิประกาศให้โยริโตโมะเป็น "เซอิไทโชกุน" (征夷大将軍, seii tai-shōgun, "จอมทัพปราบอนารยชน") หรือย่อเหลือเพียง "โชกุน"[69] รัฐบาลของโยริโตโมะถูกเรียกว่าเป็น "รัฐบาลบากูฟุ" (幕府, bafuku, "สำนักพลับพลา") ซึ่งหมายถึงกระโจมที่ทหารของเขาตั้งค่าย[70] ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองทหารเป็นส่วนใหญ่จนถึง ค.ศ. 1868[71]

ราชสำนักให้ความชอบธรรมของการจัดตั้งรัฐบาลโชกุน แต่รัฐบาลโชกุนเป็นผู้ปกครองโดยพฤตินัยของประเทศ ราชสำนักทำหน้าที่ทางราชการและศาสนา ขณะที่รัฐบาลโชกุนให้การต้อนรับการเข้าเยี่ยมของสมาชิกชนชั้นขุนนาง สถาบันเก่าแก่ยังคงอยู่ไม่เสื่อมถอยในสภาพที่อ่อนแอโดยมีเกียวโตเป็นเมืองหลวง ระบบนี้ตรงกันข้ามกันกับ "กฎนักรบอย่างง่าย" ของยุคมูโรมาจิในยุคถัดไป[69]

โยโรโตโมะจู่โจมโยชิสึเนะที่ตอนแรกได้รับการอุปถัมภ์โดย ฟูจิวาระ โนะ ฮิเดฮิระ หลานชายของคิโยฮาระ และผู้ปกครองดินแดนทางตอนเหนือของฮนชูโดยพฤตินัย ใน ค.ศ. 1189 หลังการเสียชีวิตของฮิเดฮาระ ผู้สืบทอดของเขา ยาซูฮิระ พยายามประจบสอพลอโยริโตโมะโดยการโจมตีบ้านพักของโยชิสึเนะ แม้ว่าโยชิสึเนะจะถูกฆ่า โยริโตโมะยังคงบุกครองดินแดนของตระกูลฟูจิวาระเหนือ[72] ภายหลัง โยชิสึเนะกลายเป็นบุคคลตำนานที่ปรากฏในผลงานทางวรรณกรรมนับไม่ถ้วนในฐานะวีรบุรุษในอุดมคติที่เสียชีวิตอย่างเศร้าโศก[73]

หลังการเสียชีวิตของโยริโตโมะใน ค.ศ. 1199 รัฐบาลโชกุนเริ่มอ่อนอำนาจลง โดยภรรยาของโยริโตโมะ โฮโจ มาซาโกะ เป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริงของรัฐบาลอย่างลับ ใน ค.ศ. 1203 บิดาของเธอ โฮโจ โทกิมาซะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนโชกุนในขณะนั้น บุตรของโยริโตโมะ มินาโมโตะ โนะ ซาเนโตโมะ ด้วยเหตุนี้ โชกุนจากตระกูลมินาโมโตะกลายเป็นหุ่นเชิดให้กับผู้สำเร็จราชการแทนจากตระกูลโฮโจที่ครองอำนาจแท้จริง[74]

ผู้สืบทอดของโยริโตโมะได้ยกเลิกระบอบที่โยริโตโมะได้ริเริ่มนั้นเป็นการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางและมีความเป็นศักดินาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งแตกต่างจากระบอบรัฐริตสึเรียวก่อนหน้า โยริโตโมะเป็นผู้เลือกอำมาตย์เพื่อปกครองแคว้นภายใต้ตำแหน่งที่เรียกว่า "ชูโงะ" หรือ "จิโต"[75] จากข้าราชบริพารใกล้ชิดของเขา (โกเกนิง) รัฐบาลโชกุนคามากูระอนุญาตให้ข้าราชบริพารมีกองทัพและบังคับใช้กฎหมายในแคว้นของตนตามอัธยาศัย[76]

ใน ค.ศ. 1221 จักรพรรดิโกะ-โทบะที่ทรงสละราชสมบัติยุยงให้เกิดสงครามปีโจกีว การกบฏต่อรัฐบาลโชกุนเพื่อนำอำนาจทางการเมืองห้วนกลับสู่ราชสำนัก การกบฏไม่สำเร็จและนำไปสู่การขับไล่ของโกะ-โทบะไปเกาะโอกิพร้อมกับจักรพรรดิสององค์ที่เหลือ จักรพรรดิสึจิมิกาโดะ และ จักรพรรดิจุนโตกุ ที่ถูกขับไล่ไปแคว้นโทซะและเกาะซาโดะตามลำดับ[77] รัฐบาลโชกุนยังคงเก็บสะสมอำนาจทางการเมืองมากขึ้นไปอีกเพื่อให้เทียบเท่ากับราชสำนักเกียวโต[78]

มีการเรียกระดมพลกองทัพซามูไรทั่วประเทศใน ค.ศ. 1274 และ ค.ศ. 1281 เพื่อเผชิญหน้ากับการรุกรานเต็มรูปแบบสองครั้งนำโดย กุบไล ข่าน จากจักรวรรดิมองโกล[79] แม้ว่าข้าศึกที่เพียบพร้อมด้วยอาวุธที่เหนือกว่าจะมีจำนวนมากกว่า ซามูไรสู้รบกับกองทัพของมองโกลจนไม่สามารถเดินหน้าต่อได้จนถูกพายุไต้ฝุ่นที่เรียก "คามิกาเซะ" ทำลายกองทัพมองโกล แม้รัฐบาลโชกุนจะได้รับชัยชนะจากการรุกราน ความเสียหายทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการป้องกันนั้นมากเกินจนไม่สามารถมอบค่าตอบแทนให้ข้าราชบริพารสำหรับบทบาทของพวกเขาในชัยชนะครั้งนี้ นี่เป็นผลที่ตามมาอย่างถาวรด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลโชกุนและชนชั้นซามูไร[80] ความไม่พึงพอใจของซามูไรเป็นข้อพิสูจน์จุดจบของรัฐบาลโชกุนคามากูระ ใน ค.ศ. 1333 จักรพรรดิโกไดโงะก่อการกบฏโดยหวังว่าจะช่วยคืนอำนาจเต็มรูปแบบคืนสู่ราชสำนัก รัฐบาลโชกุนส่งนายพล อาชิกางะ ทากาอูจิ ในการคลี่คลายสถานการณ์ แต่ทากาอูจิและผู้ติดตามของเขาตัดสินใจร่วมมือกับกำลังของจักรพรรดิโกไดโงะและโค่นล้มรัฐบาลโชกุนคามากูระ[81]

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของประชากรที่เริ่มขึ้นในช่วง ค.ศ. 1250[82] ในพื้นที่ทุรกันดาล การใช้เครื่องมือเหล็กและปุ๋ยส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคนิคการชลประทานและการปลูกพืชเหลื่อมฤดูซึ่งทั้งสองนำไปสู่ความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดาล[83] เมืองต่าง ๆ เติบโตจากทุพภิกขภัยและโรคระบาดที่น้อยลง[82] เช่นเดียวกันกับศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาหลักของขุนนางมูลนาย ถูกนำมาเผยแผ่ในวงกว้างโดยพระที่มีชื่อเสียงอย่างโฮเน็ง (ค.ศ. 1133–1212) ผู้ก่อตั้งนิกายสุขาวดีในญี่ปุ่น และ พระนิจิเร็ง (ค.ศ. 1222–1282) ผู้ก่อตั้งนิกายนิจิเร็ง ขณะที่มีการเผยแพร่นิกายเซนอย่างกว้างขวางในหมู่ชนชั้นซามูไร[84]

ยุคมูโรมาจิ แก้

 
ภาพวาดของ อาชิกางะ ทากาอูจิ ผู้ก่อตั้งและโชกุนคนแรกของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ

ทากาอูจิและซามูไรคนอื่น ๆ เริ่มไม่พอใจกับการฟื้นฟูเค็มมุซึ่งเป็นความพยายามอันทะเยอทะยานของจักรพรรดิโกไดโงะที่จะรวบอำนาจไว้ที่ราชสำนัก ทากาอูจิก่อกบฏหลังโกไดโงะปฏิเสธที่จะแต่งตั้งเขาเป็นโชกุน ใน ค.ศ. 1338 ทากาอูจิยึดเกียวโตและสถาปนาคู่ปรปักษ์ต่อราชสำนัก จักรพรรดิโคเมียว ขึ้นครองราชย์ ในทางกลับกันเขาได้แต่งตั้งทากาอูจิให้เป็นโชกุน[85] โกไดโงะตั้งรัฐบาลต่อต้านในเมืองทางตอนใต้ของโยชิโนะซึ่งนำไปสู่ยุคแห่งความขัดแย้งระหว่างราชสำนักเหนือและราชสำนักใต้อย่างยาวนาน[86]

ทากาอูจิตั้งรัฐบาลโชกุนในเขตมูโรมาจิของเกียวโต อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโชกุนเผชิญกับการต่อสู้กับราชสำนักใต้และการรักษาไว้ซึ่งอำนาจเหนืออำมาตย์ภายใต้การปกครองของตน[86] เหมือนกับรัฐบาลโชกุนคามากูระ รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิแต่งตั้งพวกพ้องในการปกครองแคว้น แต่ต่อมาพวกเขาเริ่มเรียกตนเองเป็นเจ้าครองแคว้น (feudal lord of their domain) ที่เรียกว่า "ไดเมียว" และมักปฏิเสธที่ปฏิบัติตามคำสั่งของโชกุน[87] โชกุนอาชิกางะที่เกือบจะประสบความสำเร็จในการนำประเทศกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นหลานชายของทากาอูจิ อากิชางะ โยชิมิตสึ ผู้ขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1368 และคงอิทธิพลจนถึงการเสียชีวิตของเขาใน ค.ศ. 1408 โยชิมิตสึขยายอำนาจของรัฐบาลโชกุนและใน ค.ศ. 1392 สามารถเจรจาข้อตกลงในการนำราชสำนักเหนือและราชสำนักใต้เข้าด้วยกันได้ เป็นผลให้สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ขณะที่รัฐบาลโชกุนทำให้จักรพรรดิและราชสำนักของเขาอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด[86]

 
คิงกากูจิ ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1397 โดย อาชิกางะ โยชิมิตสึ
 
แผนที่แสดงอาณาเขตของตระกูลไดเมียวที่สำคัญช่วง ค.ศ. 1570

ในช่วงปลายศตววรษสุดท้ายของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ ประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ยุคแห่งสงครามกลางเมืองอีกครั้งเมื่อสงครามโอนิงปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1467 ซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทว่าใครจะขึ้นสืบทอดตำแหน่งโชกุนต่อไป ไดเมียวต่างเลือกฝั่งของตนและเผากรุงเกียวโตจนมอดไม่เหลือขณะต่อสู้เพื่อผู้ท้าชิงที่ตนเองเลือก ข้อพิพาทการสืบทอดตำแหน่งได้รับการคลี่คลายใน ค.ศ. 1477 โชกุนสูญเสียอำนาจเหนือไดเมียวผู้ปกครองรัฐอิสระกว่าร้อยรัฐทั่วญี่ปุ่นทั้งหมด[88] ระหว่างยุครณรัฐนี้ ไดเมียวต่อสู้กันเองเพื่อตนจะได้ปกครองประเทศ[89] ไดเมียวที่ทรงอำนาจในขณะนั้น เช่น อูเอซูงิ เค็นชิง และ ทาเกดะ ชิงเง็ง[90] สัญลักษณ์ถาวรของยุคนี้คือ "นินจา" จารชนและนักลอบสังหารผู้มีทักษะจ้างโดยไดเมียว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงเล็กน้อยที่กล่าวถึงการใช้ชีวิตอย่างลับ ๆ ของนินจาที่กลายเป็นตำนาน[91] นอกจากไดเมียวแล้ว ชาวชนบทที่เป็นกบฏและ "พระพุทธนักรบ" ยังก่อตั้งกองกำลังทหารเป็นของตนเอง[92]

การค้านัมบัง แก้

ภายใต้ภาวะอนาธิปไตยเช่นนี้ เรือพาณิชย์ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือและเทียบท่าใน ค.ศ. 1543 บนเกาะทาเนงาชิมะของญี่ปุ่นทางตอนใต้ของคีวชู พ่อค้าชาวโปรตุเกสสามคนที่อยู่บนเรือเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ได้เยือนญี่ปุ่น[93] และไม่นานพวกเขาก็นำสินค้าใหม่ ๆ เข้าสู่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกอย่างปืนคาบศิลา[94] จวบจนถึง ค.ศ. 1556 "ไดเมียว" ใช้ปืนคาบศิลากว่า 300,000 กระบอกในกองทัพของพวกเขา[95] ชาวยุโรปยังนำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ซึ่งต่อมามีชาวคริสต์กว่า 350,000 คนในญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1549 ผู้เผยแพร่ศาสนาคณะเยสุอิต ฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ เทียบเท่าบนเกาะคีวชู

 
ญี่ปุ่นและเกาหลีในแผนที่ของนักทำแผนที่ชาวโปรตุเกส João Vaz Dourado ค.ศ. 1568

หลังเกิดการแลกเปลี่ยนทางการค้าและทางวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นและตะวันตก มีการทำแผนที่ญี่ปุ่นทางตะวันตกเป็นครั้งแรก ใน ค.ศ. 1568 โดยนักทำแผนที่ชาวโปรตุเกส ฟือร์นังดู วาซ ดูราโด[96]

ชาวโปรตุเกสสามารถค้าขายและสร้างอาณานิคมที่พวกเขาสามารถแปลงผู้ศรัทธาศาสนาใหม่เป็นคริสต์ศาสนิกชนได้ สถานะสงครามกลางเมืองในญี่ปุ่นเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อชาวโปรตุเกส รวมถึงกลุ่มคนที่อยากโน้มน้าวเรือดำโปรตุเกสและเส้นทางการค้าของชาวโปรตุเกสไปสู่นครของตนเอง โดยแรกเริ่ม ชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินของ มัตสึระ ทากาโนบุ, ฟิรังโด (ฮิราโดะ)[97] และแคว้นบุงโงะของ โอโตโมะ โซริง แต่ใน ค.ศ. 1562 พวกเขาย้ายไปโยโกเซอูระที่ซึ่งไดเมียวปกครองอยู่ โอมูระ ซูมิตาดะ เสนอตนให้เป็นขุนนางคนแรกที่จะเป็นคริสต์ศาสนิกชน และได้ชื่อคริสต์ใหม่ ดอม บาร์ตูลูเมว (Dom Bartolomeu) ใน ค.ศ. 1564 เขาเผชิญกับกบฏโดยนักบวชศาสนาพุทธและโยเกเซอูระถูกทำลาย

ใน ค.ศ. 1561 กองกำลังของ โอโตโมะ โซริน โจมตีปราสาทในโมจิด้วยความช่วยเหลือของชาวโปรตุเกสที่มอบเรือสามลำที่บรรทุกลูกเรือกว่า 900 คนและปืนครกมากกว่า 50 กระบอก การโจมตีครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการกระหน่ำยิงครั้งแรกโดยเรือต่างชาติบนเกาะญี่ปุ่น[98] บันทึกการต่อสู้ทางเรือระหว่างชาวยุโรปและชาวญี่ปุ่นเกิดขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1565 ในสงครามอ่าวฟูกูดะ ไดเมียว มัตสึระ ทากาโนบุ โจมตีเรือพาณิชย์ที่ท่าเรือฮิราโดะ[99] การเผชิญหน้าครั้งนี้ส่งผลให้นักค้าชาวโปรตุเกสต้องหาท่าเรือที่ปลอดภัยสำหรับเรือซึ่งพาพวกเขาไปสู่รบในนางาซากิ

 
เรือดำของนักค้าชาวโปรตุเกสที่มาจากกัวและมาเก๊าปีละครั้ง

ใน ค.ศ. 1571 ดอม บาร์ตูลูเมว หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ โอมูระ ซูมิตาดะ รับประกันผืนดินเล็ก ๆ ในหมู่บ้านประมงขนาดย่อมที่เป็นของเยซูอิทส์ผู้แบ่งหมู่บ้านออกเป็นหกส่วน พวกเขาสามารถใช่ผืนดินตรงนี้ได้เพื่อรองรับชาวคริสต์ที่ถูกขับไล่จากดินแดนอื่น ๆ รวมถึงนักค้าชาวโปรตุเกส เยสูอิทส์ได้สร้างโบสถ์เล็กและโรงเรียนภายใต้ชื่อ "เซาเปาโล" เหมือนกับในกัวและมะละกา จวบจนถึง ค.ศ. 1579 หมู่บ้านประมงมีผู้อยู่อาศัย 400 ครัวเรือนและชาวโปรตุเกสบางคนสมรสกัน โอมูระ ซูมิตาดะ (ดอม บาร์ตูลูเมว) กลัวว่านางาซากิอาจตกอยู่ในเอื้อมมือของทากาโนบุที่เป็นปฏิปักษ์ เขาจึงตัดสินใจที่จะรับประกันเมืองให้แก่ชาวเยสูอิทส์โดยตรงใน ค.ศ. 1580[100] หลังจากนั้นไม่กี่ปี เยสูอิทส์ตระหนักได้ว่าถ้าพวกเขาเข้าใจภาษาญี่ปุ่นจะช่วยทำให้พวกเขาสามารถแปลงผู้คนเป็นศาสนาคาทอลิกได้มากยิ่งขึ้น เยสูอิทส์อย่าง João Rodrigues เขียนพจนานุกรมญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ ภาษาโปรตุเกสจึงเป็นภาษาตะวันตกภาษาแรกที่มีพจนานุกรมภาษาดังกล่าวที่ตีพิมพ์ในนางาซากิใน ค.ศ. 1603[101]

โอดะ โนบูนางะ ใช้เทคโนโลยีและปืนยุโรปเพื่อเอาชนะไดเมียวคนอื่น ๆ การรวมอำนาจของเขาเริ่มยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (ค.ศ. 1573–1603) หลังโนบูนางะถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 1582 โดย อาเกจิ มิตสึฮิเดะ ผู้สืบทอดของเขา โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ รวมประเทศให้เป็นหนึ่งใน ค.ศ. 1590 และริเริ่มการบุกครองเกาหลีสองครั้งที่ล้มเหลวใน ค.ศ. 1592 และ ค.ศ. 1597 ก่อนการบุกครอง ฮิเดโยชิพยายามว่าจ้างให้เรือใบขนาดใหญ่ของโปรตุเกสสองลำเข้าร่วมการบุกครองนี้ด้วยแต่ชาวโปรตุเกสปฏิเสธ[102]

โทกูงาวะ อิเอยาซุ สำเร็จราชการแทนลูกของฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ฮิเดโยริ และใช้ตำแหน่งของเขาในการรับแรงสนับสนุนทางการเมืองและการทหาร เมื่อสงครามเกิดขึ้น อิเอยาซุพิชิตตระกูลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเขาในยุทธการที่เซกิงาฮาระใน ค.ศ. 1600 ใน ค.ศ. 1603 รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในเอโดะประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ รวมถึง บุเกะโชฮัตโตะ ซึ่งเป็นประมวลจรรยาบรรณที่ใช้ควบคุมไดเมียวที่ปกครองตนเอง และนโยบายแยกอยู่โดดเดี่ยว "ซาโกกุ" ("ประเทศปิด") ใน ค.ศ. 1639 ที่กินเวลากว่า 2 ศตวรรษครึ่งของความเปราะบางทางการเมืองอันเป็นหนึ่งเดียวหรือยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603–1868) ซึ่งนโยบายนี้สิ้นสุดจากอิทธิพลของชาวโปรตุเกสหลังพำนักอยู่ในดินแดนญี่ปุ่นกว่า 100 ปี และความมุ่งหมายที่จะจำกัดการปรากฏอยู่ของอำนาจทางการเมืองต่างชาติ[93]

วัฒนธรรมมูโรมาจิ แก้

แม้จะเกิดสงครามขึ้น ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเจริญขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดยุคมูโรมาจิ จนถึง ค.ศ. 1450 ประชากรของญี่ปุ่นอยู่ที่ราวสิบล้านคน ขณะที่ในช่วงคริสต์ศตววรษที่ 13 ตอนปลาย จำนวนประชากรอยู่ที่หกล้านคน[82] การค้าขายกับจีนและเกาหลีเจริญพัฒนาอย่างก้าวกระโดด[103] อันเนื่องมาจากไดเมียวและกลุ่มอื่น ๆ ในญี่ปุ่นผลิตเหรียญกษาปณ์เป็นของตนเอง ญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา[104] ในยุคนี้ การพัฒนาศิลปะแสดงลักษณ์ (representative art) เพิ่มขึ้น เช่น จิตรกรรมหมึกล้าง (ink wash painting), การจัดดอกไม้ "อิเกบานะ", พิธีชงชา, การจัดสวนญี่ปุ่น, บนไซ และโรงละครโน[105] แม้โชกุนอาชิกางะอันดับที่ 8 โยชิมาซะ ผู้นำทางการทหารและทางการเมืองที่ไม่เอาเรื่องเอาราว เขาเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาวัฒนธรรมเหล่านี้[106] เขาสร้าง คินกากุจิ หรือ "วัดทอง" ในเกียวโตใน ค.ศ. 1397[107]

ยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (ค.ศ. 1568–1603) แก้

 
ภาพวาดขนาดใหญ่ในยุคเอโดะพรรณนาให้เห็นยุทธการที่เซกิงาฮาระ เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1600 โดยมีผู้เข้าร่วมยุทธการกว่า 160,000 คน

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ญี่ปุ่นเริ่มค่อย ๆ กลับรวมเป็นหนึ่งภายใต้ผู้นำทางการทหารสองคน: โอดะ โนบูนางะ และ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ชื่อของยุคนี้มาจากศูนย์บัญชาการของโนบูนางะ ปราสาทอาซูจิ และศูนย์บัญชาการของฮิเดโยชิ ปราสาทโมโมยามะ[70]

 
ประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1582 สีเทาแสดงดินแดนที่อยู่ภายใต้การครอบครองของ โอดะ โนบูนางะ

โนบูนางะเป็นไดเมียวของแคว้นขนาดเล็กชื่อ โอวาริ เขาเป็นจุดสนใจอย่างรวดเร็วหลังจากกองทัพของเขาเอาชนะกองทัพของไดเมียวมากอำนาจ อิมางาวะ โยชิโมโตะ ที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่าได้ในยุทธการที่โอเกฮาซามะ[108] โนบูนางะเป็นที่ได้รับการยอมรับจากการนำเชิงกลยุทธ์และความอำมหิตของเขา โนบูนางะสนับสนุนศาสนาคริสต์เพื่อปลุกปั่นกระแสความเกลียดชังต่อข้าศึกชาวพุทธและเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ค้าอาวุธชาวยุโรป เขามอบปืนคาบศิลาและฝึกกองทัพของเขาด้วยยุทธวิธีแบบใหม่[109] โนบูนางะเลื่อนชั้นคนของเขาที่มีความสามารถโดยไม่สนใจสถานะทางสังคม รวมถึงบริวารชาวไร่ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ที่ต่อมาเป็นหนึ่งในนายพลมากฝีมือของเขา[110]

ยุคอาซูจิ–โมโมยามะเริ่มต้นใน ค.ศ. 1568 เมื่อโนบูนางะเข้ายึดครองเกียวโตและโค้นล้มรัฐบาลโชกุนอาชิกางะอย่างทันท่วงที[108] แผนการทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งเดียวของเขาเป็นไปได้ด้วยดีใน ค.ศ. 1582 แต่หนึ่งในกำลังพลของเขา อาเกจิ มิตสึฮิเดะ สังหารเขาในการโจมตีอย่างเฉียบพลันภายในค่ายพักแรมของเขา ฮิเดโยชิแก้แค้นให้แก่โนบูนางะโดยการเอาชนะสงครามกับอาเกจิ ทำให้เขากลายเป็นผู้สืบทอดของโนบูนางะ[111] ฮิเดโยชิสานต่อแผนการรวมญี่ปุ่นต่อโดยการเข้ายึดครองชิโกกุ, คีวชู และดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตระกูลโฮโจตอนปลาย[112] เขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางต่อสังคมญี่ปุ่น เช่น การยึดดาบจากชาวไร่นา, ข้อบังคับของไดเมียว, การข่มเหงชาวคริสต์, การสำรวจผืนดินอย่างละเอียด และกฎหมายใหม่ที่ห้ามชาวไร่นาและซามูไรเปลี่ยนชนชั้นทางสังคมของตน[113] การสำรวจผืนดินของฮิเดโยชิทำให้ผู้ที่ทำเกษตรกรรมเป็น "สามัญชน" อันส่งผลให้ทาสจำนวนมากในญี่ปุ่นได้รับอิสระ[114]

เมื่ออำนาจของฮิเดโยชิแผ่ขยายออกไป เขาจึงตั้งเป้าหมายในการยึดครองจีนและได้ริเริ่มการรุกรานเกาหลีครั้งใหญ่สองครั้งใน ค.ศ. 1592 ฮิเดโยชิไม่สามารถเอาชนะกองทัพจีนและเกาหลีในคาบสมุทรเกาหลีได้และสงครามสิ้นสุดลงจากการถึงแก่กรรมของเขาใน ค.ศ. 1598[115] ด้วยความหวังที่จะสถาปนาตระกูลใหม่ ฮิเดโยชิให้บริวารทหารที่เขาไว้ใจที่สุดให้คำมั่นที่จะมอบความจงรักภักดีต่อลูกชายที่ยังเป็นทารกของเขา โทโยโตมิ ฮิเดโยริ อย่างไรก็ตาม หลังการถึงแก่กรรมของฮิเดโยชิอย่างเกือบทันทีทันใด เกิดสงครามขึ้นระหว่างพันธมิตรของฮิเดโยริและผู้ที่จงรักภักดีต่อไดเมียวและอดีตสหายของฮิเดโยชิ โทกูงาวะ อิเอยาซุ[116] ทากูงาวะ อิเอยาซุ ได้รับชัยชนะชี้ขาดในยุทธการที่เซกิงาฮาระใน ค.ศ. 1600 นำไปสู่การปกครองโดยตระกูลโทกูงาวะอย่างไม่มีสิ่งใดขัดขวางเป็นระยะเวลากว่า 268 ปี[117]

ยุคญี่ปุ่นใหม่ตอนต้น แก้

ยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603–1868) แก้

 
โทกูงาวะ อิเอยาซุ เป็นผู้ก่อตั้งและโชกุนคนแรกของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ

ยุคเอโดะได้รับการยอมรับว่าเป็นยุคที่มีความสงบและมั่นคง[118] ภายใต้การควบคุมที่เข้มงวดของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ (รัฐบาลเอโดะ) ซึ่งปกครองจากเมืองทางตะวันออกของญี่ปุ่น เอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน)[119] ใน ค.ศ. 1603 จักรพรรดิโกะ-โยเซ แต่งตั้งให้ โทกูงาวะ อิเอยาซุ เป็นโชกุน และสละตำแหน่งสองปีให้หลังเพื่อเตรียมลูกชายของเขาในการขึ้นเป็นโชกุนลำดับที่สองของตระกูลที่มีการสืบตำแหน่งอย่างยาวนาน[120] อย่างไรก็ตาม การทำให้อำนาจปกครองของโทกูงาวะแข็งแกร่งนั้นใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ใน ค.ศ. 1609 โชกุนมอบอำนาจให้แก่ไดเมียวในแคว้นศักดินาซัตสึมะรุกรานอาณาจักรรีวกีวจากการดูหมิ่นรัฐบาลโชกุนอย่างชัดแจ้ง ชัยชนะของซัตสึมะริเริ่ม 266 ปี แห่งการตกภายใต้การบังคับบัญชาของซัตสึมะและจีน[98][121] อิเอยาซุนำการล้อมโอซากะซึ่งจบลงด้วยการโค้นล้มของตระกูลโทโยโตมิใน ค.ศ. 1615[122] หลังจากรัฐบาลโชกุนได้ประกาศใช้บังคับกฎหมายสำหรับครอบครัวทหารอันส่งเสริมการควบคุมที่เข้มข้นขึ้นต่อไดเมียว[123] นอกจากนี้ระบบสลับถิ่นอาศัยเข้าพบซึ่งทำให้ไดเมียวต้องสลับพำนักในเอโดะสองปีละครั้ง[124] แม้จะเป็นเช่นนั้น ไดเมียวยังคงมีอิสระในการปกครองตนเองอย่างมากในแคว้นศักดินาของตน[125] รัฐบาลโชกุนที่ซึ่งตั้งอยู่ในเอโดะ เมืองที่หนาแน่นมากที่สุดในโลก[119] รับคำปรึกษาจากกลุ่มของที่ปรึกษาอาวุโสเรียกว่า "โรจู" และซามูไรว่าจ้างเป็นข้าราชการ[126] จักรพรรดิในเกียวโตได้รับเงินสนับสนุนเพื่อใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อำนาจทางการเมือง[127]

รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะพยายามอย่างหนักที่จะระงับความไม่สงบในสังคม บทลงโทษที่โหดร้ายอย่างการตรึงกางเขน, การตัดศีรษะ และการฆ่าโดยการต้มให้เสียชีวิต ถูกนำมาใช้ลงโทษแม้จะเป็นความผิดลหุโทษ ถีงกระนั้น อาชญากรที่เป็นชนชั้นสูงมักจะได้รับทางเลือกที่จะทำ "เซ็ปปูกุ" (seppuku, "การคว้านเครื่องในออกด้วยตนเอง") วิธีการกระทำอัตวินิบาตกรรมที่ภายหลังถูกทำให้กลายมาเป็นพิธีกรรม[124] ชาวคริสต์ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามค่อย ๆ ถูกทำให้เป็นคนนอกกฎหมายหลังเกิดเหตุการณ์กบฏชิมบาระที่นำโดยชาวคริสต์ใน ค.ศ. 1638[128] เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ความคิดต่างชาติก่อให้เกิดความขัดแย้งกันจากความคิดดั้งเดิม โชกุนโทกูงาวะลำดับที่สาม อิเอมิตสึ ประกาศใช้นโยบายแยกอยู่โดดเดี่ยว "ซาโกกุ" (sakoku, "ประเทศปิด") ซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาจากต่างประเทศ หรือสร้างยานพาหนะทางน้ำได้[129] ชาวยุโรปกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่บนผืนดินญี่ปุ่นคือชาวดัตช์ในสถานีการค้า (trading post) แห่งเดียวบนเกาะเดจิมะที่นางาซากิตั้งแต่ ค.ศ. 1635 ถึง ค.ศ. 1854[130] จีนและเกาหลีเป็นเพียงสองชาติที่สามารถทำการค้ากับญี่ปุ่นได้[131] และหนังสือต่างชาติหลายเล่มถูกห้ามไม่ให้นำเข้า[125]

ในช่วงการปกครองศตวรรษแรกของโทกูงาวะ ประชากรของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสองเท่าถึงสามสิบล้านคนจากการเจริญเติบโตของพืชผลทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จำนวนของประชากรคงที่ตลอดช่วงเวลาที่เหลือของยุค[132] การก่อสร้างถนน การกำจัดค่าผ่านทางถนนและสะพาน และการทำให้ระบบเงินเหรียญมีความเป็นมาตรฐาน (standardization of coinage) ส่งเสริมการขยายทางการค้าที่ส่งผลดีต่อผู้ค้าและช่วงฝีมือในเมือง[133] ประชากรในตัวเมืองเพิ่มขึ้น[134] แต่เกือบ 90% ของประชากรยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาล[135] ทั้งผู้พักอาศัยในตัวเมืองและชุมชนชนบทได้รับประโยชน์จากหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เด่นชัดที่สุดแห่งยุคเอโดะ: การรู้หนังสือ (literacy) และ การรู้ตัวเลข (numeracy) จำนวนของโรงเรียนเอกชนเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ติดกับวัดและศาลเจ้าซึ่งเพิ่มอัตราการรู้หนังสือถึง 30% ตัวเลขนี้อาจเป็นตัวเลขสูงสุดของโลกในเวลานั้น[136] อีกทั้งยังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์พาณิชย์ที่พิมพ์หนังสือพิมพ์หลายร้อยฉบับต่อปี[137] ในแง่ของการรู้ตัวเลขที่ประมาณการจากดัชนีวัดความสามารถของบุคคลในการบอกอายุของตนเองอย่างถูกต้องมากกว่าการบอกอายุที่ผ่านการปัดขึ้นให้เป็นเลข 0 หรือ 5 (age-heaping method, "วิธีการพอกอายุ, วิธีการกองอายุ") และบุคคลในระดับไหนที่สามารถแสดงสหสัมพันธ์ (correlation) ที่หนักแน่นกว่าเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจตอนหลังของประเทศ ระดับของญี่ปุ่นสามารถเปรียบเทียบได้กับประเทศทางตอนเหนือ–ตะวันตกในยุโรป ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนีของญี่ปุ่นใกล้ถึงจุด 100% ตลอดช่วงคริสต์ศตววรษที่ 19 ระดับที่สูงของการรู้หนังสือและการรู้ตัวเลขเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางสังคม–เศรษฐกิจที่จะทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการเติบโตที่แข็งแรงในศตวรรษถัดมา[138]

วัฒนธรรมและปรัชญา แก้

 
ซามูไรสามารถฆ่าสามัญชนสำหรับถ้อยคำด่าเล็กน้อย ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นเกรงกลัวต่อซามูไร วาดในยุคเอโดะ ค.ศ. 1798
 
โครงสร้างทางสังคมเอโดะ

ยุคเอโดะเป็นยุคที่วัฒนธรรมเจริญรุ่งเรือง ชนชั้นพ่อค้ารวยขึ้นและเริ่มใช้เงินจากรายได้ในการใช้จ่ายทางวัฒนธรรมและสังคม[139][140] มีการกล่าวว่า ชนชั้นพ่อค้าที่อุปถัมภ์วัฒนธรรมและงานมหรสพนั้นใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญ การใช้ชีวิตของพวกเขาถูกเรียกว่า อูกิโยะ (ukiyo, "โลกล่องลอย")[141] ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นวนิยายที่เป็นที่นิยม อูกิโยะ-โซชิ และการวาดภาพอูกิโยะบนภาพพิมพ์แกะไม้[142] ที่ทำให้จิตรกรเกิดความเชี่ยวชาญมากขึ้นและเริ่มการใช้สีบนภาพพิมพ์หลายสี[143]

การแสดงในโรงละครอย่างคาบูกิ และ โรงละครหุ่น บุนรากุ เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง[144] การแสดงมหรสพรูปแบบใหม่เหล่านี้มักมีเพลงสั้น (โคอูตะ) ที่บรรเลงบนชามิเซ็ง เครื่องดนตรีที่นำเข้ามาใน ค.ศ. 1600 ประกอบอยู่ด้วย[145] กลอนไฮกุ ที่มีการยอมรับโดยทั่วกันว่า มัตสึโอะ บาโช (ค.ศ. 1644–1694) เป็นปรมาจารย์ ผงาดขึ้นเป็นบกวีกระแสหลัก[146] เกอิชา อาชีพผู้ให้ความบันเทิงใหม่เป็นที่นิยมขึ้นมา พวกเธอจะสนทนา ร้องเพลง และเต้นให้แก่ลูกค้า อย่างไรก็ตาม พวกเธอจะไม่นอนกับพวกเขา[147]

รัฐบาลโทกูงาวะได้รับอิทธิพลเป็นอย่างมากจากลัทธิขงจื๊อใหม่ที่พวกเขาให้การสนับสนุน นำไปสู่รัฐบาลที่แบ่งแยกสังคมออกเป็นสี่ชนชั้นโดยอิงจากระบบชนทั้งสี่ (four occupations) ของจีน[148] มีการอ้างว่าชนชั้นซามูไรปฏิบัติตามคตินิยมแบบบูชิโด หรือ "วิถีแห่งนักรบ"[149]

ความตกต่ำและการล้มสลายของรัฐบาลโชกุน แก้

จนถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนต้น รัฐบาลโชกุนเริ่มแสดงท่าทีอ่อนลง[150] การเจริญเติบโตของผลผลิตทางการเกษตรอย่างก้าวกระโดดที่เป็นเอกลักษณ์ของยุคเอโดะตอนต้นได้สิ้นสุดลง[132] และรัฐบาลไม่สามารถแก้วิกฤติมหาทุพภิกขภัยเท็มโปได้อย่างดีพอ[150] เกิดความไม่สงบขึ้นในหมู่ชาวชนบทและรายได้รัฐบาลเริ่มตกลง[151] รัฐบาลโชกุนตัดการมอบเงินให้แก่ซามูไรที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งพวกเขาหลายคนทำงานเสริมเพื่อประทังชีวิต[152] ซามูไรที่แสดงท่าทีไม่พอใจจะเป็นแกนนำหลักในการวางแผนรับมือการล่มสลายของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ[153]

ในขณะเดียวกัน ผู้คนได้รับแรงบันดาลใจจากมุมมองความคิดและแขนงศึกษาใหม่ ๆ หนังสือดัตช์ที่นำเข้ามาสู่ญี่ปุ่นกระตุ้นความสนใจในการเรียนตะวันตกศึกษาที่เรียก รังงากุ หรือ "การศึกษาแบบดัตช์"[154] ยกตัวอย่างเช่น นักฟิสิกส์ ซูงิตะ เก็มปากุ ใช้แนวความคิดการแพทย์ตะวันตกในการปฏิวัติความคิดดั้งเดิมของกายวิภาคศาสตร์มนุษย์[155] โคกูงากุ หรือ "การศึกษาแห่งชาติ" ที่พัฒนาโดยนักวิชาการอย่าง โมโตโอริ โนรินางะ และ ฮิราตะ อัตสึตาเนะ มุ่งเน้นส่งเสริมคุณค่าญี่ปุ่นพื้นเมือง อาทิ นักวิชาการโคกูงากุวิจารณ์ลัทธิขงจื๊อใหม่ที่รัฐบาลโชกุนสนับสนุนและตอกย้ำเทวสิทธิราช (divine authority) ของจักรพรรดิ[156]

 
ซามูไรแคว้นศักดินาซัตสึมะในสงครามโบชิน

การมาถึงใน ค.ศ. 1853 ของกองเรือรบอเมริกันบัญชาการโดย พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพร์รี ทำให้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาวะสับสนวุ่นวาย รัฐบาลสหรัฐมุ่งหวังที่จะทำให้นโยบายแยกอยู่โดดเดี่ยวของญี่ปุ่นสิ้นสุดลง รัฐบาลโชกุนไม่มีการป้องกันต่อเรือปืนของเพร์รีและจำเป็นจะต้องยินยอมต่อข้อเรียกร้องของเขาที่ให้อนุญาตเรืออเมริกันเข้าเทียบท่าเพื่อเอาเสบียงอาหารและทำการค้าที่ท่าเรือญี่ปุ่น[150] อำนาจตะวันตกทำ "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" กับญี่ปุ่นซึ่งกำหนดให้ญี่ปุ่นต้องอนุญาตให้ประชาชนจากประเทศเหล่านี้เยือนหรือพำนักอาศัยในดินแดนญี่ปุ่นและจะต้องไม่เก็บภาษีนำเข้าหรือพาพวกเขาขึ้นสู่ชั้นศาล[157]

ความล้มเหลวของรัฐบาลโชกุนในการต้านอำนาจตะวันตกทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดความโกรธแค้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น กล่าวคือ แคว้นโชชูและซัตสึมะ[158] ซามูไรที่อยู่ที่นั่นถือกำเนิดคติพจน์ "ซนโนโจอิ" (尊皇攘夷, Sonnō Jōi, "เทิดทูนจักรพรรดิ ขับคนป่าเถื่อน") โดยได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของนักชาตินิยมโรงเรียนโคกูงากุ[159] ทั้งสองแคว้นสถาปนาความสัมพันธ์กัน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1866 โทกูงาวะ โยชิโนบุ หลังกลายเป็นโชกุนได้ไม่นาน ดิ้นรนในการรักษาอำนาจไว้ในขณะที่ความไม่สงบในหมู่ประชาชนยังคงต่อเนื่อง[160] แคว้นโชชูและซัตสึมะใน ค.ศ. 1868 โน้มน้าวจักรพรรดิเมจิที่ยังทรงพระเยาว์และราชมนตรีของพระองค์ในการนิพนธ์พระราชหัตถเลขาเรียกร้องให้รัฐบาลโชกุนโทกูงาวะสิ้นสุดลง กองทัพของโชชูและซัตสึมะเคลื่อนกำลังมุ่งหน้าเอโดะและสงครามโบชินที่ตามมาภายหลังนำไปสู่การล้มสลายของรัฐบาลโชกุน[161]

ยุคญี่ปุ่นใหม่ แก้

ยุคเมจิ (ค.ศ. 1868–1912) แก้

 
จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิญี่ปุ่นลำดับที่ 122

พระราชอำนาจของจักรพรรดิกลับหวนคืนสู่แต่เพียงในพระนาม[162] และใน ค.ศ. 1869 ราชวงศ์ย้ายไปอยู่ในเอโดะซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อเป็น โตเกียว ("นครหลวงตะวันออก")[163] อย่างไรก็ตาม คนที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐบาลคืออดีตซามูไรจากโชชูและซัตสึมะ ไม่ใช่จักรพรรดิที่ยังทรงพระชนมพรรษา 15 พรรษา ใน ค.ศ. 1868[162] กลุ่มคนเหล่านี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "ฮัมบัตสึ" พวกเขาเป็นผู้กำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงของญี่ปุ่นในยุคนี้[164] ผู้นำของรัฐบาลเมจิต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีจุดยืนเทียบเท่าอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก[165] หนึ่งในฮัมบัตสึคือ โอกูโบะ โทชิมิจิ และ ไซโง ทากาโมริ จากซัตสึมะ รวมถึง คิโดะ ทากาโยชิ, อิโต ฮิโรบูมิ และ ยามางาตะ อาริโตโมะ จากโชชู[162]

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม แก้

รัฐบาลเมจิเลิกล้มโครงสร้างชนชั้นทางสังคมเอโดะ[166] และแทนที่เจ้าครองแคว้นไดเมียวด้วยระบบจังหวัด[163] ริเริ่มการปฏิรูปภาษีแบบเบ็ดเสร็จและยกเลิกประกาศห้ามปรามผู้นับถือศาสนาคริสต์[166] วาระเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาลยังประกอบด้วยการให้กำเนิดการรถไฟ โทรเลข และระบบการศึกษาถ้วนหน้า[167] รัฐบาลเมจิให้การส่งเสริมการทำให้เป็นแบบตะวันตก (westernization)[168] และว่าจ้างที่ปรึกษาจากชาติตะวันตกที่มีความชำนาญในหลายแขนง อาทิ การศึกษา การทำเหมืองแร่ การธนาคาร กิจการทหาร และคมนาคม เพื่อช่วยปฏิรูปสถาบันต่าง ๆ ของญี่ปุ่น[169] ชาวญี่ปุ่นหันมาใช้ปฏิทินกริกอเรียน เสื้อผ้าตะวันตก และตัดผมอย่างชาวตะวันตก[170] หนึ่งในผู้นำการสนับสนุนการทำให้เป็นแบบตะวันตกคือนักเขียนที่มีชื่อเสียง ฟูกูซาวะ ยูกิจิ[171] และเพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำให้เป็นแบบตะวันตก รัฐบาลเมจิให้การสนับสนุนที่หนักแน่นในการนำเข้าความรู้วิทยาศาสตร์ตะวันตกเหนือวิทยาศาสตร์การแพทย์อื่น ๆ ใน ค.ศ. 1893 คิตาซาโตะ ชิบาซาบูโร ก่อตั้งสถาบันโรคติดเชื้อที่ต่อมากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก[172] และใน ค.ศ. 1913 ฮิเดโยะ โนงูจิ พิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างซิฟิลิสและอัมพฤกษ์[173] มากไปกว่านั้น การให้กำเนิดรูปแบบการประพันธ์แบบยุโรปในญี่ปุ่นจุดประกายผลงานร้อยแก้วบันเทิงคดี (prose fiction) ใหม่ ฟูตาบาเต ชิเม และ โมริ โอไง เป็นนักประพันธ์ที่โดดเด่นในยุค[174] อย่างไรก็ดี นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคเมจิคือ นัตสึเมะ โซเซกิ[175] ผู้เขียนนวนิยายเชิงเสียดสี อัตชีวิตประวัติ และเชิงจิตวิทยา[176] ผสมรวมทั้งรูปแบบการเขียนแบบดั้งเดิมและแบบใหม่[177] อิจิโย ฮิงูจิ นักประพันธ์หญิงที่โดดเด่น ได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอย่างทางวรรณกรรมตอนต้นของยุคเอโดะ[178]

สถาบันรัฐบาลพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบโต้ขบวนการเสรีภาพและสิทธิประชาชน การรณรงค์แบบรากหญ้าเรียกร้องให้ผู้คนสามาถมีส่วนรวมทางการเมืองได้มากยิ่งขึ้น ผู้นำของขบวนการนี้คือ อิตางากิ ไทซูเกะ และ โอกูมะ ชิเงโนบุ[179] อิโต ฮิโรบูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนแรก ตอบโต้กลับด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญเมจิที่ประกาศใช้ใน ค.ศ. 1889 รัฐธรรมนูญใหม่นี้ก่อตั้งสภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาล่างขึ้น แต่อำนาจถูกจำกัดไว้ มีเพียงแค่ 2% ของประชากรเท่านั้นที่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ และการเสนอร่างกฎหมายโดยสภาผู้แทนราษฎรต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาขุนนางญี่ปุ่น สภาสูงที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและกองกำลังทหารญี่ปุ่นไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ผ่านร่าง แต่มีหน้าที่ตามพระราชกระแสรับสั่งของจักรพรรดิ[180] ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้พัฒนารูปแบบของชาตินิยมญี่ปุ่นโดยชินโตกลายเป็นศาสนาประจำชาติและจักรพรรดิเป็นที่สักการะบูชาในฐานะเทพเจ้าที่ยังมีชีวิตอยู่[181] โรงเรียนทั่วประเทศค่อย ๆ ใส่ค่านิยมความเป็นชาตินิยมและความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิลงไป[167]

ความรุ่งเรืองของจักรวรรดินิยมและการทหาร แก้

 
นายพลจีนยอมจำนนต่อชาวญี่ปุ่นในสงครามจีน–ญี่ปุ่น ค.ศ. 1894–1895

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1871 เรือชาวรีวกีวอัปปางในไต้หวันและลูกเรือถูกสังหารหมู่ ใน ค.ศ. 1874 ญี่ปุ่นส่งกำลังรบนอกประเทศไปยังไต้หวันเพื่อยืนยันสิทธิเหนือหมู่เกาะรีวกีวโดยใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้าง การสงครามนอกประเทศเริ่มต้นจากการที่กองทัพทหารญี่ปุ่นไม่สนคำสั่งของรัฐบาลพลเรือนและออกเรือแม้จะมีคำสั่งให้เลื่อนการส่งกำลังรบนอกประเทศออกไปก็ตาม[182] ยามางาตะ อาริโตโมะ ซามูไรในแคว้นศักดินาโชชู เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการทำให้กองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นทันสมัยขึ้นและใหญ่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้กำเนิดกฎหมายการเกณฑ์ทหารแห่งชาติ[183] ใน ค.ศ. 1877 มีการให้กองทัพบกใหม่เข้าจู่โจมกบฏซัตสึมะซึ่งเป็นซามูไรทางตอนใต้ของญี่ปุ่นที่ต่อต้านรัฐบาลเมจิ การกบฏนำโดยอดีตผู้นำเมจิ ไซโง ทากาโมริ[184]

กองทัพญี่ปุ่นเป็นบทบาทสำคัญในการแผ่ขยายอำนาจของประเทศในต่างแดน รัฐบาลเชื่อว่าประเทศญี่ปุ่นจะต้องมีอาณานิคมเพื่อต่อสู้กับอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก หลังจากการเข้ากระชับการควบคุมในฮกไกโด (ผ่านคณะกรรมาธิการการพัฒนาฮกไกโด) และการผนวกอาณาจักรรีวกีว ("การโอนการครอบครองรีวกีว") นั้นสร้างความสนใจให้แก่ประเทศจีนและประเทศเกาหลี[185] ใน ค.ศ. 1894 กองทหารญี่ปุ่นและจีนเข้าโจมตีประเทศเกาหลีที่ซึ่งกองทหารตั้งฐานที่มั่นไว้เพื่อปราบกบฏทงฮัก ในระหว่างสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่งที่ตามมา กำลังทหารที่เพรียบพร้อมไปด้วยแรงขวัญของญี่ปุ่นชนะกองทัพที่มีจำนวนและยุทโธปกรณ์ที่ดีกว่าของราชวงศ์ชิงได้[186] ด้วยเหตุนี้ เกาะไต้หวันจึงตกเป็นของประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1895[187] และทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับเกียรติศักดิ์เพียงพอที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มุตสึ มูเนมิตสึ เจรจาเพื่อแก้ไข "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม"[188] ใน ค.ศ. 1902 ประเทศญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงพันธไมตรีทางการทหารที่สำคัญกับสหราชอาณาจักร[189]

 
จักรวรรดิญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1939

ต่อมา ประเทศญี่ปุ่นโจมตีประเทศรัสเซียที่กำลังพยายามขยายอำนาจในเอเชีย ยุทธการที่แม่น้ำยาลู่เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่อำนาจเอเชียพ่ายแพ้ให้กับอำนาจตะวันตก[190] สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1904–05 จบลงด้วยยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะซึ่งเป็นอีกหนึ่งชัยชนะของกองทัพญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1905 ประเทศญี่ปุ่นอ้างสิทธิเหนือประเทศเกาหลีในฐานะรัฐในอารักขา ตามด้วยการผนวกดินแดนเต็มรูปแบบใน ค.ศ. 1910[191] ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามเริ่มสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยการปรากฏขึ้นมาของประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ใช่ในฐานะอำนาจส่วนภูมิภาค แต่อำนาจหลักของเอเชีย[192]

การสร้างความเป็นทันสมัยทางเศรษฐกิจและการก่อจราจลของแรงงาน แก้

ในยุคเมจิ ประเทศญี่ปุ่นประสบกับการเปลี่ยนผ่านอย่างฉับพลันสู่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม[193] ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและผู้ประกอบการภาคเอกชนนำเทคโนโลยีและความรู้แบบตะวันตกมาใช้ในการสร้างโรงงานที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่หลากหลาย[194]

จนถึงจุดสิ้นสุดของยุคนี้ การส่งออกของประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือสินค้าที่ผ่านขั้นตอนการผลิต (manufactured goods)[193] ธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นรวมตัวสร้างเป็นบริษัทรวมธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่เรียก "ไซบัตสึ" อาทิ มิตซูบิชิ และ ซูมิโตโมะ[195] การเติบโตทางอุตสาหกรรมอย่างน่าประหลาดใจจุดประกายการขยายเขตเมือง (urbanization) อย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรที่ทำงานเกษตรกรรมลดลงจาก 75% ใน ค.ศ. 1872 ถึง 50% ใน ค.ศ. 1920[196] ใน ค.ศ. 1927 มีการเปิดให้บริการโตเกียวเมโทรสายกินซะ โดยถือว่าเป็นสายรถไฟฟ้าใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย[197]

ประเทศญี่ปุ่นได้รับประโยชน์มากล้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในยุคนี้ และผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ยืนยาวและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านเป็น 52 ล้าน ใน ค.ศ. 1915[198] สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงงานที่แย่นำไปสู่การก่อจราจลของแรงงานที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น[199] คนงานและปัญญาชนเริ่มเสนอแนวคิดแบบสังคมนิยม[200] รัฐบาลเมจิตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรง นักสังคมนิยมหัวรุนแรงวางแผนที่จะลอบปลงพระชนม์จักรพรรดิในเหตุการณ์การก่อกบฏต่อแผ่นดิน ค.ศ. 1910 ซึ่งต่อมามีการก่อตั้งกองกำลังตำรวจลับทกโก เพื่อสืบสวนหาผู้ปลุกปั่นการเมืองฝ่ายซ้าย[201] นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายทางสังคม (social legislation) ใน ค.ศ. 1911 ที่กำหนดชั่วโมงทำงานสูงสุดและอายุขั้นต่ำที่จะสามารถทำงานได้[202]

ยุคไทโช (ค.ศ. 1912–1926) แก้

ในช่วงรัชสมัยอันสั้นของจักรพรรดิไทโช ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาสถาบันทางประชาธิปไตยและได้รับอำนาจระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ยุคนี้เปิดฉากด้วยวิกฤตการณ์การเมืองไทโช มีการชุมนุมประท้วงและการก่อจราจลขนาดใหญ่นำโดยพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ทำให้ คัตสึระ ทาโร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[203] วิกฤตการณ์การเมืองและการจลาจลข้าว ค.ศ. 1918 เพิ่มอำนาจของพรรคการเมืองญี่ปุ่นเหนือรัฐบาล คณาธิปไตย[204] พรรคเซยูไกและพรรคมินเซโตครอบงำกิจกรรมทางการเมืองจนถึงช่วงท้ายของยุคที่เรียกกันว่ายุค "ประชาธิปไตยไทโช"[205] สภาผู้แทนราษฎรถือสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. 1890 และเจริญเติบโตขึ้นอย่างช้า ๆ นับจากนั้น[206] และใน ค.ศ. 1925 มีการริเริ่ม สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปของผู้ชาย อย่างไรก็ตาม สภานิติบัญญัติได้ผ่านร่างกฎหมายการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่มีอิทธิพลในปีเดียวกัน เพื่อบัญญัติโทษรุนแรงหากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันทางการเมือง[207]

การมีส่วนร่วมของประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองในฝ่ายสัมพันธมิตรจุดประกายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งยังได้รับอาณานิคมใหม่ ๆ ในแปซิฟิกใต้ที่ยึดมาจากประเทศเยอรมนี[208] หลังสงครามสิ้นสุดลง ประเทศญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย และมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เน้นแฟ้นผ่านการเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติและการเข้าร่วมการประชุมปลดอาวุธระหว่างประเทศต่าง ๆ[209] แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1923 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100,000 ราย และเพลิงไหม้ตามหลังสร้างความเสียหายกว่า 3 ล้านครัวเรือน[210]

การเจริญขึ้นของร้อยแก้วบันเทิงคดีที่เริ่มต้นในยุคเมจิ ดำเนินเข้าสู่ยุคไทโชด้วยอัตราการออกอ่านเขียนได้ลดลง และราคาหนังสือตกต่ำ[211] ผู้นำทางวรรณกรรมที่สำคัญแห่งยุค อาทิ นักเขียนเรื่องสั้น รีวโนซูเกะ อากูตางาวะ[212] และนักเขียนนิยาย ฮารูโอะ ซาโต นักประวัติศาสตร์ คอนแรด ท็อตแมน บรรยาย จุนอิจิโร ทานิซากิ ว่า "บางทีอาจเป็นผู้นำทางวรรณกรรมที่มากความสามารถที่สุดเมื่อครั้งเขายังมีชีวิตอยู่" ทานิซากิได้สร้างสรรค์ผลงานหลายผลงานในยุคไทโชซึ่งได้รับอิทธิพลากวรรณกรรมยุโรป อย่างไรก็ตาม นวนิยาย ค.ศ. 1929 ของเขา รักไม่เต็มร้อย (Some Prefer Nettles) สะท้อนให้เห็นถึงการชื่นชมวัฒนธรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมอย่างลึกซึ้ง[213] ท้ายยุคไทโช ทาโร ฮิราอิ รู้จักในนามปากกา เอโดงาวะ รัมโป เริ่มเขียนเรื่องรหัสคดีและอาชญากรรมที่มีชื่อเสียง[212]

ยุคโชวะ (ค.ศ. 1926–1989) แก้

รัชสมัย 63 ปีของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ตั้งแต่ ค.ศ. 1926–1989 เป็นยุคที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเท่าที่มีการจดบันทึก[214] 20 ปีแรกของยุคมีความเป็นชาตินิยมสุดขีดและสงครามขยายอาณาเขต (expansionist war) เป็นเอกลักษณ์ หลังจากประเทศญี่ปุ่นประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง อำนาจต่างประเทศเข้ายึดครองญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากนั้นจึงปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะประเทศอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก[215]

กรณีแมนจูเรียและสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง แก้

จักรวรรดิญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1937

กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายตกเป็นเป้าของการปราบปรามด้วยความรุนแรงในยุคโทโชตอนปลาย[216] ขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาจัดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลัทธิฟาสซิสต์และชาตินิยมแบบญี่ปุ่นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว[217] การเมืองฝ่ายขวาจัดมีอิทธิพลครอบงำรัฐบาลและสังคมญี่ปุ่น อย่างที่เห็นได้ชัดภายในกองทัพกวันตง กองทัพญี่ปุ่นที่ประจำการในประเทศจีนตามแนวทางรถไฟแมนจูเรียตอนใต้ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของ[218] ครั้งเกิดกรณีแมนจูเรีย ขึ้นใน ค.ศ. 1931 เจ้าหน้าที่ทหารหัวรุนแรงวางระเบิดทางรถไฟแมนจูเรียตอนใต้ส่วนหนึ่ง และบุกครองแมนจูเรีย กองทัพกวันตงยึดครองแมนจูเรียได้สำเร็จ และตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดแมนจูกัวที่นั่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลญี่ปุ่น เกิดกระแสวิพากย์วิจารณ์ประเทศญี่ปุ่นบนเวทีนานาชาติ หลังจากการบุกครองที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติ[219]

นายกรัฐมนตรี สึโยชิ อินูไก พรรคเซยูไก พยายามต้านทานกำลังของกองทัพกวันตงและถูกลอบสังหารใน ค.ศ. 1932 โดยพวกหัวรุนแรงฝ่ายขวา หลังเสียงต่อต้านที่เพิ่มขึ้นภายในกองทัพญี่ปุ่นและการเมืองฝ่ายขวาจัดในหมู่นักการเมืองที่พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนคดโกงและเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน อินูไกเป็นนักการเมืองของพรรคเซยูไกคนสุดท้ายที่ปกครองประเทศญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง[219] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936 เจ้าหน้าที่ทหารบกจักรวรรดิญี่ปุ่นรุ่นใหม่หัวรุนแรงพยายามทำรัฐประหาร พวกเขาลอบสังหารนักการเมืองสายกลางหลายคนก่อนการรัฐประหารจะถูกปราบไป[220] สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพญี่ปุ่นรวบรวมการควบคุมเหนือระบบการเมืองและพรรคการเมืองส่วนใหญ่ถูกยุบเลิกหลังการก่อตั้งสมาคมพิทักษ์ระบบการปกครองโดยจักรพรรดิ (大政翼贊會, Taisei Yokusankai; Imperial Rule Assistance Association) ใน ค.ศ. 1940[221]

 
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุการก่อวินาศกรรมทางรถไฟสายแมนจูเรียตอนใต้ เป็นผลให้เกิดอุบัติการณ์มุกเดนและการบุกครองแมนจูเรียของญี่ปุ่น

วิสัยทัศน์ของนักลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศญี่ปุ่นเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผู้นำทางการเมืองของประเทศญี่ปุ่นหลายคนต้องการให้ประเทศของตนยึดครองดินแดนใหม่เพื่อการสกัดทรัพยากรและการตั้งถิ่นฐานอันเนื่องจากประชากรที่เกินล้น[222] ความทะเยอทะยานเหล่านี้นำไปสู่การเริ่มต้นของสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ใน ค.ศ. 1937 หลังชัยชนะของพวกเขาที่เมืองหลวงของประเทศจีน กองทัพญี่ปุ่นก่อการสังหารหมู่ที่หนานจิงที่น่าอับอาย กองทัพญี่ปุ่นไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลจีนที่นำโดย เจียง ไคเชก ได้ และสงครามลดระดับลงเป็นการนองเลือดที่ต่างฝ่ายต่างเอาชนะไม่ได้จนยุติลงใน ค.ศ. 1945[223] ประเทศญี่ปุ่นระบุเป้าประสงค์ของสงครามว่า เพื่อสถาปนาวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพาซึ่งเป็นสหภาพอุดมการณ์รวมกลุ่มเอเชียภายใต้การนำของญี่ปุ่น[224] บทบาทของฮิโรฮิโตะในสงครามต่างประเทศของญี่ปุ่นตกเป็นประเด็นโต้เถียง นักประวัติศาสตร์หลายคนชี้ว่าพระองค์เป็นหุ่นเชิดไร้อำนาจ (powerless figurehead) ขณะที่บางส่วนตกลงว่าพระองค์เป็นนำทางและเป็นผู้สนับสนุนแสนยานิยมญี่ปุ่น[225]

สหรัฐต่อต้านการรุกรานประเทศจีนของประเทศญี่ปุ่น และตอบโต้ด้วยการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด โดยความหวังที่จะทำให้ประเทศญี่ปุ่นขาดทรัพยากรในการสู้รบต่อในสงครามที่ประเทศจีน[226] ประเทศญี่ปุ่นรับมือโดยการหันหน้าสร้างพันธมิตรกับประเทศเยอรมนีและประเทศอิตาลีใน ค.ศ. 1940 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "กติกาสัญญาไตรภาคี" ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐย่ำแย่ลง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐ สหราชอาณาจักร และประเทศเนเธอร์แลนด์ อายัดทรัพย์สินของญี่ปุ่นทั้งหมด หลังประเทศญี่ปุ่นบุกครองอินโดจีนฝรั่งเศสโดยการยึดดินแดนทางตอนใต้ของประเทศได้สำเร็จ เป็นเหตุผลให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในแปซิฟิก[227]

สงครามโลกครั้งที่สอง แก้

 
เรือบรรทุกเครื่องบินโชกากุ กำลังเตรียมโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์
 
ยุครุ่งเรืองของจักรวรรดิญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1942:
       ดินแดน (ค.ศ. 1870–1895)
       การเข้าครอง (ค.ศ. 1895–1930)
       การเข้าครอง (ค.ศ. 1930–1942)

ปลาย ค.ศ. 1941 รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ฮิเดกิ โทโจ ตัดสินใจใช้กำลังทหารยกเลิกการกักเรือสินค้าโดยสหรัฐ[228] ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นบินจู่โจมกองเรือรบสหรัฐที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ ฮาวาย เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อมา ประเทศญี่ปุ่นสามารถรุกรานอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐ สหราชอาณาจักร และประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมถึง ฟิลิปปินส์ บริติชมาลายา ฮ่องกง สิงคโปร์ พม่า และ หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ได้สำเร็จ[229]

ช่วงแรกของสงคราม ประเทศญี่ปุ่นได้รับชัยชนะอย่างนับครั้งไม่ถ้วน แต่กระแสคลื่นเริ่มย้อนกลับไปหาประเทศญี่ปุ่นหลังยุทธนาวีที่มิดเวย์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 และการทัพกัวดัลคะแนลที่ตามมาภายหลัง ซึ่งกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถยึดหมู่เกาะโซโลมอนคืนจากการควบคุมของญี่ปุ่นได้[230] ในยุคนี้ ความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามอย่างการดูแลเชลยสงครามที่ไม่ถูกต้อง การสังหารหมู่พลเรือน และการใช้อาวุธทางเคมีและชีวภาพ ตกเป็นของกองทัพญี่ปุ่น[231] อย่างไรก็ตาม บันไซชาร์จและการสู้จนถึงที่สุดของกองทัพญี่ปุ่น ทำให้กองทัพมีชื่อเสียงจากการอุทิศตนเพื่อชาติโดยไม่ตั้งคำถามใด ๆ[232] ใน ค.ศ. 1944 กองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มส่งฝูงนักบินคามิกาเซะที่ทำการบินพุ่งชนเรือรบศัตรู[233]

 
เมฆรูปดอกเห็ดเหนือฮิโรชิมะ ค.ศ. 1945

การใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นเริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับพลเรือนอันเนื่องจากการปันส่วนอาหารที่เข้มงวดเกิน ไฟฟ้าดับ และการปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยกับสงครามอย่างรุนแรง[234] ใน ค.ศ. 1944 กองทัพบกสหรัฐเข้ายึดเกาะที่ไซปัน ซึ่งทำให้สหรัฐสามารถเริ่มการทิ้งระเบิดโจมตีประเทศญี่ปุ่นได้[235] เป็นผลให้พื้นที่ครึ่งหนึ่งจากพื้นที่ทั้งหมดของเมืองหลักญี่ปุ่นถูกทำลาย[236] ยุทธการที่โอกินาวะระหว่างเดือนเมษายนและมิถุนายน ค.ศ. 1945 เป็นการปฏิบัติการทางเรือที่ใหญ่ที่สุดของสงครามและทำให้ทหารกว่า 115,000 นาย และชาวโอกินาวะ 150,000 คนเสียชีวิต โดยมีการกล่าวว่า แผนการบุกครองเกาะญี่ปุ่นที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติใช้อาจหนองเลือดกว่า[237] เรือประจัญขนาดยักษ์ญี่ปุ่น "ยามาโตะ" จมลงระหว่างการเดินทางไปให้การสนับสนุนยุทธการที่โอกินาวะ[238]

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 สหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ คร่าชีวิตผู้คน 70,000 คน การทิ้งระเบิดปรมาณูครั้งนี้ เป็นการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในวันที่ 9 สิงหาคม สหภาพโซเวียตประกาศสงครามต่อประเทศญี่ปุ่นและบุกครองแมนจูเรียและดินแดนอื่น ขณะที่นางาซากิถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูลูกที่สอง คร่าชีวิตผู้คน 40,000 คน[239] ประเทศญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 14 สิงหาคม ขณะที่จักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงออกอากาศพระราชดำรัสยอมจำนนผ่านระบบวิทยุแห่งชาติในวันถัดไป[240]

การยึดครองญี่ปุ่น แก้

 
พลเอก ดักลาส แมกอาเธอร์ และจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในการประชุมครั้งแรก เดือนกันยายน ค.ศ. 1945
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ดีน แอกสัน ลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศญี่ปุ่น 8 กันยายน ค.ศ. 1951

ประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมครั้งใหญ่ภายใต้การยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่าง ค.ศ. 1945–1952 พลเอก ดักลาส แมกอาเธอร์ จากสหรัฐและผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นผู้นำโดยนิตินัยของประเทศญี่ปุ่น และเป็นผู้เล่นสำคัญในการปฏิรูปประเทศที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแผนปฏิรูปสหรัฐ "สัญญาใหม่" (New Deal) ในยุค ค.ศ. 1930[241]

การยึดครองมุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจโดยการยกเลิกบริษัทรวมธุรกิจ "ไซบัตสึ" โอนความเป็นเจ้าของพื้นที่ทางการเกษตรจากเจ้าของที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้เช่าไร่นา (tenant farmer)[242] และส่งเสริมสหภาพแรงงานนิยม[243] นอกจากนี้ ความพยายามในการลดกำลังทหารและการทำให้เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลและสังคมญี่ปุ่นยังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายหลักของการปฏิรูป โดยกองทัพญี่ปุ่นถูกปลดอาวุธ[244] อาณานิคมได้รับอิสรภาพ[245] มีการยกเลิกกฎหมายการรักษาความสงบเรียบร้อยและตำรวจลับทกโก[246] ศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลออกพิพากษาอาชญากรสงคราม[247] คณะรัฐมนตรีหันมามีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ใช่ต่อจักรพรรดิ[248] จักรพรรดิยังครองราชย์ได้แต่ต้องสละความเป็นพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นเสาหลักของระบบชินโตของรัฐ[249] รัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่ประกันเสรีภาพของพลเมือง สิทธิแรงงาน และสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง มีผลใช้บังคับใน ค.ศ. 1947[250] ประเทศญี่ปุ่นยังสละสิทธิในการทำสงครามกับอีกชาติตามความที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ[251]

สนธิสัญญาซานฟรานซิสโก ค.ศ. 1951 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐกลับสู่สภาวะปกติ การยึดครองสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1952 แม้สหรัฐยังคงควบคุมหมู่เกาะรีวกีวหลายเกาะ[252] ใน ค.ศ. 1968 สหรัฐคืนหมู่เกาะโองาซาวาระให้แก่ประเทศญี่ปุ่น ประชาชนชาวญี่ปุ่นสามารถกลับไปยังหมู่เกาะได้ ขณะที่โอกินาวะเป็นหมู่เกาะที่สหรัฐให้คืนเป็นลำดับสุดท้ายใน ค.ศ. 1972[253] สหรัฐยังคงดำเนินกิจการฐานทัพทั่วหมู่เกาะรีวกีวโดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่โอกินาวะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐ–ญี่ปุ่น[254]

การเติบโตหลังสงครามและความรุ่งเรือง แก้

 
ชิเงรุ โยชิดะ เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งที่สุดในประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1946–1947 และ 1948–1954)

ชิเงรุ โยชิดะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. 1946–1947 และ 1948–1954 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำทางประเทศญี่ปุ่นตลอดช่วงการยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร[255] นโยบายของเขาที่เรียกว่า ลัทธิโยชิดะ (Yoshida Doctrine) เสนอว่าประเทศญี่ปุ่นควรกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐและมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการดำเนินงานนโยบายต่างประเทศเชิงรุก[256] โยชิดะเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น[257] พรรคเสรีนิยมของโยชิดะยุบรวมเข้ากับพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ใน ค.ศ. 1995[258] ซึ่งสามารถครอบงำการเมืองญี่ปุ่นตลอดช่วงยุคโชวะ[259]

แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้รุ่งเรืองในช่วงปีแรกหลังสงครามสิ้นสุดลง นโยบายประหยัดอย่างเข้มงวด (austerity program) ริเริ่มใน ค.ศ. 1949 โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน โจเซฟ ดอดจ์ สามารถแก้ไขภาวะเงินเฟ้อได้ในที่สุด[260] สงครามเกาหลี (ค.ศ. 1950–1953) ส่งผลดีอย่างมากต่อธุรกิจญี่ปุ่น[261] ใน ค.ศ. 1949 คณะรัฐมนตรีโยชิดะก่อตั้งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ที่มีพันธกิจในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลและธุรกิจรายใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมหนัก (heavy industry)[262] อีกทั้งยังกระตุ้นให้มีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น[263] ปัจจัยหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสงครามประกอบด้วยเทคโนโลยีและเทคนิคการควบคุมคุณภาพที่ได้รับจากฝั่งตะวันตก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐ การไม่มีข้อกีดกันภาษีอากร (non-tarrif barriers) เมื่อมีการนำเข้าสินค้า ไม่มีข้อจำกัดการรวมเป็นสหภาพแรงงาน ห้ามไม่ให้มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ดีโดยทั่วไป[264] พนักงานในบริษัทมีความเชี่ยวชาญและจงรักภักดีต่อบริษัท อันเป็นผลมาจากระบบการจ้างงานตลอดชีพที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่าจะมีอาชีพที่มั่นคง[265]

ตั้งแต่ ค.ศ. 1955 เป็นต้นมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เติบโตสูงกว่าเศรษฐกิจช่วงก่อนสงคราม[266] และตั้งแต่ ค.ศ. 1968 ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ใหญ่เป็นลำดับที่สองของโลก[267] ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product) ขยายในอัตรารายปีราว 10% ตั้งแต่ ค.ศ. 1956 จนถึง วิกฤตน้ำมัน ค.ศ. 1973 ซึ่งทำให้การเติบโตถดถอยลงจนอยู่ที่อัตรารายปีเฉลี่ยเพียง 4% จนถึง ค.ศ. 1991[268] การคาดหมายคงชีพ (life expectancy) สูงขึ้น และจำนวนประชากรญี่ปุ่นเพิ่มถึง 123 ล้านคนภายใน ค.ศ. 1990[269] ชาวญี่ปุ่นสามัญธรรมดาสามารถเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลายได้ ในยุคนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการผลิตอิเล็กทรอนิกส์[270] ประเทศญี่ปุ่นลงนามในข้อตกลงพลาซาใน ค.ศ. 1985 เพื่อลดค่าดอลลาร์สหรัฐด้วยเงินเยนและสกุลเงินอื่น จวบจนถึง ค.ศ. 1987 ดัชนีหุ้น นิกเกอิ เพิ่มขึ้นสองเท่า และตลาดหลักทรัพย์โตเกียวกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในระหว่างเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เป็นผลตามมา หุ้นและเงินกู้อสังหาริมทรัพย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว[271]

ประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหประชาชาติใน ค.ศ. 1956 และสร้างจุดยืนที่มั่นคงในเวทีระหว่างประเทศใน ค.ศ. 1964 หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่นจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ในโตเกียว[272] ประเทศญี่ปุ่นเป็นสัมพันธมิตรของสหรัฐในช่วงสงครามเย็น แม้ว่าพันธมิตรนี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากชาวญี่ปุ่น โดยได้รับการร้องขอจากสหรัฐ ประเทศญี่ปุ่นก่อตั้งกองทัพทหารขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1954 ภายใต้ชื่อ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (JSDF) อย่างไรก็ตามชาวญี่ปุ่นบางคนยืนกรานว่าการมีอยู่ของกองกำลังป้องกันตนเองเป็นการละเมิดมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น[273] ใน ค.ศ. 1960 เกิดการประท้วงอัมโปขนาดใหญ่ที่มีประชาชนกว่าหลายแสนคนเข้าร่วมเพื่อต่อต้านสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐ–ญี่ปุ่น[274] ประเทศญี่ปุ่นสามารถทำให้ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตกลับมาเป็นปกติได้ใน ค.ศ. 1956 แม้จะมีกรณีพิพาทความเป็นเจ้าของหมู่เกาะคูรีวที่ยังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้[275] และกับประเทศเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1965 แม้จะมีกรณีพิพาทความเป็นเจ้าของหมู่เกาะกองหินลีย็องกูร์[276] เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐ ประเทศญี่ปุ่นยอมรับสาธารณรัฐจีนที่ตั้งอยู่บนเกาะไต้หวันเป็นรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนการยอมรับนั้นให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1972[277]

ท่ามกลางการพัฒนาทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ยุคหลังการยึดครองไม่นานกลายเป็นยุคทองของภาพยนตร์ญี่ปุ่น[278] หลังการยกเลิก การตรวจพิจารณาโดยรัฐบาล (government censorship) ต้นทุนการผลิตภาพยนตร์ที่ต่ำ การเข้าถึงเทคนิคการผลิตภาพยนตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้น และจำนวนผู้เข้าชมภายในประเทศมหาศาลในเวลานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เข้าชมรูปแบบของความรื่นเริงอื่น ๆ ที่ค่อนข้างน้อย[279] ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1964 เส้นทางรถไฟความเร็วสูงรางแรกของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่าโทไกโดชิงกันเซ็งถูกสร้างขึ้น[280] อีกทั้งยังเป็นระบบรางรถไฟความเร็วสูงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก[280]

ยุคเฮเซ (ค.ศ. 1989–2019) แก้

 
โตเกียวใน ค.ศ. 2010

รัชสมัยของจักรพรรดิอากิฮิโตะเริ่มต้นขึ้นหลังการสวรรคตของพระราชบิดาของพระองค์ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เศรษฐกิจฟองสบู่แตกใน ค.ศ. 1989 การเข้าไปยังวงจรอุบาทว์เงินฝืด (deflationary spiral) ของประเทศญี่ปุ่นส่งผลให้หุ้นและราคาที่ดินลดลงอย่างรวดเร็ว ธนาคารต้องเผชิญกับหนี้จำนวนมหาศาลที่ชลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและยากเกินกว่าจะเอาชนะได้[281] ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันแย่ลงอีกเมื่ออัตราเกิดตกต่ำเกินระดับทดแทน (replacement level)[282] คริสต์ทศวรรษ 1990 ในประเทศญี่ปุ่นมักถูกเรียกว่า "ทศวรรษที่สาบสูญ"[283] ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะแย่ในหลายทศวรรษต่อมา และตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยกลับขึ้นมาถึงจุดสูงเหมือนในช่วงก่อน ค.ศ. 1989 ได้อีกเช่นเคย[284] ระบบการจ้างงานตลอดชีพล้มลงและอัตราการว่างงานสูงขึ้น[285] ภาวะเศรษฐกิจชะงักชะงันและข่าวลือการทุจริตต่าง ๆ ทำให้ตำแหน่งทางการเมืองของพรรคเสรีประชาธิปไตยอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นปกครองโดยนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยเพียงแค่ระหว่าง ค.ศ. 1993–1996[286] และ ค.ศ. 2009–2012[287]

มรดกตกทอดจากการกระทำในสงครามของประเทศญี่ปุ่นทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศจีนและเกาหลีตึงเครียด เจ้าหน้าที่ราชการญี่ปุ่นและจักรพรรดิได้ออกแถลงการณ์ขออภัยกรณีสงครามมากกว่า 50 ฉบับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950 อย่างไรก็ตาม นักการเมืองบางคนจากประเทศจีนและประเทศเกาหลีมองว่าถ้อยแถลงขออภัย อย่างพระราชดำรัสของจักรพรรดิใน ค.ศ. 1990 และ ถ้อยแถลงมูรายามะ ค.ศ. 1995 นั้นขาดความจริงใจหรือไม่เพียงพอ[288] นักชาตินิยมทำให้เหตุการณ์นี้รุนแรงขึ้นโดยปฏิเสธความรับผิดจากการสังหารหมู่ที่หนานจิงและอาชญากรรมสงครามอื่น ๆ[289] และเขียนแก้หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการประท้วงในเอเชียตะวันออก[290] นักการเมืองญี่ปุ่นเดินทางไปสักการะที่ศาลเจ้ายาซูกูนิอยู่บ่อยครั้ง เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามตั้งแต่ ค.ศ. 1868 ถึง ค.ศ. 1954 แต่นักโทษอาชญากรสงครามอยู่ในกลุ่มคนที่นักการเมืองแสดงความเคารพให้[291]

 
ซากปรักหักพังของสถานีรถไฟที่พังทลายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ค.ศ. 2011

ประชากรของประเทศญี่ปุ่นสูงที่สุดที่ 128,083,960 คน ใน ค.ศ. 2008[292] และลดต่ำลง 2,373,960 คน จนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020[292] ใน ค.ศ. 2011 เศรษฐกิจจีนใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่สองของโลก ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นใหญ่ที่สุดเป็นลำดับสามของโลกโดยวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP)[293] แม้ประเทศญี่ปุ่นจะประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ในยุคนี้วัฒนธรรมประชานิยมญี่ปุ่นอย่างวิดีโอเกม อนิเมะ และ มังงะ เป็นที่นิยมทั่วโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น[294] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 โตเกียวสกายทรีเป็นหอคอยที่สูงสุดในโลกที่ความสูง 634 เมตร (2,080 ฟุต) แทนที่แคนตันทาวเวอร์[295][296] อีกทั้งยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดลำดับสองในโลกตามหลังบุรจญ์เคาะลีฟะฮ์ (829.8 m หรือ 2,722 ft)[297]

ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 หนึ่งในแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดซึ่งสามารถบันทึกได้ในประเทศญี่ปุ่นเกิดขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยสึนามิที่ก่อตัวจากแผ่นดินไหวดังกล่าวสร้างความเสียหายให้แก่โรงงานนิวเคลียร์ในฟูกูชิมะ และส่งผลให้เกิดการหลอมละลายนิวเคลียร์ (nuclear meltdown) และการรั่วไหลของรังสีอย่างร้ายแรง[298]

ยุคเรวะ (ค.ศ. 2019–ปัจจุบัน) แก้

รัชสมัยของจักรพรรดินารูฮิโตะเริ่มต้นขึ้นจากการสละราชสมบัติของพระราชบิดาของพระองค์ จักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019[299]

ใน ค.ศ. 2020 โตเกียวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่การจัดครั้งแรกใน ค.ศ. 1964 ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียประเทศแรกที่ได้จัดโอลิมปิกสองครั้ง อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกฤดูร้อนถูกเลื่อนจัดไป ค.ศ. 2021 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งระบาดไปทั่วโลกและทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โอลิมปิดฤดูร้อนจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม ค.ศ. 2021[300] ประเทศญี่ปุ่นได้ลำดับที่ 3 ด้วยเหรียญทอง 27 เหรียญ[301]

เมื่อครั้งเกิดการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย ค.ศ. 2022 ประเทศญี่ปุ่นประณามและวางมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับประเทศรัสเซีย ประธานาธิบดียูเครน วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ยกย่องประเทศญี่ปุ่นว่า "เป็นชาติเอเชียแรกที่เริ่มกดดันประเทศรัสเซีย"[302]

ในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2022 อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ถูกลอบสังหารในเมืองนาระโดยอดีตทหารเรือกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ในขณะที่เขากำลังปราศรัยหาเสียงเลือกตั้ง 2 วันหลังการเลือกตั้งราชมนตรีสภา ค.ศ. 2022[303] เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตกใจแก่สาธารณะ เนื่องจากความสูญเสียจากอาวุธปืนนั้นพบได้น้อยมากในประเทศญี่ปุ่น มีเพียงแค่เหตุการเสียชีวิต 10 เหตุที่เกิดจากการดวลปืนตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ถึง ค.ศ. 2020 และเสียชีวิตจากอาวุธปืนอีก 1 เหตุใน ค.ศ. 2021[304]

อ้างอิง แก้

  1. อังกฤษ: The ruler of the land of the rising sun addresses the ruler of the land of the setting sun บ้างแปลเป็น อังกฤษ: The Son of Heaven where the sun rises, to the Son of Heaven where the sun sets [...]
  1. Shinya Shōda (2007). "A Comment on the Yayoi Period Dating Controversy". Bulletin of the Society for East Asian Archaeology. 1. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 August 2019. สืบค้นเมื่อ 16 February 2020.
  2. "'Jomon woman' helps solve Japan's genetic mystery". NHK World (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 26, 2020. สืบค้นเมื่อ May 6, 2020.
  3. Ono, Akira (2014). "Modern hominids in the Japanese Islands and the early use of obsidian", pp. 157–159 in Sanz, Nuria (ed.). Human Origin Sites and the World Heritage Convention in Asia. Paris: UNESCO.
  4. Takashi, Tsutsumi (2012). "MIS3 edge-ground axes and the arrival of the first Homo sapiens in the Japanese archipelago". Quaternary International. 248: 70–78. Bibcode:2012QuInt.248...70T. doi:10.1016/j.quaint.2011.01.030.
  5. Hudson, Mark (2009). "Japanese Beginnings", p. 15 In Tsutsui, William M. (ed.). A Companion to Japanese History. Malden MA: Blackwell. ISBN 9781405193399.
  6. Nakagawa, Ryohei; Doi, Naomi; Nishioka, Yuichiro; Nunami, Shin; Yamauchi, Heizaburo; Fujita, Masaki; Yamazaki, Shinji; Yamamoto, Masaaki; Katagiri, Chiaki; Mukai, Hitoshi; Matsuzaki, Hiroyuki; Gakuhari, Takashi; Takigami, Mai; Yoneda, Minoru (2010). "Pleistocene human remains from Shiraho-Saonetabaru Cave on Ishigaki Island, Okinawa, Japan, and their radiocarbon dating". Anthropological Science. 118 (3): 173–183. doi:10.1537/ase.091214.
  7. Totman 2005, p. 64.
  8. Habu, Junko (2004). Ancient Jomon of Japan. Cambridge, MA: Cambridge Press. pp. 3, 258. ISBN 978-0-521-77670-7.
  9. Walker 2015, pp. 12–15.
  10. Kidder, J. Edward (1993). "The Earliest Societies in Japan," in The Cambridge History of Japan: Volume 1. Cambridge: Cambridge University Press. p. 59
  11. Holcombe 2017, p. 88.
  12. Kuzmin, Yaroslav V. (2015). "Chronology of the earliest pottery in East Asia: progress and pitfalls". Antiquity. 80 (308): 362–371. doi:10.1017/S0003598X00093686. S2CID 17316841.
  13. Kumar, Ann (2009) Globalizing the Prehistory of Japan: Language, Genes and Civilisation, Routledge. ISBN 978-0-710-31313-3 p. 1
  14. Bruce Loyd Batten,To the Ends of Japan: Premodern Frontiers, Boundaries, and Interactions, University of Hawaii Press, 2003 ISBN 978-0-824-82447-1 p. 60.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 Schirokauer, Conrad; Miranda Brown; David Lurie; Suzanne Gay (2012). A Brief History of Chinese and Japanese Civilizations. Cengage Learning. pp. 138–143. ISBN 978-0-495-91322-1.
  16. Crawford, Gary W. "Japan and Korea:Japan," in Neil Asher Silberman, Alexander A. Bauer (eds.), The Oxford Companion to Archaeology, Oxford University Press USA, Vol.1 2012 ISBN 978-0-199-73578-5 pp. 153–157 p. 155.
  17. Imamura, Keiji (1996) Prehistoric Japan: New Perspectives on Insular East Asia, University of Hawaii Press. ISBN 978-0-824-81852-4 pp. 165–178.
  18. Kaner, Simon (2011) 'The Archeology of Religion and Ritual in the Prehistoric Japanese Archipelago,' in Timothy Insoll (ed.),The Oxford Handbook of the Archaeology of Ritual and Religion, Oxford University Press, ISBN 978-0-199-23244-4 pp. 457–468, p. 462.
  19. Mizoguchi, Koji (2013) The Archaeology of Japan: From the Earliest Rice Farming Villages to the Rise of the State, Cambridge University Press, ISBN 978-0-521-88490-7 pp. 81–82, referring to the two sub-styles of houses introduced from the Korean peninsular: Songguk’ni (松菊里) and Teppyong’ni (大坪里).
  20. Hudson, Mark (1999) Ruins of Identity: Ethnogenesis in the Japanese Islands, University of Hawaii Press, ISBN 978-0-824-82156-2 pp. 79–81. The Jōmon component is estimated at somewhere under 25%.
  21. Maher, Kohn C. (1996). "North Kyushu Creole: A Language Contact Model for the Origins of Japanese," in Multicultural Japan: Palaeolithic to Postmodern. New York: Cambridge University Press. p. 40
  22. Farris 1995, p. 25.
  23. Henshall 2012, pp. 14–15.
  24. 24.0 24.1 24.2 Henshall 2012, pp. 15–16.
  25. Totman 2005, p. 51.
  26. Henshall 2012, pp. 16, 22.
  27. 27.0 27.1 Totman 2005, pp. 52–53.
  28. Brown, Delmer M.; Hall, John Whitney; Press, Cambridge University; McCullough, William H.; Jansen, Marius B.; Shively, Donald H.; Yamamura, Kozo; Duus, Peter (1988). The Cambridge History of Japan (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 529. ISBN 978-0-521-22352-2.
  29. Carter, William R. (1983). "Asuka period". In Reischauer, Edwin et al. (eds.). Kodansha Encyclopedia of Japan Volume 1. Tokyo: Kodansha. p. 107. ISBN 9780870116216.
  30. Perez 1998, pp. 16, 18.
  31. Frederic, Louis (2002). Japan Encyclopedia. Cambridge, Massachusetts: Belknap. p. 59. ISBN 9780674017535.
  32. Totman 2005, pp. 54–55.
  33. Henshall 2012, pp. 18–19.
  34. Weston 2002, p. 127.
  35. Rhee, Song Nai; Aikens, C. Melvin.; Chʻoe, Sŏng-nak.; No, Hyŏk-chin. (2007). "Korean Contributions to Agriculture, Technology, and State Formation in Japan: Archaeology and History of an Epochal Thousand Years, 400 B.C.–A.D. 600". Asian Perspectives. 46 (2): 404–459. doi:10.1353/asi.2007.0016. hdl:10125/17273. JSTOR 42928724. S2CID 56131755.
  36. 36.0 36.1 36.2 Totman 2005, pp. 55–57.
  37. Sansom 1958, p. 57.
  38. Sansom 1958, p. 68.
  39. Akiyama, Terukazu (1977). Japanese Painting. New York: Rizzoli International Publications. pp. 19–20. ISBN 9780847801329.
  40. Kshetry, Gopal (2008). Foreigners in Japan: A Historical Perspective. Kathmandu: Rabin Gurung. p. 29
  41. Henshall 2012, p. 24.
  42. Henshall 2012, p. 56.
  43. Keene 1999, pp. 85, 89.
  44. Totman 2005, pp. 74–75.
  45. Henshall 2012, p. 26.
  46. Deal, William E and Ruppert, Brian Douglas (2015). A Cultural History of Japanese Buddhism. Chichester, West Sussex : Wiley Blackwell. pp. 63-64. ISBN 9781118608319.
  47. Farris 2009, p. 59.
  48. Sansom 1958, p. 99.
  49. 49.0 49.1 49.2 Henshall 2012, pp. 29–30.
  50. Alchon, Suzanne Austin (2003). A Pest in the Land: New World Epidemics in a Global Perspective. Albuquerque: University of New Mexico Press. p. 21. ISBN 9780826328717.
  51. 51.0 51.1 51.2 Totman 2005, pp. 91–93.
  52. Keene 1999, p. 306.
  53. Perez 1998, pp. 25, 26.
  54. Henshall 2012, p. 31.
  55. Totman 2005, p. 94.
  56. Farris 2009, p. 87.
  57. 57.0 57.1 McCullough, William H. (1999). "The Heian Court, 794–1070," in The Cambridge History of Japan: Volume 2. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 30–31
  58. Meyer 2009, p. 62.
  59. Sansom 1958, pp. 249–250.
  60. Takeuchi, Rizo (1999). "The Rise of the Warriors," in The Cambridge History of Japan: Volume 2. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 675-677
  61. Henshall 2012, pp. 31–32.
  62. Henshall 2012, pp. 33–34.
  63. Henshall 2012, p. 28.
  64. Totman 2005, p. 123.
  65. Keene 1999, pp. 477–478.
  66. Meyer 2009, p. 44.
  67. Henshall 2012, p. 30.
  68. Totman 2005, p. 120.
  69. 69.0 69.1 Henshall 2012, pp. 34–35.
  70. 70.0 70.1 Perkins, Dorothy (1991). Encyclopedia of Japan : Japanese history and culture, from abacus to zori pp. 19, 20
  71. Weston 2002, p. 139.
  72. Weston 2002, pp. 135–136.
  73. Keene 1999, pp. 892–893, 897.
  74. Weston 2002, pp. 137–138.
  75. Henshall 2012, pp. 35–36.
  76. Perez 1998, pp. 28, 29.
  77. Keene 1999, pp. 672, 831.
  78. Totman 2005, p. 96.
  79. Sansom 1958, pp. 441–442.
  80. Henshall 2012, pp. 39–40.
  81. Henshall 2012, pp. 40–41.
  82. 82.0 82.1 82.2 Farris 2009, pp. 141–142, 149.
  83. Farris 2009, pp. 144–145.
  84. Perez 1998, pp. 32, 33.
  85. Henshall 2012, p. 41.
  86. 86.0 86.1 86.2 Henshall 2012, pp. 43–44.
  87. Perez 1998, p. 37.
  88. Totman 2005, pp. 170–171.
  89. Perez 1998, p. 46.
  90. Turnbull, Stephen and Hook, Richard (2005). Samurai Commanders. Oxford: Osprey. pp. 53–54
  91. Hane, Mikiso and Perez, Louis G. (2015). Premodern Japan: A Historical Survey (2nd ed.). Boulder, Colorado: Westview Press. pp. 161-162. ISBN 9780813349657.
  92. Perez 1998, pp. 39, 41.
  93. 93.0 93.1 Henshall 2012, p. 45.
  94. Perez 1998, pp. 46–47.
  95. Farris 2009, p. 166.
  96. Dourado, Fernão. "Atlas de Fernão Vaz Dourado". Arquivo Nacional Torre do Tombo.
  97. Costa, João (1993). Portugal and the Japan: The Namban Century. ISBN 9789722705677.
  98. 98.0 98.1 Turnbull, Stephen (2006). Samurai: The World of the Warrior. p. 13. ISBN 1841769517.
  99. Hesselink, Reinier (7 December 2015). The Dream of Christian Nagasaki. ISBN 9780786499618.
  100. Silva, Samuel. "História Portugal-Japão (o comércio entre Macau e o Japão)".
  101. Hesselink, Reinier. "João Rodrigues's Account of Sixteenth Century Japan. The Hakluyt Society, 3rd series, vol. 7". {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  102. Boxer, Charles. "Some Aspeccts of Portuguese Influence in Japan, 1542–1640".
  103. Farris 2009, p. 152.
  104. Perez 1998, p. 40.
  105. Perez 1998, pp. 43–45.
  106. Bolitho, Harold (2007). "Yoshimasa and the Silver Pavilion: The Creation of the Soul of Japan. By Keene Donald. New York: Columbia University Press, 2003. x, 208 pp. $29.95 (cloth)". The Journal of Asian Studies. 63 (3): 799–800. doi:10.1017/S0021911804001950..
  107. Holcombe 2017, p. 162.
  108. 108.0 108.1 Henshall 2012, p. 46.
  109. Perez 1998, pp. 48–49.
  110. Weston 2002, pp. 141–143.
  111. Henshall 2012, pp. 47–48.
  112. Farris 2009, p. 192.
  113. Perez 1998, pp. 51–52.
  114. Farris 2009, p. 193.
  115. Walker 2015, pp. 116–117.
  116. Henshall 2012, p. 50.
  117. Hane 1991, p. 133.
  118. Perez 1998, p. 72.
  119. 119.0 119.1 Henshall 2012, pp. 53–54.
  120. Henshall 2012, pp. 54–55.
  121. Kerr 1958, pp. 162–167.
  122. Totman 2005, p. 220.
  123. McClain 2002, pp. 26–27.
  124. 124.0 124.1 Henshall 2012, pp. 57–58.
  125. 125.0 125.1 Perez 1998, pp. 62–63.
  126. Totman 2005, p. 229.
  127. Perez 1998, p. 60.
  128. Henshall 2012, p. 60.
  129. Chaiklin, Martha (2013). "Sakoku (1633–1854)". In Perez, Louis G. (ed.). Japan at War: An Encyclopedia. Santa Barbara, California: ABC-CLIO. pp. 356–357. ISBN 9781598847413.
  130. "Dejima Nagasaki | JapanVisitor Japan Travel Guide". www.japanvisitor.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 6 May 2018.
  131. Henshall 2012, p. 61.
  132. 132.0 132.1 Totman 2005, pp. 237, 252–253.
  133. Totman 2005, pp. 238–240.
  134. Jansen 2000, pp. 116–117.
  135. Perez 1998, p. 67.
  136. Henshall 2012, p. 64.
  137. Jansen 2000, pp. 163–164.
  138. Baten, Jörg (2016). A History of the Global Economy: From 1500 to the Present. Cambridge: Cambridge University Press. p. 177. ISBN 9781107104709.
  139. Karan, Pradyumna (2010). Japan in the 21st Century: Environment, Economy, and Society. Lexington: University Press of Kentucky. p. 60. ISBN 9780813127637.
  140. Hirschmeier, Johannes and Yui, Tsunehiko (1975). The Development of Japanese Business, 1600-1973. London: Allen & Unwin. p. 32
  141. Hane 1991, p. 200.
  142. Hane 1991, pp. 201–202.
  143. Deal, William E (2006). Handbook to Life in Medieval and Early Modern Japan. New York: Facts on File. p. 296. ISBN 9780195331264.
  144. Hane 1991, pp. 171–172.
  145. Dalby, Liza (2010). Little Songs of the Geisha. New York: Tuttle. pp. 14–15
  146. Hane 1991, pp. 213–214.
  147. Crihfield, Liza (1983). "Geisha". In Reischauer, Edwin et al. (eds.). Kodansha Encyclopedia of Japan Volume 3. Tokyo: Kodansha. p. 15. ISBN 9780870116230.
  148. Perez 1998, pp. 57–59.
  149. Collcutt, Martin C. (1983). "Bushidō". In Reischauer, Edwin et al. (eds.). Kodansha Encyclopedia of Japan Volume 1. Tokyo: Kodansha. p. 222. ISBN 9780870116216.
  150. 150.0 150.1 150.2 Henshall 2012, pp. 68–69.
  151. Totman 2005, pp. 280–281.
  152. McClain 2002, pp. 123–124, 128.
  153. Sims 2001, pp. 8–9.
  154. Perez 1998, pp. 79–80.
  155. Walker 2015, pp. 149–151.
  156. Hane 1991, pp. 168–169.
  157. Perez 1998, pp. 84–85.
  158. Henshall 2012, p. 70.
  159. Hane 1991, pp. 214–215.
  160. Gordon, Andrew (2009). A Modern History of Japan: From Tokugawa Times to the Present. New York: Oxford University Press. pp. 55–56. ISBN 9780195339222.
  161. Henshall 2012, pp. 71, 236.
  162. 162.0 162.1 162.2 Henshall 2012, p. 75.
  163. 163.0 163.1 Henshall 2012, p. 78.
  164. Morton & Olenike 2004, p. 171.
  165. Henshall 2012, pp. 75–76, 217.
  166. 166.0 166.1 Henshall 2012, pp. 79, 89.
  167. 167.0 167.1 Beasley, WG (1962). "Japan". In Hinsley, FH (ed.). The New Cambridge Modern History Volume 11: Material Progress and World-Wide Problems 1870–1898. Cambridge: Cambridge University Press. p. 472
  168. Totman 2005, p. 310.
  169. Henshall 2012, pp. 84–85.
  170. Henshall 2012, p. 81.
  171. Henshall 2012, p. 83.
  172. Totman 2005, pp. 359–360.
  173. Lauerman, Lynn (2002). Science & Technology Almanac. Westport, Connecticut: Greenwood Press. p. 421.
  174. Totman 2005, p. 363.
  175. Henshall 2012, p. 103.
  176. Weston 2002, pp. 254–255.
  177. Totman 2005, p. 365.
  178. Mason, RHP and Caiger, JG (1997). A History of Japan. Rutland, Vermont: Tuttle. p. 315. ISBN 9780804820974.
  179. Henshall 2012, p. 89.
  180. Henshall 2012, pp. 91, 92.
  181. Bix, Hebert P. (2000). Hirohito and the Making of Modern Japan. New York: Harper Collins. pp. 27, 30. ISBN 978-0-06-186047-8.
  182. Kerr 1958, pp. 356–360.
  183. Perez 1998, p. 98.
  184. Henshall 2012, p. 80.
  185. Totman 2005, pp. 328–331.
  186. Perez 1998, pp. 118–119.
  187. Perez 1998, p. 120.
  188. Perez 1998, pp. 115, 121.
  189. Perez 1998, p. 122.
  190. Connaughton 1988, p. 86.
  191. Henshall 2012, pp. 96–97.
  192. Schimmelpenninck van der Oye 2005, p. 83.
  193. 193.0 193.1 Henshall 2012, pp. 101–102.
  194. Henshall 2012, pp. 99–100.
  195. Perez 1998, pp. 102–103.
  196. Hunter, Janet (1984). Concise Dictionary of Modern Japanese History. Berkeley: University of California Press. p. 3. ISBN 9780520045576.
  197. Yamamoto Tsutomu; Matsukawa Shunsuke; Hisawa Haruo (2010). "Diagnosis of Ginza Line Subway Tunnel, the Oldest in Asia, by Acquiring Data on Deterioration Indices". Stand Alone. IOS Press (Information Technology in Geo-Engineering): 190–198. doi:10.3233/978-1-60750-617-1-190. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 May 2021. สืบค้นเมื่อ 22 August 2014.
  198. Totman 2005, pp. 312, 335.
  199. Totman 2005, pp. 342–344.
  200. Totman 2005, pp. 353–354.
  201. Perez 1998, p. 134.
  202. Totman 2005, p. 345.
  203. Henshall 2012, pp. 108–109.
  204. Perez 1998, pp. 135–136.
  205. Meyer 2009, pp. 179, 193.
  206. Large 2007, p. 160.
  207. Perez 1998, p. 138.
  208. Totman 2005, pp. 384, 428.
  209. Henshall 2012, p. 111.
  210. Henshall 2012, p. 110.
  211. Totman 2005, pp. 411–412.
  212. 212.0 212.1 Totman 2005, p. 416.
  213. Totman 2005, pp. 413–414.
  214. Totman 2005, p. 465.
  215. Large 2007, p. 1.
  216. Sims 2001, p. 139.
  217. Sims 2001, pp. 179–180.
  218. Perez 1998, pp. 139–140.
  219. 219.0 219.1 Henshall 2012, pp. 114–115.
  220. Henshall 2012, pp. 115–116.
  221. McClain 2002, p. 454.
  222. Henshall 2012, pp. 119–120.
  223. Henshall 2012, pp. 122–123.
  224. Henshall 2012, pp. 123–124.
  225. Weston 2002, pp. 201–203.
  226. Walker 2015, p. 248.
  227. Totman 2005, pp. 442–443.
  228. Henshall 2012, pp. 124–126.
  229. Henshall 2012, pp. 129–130.
  230. Henshall 2012, pp. 132–133.
  231. Henshall 2012, pp. 131–132, 135.
  232. Frank, Richard (1999). Downfall: The End of the Imperial Japanese Empire. New York: Random House. pp. 28–29. ISBN 978-0-14-100146-3.
  233. Henshall 2012, p. 134.
  234. Perez 1998, pp. 147–148.
  235. Morton & Olenike 2004, p. 188.
  236. Totman 2005, p. 448.
  237. Feifer, George (1992). Tennozan: The Battle of Okinawa and the Atomic Bomb. New York: Ticknor & Fields. pp. 558, 578, 597, 600. ISBN 9780395599242.
  238. Coox, Alvin (1988). "The Pacific War," in The Cambridge History of Japan: Volume 6. Cambridge: Cambridge University Press. p. 368
  239. Henshall 2012, pp. 136–137.
  240. Nester, William R. (1996). Power across the Pacific: A Diplomatic History of American Relations with Japan. Basingstoke: Macmillan. p. 177. ISBN 9780230378759.
  241. Henshall 2012, pp. 142–143.
  242. Perez 1998, pp. 151–152.
  243. Henshall 2012, p. 144.
  244. Perez 1998, pp. 150–151.
  245. Totman 2005, p. 454.
  246. Mackie, Vera (2003). Feminism in Modern Japan. New York: Cambridge University Press. p. 121. ISBN 9780521527194.
  247. Henshall 2012, pp. 145–146.
  248. Totman 2005, p. 455.
  249. Henshall 2012, pp. 147–148.
  250. Henshall 2012, p. 150.
  251. Henshall 2012, p. 145.
  252. Henshall 2012, p. 158.
  253. Klein, Thomas M. (1972). "The Ryukyus on the Eve of Reversion". Pacific Affairs. 45 (1): 20. doi:10.2307/2755258. JSTOR 2755258.
  254. Kuroda, Sokichi (13 January 2020). "Documents show concerns from Okinawa on U.S. base presence". Asahi Shimbun.
  255. Perez 1998, pp. 156–157, 162.
  256. Perez 1998, p. 159.
  257. Edstrom, Bert (2016). "Japan's Foreign Policy and the Yoshida Legacy Revisited". In Edstrom, Bert (ed.). Turning Points in Japanese History. London: Routledge. p. 216. ISBN 978-1138986268.
  258. Perez 1998, p. 163.
  259. Henshall 2012, p. 163.
  260. Henshall 2012, pp. 154–155.
  261. Henshall 2012, pp. 156–157.
  262. Henshall 2012, pp. 159–160.
  263. Perez 1998, p. 169.
  264. Henshall 2012, pp. 161–162.
  265. Henshall 2012, pp. 162, 166, 182.
  266. Totman 2005, p. 459.
  267. Wan, Ming (2008). The Political Economy of East Asia: Striving for Wealth and Power. Washington, DC: CQ Press. p. 156. ISBN 9781483305325.
  268. Gao 2009, p. 303.
  269. Totman 2005, pp. 466–467.
  270. Henshall 2012, pp. 160–161.
  271. Gao 2009, p. 305.
  272. Henshall 2012, p. 167.
  273. Ito, Takatoshi (1992). The Japanese Economy. Cambridge, Massachusetts: MIT Press. p. 60
  274. Totman 2005, pp. 463–464.
  275. Togo 2005, pp. 234–235.
  276. Togo 2005, pp. 162–163.
  277. Togo 2005, pp. 126–128.
  278. Perez 1998, pp. 177–178.
  279. Totman 2005, p. 539.
  280. 280.0 280.1 "Shinkansen – Bullet Trains in Japan". Trainspread.com. 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 March 2020.
  281. Henshall 2012, pp. 181–182.
  282. Henshall 2012, pp. 185–187.
  283. Meyer 2009, p. 250.
  284. Totman 2005, p. 547.
  285. Henshall 2012, pp. 182–183.
  286. Henshall 2012, pp. 189–190.
  287. Pekkanen, Robert (2018). "Introduction". In Pekkanen, Robert (ed.). Critical readings on the Liberal Democratic Party in Japan Volume One. Leiden: Brill. p. 3. ISBN 9789004380523.
  288. Henshall 2012, p. 199.
  289. Henshall 2012, pp. 199–201.
  290. Henshall 2012, pp. 197–198.
  291. Henshall 2012, p. 191.
  292. 292.0 292.1 Japan Statistical Agency monthly Population Estimate.
  293. "United Nations Statistics Division - National Accounts". unstats.un.org.
  294. Henshall 2012, p. 204.
  295. "Japan Finishes World's Tallest Communications Tower". Council on Tall Buildings and Urban Habitat. 1 March 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2016. สืบค้นเมื่อ 2 March 2012.
  296. "Tokyo Sky Tree". Emporis. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2012. สืบค้นเมื่อ 2 March 2012.
  297. Arata Yamamoto (22 May 2012). "Tokyo Sky Tree takes root as world's second-tallest structure". NBC News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 May 2012. สืบค้นเมื่อ 22 May 2012.
  298. Henshall 2012, pp. 187–188.
  299. McCurry, Justin (1 April 2019). "Reiwa: Japan Prepares to Enter New Era of 'Fortunate Harmony'". The Guardian.
  300. "Tokyo Olympics to start in July 2021". BBC. 30 March 2020.
  301. "Tokyo 2021: Olympic Medal Count". Olympics. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 July 2021. สืบค้นเมื่อ 26 October 2021.
  302. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ dw1
  303. "Japan's former PM Abe Shinzo shot, confirmed dead | NHK WORLD-JAPAN News". NHK WORLD (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 8, 2022. สืบค้นเมื่อ 2022-07-08.
  304. "Shooting of Former Prime Minister Abe a Shock to Japan, Which Saw Just One Gun Fatality in 2021". Nippon.com. July 8, 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 8, 2022.

อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ชื่อ "Hastings" ซึ่งนิยามใน <references> ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า
อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ชื่อ "income" ซึ่งนิยามใน <references> ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า
อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ชื่อ "Neary" ซึ่งนิยามใน <references> ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า

อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ชื่อ "wakita" ซึ่งนิยามใน <references> ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า

รายการอ้างอิง แก้

หนังสืออ่านเพิ่ม แก้

  • Garon, Sheldon. "Rethinking Modernization and Modernity in Japanese History: A Focus on State-Society Relations" Journal of Asian Studies 53#2 (1994), pp. 346–366. JSTOR 2059838.
  • Hara, Katsuro. Introduction to the history of Japan (2010) online
  • Hook, Glenn D. et al. Japan's International Relations: Politics, Economics and Security (2011) excerpt
  • Imamura, Keiji (1996). Prehistoric Japan: New Perspectives on Insular East Asia. Honolulu: University of Hawaii Press.
  • Keene, Donald (1998) [1984]. A History of Japanese Literature, Vol. 3: Dawn to the West – Japanese Literature of the Modern Era (Fiction) (paperback ed.). New York: Columbia University Press. ISBN 978-0-231-11435-6.
  • Kingston, Jeffrey. Japan in transformation, 1952-2000 (Pearson Education, 2001). 215pp; brief history textbook
  • Kitaoka, Shin’ichi. The Political History of Modern Japan: Foreign Relations and Domestic Politics (Routledge 2019)
  • Schirokauer, Conrad (2013). A Brief History of Chinese and Japanese Civilizations. Boston: Wadsworth Cengage Learning.
  • Tames, Richard, et al. A traveller's history of Japan (2008), popular history online


แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ History of Japan